ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > หวยขายเกลี้ยง 6 ปี จาก 37 ล้านใบ เป็น 100 ล้านใบ ขายเกินราคายังแก้ไม่ได้!!

หวยขายเกลี้ยง 6 ปี จาก 37 ล้านใบ เป็น 100 ล้านใบ ขายเกินราคายังแก้ไม่ได้!!

15 กันยายน 2020


ที่มาภาพ : facebook-ikiwatjadee

หวยขายเกลี้ยง 6 ปี พิมพ์สลากฯเพิ่มจาก 37 ล้านใบ เป็น 100 ล้านใบ แก้หวยเกินราคาได้จริงหรือ?

จากจตุคามรามเทพมาสู่ยุค “ไอ้ไข่” กุมารเทพแห่งวัดเจดีย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่กำลังมาแรง หลังจากสื่อมวลชนนำเสนอข่าวต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีที่แล้วมาจนถึงวันนี้มีชาวบ้านหลายรายไปสักการะบูชา หรือ บนบานศาลกล่าว “ไอ้ไข้” แล้ว ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 รับเงินรางวัลไป 12 ล้านบาท “ไอ้ไข่” จึงกลายเป็นกระแสแพร่กระจายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่วงใกล้วันหวยออกจะมีผู้คนจำนวนมาก ต่างพากันมา ขอเลขเด็ดจนแน่นขนัดวัด

ปัจจุบันไม่ต้องเดินทางไปไกลถึงจังหวัดนครศรีธรรมราช ใกล้ๆกรุงเทพมหานครก็มีให้บูชาอยู่หลายวัด อาทิ วัดบึงบาประภาสะวัต และวัดโปรยฝน จังหวัดปทุมธานี , วัดห้วยเปล้า จังหวัดอุทัยธานี , วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดนครปฐม , วัดสนามชัย จังหวัดอ่างทอง , วัดห้วยมงคล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ , วัดเขากรวด จังหวัดราชบุรี , วัดคลองสอง จังหวัดฉะเชิงเทรา , วัดสังกะสี จังหวัดชลบุรี เป็นต้น

ที่มาภาพ : facebook-ikiwatjadee

ด้วยอานิสงส์ของพลังแห่งความศรัทธา และความเชื่อของชาวบ้านในยุคโควิด-19 ส่งผลทำให้สลากกินแบ่งรัฐบาลหรือลอตเตอรี่ขายดิบ ขายดี สลากกินแบ่งรัฐบาลงวดละ 100 ล้านฉบับ ไม่เพียงพอกับความต้องการ หรือ “ดีมานด์” ทั้งในฝั่งของผู้ขาย และผู้ซื้อ ดันราคาสลากบนแผงขยับจาก ใบละ 80 บาท เป็น 100-120 บาท ยิ่งถ้าเลขเด่น เลขดังขายกันใบละ 150 บาท

  • กองสลากฯ ระดมสมอง แก้ขายหวยเกินราคา
  • ล่าสุดมีกลุ่มผู้พิการชุมนุมเรียกร้องที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ขอให้สำนักงานสลากฯพิมพ์สลากเพิ่ม จากงวดละ 100 ล้านฉบับ เป็น 104 ล้านฉบับ โดยอ้างว่าจะช่วยแก้ปัญหาสลากเกินราคาได้ ขณะที่ผู้บริหารของสำนักงานสลากฯ มองว่า ดีมานด์ในฝั่งของผู้ซื้อในยุคของโควิด-19 ไม่น่าจะถึง 100 ล้านฉบับ แต่ฝั่งของผู้ขายสลากตอนนี้น่าจะเกิน 100 ล้านฉบับ สาเหตุน่าจะมาจากวิกฤติโควิดฯ มีคนตกงานเป็นจำนวนมากไม่รู้ประกอบอาชีพอะไร ก็ไปรับลอตเตอรี่มาขาย อย่างไรก็ตาม คงต้องนำข้อเสนอดังกล่าวส่งให้บอร์ดสลากฯ พิจารณาว่าจะพิมพ์เพิ่มหรือไม่

    และถ้าย้อนกลับไปดูมาตรการแก้ปัญหาสลากแพงในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา นอกจากตัดโควตาสลาก 5 เสือและตัวแทนจำหน่ายสลากที่ไม่เกี่ยวข้องกับคนพิการแล้ว ยังเพิ่มปริมาณการพิมพ์สลากออกมาขายผ่านระบบซื้อ-จองสลากล่วงหน้าผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย จากปี 2557 พิมพ์สลากออกขาย 37 ล้านใบ ปี 2558 เพิ่มเป็น 50 ล้านใบ ปี 2559 สั่งพิมพ์สลากเพิ่ม 60-65 ล้านใบ ปี 2560 เพิ่มอีก 56-71 ล้านใบ ปี 2561 พิมพ์เพิ่ม 89-90 ล้านใบ ปี 2562 พิมพ์เพิ่ม 90-100 ล้านใบ และปี 2563 เพิ่มเป็น 100 ล้านใบ ปรากฏว่าไม่สามารถแก้ปัญหาขายสลากเกินราคาได้

    เนื่องจากบรรดายี่ปั๊ว ซาปั๊ว และผู้ค้าสลากรายใหญ่ ตั้งโต๊ะรับซื้อสลากจากผู้ค้ารายย่อยที่ซื้อ-จองผ่านธนาคารกรุงไทย เพื่อเอามารวมชุดขาย ส่วนเลขไม่สวยแยกออกไปขายใบเดียว แต่ถ้าอยากได้เลขสวย เลขดัง ต้องซื้อหวยชุดอย่างน้อย 2 ใบ ใบละ 100-120 บาท กลยุทธ์แบบนี้นอกจากจะช่วยลดปริมาณสลากลงแล้ว ยังทำให้ขายสลากหมดเร็วด้วย

    จากนโยบายพิมพ์สลากเพิ่ม ทำให้รายได้จากยอดขายสลากเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปี 2557 สำนักงานสลากฯมีรายได้ยอดขายสลาก 48,320 ล้านบาท ปี 2558 เพิ่มเป็น 51,760 ล้านบาท ปี 2559 เพิ่มเป็น 104,400 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 102% ช่วงนี้มีการปรับรูปแบบสลากจากคู่ละ 80 บาท เป็นใบละ 80 บาท ปี 2560 เพิ่มเป็น 128,720 ล้านบาท ปี 2561 เพิ่มเป็น 155,040 ล้านบาท ปี 2562 ยอดขายเพิ่มเป็น 175,600 ล้านบาท

    ส่งผลให้สำนักงานสลากฯ กลายเป็นรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้เข้าคลังมากที่สุดเป็นอันดับ 1 แซงบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตั้งแต่ปี 2560 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2562

    ล่าสุด ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ระบุว่าในช่วง 11 เดือนของปีงบประมาณ 2563 (วันที่ 1 ต.ค. 2562-31 ส.ค. 2563) สำนักงานสลากฯยังคงครองแชมป์นำส่งรายได้เข้าคลัง 42,521 ล้านบาท อันดับ 2 บริษัท ปตท. ส่งรายได้เข้าคลัง 29,198 ล้านบาท และอันดับ 3 กฟผ. ส่งรายได้เข้าคลัง 28,619 ล้านบาท

    ต่อกรณีที่มีผู้ค้าสลากบางกลุ่มเรียกร้องให้บอร์ดสลาก ฯ พิจารณาปรับเพิ่มปริมาณการพิมพ์สลากเป็น 104 ล้านใบ ถือเป็นการมอมเมา หรือ ส่งเสริมให้คนไทยทั้งประเทศเสพติดหวยหรือไม่ หากมองในแง่ของการออมเงิน การที่รัฐไปส่งเสริมให้ประชาชนจ่ายเงินซื้อลอตเตอรี่ใบละ 100 บาท ขายกันหมดเกลี้ยง 100 ล้านใบทุกงวด หมายความว่าเงินออมของประเทศจะหายไปเดือน 20,000 ล้านบาท ปีละ 240,000 ล้านบาท ถึงเวลาที่บอร์ดสลากฯต้องพิจารณาว่ากิจกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจมาน้อยเพียงใดและถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจบนข้อเท็จจริงโดยไม่บิดเบี้ยวไปตามผลประโยชน์ ปัญหาขายหวยเกินราคาและข้ออ้างการพิมพ์สลากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจะได้หยุดวงจรนี้เสียที!!!