ThaiPublica > คอลัมน์ > เศรษฐกิจถึงเวลาเรียนรู้อยู่กับโควิด

เศรษฐกิจถึงเวลาเรียนรู้อยู่กับโควิด

26 กันยายน 2020


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

ความพยายามที่จะเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวหารายได้มาชดเชยรายได้ที่หายไปในช่วงโควิดของรัฐบาลของรัฐบาลมีมาอย่างต่อเนื่อง โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ประมาณว่ารายได้จากการท่องเที่ยวปีนี้ คงอยู่ประมาณ 7.4 แสนล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า ที่มีรายได้รวม 3 ล้านล้านบาทเศษโดยประมาณ หรือลดลงไปถึง 75 % แต่ถ้าหากมีรายได้เข้ามาจุนเจือบ้าง ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี ตัวเลขรายได้อาจจะแตะหลักล้านล้าน พอประคับประคองอุตสาหกรรมให้มีแรงจ้างแรงงานกว่า 4 ล้านคนในระบบต่อไปและหนุนให้เศรษฐกิจภาพรวมไม่ติดลบมากไปกว่าที่ประมาณการกันหลังศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด ฯ (ศบค.) ปลดล็อกให้ภาคธุรกิจขยับตัวได้มากขึ้น กระทรวงท่องเที่ยวฯได้นำเสนอแนวทางเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างจำกัด ให้ ศบค. พิจารณาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากจับคู่เที่ยว(ทราเวล บับเบิล)

สุดท้ายก็พับไปเมื่อเกิดการระบาดรอบสองในประเทศกลุ่มเป้าหมาย ตามด้วย “ภูเก็ตโมเดล” ซึ่งเดิมมีแผนจะเปิดตัวในวันที่ 1
ตุลาคมนี้ แต่สุดท้ายยังไม่มีความชัดเจน และมีข่าวว่าจะมีการเสนอแนวทาง “รับนักท่องเที่ยวอย่างจำกัด” ขึ้นมาใช้แทนการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา(แนวทาง)สะท้อนถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์ระบาดของโควิด และความลังเลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ(รมว.)กระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.ที่ดูเหมือนว่ายังคิดไม่ตกว่าจะให้เศรษฐกิจเดินหน้าและดูแลสุขภาพไปพร้อมๆกันได้อย่างไร

แต่ อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯและรมว.กระทรวงสาธารณสุข ไปประกาศในงานสัมมนาว่า “จะอยู่แบบมีผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ หรือไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ภายในประเทศ ห้ามการเดินทาง ห้ามธุรกิจกับต่างประเทศแบบนี้ต่อไปไม่ได้เพราะคนไทยจะตายก่อนติดเชื้อโควิด-19 ต้องกล้าเผชิญหน้าด้วยพื้นฐานความพร้อมด้านสาธารณสุข” (มติชน: 3 ส.ค.63)

ในส่วนสายคุณหมอมีทั้งแนวคิดให้ปิดประเทศต่อไปอีก 6 เดือนเพื่อลดความเสี่ยงจากการระบาดระลอกสองและความความคิดที่ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะยอมให้มีการติดเชื่อในระดับที่ยอมรับได้ เพื่อเปิดให้เศรษฐกิจขยับเขยื้อนได้บ้าง ก่อนหน้านี้ผมมีโอกาสสนทนากับ “หมอยง” ศจ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในประเด็นสาธารณสุขกับเศรษฐกิจ ปรมาจารย์ไวรัสวิทยาเมืองไทยบอกว่า

“ตนพูดเสมอว่ามันจะต้องอยู่ในจุดสมดุล โรคอะไรก็ตาม ทางสาธารณสุขต้องอยู่ในจุดที่ดูแลได้ ถ้าเยอะเกินๆไป (คนติดเชื้อ)
ต้องกดลงมาให้อยู่ในจุดที่ควบคุมได และในทางเศรษฐกิจต้องอยู่ได้ ทุกคนต้องอยู่ได้ การจะให้ถึงเป้าหมายเพื่อชนะโควิดเราต้องมีผ่อนหนักผ่อนเบา เหมือนกับการวิ่งมาราธอน บางครั้งต้องชะลอ จะเดินก็ต้องเดิน ในทำนองเดียวกันคือเดินเพื่อให้เศรษฐกิจมันเดินได้ หากฝ่ายโรครุกเข้ามานิดหนึ่งต้องออกแรงหน่อยสลับกันไป”

แม้ดูเหมือน พล.อ. ประยุทธ์ นายกฯ และรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.ยังไม่มีท่าทีว่าจะตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่าง แนวคิด ควบคุมการแพร่ระบาดอย่าให้โควิดโงหัวขึ้น กับจำนวนผู้ติดเชื้อไม่จำเป็นต้อง “ศูนย์” ขอให้เศรษฐกิจขยับได้บ้าง

แต่เชื่อว่าในท้ายที่สุดแล้ว สถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จะทำหน้าที่เป็นมือที่มองไม่เห็นชี้ทิศทางจากนี้ไปว่าจะไปทางซ้ายหรือเลี้ยวไปทางขวา

สถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในที่นี้หมายถึงรัฐบาลไม่สามารถหวนกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่ใช้ในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมได้อีกแล้วเพราะข้อจำกัดด้านการคลัง ที่ไม่สามารถหาเงินมาชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งรัฐบาลจำนวนมากๆได้อีก หลังออกพ.ร.ก.กู้เงินฯมูลค่ารวมกว่า 2 ล้านล้านบาท (วงเงินรวม) กรณีกระทรวงการคลังต้องกู้เพิ่มในช่วงท้ายปีงบประมาณฯ 2563 อีก 2.14 แสนล้านบาท ยืนยันข้อสรุปนี้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้การเปิดให้ระบบเศรษฐกิจได้ทำงาน ยังมีผลต่อแรงส่งทางเศรษฐกิจในช่วงท้ายปี และยังส่งผ่านไปถึงปีหน้าอีกด้วย

การแถลงภาพรวมเศรษฐกิจเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนของแบงก์ชาติ ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวตอนหนึ่งว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเป็น “ศูนย์” ต่อเนื่องมา 4 เดือน เขายังระบุด้วยว่าการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาได้จะเป็นปัจจัยสำคัญให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปีนี้และต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า (2564) แต่ถ้าไม่สามารถประเทศไทยจะเข้าสู่สภาวะสถานการณ์ต่างประเทศฟื้นแต่ไทยไม่ฟื้น ส่วนล่าสุดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 ได้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% พร้อมระบุว่าปี 2564 แนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัว “ชะลอลง” กว่าประมาณการเดิม โดย GDP ขยายตัว 3.6% จากประมาณการเดิมที่ 5% ภายใต้นักท่องเที่ยวต่างชาติ 9 ล้านคน จากคาดเดิม 16.2 ล้านคน

หากพิจารณาจากข้อจำกัดทางการคลังและความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ที่กล่าวถึงข้างต้นผนวกกับศักยภาพระบบสาธารณสุขไทยที่สามารถยันการระบาดของไวรัสโควิด-19 จนไม่เกิดวิกฤติคนไข้ล้นโรงพยาบาลเช่นในหลายประเทศ เชื่อว่าในท้ายที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯและรมว.กลาโหม คงเลือกแนวทางขับเคลื่อนสุขภาพและเศรษฐกิจไปพร้อมๆกันช่วงเวลานับจากนี้ ระบบเศรษฐกิจต้องเรียนรู้ที่อยู่กับไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะกลายเป็น “โรคประจำโลก” ไปในที่สุดจะบอกว่าเป็น นิวนอร์มอล คงไม่ผิด