ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > วงจรอุบาทว์…สลากเกินราคา! ต้นตอของปัญหาอยู่ที่ไหน ทำไมสำนักงานสลากฯ แก้ไม่ได้

วงจรอุบาทว์…สลากเกินราคา! ต้นตอของปัญหาอยู่ที่ไหน ทำไมสำนักงานสลากฯ แก้ไม่ได้

25 กันยายน 2020


วงจรอุบาทว์… สลากเกินราคา! ต้นตอของปัญหาอยู่ที่ไหน ทำไมสำนักงานสลากฯ แก้ไม่ได้

ปัญหาขายสลากเกินราคา เอาเปรียบผู้บริโภค เป็นวงจรอุบาทว์ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลพยายามแก้ปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งตัดโควตาสลากของตัวแทนจำหน่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับคนพิการ โยกมาขายในระบบการซื้อ-จองล่วงหน้าผ่านธนาคารกรุงไทย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ค้าตัวจริงได้ได้เข้าถึงสลาก ควบคู่ไปกับการเพิ่มปริมาณการพิมพ์สลากออกขายจาก 37 ล้านฉบับขึ้นเป็น 100 ล้านฉบับ หวังให้ซัพพลายท่วมตลาด ราคาจะได้ปรับลดลงโดยอัตโนมัติ ปรากฏว่าล้มเหลว บรรดายี่ปั๊ว ซาปั๊ว ต่างงัดกลยุทธ์หาช่อง โดยนำสลากที่ได้รับจัดสรรมารวมชุด ขายชุดละ 5 ใบ 10 ใบ 15 ใบ และ 30 ใบ

  • หวยขายเกลี้ยง 6 ปี จาก 37 ล้านใบ เป็น 100 ล้านใบ ขายเกินราคายังแก้ไม่ได้!!
  • กองสลากฯ ออกหวยชุด 2 ใบ สลับเลข 4 ตัวหน้า ขาย 1 มี.ค. นี้ ดัดหลัง “ยี่ปั๊ว” ตั้งโต๊ะรับซื้อ รวมชุดขายเกินราคา
  • ดังนั้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่นิยมซื้อเลขชุด สำนักงานสลากฯ จึงจัดพิมพ์สลากรวมชุด 2 ใบ (เลขเหมือนกันทั้ง 6 หลัก) ออกมาขาย พร้อมกับปรับวิธีการจัดสรรสลากให้กับตัวแทนจำหน่ายสลากใหม่ แบบคละเลข ตามสูตร 2-2-1 โดยบังคับใช้เฉพาะสลากที่ซื้อ-จองล่วงหน้าผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทยจำนวน 67 ล้านฉบับ เริ่มตั้งแต่งวดวันที่ 1 มีนาคม 2562 หมายความว่าผู้ที่ไปซื้อ-จองสลากผ่านธนาคารกรุงไทยคนละ 5 เล่ม (500 ใบ) จะได้รับการจัดสรรสลากรวมชุด 2 ใบ ซึ่งมีเลขเหมือนกันทั้ง 6 หลักจำนวน 2 เล่ม ส่วนอีก 2 เล่ม ถัดมาจะเป็นสลากรวมชุด 2 ใบ เลขเหมือนกันทั้ง 6 หลัก แต่เป็นเลขที่ไม่ซ้ำกับ 2 เล่มแรก และที่เหลืออีก 1 เล่ม เป็นสลากใบเดี่ยว เลขสลาก 4 ตัวหน้าไม่เหมือนกันเลย (คละเลข) ส่วนเลขท้าย 2 ตัว เรียงลำดับตั้งแต่ 00-99

    ส่วนสลากที่ได้รับการจัดสรรผ่านระบบโควตาจำนวน 33 ล้านฉบับ ยังคงจัดสรรสลากแบบเรียงเลขเหมือนเดิม ผลปรากฏว่าล้มเหลวอีก บรรดายี่ป๊ว ซาปั๊ว ไปตั้งโต๊ะรับซื้อสลากจากผู้ที่ซื้อ-จองจากธนาคารกรุงไทย เอามารวมกับสลากระบบโควตา 33 ล้านฉบับ (เรียงเลข) ขายชุดละ 5 ใบ 10 ใบ 15 ใบ ราคาไม่ต่ำกว่า 120 บาทต่อใบ ส่วนสลากใบเดี่ยวขายกันใบละ 100 บาทเกือบทุกแผง

    ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 ที่ประชุมบอร์ดสลากฯ มีมติปรับเกณฑ์การจัดสรรสลากทั้งระบบโควตาและระบบซื้อ-จองผ่านธนาคารกรุงไทยเป็นระบบเดียวกันทั้งหมด ทั้งนี้ แก้ปัญหาการนำสลากมารวมชุดขายเกิน 2 ใบทำได้ยากขึ้น โดยจะเสนอให้บอร์ดสลากฯ พิจารณาตัดสินใจว่าจะเลือกใช้สูตรการจัดสรรสลากแบบ 2-2-1 หรือ 2-1-1-1 อีกครั้งในเดือนตุลาคม 2563 และเริ่มดำเนินการตั้งแต่งวดประจำวันที่ 1 ธันวาคม 2563

    มาตรการดังกล่าวนี้มุ่งแก้ปัญหาสลากรวมชุดขายเกินราคาเป็นหลัก ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าดึงสลากใบเดี่ยวลงมาขายใบละ 80 บาทได้จริงหรือไม่ คงต้องย้อนกลับไปดูต้นตอของปัญหา แท้จริงแล้วมีที่มาที่ไปอย่างไร

    ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อน สลากที่พิมพ์ออกขาย 100 ล้านฉบับ ประกอบด้วยสลากกินแบ่งรัฐบาล 89 ล้านฉบับ และสลากการกุศล 11 ล้านฉบับ แต่เนื่องจากสำนักงานสลากฯ ไม่มีช่องทางการจัดจำหน่ายเป็นของตนเอง ต้องขายผ่านตัวแทนจำหน่ายสลากเพียงช่องทางเดียว เมื่อรับสลากไปแล้วจะไปขายถูก ขายแพง รวมชุดขาย ล้วนอยู่นอกเหนือการควบคุมของสำนักงานสลากฯ ตรงนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสำนักงานสลากฯ เอง และน่าจะเป็นจุดเริ่มของปัญหาทั้งหมดที่กำลังจะกล่าวต่อไป

    จัดสรรสลากอย่างไร

    สลาก 100 ล้านฉบับ แต่ละงวดสำนักงานสลากฯ จัดสรรให้ตัวแทนจำหน่ายอย่างไร หลักๆ ก็จะมีอยู่ 2 วิธี คือ วิธีที่ 1 จัดสรรสลาก 33 ล้านฉบับ ผ่านระบบโควตาให้กับตัวแทนจำหน่าย 35,000 ราย และวิธีที่ 2 จัดสรรสลากไม่เกิน 67 ล้านฉบับ แบ่งเป็นสลากซื้อ 5 ล้านฉบับ และสลากจอง 62 ล้านฉบับ ผ่านระบบซื้อ-จองล่วงหน้าของธนาคารกรุงไทย กระจายให้กับผู้ค้าสลากรายย่อยที่มาลงทะเบียนทั้งหมด 159,661 ราย แต่มีผู้ที่ได้รับสลากไปขายจริงแค่ 134,000 รายต่องวด (คนละ 500 ฉบับ) แล้วที่เหลือ 25,661 ราย จองซื้อไม่ได้ เอาสลากที่ไหนมาขาย ก็ไปซื้อต่อจากยี่ปั๊ว ซาปั๊ว หรือ คนที่จองซื้อสลากได้

    ใครได้กันบ้าง

    สลาก 100 ล้านบาท ใครได้บ้าง แต่ละงวดจะมีตัวแทนจำหน่ายสลากได้รับจัดสรรโดยตรงจากสำนักงานสลากฯ ประมาณ 191,969 ราย แยกตามวิธีการจัดสรรตามที่กล่าวข้างต้นจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

    กลุ่มแรก เป็นตัวแทนจำหน่ายดั้งเดิมที่ได้รับจัดสรรสลากตามโควตาจำนวน 33 ล้านฉบับ กลุ่มนี้จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย ได้แก่

    • กลุ่มผู้ค้าสลากรายย่อยทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคจำนวน 28,519 ราย ได้รับจัดสรรโควตาสลาก 15.63 ล้านฉบับ คิดเป็นสัดส่วน 15.63% ของสลากทั้งหมด 100 ล้านฉบับ
    • ถัดมาเป็นกลุ่มคนพิการจำนวน 3,592 ราย ได้รับจัดสรรสลาก 1.8 ล้านฉบับ คิดเป็นสัดส่วนแค่ 1.8% ของสลากทั้งหมด
    • กลุ่มมูลนิธิ สมาคม องค์กร จำนวน 899 ราย ได้รับจัดสรรสลาก 15.57 ล้านฉบับ คิดเป็นสัดส่วน 15.57% ของสลากทั้งหมด เหตุผลที่สำนักงานสลากฯ ต้องจัดสรรสลากให้กับกลุ่มมูลนิธิ สมาคม องค์กร ต่างมากเป็นพิเศษ เพราะต้องนำไปจัดสรรต่อให้กับสมาชิกในสังกัด ซึ่งเป็นคนพิการประมาณ 25,858 ราย

    กลุ่มที่ 2 เป็นผู้ค้าสลากรายย่อยทั่วไป สามารถซื้อ-จองสลากล่วงหน้า รวม 67 ล้านฉบับ ผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย แบ่งเป็นกลุ่มสลากซื้อมีผู้ได้รับสลาก 10,000 ราย คนละ 5 เล่ม (1 เล่มมี 100 ฉบับ) รวม 5 ล้านฉบับ คิดเป็นสัดส่วน 5% และกลุ่มสลากจองล่วงหน้า เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดได้รับจัดสรรสลาก 124,000 ราย คนละ 5 เล่ม รวม 62 ล้านฉบับ คิดเป็นสัดส่วน 62% ของสลากทั้งหมด

    พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก

    จัดสรรสลาก “เสรีผสมผูกขาด”

    ที่มาของการจัดสรรสลาก 2 ระบบ เกิดขึ้นในสมัยที่ พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล พล.อ. อภิรัชต์ เคยมีแนวคิดที่จะยกเลิกระบบโควตาสลาก เพื่อสลายการผูกขาดช่องทางการจัดจำหน่ายสลาก แต่สุดท้ายก็ต้องถอย พอลงมือปฏิบัติ ทำได้แค่ยกเลิกหรือตัดโควตาตัวแทนจำหน่ายสลากฯ ประเภทบริษัท ห้างร้าน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคนพิการออกไป หรือที่รู้จักกันดีในนามของ “กลุ่ม 5 เสือ สี่แยกคอกวัว” สำหรับตัวแทนจำหน่ายสลากฯ ประเภทมูลนิธิ สมาคม องค์กรการกุศล และผู้ค้าสลากรายย่อยที่เป็นคนพิการ ยังคงได้รับการจัดสรรสลากฯ ตามสัดส่วนเดิม

    สาเหตุที่สำนักงานสลากฯ ไม่สามารถยกเลิกระบบโควตาสลากได้ รวมไปถึงการสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายสลากใหม่ๆ เป็นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นออนไลน์หรือแอปพลิเคชัน เนื่องจากเกรงว่าคนพิการกลุ่มนี้จะขาดรายได้ แต่ถ้าดูจากข้อมูลที่นำมาแสดงจะเห็นได้ว่ามีผู้ค้าสลากรายย่อยที่เป็นคนพิการอยู่ 3,592 ราย และยังมีคนพิการที่เป็นสมาชิกในสังกัดมูลนิธิ สมาคม และองค์กรการกุศลอีก 25,858 ราย ซึ่งทางสำนักงานสลากฯ ได้ส่งรายชื่อทั้งหมดให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตรวจเช็คกับฐานข้อมูลคนพิการที่มาขึ้นทะเบียน 2 ล้านคนแล้วได้รับการยืนยันจาก พม. ว่าเป็นผู้พิการจริง คนพิการกลุ่มนี้จึงได้รับการจัดสรรโควตาสลากมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนโควตาของ 5 เสือที่ถูกยกเลิกไป ก็ถูกโอนมาผสมกับสลากในส่วนที่พิมพ์เพิ่ม นำมาจัดสรรผ่านระบซื้อ-จองล่วงหน้าของธนาคารกรุงไทย

    สรุปวิธีการจัดสรรสลากฯ ให้กับตัวแทนจำหน่ายในปัจจุบันใช้รูปแบบผสมผสาน ระหว่างระบบโควตากับระบบซื้อ-จอง หรือพูดแบบง่ายๆ คือ “กึ่งเสรี-กึ่งผูกขาด” นั่นเอง

  • 4 ปี รัฐบาล คสช. กับการแก้ปัญหาสลาก ยิ่งแก้ยิ่งขายเกินราคา
  • ทำไมต้องขายเกินราคา

    ถามว่าทำไมต้องสลากขายเกินราคา ประการแรก สลากไม่พอขาย สำนักสลากฯ จัดสรรสลากให้ผู้ค้าสลากน้อยเกินไป คนละ 5 เล่ม หรือ 500 ใบ หากผู้ค้าสลากขายตามราคาที่กำหนด ใบละ 80 บาท ขายหมดเกลี้ยงจะมีรายได้ 4,800 บาทต่องวด หรือเดือนละ 9,600 บาท (1 เดือนมี 2 งวด) เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรับสลากมาตระเวนขาย ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าอาหาร ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพแน่นอน

    ถามว่าทำไมจัดสรรให้แค่ 5 เล่ม เหตุผลคือสำนักงานสลากฯ ต้องการกระจายสลากให้ถึงมือผู้ค้าตัวจริงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเจตนารมณ์เดิมต้องสร้างอาชีพเสริมให้กับประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรใช้เวลาว่างจากการทำไร่ ทำนา ก็มาขายสลากเป็นรายได้เสริม แต่มาในระยะหลังเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดฯ ทั้งคนจนในเมืองและเกษตรกรส่วนหนึ่งจึงหันมายึดอาชีพขายหวยเป็นหลัก

    สลากที่ได้รับจัดสรรคนละ 5 เล่มไม่พอขาย ถึงแม้จะขายหมดเกลี้ยงก็ไม่พอกิน แล้วจะทำอย่างไร มี 2 วิธี คือ 1. เพิ่มยอดขาย โดยการไปหาซื้อสลากจากยี่ปั๊วมาขายเพิ่ม และ 2. ขายเกินราคา จึงมีผู้ค้าสลากรายย่อยบางกลุ่มเรียกร้องให้สำนักงานสลากฯ พิมพ์เพิ่มให้เพียงพอกับความต้องการของผู้ขาย และนำมาจัดสรรเพิ่ม จากคนละ 5 เล่ม เพิ่มเป็น 10 เล่ม หากขายตามราคาที่กำหนดจะทำให้ผู้ค้าสลากมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดือนละ 9,600 บาท เป็น 19,200 บาท แต่สำนักงานสลากฯ ไม่เห็นด้วย มองว่าการเพิ่มปริมาณสลากไม่ใช่หนหาทางในการแก้ปัญหา เพราะในอดีตจาก 37 ล้านฉบับ เพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านฉบับ ทุกวันนี้ก็ยังขายสลากเกินราคากันเกือบทุกแผง

    ประการที่ 2 ระบบพ่อค้าคนกลาง ตรงนี้คือปัญหาเชิงโครงสร้างของสำนักงานสลากฯ ตามที่กล่าวข้างต้น ต้องพึ่งพาตัวแทนจำหน่ายสลากเป็นหลัก เพราะมีช่องทางการขัดจำหน่ายเพียงช่องทางเดียว เมื่อตัวแทนจำหน่ายสลากได้รับการจัดสรรสลากไปแล้วนำไปขายเอง หรือขายต่อ ขายถูก ขายแพง ตรวจสอบยาก และที่สำคัญอยู่นอกเหนือการควบคุมของสำนักงานสลากฯ ปัญหานี้อยู่คู่กับสำนักงานสลากฯ มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง

    ปัจจุบันในประเทศไทยมีตลาดซื้อ-ขายสลากหลักๆ มีอยู่ 3 แห่ง คือ ที่สี่แยกคอกวัว, ศูนย์การค้าสลากไทย สนามบินน้ำ ข้างสำนักงานสลากฯ และตลาดค้าส่งสลากอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นแหล่งรับซื้อสลากขนาดใหญ่ มีทั้งยี่ปั๊วรายเก่าและรายใหม่ เปิดบริการรับซื้อสลากจากผู้ที่ได้รับการจัดสรรสลากตามโควตาระบบเดิม และผู้ที่ซื้อ-จองสลากผ่านธนาคารกรุงไทย รวมทั้งขายสลากให้กับผู้ค้านอกระบบที่ไม่ได้รับการจัดสรรโควตา หรือซื้อ-จองผ่านธนาคารกรุงไทยไม่ได้ในระยะหลังๆ ไปจอดรถรับซื้อที่หน้าไปรษณีย์ ซื้อกันแบบยกกล่อง (5 เล่ม) กล่องละ 45,000-50,000 บาท เพื่อเอามารวมชุดขาย

    ประการที่ 3 สำนักงานสลากฯ จัดสรรสลากบางส่วนไม่ถึงมือผู้ค้าสลากจริง ปรากฏว่าปัจจุบันมีอาชีพใหม่เกิดขึ้น โดยผู้ค้าสลากกลุ่มหนึ่งที่มาลงทะเบียนไว้กับสำนักงานสลากฯ เพื่อใช้สิทธิเข้ามาซื้อ-จองสลากผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย ใช้เงินลงทุนงวดละ 35,200 บาท เมื่อซื้อ-จองสลากได้แล้วไม่ได้นำไปขายเอง แต่เอาไปขายต่อให้ยี่ปั๊ว หรือผู้ค้าสลากที่ซื้อ-จองไม่ได้ ขายแบบยกกล่อง กล่องละ 45,000 บาท ได้กำไรทันทีงวดละ 9,800 บาท เดือนละ 19,600 บาท ไม่ต้องเดินขายสลากให้เหนื่อย

    ประการที่ 4 สำนักงานสลากฯ ใช้วิธีขายขาด เลขไม่สวย เหลือ ขายไม่หมด ผู้ค้าสลากต้องรับภาระขาดทุน ตัวแทนจำหน่ายไม่มารับสลากไปขายก็ถูกยึดเงินประกัน นี่คือปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ผู้ค้าสลากต้องขายเกินราคาเพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด ขณะที่สำนักงานสลากฯ ไม่เดือดร้อนอะไร ทุกงวดมีรายได้เข้ากองสลากแน่นอน และจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณสลากที่พิมพ์ออกมาขาย จนปัจจุบันสำนักงานสลากฯ กลายเป็นรัฐวิสาหกิจที่นำเงินรายได้เข้าคลังสูงสุด ขึ้นอันดับ 1 แซง ปตท. และ กฟผ. มา 4 ปีต่อเนื่อง

    ประการที่ 5 ตัวแทนจำหน่ายไม่ปฏิบัติตามสัญญา ไม่ได้ขายเองเอาไปขายต่อ ตรงนี้หมายถึงตัวแทนจำหน่ายในระบบโควตาเดิม และผู้ค้าสลากที่ซื้อ-จองผ่านธนาคารกรุงไทย ได้รับการจัดสรรสลากมาแล้วไม่ได้ขายเอง นำสลากไปขายให้กับยี่ปั๊ว หรือผู้ค้านอกระบบ มีประมาณ 100,000 ราย รับสลากมาในราคาแพง กรณีนี้ก็ต้องขายเกินราคาทุกใบ

    ประการที่ 6 และ 7 เป็นพฤติกรรมของผู้บริโภค นิยมซื้อสลากรวมชุด เลขเด่น เลขดัง เพื่อให้ได้เลขที่ต้องการ ราคาแพงแค่ไหหนก็ยอมจ่าย

    ประการที่ 8 การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน เพื่อเพิ่มเรตติง เช่น การนำเสนอข่าวผู้ถูกรางวัลไปสักการะบูชาไอ้ไข่แล้วถูกรางวัลที่ 1 รับทรัพย์ 12 ล้านบาท อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว งูจงอางหรือตัวเงินตัวทองเข้ารถหรือเข้าบ้าน ซูมภาพไปที่ทะเบียนบ้านหรือเลขทะเบียนรถยนต์บุคคลสำคัญ จนกลายเป็นกระแสเลขเด่น เลขดัง ทำให้เลขกลุ่มนี้มีราคาแพงขึ้น

    ประการสุดท้าย สำนักงานสลากฯ ไม่มีผลิตภัณฑ์ทางเลือกอื่น มีเพียงลอตเตอรี่เพียงอย่างเดียว ครั้นจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างเช่นสลากออนไลน์ 12 นักษัตรหรือลอตโต้ก็จะถูกโจมตีว่ามอมเมา ครั้นสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายแบบใหม่ ทั้งสลากออนไลน์ หรือสลากดิจิทัล คู่ขนานไปกับารขายสลากใบ ก็ทำไม่ได้ กระทบหม้อข้าวผู้ค้าสลาก วนเป็นวงจรอุบาทว์ แก้อย่างไรก็แก้ไม่ได้