ThaiPublica > เกาะกระแส > โครงการ BOT Data Viz Art สื่อสารแบบใหม่ : “The Journey of Thai Payment” คว้าที่ 1 เจาะลึกระบบการชำระเงินไทย

โครงการ BOT Data Viz Art สื่อสารแบบใหม่ : “The Journey of Thai Payment” คว้าที่ 1 เจาะลึกระบบการชำระเงินไทย

14 ตุลาคม 2020


ภาณุกร ศรธนะรัตน์ ผู้รับผิดชอบด้านข้อมูล (ซ้าย), วีรมลล์ พันธุ์พานิช ผู้รับผิดชอบด้านออกแบบ (กลาง), ภาณุ กัมปนากร ผู้รับผิดชอบด้านเว็บไซต์และเทคนิคการนำเสนอ (ขวา)

ปี 2020 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ กำหนดทิศทางขับเคลื่อนองค์กรด้วยแนวคิด ‘Data Driven Organization’

ด้วยแนวคิดการใช้พลังของข้อมูล (Power of Data) ทำให้ธปท.ต้องปรับเปลี่ยน ‘วิธีการสื่อสาร’ จากเดิมนำเสนอข้อมูลดิบ (raw data) หรือแบบข้อมูลตาราง (data table) ทำให้ข้อมูลมักจะถูกเข้าถึงในวงแคบ ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนวิธีการนำเสนอข้อมูลที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่ายและเข้าถึงสาธารณะวงกว้าง

ในยุคของ “ดร.วิรไท สันติประภพ” อดีตผู้ว่าการฯ ได้จัดกิจกรรมเวิร์กช็อปเรื่อง Data Analytic จัดให้พนักงานนำข้อมูลภายในมาวิเคราะห์เชิงลึกและนำเสนอให้กับผู้บริหารระดับสูงในทุก 2 เดือน และนำผลลัพธ์ที่ได้มาออกแบบนโยบาย-มาตรการให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน-ผู้ประกอบการ

ต่อมาจึงพัฒนาเป็น “โครงการส่งเสริมทักษะการทำ Visualization และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกด้วย Micro Data” ชื่อว่า โครงการ Data Viz Art จัดในปี 2020 โดยให้คนที่เข้าใจข้อมูลดีที่สุดนั่นก็คือ ‘พนักงานแบงก์ชาติ’ เป็นคนทำข้อมูลแข่งขันในองค์กรภายใต้โจทย์ data visualisation โดยมีองค์ประกอบ 3 อย่าง ได้แก่ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เทคนิคการนำเสนอ และการออกแบบที่สวยงาม สื่อความหมายได้

เบื้องหลังทีมชนะเลิศ “The Journey of Thai Payment”

ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคือ The Journey of Thai Payment ว่าด้วยเรื่องข้อมูลระบบการชำระเงินของประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงวิธีการชำระเงินทุกช่องทางในประเทศไทย ได้แก่ บาทเนต (Bahtnet) รายการโอนเงินเพื่อลูกค้า ทั้งที่เป็นลูกค้าสถาบันและบุคคล ที่มีถิ่นฐานในประเทศ (Resident) และนอกประเทศ (Non-resident) รวมถึงรายการโอนเงินระหว่างสถาบันที่ทําเพื่อลูกค้าที่มีถิ่นฐานในประเทศ และนอกประเทศ,เคาน์เตอร์ (Counter), เช็ค (Cheque), เอทีเอ็ม (ATM),บัลก์เพย์เม้นต์ (Bulk Payment) (ITMX Bulk Payment) หมายถึง ระบบที่ให้บริการชําระเงินรายย่อยระหว่างลูกค้าที่มีบัญชีเงินฝากอยู่ต่างธนาคารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่ให้บริการโดยบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กช์, บัตรเครดิต-เดบิต (Card Payment), อีมันนี่ (E-Money)หรือบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ และโมบายแบงก์กิ้ง (Internet & Mobile Banking)

ทีม The Journey of Thai Payment ประกอบด้วย 3 คน คือ ภาณุกร ศรธนะรัตน์ ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ผู้รับผิดชอบด้านข้อมูล, ภาณุ กัมปนากร ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้รับผิดชอบด้านเว็บไซต์และเทคนิคการนำเสนอ และวีรมลล์ พันธุ์พานิช ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ผู้รับผิดชอบด้านออกแบบ

ทั้งหมดเป็นพนักงานแบงก์ชาติที่อยู่คนละฝ่าย แต่รู้จักกันและตัดสินใจสมัครโครงการดังกล่าว โดยใช้จุดแข็งของแต่ละคนมาผสมผสานกัน แต่มีแก่นคือเรื่องระบบการชำระเงินในรูปแบบที่ลึก ละเอียด นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ทันที บวกกับประชาชนคนธรรมดาต้องเข้าใจได้ง่าย

จุดเริ่มต้นจาก ภาณุกร (ผู้รับผิดชอบด้านข้อมูล) และภาณุ (ผู้รับผิดชอบด้านเทคนิคฯ) ซึ่งรู้จักกันมาก่อน มองว่าคนแบงก์ชาติก็มีศักยภาพในการนำเสนองานแบบ interactive ไม่แพ้ของต่างประเทศ ทำให้ทั้งสองเริ่มตัดสินใจทำจริงจัง

ภาณุกร ศรธนะรัตน์ ผู้รับผิดชอบด้านข้อมูล

“ตอนแรกเราจะทำเล่นๆ ไม่ได้คิดว่าจะออกมายังไง แต่คุยไปคุยมาเป้าหมายเราเริ่มเปลี่ยน เลยทำกันสองคน แต่มันไม่สวยเลย” ภาณุเล่าพร้อมหัวเราะ

ต่อมา วีรมลล์ พันธุ์พานิช ผู้รับผิดชอบด้านออกแบบ จึงเข้ามาเสริมเรื่องการออกแบบ และทำให้งานทั้งหมดครบเครื่องยิ่งขึ้น

วีรมลล์ เล่าว่า “เราเริ่มจากทำความเข้าใจกับ data visualization ว่าแตกต่างจาก infographic อย่างไร เลยไปนั่งดูเรฟ (reference)…อย่างงานนี้เขียนโดยใช้ JAVA เวลาเราถามว่าออกแบบอย่างนี้ได้ไหม ฝั่งเทคนิคก็จะไปหาวิธีมา อย่างภาพวงกลม(มงกุฏ) ตอนแรกไม่กลม มันโค้งไปเรื่อย ก็หาวิธีปรับไปเรื่อยๆ จนมันกลม”

วีรมลล์ พูดอีกว่า “กว่าจะลงตัว ฝั่งข้อมูลจะรู้สึกว่ามันต้องมีข้อมูลตรงนี้ คำอธิบายตรงนี้ ไม่งั้นเดี๋ยวไม่รู้เรื่องนะ แต่แผนกสวยงามจะมองว่าถ้ามีเยอะจะไม่สวย”

ภาณุกรบอกว่า ปกติธปท.ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลระบบการชำระเงินอยู่แล้ว และตนซึ่งเป็นฝ่ายที่อยู่กับข้อมูลจึงเลือกนำข้อมูลระบบเพย์เมนท์มาทำ visualisation และวิเคราะห์ เพื่อให้คนภายนอกเข้าใจง่ายขึ้นและนำอินไซต์ที่ได้จากข้อมูลไปใช้ต่อได้ทันที

“เราอยากให้มี evident base มากขึ้น มีข้อมูลมารองรับนโยบายที่ออกไป เป็นเชิงให้ความรู้ประชาชนให้เข้าใจระบบการชำระเงินที่ซับซ้อนได้ในที่เดียว” ภาณุกรกล่าว

ภาณุ กัมปนากร ผู้รับผิดชอบด้านเว็บไซต์และเทคนิคการนำเสนอ
วีรมลล์ พันธุ์พานิช ผู้รับผิดชอบด้านออกแบบ

บิ๊กดาต้า สู่อินไซด์ระบบชำระเงินไทย

ผลงาน The Journey of Thai Payment แบ่งข้อมูลออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ปริมาณธุรกรรมของระบบชำระเงิน 8 ประเภท สถิติการเติบโตของระบบเพย์เมนท์ในช่วง 10 ปี และภาพรวมระบบพร้อมเพย์ที่ปัจจุบันมีปริมาณ 2 พันล้านธุรกรรม

โดยเป้าหมายหลักคือสื่อสารข้อมูลเพื่อให้คนไปวิเคราะห์ต่อ

ภาณุกรอธิบายภาพที่ 1 ว่าเกี่ยวข้องกับสัดส่วนการใช้งานในปัจจุบัน รวมถึงรายงานถึงแนวโน้มการใช้งานที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

“ถ้าแบ่งการใช้งานเป็นออนไลน์กับออฟไลน์ จะเห็นว่า ช่องทางหลักๆ ของอินเทอร์เน็ตจะอยู่ที่โมบายแบงก์กิ้ง แต่อินเตอร์แบงก์ (โอนเงินระหว่างธนาคาร) ก็เพิ่มขึ้นเยอะมาก และยังมี ‘อีมันนี่’ ที่ใช้ได้ทั้งออนไลน์ออฟไลน์ เป็นการ์ดเก็บเงิน” ภาณุกร กล่าว

ชุดข้อมูลถัดมาเรื่องการเติบโตของระบบชำระเงินในช่วง 10 ปี ช่องทางที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดคือออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพร้อมเพย์ (Promptpay) ซึ่งข้อมูลชุดที่ 2 นำเสนอในรูปแบบ 3D Interactive นำไปสู่ข้อมูลชุดที่ 3 ซึ่งแสดงการเติบโตของระบบพร้อมเพย์ เนื่องจากเป็นช่องทางที่มีนัยสำคัญ

ภาณุกร กล่าวเสริมว่า…

“สามปีที่แล้วที่เพิ่งมีพร้อมเพย์ ก็เป็นสิ่งที่ช่วยเร่งให้อินเทอร์เน็ตโมบายแบงก์กิ้งโตแบบ exponential คือประชาชนเริ่มเข้าใจและเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ก่อน e-paymeny จะอยู่หลักสิบครั้งต่อคนต่อปี แต่ปัจจุบันการใช้ขึ้นไปประมาณ 140 กว่าต่อครั้งต่อคนต่อปี”

นอกจากนี้ข้อมูลชุดที่ 3 ยังแสดงถึงกลุ่มสถาบันการเงินรายประเภท แบ่งออกเป็น สถาบันการเงินขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ธนาคารต่างประเทศ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐและกลุ่มที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน โดยข้อมูลแต่ละประเภทจะแบ่งเป็น ‘ขารับ’ และ ‘ขาส่ง’ แสดงการโอนเงินไปยังประเภทอื่นๆ

เปลี่ยน ธปท. สื่อสารอินเตอร์แอคทีฟ

สิ่งสำคัญที่มากกว่ารางวัลชนะเลิศคือการที่ธปท.มีคนนำร่องทำ data visualisation และอาจเป็นโมเดลต้นแบบการสื่อสารข้อมูลที่ดูวิชาการและซับซ้อน ให้ดึงดูดคนที่สนใจมากขึ้น

โครงการ Data Viz Art ยังเปิดโอกาสให้พนักงานมีอิสระในการทำงาน ทีมงานตัดสินใจกันเอง โดยไม่จำเป็นต้องผ่าน ‘ผู้ใหญ่’ ช่วยลดขั้นตอนการดำเนินงาน และทำให้การทำงานภายในของพนักงานมีความคล่องตัวมากขึ้น

“ผมมองว่าโครงการนี้เป็นโอกาส ก่อนหน้านี้ก็มีไอเดียอยากทำนู่นนี่ แต่ที่อยากทำมันต้องมีรูปแบบการทำงาน ดังนั้นโครงการนี้ผมว่าเป็นโอกาสที่เราได้ปล่อยไอเดียที่อยู่ในหัวออกมา และเป็นการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ร่วมกัน เราได้คิดอะไรที่มันนอกกรอบ” ภาณุกรกล่าว

ภาณุกร บอกอีกว่า การจะทำ data visualisation ให้ดีต้องใช้ทรัพยากรจากฝ่ายอื่นๆ ถึงจะออกมาเป็นผลงานที่สมบูรณ์ ทั้งความร่วมมือฝ่ายไอทีและออกแบบ มีการแบ่งงานกันอย่างชัดเจนและมองให้เห็นเป้าหมายเดียวกัน

ส่วนภาณุมองว่างาน The Journey of Thai Payment มีศักยภาพเทียบเท่ากับงานประเภทอินเตอร์แอคทีฟของต่างประเทศ สะท้อนว่าศักยภาพของธปท.ก็ไม่แพ้ที่ไหนในโลก

นี่คือโมเดลการสื่อสารใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเปลี่ยนเรื่องที่ซับซ้อน เข้าใจยากให้เป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย รวมถึงธปท.หรือผู้กำหนดนโยบายเองก็สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ทันที และสำคัญที่สุดคือประชาชนเป็นผู้ได้ประโยชน์ ทั้งเป็นผู้รับข้อมูลที่ดูสวยงาม เข้าใจง่าย และข้อมูลที่จะถูกนำไปพัฒนาให้ตรงกับความต้องการของประชาชนมากขึ้น

หมายเหตุ : ผู้สนใจสามารถเข้าชมภาพโครงการ Data Viz Art ได้ที่ศูนย์เรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ภายในเดือนตุลาคม 2563 โดยไทยพับลิก้าจะนำเสนอผู้ที่ได้รับการคัดเลือกทั้งหมดมานำเสนอ สามารถติดตามอ่านได้ที่นี่