ThaiPublica > คอลัมน์ > ไม่สู้โควิดด้วย “ค้อนทุบแมลงวัน”

ไม่สู้โควิดด้วย “ค้อนทุบแมลงวัน”

26 กันยายน 2020


วรากรณ์ สามโกเศศ

Anders Tegnell แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาของสวีเดน ที่มาภาพ: https://www.abc.net.au/news/2020-06-30/anders-tegnell-architect-of-the-swedish-model-coronavirus/12384966

ในช่วงวิกฤติโควิดหลายคนมีชื่อเสียงขึ้นมากในประเทศหรือในโลกโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่อาทิตย์ ในบางประเทศรวดเร็วกว่าการระบาดของโควิดด้วยซ้ำ เปล่าครับ ผมมิได้พูดถึงโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ใช้การระบาดของโควิดเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการหาเสียง แต่ปรากฏว่าแผนการนั้นกลับตีกลับจนแย่อยู่ในตอนนี้

บุคคลที่กล่าวถึงในที่นี้คือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาของสวีเดน ผู้มีชื่อว่า Anders Tegnell เขาดังมากในสวีเดนและเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้ติดตามเรื่องโควิดทั่วโลก เขาดังเร็วมากจนตัวเองตกใจเพราะมีทั้งคนชื่นชมและเกลียดชังขนาดต้องการฆ่า เรามารู้จัก Tegnell กันว่าทำไมชีวิตเขาจึงเป็นเช่นนั้นได้

สวีเดนเป็นประเทศที่มีประชากรเพียง 10 ล้านคน แต่มีพื้นที่ใกล้เคียงกับประเทศไทยคือ 450,000 ตารางกิโลเมตร เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่เรียกว่า Nordic (เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ เกาะฟาโรห์ และกรีนแลนด์ ถ้าเป็นกลุ่ม Scandinavia ก็ประกอบด้วย 3 ประเทศแรกเท่านั้น) ประชาชนมีรายได้ต่อหัวต่อปี 50,000 เหรียญ (มากกว่าไทยประมาณ 7 เท่า) เป็นหนึ่งในประเทศที่มีคุณภาพชีวิตสูงสุดในโลก

เมื่อโควิดเริ่มระบาดเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป สวีเดนก็เริ่มเคลื่อนไหวแต่คนแก้ไขกลับไม่ใช่รัฐบาลดังเช่นประเทศอื่นๆ เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ต้องการให้นักการเมืองเป็นคนตัดสินใจสำคัญๆ หากให้อำนาจแก่องค์กรอิสระของรัฐ เช่น ในด้านสาธารณสุข ดังนั้น Tegnell ซึ่งเป็นหัวหน้าองค์กรจึงเป็นคนตัดสินใจว่าจะจัดการกับโควิดอย่างไร ซึ่งรัฐบาลสวีเดนยอมรับการตัดสินใจแต่โดยดี เรื่องนี้นับว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญมองไกลว่าหากให้นักการเมืองเป็นคนตัดสินใจก็อาจใช้เหตุผลทางการเมือง (ดังเช่นสหรัฐอเมริกา) มากกว่าใช้วิทยาศาสตร์ก็เป็นได้

นี่คือที่มาของความดังของ Tegnell เขาอื้อฉาวข้ามคืนเพราะเสนอทางเลือกที่ต่างไปจากการล็อกดาวน์ดังเช่นประเทศอื่นๆ ทั้งโลก เขาเห็นว่าการล็อกดาวน์เสมือนกับการเอา “ค้อนทุบแมลงวัน” กล่าวคือได้ไม่คุ้มเสียเพราะเป็นความรุนแรงที่ทำลายเศรษฐกิจการค้าอย่างสิ้นเชิง เขาเห็นว่า light-touch approach หรือ “วิธีนิ่มนวล” เหมาะสมกว่าวิธีที่ใช้กันทั้งโลก

แนวคิดของเขาก็คือ herd immunity หรือการสร้างภูมิต้านทานของกลุ่ม วิธีนี้เป็นการป้องกันการติดเชื้อทางอ้อมซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีเปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อของกลุ่มมากพอจนทำให้เกิดภูมิคุ้มกัน (ไม่ว่าจะด้วยการฉีดวัคซีนหรือเคยติดเชื้อเดียวกันมาก่อนก็ตาม) ที่ทำให้ลดความเป็นไปได้ในการติดเชื้อของคนที่เหลือที่ไม่มีภูมิต้านทาน

พูดง่ายๆ ก็คือ หากคนจำนวนหนึ่งติดเชื้อจนมีภูมิคุ้มกันและไม่เป็นพาหนะนำเชื้อสู่คนที่เป็นแล้วก็จะเป็นการไปตัดการเชื่อมต่อของการระบาดของเชื้อให้สะดุด จนทำให้การติดเชื้อมีน้อยลงและหมดไปในที่สุด

ยิ่งมีสัดส่วนของพวกที่ติดเชื้อแล้วมากเท่าใดในชุมชนหนึ่ง ก็ยิ่งทำให้ความเป็นไปได้ของการติดเชื้อในคนที่เหลือซึ่งไม่มีภูมิคุ้มกันลดน้อยลงไปเท่านั้น

หัวใจของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ต้องมีการปล่อยให้คนติดเชื้อจำนวนหนึ่งเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันของกลุ่มขึ้น แต่ใครเล่าจะเป็น “ผู้เสียสละ” อย่างไม่เต็มใจ คนที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้เห็นว่าโอกาสในการติดเชื้อและเป็นผลร้ายนั้นมีไม่เท่ากัน คนยากจน คนสูงอายุ คนมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ฯลฯ จะกลายเป็นเหยื่อก่อนอย่างแน่นอน อีกทั้งต้องมีคนติดเชื้อและตายจำนวนมากกว่าจะได้ผล

อังกฤษก็เคยใช้วิธี herd immunity ในตอนแรก แต่เมื่อเชื้อแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว มีคนตายจำนวนมากโดยเฉพาะผู้สูงอายุ (นายกรัฐมนตรีก็ติดเชื้อด้วย) พร้อมกับคำวิจารณ์หนักก็เลยต้องเปลี่ยนแนวเป็นว่า หากใครติดเชื้อก็รับยาแก้ปวดไป นอนอยู่กับบ้านอย่าไปไหน ถ้าอาการเลวร้ายลงให้โทรมาบอก เขาจะพิจารณาอาการและส่งรถมารับเข้าโรงพยาบาลไปรักษา หากมาช้าจนไปโรงพยาบาลไม่ทันก็เสียใจด้วย

สวีเดนนั้นยืนหยัดกับไอเดีย soft-touch ท่ามกลางจำนวนการตายที่มากขึ้นจากการติดเชื้อในช่วงแรก Tegnell ก็ดื้ออย่างหนักแน่นโดยไม่ยอมถอย ตอนแรกมีคนเห็นด้วยมากเพราะอยากมีชีวิตปกติ แต่เมื่อมีคนตายมากขึ้นทุกที คนส่วนหนึ่งที่กลัวตายหรือเป็นญาติกับผู้อ่อนแอก็เริ่มไม่เห็นด้วย ขู่เอาชีวิต Tegnell จนเขาเลิกพูดว่าได้เลือกนโยบาย herd immunity ทั้งๆ ที่ยังทำอยู่เช่นเดิมโดยมิได้แนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัย (เขาไม่เชื่อว่ามีคำตอบง่ายๆ สำหรับเรื่องที่ซับซ้อนเช่นการระบาด) มีแต่ให้ปฏิบัติตามกฎของการป้องกันทั่วไป (กลัวมีจำนวนคน “เสียสละ” ไม่มากพอ)

ผู้คนในอีกทวีปคือสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นฐานเสียงของทรัมป์ก็ชื่นชมเขามากที่ได้เพื่อนรักษาเสรีภาพส่วนตัวโดยไม่ต้องใส่หน้ากากให้อึดอัดและกระทำสิ่งที่พระเจ้าให้มาคือการหายใจอย่างสะดวก (ไม่น่าเชื่อว่ามีคนเช่นนี้ในโลก) ทรัมป์เองก็ไม่ใส่หน้ากากให้เป็นตัวอย่าง บอกกลับไปมาว่ามีประโยชน์และอีกวันบอกว่าไร้ประสิทธิภาพ ใครจะใส่ก็ใส่ แต่เขาไม่ใส่จำนวนการตายและอัตราการตายของสวีเดน ณ วันที่ 26 กันยายน 2020 คือมีผู้ป่วย 90,923 คน ตาย 5,880 คน (จำนวนมากเป็นผู้สูงอายุในสถานดูแลคนชรา) อัตราการตายต่อประชากรของสวีเดนสูงเป็นลำดับที่ 5 ของยุโรป สูงเป็น 5 เท่าของเพื่อนบ้านเดนมาร์กและเป็น 10 เท่าของนอร์เวย์และฟินแลนด์

Tegnell มีชีวิตที่น่าสนใจ ตอนอายุ 12 ขวบครอบครัวเขาอพยพไปเอธิโอเปีย และเขากลับมาเรียนแพทย์ที่บ้าน (Lund University) และทำงานให้ภาครัฐและองค์การอนามัยโลก (WHO) เช่น ที่ลาว, ซาอีร์ (โรคอีโบล่า) ต่อมาเรียนจบปริญญาโทด้านระบาดวิทยาจากอังฤกษ และปริญญาเอกด้านวิจัยการแพทย์จาก Linkoping University เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรดระบาดแนวหน้าคนหนึ่งของโลก มีประสบการณ์จากต่างประเทศสูง หากเขาไม่ติดโควิดระบาดเขาก็คงทำงานอยู่ที่โซมาเลียเพื่อช่วยจัดตั้งองค์กรสาธารณสุข

สวีเดนเป็นหนึ่งในน้อยประเทศที่ไม่บังคับให้ใส่หน้ากากอนามัย เขาเชื่อว่าต้องปล่อยให้ประชาชนมีภูมิต้านทานโรคนี้ซึ่งยังรู้จักกันน้อยแต่มันจะอยู่กับเราไปอีกนาน สิ่งที่เขาทำคือการแก้ไขปัญหาในระยะยาว วิธี herd immunity ปราบโควิดได้ดี ถ้าตัวเรา (คนที่เรารัก ญาติพี่น้อง คนรู้จักคุ้นเคย ) ฯลฯ ไม่ได้เป็น “ผู้เสียสละ” คือติดเชื้อเพื่อให้การระบาดสะดุด

วิธีที่ไม่เป็นธรรมสำหรับคนป่วยไข้ คนยากจน ผู้สูงอายุ ฯลฯ นี้จึงไม่เป็นที่นิยมและหาคนสนับสนุนได้ยากกว่าวิธี “ค้อนทุบแมลงวัน” Tegnell ไม่น่าจะมีอายุยืนถ้าเป็นคนแถวนี้

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 22 ก.ย. 2563