ThaiPublica > เกาะกระแส > แบงก์ชาติรุกแก้หนี้เอสเอ็มอี สั่งแบงก์-นอนแบงก์-ลูกหนี้ เจรจา ใครไหว-ไม่ไหว จะแช่แข็งต่อหรือผ่อนตามกำลัง

แบงก์ชาติรุกแก้หนี้เอสเอ็มอี สั่งแบงก์-นอนแบงก์-ลูกหนี้ เจรจา ใครไหว-ไม่ไหว จะแช่แข็งต่อหรือผ่อนตามกำลัง

18 ตุลาคม 2020


ดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส

ธปท. สั่งแบงก์-นอนแบงก์ต่อมาตรการพักหนี้เอสเอ็มอี กลุ่มเสี่ยงอีก 6 เดือนถึง 30 มิ.ย. 2564 พร้อมตามหาลูกหนี้ที่ขาดการติดต่อ 1.6 หมื่นบัญชี ยอดหนี้รวม 5.7 หมื่นล้านบาท เข้าเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ด่วน ย้ำยังไม่มีสัญญาณลูกหนี้ “ตกหน้าผา” ระบุ 3 ธุรกิจฟื้นตัวกลับมาใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด “เครื่องดื่ม -เครื่องใช้ไฟฟ้า –การค้า” ส่วนภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวช้าตามคาด

ดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายเสถียรภาพระบบการเงินและยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้พบปะสื่อมวลชน(Media Briefing) มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ที่จะครบกำหนดในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ ว่า เนื่องจากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกมาตรการผ่อนผันให้ลูกหนี้เอสเอ็มอี(วงเงินกู้ไม่เกิน 100 ล้านบาท) ที่ได้รับการพักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. -22 ต.ค. 2563 โดยเอสเอ็มอีเข้ามาตรการพักหนี้มียอดรวม 1.35 ล้านล้านบาท จำนวน 10.5 ล้านบัญชี คิดเป็นสัดส่วน 19.5% ของยอดการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งหมดของระบบสถาบันการเงินจำนวน 6.89 ล้านล้านบาท

จากการที่ธปท.ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และคาดว่าจะไม่เกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว (cliff effect) หลังมาตรการพักหนี้ครบกำหนด โดยมีความคืบหน้าในการดำเนินการ ดังนี้

    1.ลูกหนี้เอสเอ็มอีของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้ามาตรการ วงเงินประมาณ 4 แสนล้านบาท ได้รับการขยายระยะเวลาการพักหนี้ไปอีก 3-6 เดือนแล้ว

    2.ลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) และนอนแบงก์อีกประมาณ 9.5 แสนล้านบาท จำนวน 2.7 แสนบัญชี พบว่า ลูกหนี้ส่วนใหญ่แสดงเจตจำนงว่าจะสามารถจ่ายชำระหนี้ได้ตามปกติหลังหมดมาตรการวันที่ 22 ต.ค. 2563 ซึ่งแยกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

  • กลุ่มเอสเอ็มอี 94% หรือยอดรวม 8.93 แสนล้านบาท ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ที่ผ่านมา พบว่ามีกลุ่มที่ลูกหนี้สามารถไปต่อได้สัดส่วน 60% และอีกกลุ่มเกือบ 40% เป็นลูกหนี้ที่ธนาคารเข้าดูแลไปบางส่วนแล้ว อาทิ การพักหนี้ต่อ การปรับเงื่อนไขในการช่วยเหลือ ยังไม่สามารถกลับมาจ่ายชำระหนี้ได้ตามปกติหรืออาจจ่ายได้บางส่วน ซึ่งธนาคารพาณิชย์ยังคงให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากพอที่จะชำระหนี้ได้

โดยมีหลายมาตรการมารองรับ ได้แก่ การปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายเพื่อไม่ให้กลายเป็นเอ็นพีแอลรวมถึงใช้มาตรการอื่นตามความเหมาะสม เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล การพักชำระค่างวด รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อยด้วยวิธีการรวมหนี้ (debt consolidation) และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย (multi-creditors) เป็นต้น โดยเจ้าหนี้จะทำการพิจารณาเป็นรายกรณี และต่อมาตรการพักชำระหนี้รอบใหม่ให้อีก 6 เดือน จนถึงภายในวันที่ 30 มิ.ย. 2564

  • กลุ่มเอสเอ็มอี 6% ของยอดสินเชื่อ 9.5 แสนล้านบาท หรือจำนวน 1.6 หมื่นบัญชี ยอดหนี้ 5.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่เจ้าหนี้ยังไม่สามารถติดต่อได้ หรือกำลังอยู่ระหว่างการติดต่อ ซึ่งต้องการให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ติดต่อเข้ามาเพื่อเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค. 2563 นี้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563

“ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป เอสเอ็มอีกลุ่มนี้จะไม่ได้รับการพักหนี้เป็นการทั่วไปแล้ว ซึ่งหากคนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือต่อ จะต้องเจรจากับเจ้าหนี้แบงก์และนอนแบงก์ได้ภายในวันที่ 31 ธ.ค. นี้ ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้ยังคงรักษาสถานะเดิม หรือ stand still ไว้ ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้รายนั้นไม่ได้มีสถานะแย่กว่าเดิม และห้ามเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยปรับ ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เพราะฉะนั้นลูกหนี้จำเป็นต้องยกมือบอกเจ้าหนี้ว่าไปต่อไหวหรือไม่ไหว เราคิดว่าในช่วง 2 เดือนจากนี้เพียงพอที่จะให้ลูกหนี้เข้ามาเจรจาตกลงกันใหม่กับเจ้าหนี้ได้ เพื่อขอแช่แข็งแบบเดิม และมีเวลาแก้ปัญหาระยะยาวเพื่อจะได้มีโอกาสกลับมาอยู่ได้ในโลกที่ไม่ได้เหมือนเดิม”

สำหรับการเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ที่ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ มีโอกาสเจรจาขอต่อมาตรการกับเจ้าหนี้เป็นรายกรณี เชื่อว่าจะทำให้ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย คือ ธนาคารก็ไม่ได้ตั้งสำรองหนี้ ด้านลูกหนี้เอสเอ็มอีก็สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเนื่องยังระบบเศรษฐกิจและการเงิน

ดร.รุ่ง กล่าวต่อว่า แนวโน้มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการบริหารจัดการอยู่ จึงยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเพิ่มแบบพุ่งรุนแรงหรือไม่ เช่นเดียวกันกับไม่สามารถคาดการณ์เศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่ยืนยันได้ว่า

ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณจะเกิดภาวะลูกหนี้ตกหน้าผา อย่างไรก็ตาม ธปท. ไม่ได้ปฏิเสธปัญหา และคงดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันการเกิดหนี้เสียต่อเนื่อง

สำหรับสถานการณ์ลูกหนี้ภาคธุรกิจ หลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ พบว่าการฟื้นตัวของธุรกิจในแต่ละสาขาไม่เท่ากัน เช่น ธุรกิจเครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า และการค้า ฟื้นตัวกลับเข้าใกล้ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวยังพื้นตัวช้า โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่การฟื้นตัวยังอยู่เพียง 26% ของช่วงก่อนโควิด-19

จากเหตุผลดังกล่าว ธปท. จึงปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากการให้สถาบันการเงินช่วยเหลือเป็นการทั่วไป เป็นการให้ความช่วยเหลือเชิงรุกและตรงจุดที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกหนี้แต่ละราย (Targeted) โดยหากยังคงดำเนินมาตรการพักหนี้เป็นการทั่วไปต่อไปอาจส่งผลกระทบทางลบในระยะยาวได้เนื่องจาก

    1)ลูกหนี้ที่พักหนี้อยู่จะยังคงมีภาระดอกเบี้ยในแต่ละเดือนตลอดช่วงการพักหนี้ ซึ่งเป็นภาระแก่ลูกหนี้ในระยะยาว

    2)ไม่ส่งเสริมให้เกิดวินัยทางการเงิน (moral hazard) เพราะลูกหนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบไม่มาก อาจอาศัยเป็นช่องทางเพื่อประวิงเวลาการชำระหนี้

    3)ส่งผลเสียต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินเพราะการพักหนี้เป็นการทั่วไประยะเวลานาน คาดว่าจะทำให้สภาพคล่องในระบบจากการชำระคืนหนี้และดอกเบี้ยหายไปประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี โดยในช่วงมาตรการพักชำระหนี้รอบแรก 6 เดือนที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของสถาบันการเงินแล้ว 1 แสนล้านบาท

ดังนั้น กลุ่มลูกหนี้ที่ยังมีรายได้เพียงพอที่จะชำระคืนหนี้ควรชำระหนี้ตามปกติหลังหมดมาตรการ เพราะนอกจากจะช่วยลดภาระหนี้แล้ว ยังจะทำให้สถาบันการเงินมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นเพื่อปล่อยกู้ให้กับผู้ที่ยังได้รับผลกระทบอยู่ ส่วนลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ โดยเฉพาะรายที่สถาบันการเงินยังติดต่อไม่ได้ ควรรีบติดต่อกับสถาบันการเงินเพื่อรับความช่วยเหลือที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ธปท. ได้ออกประกาศให้สถาบันการเงินคงสถานการณ์จัดชั้นลูกหนี้ถึงสิ้นปี 2563 (stand still) สำหรับลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างเจรจาปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ เพื่อช่วยไม่ให้ลูกหนี้กลายเป็นเอ็นพีแอล ซึ่งเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้สถาบันการเงินเร่งดำเนินการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้

นอกจากนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อให้ทราบว่ามีภาคธุรกิจไหนที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ