ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ชี้ “คดีบอส” อาจทำเป็นขบวนการ – มติ ครม. ลดเงินนำส่งประกันสังคม 3 เดือน

นายกฯ ชี้ “คดีบอส” อาจทำเป็นขบวนการ – มติ ครม. ลดเงินนำส่งประกันสังคม 3 เดือน

1 กันยายน 2020


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

รับข้อเสนอ คกก. สอบฯ “คดีบอส” – ชี้อาจทำเป็นขบวนการ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่สำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ในข้อหาต่างๆ รวมทั้งข้อหาขับรถโดยประมาท ทำให้ดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ถึงแก่ความตายในการปฏิบัติหน้าที่เมื่อปี 2555 จนถึงที่ทางตำรวจไม่เห็นแย้งจนกระทั้งมีคำสั่งถึงที่สุดไม่ฟ้อง ซึ่งเป็นคดีที่คาใจประชาชน และสังคม โดยระบุว่า

“ผมไม่อยากให้ประชาชนเกิดความไม่เชื่อมั่นในระบบการดำเนินดคีของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีในลักษณะนี้ที่มีเป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสนคดีในช่วงที่ผ่านมา ก็ได้บางกรณีที่เกิดประเด็นขึ้นมาผมก็ได้เชิญนายวิชา มหาคุณ และคณะกรรมการฯ เข้ามาเป็นกรรมการในการดำเนินการซึ่งมีการกำหนดไว้แล้ว 30 วัน มีการประชุมทุกวัน มีการส่งรายงานบันทึกรอบ 10 วัน มีการพูดคุยโทรศัพท์กับผม ปรึกษากัน แต่ผมก็ไม่ได้ไปก้าวล่วงกับใคร เพราะผมถือว่าอยู่ตรงกลางตรงนี้ ผมก้าวล่วงกับอัยการไม่ได้เพราะเป็นองค์กรอิสระ ส่วนของตำรวจผมได้สั่งการไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการฯ ได้ลงมติว่า เรื่องนี้ใช้เวลายาวนานถึง 8 ปี เกี่ยวข้องกับบุคคลจำนวนมาก ทั้งตำรวจ อัยการ ทนายความ ฝ่ายการเมือง เป็นเรื่องที่มีความไม่ชอบมาพากล ทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงใจ ทั้งจากที่มีการร้องขอความเป็นธรรมซ้ำซากถึง 14 ครั้ง และคณะกรรมการตรวจสอบฯ ใช้คำว่า “อาจจะมีการทำเป็นขบวนการ” อันนี้ก็ต้องไปตรวจสอบกันต่อไปให้เกิดความชัดเจนขึ้น ต้องมาดูว่าเราจะทำอะไรต่อไปได้

“ตรงนี้อย่าพึ่งไปดูว่าใครบ้าง มันยังต้องเข้ากระบวนการตรวจสอบอีก ผมยังไม่อยากระบุรายชื่อตรงนี้ หลายคนก็อยากจะรู้ก็แค่เพียงได้รู้ แต่ความขัดแย้งก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ เดี๋ยวถึงเวลาก็ปรากฏออกมาเอง”

ทั้งนี้ วันนี้ได้มีข้อเสนอแนะ 5 ข้อ

  1. ยกคดีขึ้นดำเนินการใหม่ โดยเฉพาะคดีที่ยังไม่ขาดอายุความดำเนินการได้แน่นอน ซึ่งยังมีอีก 2-3 คดีที่ยังอยู่ ได้แก่ ข้อหายาเสพติดให้โทษ และข้อหาขับขี่รถในขณะเมาสุราและเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
  2. ดำเนินคดีและวินัยต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย (พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ผู้บังคับบัญชา สมาชิกสภานิติบัญญัติ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ ทนายความซึ่งทำผิดกฎหมาย พยานที่ให้การเท็จ ตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนให้เกิดการทำผิดดังกล่าว)
  3. บางเรื่องไม่ชัดเจนว่าเป็นความผิดหรือไม่แต่จะตรวจสอบพฤติการณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้องในเชิงจริยธรรม โดยหน่วยงานหรือองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องต่อบุคคลดังกล่าว
  4. เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์การมอบอำนาจของผู้บังคับบัญชา ต้องไปดูในเรื่องการแก้ไขกฎระเบียบอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการมอบอำนาจ ซึ่งจะมีการส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยทันที โดยรัฐบาลจะมอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นศูนย์กลางในการติดตามประสานงานในการดำเนินการรายงานความก้าวหน้าให้ประชาชนทราบเป็นระยะ
  5. การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในเชิงปฏิรูปอย่างชัดเจน เช่น การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาเรื่องอายุความ ให้เป็นเหมือนกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือให้ฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องมีตัวผู้ต้องหา และไม่ให้นับระยะเวลาที่ผู้ต้องหาหลบหนีเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ ซึ่งคณะทำงานได้เสนอขอทำงานต่ออีก 30 วัน เพื่อพิจารณาสั่งการส่งเรื่องนี้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป และให้การดำเนินคดีอาญาเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษ ตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ

“ใครมีเบาะแสหรือข้อเสนออะไรต่างๆ ก็ส่งให้คณะกรรมการได้ด้วยต่อไป มีหลายท่านที่ให้เกียรติกับเราไม่ได้หวังอะไรตอบแทน เพราะทุกคนต้องการที่จะทำให้เกิดความชัดเจนเกิดขึ้นในเรื่องของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นหลักของประเทศชาติ เราอยู่กันอย่างไร้กฎหมายนั้นไม่ได้ บ้านเมืองจะกลายเป็นอนาธิปไตยทันทีไม่ใช่ประชาธิปไตย หากไม่มีกฎหมายนั้นอยู่ไม่ได้ หลายอย่างทำให้เกิดความเสียหายกับประเทศ ความเชื่อมั่นของต่างประเทศก็เสียไป เศรษฐกิจก็ไม่มั่นคง การลงทุนก็ลดลง ผมถามว่าเราจะได้อะไร ชัยชนะท่ามกลางซากปรักหักพัง ใครจะได้อะไรผมถามหน่อยเถอะ”

ห่วงโควิดฯ รอบ 2 สั่งคุมเข้มชายแดน-ปิดโรงเรียน กันระบาดซ้ำ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีที่มีการลักลอบเดินทางเข้าประเทศไทยของแรงงานต่างด้าวที่อาจจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบ 2 ว่า ตนวิตกกังวล เพราะเป็นรัฐบาลที่ต้องดูแลประชาชนกว่า 60 ล้านคน ซึ่งตนได้กำชับให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจตราตามแนวชายแดน จากรณีการลักลอบเข้ามาในประเทศไทย พร้อมทั้งให้มีการเพิ่มกำลังตามแนวลำน้ำในกรณีอาจมีการว่ายน้ำข้ามแดนเข้ามายังไทยด้วย

“ทุกหน่วยงานก็ทราบดีอยู่แล้วว่าความสำคัญในการป้องกันแพร่ระบาดรอบ 2 อยู่ที่ไหน ทั้งนี้ เรามุ่งเน้นในการท่องเที่ยวในประเทศเพื่อให้การเดินอากาศภายในประเทศมีรายรับ ไม่อย่างนั้นก็ต้องลดลูกจ้าง พนักงาน นี่คือส่ิงที่รัฐบาลให้ความสำคัญ แต่รัฐบาลจำเป็นต้องไปหางบประมาณในการจ้างงานเพิ่ม ทั้งนิสิต นักศึกษา และผู้ที่ตกงาน ด้วยเหตุผลจากโควิด-19 หรือจากการขาดสภาพคล่อง ซึ่งต้องดูทุกมิติ เรื่องการทำงานมันไม่ง่านนักหรอก แต่ก็ต้องทำและทำให้ได้ก็แล้วกัน”

ต่อคำถามถึงกรณีที่โรงเรียนตามแนวชายแดน ทั้งจังหวัดกาญจนบุรีและประจวบคีรีขันธ์ สั่งปิดโรงเรียน เนื่องพบว่ามีเด็กนักเรียนหลายคนมีไข้สูงนั้น พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า บางโรงเรียนจำเป็นต้องปิดโรงเรียนไว้ก่อน เพื่อดำเนินการตรวจสอบ ส่วนกรณีพบมีชาวเมียนมาหนีการแพร่ระบาดของโควิดฯ เข้ามาในไทยนั้น ทางโรงพยาบาลได้รับไปรักษาตัวแล้ว ซึ่งการลักลอบเข้ามาในไทยต้องมีการติดตามจับกุมและดำเนินคดีตามกฎหมาย

“ได้ติดตามข้อมูลการแพร่ระบาดของประเทศเพื่อนบ้านอยู่ตลอด ผ่านทาง ศบค. และได้สั่งการให้เพิ่มความเข้มงวดในทุกช่องทาง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ พร้อมกับฝากให้คนไทยทุกคนช่วยกันเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น แม้ไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศนานกว่า 3 เดือน แต่อาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะในต่างประเทศที่ไม่พบเชื้อมานานกว่า 100 วันก็ยังกลับมาพบผู้ติดเชื้อในประเทศได้ แต่ทางรัฐบาลได้เตรียมความพร้อมไว้รองรับ ทั้งสถานพยาบาลและอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงการเตรียมงบประมาณสำหรับการพัฒนาวัคซีนร่วมกับต่างประเทศ”

ชะลอซื้อเรือดำน้ำ แนะฝ่ายต้านดู กม.วินัยการเงินการคลัง

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีที่กองทัพเรือชะลอการซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ มูลค่า 22,500 ล้านบาทจากจีน ออกไป 1 ปี ว่า เรื่องของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยเฉพาะเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ กรุณาดูที่ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนดไว้ด้วย ทุกงบประมาณของการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จะใช้อะไรได้บ้าง ตนชี้แจงไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของ กมธ.งบฯ ที่จะพิจารณา ต้องดูว่าโครงการไหนจะนำไปใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารเรือยอมเสียสละมาอีกครั้งหนึ่งแล้ว ต้องมองตรงนี้ด้วย เหตุผลความจำเป็นก็มีแล้ว

“ในขณะนี้เรื่องโควิดด้วย อะไรด้วยก็ได้ ได้ทางทหารเรือเขาก็ยอมเสียสละมา ท่านต้องนึกสิ ถ้าเรือดำน้ำ ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ แล้วซื้อมา แล้วผมถามว่าทหารเรือเขาจะลงไปอยู่ในเรือดำน้ำมั้ย ผมถามท่านอยากลงไปอยู่ในเรือดำน้ำมั้ย 21 วัน ก็ไม่มีอีก แสดงว่าเขาก็มีความเสียสละของเขาไม่ใช่หรือในการรักษาอาณาเขตน่านน้ำไทย ก็ต้องมองตรงนี้ด้วย”

ตรงนี้ตนพูดในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เคยบอกไปแล้วต้องพัฒนากองทัพให้สามารถรับภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะมีปัญหาพื้นที่ทางทะเลอยู่จำนวนมาก ซึ่งมันต้องมาถึงเราในไม่นานนี้ ถ้าทุกคนติดตามข่าวสารบ้านเมืองต่างประเทศดู รวมถึงปัญหาโควิด-19 ด้วย ซึ่ง ตนเห็นว่า ขณะนี้หลายภูมิภาคทั่วโลกมีความขัดแย้งเกี่ยวกับน่านน้ำ ซึ่งใกล้ๆ ประเทศไทยก็มี แต่ทั่วโลกต่างก็หาวิธีการเพื่อที่จะไม่ต้องใช้กำลังต่อกัน ซึ่งการเสริมศักยภาพทางยุทโธปกรณ์ก็เป็นหนึ่งในวิธีเหล่านั้น ซึ่งจะช่วยให้ประเทศอื่นเกรงใจ

ติง กมธ. ระวังคำพูด วอน ปชช. ฟังอย่างมีสติ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ตนกังวลอีกอย่างคือ การพิจารณาต่างๆ ของ กมธ. ในสภา วันนี้การพูดในสภามีการแพร่ออกมาภายนอก ทำให้เกิดความเสียหาย อาจจะไม่ผิดอะไร แต่ต้องคิดว่าสมควรหรือไม่ ฉะนั้น คนที่ฟัง กรุณาฟังแล้วใช้สติในการฟังและเชื่อ ไม่ใช่เชื่อทุกอย่าง รัฐบาลไม่สามารถจะไปโต้ตอบในสิ่งที่เป็นนอกกรอบได้ มันอยู่ที่ กมธ. แต่ละคนต้องมีความรับผิดชอบในการที่จะพูดจาอะไรต่างๆ ออกมา และหลายๆ อย่างมันก็มีการแอบแฝงทั้งสิ้น ที่ออกมาทั้งหมดส่วนใหญ่จะออกมาทางโซเชียล แต่ก่อนเราไม่มีในการที่จะแพร่ออกมาอย่างนี้ แต่นี่พูดปั๊บออกมาเลย ออกสดอะไรอย่างนี้ ซึ่งมันไม่ได้ เป็นหลักจริยธรรม ตนคิดอย่างนั้น ถือเป็นความเห็นส่วนตัวของตนก็แล้วกัน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีระบุว่า รัฐบาลไม่เคยหยุดคิด ไม่เคยหยุดทำงาน การประชุม ครม. วันนี้มีหลายเรื่องที่เป็นอนาคตของประเทศชาติ หลายอย่างต้องมีการปรับแก้และต้องมีการดำเนินการจัดทำกฎหมาย เราเสนอกฎหมายไปแล้วหลายฉบับที่อยู่ในการพิจารณาของสภาฯ หวังอย่างยิ่งว่ากฎหมายเหล่านั้นจะออกมาในเร็ววัน ซึ่งมีการคัดกรองตรวจสอบแล้ว

แบน 3 สารเคมี ยันไม่กระทบสัมพันธ์พรรคร่วม

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการแบนสารเคมีทางการเกษตร ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงนามให้ทบทวน ขณะที่ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าแบน โดยยืนยันว่า เรื่องนี้จะไม่กระทบต่อพรรคร่วมรัฐบาล เพราะการทำงานมีความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นต้องพยายามเข้าใจซึ่งกันและกัน ถ้าคิดต่างกันก็ต้องฟังเหตุผล เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง

“ขอยืนยันรัฐบาลจะต้องเลือกวิธีที่ดีที่สุด เพื่อชีวิตของเกษตรกร ความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยยึดประชาชนเป็นลำดับต้นๆ ของภารกิจ ผู้รับผิดชอบแต่ละส่วนจะต้องจัดการหรือเคลียร์เรื่องทั้งหมดให้ชัดเจนในการดำเนินการไม่ให้เกิดความขัดแย้งซึ่งกันและกัน ยึดสวัสดิภาพของประชาชนเป็นที่ตั้งว่าการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนผ่านทำได้ทันที หรือเป็นขั้นตอน เพราะต้องฟังหลายส่วนทั้งภาคการเกษตรและเกษตรกรให้เกิดความปลอดภัย จะต้องหารือและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจริงจัง ตามมติต่างๆที่ออกมา”

มติ ครม. มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

อนุมัติ รฟท. กู้เงิน เสริมสภาพคล่องกว่า 12,000 ล้าน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติกรอบวงเงินกู้ให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ประจำปีงบประมาณ 2564 เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินงานวงเงินไม่เกิน 11,500 ล้านบาท และอนุมัติกรอบวงเงินกู้ระยะสั้น ที่เรียกว่า “วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี” (O/D) วงเงิน 800 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจาก การรถไฟแห่งประเทศไทยมีภารกิจในการให้บริการด้านการขนส่งเพื่อสังคม (PSO) รวมถึงการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในการควบคุมราคาค่าขนส่ง เพื่อลดภาระค่าของชีพให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย ทำให้ รฟท. ประสบปัญหาการขาดทุน และความสามารถในการหารายได้ หรือกระแสเงินสดไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย จึงมีความจำเป็นจะต้องกู้เงินเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่อง

“วันนี้ที่ประชุม ครม. จึงมีมติเห็นชอบ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยกู้เงิน เพื่อใช้ในการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2564 วงเงินไม่เกิน 11,500 ล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนตามภารกิจหลัก เช่น การบำรุงรักษารางรถไฟ และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการรถไฟ จึงมีภาระที่จะต้องชำระค่างวดงานตามสัญญาจัดซื้อจัดจ้างที่ได้ผูกพันไปแล้ว ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาสภาพคล่องไม่เพียงพอ จึงพิจารณาเห็นชอบให้ รฟท. กู้เงินระยะสั้น (O/D) วงเงิน 800 ล้านบาท โดยใช้วิธีการพิจารณาคัดเลือกสถาบันการเงินด้วยการ ประมูล เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาที่เหมาะสม สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยของตลาด” นายอนุชา กล่าว

นายอนุชา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุม ครม. ยังมีมติให้กระทรวงการคลัง ค้ำประกันเงินกู้ให้กับ รฟท. ด้วย เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทยมีผลประกอบการขาดทุนมาโดยตลอด หากกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกันเงินกู้ให้ อาจจะไม่มีสถาบันการเงินให้ความสนใจในการปล่อยเงินกู้ให้ โดยที่ประชุม ครม. ยังกำชับการรถไฟแห่งประเทศไทย เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาขององค์กรตามแผนงาน และให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมในฐานะกระทรวงเจ้าสังกัด กำกับให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการแก้ไขปัญหาให้เห็นผลเป็นรูปธรรมตามแผนที่กำหนดไว้โดยเร็ว

“ดีอี” ปรับแผน-ขยายเวลา เดินหน้า “อาเซียนดิจิทัลฮับ”

นายอนุชากล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ปรับแผนงาน และงบประมาณที่ใช้ในการดำเนิน “โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ สู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน หรือที่เรียกว่า “อาเซียนดิจิทัลฮับ”

สาเหตุในการปรับแผนงานครั้งนี้ เนื่องจากมีการยกเลิกโครงการวางระบบเคเบิลใต้น้ำจากจังหวัดเพชรบุรีถึงอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ทำให้โครงการระบบเคเบิลใต้น้ำดังกล่าวไม่สามารถใช้งานต่อไปได้ตามแผนงานที่ออกแบบไว้ จึงมีความจำเป็นจะต้องปรับปรุงโครงข่าย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อวงเงินงบประมาณและระยะเวลาในการลงทุนก่อสร้างระบบเครือข่ายเคเบิลใต้น้ำเส้นใหม่ ซึ่งมีกรอบระยะเวลาที่แตกต่างจากที่ ครม. เคยมีมติเห็นชอบไว้

ดังนั้น ในวันนี้ที่ประชุม ครม. จึงมีมติให้ขยายระยะเวลาในการทำกิจกรรมดังกล่าว จากเดิมต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2563 ขยายออกไปเป็นปี 2565 ภายใต้กรอบวงเงินลงทุนเดิม ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท

ขยายเวลาควบรวม TOT-CAT อีก 6 เดือน

นายอนุชากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ ให้ขยายระยะเวลาในการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด ตามที่กระทรวงดีอีนำเสนอ จากกำหนดการเดิมต้องดำเนินการให้แล้วภายในวันที่ 14 กรกฎาคม 256 ให้ขยายระยะเวลาในการควบรวมกิจการออกไปอีก 6 เดือน

นายกฯ ลงพื้นที่สุโขทัย แจกถุงยังชีพผู้ประสบอุทกภัยพรุ่งนี้

นายอนุชากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบสถานการณ์สาธารณภัย และการให้ความช่วยเหลือตามที่กระทรวงมหาดไทยได้รายงาน โดยในช่วงวันที่ 20-31 สิงหาคม 2563 ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมพาดผ่านทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมีลมมรสุมจากตะวันตกเฉียงใต้ พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน และอ่าวไทย ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก วาตภัย ดินโคลนถล่ม และดินสไลด์ รวม 17 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, พะเยา, แพร่, น่าน, ลำปาง, ลำพูน, ตาก, อุตรดิตถ์, พิษณุโลก, สุโขทัย, กาฬสินธุ์, นครพนม, ขอนแก่น, สกลนคร, สิงห์บุรี และจังหวัดปราจีนบุรี รวมทั้งสิ้น 64 อำเภอ 224 ตำบล 964 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบประมาณ 20,000 ครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ได้คลี่คลายแล้ว และอยู่ระหว่างการฟื้นฟูทุกจังหวัด

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรียังคงมีความห่วงใยในความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยในวันพรุ่งนี้นายกรัฐมนตรีจึงมีกำหนดการที่จะเดินทางไปตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัยที่บ้านคลองกระจง อำเภอสวรรค์โลก จังหวัดสุโขทัย โดยนายกรัฐมนตรีมีกำหนดการพบปะผู้ประสบอุทกภัย เพื่อมอบถุงยังชีพ และตรวจพื้นที่น้ำกัดเซาะ บริเวณชายฝั่งแม่น้ำยม และจุดที่ 2 ตำบลท่าทอง อำเภอสวรรค์โลก จังหวัดสุโขทัย มีหมายกำหนดการพบปะผู้ประสบภัย และมอบถุงยังชีพเช่นกัน รวมทั้งลงตรวจพื้นที่ความเสียหายจากน้ำกัดเซาะถนน

“นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยยังมีประเด็นฝากเตือนประชาชนที่อยู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างภาคตะวันออก ช่วงวันที่ 5-6 กันยายนนี้ ขอให้ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนัก และฝนตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ขอให้ระมัดระวัง” นายอนุชากล่าว

ลดนำส่งเงินประกันสังคมเหลือ 2% เริ่ม ก.ย. นี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงแรงงานเรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้าง และผู้ประกันตน กรณีที่มีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยจะมีการลดหย่อนการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ให้เหลือร้อยละ 2 ของค่าจ้างผู้ประกันตน ทั้งสองฝ่ายจ่ายเงินสมทบเท่ากันคือ 2% ส่วนผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 ให้ส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละ 96 บาท จากเดิมต้องจ่ายเงินสมทบเดือนละ 432 บาท รวมเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยให้เริ่มจ่ายเงินสมทบตามมาตรการดังกล่าวนี้ ตั้งแต่ค่าจ้างในงวดเดือนกันยายน ถึงเดือนพฤศจิกายน 2563

ดร.รัชดากล่าวต่อว่า สำหรับผลประโยชน์ที่จะได้รับจากมาตรการดังกล่าวนี้ จะช่วยลดภาระให้กับผู้ประกันตนประมาณ 12.79 แสนคน คิดเป็นวงเงินประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท และนายจ้าง 4.87 แสนราย คิดเป็นเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท จากมาตรการดังกล่าวนี้จะนำไปสู่การเพิ่มปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 2.4 หมื่นล้าน ขณะเดียวกันสามารถประหยัดเงินให้กับผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 เฉลี่ย 1,022 บาทต่อคน ในช่วงระยะเวลา 3 เดือน และช่วยผู้ประกันตน ตามมาตรา39 ช่วยประหยัดเงินไปได้ 1,008 บาทต่อคน

มอบกรมชลฯพัฒนาพื้นที่แม่น้ำเพชรบุรี แก้น้ำท่วมซ้ำซาก

ดร.รัชดากล่าวต่อว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการโครงการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเพชรบุรีตอนล่าง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำเสนอ ถือว่าโครงการนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้เป็นหนึ่งใน 66 พื้นที่ ที่ประสบอุทกภัยซ้ำซาก เห็นควรให้ได้รับการแก้ไขอย่างบูรณาการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (2561-2580)

สำหรับโครงการบรรเทาอุทกภัยของพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเพชรบุรีตอนล่างนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่เศรษฐกิจโดยเฉพาะในตัวเมืองจังหวัดเพชรบุรี และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำเพชรบุรีลงสู่อ่าวไทย ซึ่งใช้เป็นแหล่งต้นน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคและบริโภคด้วย

ส่วนประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้ คือช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตลุ่มน้ำเพชรบุรี ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นทุกปีมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 219,000 ไร่ ซึ่งจะมีการปรับเพิ่มศักยภาพของการใช้พื้นที่การเกษตรประมาณ 10,000 ไร่ และใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคและบริโภคประมาณ 8.4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และยังใช้เป็นการเพิ่มเส้นทางคมนาคม โดยจะมีการสร้างถนนตามคันคลองเชื่อมต่อกับถนนสายหลักเพื่อใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกด้วย

ที่ประชุม ครม. ได้มอบหมายให้กรมชลประทานลงพื้นที่ ทำความเข้าใจกับประชาชน และศึกษาผลกระทบจากการก่อสร้าง รวมทั้งรับฟังความคิดเห็น คาดว่าโครงการนี้จะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2565

เพิ่มงบฯ 24 ล้าน ซื้อนมแจกเด็กโรงเรียนเอกชน

ดร.รัชดากล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติงบประมาณเพิ่ม 24.42 ล้านบาท ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนจัดหานมโรงเรียนให้กับนักเรียนโรงเรียนเอกชน ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายให้โรงเรียนของรัฐและเอกชน จัดหานมให้กับเด็กนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มาตั้งแต่ปี 2562 โดยการจัดสรรงบประมาณหัวละ 1,820 บาทต่อปี (2 เทอม) ปรากฏว่าในส่วนของโรงเรียนเอกชนได้รับจัดสรรงบประมาณต่อหัวน้อยกว่าจำนวนนักเรียนที่แท้จริง วันนี้สำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จึงทำเรื่องเสนอ ครม. ของบประมาณเพิ่มเติม เพื่อให้นำไปซื้อนมแจกนักเรียนโรงเรียนเอกชนให้ครบทุกคน

ผ่านร่าง กม. ลงชื่อถอดถอนนักการเมืองท้องถิ่น 2 ฉบับ

ดร.รัชดากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. … และร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. … รวม 2 ฉบับ อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นการเสนอข้อมูล และตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองท้องถิ่นด้วย โดยรายละเอียดของพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นมีสาระที่สำคัญ อาทิ การกำหนดจำนวนให้ผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นต้องมีไม่น้อยกว่า 5,000 คน หรือ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น อีกข้อผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นจำนวนไม่เกิน 10 คน สามารถร้องขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำร่างข้อบัญญัติ หรือเชิญชวนชวนให้ประชาชนร่วมเข้าชื่อ หรือให้ดำเนินการได้ ทั้งสองกรณี

ส่วนร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นนั้น สาระสำคัญจะมีการกำหนดวิธีเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นไว้ 2 กรณี คือ กรณีแรก การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิก ต้องมีผู้เข้าชื่อคือรวมกันเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หรือ กรณีการเข้าชื่อ ขอให้มีการตรวจสอบ เพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น ต้องมีผู้เข้าชื่อ รวมกันไม่น้อยกว่า 5,000 คน หรือ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามที่กฎกระทรวงกำหนด

ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ ผ่านทางเว็บไซต์กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2563 และเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตั้งแต่ 11 ตุลาคม 2562 – 10 พฤศจิกายน 2562 พร้อมทั้งเผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็น และผลการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายให้ประชาชนได้รับทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนั้นก็จะมีการนำเสนอร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาต่อไป

จัดงบกลาง 883 ล้าน ให้กลาโหมทำ State Quarantine

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ 2563 เพิ่มเติม งบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น วงเงิน 883 ล้านบาท ให้กับสํานักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดําเนินการจัดทําพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (state quarantine) ในส่วนของสถานที่เอกชน สําหรับแก้ปัญหาการแพร่ ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นไปตามมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิดฯ ที่กำหนดให้คนไทยทุกคนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศจะต้องเข้าพัก ณ พื้นที่ กักกันโรคแห่งรัฐทันทีเป็นเวลา 14 วัน

สำหรับการดําเนินการที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม – 30มิถุนายน 2563 ได้จัดตั้งพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ โดยใช้สถานที่ราชการ จํานวน 2 แห่ง และโรงแรมเอกชน จํานวน 31 แห่ง รองรับผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและเข้ารับการ กักกันตัวในพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ จํานวน 27,977 คน ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการจัดสรร งบกลาง รายการเงินสํารองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น สําหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดําเนินการจัดทําพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ ระยะที่ 1 วงเงิน 95 ล้านบาท รองรับผู้เดินทางจากต่างประเทศจํานวน 4,200 คน และระยะที่ 2 วงเงิน 97ล้านบาท เพื่อรองรับผู้เดินทางจากต่างประเทศอีกจํานวน 4,200 คน รวมจํานวนทั้งสิ้น 8,400 คน วงเงินรวม 192 ล้านบาท โดยยังเหลือที่ยังไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนอีกจำนวน 19,577 คน

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งประมาณการจํานวนคนไทยในต่างประเทศที่มี ความประสงค์เดินทางกลับประเทศไทยทางอากาศ ตั้งแต่วันที่ 1กรกฎาคม – 31สิงหาคม 2563 ที่สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลกได้สํารวจล่าสุดมีจํานวน 22,470 คน โดยอาจมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดฯ มาตรการการผ่อนคลายการควบคุมโรค และมาตรการทางเศรษฐกิจของประเทศต้นทาง กระทรวงกลาโหมจึงขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดําเนินการ จัดทําพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ

“นายกรัฐมนตรีมีบัญชาเห็นชอบให้กระทรวงกลาโหมใช้จ่ายงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นวงเงิน 883 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจัดทำพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐจำนวน 41,514 คน สำหรับรายละเอียดค่าใช้จ่ายแยกเป็นดังนี้คือ ค่าตอบแทนบุคลากร 32 ล้านบาท, ค่าเช่าที่พักและค่าอาหารของเจ้าหน้าที่ 91 ล้านบาท, ค่าเช่าที่พักและค่าอาหารของผู้ถูกกักกันโรค 747 ล้านบาท, ค่าวัสดุการแพทย์ 621,000 บาท, ค่าจ้างเหมา 8 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายยานพาหนะในภารกิจโควิดฯ จำนวน 2.9 ล้านบาท”

แจงปัญหาภาษีที่ดินฯ-ขอ ปชช. อย่าห่วงค่าปรับ

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบผลการพิจารณารายงานการศึกษาเรื่องปัญหาและผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ของคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร 3 ประเด็น ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

  • กรณีความไม่ชัดเจนของบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นั้น กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยได้ยกร่างกฎหมายลำดับรองตาม พ.ร.บ. นี้ รวม 18 ฉบับ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาครบแล้ว และจะนำไปใช้ในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 63 ทำให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน
  • การคำนวณภาษีไม่เป็นธรรมจนมีผลกระทบต่อประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และผู้ประกอบการ นั้น ขณะนี้ได้มีการจัดเก็บภาษีจากฐานมูลค่าทรัพย์สินที่คำนวณจากรดาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ประเมินโดยกรมธนารักษ์ ซึ่งมีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ
  • การแก้ไขเพิ่มเติมและการบังคับใช้กฎหมาย นั้น คลังและมหาดไทยได้เตรียมการเพื่อรองรับและแจ้งให้ อปท. รับทราบ โดยมีประชาสัมพันธ์และให้ความรู้อย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลามากกว่า 1 ปี ตั้งแต่การจัดทำคู่มือ สื่อประชาสัมพันธ์ การนำหลักการกฎหมายลำดับรองมาให้ความรู้แก่ อปท. ทั่วประเทศ ประชาชน และผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทางกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยได้ชี้แจงไปแล้วว่าพี่น้องประชาชนที่ยังไม่ได้รับจดหมายจาก อปท ให้ไปจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ต้องกังวลถือว่ามีการขยายไปเรื่อยๆ แต่ในกรณีที่บาง อปท ได้ประกาศออกมาแล้ว เช่น กรุงเทพฯ หรือเทศบาลในจังหวัดใหญ่ ก็ต้องดำเนินการจ่ายภาษีตามที่แจ้ง ซึ่งหากเห็นว่าการคำนวณภาษีไม่ถูกต้องสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ อย่างไรก็ตามส่วนที่ยังไม่ประกาศประชาชนสามารถโทรศัพท์ไปถามยังส่วนราชการได้ แต่วันนี้ขออย่าได้เป็นกังวลว่าจะต้องโดนปรับเนื่องจากการเก็บภาษีที่ดินอันเป็นเรื่องใหม่ซึ่ง ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและรับไปเพื่อพิจารณาแก้ไข”

เปิดสอบภาค ก. 27 ก.ย.นี้ ชี้ตำแหน่งว่างเกือบ 40,000 อัตรา

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. รับทราบรายงานสภาพการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานในราชการพลเรือนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยสํานักงาน ก.พ. ระบุว่า ได้ดําเนินการสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.) ในปีงบประมาณ 2563  ซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกที่จะคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งมีผู้สนใจสมัครสอบ จํานวน 500,000 คน และจะจัดดําเนินการสอบ ในวันที่ 27กันยายน 2563 ที่ศูนย์สอบทั่วประเทศ 15 แห่ง โดยสํานักงาน ก.พ. ได้คํานึงถึงการจัดระบบการสอบให้สอดคล้องกับสถานการ การแพร่ระบาดของโรคโควิดฯ รวมทั้งจัดให้มีการสอบด้วยระบบ อิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างวันที่ 18-22 กันยายน 2563 ณ ศูนย์สอบทั่วประเทศ 9 แห่ง ซึ่งมีผู้สมัครสอบจำนวน21,723 คน คน รวมทั้งสิ้นมีผู้สมัครสอบภาค ก. จำนวน 521,723 คน

และได้เตรียมแผนดําเนินการสอบ เพิ่มเติมสําหรับผู้สมัครสอบภาค ก. ซึ่งยังไม่สามารถชําระเงินได้เนื่องจากที่นั่งสอบเต็ม จํานวน 95,610 คน โดยคาดว่าจะดําเนินการจัดสอบให้กับผู้สมัครสอบที่เหลืออยู่ดังกล่าวได้ประมาณเดือนมกราคม 2564  หลังสอบภาค ก. แล้ว

ทั้งนี้ ส่วนราชการสามารถดําเนินการจัดสอบภาค ข. และภาค ค. เพื่อบรรจุ บุคคลเข้ารับราชการได้ ซึ่งจะมีตําแหน่งว่างรองรับการจ้างงานประกอบด้วย อัตราข้าราชการตั้งใหม่ที่ส่วน ราชการได้รับการจัดสรรในปีงบประมาณ 2562-2563 ที่ยังไม่ได้บรรจุจํานวนประมาณ 20,000 อัตรา และอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2563 จํานวนประมาณ 8,900 อัตรา

นอกจากนี้ ก.พ. ยังมีแนวทางเพิ่มโอกาสการจ้างงาน ด้วยระบบพนักงานราชการ ซึ่งปัจจุบันภาครัฐมีรูปแบบการจ้างงานแบบสัญญาจ้างที่หลากหลาย ทั้งการจ้างลูกจ้างชั่วคราว พนักงานกองทุนตามระเบียบกระทรวงการคลัง หรือการจ้างพนักงานตามระเบียบของส่วนราชการ เช่น พนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) พนักงานจ้างของท้องถิ่น และพนักงานมหาวิทยาลัย

“ระบบ พนักงานราชการเป็นการจ้างงานแบบสัญญาจ้างอีกรูปแบบหนึ่ง คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) จึงมีมติเห็นชอบแนวทางการเพิ่มโอกาสให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดฯ ด้วยระบบพนักงานราชการ เพื่อช่วยบรรเทาสภาวะ เศรษฐกิจ การว่างงานภายในประเทศ เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการจ้างงานให้กลุ่มผู้สําเร็จการศึกษาและ อยู่ระหว่างการหางานทํา ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนงาน หรือผู้ที่ถูกเลิกจ้างจากภาคส่วนอื่นมีโอกาสได้รับการจ้างงานและสั่งสมประสบการณ์การทํางานในหน่วยงานของรัฐ โดยมีหลักการสําคัญ คือ ไม่ใช่การจ้างงานประจํา เป็นการจ้างงานระยะสั้น และบรรจุบุคคล เข้าปฏิบัติงานให้เร็วที่สุด”

ทั้งนี้ คพร. จะพิจารณาจัดสรรกรอบอัตรากําลังพนักงานราชการเป็นกรณีพิเศษ ให้แก่ส่วนราชการเพื่อจ้างพนักงานราชการได้ไม่เกิน 2 ปี คือปีงบประมาณ 2564-2565 โดยเน้นการกระจายการจ้างงานลงสู่ระดับพื้นที่ ตลอดจนกําหนดรูปแบบการจ้าง อัตราค่าตอบแทน วิธีการสรรหา และการบริหารการจ้างเป็นการเฉพาะ เพื่อให้ส่วนราชการดําเนินการได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัว และมีประสิทธิภาพ คาดว่าจะจ้างงานได้อีกประมาณ 10,000 อัตรา ทั้งนี้จําเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสําหรับการจ้างงานดังกล่าว โดยอาจพิจารณานําเงินงบประมาณรายจ่ายประจําปีที่ส่วนราชการได้รับจัดสรรมาใช้ หรือขอรับการสนับสนุน เงินกู้จากรัฐบาลเพื่อดําเนินการเป็นการเฉพาะ

อนุมัติร่างกฎกระทรวง หนุนซื้อสินค้า SMEs

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมฉบับเดิมที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากปัจจุบันมีพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมมากขึ้น

โดยมีสาระสำคัญคือ กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุจากผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยใช้เงินงบประมาณไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุจากเอสเอ็มอี ที่ได้ขึ้นบัญชีรายการพัสดุและรายชื่อไว้กับสำนักงานส่งเสริมวิสากิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รวมถึงหากประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์แล้วพบว่าผู้เสนอราคาที่เป็นเอสเอ็มอีเสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดของผู้เสนอราคารายอื่นไม่เกินกว่าร้อยละ 10 ให้เลือกเอสเอ็มอีแทน พร้อมทั้งกำหนดให้หน่วยงานชองรัฐจัดซื้อผลิตภัณฑ์ของร้านค้าสหกรณ์ หรือสถาบันเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรฯ รับรอง

ขณะเดียวกันร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ยังส่งเสริมการใช้พัสดุที่ผลิตในประเทศ โดยกำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของพัสดุที่จะใช้ โดยเฉพาะงานก่อสร้างให้ใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศก่อนและต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าหรือปริมาณเหล็กทั้งหมดที่ใช้ และหากการจัดซื้อจัดจ้างพบว่าผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ขณะที่ผู้เสนอราคาที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเสนอราคาสูงกว่ารายของต่างชาติไม่เกินร้อยละ 3 ให้พิจารณาเลือกผู้ประกอบการของไทย

นอกจากนี้ยังกำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและจากผู้ประกอบการที่ได้ขึ้นบัญชีรายการพัสดุและรายชื่อไว้กับกรมควบคุมมลพิษ

“นายกฯ ได้สั่งการให้รีบดำเนินการอย่างเร่งด่วนโดยให้ทุกหน่วยงานรับนโยบายนี้ไป เพราะจะเป็นการใช้ของไทย ช่วยคนไทย โดยรายได้ต้องกระจายสู่ท้องถิ่น พร้อมให้ทุกหน่วยงานทำรายงานเสนอตรงต่อนายกฯ ว่ามีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุในท้องถิ่นที่เป็นเอสเอ็มอีหรือไม่ด้วย”

โผโยกย้ายคนคลังผ่านฉลุย – “ปรีดี ดาวฉาย” ลาออก

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูงกระทรวงการคลังจำนวน 4 ราย ดังนี้

  1. ย้าย นายจำเริญ โพธิยอด ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง ไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
  2. โอน นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดี (นักบริหารสูง) กรมสรรพสามิต ไปดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารสูง) กรมศุลกากร
  3. โอน นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ (นักบริหารสูง) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ไปดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารสูง) กรมสรรพสามิต
  4. โอน นางวรนุช ภู่อิ่ม ที่ปรึกษาด้านการบริหารเหรียญกษาปณ์และทรัพย์สินมีค่า (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมธนารักษ์ ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง

ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

ซึ่งการแต่งตั้งดังกล่าวต้องชะลอไปเนื่องจากเหตุขัดข้องรายชื่อไม่ตรงกันในสัปดาห์ก่อน และในวันเดียวกันช่วงเวลาประมาณ 17.00 น.ได้มีรายงานที่ทำเนียบรัฐบาลว่า นายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ยื่นจดหมายลาออกต่อนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุปัญหาสุขภาพ และในเวลาประมาณ 18.00 น. ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องรัฐมนตรีลาออก โดยมีใจความว่า “ด้วย นายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ขอลาออกจากตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2563 ความเป็นรัฐมนตรีของนายปรีดี ดาวฉาย จึงสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2563”

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 1 กันยายน 2563เพิ่มเติม