ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > “ป่าไทยไม่ไร้เสือ” (ตอนจบ) ไทยอาสาเป็นศูนย์กลางอนุรักษ์เสือโคร่งภูมิภาคอินโดจีน

“ป่าไทยไม่ไร้เสือ” (ตอนจบ) ไทยอาสาเป็นศูนย์กลางอนุรักษ์เสือโคร่งภูมิภาคอินโดจีน

9 กันยายน 2020


ประเทศไทยมีความพร้อมเป็นศูนย์กลางการอนุรักษ์เสือโคร่งในภูมิภาคอินโดจีน จากกลุ่ม 13 ประเทศถิ่นอาศัยของเสือโคร่ง (Tiger range countries) ซึ่งประกอบด้วย ไทย เมียนมา ลาว เวียดนาม กัมพูชา รัสเซีย จีน อินเดีย เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพราะมีแผนฟื้นฟูที่ชัดเจน มีระบบคุ้มครองที่เข้มแข็งและมีฐานข้อมูลระดับสากล

ต่อจากตอน 1

  • “ป่าไทยไม่ไร้เสือ” (ตอน 1) ไทยหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อนุรักษ์เสือโคร่งสำเร็จ

  • “เสือโคร่งเป็นสัตว์ป่าที่อยู่รอดได้ด้วยการคุ้มครอง ป้องกัน (protection dependent species)” เสือโคร่งสามารถดำรงประชากรในพื้นที่อนุรักษ์ที่มีระบบการคุ้มครองป้องกันที่เข้มแข็ง มีเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนคุ้มครองป้องกันอย่างเข้มข้นเท่านั้น ส่วนพื้นที่อนุรักษ์ใดที่มีระบบป้องกันที่อ่อนแอ หรือไม่มีระบบ เสือโคร่งจะค่อยๆ ถูกลดจำนวนลง จนกระทั่งสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่นั้นอย่างเงียบๆ ในที่สุด ซึ่งกว่าจะรู้ว่าเสือโครงสูญพันธุ์ก็เมื่อไม่พบรอยเท้าหรือร่องรอยของเสือโคร่งในพื้นที่นั้น

    เสือโคร่งฟื้นฟูได้เมื่อมีระบบป้องกันที่เข้มแข็ง ในประเทศไทยเสือโคร่งได้สูญพันธุ์ไปจากพื้นที่สำคัญๆที่เคยพบเสือโคร่งในระยะเวลาประมาณ 10–20 ปีที่ผ่านมา ตามข้อมูลที่ยืนยันได้จากกล้องดักถ่ายภาพและการเดินสำรวจอย่างเข้มข้นของกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และคณะนักวิจัยจากองค์กรอื่น พื้นที่สำคัญๆ ที่มีการสูญพันธุ์ของเสือโคร่ง คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ปาภูเขียวกลุ่มป่าคลองแสง–เขาสก ส่วนกลุ่มป่าแก่งกระจาน มีการถ่ายภาพเสือโคร่งได้ไม่เกิน 3 ตัว ในช่วง 5–6 ปีที่ผ่านมา แต่ยังเหลือเสือโคร่งที่อยู่ในภาวะฟื้นฟูได้ในผืนป่าตะวันตก และอุทยานแห่งชาติทับลาน

    เสือโคร่งตัวสุดท้ายในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่กล้องดักถ่ายเก็บภาพไว้ได้มีจำนวน 1 ตัวบริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติคลองอีเฒ่า ในปี 2544

    เสือโคร่งในผืนป่าตะวันตกยังฟื้นฟูได้อีกถึง 3 เท่า จากผลการศึกษาขนาดพื้นที่อาศัยของเสือโคร่งโดยการติดปลอกคอวิทยุในป่าหัวยขาแข้ง พบว่าเสือโคร่งเพศผู้ใช้พื้นที่อาศัยประมาณ 300 ตารางกิโลเมตร และในพื้นที่อาศัยของเสือโคร่งเพศผู้ 1 ตัว สามารถรองรับพื้นที่อาศัยเสือโคร่งเพศเมีย ได้ถึง 4 ตัว หากจัดการฟื้นฟูเสือโคร่งได้อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง โดยทำให้มีสภาพใกล้เคียงกับสภาพป่าห้วยขาแข้งในปัจจุบัน จะทำให้ผืนป่าตะวันตกสามารถรองรับประชากรเสือโคร่งได้ถึงประมาณ 300 ตัว หรือประมาณเกือบ 3 เท่าของประชากรเสือโคร่งในผืนป่าตะวันตกในปัจจุบันที่มีประมาณ 100 ตัว

    ความหวังการฟื้นฟูเสือโคร่งยังมีในอุทยานแห่งชาติทับลาน–ปางสีดา ในปี 2561–2562 คณะนักวิจัยจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น–เขาใหญ่ ได้วางกล้องดักถ่ายภาพครอบคลุมพื้นที่ทั้งผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น–เขาใหญ่ และได้ภาพเสือโคร่ง เฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน และอุทยานแห่งชาติปางสีดา จำนวนประมาณ 20 ตัว

    หากใช้ข้อมูลขนาดถิ่นอาศัยของเสือโคร่งเพศผู้และเพศเมียในผืนป่าตะวันตกเป็นบรรทัดฐาน ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่จะสามารถรองรับประชากรเสือโคร่งได้ถึง 100 ตัว ซึ่งแสดงว่าผืนป่าแห่งนี้ยังมีความหวังต่อการอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างยิ่ง

    ในปี 2561–2566 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในผืนป่าดงพญาเย็น–เขาใหญ่ แก่คณะวนศาสตร์และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยในระยะ 3 ปีแรกเป็นการสำรวจและปรับปรุงแหล่งอาหารสัตว์กีบซึ่งเป็นเหยื่อของเสือโคร่งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทับลาน และปางสีดา เพื่อให้มีการฟื้นฟูแหล่งอาหารสัตว์กีบอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จะทำให้วัวแดง กระทิง และกวางป่าในผืนป่านี้ได้รับการฟื้นตัวและส่งผลต่อการฟื้นฟูเสือโคร่งอย่างชัดเจนต่อไป

    ในปี พ.ศ. 2562 กรมทางหลวงได้ก่อสร้างทางเชื่อมต่อสัตว์ป่า ระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน คร่อมทางหลวงหมายเลข 304 เสร็จเรียบร้อย จึงคาดว่าในอนาคตเสือโคร่งจากอุทยานแห่งชาติทับลานและปางสีดา จะได้รับการฟื้นฟูให้มีประชากรมากขึ้น และสามารถใช้แนวเชื่อมต่อสัตว์ป่าข้ามจากอุทยานแห่งชาติทับลาน เพื่อมาตั้งต้นประชากรที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้

    แผนฟื้นฟูชัดเจน-คุ้มครองเข้มแข็ง

    ในปี 2547 ผลการสำรวจภาคสนามพบว่า ในผืนป่าตะวันตกมีพื้นที่ที่เสือโคร่งใช้เป็นประจำอยู่เพียง ประมาณ 20% ของผืนป่าตะวันตก คือสำรวจพบร่องรอยเสือโคร่งเฉพาะในพื้นที่ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร และข้อมูลจากการตั้งกล้องดักถ่ายภาพในพื้นที่ 1,000 ตารางกิโลเมตรในห้วยขาแข้ง ระหว่างปี 2548–2550 ได้ภาพเสือโคร่งตัวเต็มวัย น้อยกว่า 30 ตัวต่อปี จึงคัดเลือกเสือโคร่งให้เป็นสัตว์ป่าเป้าหมายในการฟื้นฟูประชากร ในฟื้นที่มรดกโลกหัวยขาแข้ง–ทุ่งใหญ่นเรศวร และตั้งเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งให้ได้ประมาณ 50% ภายในปี 2559–2560

    ในปี 2562 ผลการตั้งกลัองดักถ่ายภาพในป่าหัวยขาแข้ง ได้ภาพเสือโคร่งตัวเต็มวัยกว่า 50 ตัว ซึ่งถือว่าการฟื้นฟูเสือโคร่งเป็นไปตามเป้าหมาย

    การดำเนินการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งอย่างจริงจัง ได้เริ่มที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร ตั้งแต่ปี 2548 ต่อมาในปี 2553 ได้พัฒนาเป็นแผนการอนุรักษ์เสือโคร่ง 12 ปี (2553–2565) ส่งผลให้การดำเนินงานจริงจังและต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี แผนปฏิบัติการอนุรักษ์เสือโคร่งแห่งชาติ พ.ศ.2553–2565 จึงเป็นกรอบในการดำเนินงานฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งของโลก ตามปฏิญญาหัวหิน ในการประชุมระดับรัฐมนตรีในทวีปเอเชียด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ครั้งที่ 1

    Smart Patrol System บวกเทคโนโลยีสร้างฐานข้อมูล

    ในปี 2548 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับองค์กรเครือข่ายและสถาบันการศึกษาหลักของประเทศ ได้ปรับปรุงระบบลาดตระเวนให้เข้มแข็ง ภายใต้มาตรฐานระบบลาดตระเวนคุณภาพ เพื่อลดการลักลอบล่าเสือโคร่ง และสัตว์กีบที่เป็นอาหารหลักของเสือโคร่ง คือ กวางป่า วัวแดง กระทิง เก้ง และหมูป่า

    ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ smart patrol system เป็นระบบที่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการลาดตระเวนในพื้นที่อนุรักษ์มีศักยภาพในการปฏิบัติงานอนุรักษ์ ป้องกัน และปราบปรามในพื้นที่มากขึ้น โดยการนำหลักวิชาการ เทคโนโลยี ทั้งในแง่ของเครื่องมือ อุปกรณ์ และระบบฐานข้อมูลที่ทันสมัยและเหมาะสมมาใช้

    พื้นที่แรกที่มีการนำระบบนี้ไปใช้ในงานอนุรักษ์ ป้องกัน และปราบปราม คือ ผืนป่าทุ่งใหญ่–ห้วยขาแข้ง เมื่อปี 2548 โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า ละพันธุ์พืช พัฒนาร่วมกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า WCS ประเทศไทย มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมวางแผนงานลาดตระเวนร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ หากประสบปัญหาก็สามารถนำข้อมูลจากฐานข้อมูลมาใช้วางแผนแก้ไขปัญหาร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (คณะกรรมการพื้นที่อนุรักษ์ —  PAC Protected Area Committee) ได้ทันท่วงที มีผลทำให้ปัจจัยคุกคามในพื้นที่มรดกโลกทุ่งใหญ่–ห้วยขาแข้งลดลง และประชากรสัตว์ป่าหลายชนิดมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

    นอกจากนี้มีเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเดินเท้าที่ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยสัดส่วนเจ้าหน้าที่ต่อพื้นที่สำคัญต่อคุณภาพการดูแลพื้นที่อนุรักษ์ เจ้าหน้าที่ห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรมีจำนวนรวมกันกว่า 500 นาย มีสัดส่วนอยู่ที่เจ้าหน้าที่ 1 นายต่อพื้นที่ 14 ตารางกิโลเมตร ขณะที่การตรวจสอบพรานล่าสัตว์ใหญ่ ชำนาญป่า ล่าเงียบ คือใช้ยาเบื่อ แร้ว กับดักสัตว์อื่นๆ นั้นต้องใช้เจ้าหน้าที่เดินเท้าเท่านั้น ไม่สามารถใช้โดรน ภาพถ่ายทางอากาศ หรือภาพดาวเทียมตรวจสอบได้

    ขณะเดียวกันยังมีอุปกรณ์และเทคโนโลยีพร้อมปฏิบัติงานให้กับเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน เช่น เครื่อง GPS แบบฟอร์มบันทึกข้อมูลลาดตระเวน กล้องดิจิทัล และอื่นๆ ส่งผลให้มีและใช้ข้อมูลลาดตระเวนที่ทันสมัย เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยพัฒนาจาก MIKE (Monitoring of Ilegal Killing of Elephants), MIST (Management Information System) และในปัจจุบัน คือ SMART (Spatial Monitoring and Reporting Tool) เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำมาวางแผนจัดการกับปัจจัยคุกคาม และการจัดการ อื่นๆ อย่างเป็นระบบ

    ฐานข้อมูลที่ได้ยังนำมาประยุกต์ใช้ในงานศึกษาวิจัยสัตว์ป่า รวมถึงมีการนำผลงานวิจัยด้านสัตว์ป่ามาใช้เป็นข้อมูลสำหรับการจัดการป้องกันพื้นที่ นำไปสู่ตัวชี้วัดความสำเร็จของการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ในอนาคตด้วย

    ยกตัวอย่าง กรณีจับกุมพรานล่าสัตว์ป่า ช่วงปี 2554 พรานกลุ่มนี้มีชาวไทยและเวียดนาม ลักลอบเข้ามาล่าสัตว์ป่าและหาไม้กฤษณา บริเวณรอยต่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันออก เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ต้องหา พบภาพถ่ายคู่กับซากเสือโคร่งตัวหนึ่ง ปรากฏว่าลายเสือโคร่งตรงกับลายเสือโคร่งในฐานข้อมูลจากกล้องดักถ่ายภาพ ที่ติดตั้งไว้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั้ง 2 แห่ง นำมาซึ่งหลักฐานสำคัญในการแจ้งความดำเนินคดี และศาลได้ติดสินลงโทษจำคุกผู้กระทำผิดเป็นเวลา 4 ปี

    จากกรณีที่ยกตัวอย่าง บ่อยครั้งการตรวจยึด จับกุม ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดด้านสัตว์ป่า นอกจากของกลางที่ยึดใต้ในขณะจับกุม ก็ยังต้องมีตรวจพิสูจน์ทราบถึงแหล่งที่มาของซากและของกลางที่ยึดได้ ว่าเป็นการครอบครองที่ถูกกฎหมายหรือเป็นการลักลอบค้า เราไม่สามารถอาศัยหลักฐานเพียงอย่างเดียว เพราะผู้กระทำผิดมักอาศัยช่องว่างของกฎหมายหลีกเลี่ยงการกระทำผิด ดังนั้น จึงมีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อลดช่องว่างที่เกิดขึ้น

    ผลการลาดตระเวนที่มีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทั้งปริมาณจ้าหน้าที่ลาดตระเวน ระยะทางเดินลาด และการครอบคลุมพื้นที่ของชุดลาดตระ เวน จากปี 2548 ทำให้สามารถลดจำนวนปางพักพรานได้อย่างมีนัยสำคัญ และสามารถจับกุมปราบปรามแก๊งล่าเสือโคร่งรายใหญ่ๆ ได้

    ระบบลาดตระเวนที่เข้มข้น ครอบคลุมพื้นที่ และป้องกันการลักลอบล่าสัตว์ตัดไม้ได้อย่างจริงจังต่อเนื่อง สัตว์กีบขนาดใหญ่ เช่น กวางป่า วัวแดง กระทิง ซึ่งเป็นเหยื่อของเสือโคร่ง จึงได้รับการฟื้นฟูตามลำดับ ส่งผลให้ประชากรเสือโคร่งได้รับการฟื้นฟูอย่างชัดเจนในขณะเดียวกัน

    ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในพื้นที่นำร่อง ทำให้ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพถูกนำไปใช้ในพื้นที่อนุรักษ์อีกหลายแห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มป่าสำคัญ เช่น กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็น–เขาใหญ่กลุ่มป่าแก่งกระจาน กลุ่มป่าภูเขียว–น้ำหนาว และกลุ่มป่าตะวันออก รวมถึงมีการจัดตั้งศูนย์ควบคุมมาตรฐานการลาดตระเวนในพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่าขึ้น ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางที่รวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูลให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และติดตามสถานการณ์ของพื้นที่อนุรักษ์อย่างใกล้ชิด

    ในปี 2561 เป็นต้นมา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดสรรงบประมาณจากงบเงินรายได้และเงินรายอุทยานแห่งชาติและเงินรายได้อนุรักษ์สัตว์ป่าเพื่อปรับปรุงระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพในพื้นที่อนุรักษ์ กว่า 200 แห่ง โดยมีการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างจริงจัง

    ใช้กล้องดักถ่ายพบกระจายตัวจากใจกลางป่า

    ข้อมูลประชากรเสือโคร่งของประเทศไทยในปี 2553 (190–250 ตัว) ตามแผนปฏิบัติการ ได้มาจากการสำรวจและประเมินจากรอยเท้าที่พบ ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในอดีต และมีการใช้อย่างกว้างในประเทศที่มีการกระจายของเสือโคร่ง แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาและประยุกต์ใช้กล้องดักถ่ายเพื่อการสำรวจประชากรและจำแนกตัวจากลวดลาย อีกทั้งมีการพัฒนาวิธีการคำนวณประชากรเสือโคร่งเป็นการเฉพาะ จึงทำให้ค่าประเมินมีความเที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น

    จากการสำรวจด้วยกล้องดักถ่ายภาพ ในปี 2556 ประเมินเสือโคร่งในธรรมชาติทั้งหมดได้ 73-82 ตัว

    แผนปฏิบัติการ มีเป้าหมายเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งให้ได้ร้อยละ 50 ของประชากรที่มีอยู่ ณ ปี 2563 ไทยมีเสือโคร่งในธรรมชาติทั้งหมด 130–160 ตัว เพิ่มขึ้น 60–80 ตัว ซึ่งชี้วัดได้ว่า ประสบความสำเร็จในเรื่องการเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งเป็นอย่างมาก พื้นที่ที่ดำเนินการตามแผนนี้คือ ผืนป่าตะวันตก–แนวเทือกเขาตะนาวศรี และผืนป่าดงพญาเย็น–เขาใหญ่

    ในป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร มีการตั้งกล้องดักถ่ายภาพอย่างเป็นระบบทุกปีในพื้นที่สุ่มตัวอย่างซึ่งคัดเลือกจากข้อมูลการกระจายของเสือโคร่ง โดยแบ่งพื้นที่สุ่มตัวอย่างออกเป็น 3 พื้นที่ และข้อมูลสำคัญที่ได้คือ

  • พื้นที่ห้วยขาแข้ง มีพื้นที่สุ่มตัวอย่างครอบคลุมประมาณ 1,000 ตารางกิโลเมตร และมีจุดตั้งกล้องในแต่ละปี 200–250 จุด ข้อมูลตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน ถ่ายภาพเสือโคร่งตัวโตเต็มวัยต่อปี เพิ่มขึ้นจากในช่วงแรกๆ ปีละประมาณ 30 ตัว เป็นปีละประมาณกว่ากว่า 50 ตัวต่อปีตั้งแต่ปี 2560
  • พื้นที่ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก หากพิจารณาจากข้อมูลในพื้นที่สุ่มตัวอย่างประมาณ 500 ตารางกิโลเมตร วางกล้องดักถ่ายภาพประมาณ 50–70 จุด ถ่ายภาพเสือโคร่งตัวเต็มวัยเพิ่มขึ้นจากปีละ 5 ตัวเป็นมากกว่า 10 ตัว ต่อปีตั้งแต่ปี 2561
  • พื้นที่ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ซึ่งมีพื้นที่สุ่มตัวอย่างประมาณ 500 ตารางกิโลเมตร และจุดตั้งกล้อง 50–70 จุด พบว่าถ่ายภาพเสือโคร่งเพิ่มขึ้นจากปีละน้อยกว่า 5 ตัวเป็นมากกว่า 10 ตัว ต่อปีตั้งแต่ปี 2561 เช่นกัน
  • หากนำจำนวนเสือโคร่งจากสามพื้นที่รวมกันและตัดตัวที่ซ้ำกันออก ปรากฏว่านับเสือโคร่งตัวเต็มวัยในพื้นที่ห้วยขาแข้ง–ทุ่งใหญ่นเรศวรได้จำนวน 77 ตัว โดยที่มีความหนาแน่นประมาณ 2 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร

    ข้อมูลกล้องดักถ่ายภาพที่ดำเนินการต่อเนื่องทุกๆ ปี ยังนำมาคำนวณอัตราการรอดตายของเสือโคร่งในป่าห้วยขาแข้งได้ ซึ่งปรากฏว่า เสือโคร่งในป่าห้วยขาแข้งมีอัตราการรอดตายเฉลี่ยรายปีถึง 80% แสดงถึงประชากรที่มีรอดตายสูง รวมทั้งข้อมูลตั้งกล้องทุกปีทำให้ทราบว่า มีเสือโคร่งตัวเต็มวัยตัวใหม่ปรากฏในพื้นที่สุ่มตัวอย่างประมาณปีละกว่า 10 ตัวทุกปี ส่วนใหญ่คือลูกเสือโคร่งที่เกิดและอยู่รอดจนอายุเกินกว่า 1 ปี แสดงถึงประชากรที่มีโอกาสการจริญเติบโตที่ดีมีความหวังในการฟื้นฟูประชากรอย่างต่อเนื่องในอนาคต

    กล้องดักถ่ายภาพในระดับผินป่าใหญ่ ยืนยันการกระจายของเสือโคร่งจากพื้นที่ใจกลางป่า โดย 1) เสือโคร่งจากห้วยขาแข้งช่วยฟื้นฟูเสือโคร่งในป่าตะวันตกตอนบน องค์กรกองทุนสัตว์ป่าโลก WWF สำนักงานประเทศไทย สนับสนุนระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ และการตั้งกล้องดักถ่ายภาพในพื้นที่ตอนบนของผืนป่าตะวันตกรวมทั้งอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง พบว่ามีเสือโคร่งไม่ต่ำกว่า 4 ตัว กระจายจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและตั้งถิ่นอาศัยขยายพันธุ์ในป่าแม่วงก์–คลองลาน ซึ่งในการสำรวจปี 2536 ไม่เคยพบร่องรอยการมีเสือโคร่งมาก่อน แต่ปัจจุบันสามารถพบร่องรอยเสือโคร่งหากินอยู่ในพื้นที่แม่วงก์ตอนใต้ลำน้ำแม่เรวาเป็นประจำ

    2) เสือโคร่งจากห้วยขาแข้งช่วยฟื้นฟูเสือโคร่งในป่าตะวันตกตอนล่าง สมาคมสัตววิทยาแห่งกรุงลอนดอนร่วมกับมูลนิธิแพนเทรา สนับสนุนการตั้งกล้องในพื้นที่ป่าตะวันตกตอนไต้ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และอุทยานแห่งชาติเขื่อนครีนครินทร์ รายงานว่ามีเสือโคร่งไม่ต่ำกว่า 2 ตัวที่กระจายจากป่าห้วยขาแข้งและตั้งถิ่นอาศัยในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ พื้นที่ข้างเคียง ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ไม่เคยมีรายงานการพบเสือโคร่งมาเป็นเวลานานแล้ว แต่กรมอุทยานฯ ได้ทำโครงการฟื้นฟูลัตว์กีบ เช่น ละมั่ง เนื้อทราย และวัวแดงในป่าสลักพระ

    3) เสือโคร่งจากห้วยขาแข้งข้ามไปฝั่งเมียนมา ในปี 2559 เจ้าหน้าที่ฝั่งเมียมาได้ส่งภาพเสือโคร่งที่ถูกยิงตายหลังจากทำร้ายชาวบ้านที่บริเวณบ้านกอกาเรก และเมื่อตรวจสอบลายเสือโคร่งกับฐานข้อมูลเสือโคร่งในผืนป่าตะวันตกแล้ว พบว่าเป็นเสือโคร่งเพศผู้จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งจุดที่เสือโคร่งตัวนี้ถูกยิงห่างจากจุดที่เคยถ่ายภาพได้ในป่าห้วยแข้งเป็นระยะทางกระจัดกว่า 170 กิโลเมตร

    4) เสือโคร่งจากห้วยขาแข้ง พบบาดเจ็บในไร่มันริมทางหลวง อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ปี 2560 มีการพบเสือโคร่งตัวผู้นอนบาดเจ็บอยู่ในไร่มัน ริมทางหลวงตาก–ลำปาง บริเวณบ้านสบเติน ตำบลแม่ถอด อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ซึ่งจากการตรวจสอบลายพบว่าเป็นเสือโคร่งจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และต่อมาถ่ายภาพได้ที่แม่วงก์–คลองลาน จนกระทั่งมาพบนอนบาดเจ็บในบริเวณดังกล่าวซึ่งห่างจากป่าห้วยขาแข้งกว่า 300 กิโลเมตร

    ในปี 2553–2555 ได้มีการนำเทคนิค occupancy มาใช้กับผืนป่าตะวันตกเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการประเมินการกระจายของสัตว์ป่าโดยใช้ข้อมูลจากการพบร่องรอยสัตว์ป่าภาคสนามที่มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ควบคู่กับการวิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อทำแผนที่การกระจายและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้เกิดแนวทางและทิศทางการจัดการเพื่อการฟื้นฟูเสือโคร่งในระดับผืนป่า

    วิชาการนำการจัดการ

    การดำเนินงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ หรือสัตว์ป่า จะเกิดขึ้นจากการนำพื้นฐานความรู้เชิงวิชาการมาเป็นหลักการสำคัญ ด้วยเหตุนี้ ข้อมูลจากงานวิจัยจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากต่อการจัดการพื้นที่อนุรักษ์และการจัดการสัตว์ป่า ดังนั้น การศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่สำคัญ (key stone species) สัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ สามารถใช้เป็นตัวแทนในการอนุรักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ ได้

    กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ทำงานด้านนี้ร่วมกับหลาย ๆ องค์กร ได้แก่
    1) ศูนย์ฝึกอบรมการอนุรักษ์เสือโคร่งระดับภูมิภาค (Regional Tiger Conservation Training Center — RTCT) ตั้งอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ก่อตั้งเมื่อปี 2562 ดำเนินงานภายใต้โครงการสร้างเสริมประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก หรือ Tiger Project โดยความร่วมมือขององค์กร ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, UNDP, WCS และคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมเพิ่มศักยภาพการปฏิบัติงานด้านอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง และสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ เช่น เทคนิคการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ การประเมินประชากรเสือโคร่งและเหยื่อ การกระจายตัวของเสือโคร่งและเหยื่อ รวมถึงนิเวศและชีววิทยาของเสือโคร่ง ให้กับเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ เจ้าหน้าที่องค์กรอื่นๆ ที่ปฏิบัติงานด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า ที่สำคัญคือ เพิ่มพูนความรู้ความสามารถให้กับนิสิตคณะวนศาสตร์ ด้านการจัดการสัตว์ป่า ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต
    2) สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งศึกษา รวบรวม แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเก็บรวบรวมข้อมูลการศึกษาวิจัยด้านสัตว์ป่าและสภาพแวดล้อมของสัตว์ป่า โดยเฉพาะเสือโคร่ง

    สถานีวิจัยแห่งนี้ ได้ชื่อว่ามีฐานข้อมูลภาพถ่ายเสือโคร่งที่สมบูรณ์ที่สุด ครั้งแรกที่สถานีแห่งนี้ทำการถ่ายภาพเสือโคร่ง จากกล้องดักถ่ายภาพ อยู่ในปี 2537 ทีมงานวิจัยตั้งชื่อเสือโคร่งตัวนี้ว่า T5 ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการติดตามประชากรเสือโคร่งในประเทศไทย

    มีการจัดทำฐานข้อมูลทางด้านพันธุกรรมของเสือโคร่งในธรรมชาติในป่าตะวันตก โดยศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรมจากกองมูล ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่รบกวนการดำเนินชีวิตของเสือโคร่งเพื่อใช้ในการระบุตัวของเสือโคร่ง จากนั้นรวบรวมข้อมูลที่ได้จัดทำเป็นฐานข้อมูลประชากรของเสือโคร่ง ซึ่งจะ สามารถใช้ในการยืนยันและช่วยระบุตัวของเสือโคร่งร่วมกับการใช้ภาพถ่ายลายเสือโคร่งเมื่อเกิดการลักลอบค้าสัตว์ป่าได้

    ปัจจุบันมีองค์กรด้านอนุรักษ์ธรรมชาติหลายแห่งที่เข้ามาร่วมสนับสนุนการทำงานในทั้งด้านงบประมาณและวิชาการผ่านโครงการต่างๆ ในพื้นที่อนุรักษ์ที่เป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่งที่สำคัญ โดยกิจกรรมหลักประกอบด้วย การเสริมสร้างศักยภาพและมาตรฐาน การลาดตระเวนคุ้มครองพื้นที่ การสร้างความเข้มแข็งของการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดปัญหาอาชญากรรมสัตว์ป่านอกพื้นที่อนุรักษ์ การสร้างความเข้มแข็งของการศึกษา วิจัยเสือโคร่งและเหยื่อในพื้นที่อาศัยที่สำคัญ การสร้างจิตสำนึก ความร่วมมือและมีส่วนร่วมของชุมชนทั้งในและนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์

    โดยทำโครงการการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในพื้นที่ทุ่งใหญ่ฯ-ห้วยขาแข้ง ร่วมกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย, โครงการการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน ร่วมกับกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF), โครงการการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในกลุ่มป่าดงพญาเย็น–เขาใหญ่ ร่วมกับมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, WCS, WWF, Panthera และคณะวนศาสตร์ การดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมกับชุนชนรอบพื้นที่อนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตกกับมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร โครงการการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในกลุ่มป่าตะวันตกตอนใต้ ร่วมกับ Panthera, Freeland, IUCN และโครงการสร้างเสริมประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก หรือ Tiger Project (2559–2563) ซึ่งดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ UNDP โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก GEF-5

    บริหารจัดการพื้นที่กันชน (Buffer Zone) ประชาชนมีส่วนร่วม

    วิถีชีวิตของคนไทยในอดีตผูกพันแน่นแฟ้นกับการใช้ประโยชน์จากป่า การดำรงชีวิต ข้าวปลาอาหาร การสร้างที่พักอาศัย ปัจจุบันก็ยังคงมีกลุ่มคนที่อาศัยอยู่กับป่า แม้จะน้อยลงไปมาก แต่ก็ยังคงมีอยู่ และเมื่อมีการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ ย่อมนำมาซึ่งปัญหาการกระทบกระทั่งกันระหว่างเจ้าหน้าที่ ราษฎรในพื้นที่ หรือแม้กระทั่งกับสัตว์ป่าเองก็เช่นกัน

    Buffer Zone เป็นการดำเนินการจัดการทรัพยากรภายในพื้นที่อนุรักษ์ เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้ราษฎรหรือชาวบ้านในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการคิดและลงมือทำ เป้าหมายหลักคือ ให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่บุกรุกป่า และลดการล่าสัตว์ป่า

    ผืนป่าตะวันตก มีโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก หรือโครงการจอมป่า เป็นโครงการในความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติฯ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร โครงการนี้คือทฤษฎีหนึ่ง ที่ถูกนำเสนอขึ้นมาด้วยความคาดหวังว่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการปกป้องทรัพยากรป่าไม้ของไทย โดยเฉพาะผืนป่าตะวันตก มีหลักดำเนินการคือ คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ เสือก็อยู่ได้ ชุมชนเป้าหมาย มีทั้งชุมชนดั้งเดิมที่เป็นชาวกะเหรี่ยงและชุมชนใหม่ที่อพยพเข้ามา โดยรวมน่าจะราวๆ 300–400 ชุมชน

  • ป่าอยู่ได้ คือ พื้นที่ป่าตะวันตกจะได้รับการดูแลให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
  • คนอยู่ได้ คือ ชุมชนภายในผืนป่าจะได้รับการหนุนเสริมให้เกิดความเข้มแข็ง ให้มีวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับผืนป่า ภายใต้ความพอเพียง พอดี และยึดหลักความปกติสุข และวิถีวัฒนธรรม นอกจากนี้ ยังเกิดกระบวนการสร้างวิทยากรชุมชนขึ้น เพื่อร่วมดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วม
  • เสืออยู่ได้ คือ ในหลักการทั้งหมด หัวใจสำคัญของโครงการนี้คือ การมุ่งให้ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศดั้งเดิมของผืนป่าตะวันตก ได้รับการดูแลให้คงอยู่ ด้วยความรับผิดชอบของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ชุมชน และผู้มีส่วนได้เสียในท้องถิ่น ซึ่งในเชิงระบบนิเวศแล้ว หากเสือซึ่งเป็นตัวแทนของผู้บริโภคอันดับสูงบนห่วงโซ่อาหารยังอยู่ได้ แสดงว่า ผืนป่าตะวันตกย่อมยังคงความอุดมสมบูรณ์
  • เรียบเรียงจาก สรุปบทเรียนการฟื้นฟูเสือโคร่งและสัตว์ป่าอื่นที่ถูกคุกคามในพื้นที่ผืนป่าตะวันตก 2548-2562 โดย WCS