ThaiPublica > เกาะกระแส > มติ ศบค.ชง ครม.ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯอีก 1 เดือน

มติ ศบค.ชง ครม.ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯอีก 1 เดือน

28 กันยายน 2020


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

มติ ศบค.เห็นชอบเสนอ ครม.ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯอีก 1 เดือน ย้ำไม่เกี่ยวการเมือง

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 เวลา 09.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสรุปสาระสำคัญของการประชุมในวันนี้ว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางในการดำเนินการว่า เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ และรักษาสุขภาพของประชาชนควบคู่กันไป การดำเนินธุรกิจจึงต้องมีความเหมาะสม ฉะนั้นต้องมีมาตรการสำหรับดูแลทุกกลุ่มอย่างเหมาะสม ให้มีมาตรการแยกรายละเอียด และมีการติดตามการดำเนินการอย่างเหมาะสม โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้รายงานสถานการณ์สถานการณ์การติดเชื้อทั้งในประเทศและสถานการณ์ทั่วโลกให้ที่ประชุมรับทราบ โดยประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 138

อย่างไรก็ดี ประเทศเมียนมามีสถานการณ์ที่น่าจับตามอง เนื่องจากมีตัวเลขการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ประเทศเมียนมากำหนดมาตรการที่เข้มงวดขึ้น โดยได้ประกาศขยายระยะเวลาระงับการเข้าและออกของ เที่ยวบินพาณิชย์ระหว่างประเทศ อีกอย่างน้อย 1 เดือน จนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2563 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางในการทำงานเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ โดยอาจพิจารณาดูแลกลุ่มคนที่เดินทางเข้าประเทศซึ่งมาจากประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อสูงเป็นกรณีพิเศษ และสั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลในส่วนท้องถิ่นตามแนวชายแดนเข้มงวดเป็นพิเศษ รวมทั้งฝ่ายไทยยินดีให้ความช่วยเหลือ พิจารณาแบ่งปันแนวทางมาตรการการดำเนินการที่ไทยใช้แล้วได้ผลให้แก่เมียนมา

ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรตรวจคัดกรองโรค COVID-19 โดยรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัยพระราชทาน ระหว่างวันที่ 8-9 กันยายน 2563 ณ พื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งตรวจสอบทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติทั้งสิ้น 2,642 ตัวอย่าง และทุกตัวอย่างเป็นลบ

นายอนุชา กล่าวว่านายกรัฐมนตรีย้ำการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนไทยให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตัวตามมาตรฐานสุขอนามัย สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เนื่องจากต่อไปการปลดล็อกการดำเนินธุรกิจจะมีมากขึ้น การท่องเที่ยวเปิดมากขึ้น แต่ในส่วนของการดูแลสุขภาพนั้นจะละเลยไม่ได้ นายกรัฐมนตรีชี้แนะการดำเนินการเมื่อยกตัวอย่างถึงการผ่อนปรนข้อปฏิบัติของต่างประเทศว่า ประเทศไทยดำเนินการอย่างรวดเร็ว ปิดกั้นโอกาสของการแพร่เชื้อ จึงทำให้ควบคุมได้เร็วกว่าประเทศอื่น จึงขอให้ทุกหน่วยงาน สร้างการรับรู้ ย้ำความสำเร็จ ในการดำเนินงานของรัฐบาลไทย

นอกจากนี้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้รายงานความคืบหน้าการอนุญาตให้บุคคลเดินทางเข้า ภายในราชอาณาจักร โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 3 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 (ฉบับที่ 13) มีดังนี้

    1.การอนุญาตให้นักกีฬาต่างชาติเดินทางมาเข้าร่วมการแข่งขันจักรยานทางไกลนานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ
    2.แนวทางการปฏิบัติในการกักตัวนักบินและลูกเรือบริษัท การบินไทย จากัด (มหาชน) ใน Repatriation Flight
    3.การอนุญาตให้ผู้ที่ถือวีซ่าประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non- Immigrant) ประเภทต่าง ๆ เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
    4.การกำหนดเงื่อนไขผู้ขอวีซ่าท่องเที่ยวสาหรับกลุ่ม long stay ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563
    5.การอนุญาตให้ผู้ถือบัตร APEC Card เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
    6.การอนุญาตให้ผู้ที่ประสงค์จะพำนักในประเทศไทยในระยะสั้น และระยะยาวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร

นายกรัฐมนตรีขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาอย่างรอบครอบ และแบ่งแยกเป็นประเภทตามข้อจำกัด โดยต้องมีการออกกำหนดมาตรการเพื่อควบคุม คัดกรอง ติดตาม และตรวจสอบ อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติได้เสนอให้พิจารณาความเหมาะสมในการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งนายกรัฐมนตรีขอให้ทุกฝ่ายพิจารณาทุกปัจจัยในการดูแลคนไทยร่วมกัน โดยมองข้ามปัจจัยทางการเมือง วัตถุประสงค์หลักคือเพื่อดูแลคนไทยทุกคน ที่ประชุมจึงมีมติเห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563