ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามเดินหน้าปฏิรูประลอก 3 ตั้งเป้าขจัดกฎเกณฑ์ธุรกิจซ้ำซ้อนใน 5 ปี

ASEAN Roundup เวียดนามเดินหน้าปฏิรูประลอก 3 ตั้งเป้าขจัดกฎเกณฑ์ธุรกิจซ้ำซ้อนใน 5 ปี

11 ตุลาคม 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 4-10 ตุลาคม 2563

  • เวียดนามปฏิรูประลอก 3 มุ่งขจัดกฎเกณฑ์ธุรกิจซ้ำซ้อน 20%ใน 5 ปี
  • อินโดนีเซียเพิ่มไมโครซอฟท์เข้ากลุ่มเทคโนโลยีต่างชาติจ่ายภาษี VAT
  • ฟิลิปปินส์จัดทำโรดแมป AI หวังขึ้นแท่นผู้นำภูมิภาค
  • ธนาคารกลางฟิลิปปินส์จ่ออนุญาตดิจิทัลแบงก์สิ้นปีนี้
  • สิงคโปร์แจกคูปองร้านของชำบรรเทาภาระประชาชน 150,000 คน
  • สิงคโปร์ขายประกันโควิดให้ผู้เดินทางเข้าระยะสั้น
  • กัมพูชาเล็งสร้างรถไฟเชื่อมเวียดนาม
  • เวียดนามปฏิรูประลอก 3 มุ่งขจัดกฎเกณฑ์ธุรกิจซ้ำซ้อน 20%ใน 5 ปี

    ที่มาภาพ: https://vietnamnews.vn/economy/571414/reforms-to-be-growth-driver-in-2020.html
    จากการเปิดเผยของนายมัย เทียน ดุง ประธานรัฐมนตรี ประจำสำนักงานรัฐบาลเวียดนาม เวียดนามกำลังเข้าสู่คลื่นลูกที่สามของการปฏิรูปโดยมีเป้าหมายในการลดกฎระเบียบทางธุรกิจอย่างน้อย 20% ในอีก 5 ปีข้างหน้า

    นายดุงกล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า โครงการปฏิรูปกฎระเบียบทางธุรกิจของรัฐบาลในปี 2020-2025 เป็นโครงการที่ใหญ่และครอบคลุมที่สุดซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา

    โครงการที่เพิ่งประกาศตามมติรัฐบาลหมายเลข 68/NQ-CP ลงวันที่ 12 พฤษภาคม มีวัตถุประสงค์เพื่อขจัดและลดความซับซ้อนของกฎระเบียบทางธุรกิจอย่างน้อย 20% และลดต้นทุนการปฏิบัติตามอย่างน้อย 1 ใน 5

    โครงการนี้ยังมุ่งเน้นไปที่การป้องกันการออกกฎระเบียบใหม่ที่ไม่จำเป็น ไม่มีเหตุผลและผิดกฎหมาย และทำให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้นสำหรับธุรกิจ ขณะเดียวกันก็ขจัดความไม่สอดคล้องกันและความทับซ้อนของกฎระเบียบทางธุรกิจ

    นายดุงกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการปฏิรูปสถาบัน และการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจและประชาชน

    ในปี 2007-2010 เวียดนามลดและทำให้ขั้นตอนการบริหารง่ายขึ้น 4,818 จาก 5,421 ขั้นตอน ซึ่งช่วยประหยัดเงินได้เกือบ 30 ล้านล้านด่อง (1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าประทับใจ นายดุงกล่าว

    กว่า 3,890 จาก 6,191 ข้อกำหนดเบื้องต้นทางธุรกิจและ 6,776 จาก 9,926 หมวดหมู่สินค้าที่ต้องผ่านการตรวจสอบศุลกากร ได้มีการยกเลิกออกไปและทำให้ง่ายขึ้นในปี 2016-2020 ทำให้ประหยัดเวลาได้ 18 ล้านวันทำการต่อปี คิดเป็นเงิน 6.3 ล้านล้านด่อง อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปยังคงดำเนินไปอย่างเชื่องช้าและการออกกฎระเบียบบางอย่างไม่ได้ช่วยบริษัท แต่ทำให้เกิดปัญหามากขึ้น

    นายดุงกล่าวว่า ยังมีช่องทางสำหรับการเติบโตอีกมาก โดยการปฏิรูปที่มีประสิทธิภาพ

    นายหวู เทียน ล็อก ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม (VCCI) ระบุว่า มติของรัฐบาลหมายเลข 68 ถือเป็นการปฏิรูประลอกที่สามในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

    คลื่นปฏิรูปลูกแรกเริ่มต้นในปี 2016 โดยมีการยกเลิกใบอนุญาตย่อยหลายพันรายการ คลื่นลูกที่สองได้แก่การยกเลิกและขจัดความซับซ้อนของข้อกำหนดเบื้องต้นทางธุรกิจและรายการผลิตภัณฑ์สำหรับการตรวจสอบศุลกากร

    ในระลอกที่สามของการปฏิรูป คาดว่าจะมีการขจัดความไม่สอดคล้องและความทับซ้อนในกฎระเบียบทางธุรกิจออกไป

    ผลการวิจัยของ VCCI พบว่า สัดส่วนของบริษัทที่ต้องขอใบอนุญาตในการดำเนินธุรกิจลดลงจาก 58% เหลือ 48% ซึ่งนายล็อกกล่าวว่านี่ไม่ใช่แค่เรื่องของเงินหรือเวลา แต่ยังรวมถึงความมั่นใจของภาคธุรกิจด้วย

    มติคณะรัฐมนตรีที่ 68 จะกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปที่ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในระบบกฎหมายธุรกิจและเร่งปฏิรูปหน่วยงานบริหารในทุกระดับ นายล็อกกล่าว โดยเน้นว่าการรับฟังธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญ

    นายเหงียน วัน ทั่น นายกสมาคมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้ความเห็นว่า ต้องใช้มาตรการที่รุนแรงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการยกเลิกกฎระเบียบที่กำหนดไว้ในมติที่ 68

    จากการเปิดเผยของนายดุง การดำเนินโครงการปฏิรูปอย่างมีประสิทธิภาพนั้นจะมุ่งเน้นไปที่การเร่งการจัดการกระบวนการบริหารแบบอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการตามแผนดิจิทัลเพื่อจัดการขั้นตอนการบริหาร

    การเปลี่ยนผ่านจากการจัดการแบบใช้กระดาษไปสู่ระบบดิจิทัลจะถูกผลักดัน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเงื่อนไขที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจและเพื่อลดต้นทุน

    อินโดนีเซียเพิ่มไมโครซอฟท์เข้ากลุ่มเทคโนโลยีต่างชาติจ่ายภาษี VAT

    ที่มาภาพ: https://jakartaglobe.id/business/indonesia-to-start-collecting-10-vat-from-netflix-spotify-in-july
    อินโดนีเซียเพิ่มชื่อไมโครซอฟท์และและบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีที่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

    อินโดนีเซียได้เพิ่มบริษัทเทคโนโลยีอีก 8 รายรวมทั้งอาลีบาบาคลาวด์ (สิงคโปร์) และไมโครซอฟท์ คอร์ปในรายชื่อธุรกิจที่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 10% จากการขาย หน่วยงานด้านภาษีของประเทศได้ระบุชื่อบริษัท 36 แห่งรวมถึงส่วนเพิ่มเติมล่าสุดที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคมเมื่อมีการระบุชื่อ กูเกิลเอเชียแปซิฟิก และเน็ตฟลิกซ์ พร้อมบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ

    ส่วนอีก 6 บริษัทที่ถูกระบุชื่อล่าสุด ได้แก่ GitHub Inc, Microsoft Regional Sales Pte Ltd, UCWeb Singapore Pte Ltd, To The New Pte Ltd, Coda Payments Pte Ltd และ Nexmo Inc. บริษัทที่มีการประกาศชื่อครั้งนี้จะต้องเริ่มเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้โฆษณาและลูกค้ารายอื่นนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน อธิบดีกรมสรรพากรอินโดนีเซียกล่าวในแถลงการณ์

    บริษัทต่างประเทศที่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในอินโดนีเซีย และมียอดขายต่อปีอย่างน้อย 600 ล้านรูเปียะห์ (41,000 ดอลลาร์) สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลจากผู้ใช้อย่างน้อย 12,000 รายในอินโดนีเซียจะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม

    ฟิลิปปินส์จัดทำโรดแมป AI หวังขึ้นแท่นผู้นำภูมิภาค

    ที่มาภาพ:
    https://www.philstar.com/business/2020/10/10/2048391/dti-eyes-ai-roadmap-rollout

    กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (DTI) ฟิลิปปินส์ มีแผนจะเริ่มดำเนินการตามโรดแมปในปีหน้า ซึ่งจะวางตำแหน่งประเทศให้เป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ artificial intelligence (AI)

    นายรามอน โลเปซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าฟิลิปปินส์ กล่าวในงาน AI Pilipinas Coalition Launch ว่า DTI ได้ขอให้สถาบันการจัดการแห่งเอเชียช่วยพัฒนาแผนงาน AI สำหรับภาคธุรกิจเกษตร การผลิตและบริการ

    วัตถุประสงค์ของการจัดทำแผน คือ การทำให้ฟิลิปปินส์เป็นศูนย์กลาง AI สำหรับความเป็นเลิศในภูมิภาคผ่านการพัฒนากลุ่มคนที่มีความสามารถและระบบนิเวศนวัตกรรม และการเป็นผู้ประกอบการของประเทศ

    “สิ่งนี้จะช่วยให้ตอกย้ำถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศของเรา ท่ามกลางเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและเป็นโอกาสในการเติบโต”

    นอกจากการจัดทำแผนงานแล้ว DTI กำลังพัฒนากรอบการทำงานเพื่อพัฒนาทักษะใหม่และยกระดับแรงงานสำหรับเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0

    DTI ยังมีแผนที่จะจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรม 4.0 นำร่องเพื่อใช้เป็นสถานที่สาธิตเทคโนโลยีที่ธุรกิจต่างๆ สามารถนำมาใช้ได้ รวมไปถึงจะจัดตั้งศูนย์เรียนรู้สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และศูนย์นวัตกรรมเพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมสำหรับเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของแรงงาน

    เขากล่าวว่า DTI จะให้การสนับสนุนทางการเงินผ่านโครงการการฟื้นฟูและการเปลี่ยนโฉมการผลิตซึ่งเปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว ตามประสิทธิภาพ ตามระยะเวลา และกำหนดเป้าหมายสำหรับการนำไปใช้ และการผลิตผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ในประเทศ

    การที่ประเทศยังมีประชากรอายุน้อยและสถาบันการศึกษาระดับสูงที่เปิดสอนหลักสูตร AI นายโลเปซกล่าวว่า ฟิลิปปินส์สามารถเป็นเลิศด้าน AI ได้ เนื่องจากเทคโนโลยีนี้ใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของมนุษย์ในการเขียนโปรแกรมและวิทยาศาสตร์ข้อมูล

    ธุรกิจของฟิลิปปินส์ให้ความสนใจอย่างมากกับ AI และเทคโนโลยีการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 อื่นๆ จากการสำรวจของ DTI เกี่ยวกับสถานะการใช้เทคโนโลยีของบริษัทด้านการผลิตเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งพบว่า 7 ใน 10 ของวิสาหกิจขนาดเล็กและ 6 ใน 10 ของ SMEs เปิดรับหรือคุ้นเคย กับอุตสาหกรรม 4.0

    ก่อนการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ผู้ประกอบการบางรายของประเทศได้ผนวกรวม AI เข้ากับการดำเนินงานแล้ว และวิกฤติไวรัสได้เร่งการใช้เทคโนโลยีผ่านแชทบอทโดยธุรกิจ เพื่อจำกัดปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนด้วย สำหรับการติดตาม การประเมินด้านสุขภาพ การจัดการความรู้และเพื่อแก้ไขปัญหาห่วงโซ่อุปทาน

    ในนบรรดาสถาบันการเงินที่ใช้ AI ก่อนการระบาด ได้แก่ สถาบันการเงิน เช่น Bank of the Philippine Islands และ BDO Unibank Inc. รวมถึง บริษัทโบรกเกอร์ BDO Nomura Securities Inc. ซึ่งใช้แชทบอทและ AI เพื่อเพิ่มการบริการลูกค้าและปรับปรุงกระบวนการงานสนับสนุน

    บริษัทอาหารและเครื่องดื่ม Del Monte Philippines Inc. ยังใช้โดรนเพื่อตรวจสอบสภาพของไร่สับปะรดใน Bukidnon

    แม้ว่าการใช้ AI ในประเทศจะเพิ่มขึ้น แต่นายโลเปซกล่าวว่า อุตสาหกรรมต่างๆ ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์และก้าวผ่านอุปสรรคในการนำไปใช้

    ด้วยเหตุนี้ DTI มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาอุปสรรค เช่น การขาดกำลังการเงิน ความสามารถทางเทคนิคต่ำและโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ดี

    “ด้วยเทคโนโลยี AI เราสามารถวางอนาคตประเทศของเราจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ได้ แม้เราจะมีโอกาสมากขึ้นในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมมากขึ้นก็ตาม ด้วย AI เราสามารถสร้างภาวะปกติที่ดีกว่าได้ในอนาคตหลังยุคโควิด-19”

    ธนาคารกลางฟิลิปปินส์จ่ออนุญาตดิจิทัลแบงก์สิ้นปีนี้

    ที่มาภาพ: https://www.philstar.com/business/2020/01/27/1988225/bsp-go-slow-cutting-interest-rates-2020-diokno

    นายเบนจามิน ดิออกโน ผู้ว่าการ ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ หรือ Bangko Sentral ng Pilipinas (BSP) เปิดเผยว่า คาดว่านโยบายเกี่ยวกับการจัดตั้งธนาคารดิจิทัลจะจัดทำได้เสร็จสิ้นและประกาศใช้ก่อนสิ้นปี 2020

    “BSP อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการจัดทำนโยบาย เราหวังว่าจะออกนโยบายได้ก่อนสิ้นปีนี้” นายดิออกโนกล่าวกับผู้สื่อข่าวในการบรรยายสรุปผ่านระบบออนไลน์

    นายดิออกโนกล่าวว่า ธนาคารกลางจะเริ่มเปิดให้ยื่นขอจัดตั้งธนาคารดิจิทัลเมื่อนโยบายพร้อม แต่เน้นว่าจะจำกัดจำนวนผู้เล่นเมื่อเทียบกับสถานการณ์ธนาคารโดยรวม

    นายดิออกโนกล่าวว่า การแพร่ระบาดเพิ่มความจำเป็นในการเร่งการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบนิเวศทางการเงินดิจิทัลดังนั้น BSP จึงได้จัดทำโรดแมป 3 ปี การเปลี่ยนโฉมการชำระเงินดิจิทัล

    “ความริเริ่มนี้ส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศทางการเงินดิจิทัลที่สนับสนุนการเข้าถึงทางการเงิน”

    ก่อนหน้านี้ BSP ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เป็น 20% ของธุรกรรมการชำระเงินทั้งหมดในประเทศภายในปี 2020

    นายดิออกโนกล่าวว่า มาตรการการกักกันชุมชนมีส่วนสนับสนุนเป้าหมายนี้ จึงปรับเป้าหมายสัดส่วนการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ 20% ของปี 2020 เป็นประมาณ 50% ของธุรกรรมทั้งหมดภายในปี 2566

    ปัจจัยสำคัญของเป้าหมายนี้ คือ กรอบการกำกับดูแลสำหรับธนาคารดิจิทัลเนื่องจากสถาบันเหล่านี้ “สามารถช่วยพัฒนาการเข้าถึงทางการเงินโดยการจัดการกับข้อจำกัดทางอุปสงค์และอุปทานที่มีมายาวนานเพื่อให้บริการทางการเงิน”

    ธนาคารดิจิทัลส่วนใหญ่เสนอให้มีการใช้จุดบริการทางกายภาพน้อยที่สุดไปจนถึงศูนย์ หรือไม่มีเลย และเนื่องจากผู้เล่นเหล่านี้ถูกมองว่ามีความเสี่ยงทางการเงินเช่นเดียวกับธนาคารที่มีพนักงานคอยให้บริการ “พวกเขาจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการและการบริหารความเสี่ยงเดียวกัน โดยสอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจและโปรไฟล์ความเสี่ยงของพวกเขา”

    นายดิออกโนกล่าวว่า สถาบันการเงินดิจิทัลจำเป็นต้องมีการจัดการด้านธรรมาภิบาลเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ การเอาต์ซอร์ซ การคุ้มครองผู้บริโภค และมาตรการต่อต้านการจัดหาเงินเพื่อการก่อการร้าย และ BSP ยังคงผลักดันมาตรการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันภัยคุกคามทุกรูปแบบ

    “เนื่องจากสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับของ BSP นำเทคโนโลยีที่ไร้พรมแดนมาใช้ การปกป้องข้อมูลหรือจึงมีความสำคัญมากขึ้น”

    สิงคโปร์แจกคูปองร้านของชำบรรเทาภาระประชาชน 150,000 คน

    ที่มาภาพ: https://www.channelnewsasia.com/news/singapore/grocery-vouchers-household-expenses-supermarkets-unity-budget-13247296

    กระทรวงการคลังสิงคโปร์ประกาศเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมว่า ได้จัดส่ง บัตรกำนัลร้านขายของชำไปยังชาวสิงคโปร์ 150,000 คนเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

    ชาวสิงคโปร์ที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไปในปีนี้ ที่อาศัยอยู่ในแฟลต HDB ประเภท 1 ห้องและ 2 ห้องและไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินมากกว่าหนึ่งแห่งจะมีสิทธิ์ได้รับบัตรกำนัลเหล่านี้

    ผู้รับจะได้รับบัตรกำนัลร้านขายของชำมูลค่า 150 ดอลลาร์สิงคโปร์ในเดือนตุลาคมและอีก 150 ดอลลาร์สิงคโปร์ในเดือนธันวาคม และบัตรกำนัลร้านขายของชำอีกชุดมูลค่า 100 ดอลลาร์สิงคโปร์จะส่งให้กับชาวสิงคโปร์ที่มีสิทธิ์ในเดือนตุลาคมปีหน้า

    “ผู้รับที่มีสิทธิ์จะได้รับบัตรกำนัลทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตามที่อยู่ที่ลงทะเบียนในเดือนตุลาคม 2020” กระทรวงการคลังสิงคโปร์ระบุและว่า ไม่จำเป็นต้องยื่นขอ

    สมาชิกในครัวเรือนที่มีสิทธิ์แต่ละคน จะได้รับบัตรกำนัลเป็นรายบุคคล บัตรกำนัลนี้ใช้ได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2021 และสามารถใช้ได้ที่ซูเปอร์มาร์เกตที่เข้าร่วมโครงการ คือ FairPrice, Giant, Prime Supermarket และ Sheng Siong Supermarket

    “เพื่อช่วยให้ชาวสิงคโปร์ในการใช้ชีวิตที่มีสุขภาพดีขึ้น ผู้รับจะได้รับส่วนลดสูงสุด 5% สำหรับผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งหมดที่มีสัญญลักษณ์ Healthier Choice Symbol แต่จำกัดไว้ที่ 5% ของมูลค่าบัตรกำนัล เมื่อชำระเงินด้วยบัตรกำนัลร้านขายของชำที่ FairPrice, Prime และSheng Siong supermarkets

    กระทรวงการคลังได้ประกาศในงบประมาณเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า บัตรกำนัลร้านขายของชำมีเป้าหมายเพื่อช่วยชาวสิงคโปร์ที่มีฐานะด้อยลงด้วยค่าใช้จ่ายในครัวเรือนในช่วงที่มีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเป็นพิเศษ

    สิงคโปร์ขายประกันโควิดให้ผู้เดินทางเข้าระยะสั้น

    ที่มาภาพ:
    https://www.businesstimes.com.sg/banking-finance/singapore-offers-covid-19-insurance-for-short-term-visitors

    สิงคโปร์ได้ผ่อนคลายข้อจำกัดในการเดินทางเพื่อธุรกิจที่จำเป็นมาระยะหนึ่ง และตอนนี้ได้ เสนอประกันโควิด-19 ให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาระยะสั้นเป็นการเตรียมพร้อมไว้หากติดเชื้อไวรัสระหว่างการพักอยู่ที่สิงคโปร์

    ประกันโควิดที่นำเสนอนี้ มีชื่อว่า ChangiAssure เสนอความคุ้มครองในการรักษาตัวในโรงพยาบาลสูงถึง 100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ โดยมีเอชแอลแอสชัวรันส์รับคุ้มครอง และจัดจำหน่ายโดยชางงีเทรเวลเวอร์วิสเซส ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของชางงีแอร์พอร์ตกรุ๊ป โดยบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 3 ถึง 70 ปีมีสิทธิ์ได้รับความคุ้มครอง

    ปัจจุบันสิงคโปร์เปิดรับผู้เดินทางจากบรูไน จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และในทางกลับกันสำหรับการเดินทางที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับธุรกิจ นักท่องเที่ยวจากออสเตรเลีย (ไม่รวมรัฐวิกตอเรีย) นิวซีแลนด์ และเวียดนามที่ยื่นขอ Air Travel Pass จะได้รับอนุญาตให้เดินทางทั่วไปได้

    ผู้ที่เดินทางเข้าสิงคโปร์สามารถซื้อ Changi Assure ได้ก่อนหรือเมื่อเดินทางมาถึงสิงคโปร์ ซึ่งแผนคุ้มครองนี้มีสองแผนด้วยกัน คือ แผนพื้นฐานซึ่งให้ค่ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือต้องกักกันสูงถึง 8,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ในกรณีที่ผู้เดินทางติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างที่อยู่ในสิงคโปร์ ส่วนอีกแผนคือแผนชั้นเลิศซึ่งจะเพิ่มผลประโยชน์ก่อนหน้านี้เป็น 100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ และเพิ่มความคุ้มครองอุบัติเหตุ 100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ และความคุ้มครองการเสียชีวิตและทุพพลภาพ 200,000 ดอลลาร์สิงคโปร์

    กัมพูชาเล็งสร้างรถไฟเชื่อมเวียดนาม

    ที่มาภาพ:
    https://www.khmertimeskh.com/107086/new-rail-link-vietnam-cards/
    รัฐบาลกัมพูชาได้เริ่มการศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงทางรถไฟจากพนมเปญไปยังโฮจิมินห์ซิตี้ของเวียดนาม

    นายไล บอลิน รองปลัดกระทรวงคมนาคมกัมพูชา เปิดเผยว่า การศึกษาความเป็นไปได้ของการเชื่อมโยงรถไฟเริ่มขึ้นเมื่อสามเดือนก่อนตามคำขอของรัฐบาลเวียดนาม

    “เรากำลังศึกษาเส้นทางรถไฟที่เชื่อมระหว่างอำเภอสนูล จังหวัดกระแจะ และเมืองบาเว็ด ฝ่ายเวียดนามขอให้เราสร้างทางรถไฟจากพนมเปญไปยังเมืองชายแดนบาเว็ด ฝ่ายเวียดนามจะสร้างทางรถไฟจากโฮจิมินห์ซิตี้ไปยังม็อกบาย” ม็อกบายเป็นเมืองชายแดนของเวียดนามที่ติดกับบาเว็ดของกัมพูชา

    บาเว็ดมีประชากร 37,000 คนเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสวายเรียง ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่ยากจนที่สุดในกัมพูชา ปัจจุบันแหล่งรายได้หลักของเมืองมาจากคาสิโน 12 แห่งซึ่งมีนักท่องเที่ยวจากเวียดนามเข้ามาเยือน

    วาร์ สิม โสรยา รองปลัดกระทรวงคมนาคมกัมพูชา กล่าวว่า ทางรถไฟจะช่วยให้บาเว็ดสามารถพัฒนาขึ้นมาในฐานะ “ประตูพรมแดนระหว่างประเทศ” และส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตรและสิ่งทอในเขตเศรษฐกิจพิเศษของสวายเรียง

    นอกจากนี้ยังอาจลดการขาดดุลการค้าของกัมพูชากับเวียดนามและปรับปรุงการเข้าถึงตลาดและโรงงานของจีน สินค้าที่ขนส่งจากจีนไปกัมพูชาประมาณ 40% ผ่านเวียดนาม

    สิน จันธี ประธานสมาคมโลจิสติกส์แห่งกัมพูชากล่าวว่า “เรายินดีและสนับสนุนการพัฒนาโครงการทางรถไฟนี้ ซึ่งเราหวังว่าจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งประหยัดเวลาและลดการจราจรติดขัด”

    รัฐบาลยังกำลังพิจารณาสร้างทางด่วนระหว่างพนมเปญและบาเว็ดด้วย ไชน่าเรลเวย์อินเตอร์เนชันแนลกรุ๊ปได้เสนอรายงานเกี่ยวกับเส้นทางที่เป็นไปได้เมื่อเดือนที่แล้ว และรัฐบาลกำลังรอการศึกษาทางการเงินซึ่งจะนำเสนอในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

    ก่อนหน้านี้แผนการสร้างทางด่วนที่ศึกษาโดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ Japan International Cooperation Agency (JICA) มีมูลค่าลลงทุนประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์

    จีนเริ่มการศึกษาเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว หากโครงการได้รับอนุญาตให้ดำเนินการ ทางด่วนที่มีความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนี้ จะครอบคลุม 135 กิโลเมตร และผ่านจังหวัดกันดาล ไพรแวง และสวายเรียงก่อนถึงบาเว็ด