ThaiPublica > เกาะกระแส > วิจัยกรุงศรีแนะทางเลือกนโยบาย ทางรอดธุรกิจ “ให้สินเชื่อตรงกลุ่มเป้าหมาย-ผ่อนคลายเงื่อนไขเงินกู้”

วิจัยกรุงศรีแนะทางเลือกนโยบาย ทางรอดธุรกิจ “ให้สินเชื่อตรงกลุ่มเป้าหมาย-ผ่อนคลายเงื่อนไขเงินกู้”

12 ตุลาคม 2020


วิจัยกรุงศรี เผยแพร่ Research Intelligence ประจำเดือนตุลาคม 2563 ในหัวข้อ COVID 19 CRISIS:THE IMPACT ON BUSINESSES AND CHOICE OF POLICY TOOLS นำเสนอทางเลือกการใช้เครื่องมือนโยบายสำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้ของภาคธุรกิจ

รายงานระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจโลกยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการการรักษาระยะห่างทางสังคมและการควบคุมการแพร่ระบาด ภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้รับผลกระทบอย่างหนัก สำหรับเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะหดตัวรุนแรงในปี 2563 และอาจจะใช้เวลาในการฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ระดับก่อนการระบาดนานกว่า 3 ปี ซึ่งส่งผลกระทบอุตสาหกรรมและธุรกิจส่วนใหญ่ในหลายช่องทางทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

วิจัยกรุงศรีทำการวิเคราะห์ครอบคลุม 473,324 บริษัทในประเทศจากข้อมูลที่มี พบว่า 143,414 บริษัท (30.3% จากทั้งหมด) อาจประสบปัญหาขาดสภาพคล่องในปี 2564 โดยกลุ่มที่จะประสบปัญหาสภาพคล่องส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็ก ส่วนอีก 132,980 บริษัท (28.1% ของทั้งหมด)จะมีความเปราะบางและมีความเสี่ยงขาดสภาพคล่อง มีเพียง 154,318 บริษัท หรือ 32.6% เท่านั้น ที่จัดว่ามีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง

  • วิกฤติที่รอปะทุ คาดธุรกิจขาดสภาพคล่อง 2.3 ล้านล้าน แรงงาน 11 ล้านคนอาจถูกลดเงินเดือน
  • นอกจากนี้ยังพบว่า แรงงาน 11.8 ล้านคน หรือ 33.2% ของแรงงานในระบบ อาจจะตกงานหรือถูกลดค่าจ้างซึ่งรวมถึง 4 ล้านคนในภาคเกษตร อีก 1.4 ล้านคนในค้าปลีก และ 1 ล้านคนในธุรกิจร้านอาหาร ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดทั้งในแง่จำนวนบริษัทที่กำลังมีปัญหาการเงินและการจ้างงานคือ กลุ่มบันเทิงและสันทนาการ กลุ่มร้านอาหาร กลุ่มโรงแรม กลุ่มพืชไร่ และกลุ่มประมง

    วิจัยกรุงศรีคาดว่า ภาคธุรกิจต้องการเงินอย่างน้อย 2.3 ล้านล้านบาทเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดในปี 2021

    การเติบโตตามศักยภาพของเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบ 0.5% ในปีต่อๆไป จากการปิดตัวของธุรกิจและผลิตภาพของแรงงานที่ลดลง การปิดตัวถาวรของธุรกิจทำให้สินทรัพย์ที่บริษัทถือครองไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ซึ่งก็จะส่งผลต่อการว่างงาน และการลดลงของผลิตภาพแรงงานในระยะยาว

    ทางเลือกของนโยบาย

  • ช่วยสภาพคล่องต่อเนื่อง
  • การให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องมีความสำคัญต่อธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักและอาจจะประสบกับการขาดสภาพคล่องชั่วคราว รวมทั้งอาจจะมีสินทรัพย์ไม่เพียงพอที่จะแปรเป็นสภาพคล่องได้อย่างรวดเร็ว

    หากไม่มีการดำเนินนโยบายต่อเนื่อง การขาดสภาพคล่องอาจจะกลายเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจอย่างฉับพลัน และในที่สุดจะทำให้งบดุลของธนาคารแย่ลง ธนาคารต้องร่วมกันดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดุลยภาพที่แย่ลง อันจะมีผลกระทบต่อทั้งระบบธนาคารและระบบเศรษฐกิจ

    ฐานะของภาคธนาคาร คือ ตัวแปรสำคัญต่อแนวโน้มการอัดฉีดสภาพคล่องที่ผ่านการวางแนวทางในการช่วยเหลือธุรกิจ ให้มีโอกาสรอดและชำระคืนหนี้ได้ ผลการวิเคราะห์พบว่า หากมีการให้สภาพคล่องเพิ่มขึ้น หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ Non Performing Loans(NPLs) ลดลงอย่างมีนัยะสำคัญและลดลงอย่างรวดเร็วภายใน 2 ปี

    การดำเนินนโยบายที่ต่อเนื่องจึงมีความสำคัญที่จะป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรงและการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น โดยหากไม่มีการอัดฉีดสภาพคล่อง อัตราส่วน NPL จะเพิ่มเป็น 14.1% และหนี้สูญจะกระทบต่ออัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(CAR) ให้ลดลงมาที่ระดับ 10.1% จา่ก 19% ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งจะทำให้ระบบธนาคารเปราะบางมากขึ้น และโอกาสที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ 8.5% มีถึง 29% ในทางกลับกัน หากมีโครงการให้สินเชื่อแบบตรงเป้าหมายจะลดความเป็นไปได้ที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะลดลงเหลือเพียง 8% เท่านั้น

  • แบงก์ต้องจับมือกัน NPL พุ่ง
  • การดำเนินการของธนาคารเพียงรายเดียวไม่สามารถลด NPL ได้ แต่การร่วมกันดำเนินการของหลายธนาคารจะให้ผล อีกทั้งการให้สภาพคล่องในจำนวนน้อยก็ไม่สามารถช่วยธุรกิจได้ ในทางตรงข้ามกลับจะเพิ่มหนี้สงสัยจะสูญให้กับธนาคารรายที่ปล่อยกู้เพิ่มให้กับลูกค้า ขณะเดียวกันความเสี่ยงโดยรวมยังจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นธนาคารจึงเลือกที่จะไม่ดำเนินการใดๆเพื่อจำกัดความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามการที่ไม่ดำเนินการ จะทำให้เศรษฐกิจไทยและระบบธนาคารร่วงไปอยู่ในดุลยภาพที่ย่ำแย่ หรือในสถานการณ์ที่เลวร้าย

    การตอบสนองของนโยบายเศรษฐกิจมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติ เพราะไม่เพียงป้องกันไม่ให้ธุรกิจปิดตัวในระยะสั้นแล้ว แต่ยังช่วงให้เศรษฐกิจเติบโตตามศักยภาพในระยะยาว

    ให้สินเชื่อตรงกลุ่มเป้าหมาย-ผ่อนคลายเงื่อนไขเงินกู้

    วิจัยกรุงศรีระบุว่า แต่ละเครื่องมือนโยบายจะให้ผลต่อแต่ละภาคธุรกิจแตกต่างกัน แต่ละเครื่องมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรและมีข้อจำกัดของเครื่องมือนโยบายแต่ละด้าน ดังนั้นจึงเห็นว่า เครื่องมือนโยบายควรนำมาใช้ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา และโครงสร้างทางการเงินของกลุ่มธุรกิจเป้าหมาย

    วิจัยกรุงศรีเห็นว่า การตอบสนองของนโยบายควรมุ่งไปที่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและปรับให้เหมาะกับโครงสร้างทางการเงินของแต่ละราย จึงเสนอให้ใช้ การให้สินเชื่อแบบเจาะกลุ่มเป้าหมายที่กำลังมีปัญหา และการผ่อนคลายเงื่อนไขสินเชื่อ เป็นเครื่องมือหลักของนโยบาย ซึ่งเป็นทางเลือกนโยบายที่ดีที่สุดที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอด

    โดยหากเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีสินทรัพย์ถาวรเพียงพอ ทางออกอาจจะเป็นการผ่อนคลายเงื่อนไขเงินกู้ ส่วนธุรกิจที่มีสินทรัพย์ไม่เพียงพอและไม่มีสินเชื่อกับธนาคาร เครื่องมือที่เหมาะสม ก็คือ การให้สินเชื่อเจาะจงโดยตรง

    จากการวิเคราะห์พบว่า การให้สินเชื่อโดยตรงในวงเงิน 500,000 ล้านบาทถึง 1 ล้านล้านบาทจะช่วยธุรกิจได้ถึง 42,000-110,000 บริษัท ให้สามารถเลี่ยงการขาดสภาพคล่องในอีก 2 ปีข้างหน้าได้

    มองไปข้างหน้าความเสี่ยงทางเศรษฐกิจยังมีอีกมาก ดังนั้นระยะเวลาการให้สินเชื่อนานอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งจะทำให้ NPLs ลดลงมาที่ 5.6-8.4% จาก 14.1% ในกรณีที่ไม่มีการดำเนินนโยบาย

    และเมื่อเทียบกับทางเลือกนโยบายด้านอื่นแล้ว การลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยได้เพียง 4,235 บริษัท หรือ 3.0% เท่านั้น ส่วนการพักชำระหนี้จะช่วยได้เฉพาะบริษัทที่มีสินเชื่อกับธนาคารอยู่แล้ว การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทที่จะได้รับผลจากแนวนโยบายนี้ คือบริษัทที่มีกระแสเงินสดเป็นบวก และการผ่อนคลายเงื่อนไขสินเชื่อบริษัทที่จะได้ประโยชน์จากแนวนโยบายนี้คือบริษัทที่มีสินทรัพย์เพียงพอ

    แต่การให้สินเชื่อโดยตรงจะช่วยบริษัทที่ได้รับผลกระทบรุนแรงได้ทุกราย

    การให้สินเชื่อแบบตรงกลุ่มเป้าหมายที่กำลังมีปัญหาจะป้องกันไม่ให้บริษัทอีกกว่า 40,000 บริษัทต้องปิดกิจการ โดยหากว่ามีการให้เงินกู้จำนวน 500,000 ล้านบาทแก่บริษัทกลุ่มเป้าหมายที่มีคุณสมบัติ 2 ข้อคือ 1) มีปัญหารุนแรงโดยใช้การวิเคราะห์จากอัตราส่วนต่างๆ 2) มีผลทางบวกต่อภาคธุรกิจอื่นแบบทวีคูณ (multiplier effect) ก็จะช่วยบริษัทที่มีปัญหาได้ทั้งหมด โดยแนวทางนี้ให้รัฐบาลเป็นผู้รับความเสียหายไว้ทั้งหมด และบริษัทที่จะช่วยเหลือได้มีจำนวน 41,825 บริษัทหรือ 29.2%

    วิจัยกรุงศรีระบุอีกว่า การผ่อนคลายเงื่อนไขสินเชื่อในตลาดการเงินจะมีผลให้กลไกตลาดทำงานตามปกติ หากตั้งสมมติฐานว่าแต่ละบริษัทสามารถขอสินเชื่อได้เพียงพอโดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง บริษัทที่จะได้ประโยชน์จากแนวนโยบายนี้คือบริษัทที่เข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น ในทางกลับกลับเพิ่มความเสี่ยงและต้นทุนให้กับธนาคารหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ แต่จำนวนบริษัทที่จะได้รับความช่วยเหลือมีถึง 38,133 บริษัท หรือ 26.6%

    ข้อเสนอแนะ

    วิจัยกรุงศรีประเมินว่าการให้สินเชื่อโดยตรงจำนวน 1 ล้านล้านบาทเป็นเวลา 2 ปีจะช่วยให้บริษัท 110,000 แห่งพ้นจากภาวะการขาดสภาพคล่อง

    จากการวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองของการให้สินเชื่อ 1 ล้านล้านบาทระยะเวลา 2 ปีนี้ โดยคำนวณจากวงเงินกู้ของแต่ละบริษัทขึ้นอยู่กับผลกระทบที่มีในระดับกลุ่มธุรกิจแต่ละกลุ่ม ผลกระทบในระดับบริษัท และอัตราส่วนหนี้สินหมุนเวียนต่อสินทรัพย์หมุนเวียน(quick ratio) พบว่า ธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม ต้องได้รับวงเงินสินเชื่อมากกว่าภาคธุรกิจอื่น ซึ่งแต่ละบริษัทต้องชำระหนี้เมื่อครบกำหนด 2 ปี

    แนวนโยบายนี้จะช่วยป้องกันการขาดสภาพคล่องได้ถึง 109,329 บริษัท (เทียบกับ 29,279 บริษัทหากให้กู้ 1 ปี) อย่างไรก็ตามยังมี 24,074 บริษัทที่ยังต้องการสภาพคล่องอีกราว 0.9 ล้านล้านบาทเพื่อความอยู่รอด การชำระคืนเงินกู้อาจจะมีจำนวน 0.63 ล้านล้านบาท และอาจจะมีการผิดนัดชำระหนี้ 0.37 ล้านล้านบาท และหากเพิ่มวงเงินสินเชื่อเป็น 1.5 ล้านล้านบาท จะช่วยบริษัทได้ 123,548 ราย โดยที่จะสามารถชำระหนี้ได้ 0.86 ล้านล้านบาท ส่วนอีก 0.65 ล้านล้านบาทอาจจะกลายเป็นหนี้เสีย (อัตราหนี้เสียจะเพิ่มจาก 37% เป็น 43%)

    นอกจากนี้ยังคาดว่าการให้สินเชื่อโดยตรงวงเงิน 500,000-900,000 ล้านบาทจะช่วยให้ NPL ทรงตัวในระดับ 5.6 8.4%

    ในช่วงการระบาดใหญ่ บริษัท 34,061 แห่งที่มีสินเชื่อธนาคาร อาจประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง และต้องการเงินช่วยเหลือราว 1.14 ล้านล้านบาทเพื่อให้อยู่รอด

    ในกรณีที่่มีการช่วยเหลือสภาพคล่อง 150,000 ล้านบาท NPL จะลดลงมาที่ 12.3% และมีบริษัทราว 20,000 รายอยู่รอด แต่หากช่วยเหลือสภาพคล่อง 500,000 ล้านบาท NPL จะลดลงมาที่ 8.4% ซึ่งช่วยให้บริษัทได้ถึง 29,350 ราย และหาก NPL อาจจะลดลงมาที่ 5.6% แม้ไม่มีการให้สินเชื่อแก่ลูกค้าที่ไม่ใช่ลูกค้าธนาคาร ดังนั้นจึงคาดว่าวงเงินที่จะช่วยให้บริษัทอยู่รอดได้น่าจะอยู่ประมาณ 500,000-900,000 ล้านบาท

    สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย วิจัยกรุงศรีเสนอให้ปรับเงื่อนไขเงินกู้ซอฟต์โลนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้สินเชื่อโดยตรง ดังนี้

    1) ชดเชยความเสียหายหนี้เสียให้เพียงพอและยกเว้นค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน

  • การชดเชยความเสียหายจากหนี้เสีย
  • แนวทางนี้จะเป็นแรงจูงใจที่ดีให้ธนาคารปล่อยกู้ ธนาคารสามารถเลือกให้มีการค้ำประกันเงินกู้ที่มีวงเงินขนาดใหญ่แต่คิดอัตราดอกเบี้ยถูกลง และในวิกฤติโควิด การชดเชยควรคำนึงถึงโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ที่สูงขึ้นด้วยตลอดจนการรับความเสี่ยงของธนาคาร

    ภายใต้โครงการปัจจุบัน ธนาคารที่ให้กู้ซอฟต์โลนได้รับการชดเชยความเสียหายสูงสุด 70% ในกรณีที่ให้กู้เพิ่มแก่ลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50 ล้านบาท และได้รับการชดเชย 60% สำหรับลูกค้าที่มีวงเงิน 50-500 ล้านบาท อย่างไรก็ตามการชดเชยถูกหักโดยอัตราส่วนเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นต่อสินเชื่อรวมต่อราย ผลก็คือ การชดเชยอาจลดลงมาที่ระดับต่ำ 12% และในอัตราชดเชยระดับนี้ NPL ของสินเชื่อใหม่อาจจะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 7.42%

    นอกจากนี้ การชดเชยความเสียหายนี้ยังต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศ

    จากการคำนวณโดยอิงจากการประเมินว่าจะมีการให้สินเชื่อโดยตรง 500,000 ล้านบาท การชดเชยความเสียหายในอัตรา 50% จะลดอัตราส่วน NPL ของสินเชื่อใหม่ลงมาที่ 4.20% แต่หากปรับการชดเชยความเสียหายขึ้นไปเป็น 80% อัตราส่วน NPL ของสินเชื่อใหม่จะลดลงมาที่ 1.68% ซึ่งจะส่งให้ NPL โดยรวมลดลง 0.18% และหากปล่อยสินเชื่อเพิ่ม 900,000 ล้านบาทพร้อมกับชดเชยความเสียหาย 50% จะลดอัตราส่วน NPL ของสินเชื่อใหม่มาที่ระดับต่ำกว่า 3% ซึ่งเป็นระดับเดิมที่ธนาคารสามารถรับความเสี่ยงได้

    วิจัยกรุงศรียังเสนอให้มีการปรับการชดเชยระดับหนี้เสียทางบัญชี เพราะแนวทางปัจจุบันและกระบวนการขอชดเชยซับซ้อน และอาจจะก่อให้เกิดความไม่แน่นอนของหลักเกณฑ์ ซึ่งทำให้ภาคธนาคารที่ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงอยู่แล้วไม่กล้าที่จะปล่อยสินเชื่อ การปรับเปลี่ยนกระบวนการนี้ใหม่โดยให้การคำนวณง่ายขึ้นและมีเป้าหมายชัดเจนขึ้น รวมทั้งตั้งคณะทำงานมาช่วยธนาคารในกระบวนการยื่นขอรับการชดเชย จะทำให้โครงการนี้ปฏิบัติได้มากขึ้น

  • การยกเว้นค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน
  • ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันเป็นภาระทั้งบริษัทและธนาคาร การยกเว้นค่าธรรมเนียมชั่วคราวจะทำให้โครงการมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะจะส่งเสริมให้ธนาคารปล่อยกู้มากขึ้น หลายประเทศได้มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน ทั้งในสหราชอาณาจักร ในอิตาลี ส่วนสเปนลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันลงมาที่ 0.2%-1.20%

    2) โยกสินทรัพย์เสี่ยงออกจากธนาคาร
    รัฐบาลสามารถโยกสินเชื่อที่ค่อนข้างมีความเสี่ยงออกจากงบดุลของธนาคารได้ เพื่อแบ่งเบาความเสี่ยงและเปิดช่องให้ธนาคารปล่อยเงินกู้ได้มากได้ขึ้น

    ในสหรัฐฯ ธนาคารกลางได้จัดตั้งโครงการ Main Street Business Lending Program (MSLP:โครงการที่ต้องการสนับสนุนธุรกิจที่มีขนาดใหญ่เกินไปที่จะขอรับเงินกู้สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก แต่มีขนาดเล็กเกินไปที่จะระดมทุนผ่านตลาดหุ้นกู้) เป็นการเสริมกับมาตรการ Paycheck Protection Program (PPP) หรือ โปรแกรมให้สินเชื่อเพื่อคุ้มครองธุรกิจ ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักของนโยบายในการให้การช่วยเหลือสภาพคล่อง

    กลไกการดำเนินการ
    กระทรวงการคลังจะลงทุนถือหุ้นมูลค่า 75 พันล้านดอลลาร์ในนิติบุคคลเฉพาะกิจหรือ Special Purpose Vehicle (SPV) ที่เฟดตั้งขึ้น เงินทุนที่ SPV ได้มาจากวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้กฎหมาย CARES Act หรือ Coronavirus Aid, Relief, and Economic Security Act โดยเฟดจะให้กู้แก่ SPV แบบมีเงื่อนไขที่ผู้ให้กู้ สามารถบังคับเอากับทรัพย์สินอื่นๆ ที่ผู้กู้ได้ให้เป็นหลักประกันไว้ หากมีการผิดนัดชำระหนี้และมีการบังคับคดีแต่เงินที่ได้จากการบังคับคดีไม่เพียงพอกับเงินต้น

    จากนั้น SPV จะซื้อหนี้ออกจากธนาคารในปริมาณสูงสุดถึง 95% ส่วนที่เหลือไว้ 5% เพื่อป้องกันไม่ให้มีการปล่อยกู้อย่างไม่มีความรับผิดชอบ ทั้งนี้คาดว่าจะมีการซื้อหนี้ถึง 600,000 ล้านดอลลาร์

    วิจัยกรุงศรียังเสนอว่า ควรมีให้การให้สิทธิประโยชน์จูงใจเพือชักจูงให้ชำระหนี้
    ในสหรัฐฯ ภายใต้โครงการ PPP และ MSLP ธุรกิจจะต้องให้ใช้ความพยายามเท่าที่ทำได้ในการรักษาการจ้างงานและรักษาพนักงาน
    ในแคนาดา ภายใต้โครงการ EDC Loan Guarantee Program การค้ำประกันสินเชื่อ หนี้ที่ชำระคืนภายในสิ้นปี 2565 จะได้รับการลดหนี้ 25% จากมูลหนี้ทั้งหมด