ThaiPublica > เกาะกระแส > น้ำท่วมกรุงเทพมหานคร “ความจริงที่แก้ได้…ง่ายนิดเดียว”

น้ำท่วมกรุงเทพมหานคร “ความจริงที่แก้ได้…ง่ายนิดเดียว”

9 ตุลาคม 2020


พล.ต.องอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/prbangkok/photos/

น้ำท่วมกรุงเทพมหานคร พูดกี่ครั้งก็เป็นเรื่องเก่าที่ถูกหยิบมาพูดเสมอๆ ว่าฝนตก น้ำท่วม รถติด ทำให้คนเข้าใจว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ เป็นเรื่องที่แก้ไม่ได้ไปเสียแล้ว

แต่หากได้พูดคุยกับผู้รู้เรื่องน้ำก็จะมีคำตอบว่า “แก้ได้ ไม่ยาก” อยู่ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร/สำนักงานระบายน้ำพร้อมทำหรือไม่

“พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าฯ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ของกรุงเทพมหานคร ที่ทำให้คนกรุงเทพมีความหวังว่า ในห้วงอำนาจของ คสช. จะใช้อำนาจเบ็ดเสร็จสั่งการแก้ปัญหายากๆ ได้สำเร็จ โดยเฉพาะการเอาคนขึ้นจากคลอง เพื่อทำเขื่อนคลอง และขุดลอกลอกคลองให้ลึกเพียงพอ (2-3 เมตร) ในการรองรับน้ำรอระบายได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะคลองลาดพร้าวที่ริเริ่มในยุคนั้น บัดนี้ทำมา 4 ปีแล้ว ยังทำไม่ถึงไหน

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/prbangkok/photos/

ตามคำประกาศของกรุงเทพมหานครที่ว่าระบุว่า รองรับปริมาณฝนตกในระดับ 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงได้สบายๆ แต่สภาพความเป็นจริงเป็นอย่างที่เห็น ทุกครั้งที่ฝนตก น้ำท่วมขังรอระบายเป็นชั่วโมง ซึ่งกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ แม้ยังไม่มีการถอดออกมาเป็นมูลค่าความเสียหายก็ตาม

โดยทั่วไปปริมาณฝนตกแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากันอยู่แล้ว หากตกในพื้นที่ใดเกิน 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ก็คำนวนได้ง่ายๆ ว่าน้ำที่รอระบายจะถูกสูบระบายหายไปในกี่นาที กี่ชั่วโมง อย่างกรณีวันที่ 2 ตุลาคม 2563 พื้นที่รัชดาภิเษกฝนตกประมาณ 75 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง นั่นหมายความว่า 15 นาที ต้องระบายน้ำท่วมขังได้หมด แต่ทำไมต้องรอถึง 2 ชั่วโมงกว่าน้ำบริเวณหน้าศาลรัชดาลดลง

เช่นเดียวกันกับน้ำท่วมในพื้นที่อื่นๆ ใช้เวลาในการระบายน้ำบนท้องถนน/ซอย ค่อนข้างนานมาก สร้างความวิบัติให้กับวิถีคนเมืองอย่างไม่ควรจะเกิดขึ้น

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/prbangkok/photos/

ดังนั้นการที่น้ำรอระบายที่ค้างท่อนานเกิน เป็นการพิสูจน์คำพูดของผู้ว่าฯ กทม. ที่ว่ารองรับปริมาณฝนตกในระดับ 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ไม่เป็นความจริงอีกต่อไป

คำชี้แจงที่ดูจะโบราณเมื่อเทียบกับการพัฒนาเทคโนโลยี ที่ผู้ว่าฯ กทม. หลายยุคหลายๆ คนอ้างเช่นนี้มาต่อเนื่อง เช่น ขยะเยอะปิดทางไหลของน้ำ เครื่องสูบน้ำไม่ทำงาน ไฟฟ้าดับทำให้เครื่องสูบน้ำทำงานไม่ได้

แล้วความจริงนี้มันสามารถแก้ได้หรือไม่ ทำไมยังเป็นคำแก้ตัวซ้ำๆ ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีก้าวไกลไปไหนๆ

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในวันที่ 2 ตุลาคม 2563 ปรากฏว่าสถานีสูบน้ำคลองบางซื่อ ซึ่งเป็นหนึ่งสถานีหลักในการระบายน้ำ

คลองบางซื่อ เป็นคลองที่ขวางตัดยอดน้ำของคลองลาดพร้าว เพื่อไม่ให้น้ำในคลองลาดพร้าวเข้าสู่เมืองมากเกินไป โดยน้ำในคลองลาดพร้าวจะไหลไปที่อุโมงค์พระราม 9 ซึ่งอุโมงค์พระราม 9 เป็นอุโมงค์รองรับ เพื่อระบายน้ำจากคลองลาดพร้าวและคลองแสนแสบ

คลองบางซื่อซึ่งตัดยอดน้ำคลองลาดพร้าวตั้งแต่ถนนรัชดาภิเษก หน้าโรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค มาออกวิภาวดี กำแพงเพชร เกียกกาย ไปลงแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีคลองบางซื่อและอุโมงค์อยู่ใต้คลองบางซื่อเป็นตัวระบายน้ำ

วันที่ 2 ตุลาคม 2563 ฝนตกน้ำท่วมมีน้ำรอระบายบริเวณถนนรัชดา เวลาประมาณ 17.00 น. ถึง 20.00 น. โดยคลองบางซื่อ มีปั๊มน้ำ 17 ตัว แต่มีเครื่องสูบน้ำทำงานได้แค่ 11 ตัว โดยโชว์ประสิทธิภาพของปั๊มทุกตัวเท่ากันหมดคือสามารถสูบน้ำได้ 3 ลบม. ต่อวินาทีต่อตัว เต็มกำลังการสูบ

คลองบางซื่อ

“แต่ในความเป็นจริงเครื่องสูบน้ำซึ่งใช้งานมานาน มันไม่สามารถสูบได้เต็มกำลัง 3 ลบม. ต่อวินาที สูบได้แค่ 70% ของกำลังสูบที่ระบุไว้ก็เก่งแล้ว เพราะปั๊มเป็นเครื่องจักร ต้องมีการสึกหรอ ไม่มีทางที่จะสูบได้ 100 % เมื่อเครื่องสูบทำงานแค่ 11 ตัว จึงไม่แปลกใจว่าทำไมน้ำรอระบายจึงใช้เวลานานมาก”

ในวันเดียวกันที่สถานีสูบน้ำพระขโนงเป็นอีกหนึ่งสถานีที่สำคัญของการระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร และเป็นสถานีที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพมหานคร มีปั๊มสูบน้ำทั้งหมด 51 ตัว วันที่ 2 ตุลาคม 2563 ในช่วง 17.00 น. ถึง 20.00 น. ปั๊มสูบน้ำใช้ 26 ตัว ไม่ทำงาน 25 ตัว นั่นหมายความว่าปั๊มสูบน้ำทำงานได้ครึ่งเดียว

สถานีคลองพระขโนง

และทุกตัวโชว์ว่าทำงานเต็มประสิทธิภาพ สูบน้ำได้ 3 ลบม. ต่อวินาที แต่ความเป็นจริง ไม่สามารถระบายน้ำได้จริงตามที่ระบุ

แล้วน้ำ…จะไม่ท่วมได้อย่างไร!!!

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำให้ความเห็นว่า “ในวันที่ 2 ตุลาคม แถวรัชดาฯ ฝนตกประมาณกว่า 70 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ทำไมน้ำท่วมนานขนาดนั้น เพราะเอาน้ำออกไม่ได้ ด้วยคลองลาดพร้าวน้ำมันเต็มอยู่ ต้องนึกภาพก่อนว่าถนนรัชดา การเอาน้ำออกทำได้ 3 ทาง คือ 1. คลองรัชดาออกโรงสูบน้ำอาภาภิรมย์ จากซอยอาภาภิรมย์ออกสู่คลองลาดพร้าว 2. เอาออกสู่คลองเปรมประชากร และ 3. เอามาออกสถานีรับน้ำคลองบางซื่อ ตรงเจ้าพระยาปาร์ค แต่ปรากฏว่าน้ำท่วมอยู่ 2-3 ชั่วโมง ทั้งที่มีทางระบายออก 3 ทาง ดังนั้น ถ้า กทม. บอกว่าสามารถรองรับปริมาณฝนตกได้ 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง แต่ฝนตกกว่า 70 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ทำไมท่วมนาน 2-3 ชั่วโมง ถ้าประสิทธิภาพของโรงสูบน้ำปลายแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางซื่อมีเครื่องสูบน้ำทั้งหมด 17 ตัว แต่ทำงานแค่ 11 ตัว หรือ พระโขนงมี 51 แต่เดินเครื่อง 26 ตัว ถามว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมเครื่องสูบน้ำกทม.มีหลายตัว แต่เดินเครื่อง ทำงานจริงเกินครึ่งมาเล็กน้อย”

ปริมาณฝนตกในพื้นที่ต่างๆ วันที่ 2 ตุลาคม 2563

“ดังนั้น กทม. อ้างไม่ได้เลยว่ารับน้ำฝนตกได้ 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง เมื่อฝนตก 75 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง คิดแบบง่ายๆ 15 นาที ต้องแห้ง แล้ว แต่ทำไมไม่แห้ง หรือ ตกหนัก 119 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ภายใน 1 ชั่วโมง น้ำต้องแห้ง แต่ทำไมไม่แห้ง ต้องถามว่าที่ผ่านมาผู้ว่าฯ กทม. ไปทำอะไรอยู่”

นอกจากนี้กรุงเทพมหานครเคยประกาศว่ากำลังการสูบน้ำปลายฝั่งพระนครลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ประมาณ 700 ลบม. ต่อวินาที ถ้าประสิทธิภาพของปั๊มสูบน้ำลดลงไป 10% เท่ากับการระบายน้ำหายไป 70 ลบม. ต่อวินาที เทียบเท่ากับการระบายน้ำ 1 อุโมงค์ เพราะอุโมงค์คลองบางซื่อสามารถระบายน้ำได้ 60 ลบม. ต่อวินาที

ดังนั้นหากกำลังการสูบน้ำลดลงไป 10% เท่ากับการระบายน้ำหายไป 70 ลบม. ต่อวินาที หรือเทียบเท่ากับการระบายน้ำ 1 อุโมงค์

พร้อมตั้งคำถามดังๆ ว่า การแก้ปัญหาน้ำรอระบาย ทำไมไม่ปรับปรุงประสิทธิภาพของปั๊มสูบน้ำให้ดีขึ้น ทำไม กทม. เลือกที่จะลงทุนสร้างอุโมงค์ระบายน้ำแทน

แล้วรู้ไหมว่าการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำต้องใช้เงินเท่าไหร่

ล่าสุดที่ กทม. กำลังจะก่อสร้างคืออุโมงค์คลองเปรมประชากร มีมูลค่าการก่อสร้างประมาณ 10,000 ล้านบาท และทำสองอุโมงค์ ประมาณ 20,000 ล้านบาท

ถามต่อว่าทำไม กทม. ไม่ปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องสูบน้ำให้เต็มกำลังการสูบจริงๆ …เมื่อประกาศว่าเครื่องสูบน้ำทั้งหมดของกรุงเทพมหานครสามารถสูบได้ 700 ลบม. ต่อวินาที แต่ในทางปฏิบัติจริง หากสูบได้ 60% ก็นับว่าเก่งแล้ว ซึ่งสามารถระบายน้ำได้ 420 ลบม. ต่อวินาที

ดังนั้นถ้าปรับประสิทธิภาพปั๊มสูบน้ำจาก 60% ขึ้นมาอีกสัก 20% เป็น 80% ก็จะระบายน้ำได้ 560 ลบม. ต่อวินาที เท่ากับว่าสามารถเพิ่มการระยายน้ำได้อีก 140 ลบม. ต่อวินาที เท่ากับ 2 อุโมงค์ในการระบายน้ำ โดยที่ไม่ต้องสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใหม่ที่ต้องลงทุนถึง 20,000 ล้านบาท

เมื่อคำถามว่าถ้าไปปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องสูบน้ำ จะใช้เงินเท่าไหร่

ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ คำนวนว่า ถ้า กทม. ระบุว่ากำลังการสูบน้ำปลายฝั่งพระนครลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 700 ลบม.ต่อวินาที หากตีเป็นจำนวนเครื่องสูบน้ำทั้งหมดจะคิดเป็นมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท ค่าบำรุงรักษาประมาณ 10% ต่อปี ตกปีละ 1,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสูบน้ำให้ได้มากขึ้น จึงต้องถามว่าการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องสูบน้ำดีกว่าการลงทุนสร้างอุโมงค์ใหม่ เพราะใช้งบฯน้อยกว่ากันมากมายหรือไม่ อย่างไร

คนที่คลุกวงใน ให้ข้อมูลว่า การลงทุนในโครงการใหม่ ๆ มักจะมีเงินทอน นี่คือสิ่งที่ทำให้เกิดโครงการใหม่ๆมากกว่าการซ่อมบำรุง/รักษา

ดังนั้นเมื่อเครื่องสูบน้ำไม่ได้ซ่อม/บำรุงรักษาและพัฒนาตามเทคโนโลยีเครื่องสูบน้ำที่ก้าวหน้าไปมากแล้ว ประกอบกับการสั่งการเปิดปิดเครื่องสูบน้ำ ยังใช้ระบบ manual ที่ใช้คน ถ้าเป็นกลางคืน บางครั้งคนก็ไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมทำงาน และระบบการสั่งการด้วยห้องคอนโทรลรูมน้ำท่วม ยังไม่สามารถปฏิบติด้วยระบบอัตโนมัติได้จริง จึงเป็นปัญหาทับซ้อน พร้อมการสั่งการโดยคนคนเดียวที่อยู่หน้างานในพื้นที่ก็สามารถเห็นแค่พื้นที่เดียว การสื่อสารก็ด้วยวิทยุสื่อสาร การบริหารจัดการจึงไม่ทันสถานการณ์เหมือนอยู่ในห้องคอนโทรลรูปที่สมบูรณ์แบบอย่างในต่างประเทศ

ผู้เชี่ยวชาญยื่นยันว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครทำได้ แค่นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของไทย ไม่ว่าพัฒนา/ซ่อมบำรุงให้เครื่องสูบน้ำทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ หรือห้องคอนโทรลรูมน้ำท่วมที่มีระบบสมบูรณ์พร้อมสั่งการได้จริง

แต่สิ่งเหล่านี้ ยังไม่เกิดขึ้น สิ่งที่เห็นคือมีเครื่องสูบน้ำไปโชว์อยู่บนถนนแทน!!

นอกจากทางออกในการแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องสูบน้ำแล้ว ทางออกของการแก้ปัญหาน้ำท่วมอีกทางหนึ่งคือการเอาคนขึ้นจากคลอง เพื่อทำเขื่อนคลองและกดระดับคลองให้ลึก เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำได้มากขึ้น

คลองลาดพร้าวเป็นคลองหลัก ที่ครอบคลุมพื้นที่ 8 เขตของกรุงเทพมหานครและเป็นคลองนำร่อง ที่รัฐบาล คสช. ในขณะนั้นตั้งเป้าที่จะทำเป็นตัวอย่าง เพื่อขุดลอกคลองให้ลึกลงไป 3 เมตร แต่โครงการนี้ว่าจ้างผู้รับเหมาซึ่งหมดสัญญาไปเมื่อปี 2562 แต่งานแล้วเสร็จไปแค่ 47% จนบัดนี้ ใช้เวลาไปแล้ว 4 ปี แต่ไม่สามารถกดระดับคลองลาดพร้าวเพื่อรองรับน้ำรอระบายได้

แหล่งข่าวใน กทม. ระบุว่า สำนักระบายน้ำ เป็นสำนักฯ ที่มีผู้รับเหมาทิ้งงาน และทำงานไม่เสร็จตามกำหนดเวลามากที่สุด แต่ผู้รับเหมารายเดิม ๆ เหล่านี้ยังคงได้รับการคัดเลือกเข้ามารับงานอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการถูกแบล็กลิสต์แต่อย่างใด

การทำเขื่อนคลองและการเอาคนขึ้นจากคลองลาดพร้าว

“กรณีคลองลาดพร้าว จนถึงขณะนี้ทางกทม. ยังไม่ดำเนินการยกเลิกสัญญากับผู้รับเหมา ทั้งที่ทำงานได้แค่ 47% ตราบใดที่คลองลาดพร้าวไม่เสร็จ คนกรุงจะต้องเผชิญน้ำท่วมต่อไป และขณะนี้ กทม. ได้ทำโครงการเดียวกันนี้กับคลองเปรมประชากรเพื่อทำเขื่อนคลอง เอาคนขึ้นฝั่ง และขุดลอกคลอง กดระดับคลองให้ลึกขึ้น ก็เกรงว่าจะประสบปัญหาเดียวกันอีก การแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ก็คงจะยืดเยื้อยาวนานต่อไป” แหล่งข่าวระบุ

คลองลาดพร้าว

พร้อมย้ำว่า “หัวใจของของการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ไม่ใช่แค่เอาเงินมาทำอุโมงค์ 1 อุโมงค์ มูลค่า 10,000 ล้านบาท และการระบายน้ำในอุโมงค์ขึ้นอยู่กับเครื่องสูบน้ำ 6-7 ตัว ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 200 กว่าล้านบาท หากเครื่องสูบน้ำไม่ทำงานอุโมงค์ ก็ระบายน้ำไม่ได้ เงินหมื่นล้านที่ทำอุโมงค์มาก็เสียเปล่า เราได้ยินคำถามนี่บ่อยๆ ว่าเครื่องสูบน้ำไม่ทำงาน ไฟฟ้าดับ เงินหมื่นล้านไปทิ้งกับเครื่องสูบน้ำ 200 กว่าล้านบาท ไม่ทำงาน หากเอาเงินหมื่นล้านบาท ไปพัฒนาคลองให้ลึกขึ้น ขนคนขึ้นไปอยู่บนเขื่อน มันเห็นด้วยตา สามารถกดระดับคลองลงไปเพื่อรัองรับน้ำได้ หรือทำไมไม่ไปเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องสูบน้ำที่โรงสูบปลายทาง ทำไมไม่ปรับเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำตามสถานีสูบน้ำต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น จะดีกว่าไหม นี่เป็นคำถามที่คาใจว่าทำไมไม่ทำ”

นี่คือความสูญเปล่าในการใช้เงินภาษีประชาชน

นี่ความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ประมาณค่ามิได้

เป็นเรื่องที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องแสดงจุดยืนที่มีต่อส่วนรวมว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรในเรื่องนี้