ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯเคาะ“คนละครึ่ง”รอคลังชงแจก 3,000 สัปดาห์หน้า-มติ ครม.เห็นชอบวันหยุด 19-22 พ.ย.กับ10-13 ธ.ค.นี้

นายกฯเคาะ“คนละครึ่ง”รอคลังชงแจก 3,000 สัปดาห์หน้า-มติ ครม.เห็นชอบวันหยุด 19-22 พ.ย.กับ10-13 ธ.ค.นี้

23 กันยายน 2020


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

นายกฯ เคาะมาตรการ “คนละครึ่ง” แจกไม่เกิน 3,000 บาท รอคลัง-สภาพัฒน์ ชงรายละเอียดเสนอ ครม.อนุมัติสัปดาห์หน้า-มติ ครม. ประกาศวันหยุดยาว 4 วัน 2 ช่วง 19-22 พ.ย.และ 10-13 ธ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

แจง “คดีบอส” ประสานตำรวจสากลแล้ว

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความคืบหน้า “คดีบอส” ว่า เมื่อวานนี้ (21 กันยายน 2563) ตนได้เปิดเผยความคืบหน้าไปแล้วว่าอยู่ในการดำเนินการในส่วนใด เมื่อตำรวจไทยได้ประสานไปยังตำรวจสากลเพื่อออกหมายแดงแล้ว ก็ต้องติดตามดูว่าจะสามารถติดตามตัวบุคคลผู้นั้นได้หรือไม่ ที่เป็นผู้ต้องหา ถ้าพบก็จะต้องดำเนินการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลับเข้ามายังประเทศไทย เพื่อเข้าสู่การดำเนินการพิจารณาทางคดีต่อไป

“ผมก็ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้มอบหมายให้เกิดการบูรณาการดำเนินการในทุกขั้นตอนโดยไม่ล่าช้าทุกอย่าง เพราะมีหลายส่วนด้วยกันที่ต้องดำเนินการ ก็ขอให้ติดตามความก้าวหน้าของคณะกรรมการ ป.ป.ท. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ) ที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้”

เคาะ “คนละครึ่ง” รอคลังชงแจก 3,000 บาทสัปดาห์หน้า

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้การประชุม ครม. มีหลายเรื่องด้วยกันที่นำเข้าสู่การอนุมัติ โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณงบเงินกู้ที่จะดูแลประชาชนเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งวันนี้เราก็ได้กำหนดไว้แล้วว่าเรากำหนดวงเงินเอาไว้จนถึงปีหน้าที่จะทยอยออกมาเป็นงวดๆ เป็นกลุ่มนั้นออกไป

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังได้รับทราบมาตรการคนละครึ่งและการเพิ่มวงเงินสวัสดิการแห่งรัฐ โดยจะเป็นการดำเนินการใน 2 ส่วน ส่วนแรกคือ การดูแลผู้มีรายได้น้อยในส่วนของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วนที่สองก็คือ มาตรการคนละครึ่ง คือออกค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งรัฐจะจ่ายให้ โดยใช้วงเงินตรงนี้เพื่อสนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนในระบบให้เกิดการบริโภคขึ้นมา โดยปฏิเสธว่ามาตรการดังกล่าวไม่ได้สนับสนุนผู้มีรายได้สูงแต่ประการใด

“มี 2 โครงการที่ได้อนุมัติในวันนี้เพื่อต้องการกระตุ้นการใช้จ่าย และเพื่อเพิ่มกำลังซื้อลดค่าครองชีพจ่ายใช้สอยบรรดาพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยตลาดก็จะมีเงินสามารถไปหมุนไปต่อยอดในการซื้อขายต่อไปเรื่อยๆ เน้นผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้าแม่ค้าที่ขายปลีกต่างๆ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดก็ได้เน้นย้ำไปแล้วว่าขอให้ทุกคนสามารถเข้าสู่อีวอลเลต และทุกร้านค้าต้องมีคิวอาร์โค้ด รัฐบาลจึงจะจ่ายเงินให้โดยตรงได้โดยไม่ผ่านใคร เกิดระบบการหมุนเวียนเกิดขึ้น”

ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า ครม. รับทราบผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่ประชุมเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563 ซึ่งมีโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนละ 500 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคมนี้ มีกลุ่มเป้าหมาย 13.94 ล้านคน และโครงการคนละครึ่ง ที่จะใช้วิธีร่วมจ่าย 50% ไม่เกิน 100 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน โดยจะนำเสนอให้ ครม. อนุมัติในสัปดาห์หน้า

“การประชุม ครม. ครั้งนี้เป็นการเห็นชอบในหลักการ ซึ่งกระทรวงการคลังและสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะไปจัดทำรายละเอียด เข้าใจว่าเพื่อให้มาตรการที่ออกมาเกิดความรัดกุม และให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงโครงการนี้มากที่สุด และทำให้เกิดความสะดวกสบายและง่ายในการเข้าถึงโครงการนี้ จึงต้องไปดูรายละเอียดเพิ่มเติม”

ชี้ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่ ขึ้นกับสถานการณ์โควิดฯ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการขยายเวลาประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ว่า เรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีการทำงานนั้นก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด- 19 เพราะวันนี้ท่านก็ทราบดีอยู่แล้วว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาใช้ประโยชน์อย่างไร ทั้งนี้เพราะว่ากฎหมายของกระทรวงสาธารณสุขนั้นไม่พอที่จะบูรณาการทุกส่วนในเรื่องของการเข้าออกประเทศบ้างอะไรบ้าง เหล่านี้มันพันกันไปหมด ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกฎหมายของตัวเองอยู่ซึ่งไม่ครอบคลุมที่จะปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งไม่เกี่ยวกับการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในเรื่องอื่นๆ เลยดังที่มีคนอื่นๆ ออกมาพูดกันในขณะนี้ มันเป็นคนละเรื่องกันไปหมด

ย้ำ รบ.ไม่ใช่คู่ขัดแย้งใคร – คุมชุมนุมฯเป็นเรื่อง จนท.

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการประกาศชุมนุมวันที่ 24 กันยายน 2563 นี้ว่า ก็เป็นเรื่องของการชุมนุม ที่ผ่านมาตนก็ไม่ได้สั่งอะไรเป็นพิเศษ แต่เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่ต้องดำเนินการทางนี้ ก็เป็นไปตามกฎหมายต่างๆ ทุกประการที่มีอยู่

“ผมก็ไม่อยากให้เป็นความขัดแย้งกันต่อไปเอง เพราะรัฐบาลไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร ที่ผ่านมาก็ให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอดทน อดกลั้น เสียสละ และในส่วนของเรื่องอื่นๆ ผมคิดว่าต้องขอบคุณบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองด้วยที่ช่วยกันดูแลลูกหลานของท่าน”

ทั้งนี้ ตนเห็นว่าหลายอย่างที่ปรากฏออกมานั้น เป็นเรื่องของสังคมที่จะตัดสินจะวิเคราะห์กันเอง โดยตนเห็นว่าวันนี้ต้องสร้างการรับรู้ให้มากขึ้น มีหลักคิด มีหลักการ และเหตุผลในการที่จะทำอะไรก็แล้วแต่ที่จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนโดยรวม เพราะจะทำให้ประเทศชาติเสียโอกาสและประชาชนก็เสียโอกาสไปด้วย

“อันนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผมอยากจะฝากพวกเรา ไม่มีใครแพ้ชนะหรอกครับ แต่สิ่งที่จะตามมาก็คือประเทศชาติเราจะเสียหาย นั่นคือสิ่งที่ผมกังวลตรงนั้นมากกว่า”

เผย ต.ค.มีวันหยุดแล้ว ไม่หยุดเพิ่ม

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีที่รัฐบาลจะเพิ่มวันหยุดราชการพิเศษว่า เดือนตุลาคมคงไม่มีเพราะมีวันหยุดอยู่แล้ว แต่คงจะเป็นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะมีการชี้แจงรายละเอียดต่อไปเพื่อให้มีการเตรียมการเรื่องการท่องเที่ยว และในช่วงดังกล่าวนั้นเป็นช่วงปิดเทอมของเด็กนักเรียนด้วย จะได้ไปเที่ยวกันทั้งครอบครัว ทั้งนี้ก็ในส่วนของการบริการเจ้าหน้าที่คลังภาครัฐต่างๆ ถึงแม้จะเป็นวันหยุดก็ตามก็ต้องมีเวรยาม มีคนที่จะให้บริการประชาชนเป็นปกติ ผมได้สั่ง กทม. ไปแล้ว

มติ ครม. มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษก ฯ (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

เห็นชอบกู้เงิน 1,575 ล้าน จ่ายเงินพิเศษ อสม.ถึงสิ้นปี

นายอนุชา บูรพชัยศรี  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบ โครงการ/แผนงานใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ  ในโครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในชุมชน ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อตอบแทนให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร (อสส.) รวมจำนวนไม่เกิน 1,050,306 คนต่อเดือน ตั้งแต่ ตุลาคม-ธันวาคม 2563 กรอบวงเงินไม่เกิน 1,575.4590 ล้านบาท

โดยวงเงินดังกล่าวเป็นการอนุมัติต่อเนื่องจากมติ ครม. วันที่ 13 สิงหาคม 2563 ที่เคยได้มีการอนุมัติค่าตอบแทนดังกล่าวไปแล้วเป็นจำนวน 7 เดือน แต่เดือนมีนาคม-กันยายน 2563 เดือนละ 500 บาท ตามกรอบวงเงินไม่เกิน 3,622 ล้านบาท ซึ่ง อสม. และ อสส. ไม่เกิน 1,054 คนต่อเดือน

จัดงบกลาง 677 ล้าน จ่ายเงินพิเศษ “กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน” 7 เดือน

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งสิ้น 273,321 คน ได้รับเงินตอบแทนกรณีพิเศษ ในลักษณะเงินเพิ่มพิเศษรายเดือน เป็นระยะเวลา 7 เดือน โดยใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 677.79 ล้านบาท

โดยกำหนดให้จ่ายเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนกันยายน 2563 รวม 7 เดือน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่

  1. กำนันและผู้ใหญ่บ้าน รับเงินเพิ่มพิเศษ 500 บาทต่อเดือน รวมเป็นเงิน 259.54 ล้านบาท
  2. แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ รับเงินเพิ่มพิเศษ 300 บาทต่อเดือน รวมเป็นเงิน 418.25 ล้านบาท

เห็นชอบโครงการจ้างเด็กจบใหม่ 19,462 ล้านบาท ตามแผนเงินกู้ฯ

นายอนุชากล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบ โครงการ/แผนงานใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ  ในโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน ของกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กรอบวงเงินไม่เกิน 19,462.0017 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการ JOB EXPO THAILAND 2020 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 กันยายน นี้

โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ ช่วยเหลือการจ้างงานให้ผู้จบการศึกษาใหม่ได้มีงานทำ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพิ่มทักษะและประสบการณ์ในการทำงาน รวมทั้งยังเป็นการช่วยเหลือสถานประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนและผู้จบการศึกษาใหม่ 260,000 คน

“กระทรวงแรงงานจะจ่ายเงินอุดหนุนเงินเดือนร้อยละ 50 ให้กับผู้จบการศึกษาใหม่ตามอัตราเงินเดือนแยกตามวุฒิไม่เกิน 7,500 บาทต่อคนต่อเดือน  ในระยะเวลา 12 เดือนตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2564  โดยมีเงื่อนไขว่านายจ้างต้องอยู่ในระบบประกันสังคมและไม่เลิกจ้างลูกจ้างเดิมเกินร้อยละ 15 ภายใน 1 ปี ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับทั้งผู้จบการศึกษาใหม่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการจ้างงาน ลดปัญหาการว่างงาน  นายจ้างหรือสถานประกอบการยังสามารถดำเนินธุรกิจ รัฐบาลก็จะได้รายได้กลับมาจากการเก็บภาษีด้วย”

ขยายเวลาจ่ายเยียวยาเกษตรกรถึง 30 ก.ย.นี้

นายอนุชากล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบ โครงการ/แผนงานใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ ในโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) โดยเป็นการให้ความช่วยเกษตรกรทดแทนแก่ผู้เสียชีวิตที่มีสิทธิโครงการฯ ที่ได้ดำเนินการตามขึ้นทะเบียนตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของโครงการ และหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนของหน่วยงานรับผิดชอบ จำนวน 5,278 ราย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขยายระยะเวลาการจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มนี้ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2563

ทั้งนี้ กษ. ต้องยืนยันว่าผู้มีสิทธิ์โครงการฯ ได้เสียชีวิตจริงและมีหลักฐานการเสียชีวิตตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด สำหรับกรณีที่เกษตรกรผู้มีสิทธิภายใต้โครงการฯ เสียชีวิตจริงก่อนระยะเวลาโครงการฯ กษ. ต้องยืนยันว่าได้มีการตรวจสอบแล้วว่าเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนทดแทนเป็นเกษตรกรที่มีคุณสมบัติตามที่โครงการกำหนด จึงจะสามารถจ่ายเงินเยียวยาตามสิทธิของเกษตรกรผู้เสียชีวิตให้กับเกษตรกรผู้รับช่วงได้

สำหรับการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้รับช่วงฯ แทนเกษตรกรผู้เสียชีวิตที่มีคุณสมบัติไม่ตรงกับเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของโครงการฯ และหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนของหน่วยงานรับผิดชอบ จำนวนประมาณ 13,283 ราย เห็นควรให้ กษ. พิจารณาความจำเป็นและเหมาะสมของการให้ความช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้รับช่วงฯ ดังกล่าว

ต่อมาตรการน้ำ-ไฟฟรีช่วยคนจนอีก 1 ปี

ผศ. ดร.รัชดากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาออกไป 1 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – เดือนกันยายน 2564 หลังจากที่ผ่านมาได้เห็นชอบมาตรการดังกล่าวแก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นระยะเวลา 12 เดือน ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายนนี้ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้มีรายได้น้อยอย่างต่อเนื่อง โดยใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ให้แก่กองทุนประชารัฐฯ จำนวน 1,423.5 ล้านบาทต่อปี  แบ่งเป็น ค่าไฟฟ้า จำนวน 1,390 ล้านบาทต่อปี ค่าน้ำประปา จำนวน 33.5 ล้านบาทต่อปี

โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณ 13.9 ล้านคน คิดเป็นครัวเรือนประมาณ 8 ล้านครัวเรือน ซึ่ง 1 ครัวเรือน สามารถใช้ได้เพียง 1 สิทธิ์เท่านั้น ซึ่งมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา รายละเอียดเป็นไปตามมติเดิมที่ ครม. เคยอนุมัติไปแล้ว ซึ่งประกอบด้วย

  1. ค่าไฟฟ้า กรณีใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือนติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 เดือน ให้ใช้สิทธิค่าไฟฟ้าฟรีตามมาตรการปัจจุบัน แต่กรณีที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วยต่อเดือน ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใช้สิทธิตามมาตรการนี้ ในวงเงิน 230 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน หากใช้เกินวงเงินที่กำหนด ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะต้องเป็นผู้จ่ายค่าไฟฟ้าทั้งหมด
  2. ค่าน้ำประปา ให้ใช้น้ำประปาในวงเงิน 100 บาท ต่อ ครัวเรือนต่อเดือน หากใช้เกินวงเงินผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะต้องเป็นผู้จ่ายค่าน้ำประปาทั้งหมด

“รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะดูแลผู้มีรายได้น้อย ยิ่งในเฉพาะช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิดฯ เข้าใจดีว่ามีความเดือดร้อนเพิ่มมากขึ้นจึงได้ขยายเวลามาตรการดังกล่าวออกไปอีก 1 ปี

เห็นชอบข้อเสนอวุฒิ แก้ปัญหาหาบเร่แผงลอย

ผศ. ดร.รัชดากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติตามที่คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเลื่อมล้ำ วุฒิสภา ได้ทำการศึกษาข้อเสนอเชิงนโยบาย เรื่องการบริหารจัดการหาบเร่และแผงลอยในกรุงเทพมหานคร โดยกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมประชุมกับกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ซึ่งมีบางเรื่องที่ กทม. ได้ดำเนินการไปแล้ว) แบ่งเป็น 3 ระยะดังนี้

  • มาตรการระยะเร่งด่วน (1-6 เดือน) เช่น 1) กทม. ให้ทุกสำนักงานเขตที่จะยกเลิกจุดผ่อนผัน นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณายกเลิกของคณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่และแผงลอยระดับเขต โดยจัดหาสถานที่รองรับผู้ค้าให้สามารถประกอบอาชีพต่อไปในพื้นที่หรือตลาดของราชการและเอกชนที่อยู่ในพื้นที่ขายเดิม พร้อมทั้งช่วยเจรจากับเจ้าของตลาดในการยกเว้นเงินกินเปล่า ยกเว้นค่าเช่า 3-6 เดือนแรก คิดค่าเช่าค่าสาธารณูปโภคในอัตราที่ต่ำสุด และให้เช่าในระยะยาวพอสมควรสามารถรองรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยได้ถึง 12,809 ราย 2) สำนักพัฒนาชุมชนได้จัดทำโครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ Bangkok Brand สู่ Online และ 3) กทม. จัดโครงการถนนคนเดินในบางแห่งไปแล้ว เพื่อช่วยเหลือผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบ แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงจำเป็นต้องเลื่อนแผนการจัดในเขตอื่นๆ ออกไป
  • มาตรการระยะกลาง (6-12 เดือน) เช่น กทม. แต่งตั้งคณะกรรมการระดับนโยบายและคณะกรรมการระดับพื้นที่เพื่อพิจารณาจุดผ่อนผัน หรือ กทม. พิจารณาจุดผ่อนผันในพื้นที่ว่างของหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งขณะนี้ กทม. อยู่ระหว่างการเจรจาขอใช้พื้นที่ว่างของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย และกรมธนารักษ์ ฯลฯ หากหน่วยงานดังกล่าวอนุญาตจะเร่งรัดดำเนินการพัฒนาเป็นพื้นที่การค้าสำหรับผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบ และผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส
  • มาตรการระยะยาว (1-3 ปี) เช่น กทม. จะพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายพร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.รักษาความสะอาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2 535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เป็นต้น กทม. ดำเนินการปรับภูมิทัศน์ที่มีเอกลักษณ์ซึ่งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น ถนนข้าวสาร ซึ่งดำเนินการเสร็จแล้ว และจะขยายไปยังพื้นที่อื่น เช่น ถนนไกรสีห์ ถนนตานี ถนนรามบุรี ท่าน้ำวังหลัง เป็นต้น พร้อมทั้งออกแบบแผงค้าหรืออุปกรณ์การค้าให้มีอัตลักษณ์โดดเด่นของแต่ละพื้นที่ กทม. ออกประกาศหลักเกณฑ์เงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าหรือขายสินค้าในพื้นที่สาธารณะ ลงวันที่ 28 มกราคม 2563 โดยกำหนดแนวทางและวิธีการจัดทำประชาพิจารณ์ หรือสำรวจความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการค้าหาบเร่แผงลอย จำนวน 4 กลุ่ม ที่อยู่ในรัศมี 400 เมตร คือ ผู้ใช้ทางเท้า ผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณนั้น ผู้มีสถานที่ทำงานบริเวณนั้น และเจ้าของอาคารผู้ประกอบการบริเวณนั้น โดยให้สถาบันการศึกษาหรือสำนักงานเขตพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการ

“การดำเนินการตามข้อเสนอเชิงนโยบายดังกล่าวเป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก และเป็นมาตรการรองรับเพื่อสร้างสมดุลแก่ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยให้สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้ ในขณะที่ประชาชนสามารถใช้พื้นที่สาธารณะได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งยังคงเสน่ห์อาหารริมทาง (สตรีทฟู้ด) ของกรุงเทพมหานครได้เป็นอย่างดี โดยหลายเรื่อง กทม. ก็ได้ดำเนินการไปเรียบร้อยแล้ว”

ผ่านร่าง กม. พิสูจน์-ยืนยันตัวตน

ผศ. ดร.รัชดากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่ต้องได้รับใบอนุญาต พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ เพื่อยกระดับการให้บริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลให้เป็นเครื่องมือที่จะสร้างความเชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือและมีมาตรฐาน และเกิดความมั่นคงปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนสามารถรองรับการทำงานในมิติต่างๆ ทั้งด้านการเงิน สาธารณสุข และบริการภาครัฐได้อย่างครอบคลุม

โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

  1. กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจ ต้องคำนึงถึงมาตรการในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และห้ามทำข้อตกลงหรือกระทำการอันจะเป็นการกีดกันการให้บริการหรือก่อให้เกิดการผูกขาดในการประกอบธุรกิจ
  2. กำหนดลักษณะของบริการที่ต้องได้รับใบอนุญาต ดังนี้ 1) บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (Identity Provider Service) ที่ให้บริการการพิสูจน์ตัวตน หรือการบริหารจัดการสิ่งที่ใช้ยืนยันตัวตน 2)บริการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital Identity Platform Service) ที่เป็นเครือข่ายหรือระบบเพื่อการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล
  3. กำหนดบริการที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาต ดังนี้
    • บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนโดยผู้ให้บริการออกใบรับรองเพื่อสนับสนุนลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Certification Authority: CA)
    • บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่บุคคลใช้เพื่อประโยชน์ภายในกิจการของบุคคลนั้น โดยไม่ได้ให้บริการแก่บุคคลภายนอก
    • บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่ไม่ได้ทำการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของบุคคลและตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างบุคคลกับข้อมูลเกี่ยวกับอัตลักษณ์นั้น ตามเงื่อนไขที่ คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) กำหนด
    • บริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลอื่นใดตามที่ คธอ. ประกาศกำหนด
  4. กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนิติบุคคลหรือกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจที่จะขอรับใบอนุญาต ขั้นตอนและเอกสารประกอบการขออนุญาต ค่าธรรมเนียม การขอต่ออายุใบอนุญาต (ใบอนุญาตมีอายุ 5 ปี) และการขอรับใบแทนในกรณีที่ใบอนุญาตสูญหายหรือชำรุด
  5. กำหนดหลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องดำเนินการในระหว่างประกอบธุรกิจ เพื่อให้ระบบมีความมั่นคงปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ เช่น สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจ มาตรการบริหารจัดการความเสี่ยง การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบและการตรวจสอบ มาตรฐานการให้บริการ ซึ่งรวมถึงการจัดการและจัดเก็บข้อมูล การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการให้บริการ การคุ้มครองผู้ใช้บริการ และมาตรการบรรเทาความเสียหายและการชดใช้หรือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการประกอบธุรกิจ
  6. กำหนดหน้าที่และอำนาจในการควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจ เช่น อำนาจของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบและรวบรวมข้อเท็จจริง อำนาจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ในการสั่งให้แก้ไข ให้ถูกต้องหรือพักใช้ใบอนุญาต อำนาจของ คธอ. ในการสั่งปรับและการเพิกถอนใบอนุญาต
  7. กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดการข้อมูล และการคุ้มครองผู้ใช้บริการก่อนการเลิกประกอบธุรกิจหรือการเพิกถอนใบอนุญาต รวมทั้งการรองรับผลของการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่ได้จากกระทำก่อนการเลิกประกอบธุรกิจหรือการเพิกถอนใบอนุญาต

เห็นชอบวันหยุดยาว 4 วัน 19-22 พ.ย.และ 10-13 ธ.ค.นี้

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทีประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในการกำหนดวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ ได้แก่ วันที่ 19 และ 20 พฤศจิกายน 2563 และเลื่อนวันหยุดชดเชยในเดือนธันวาคม 2563 จากวันที่ 7 ธันวาคม 2563 เป็นวันที่ 11 ธันวาคม 2563

ทั้งนี้ เนื่องจากที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมหารือกับผู้ทั้งภาครัฐและเอกชนแล้ว ได้เสนอว่า ในเดือนพฤษจิกายน เป็นเดือนที่ไม่มีวันหยุดนักขัตฤกษ์จึงกำหนดจึงกำหนดให้มีวันหยุดราชการพิเศษในวันที่ ในวันที่ 19 และ 20 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งจะทำให้มีวันหยุดราชการต่อเนื่องไปถึงวันเสาร์–อาทิตย์ รวม 4 วัน คือ 19–22 พฤศจิกายน 2563

นอกจากนี้ในเดือนธันวาคม ที่จะมีวันหยุดคือ วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม 2563 ซึ่งจะต้องมีวันหยุดชดเชยในวันที่ 7 ธันวาคม 2563 เพื่อให้มีวันหยุดยาวต่อเนื่องกันกับวันรัฐธรรมนูญ จึงเลื่อนวันหยุดชดเชยจากวันที่ 7 ธันวาคม 2563 ไปหยุดชดเชยในวันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม 2563 โดยจะทำให้มีวันหยุดยาวต่อเนื่องกันตั้งแต่วันที่ 10–13 ธันวาคม 2563 รวม 4 วัน

“เดือนตุลาคม เป็นเดือนที่มีวันหยุดราชการอยู่แล้วคือ วันที่ 13 และ 23 ตุลาคม ซึ่งเพียงพอแล้วจึงไม่มีการกำหนดวันหยุดในเดือนตุลาคมเพิ่มอีก อย่างไรก็ตามในเดือนตุลาคมนี้ส่วนราชการต่างๆ มักจัดพิธีถวายผ้าพระกฐินที่จะมีการดำเนินนารทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด จึงมีความเห็นว่าหากมีการจัดพิธีในวันเสาร์–อาทิตย์ ซึ่งจะต้องมีข้าราชการที่ต้องเดินทางไปก่อนในช่วงของวันศุกร์ หรือเดินทางกลับภายหลังในวันจันทร์ ให้ถือวันดังกล่าวเป็นการปฏิบัติงานตามปกติโดยไม่ถือเป็นวันลา”

อย่างไรก็ตาม การกําหนดให้มีวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษดังกล่าว ไม่ถือเป็น วันหยุดราชการประจําปีและไม่จําเป็นต้องถือเป็นวันหยุดตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทานฯ ของ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จํากัด ในการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษในวันหยุดราชการ ประจําปีและวันหยุดนักขัตฤกษ์ และหากมีการนัดหมายประชาชนล่วงหน้าไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาล สถาบันการเงิน ศาล ก็ให้พิจารณาตามความเหมาะสมอีกครั้ง

นอกจากนี้ ครม. ยังได้มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารับไปศึกษา เกี่ยวกับการกําหนดวันหยุดราชการประจําภูมิภาคตามเทศกาลประเพณีท้องถิ่นที่สําคัญของแต่ละภูมิภาค ซึ่งไม่มีนัยสําคัญต่อภูมิภาคอื่น เช่น ประเพณียี่เป็งของภาคเหนือ ประเพณีไหลเรือไฟ ของภาคอีสาน ประเพณีสารทเดือนสิบของภาคใต้ และควรทําตารางกิจกรรมท่องเที่ยว ของแต่ละท้องที่ในแต่ละเดือน โดยอาจหารือกระทรวงวัฒนธรรมด้วย นอกจากนี้ยังให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารับไปศึกษาเกี่ยวกับการกําหนดวันหยุดราชการครึ่งวัน เป็นกรณีพิเศษ เช่น ครึ่งบ่ายของวันศุกร์ และครึ่งเช้าของวันจันทร์ ซึ่งผู้ประกอบการโรงแรมเสนอ ว่าจะช่วยให้ได้ประโยชน์จากระยะเวลาการพํานักที่ยาวนานขึ้น

ต่อสัมปทานปิโตรเลียมให้ “ปตท.สผ.สยาม”อีก 10 ปี

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. อนุมัติให้บริษัท ปตท.สผ. สยาม จำกัด ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมสำหรับสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2522/16 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข S1 (พื้นที่จ.สุโขทัย พิษณุโลก และกำแพงเพชร) ออกไปอีก 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. 2564ถึงวันที่ 14 มี.ค. 2574 โดยทางกระทรวงพลังงานได้รายงานว่า ได้นำเสนอเรื่องการต่อเวลาดังกล่าวให้คณะกรรมการปิโตรเลียมพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้รับสัมปทานปฏิบัติครบถ้วนตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมและข้อกำหนดของสัมปทานปิโตรเลียม รวมทั้งแผนดำเนินงาน แผนการลงทุน ระยะเวลาการผลิต และผลประโยชน์เพิ่มเติมที่เสนอให้แก่รัฐมีความเหมาะสมและมีสมรรถนะเชิงพาณิชย์ คณะกรรมการปิโตรเลียมจึงมีมติอนุมัติต่อระยะเวลาออกไปให้ 10 ปี ก่อนที่จะนำมาเสนอ ครม. ตามขั้นตอน

อย่างไรก็ตาม สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีตั้งข้อสังเกตว่า การขุดเจาะปิโตรเลียมด้วยวิธี Hydraulic Fracturing โดยการฉีดน้ำผสมทรายและสารเคมีลงไปในหลุมเพื่อให้เกิดรอยแตกในชั้นหินและให้น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติไหลออกมา อาจทำให้สารที่ใช้รั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำบาดาลได้ หากดำเนินการอย่างไม่ระมัดระวังและขาดการควบคุมที่ดี ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พื้นที่เกษตรกรรมและการประมง  รวมถึงสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยรอบ

จึงเห็นควรให้กระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติตรวจสอบและควบคุมผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมแปลงสำรวจบนบกทุกรายที่ใช้วิธีขุดเจาะเดียวกันนี้ ให้ดำเนินการด้วยความรอบคอบรัดกุม ได้มาตรฐานสากล และเป็นไปตามมาตรฐาน หลักเกณฑ์และข้อบังคับที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

ผ่านร่าง กม.ห้ามคนเป็นโรคโควิดฯ เข้าประเทศ

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงให้เพิ่มโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นโรคต้องห้ามตามมาตรา 12 (4) และมาตรา 44 (2) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เพื่อสกัดกั้นไม่ให้โควิด-19 เข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย โดยกำหนดไว้ว่า ห้ามคนต่างชาติที่เป็นโควิด-19 เข้ามาในประเทศไทย หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยรายงานว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ข้อมูล ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2563 มีการคัดกรองผู้เดินทางเข้า-ออกระหว่างประเทศจำนวน 7,049,619 ราย พบผู้ติดเชื้อที่มีอาการเข้าตามนิยามคัดกรองจำนวน 2,313 ราย แยกเป็นที่ด่านสนามบิน 2,299 ราย ด่านท่าเรือ 2 ราย และด่านพรมแดน 12 ราย  มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 3,255 ราย เป็นการติดเชื้อภายในประเทศ 2,444 ราย และติดเชื้อจากต่างประเทศ 811 ราย เสียชีวิต 58 ราย โดยพบผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศและกักกันในสถานที่ที่รัฐกำหนดสะสม 318 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.73 ทำให้ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงในการเกิดการระบาดใหญ่ได้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดทั่วโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และหลายประเทศก็เริ่มผ่อนคลายมาตรการในการป้องกันควบคุมโรค

รับทราบข้อเสนอ ป.ป.ช. จัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟ

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. รับทราบข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ในการดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารและอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว โดย ป.ป.ช. เสนอแนะให้ ครม. พิจารณากำหนดนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารและอุปกรณ์โทรคมนาคมบนเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

ทั้งนี้ จะใช้กรณีการจัดระเบียบสายสื่อสารที่ไม่ได้ใช้งานแล้วในซอยพหลโยธิน 8  หรือซอยสายลม  เขตพญาไท มาเป็นต้นแบบเพื่อดำเนินการในลักษณะเดียวกันนี้ทั่วประเทศ โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการข้อมูลและจัดทำแผนการจัดระเบียบสายสื่อสารร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อทัศนียภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนนั้น มากกว่าร้อยละ  50 เป็นสายที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว  ซึ่งมีทั้งสายโทรศัพท์บ้าน  และสายเคเบิลทีวี ที่พาดกันมาตั้งแต่อดีต ซึ่งการจัดระเบียบประชาชนอาจได้รับผลกระทบ เนื่องจากต้องรื้อสายลงมาทั้งหมด จึงมีความจำเป็นที่ทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องประสานการปฏิบัติงานและกำกับดูแลงานร่วมกัน

คืนสิทธิพื้นฐาน สธ. แก่บุคคลมีปัญหาสถานะ

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. เห็นชอบในหลักการการให้สิทธิ(คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเด็กและบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาที่กระทรวงมหาดไทยได้ขึ้นทะเบียนโดยมีเลขประจำตัว 13 หลักเรียบร้อยแล้ว จำนวน  3,042 คน โดยคนกลุ่มนี้จะได้รับสิทธิครอบคลุมบริการด้านสาธารณสุข ได้แก่ การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติอนุมัติ ใช้งบประมาณดำเนินการ  7.46 ล้านบาท โดยกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดกรอบวงเงินตามจำนวนผู้มีสิทธิในอัตรางบประมาณเหมาจ่ายรายหัวเท่ากับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2563 ในอัตรา 2,453.95 บาทต่อคน

อย่างไรก็ตามหลังจากอนุมัติในครั้งนี้แล้ว ยังมีบุคคลที่ยังไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขอีกจำนวน 73,506 คน ซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขเป็นสิทธิที่บุคคลควรได้รับอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมตามหลักสิทธิขั้นพื้นฐานที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ครม. จึงเห็นควรให้กระทรวงธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบข้อมูลเพื่อยืนยันความถูกต้องและรับรองการขึ้นทะเบียนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและช่วยควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

จัดงบกลาง 204 ล้าน รับมือโควิดฯระลอก 2

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจําปี 2563 งบกลาง รายการ เงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่: กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระยะการระบาดระลอก 2 จํานวน 204 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เพื่อให้สามารถควบคุมการระบาดของโรคที่อาจเกิดขึ้นในระลอก 2 ให้อยู่ในวงจํากัด ลดโอกาส การแพร่เชื่อเข้าสู่ประเทศ ลดผลกระทบทางสุขภาพ รวมถึงสามารถดูแลคนไทยและผู้เดินทางจากต่างประเทศ ให้ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามหลักการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อนึ่ง สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งด้าน สาธารณสุข เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน สถานการณ์การแพร่ ระบาดทั่วโลกโดยข้อมูล ณ วันที่ 22 กันยายน 2563 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม จํานวนทั้งสิ้น 31,468,646 ราย เสียชีวิต 968,840 ราย โดยประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม จํานวน 3,511 ราย, เสียชีวิต 59 ราย, อยู่ในระหว่างพักรักษาจํานวน 109  ราย, รักษาหายแล้วจํานวน 3,343 ราย

คาดวัคซีนโควิดฯ ใช้ได้ผลปลายปี 64

นายอนุชากล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้แจ้งต่อที่ประชุม ครม. ว่า จากการประเมินของหน่วยงานองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) คาดว่า วัคซีนป้องกันไวรัสโควิดฯ จะสามารถให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ปลายปี 2564 ดังนั้นขอให้หน่วยงานประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชน เฝ้าระวังและป้องกันตนเองอย่างต่อเนื่อง ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

ลงพื้นที่เชียงราย ถกไฟป่า-หมอกควัน 24 ก.ย.นี้

นายอนุชากล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีกำหนดลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย ในวันที่ 24 กันยายน 2563 นี้โดยในช่วงเช้า นายกฯ จะเป็นประธานเปิดงานสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 111 โรงเรียน ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และมูลนิธิไทยรัฐ เพื่อยกระดับคุณภาพสถานศึกษา รวมทั้งเพิ่มความรู้ทางด้านวิชาการ และการบริหารจัดการในการมีส่วนร่วมของโรงเรียน กรรมการสถานศึกษา และเครือข่ายต่างๆ ให้มีการพัฒนาคุณภาพ ที่โรงแรมเวียงอินทร์ จ.เชียงราย

หลังจากนั้น นายกฯ เป็นประธานประชุมเรื่องการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ พร้อมรับทราบผลการปฏิบัติในการป้องกันไฟป่าจังหวัดภาคเหนือ ประจำปี 2563 และแผนการดำเนินงานในปี 2564 ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว ในโอกาสนี้เครือข่ายเยาวชนจิตอาสา จะนำเสนอความก้าวหน้าโครงการฟื้นฟูต้นน้ำฝายตามแนวพระราชดำริ รวมทั้งนายกฯ จะร่วมพูดคุย รับฟังปัญหา และข้อเสนอแนะจากตัวแทนประชาชน จ. เชียงราย ก่อนจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ

ตั้ง “หม่อมรณจักร” คุมสำนักงบ – โยก “ธสรณ์อัฑฒ์” นั่งเลขาฯ สคบ.

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่สำนักงบประมาณเสนอ แต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (นักบริหารสูง) ทดแทนตำแหน่งที่ว่าง 4 ตำแหน่ง ดังนี้

  1. หม่อมราชวงศ์รณจักร์ จักรพันธุ์ ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (นักบริหารสูง)
  2. นายอนันต์ แก้วกำเนิด ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (นักบริหารสูง)
  3. นายสมมิตร โตรักตระกูล ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (นักบริหารสูง)
  4. นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (นักบริหารสูง)

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ตรวจราชการกระทรวง) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่จะครบเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 22 กันยายน 2563เพิ่มเติม