ThaiPublica > เกาะกระแส > เวที “คิดใหม่ไทยก้าวต่อ” ระดมแนวคิดภาคใต้ (ตอนจบ) : คิด ทำ เปลี่ยน เพื่อก้าวต่อ ด้วย “โอกาส-แข่งขันได้”

เวที “คิดใหม่ไทยก้าวต่อ” ระดมแนวคิดภาคใต้ (ตอนจบ) : คิด ทำ เปลี่ยน เพื่อก้าวต่อ ด้วย “โอกาส-แข่งขันได้”

10 กันยายน 2020


ต่อจากตอนที่ 1 เวที

  • “คิดใหม่ไทยก้าวต่อ” ระดมแนวคิดภาคใต้ (ตอน 1 ) : รัฐต้องเข้าใจ เข้าถึงแต่ละบริบทพื้นที่ เพื่อพัฒนาช่วยเหลือตรงเป้าอย่างรู้เท่าทัน
  • สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลุกลามรุนแรงไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนทั้งในสังคมโลกและประเทศไทยอย่างน้อย 3 ด้าน คือ การใช้ชีวิต การเรียนรู้ และการทำงาน สถานการณ์ดังกล่าวจะยังคงมีผลกระทบต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ประชาชนในสังคมต้องเรียนรู้ที่จะอยู่และปรับตัว เตรียมความพร้อม ที่จะใช้ชีวิตอยู่ในภาวะปกติใหม่ (new normal) หลังวิกฤติโควิด

    สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า การดำรงชีวิตอยู่บนความพอดีในทุกๆ ด้าน ไม่มากไปไม่น้อยไป จะทำให้โลกมีความสมดุล และประชาชนมีภูมิคุ้มกัน จะสามารถผ่านภาวะวิกฤตินี้ไปได้ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จึงเห็นความสำคัญในการนำแนวพระราชดำริมาสืบสาน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ให้มีรูปแบบการพัฒนาการขับเคลื่อนสังคมไทยที่สมดุลหลังวิกฤติโควิด-19 และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการศึกษา วิเคราะห์ในเชิงวิชาการว่าสังคมโลกและประเทศมีทิศทางในการปรับเปลี่ยนอย่างไร ประชาชนมีความพร้อมต่อการปรับเปลี่ยนมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะประเทศไทยควรศึกษาว่า รูปแบบการขับเคลื่อนสังคมไทยด้วยการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริ เพื่อให้เท่าทันกับบริบทการเปลี่ยนแปลงควรเป็นอย่างไร

    แปดองค์กร อันประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย, สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา, สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และสำนักข่าวไทยพับลิก้าเป็นผู้ประสานงาน ได้ริเริ่ม โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” เพื่อที่จะช่วยกันมองและหารูปแบบ/โมเดลการขับเคลื่อนสังคมไทย ด้วยการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริเพื่อให้เท่าทันกับบริบทการเปลี่ยนแปลงและนำประเทศผ่านวิกฤติในครั้งนี้

    โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” กำหนดออกรับฟังความเห็นทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคใต้ที่หาดใหญ่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขอนแก่น ภาคเหนือที่เชียงใหม่ ภาคตะวันออกที่ชลบุรี จากนั้นคณะวิชาการจะได้ทำการรวบรวมทั้งงานทางวิชาการและความคิดเห็นของประชาชน เพื่อเสนอต่อรัฐบาลและประชาชนทั่วประเทศได้รับทราบในเดือนพฤศจิกายน

    โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” ได้จัดเวทีรับฟังความเห็นจากภาครัฐและภาคเอกชนไปแล้ว 2 ครั้ง คือ ที่หาดใหญ่เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม และที่ขอนแก่นเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญที่สรุปได้จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลและรับฟังความเห็นจากวงเสวนาหาดใหญ่ พบว่า เศรษฐกิจภาคใต้มีโครงสร้างที่กระจุกตัวทั้งในการผลิตและแรงงาน โดยเน้นหนักในภาคเกษตรกรรม อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตรของภาคใต้ยังมีศักยภาพอีกมาก สามารถเป็นฐานรองรับแรงงานที่ตกงานจากภาคเศรษฐกิจอื่นๆ แต่ต้องพัฒนาการผลิต ด้านการช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในระยะสั้นต้องมีการส่งเสริมอาชีพทดแทนให้กับเกษตรกร ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน รัฐต้องขยายมาตรการช่วยเหลือไปจนถึงสิ้นปี 2563 ส่วนในระยะยาวต้องปรับตัวเพื่อให้แข่งขันในโลกได้ ขณะเดียวกันชุมชนก็ปรับกระบวนการเรียนรู้หาทางออกให้ตัวเองโดยไม่รอความช่วยเหลือจากรัฐ

    เกษตรกรรมมีโอกาส ข้อจำกัดคือขาดแหล่งน้ำ

    นายสุชาติ เซ่งมาก เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสงขลา

    นายสุชาติ เซ่งมาก เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่า GDP ภาคการเกษตรจังหวัดสงขลามีมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท บางปีเพิ่มขึ้นบ้าง บางปีลดลง แต่โดยรวมจะมีมูลค่าประมาณ 32,000-34,000 ล้านบาท สาเหตุหลักคือ สินค้าด้านการเกษตรไม่หลากหลายเหมือนภาคอื่น ตั้งแต่ ยาง ปาล์ม สัตว์น้ำทะเล ปศุสัตว์ ผลไม้ มีขนาดไม่ใหญ่มาก ในส่วนของจังหวัดสงขลา พื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 2 ล้านไร่เศษ แต่มูลค่าค่อนข้างน้อยเพราะราคาไม่สูง ส่วนพื้นที่ปลูกปาล์มประมาณ 70,000 ไร่ ต่างจากฝั่งอันดามัน หรือชุมพร สุราษฎร์ธานี

    “สถานการณ์โควิดเกิดขึ้นอาจจะเป็นวิกฤติของภาคอื่น แต่สำหรับภาคการเกษตร ผมมองว่าเป็นโอกาสด้วยเพราะเห็นตัวอย่างตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา ก็ต้องกลับมาที่ภาคการเกษตร ที่ค่อนข้างจะเป็นฐานให้ภาคอื่นๆ ได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะแรงงานคืนถิ่นที่กลับมาในปี 2540 ส่วนใหญ่กลับมาสู่อาชีพดั้งเดิมภาคการเกษตร ขณะนี้ก็เช่นเดียวกัน”

    กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการเตรียมแนวทางรองรับไว้แล้วในส่วนของปี 2564 ไม่ว่าจะเป็นงบฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้เสนอในภาครัฐไปแล้ว รวมทั้งได้เริ่มขับเคลื่อนแล้วในกลุ่มเกษตรกรที่เป็นรายย่อย โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ เริ่มรับสมัคร แต่งบประมาณไม่มากทั้งประเทศรวม 1,000 กว่าล้าน ขั้นตอนของการดำเนินการขณะนี้ เปิดรับสมัครทั้งผู้เข้าร่วมโครงการ ทั้งแรงงานที่จะต้องจ้าง

    แม้ภาคการเกษตรเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ในจังหวัดสงขลาก็มีข้อจำกัด โดยเฉพาะภาคใต้ที่แม้ฝนตกค่อนข้างชุก แต่ตกแล้วไม่มีน้ำจะใช้ พื้นที่การชลประทานของจังหวัดสงขลามีประมาณ 20% พื้นที่การเกษตมีประมาณ 3 ล้านไร่ มีน้ำน้อย จึงเป็นสาเหตุที่ปรับเปลี่ยนกิจการทางด้านการเกษตรได้ค่อนข้างยากเนื่องจากไม่มีน้ำต้นทุน

    ถ้าเรามีน้ำต้นทุนสามารถมาทำการเกษตรได้ ทำการเกษตรประณีตได้ เราสามารถเปลี่ยนพืชที่มีผลตอบแทนต่อไร่ต่ำไปทำเกษตรอย่างอื่นได้ค่อนข้างมาก เกษตรแบบผสมผสานเราทำมานานแล้ว ตอนนี้เกษตรผสมผสานมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นที่ที่จะทำได้ แต่จะทำก็ต้องอาศัยน้ำเป็นหลัก ที่น้ำอุดมสมบูรณ์ทำการเกษตรแบบเป็นพืชอายุสั้นได้ผลตอบแทนมากกว่าพืชยืนต้นค่อนข้างมาก แต่ถ้าเป็นแหล่งที่ไม่มีน้ำไม่สามารถทำอะไรได้เลย”

    กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายสินค้าเกษตรปลอดภัย ซึ่งได้ดำเนินการมานานแล้ว แต่ต้องลดต้นทุนทำให้ปลอดภัยและทำให้แข่งขันได้ โดยเฉพาะมาตรฐานและความปลอดภัย แต่การทำอาหารปลอดภัยกับเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ ไม่ใช่ทุกกลุ่มจะทำได้ เพราะฉะนั้น กระทรวงเกษตรมีแผนที่จะผลักดันให้มีมากขึ้น

    นอกจากนี้ งานของเกษตรจังหวัดสงขลา ยังมีงานวิจัยที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยเฉพาะคณะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตอนนี้กระทรวงการเกษตรกำลังทำเรื่อง ศูนย์ AIC จังหวัด ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเพื่อขับเคลื่อน และกระทรวงเกษตรฯ ได้ทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ตั้งแต่เดือนเมษายน เพื่อดำเนินการในเรื่อง CBMC (community business model canvas) เพื่อเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น ทำให้มีมาตรฐานสูงขึ้น ทำให้มีมูลค่าสูงขึ้น

    “เรากำลังวางแผนเพื่อจะทำให้เห็นผลจริงๆ เราต้องแบ่งแนวทางการดำเนินการออกเป็นทำเพื่อขายภายในประเทศ และเพื่อส่งออก”

    Community Business Model Canvas สร้างชุมชนธุรกิจ

    นายนเรศ หอมหวน คณะทำงานเครือข่ายเศรษฐกิจและทุนชุมชนภาคใต้

    นายนเรศ หอมหวน คณะทำงานเครือข่ายเศรษฐกิจและทุนชุมชนภาคใต้ ได้ให้ข้อมูลการดำเนินการของเครือข่ายในช่วงการระบาดของโควิด-19 และเพื่อให้ชุมชนมีการปรับตัว โดยแนะนำตัวเครือข่ายเศรษฐกิจและทุนชุมชนภาคใต้ว่า เศรษฐกิจและทุนชุมชนมีองค์กรชาวบ้านมีเจ้าภาพ และมีหน่วยงานที่สนับสนุนเติมเต็มในความคิดของชาวบ้าน กลุ่มที่ทำเรื่องเศรษฐกิจชุมชนภาคใต้มีเจ้าภาพคือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เป็นผู้สนับสนุนให้งบประมาณมาพัฒนาเรื่องกระบวนการเป็นหลัก การจุดความคิด ขายความคิดต่างๆ โดยหลักแล้วทำเรื่องกลุ่มองค์กรในตำบล ในแต่ละตำบลมีศูนย์รวม เป็นสถานที่นัดคุย นัดประชุมในทุกประเด็นของตำบล เรียกว่าสภาองค์กรชุมชน ซึ่งทุกประเด็นไม่ว่าจะเป็นสมาชิกหรือไม่เป็นสมาชิกก็สามารถเข้าร่วมได้ เป็นสภาองค์กรชุมชนที่ต่อยอดมา

    จากสถานการณ์ที่ผ่านมาเรื่องของโควิด ในส่วนของเศรษฐกิจและทุนชุมชนภาคใต้ มีงบประมาณที่มาหนุนเสริมกระบวนการคิด กระบวนการต่อยอดของชุมชน ซึ่งแหล่งงบประมาณบางส่วนมาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หลายกลุ่มได้ใช้ช่องทางนี้หนุนงบประมาณในการที่จะมาประกอบธุรกิจของตัวเอง ตั้งแต่เดือนมีนาคม

    ในเดือนมีนาคม ภาคประชาชนได้วางแผนกันว่า เครือข่ายเศรษฐกิจและทุนชุมชนภาคใต้จะสร้างและจัดกระบวนการเรียนรู้ หรือ CBMC แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิดจึงได้ปรับมาจัดการกระบวนการสร้างนักเรียนรู้ผ่านทางออนไลน์ทั้งหมด 5 รุ่น รวมทั้งประเทศ 200 กว่าคน

    เมื่อจัดกระบวนการเรียนรู้ได้แล้ว ก็ขับเคลื่อนเครื่องมือนี้ลงชุมชน ไปติดตั้งเครื่องมือ ติดตั้ง CBMC ให้กับกลุ่มองค์กรเป้าหมาย เฉพาะภาคใต้ 100 ตำบล เมื่อได้นักจัดกระบวนการเรียนรู้เหล่านี้ ก็มาฝึกกลุ่มเป้าหมายเรียนรู้ระยะสั้น ให้รู้จักแบบจำลองธุรกิจ คำว่าแบบจำลองธุรกิจ คือ แบบการใช้ การหาทุน ช่องทางการตลาดวิเคราะห์ตนเอง โดยใช้หลักคิด 1 สมอง 2 มือของตัวเองเป็นเป้าในการคิดค้นหนุนเสริมธุรกิจของตัวเอง ซึ่งเป็นการพึ่งพาตัวเอง

    “ภาคใต้ เรามีกลุ่มเป้าหมาย 100 ตำบล ใน 100 ตำบลเราทำ 3 เรื่อง ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและทุนชุมชน คือ 1. เกษตรปลอดภัยหรือเกษตรอินทรีย์ 2. การแปรรูปและการตลาด และ 3. การท่องเที่ยวชุมชน หรือการท่องเที่ยวโดยชุมชน”

    หลังจากที่นำเครื่องมือไปติดตั้งใน 100 ตำบลแล้ว ก็เป็นขั้นตอนที่นักจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ผ่านการฝึกอบรม ซึ่งในภาคใต้มีจำนวน 52 คน เพื่อลงไปให้ความรู้แก่ชาวบ้าน เมื่อผ่านการอบรมหลักสูตร 17 วัน ก็จะเรียกว่า นักจัดกระบวนการเรียนรู้ จะต้องเป็นพี่เลี้ยงต่อให้กับกลุ่มผ่านระบบออนไลน์เพื่อฝึกทักษะให้รู้ เข้าใจเครื่องมือ หลังจากนั้นเปิดเวทีให้พี่เลี้ยงได้แสดงบทบาท ซึ่งในภาคใต้จัดเวทีแบบออนไลน์ นำกลุ่มเป้าหมายมารวมกัน 2 วัน 1 คืน ทั้งจากฝั่งอันดามัน ทั้ง 4 โซนทั้ง 3 ส่วนของภาคใต้ ฉะนั้นในกลุ่มเป้าหมายที่ 100 ตำบลมีครบทั้งเครื่องมือและพี่เลี้ยง

    เมื่อติดตั้งเครื่องมือไปแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ พี่เลี้ยงลงไปติดตามเสริมพลังให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ เป็นการหนุนเสริมเติมพลังให้กับพื้นที่ แล้วก็เชื่อมต่อ ซึ่งการเชื่อมต่อจะเห็นชัดจากตาราง 9 ข้อแบบจำลองธุรกิจ เช่น 1. ทุนของตัวเอง 2. ช่องทางการตลาด 3. การจับคู่ระหว่างผู้ซื้อผู้ขายมาเจอกัน 4. ช่องทางการตลาด ซึ่งชาวบ้านวิเคราะห์จากเครื่องมือที่ติดตั้ง พบว่าช่องทางการตลาดเยอะมาก

    นอกจากนี้ยังพบ สิ่งที่ชุมชนทำไม่ได้ ต้องพึ่งพาวิชาการ หน่วยงานข้อมูล หรือทางเงินทุน จาก ธ.ก.ส. หรือหน่วยงานต่างๆ

    โดยสรุปใน 3-4 เดือนนี้ 100 ตำบลของภาคใต้ภายใต้กระบวนการองค์กรชุมชน ซึ่งแบ่งเป็น 3 โซนภาคใต้ คือ 1. โซนอ่าวไทย 2. โซนอันดามัน และ 3. กลุ่มสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ข้อมูลว่า โซนอ่าวไทย กลุ่ม 100 กลุ่มทำเรื่องเกษตร 10%, ทำเรื่องแปรรูปการตลาด 40%, ทำเรื่องการท่องเที่ยว 5% โซนที่ 2 กลุ่มอันดามันทำเรื่องเกษตร 4%, ทำเรื่องการแปรรูป 20%, ทำเรื่องการท่องเที่ยว 9% ส่วนโซนที่ 3 กลุ่มสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำเรื่องเกษตร 7%, แปรรูป 15%, ท่องเที่ยว 4%

    จากฐานข้อมูลนี้ ทีมงานกำลังวางแผนงานจะไปเก็บตัวเลขว่า ภายใน 3 เดือนที่ติดตั้งเครื่องมือนี้ และกลุ่มที่นำเครื่องนี้ไปใช้ มีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าไร เพราะโจทย์ที่ตั้งไว้ คือ เมื่อติดตั้งเครื่องมือ CBMC แล้ว 1. รายได้เขาต้องเพิ่มขึ้น 2. เขามีเพื่อนมากขึ้น 3. เขาสามารถทำงานสาธารณะได้ดีขึ้น 4. รักษาทรัพยากรได้ดีขึ้น

    นายนเรศกล่าวถึงการติดตามผลว่า เครือข่ายฯ มีอีกเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ติดตามความคืบหน้าของพื้นที่ที่มีการติดตั้งเครื่องมือไปแล้ว เพื่อดูว่าในระยะสั้นมีการเชื่อมโยงหรือไม่อย่างไร เช่น ทำการท่องเที่ยวเชื่อมโยงท่องเที่ยวกับระดับจังหวัดอย่างไร หรือหน่วยงานอย่างไร

    “เครื่องมือนี้ก็คือ KSMB ซึ่ง K หมายถึงความรู้ เรื่องการท่องเที่ยว เรื่องแปรรูปมีไหม เรื่องการเกษตรมีไหม ถ้ามีเราก็ถอดบทเรียนออกมา เรื่องทักษะในงานที่เขาทำเขามีทักษะแค่ไหนที่จะทำ กำลังติดตามพื้นที่อยู่ และเรื่องของเครือข่าย เราให้ความสำคัญในเรื่องของการตลาดเพราะตอนนี้กลุ่มภาคใต้เริ่มปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มภาคเหนือ ภาคอีสาน โดยเฉพาะกะปิ ตอนนี้เขาขายตรงส่งออนไลน์กัน เราก็ต้องมาจับดูว่า ท้ายที่สุดแล้วรายได้เขาเพิ่มขึ้นอย่างไร เพราะฉะนั้นในด้านการแปรรูปตัวที่สี่คือตัวองค์กร ภาคประชาชนทำอยู่ซึ่งเห็นชัด”

    ในประเด็นด้านการเกษตร ทั้งเกษตรโคกหนองนาโมเดล หรือเกษตรแปลงใหญ่ ขณะนี้ภาคประชาชนคิดค้นเครื่องมือ การทำเรื่องเกษตรยกกำลังสาม ตัวอย่าง การปลูกยางพารา ปลูกปาล์ม เกษตรกรเดิมคิดแค่ปลูกพืชอื่นแซมร่วมกับยางพารา เช่น ปลูกปาล์ม ปลูกยางเดี่ยวแล้วมีกาแฟ ผักเหลียงแซม ซึ่งถือเป็นกำลังที่สอง ส่วนกำลังที่สามแทบจะไม่ได้ลงทุนอะไรเลย เช่น ทำกล่องเลี้ยงผึ้ง เป็นการจัดการต้นทุนที่ถูกวิธีหนึ่ง

    เป้าหมายของกลุ่มธุรกิจชุมชนที่เราทำ เราฝันร่วมกันว่า ชุมชนต้องกินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้หมด นี่คือเป้าหมายร่วม ส่วนจะไปถึงเป้าหมายอย่างไร ทิศทางของทุน และเศรษฐกิจชุมชน คือ ตอนนี้กำลังวางแผนการจัดทำยุทธศาสตร์ของภาคใต้ภาคประชาชน โดยจะไปยกร่างยุทธศาสตร์ร่วมกันที่กระบี่ ที่มีโมเดลการท่องเที่ยวกระบี่ ใช้ถ้ำเสือที่อำเภออ่าวลึก เป็นต้นแบบตั้งเครื่องมือนี้ วัดความเชื่อมโยง การมีเครือข่าย การทำธุรกิจเห็นชัดถึงรายได้”

    นอกจากนี้ จากการประเมินเบื้องต้นของกลุ่มบ้านนาทอน จังหวัดสตูล ที่มีติดตั้งเครื่องมือ และเป็นกลุ่มที่มีสินค้าจักสานจากต้นคลุ้ม พบว่า เป็นการเปิดโอกาสให้คนสูงวัย กลุ่มเปราะบาง มีงานทำมีรายได้ โดยไม่ต้องรองบประมาณจากรัฐหรือสวัสดิการจากรัฐ เพราะได้รวมกลุ่มผลิตสินค้า ขณะที่สามารถทำงานบ้านไปด้วย

    ต้องพัฒนาคนรองรับ Global Network-แข่งขันได้

    นายอาณัติ โชติพัฒนกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล มีมุมมองว่า การคิด ทำ เปลี่ยน เพื่อก้าวต่อ ต้องแข่งขันได้ด้วย เพราะหากคิด ทำแล้วเปลี่ยน แต่ยังแข่งขันไม่ได้ ก็เกิดการหยุดชะงัก ในสิ่งที่กำลังทำอยู่เนื่องจากทุกวันนี้โลกมีการเชื่อมโยงกัน การเปลี่ยนแปลงไม่ได้อยู่ในระดับภูมิภาค แต่ทั้งโลก เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องเปลี่ยนคือ ภาพรวมของทั้งประเทศ

    สิ่งที่เสนอให้ร่วมกันคิดคือ เรื่องแรก ต้องดูว่ากฎหมายรองรับการแข่งขันในสากลโลกแล้วหรือยัง ไทยมีข้อจำกัดของกฎหมายมากมาย ทั้งในภาพรวมของการส่งออก ในการทำธุรกิจทุกประเภท หรือกฎหมายผังเมือง

    “ภาคใต้ซึ่งมี 2 ฝั่งทะเล ถ้ามองภูมิประเทศแล้วภาพรวมเป็นโอกาส แต่จริงๆ เป็นวิกฤติหรือไม่เพราะกฎหมายหลายๆ อย่าง พี่น้องประชาชนที่อยู่ชายฝั่ง อยู่ในป่าชายเลน อยู่ชายทะเล อยู่อุทยานแห่งชาติ อยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ ชุมชนเหล่านี้เขาไม่สามารถที่จะทำงานหรือใช้ชีวิต หรือใช้ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ให้เกิดโอกาสได้ กฎหมายเหล่านี้เอื้อให้เกิดการแข่งขันจริงๆ ได้ไหม ประเทศอื่นๆ มีข้อกำหนดแต่ทำให้เป็นโอกาสได้ ของเรามีโอกาสแต่ทำให้เกิดข้อจำกัด เพราะฉะนั้นกฎหมายแทนที่จะเป็นเรื่องของการบังคับ การควบคุม ให้เป็นดูแลสนับสนุนเรื่องพวกนี้ได้”

    เรื่องที่สองเป็นเรื่องการศึกษา เป็นลักษณะเดียวกัน เราสร้างคนที่จะให้เกิดการขับเคลื่อนในมิติของโลก จึงมีการ upskill, reskill ให้เด็กๆ ที่จบมหาวิทยาลัย รวมไปถึง cross skill เป็นเรื่องการจัดการความเสี่ยง แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือ โลกวันนี้เป็น global network มีการเชื่อมโยง การศึกษาต้องส่งเสริมด้านภาษาเพราะทุกอย่างที่จะสร้างได้คือการสร้างเน็ตเวิร์ก ถ้าภาษาไม่ได้ การสร้างเน็ตเวิร์กก็จะยากมาก

    นอกจากนี้ต้องส่งเสริมการสร้าง soft skill จากที่ส่งเสริม hard skill เช่น การเก่งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เนื่องจากการที่จะประสบความสำเร็จในธุรกิจหรือการมีชีวิตอยู่ปัจจุบัน คือ การสร้างเน็ตเวิร์ก ซอฟต์สกิล หมายถึงแนวคิด หรือ mindset ทัศนคติ การคิดบวก สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญ และต้องเริ่มตั้งแต่อยู่ที่บ้านระดับอนุบาลประถม มัธยม จนเข้ามหาวิทยาลัย

    “ผมคิดว่า การศึกษาก็เป็นส่วนสำคัญ วันนี้ส่วนหนึ่งที่เราแข่งขันไม่ได้เพราะองค์ประกอบของคนที่ยังขาดอยู่ ถ้าเราจัดการตรงนี้ได้ตั้งแต่เริ่มต้น วันนี้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ถือว่าอาจจะปลูกพืชล้มลุก แต่พืชยืนต้นก็ต้องมีไว้ด้วย คือ ใส่ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์เลย”

    ผู้ประกอบการเองต้องเข้าใจในเรื่องการพัฒนาบุคลากร การ upskil, reskill, cross skill เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่จะพัฒนาคน

    เรื่องที่สามเป็นสิ่งสำคัญมาก เฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือ นโยบายการขับเคลื่อนของภาครัฐ เป้าประสงค์ภาครัฐดีมาก แผนดีมาก แต่พอนำไปปฏิบัติเพื่อให้บรรลุผลตรงนี้ นโยบายกับแผนดูดี แต่ว่าผลไม่ได้ สิ่งเหล่านี้การภาคีเครือข่ายองค์กรมีส่วนสำคัญอย่างมาก ในการที่จะสะท้อนเรื่องเหล่านี้ว่าเป็นข้อจำกัด เพราะในภาคเอกชน สิ่งที่เราไปวัดนี่คือผล ผลคือแข่งขันได้ แข่งขันไม่ได้ แต่ภาครัฐนโยบายกับแผนไม่เน้นที่ผล นโยบายออกมา แผนออกมาน่าจะมีการประเมินผลที่ออกมาด้วย หรือมีวิจัย นโยบายหรือแผนแต่ละเรื่องที่ออกมาแล้วว่า ทำให้เกิดผลการขับเคลื่อนหรือเกิดขีดความสามารถของประเทศโดยรวมหรือไม่

    Social Enterprise ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก

    นางสิริน ชีพชัยอิสสระ กรรมการหอการค้า จังหวัดสงขลา

    นางสิริน ชีพชัยอิสสระ กรรมการหอการค้า จังหวัดสงขลา กล่าวว่า การระบาดของโควิดทำให้โลกไม่เหมือนเดิม สิ่งที่สำคัญคือความมั่นคงทางอาหาร อาชีพ และสุขภาพ จากการที่เห็นว่าชุมชนมีของดีมากมาย โดยเฉพาะภาคใต้อุดมสมบูรณ์ จึงเสนอว่า 1) ให้ทุกจังหวัดไปค้นหาสิ่งดีของจังหวัดตัวเอง แล้วนำแนวคิด creative economy มาประยุกต์ใช้ สร้างจุดขายให้ได้ 2) ใช้เครื่องมือใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาประเทศ คือ social enterprise ธุรกิจเพื่อสังคม ใช้ปัญหาสังคมมาเป็นตัวตั้งในการทำธุรกิจ ในการขับเคลื่อน โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก 3) แหล่งทรัพยากร เปิดให้ทุกส่วนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้รู้จักชุมชนตนเอง รู้จักทรัพยากรตัวเอง ที่สงขลามหาวิทยานครินทร์มีบัณฑิตอาสาลงพื้นที่ ไปทำฐานข้อมูลแต่ละพื้นที่ ซึ่งถ้าคนรุ่นใหม่เห็นทรัพยากรก็จะต่อยอดและแปรรูปได้