ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “การชุมนุม 14-16 ตุลา”- “ปธน.คีร์กีซสถานลาออกหลังม็อบไล่ ชี้ ‘ไม่อยากให้นองเลือด’”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “การชุมนุม 14-16 ตุลา”- “ปธน.คีร์กีซสถานลาออกหลังม็อบไล่ ชี้ ‘ไม่อยากให้นองเลือด’”

18 ตุลาคม 2020


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 10-16 ต.ค. 2563

  • ชุมนุม 14 ต.ค. จับ ‘อานนท์-เพนกวิน-เจมส์-รุ้ง’ แกนนำม็อบคณะราษฎร 2563 ตาม ม.116
  • จับสองผู้ชุมนุมเหตุทำผิด ม.110 ประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี
  • นายกฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงใน กทม.
  • ชุมนุม 15-16 ต.ค. ประยุทธ์ลั่น อย่าท้าทายมัจจุราช ตำรวจฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสีและสารเคมีสลายชุมนุม
  • ปธน.คีร์กีซสถานลาออกหลังม็อบไล่ ชี้ “ไม่อยากให้นองเลือด”

  • ชุมนุม 14 ต.ค. จับ ‘อานนท์-เพนกวิน-เจมส์-รุ้ง’ แกนนำม็อบคณะราษฎร 2563 ตาม ม.116

    การชุมนุมวันที่ 14 ต.ค. 2563
    ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

    วันที่ 14 ต.ค. 2563 กลุ่มผู้ชุมนุมในนามคณะราษฎร 2563ได้มารวมตัวกันถนนราชดำเนิน โดยมีการเปลี่ยนเวลานัดหมายจากเดิม 14.00 น. เป็น 08.00 น. เนื่องจากเกรงว่าหากใช้เวลาเดิมจะเข้าถึงที่นัดชุมนุมไม่ได้ เพราะในวันนั้นมีการชุมนุมของกลุ่มอื่นๆ กระจายอยู่ตามพื้นที่โดยรอบ คือ กลุ่มของสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธะอิสระ, กลุ่มของเหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ, สิระ เจนจาคะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐ, สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.), ไทยภักดี โดยกลุ่มอื่นต่างๆ เหล่านี้ได้มาชุมนุมเพื่อรอรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลตั้งเปรียญ เนื่องในวันวิสาขบูชา ประจำปี 2563 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

    ผู้ชุมนุมภายใต้การนำของกลุ่มคณะราษฎร 2563 ได้มีการเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล โดยระหว่างทางนั้นถูกเจ้าหน้าที่ตั้งแนวสกัดเป็นระยะ แต่ในที่สุดก็สามารถเดินทางถึงทำเนียบรัฐบาลในช่วงค่ำ โดยการชุมนุมกินพื้นที่ตั้งแต่บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการมาจนถึงแยกมิสกวัน ผ่านมาถึงบริเวณแยกพาณิชยการตรงทำเนียบรัฐบาล และยาวไปจนถึงแยกนางเลิ้ง

    การชุมนุมดำเนินมาจนถึงเวลาประมาณ 04.30 น. อานนท์ นำภา หรือทนายอานนท์ ก็ได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมเดินทางกลับบ้าน เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร จึงหวั่นเกรงความปลอดภัยของผู้ชุมนุมเพราะอาจมีการใช้กำลังทหารเข้ามาสลายการชุมนุม โดยอานนท์ระบุว่าตัวเองก็จะเดินทางกลับด้วยเช่นกัน แต่จะส่งผู้ชุมนุมทุกคนกลับบ้านก่อน

    และในเวลาประมาณ 05.00 น. อานนท์ที่กำลังเดินออกจากที่ชุมนุมพร้อมผู้ติดตามและหน่วยรักษาความปลอดภัยซึ่งมาจากผู้ชุมนุมด้วยกันมาถึงบริเวณแยกนางเลิ้งก็ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว

    อนึ่ง แกนนำที่ถูกจับกุมจากการชุมนุมดังกล่าวมีดังนี้

    1. พริษฐ์ ชิวารักษ์
    2. อานนท์ นำภา
    3. ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์
    4. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
    5. ณัฐชนน ไพโรจน์

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์ช่อง 3 — ในหลวง เสด็จฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลตั้งเปรียญพระภิกษุสามเณร เนื่องในวันวิสาขบูชา 2563
    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ — แกนนำสั่งม็อบสลายตัว อ้างรัฐใช้ยาแรง งัด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กระชับพื้นที่
    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ — “คณะราษฎร” สลายตัวเช้านี้ นัดใหม่ 4 โมงเย็น เจอกัน “ราชประสงค์”
    เว็บไซต์มติชนออนไลน์ — เปิดภาพนาที ตร.บุกจับตัวนายอานนท์ นำภา เผยรวบแล้ว 4 แกนนำ (คลิป)
    เว็บไซต์ไทยพีบีเอส — ใครบ้าง? ถูกจับม็อบ 13-14 ตุลา
    เว็บไซต์ไทยพีบีเอส — ด่วน! ตำรวจนำหมายศาลรวบตัว “รุ้ง-ณัฐชนน” คาที่พัก

    จับสองผู้ชุมนุมเหตุทำผิด ม.110 ประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี

    บุญเกื้อหนุน เป้าทอง (ซ้าย) และ เอกชัย หงส์กังวาน (ขวา)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์

    วันที่ 15 ต.ค. 2563 ศาลอาญาอนุมัติตามคำร้องของพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต เพื่อออกหมายจับ เอกชัย หงส์กังวาน และบุญเกื้อหนุน เป้าทอง นักกิจกรรมทางการเมือง ในข้อหาประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 วรรค 2

    ที่มาของการออกหมายจับครั้งนี้ เกิดขึ้นจากเหตุการณ์การชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 ซึ่งมีช่วงหนึ่งที่ขบวนเสด็จพระราชดำเนินที่มีสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ ประทับในรถยนต์พระที่นั่ง เคลื่อนขบวนผ่านแถวของผู้ชุมนุมอย่างใกล้ชิดขณะที่ผู้ชุมนุมกำลังเคลื่อนตัวจากถนนราชดำเนินไปยังทำเนียบรัฐบาล

    บุญเกื้อหนุน ซึ่งเข้ามอบตัวกับตำรวจด้วยตัวเอง ณ สน.ดุสิต เปิดเผยว่า มามอบตัวเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งในวันที่เกิดเหตุนั้นต้องการชุมนุมอย่างสงบ โดยมีการถือโทรโข่งจริง แต่ช่วงที่จะมีขบวนเสด็จฯ ไม่ได้รับการแจ้งเตือนแต่อย่างใด ซึ่งเมื่อเห็นขบวน ก็ตั้งใจถอยห่าง เพื่อให้ขบวนผ่านไปได้

    อนึ่ง ในกรณีของขบวนเสด็จฯ นั้น ได้กลายเป็นที่กังขากันในว่า เจ้าหน้าที่ประสานงานกันอย่างไรจึงทำให้ขบวนเสด็จฯ เคลื่อนผ่านกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างใกล้ชิด ในเมื่อปกติขบวนเสด็จฯ จะผ่านไปที่ใดก็ต้องมีการเคลียร์พื้นที่และรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด หรืออย่างในกรณีนี้ ก็มีเส้นทางอื่นที่อยู่ขนานกันให้ใช้เป็นเส้นทางสำหรับขบวนเสด็จฯ ได้

    ด้านเอกชัย ที่มีหมายจับในคดีเดียวกันนั้น ถูกตำรวจควบคุมตัวที่บ้านพักขณะกำลังจะออกไปมอบตัวที่ สน.ดุสิต

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์ไทยพีบีเอส — “บุญเกื้อหนุน” มอบตัวข้อหาประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี
    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ — “บุญเกื้อหนุน” มอบตัว สน.ดุสิต “เอกชัย” ถึง สน.ลาดพร้าว รอส่งไป ตชด.ภ.1
    เว็บไซต์ไทยพีบีเอส — แจงปมย้าย 3 ตำรวจ “บกพร่อง” แผนรับมือม็อบ 14 ตุลา

    นายกฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงใน กทม.

    วันที่ 15 ต.ค. 2563 เวลา 04.00 น. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร โดยให้เหตุผลว่ามีบุคคลหลายกลุ่มเชิญชวน ปลุกระดม และดำเนินการให้มีการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะในกรุงเทพมหานคร โดยใช้วิธีการและช่องทางต่างๆ ก่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย และความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน มีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐ หรือบุคคล

    และวันที่ 16 ต.ค. 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ก็เผยแพร่ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 2) ที่ให้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงจนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ — ราชกิจจาฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพฯ
    เฟซบุ๊กแฟนเพจ WorkpointTODAY — ราชกิจจาฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพฯ

    ชุมนุม 15-16 ต.ค. ประยุทธ์ลั่น อย่าท้าทายมัจจุราช ตำรวจฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสีและสารเคมีสลายชุมนุม

    วันที่ 15 ต.ค. 2563 แม้จะมีการจับกุมแกนนำบางส่วนไปแล้วและมีการประกาศให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง พร้อมกับมีการประกาศให้การชุมนุมเกิน 5 คนเป็นการกระทำที่มีความผิดตามกฎหมาย แต่ผู้ชุมนุมก็ยังคงไปรวมตัวกันที่บริเวณแยกราชประสงค์จนเต็มพื้นที่ถนนบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ทะลุไปจนถึงถนนราชดำริฝั่งมุ่งหน้าสวนลุมพินี ถนนสุขุมวิท และถนนพระรามที่ 1

    การชุมนุมวันที่ 15 ต.ค. 2563 บริเวณแยกราชประสงค์
    ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

    การชุมนุมในวันที่ 15 เป็นการชุมนุมแบบไม่มีแกนนำหลัก ผู้ชุมนุมมีการตั้งแนวกั้นบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซนทรัลเวิลด์ฝั่งประตูน้ำ และกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างนำมอเตอร์ไซค์มาจอดเพื่อช่วยเสริมแนวกั้นอีกชั้นหนึ่ง โดยระหว่างการชุมนุมนั้นมีการตะโกนด่าและขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อยู่เป็นระยะ รวมทั้งตะโกด่าและขับไล่กลุ่มเจ้าหน้าที่ ที่มีกระแสข่าวเป็นระยะว่าว่ามาตรึงกำลังอยู่ในอาคารบริเวณนั้น

    การชุมนุมวันที่ 15 ต.ค. 2563 บริเวณแยกราชประสงค์
    ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

    ผู้ชุมนุมชุมนุมกันอยู่จนถึงเวลาประมาณ 22.00 น. จึงยุติการชุมนุมแล้วแยกย้ายกันเดินทางกลับ

    อนึ่ง เวลาประมาณ 00.20 น. หลังจากการชุมนุมยุติ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานว่ามีประชาชนจำนวน 6 ราย ถูกจับกุมตัวไปยังกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 แบ่งเป็น ผู้ชาย 5 คน และผู้หญิง 1 คน โดยทั้งหมดเป็นลูกจ้างของบริษัทเครื่องเสียงที่ใช้ในการชุมนุม เดินทางมาจากจังหวัดอยุธยาเพื่อเก็บอุปกรณ์เครื่องเสียง หลังจากเก็บของและเดินทางออกจากจุดตั้งเครื่องเสียงได้ประมาณ 2 กิโลเมตร ระหว่างติดไฟแดงได้มีเจ้าหนาที่ตำรวจมาดักรถและขอให้จอด ก่อนเจ้าหน้าที่จะแสดงตัวและจับกุมตัวทั้ง 6 คน

    พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แถลงว่า ผู้ที่มาชุมนุมทั้งหมดได้มีการกระทำผิดกฎหมายแล้ว ส่วนจะมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวน

    พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.
    ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

    ต่อมาวันที่ 16 ต.ค. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ โดยมีการพูดถึงสถานการณ์การชุมนุม และมีการถามว่า “ผมขอถามว่าวันนี้ผมทำอะไรเหรอ ผมผิดอะไรเหรอตอนนี้ ขอถามหน่อยซิ”

    “อย่าท้าทายกับท่านพญามัจจุราชที่มีเสนามาก การตายจะเป็นวันนี้ หรืออยู่วันไหน มีโอกาสตายทุกคน”

    พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
    นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
    ที่มา: ข่าวสดออนไลน์

    เมื่อผู้สื่อขาวถามกลับไปว่า เป็นเพราะอยู่ในตำแหน่งนานเกินไปหรือเปล่า และมีแวว่าจะอยู่อีกนาน นายกฯ ก็ตอบว่า

    โธ่ เคยฟังพระสวดไหม เคยเข้าวัดกันหรือไม่ สงสัยไม่ค่อยได้เข้าวัดกันถึงเป็นแบบนี้

    นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไปฟังพระสวดอภิธรรมมี 4 จบ วันนี้ตนทำทั้งหมด ทั้งสวดทั้งแผ่เมตตาและให้อโหสิกรรมทุกคน ไม่ให้ร้ายกับใคร เพราะสิ่งที่ให้ร้ายกับคนจะกลับมาที่ตัวเราเอง อย่าประมาท เพราะทุกคนมีทั้งตายวันนี้และตายพรุ่งนี้ ตามบทสวด อย่าประมาทชีวิต พร้อมจะตายได้ทุกโอกาส ทั้งด้วยโรคภัยไข้เจ็บหรืออะไรก็ตาม เราไปกำหนดไม่ได้

    อย่าท้าทายกับท่านพญามัจจุราชที่มีเสนามาก การตายจะเป็นวันนี้ หรืออยู่วันไหน มีโอกาสตายทุกคน โรคภัยไข้เจ็บเครียดสมองแตก และอีกบทคือ อย่าประมาทเสนา อำมาตย์ ที่มีอำนาจน้อย อีกอย่างคนเรามีโอกาสตายได้ทุกวัน ไปฟังคำพระกันบ้าง นับถือศาสนาพุทธกันบ้างหรือเปล่า สวดมนต์กันได้กี่บท มาท่องแข่งกับฉันไหม ไม่เอาชักเลอะเทอะแล้ว

    ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน ผู้ชุมนุมนัดรวมตัวกันที่แยกราชประสงค์อีกครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ตรึงกำลังควบคุมพื้นที่และมีการปิดบริการสถานีรถไฟฟ้ารอบพื้นที่ ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมย้ายไปรวมตัวกันบริเวณแยกปทุมวัน ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะนำรถฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าฉีดน้ำผสมสารเคมีและสีสลายการชุมนุมในช่วงหัวค่ำ

    ในขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าการฉีดน้ำสลายการชุมนุมนั้นเป็นไปตามหลักสากล แต่ทางโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ (iLaw) ได้เปิดเผยรายละเอียดระดับสากลของเงื่อนไขในการฉีดน้ำและสารเคมีสลายการชุมนุม โดยระบุว่า

    ปืนใหญ่ฉีดน้ำ หรือ Water Canon ออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะสลายการรวมกลุ่ม เพื่อปกป้องทรัพย์สินหรือหยุดพฤติกรรมการใช้ความรุนแรง โดยทั่วไปแล้ว ปืนใหญ่ฉีดน้ำควรจะใช้ในสถานการณ์ที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยอย่างร้ายแรง ซึ่งมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าจะนำไปสู่การเสียชีวิต บาดเจ็บสาหัส หรือการทำลายทรัพย์สินอย่างรุนแรงในวงกว้าง “เท่านั้น” โดยวัตถุประสงค์ที่จำเป็นและได้สัดส่วน การตระเตรียมการใช้ปืนใหญ่ฉีดน้ำควรจะต้องวางแผนการอย่างดี และควรใช้ภายใต้คำสั่งที่เคร่งครัด ควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูง

    ปืนใหญ่ฉีดน้ำ ไม่ควรใช้ยิงใส่บุคคลในระดับสูง ในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บระดับสอง (Secondary Injury) ความเสี่ยงอื่นๆ รวมถึง อาการช็อคเพราะอุณหภูมิร่างกายต่ำลงจากน้ำเย็นในภาวะที่อากาศหนาว และความเสี่ยงจากการลื่นล้ม หรือการถูกฉีดอัดกับกำแพง การใช้ปืนใหญ่ฉีดน้ำนั้นต้องให้ผลที่ไม่เฉพาะเจาะจง ไม่สามารถใช้แบบเล็งไปที่ตัวบุคคลโดยเฉพาะได้

    การใช้สารที่ก่อและความระคายเคืองทางเคมี (Chemical Irritants) ต้องใช้จากระยะไกลต่อกลุ่มคนที่เข้าร่วมก่อความรุนแรง มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชุมนุมกระจายตัวและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง การใช้สารดังกล่าวในพื้นที่ปิดอาจทำให้เกิดการเหยียบย่ำกันเองของฝูงชน และก่อให้เกิดความเสียหายโดยไม่เลือกฝ่ายเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของทิศทางลม และอากาศเกิดอันตรายต่อชีวิตหากใช้ในพื้นที่ปิดในจำนวนมาก การใช้สารดังกล่าวกับบุคคลที่ใช้ความรุนแรงอาจทำให้บุคคลดังกล่าวขยับเข้ามาใกล้ผู้บังคับใช้กฏหมายมากขึ้นทำให้มีความเสี่ยงในการเผชิญหน้ากันมากขึ้น การใช้สารที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองทางเคมีอาจก่อให้เกิดความยากลำบากในการหายใจ อาการเวียนหัวอาเจียนหรือการระคายเคืองในระบบหายใจ ต่อมน้ำตา ลูกตา อาการกระตุก เจ็บหน้าอก ผิวหนังอักเสบ หรืออาการแพ้ ในจำนวนมากอาจเกิดน้ำท่วมปอด เซลล์ในระบบหายใจและระบบย่อยอาหารตาย และเลือดออกภายใน คนที่ถูกสารเหล่านี้ต้องได้รับการฆ่าเชื่ออย่างเร่งด่วนที่สุด

    การใช้กระสุนเคมีระคายเคืองต้องไม่ยิงไปหาบุคคล หากโดนหน้าหรือหัวอาจเกิดอันตรายต่อร่างกายและชีวืต และต้องไม่ใช้ในพื้นที่ปิดหรือที่ไม่มีอากาศถ่ายเทพอ ไม่ควรใช้สารเคมีที่ก่อความระคายเคืองที่มีระดับของสารอันตรายสูง

    อ่านเพิ่มเติม

    เฟซบุ๊กแฟนเพจศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน — “หลักสากล” สำหรับการชุมนุม และการสลายการชุมนุม
    เว็บไซต์แนวหน้า — ตร.จัดหนัก! ประกาศลั่นเอาผิดม็อบราชประสงค์ทุกคน
    เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ — นายกฯ เตือนอย่าประมาท ท้าทายพญามัจจุราช คนเราตายได้ทุกเวลา (คลิป)
    เฟซบุ๊กแฟนเพจไอลอว์ — “หลักสากล” สำหรับการชุมนุม และการสลายการชุมนุม

    ปธน.คีร์กีซสถานลาออกหลังโดนม็อบไล่ ชี้ “ไม่อยากให้นองเลือด”

    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า ประธานาธิบดีโซโรนบัย เจนเบกัฟ แห่งคีร์กีซสถาน ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 หลังจากมีมวลชนออกมาชุมนุมประท้วงในกรุงบิชเคกต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวันพร้อมเรียกร้องให้เจนเบกัฟลงจากตำแหน่ง เนื่องจากความไม่พอใจผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2563

    นายเจนเบกัฟ แถลงเหตุผลที่เขาตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีคีร์กีซสถาน เนื่องจากต้องการป้องกันและหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร กับบรรดาผู้ชุมนุมที่เรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่ง 

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ — ปธน.คีร์กีซสถาน ‘ไม่อยากให้เกิดนองเลือด’ ยอมลาออก หลังโดนม็อบไล่