ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ เชิญ 3 เอกชนร่วมเวิร์กชอปเคลื่อนเศรษฐกิจฝ่าวิกฤติโควิด

นายกฯ เชิญ 3 เอกชนร่วมเวิร์กชอปเคลื่อนเศรษฐกิจฝ่าวิกฤติโควิด

3 กันยายน 2020


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จัดประชุมเวิร์กชอปกับภาคธุรกิจ ตามแนวทาง “รวมไทยสร้างชาติ”

นายกฯ เวิร์กชอป 3 รอบในวันนี้ เชิญผู้นำในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากกว่า 25 ท่าน ภาคธุรกิจค้าปลีกมากกว่า 20 ท่าน และ ภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์มากกว่า 25 ท่าน

วันที่ 3 กันยายน 2563 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จัดประชุมเวิร์กชอปกับภาคธุรกิจ ตามแนวทาง “รวมไทยสร้างชาติ” ที่ต้องเปิดโอกาสให้คนที่เก่งที่สุด จากทุกภาคส่วน และจากทุกระดับของสังคม ได้ใช้ความรู้ความสามารถ ทำงานร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนประเทศ โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เข้าร่วมรับฟัง

นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุมสั้นๆ ใจความโดยสรุปว่า “มากกว่าการก้าวผ่านวิกฤติโควิดและวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั้งโลกไปให้ได้ ผมคิดว่า ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่เราควรจะมองไปในอนาคตที่ไกลกว่านั้น และเราควรจะใช้ช่วงเวลานี้ให้เป็นโอกาส ที่จะนำพาประเทศไทยให้ไปอยู่ในจุดที่ดียิ่งขึ้น นั่นคือเหตุผลที่ผมเชิญทุกท่านมาในวันนี้ เพื่อแบ่งปันมุมมอง ความคิด ในฐานะที่เป็นบุคคลที่สุดยอดในภาคธุรกิจนี้ มีความรู้ความสามารถ และมีประสบการณ์ตรงมายาวนาน ผมอยากทราบว่า ท่านมีมุมมองหรือความคิดในการขับเคลื่อนภาคส่วนของท่านอย่างไร โอกาสของภาคธุรกิจของท่านเป็นอย่างไร อนาคต 3 ปีข้างหน้าภาคธุรกิจของท่านควรจะไปอยู่ที่จุดไหน อุปสรรคคืออะไร เป้าหมายของผม คือผมต้องการเข้าใจประเด็นหลักๆ และเข้าใจโดยลึกจากการฟังตรง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก เมื่อเวลาผมพิจารณานโยบาย หรือโครงการที่หน่วยงานต่างๆ นำเสนอ ผมจะสามารถตัดสินใจไปในแนวทางที่จะสนับสนุนวิสัยทัศน์ของพวกท่านได้”

ทั้งนี้การประชุมกับ 3 ภาคธุรกิจ ได้แก่ ​ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภาคธุรกิจค้าปลีก และ​ภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์

การประชุมกลุ่มแรกเป็นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งประกอบไปด้วย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน นางสาวอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด, สุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด (JLL), ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน), นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน), นายอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน), แสนผิน สุขี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกลเด้นแลนด์เรสซิเดนซ์ จำกัด, นายสงกรานต์ อิสสระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการบริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และคณะ

การประชุมกลุ่มสองเป็นภาคธุรกิจค้าปลีก ซึ่งประกอบไปด้วย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย นำโดย นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธาน สมาคมฯ/ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธาน สมาคมฯ/ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดูโฮม จำกัด, อัญชนา วิทยาธรรมธัช รองประธาน สมาคมฯ/ที่ปรึกษา บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน), นายสมพงษ์ รุ่งนิรัตติศัย กรรมการ สมาคมฯ/ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด, ลักษณ์ ถิฐาพันธ์ กรรมการ สมาคมฯ/รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน), นายจักกฤษณ์ กีรติโชคชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด,

สมาคมศูนย์การค้าไทย นำโดย นายนพพร วิฑูรชาติ นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย/ประธานกรรมการบริหาร บมจ.สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์, วัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ เซ็นทรัลพัฒนา, เสาวนีย์ จรัสเรืองชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บมจ เซ็นทรัลพัฒนา, นราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด, นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด

สมาคมการค้าปลีกและเอสเอ็มอีทุนไทย นำโดย นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว นายกสมาคมฯ, นายบัญญัติ คำนูญวัฒน กรรมการสมาคมฯ, นายเกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ กรรมการสมาคมฯ

และกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด นำโดย นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, มยุรี ชัยพรหมประสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานส่งเสริมการตลาด

การประชุมกลุ่มที่สามเป็นภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์ ซึ่งประกอบไปด้วยสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย นำโดย นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมฯ/CEO Priceza, นายวรวุฒิ สายบัว เลขาธิการสมาคมฯ/CEO Beaitynista, นายณัฐวิทย์ ผลวัฒนสุข กรรมการบริหารสมาคมฯ/CEO LnwShop, ดร.อธิปก ไพรเกษตร กรรมการบริหารสมาคมฯ, พิมพ์ฐดา สหัชอติเรกลาภ กรรมการบริหารสมาคมฯ/CEO SiamOutlet

สมาคมโฆษณาดิจิทัลไทย นำโดย นายศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมฯ/ประธานกรรมการบริหาร กรุ๊ปเอ็ม ประเทศไทย, ภารุจ ดาวราย อุปนายกสมาคมฯ, นายนรินทร์ เย็นธนกรณ์ กรรมการสมาคมฯ ฝ่ายมาตรฐานอุตสาหกรรม, นายชาญชัย พงศนันทน์ กรรมการสมาคมฯ ฝ่ายวิชาการ, นายอนันฑ์ ตีระบูรณะพงษ์ กรรมการสมาคมฯ ฝ่ายวิชาการ และกูรูในวงการ ได้แก่ นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ CEO และผู้ก่อตั้ง TARAD.COM และผรินทร์ สงฆ์ประชา CEO และผู้ก่อตั้ง NASKAT นอกจากนั้นยังประกอบด้วย สมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย นำโดยวัลภา สถิรชวาล ประธานสมาพันธ์ฯ, นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ ที่ปรึกษาสมาพันธ์ฯ, เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ที่ปรึกษาสมาพันธ์ฯ, ดร.ชุมพล สายเชื้อ นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย, ปิยะนุช สัมฤทธิ์ รองนายกสมาคมฯ/รองนายกสมาคมธุรกิจคลังสินค้าไซโลและห้องเย็น

สมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย นำโดย นายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ฯ, นายวิฑูรย์ สันติบุญยรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์ฯ, ดร.ธเนศ โสรัตน์ รองประธานสมาพันธ์ฯ, นิธิธร สุขมนัส รองประธานสมาพันธ์ฯ, นวลศรี ว่องไวทยกรกุล รองประธานสมาพันธ์ฯ

สรุปประเด็นสำคัญในการประชุมของ “ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” เช่น นำเสนอให้มีการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคของผู้บริโภคภายในประเทศ ทั้งในส่วนการซื้อที่อยู่อาศัยเพื่ออยู่อาศัย การซื้อเพื่อการลงทุน และลงทุนบ้านให้เช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ทั้งมาตรการของภาครัฐในเรื่องของภาษี และมาตรการของภาคการเงินในเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ย โดยมองว่า นอกเหนือจากการออกมาตรการทางการเงินที่ช่วยผู้บริโภคแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ควรหาวิธีการจูงใจธนาคารต่างๆ ให้มีความต้องการ “อยากปล่อยสินเชื่อ” เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย มีช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ และสามารถเข้าถึงเงินกู้ได้

นอกจากนั้น ควรให้ความสำคัญอีกหนึ่งมิติ ในฐานะที่ประเทศไทยมีศักยภาพอย่างมากในการเป็นบ้านหลังที่สองของคนทั่วโลก และมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคด้วยปัจจัยบวกหลายๆ ด้าน ซึ่งหากผลักดันได้สำเร็จจะส่งผลประโยชน์หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนของแรงงานต่างชาติระดับผู้บริหาร หรือผู้มีทักษะสูง เพิ่มการจ้างงาน เพิ่มรายได้ กำลังซื้อภายในประเทศ และเป็นผลต่อเนื่องต่อภาคธุรกิจต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นค้าปลีก การค้า โรงแรม ท่องเที่ยว โลจิสติกส์ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นภาคธุรกิจที่อิงกับความเชื่อมั่นของประชาชนเป็นอย่างมาก ดังนั้นภาครัฐต้องเน้นการสร้างความเชื่อมั่น เกี่ยวกับความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อความมั่นคงในการดำเนินชีวิต และประกอบอาชีพของตัวเอง สิ่งหนึ่งที่ช่วยได้ คือการสื่อสารข้อมูลเรื่องเศรษฐกิจ หรือโครงการสำคัญๆ ที่จะมีผลต่อการทำมาหากินและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ออกไปสู่ประชาชนให้รับทราบ และมองเห็นอนาคตของตัวเอง เพื่อสามารถวางแผนการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม

ส่วนประเด็นสำคัญในการประชุมของ “ภาคธุรกิจค้าปลีก” เช่น เสนอว่าภาครัฐควรมีนโยบายส่งเสริมประเทศไทยให้เป็น “สุดยอดการใช้ชีวิตแห่งเอเชีย” (Lifestyle hub of Asia”) โดยเสนอมาตรการระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยในส่วนระยะสั้นเพื่อพยุงการจ้างงาน และขับเคลื่อนเอสเอ็มอีให้อยู่รอด เสนอแก้นโยบายค่าแรงขั้นต่ำให้สามารถจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมงได้ ซี่งจะนำสู่การจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านอัตรา รวมทั้งออกนโยบายกระตุ้นการใช้จ่าย ด้วยการนำโครงการ “ช้อปช่วยขาติ” ออกมาอีกครั้ง และการกระตุ้นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง โดยลดภาษีนำเข้าชั่วคราวเป็นเวลา 4 เดือน เช่น จาก 30% เหลือ 10%

นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอแนะสำหรับระยะสั้น เพื่อไม่ให้ร้านค้าปิดกิจการ มีการจ้างงานต่อไปและมีเงินหมุนเวียนในระบบ รัฐควรปล่อยซอฟต์โลนโดยอนุญาติให้ผู้ประกอบการสามารถนำหลักฐานใบสัญญาเช่ามาใช้พิจารณาปล่อยกู้ได้ ออกโครงการช้อปและเที่ยวช่วยชาติ และเยียวยาลดค่าใช้จ่ายศูนย์การค้า เช่น ลดค่าไฟ ภาษีนิติบุคคล ภาษีป้าย ยืดเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% ไปถึงปี 2566 สำหรับแผนระยะกลาง ควรส่งเสริมยกระดับให้ธุรกิจศูนย์การค้าอยู่ในแผนแม่บทของประเทศเปิดพื้นที่เพิ่มโซนการลงทุนให้ศูนย์การค้า เช่นเดียวกับอีอีซี ส่งเสริม seamless connectivity โดยปรับกฎหมาย ทางเชื่อมอาคาร ลดค่าธรรมเนียมเงื่อนไขเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชน ปรับกฎหมายให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจศูนย์การค้า และแผนระยะยาวควรผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลก เป็นแหล่งชอปปิงของนักท่องเที่ยวชั้นนำ เทียบชั้นญี่ปุ่น เกาหลี ยกระดับสินค้าไทยให้แข่งขันได้ พร้อมทยอยลดภาษีนำเข้าให้ราคาสินค้าแข่งขันกับต่างประเทศได้