ThaiPublica > เกาะกระแส > หลังโควิด-19 ญี่ปุ่นจะเป็นจุดหมายใหม่ของแรงงานอพยพ และโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจ

หลังโควิด-19 ญี่ปุ่นจะเป็นจุดหมายใหม่ของแรงงานอพยพ และโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจ

29 กันยายน 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ชาวเวียดนามในญี่ปุ่น ที่มาภาพ : https://www.foreignaffairs.com/articles/japan/2020-07-24/post-pandemic-japan-will-attract-world

ภายหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลง คนทั่วโลกจะเริ่มออกเดินทางกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อแสวงหาโอกาสด้านการทำงาน การศึกษา และการมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่จุดหมายปลายทางของการเดินทางอาจเปลี่ยนแปลงไป มนเสน่ห์ของอเมริกาอาจลดน้อยลง บทเรียนจากโควิด-19 ทำให้คนที่อพยพไปตั้งรกรากในต่างแดน คงจะมองหาประเทศที่มีความปลอดภัย มีเสถียรภาพ และสามารถติดต่อสื่อสารกับครอบครัวได้อย่างสะดวกต่อเนื่อง

การรับมือของสหรัฐอเมริกากับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เต็มไปด้วยความปั่นป่วน และความแตกแยกในสังคม ทำให้การอพยพของคนจากต่างประเทศคงจะลดลง แต่ญี่ปุ่นจะกลายเป็นประเทศที่ได้ผู้อพยพมากขึ้น เพราะเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพ ความมั่นคง และการว่างงานที่ต่ำ และญี่ปุ่นเองก็จะเป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์จากผู้อพยพ เช่น ความหลากหลาย พลวัตทางเศรษฐกิจ และทักษะใหม่ๆ

ประเทศที่ไม่มี “นโยบายคนต่างด้าว”

หนังสือ Immigrant Japan (2020) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ไม่มีใครเรียกญี่ปุ่นว่า “ประเทศผู้อพยพ” หลังสงครามเป็นต้นมา ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่แตกต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว คือไม่เต็มใจที่จะนำเข้าแรงงานจากต่างชาติ แม้ญี่ปุ่นเองจะขาดแคลนแรงงานก็ตาม ขณะที่เยอรมันและฝรั่งเศสนำเข้าแรงงานต่างประเทศมาตั้งแต่ทศวรรษ 1950

แต่ญี่ปุ่นกลับเป็นประเทศที่ปิดประตูกับแรงงานต่างชาติ แม้การขาดแคลนแรงงานจะส่งผลเสียต่อผลิตภาพทางเศรษฐกิจ และก่อความเสียหายแก่อุตสาหกรรม SME แต่นับจากทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นค่อยๆ เปิดประเทศให้กับผู้อพยพเข้ามา ในปี 2018 มีคนต่างชาติ 2.6 ล้านคน แต่ก็มีสัดส่วนแค่ 2% ของประชากรทั้งหมด 128 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศตะวันตกอื่นๆ อย่างเช่น สหรัฐฯ แคนาดา หรือออสเตรเลีย ที่มีการออก “วีซ่าผู้อพยพ” ที่จะเข้ามาตั้งรกรากถาวร

ไม่มีใครเรียกญี่ปุ่นว่าเป็น “ประเทศผู้อพยพ” และไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ความฝันของคนญี่ปุ่น” เหมือนกับ “ความฝันของคนอเมริกัน” (American Dream) รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามเลี่ยงที่จะกำหนดนโยบายที่ชัดเจนกับผู้อพยพต่างด้าว อดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาเบะ เคยแถลงตอบตำถามต่อรัฐสภาเรื่องจำนวนประชากรที่ลดลง และการขาดแคลนแรงงานว่า “เราไม่ใช้นโยบายผู้อพยพต่างด้าว”

ที่มาภาพ : Amazon.com

หนังสือ Immigrant Japan กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในทางพฤตินัย ญี่ปุ่นกำลังกลายเป็นประเทศผู้อพยพต่างด้าว นับจากทศวรรษ 1980 ญี่ปุ่นใช้โครงการหลายอย่างเพื่อนำเข้าแรงงานต่างด้าว ปี 1989 ญี่ปุ่นกำหนดคุณสมบัติ 10 ประเภทของต่างด้าว ที่จะได้ถิ่นพำนักถาวรในญี่ปุ่น ปี 2012 ญี่ปุ่นมีนโยบายเสรีที่สุดประเทศหนึ่ง ที่จะให้ถิ่นอาศัยถาวรแก่แรงงานที่มีทักษะสูง และปี 2018 รัฐสภาญี่ปุ่นผ่านกฎหมายอนุญาตให้แรงงานไร้ฝีมือเข้ามาทำงานในประเทศ

ดินแดนแห่งใหม่ของโอกาส

บทความของนิตยสาร Foreign Affairs ชื่อ Post-Pandemic Japan Will Attract the World กล่าวว่า หลังยุคการระบาดของโควิด-19 ญี่ปุ่นจะกลายเป็นจุดหมายปลายทางใหม่ของแรงงานอพยพ ที่ครั้งหนึ่งเคยมุ่งที่จะไปประเทศตะวันตก นับจากทศวรรษ 1980 มีคนต่างด้าวเพียง 4 แสนกว่าคนเท่านั้น ที่แปลงสัญชาติเป็นพลเมืองญี่ปุ่น ขณะที่ในสหรัฐฯ 13% ของคนที่มีถิ่นอาศัยถาวร เป็นผู้อพยพต่างด้าว

แต่ภายหลังจากโควิด-19 ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่ดึงดูดแรงงานต่างด้าวมากขึ้น เพราะเป็นประเทศที่มีโอกาสการจ้างงานที่ดี ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาระดับสูงที่คนส่วนใหญ่สามารถลงทุนได้ เป็นสังคมที่ปลอดภัย และสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เป็นระเบียบ จุดได้เปรียบดังกล่าวของญี่ปุ่นนี้ เป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้จุดเด่นนี้ของญี่ปุ่นชัดเจนมากขึ้น

แม้ทั่วโลกจะมีปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว และการว่างงานสูงขึ้น แต่ตลาดแรงงานของญี่ปุ่นกลับเข้มแข็ง เดือนพฤษภาคม 2020 ญี่ปุ่นมีอัตราว่างงาน 2.9% แต่ในฝรั่งเศส 8.1% และสหรัฐฯ 13.3% สัดส่วนการว่างงานในญี่ปุ่นอยู่ที่ 1.2 หมายความว่า มีงานว่างอยู่ 1.2 ตำแหน่งต่อทุกๆ การสมัครงาน

นักกศึกษาฝึกงานด้านเทคนิคชาวเวียดนามที่ไซต์ก่อสร้างในโตเกียว ซึ่งผู้ที่จบโครงการนี้สามารถอยู่ในประเทศญี่ปุ่นได้อีก 5 ปีภายใต้ประเภทของใบอนุญาตทำงาน ที่มาภาพ : https://asia.nikkei.com/Spotlight/Japan-immigration/Japan-looks-at-ways-to-help-foreign-workers-thrive

บทความของ Foreign Affairs อธิบายว่า แต่ตลาดจ้างงานที่เข้มแข็งของญี่ปุ่น ก็สะท้อนปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของญี่ปุ่นเอง วิกฤติประชากรทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรงในญี่ปุ่น นับจากปี 2011 ประชากรญี่ปุ่นหดตัวลง แต่จำนวนแรงงานกลับหดตัวลงมากกว่าการลดลงของประชากร ปี 2019 ประชากรอายุมากกว่า 65 ปี มีสูงกว่า 28% คนอายุ 15-64 ปี มีอยู่ 60% องค์การ OECD คาดว่า ญี่ปุ่นขาดแรงงานสูงสุดในบรรดาประเทศอุตสาหกรรม เมื่อถึงปี 2030 ญี่ปุ่นจะขาดแคลนแรงงานถึง 6.4 ล้านคน

การระบาดของโควิด-19 อาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวไปหลายปี แต่ก็ไม่ได้ช่วยบรรเทาปัญหาระยะยาวของการขาดแคลนแรงงาน ญี่ปุ่นยังต้องการทั้งแรงงานทักษะสูงและแรงงานฝีมือต่ำ เพื่อมาช่วยเติมแรงงานที่ขาดแคลน โดยจะนำเข้ามาจากจีน และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซียและเวียดนาม ก่อนหน้านี้ มีคนบราซิลเชื้อสายญี่ปุ่นหลายแสนคน อพยพมาทำงานในญี่ปุ่น คนพวกนี้ถูกเรียกว่า “นิคเคอิบราซิล” (Nikkei Brazilian)

ภาคเอกชนมีส่วนสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นมีการว่างงานต่ำ นับจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008 บริษัทญี่ปุ่นได้เก็บออมเงินสดจำนวนมาก เพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่จะตกต่ำในอนาคต เงินก้อนนี้ไม่ได้นำไปใช้เพื่อจ่ายเป็นผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น หรือนำไปเพิ่มเงินเดือนแก่พนักงาน มีรายงานว่า สิ้นเดือนมีนาคม 2020 บริษัทญี่ปุ่นมีเงินสดสำรองถึง 283 ล้านล้านเยน หรือ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 บริษัทญี่ปุ่นจึงอาศัยเงินสำรองนี้มารักษาการจ้างงานต่อไป

แรงงานต่างชาติในญี่ปุ่น ที่มาภาพ : https://www.nippon.com/en/in-depth/a06003/

จุดปลายทางการศึกษา

บทความ Foreign Affairs กล่าวว่า นอกจากจะได้รับความนิยมจากการอพยพเข้ามาทำงาน ในอนาคต ญี่ปุ่นจะเป็นกลายเป็นประเทศที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่นักศึกษานานาชาติ โดยเฉพาะจากจีนและประเทศในเอเชีย หลายปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเริ่มเป็นที่นิยมจากนักศึกษาต่างชาติ แม้ความนิยมในภาษาอังกฤษทำให้คนหันเหไปยังสถาบันการศึกษาในประเทศตะวันตก แต่โควิด-19 จะทำให้กระแสนิยมไปศึกษาในตะวันตกชะงักลงไป

นักศึกษาจากจีนในมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ จะลดน้อยลง เพราะสงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีน โควิด-19 จะทำให้จำนวนนักศึกษาจีนไปศึกษาในประเทศตะวันตกลดน้อยลง เพราะผู้ปกครองคงไม่ยินดีจ่ายค่าเล่าเรียนแพง เมื่อหลายมหาวิทยาลัยหันไปใช้ระบบการศึกษาแบบออนไลน์ การต่อต้านคนเอเชียในสหรัฐฯ และยุโรป ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง

สถาบันการศึกษาของญี่ปุ่น จะกลายเป็นทางเลือกที่โดดเด่นขึ้นมา สำหรับนักศึกษาในเอเชีย มหาวิทยาลัยหลายแห่งของญี่ปุ่น ติดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ค่าเล่าเรียนในญี่ปุ่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยของอังกฤษและสหรัฐฯ และทุกวันนี้ มหาวิทยาลัยหลายแห่งในญี่ปุ่นก็สอนเป็นภาษาอังกฤษ

นอกจากนี้ ความต้องการแรงงานสูงในตลาดแรงงาน ทำให้การศึกษาในญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่คุ้มค่ามากขึ้น กระบวนการหางานทำในญี่ปุ่นสำหรับนักศึกษาที่เพิ่งจบมามีระบบการจัดการที่ดีมาก ญี่ปุ่นเองก็ต้องการเพิ่มจำนวนนักศึกษาจากต่างประเทศเข้าสู่แรงงานของญี่ปุ่นมากขึ้น ช่วงปี 2015-2019 จำนวนนักศึกษาต่างประเทศในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 40% จาก 250,000 เป็น 350,000 และ 35% ของนักศึกษาต่างประเทศได้งานทำในญี่ปุ่น

แรงงานต่างด้าวในญี่ปุ่น ที่มาภาพ : http://www.asianews.eu/content/japanese-rural-areas-doubt-foreign-workers-will-come-86890

ไวรัสโควิด-19 มีส่วนทำให้เศรษฐกิจของประเทศตะวันตกเกิดความเสียหาย การเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาของตะวันตกก็ยากขึ้น และยังน่าสนใจน้อยลงกว่าในอดีต บริษัทญี่ปุ่นได้บูรณาการรวมกับเศรษฐกิจโลกมานานแล้ว ในอีกไม่นาน สังคมญี่ปุ่นก็จะบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกเช่นเดียวกัน

เอกสารประกอบ

Post-Pandemic Japan Will Attract the World, Gracia Liu-Farrer, July 24, 2020, foreignaffairs.com
Immigrant Japan, Gracia Liu-Farrer, Cornell University Press, 2020.