ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เชื่อมโลกให้ไทยแล่น > สกพอ. จับมือกรมพัฒนาชุมชน-ม.บูรพา จ้าง “บัณฑิตอาสา” พัฒนาชุมชนใน EEC

สกพอ. จับมือกรมพัฒนาชุมชน-ม.บูรพา จ้าง “บัณฑิตอาสา” พัฒนาชุมชนใน EEC

23 กันยายน 2020


สกพอ. จับมือกรมพัฒนาชุมชน-ม.บูรพา จ้าง “บัณฑิตอาสาต้นแบบ” 1 ปี ลุยพัฒนาชุมชน 3 จังหวัดในเขตพื้นที่ EEC

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นประธาน พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สกพอ., กรมการพัฒนาชุมชน และมหาวิทยาลัยบูรพา ภายใต้ “โครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบ” โดยมีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณยศ คุรุกิจโกศล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมลงนาม ณ ห้องศรีราชา วิทยาลัยการพัฒนาชุมชน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า สำหรับกรอบความร่วมมือในเบื้องต้น ทาง สกพอ. จะเป็นหน่วยงานหลัก โดยใช้งบประมาณจากกองทุน EEC มาสนับสนุนโครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบ ส่วนกรมพัฒนาชุมชนจะทำหน้าที่รับสมัครและคัดเลือกบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทโดยไม่จำกัดสาขา พร้อมทั้งจัดการฝึกอบรมหลักสูตรบัณฑิตอาสา และประสานสนับสนุนการปฏิบัติงานของบัณฑิตอาสาในระดับพื้นที่ โดยใช้กลไกของพัฒนาการจังหวัด พัฒนาการอำเภอ และพัฒนากรผู้ประสานงานประจำตำบล ทำหน้าที่ดูแล ให้คำแนะนำ และเป็นที่ปรึกษาแก่บัณฑิตอาสา สำหรับมหาวิทยาลัยบูรพาจะสนับสนุนงานทางด้านวิชาการ รวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลตามหลักวิชาการ บริหารจัดการฐานข้อมูล และให้บริการข้อมูล พร้อมทั้งออกแบบพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรม สัมภาษณ์ และรับเทียบโอนหน่วยกิตสำหรับบัณฑิตอาสาที่ประสงค์จะศึกษาต่อในระดับปริญญาโท รวมทั้งประเมินผลความสำเร็จของโครงการด้วย

“ที่มาของโครงการนี้ เกิดจากการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อรองรับนักศึกษาที่กำลังจบใหม่ ได้มอบหมายให้ สกพอ. จัดทำโครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบ โดยทำการศึกษาร่วมกับกรมพัฒนาชุมชนและมหาวิทยาลัยบูรพา ลองคิดดู หากเรานำเงินมาจ้างบัณฑิตจบใหม่ให้ไปนั่งอยู่ตามอำเภอ เพื่อมาทำงานวิจัยและพัฒนาชุมชน โดยที่ไม่มีหน่วยงานไหนมาดูแล เด็กๆ เหล่านี้ก็ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ดังนั้น การออกแบบโครงการนี้จึงต้องอาศัยกลไกของกรมพัฒนาชุมชน และความช่วยเหลือทางด้านวิชาการจากมหาวิทยาลัยบูรพา ส่วนประโยชนที่จะได้รับ ในระยะสั้นช่วยให้นักศึกษาจบใหม่ได้มีงานทำ ส่วนในระยะยาวเราคาดหวังว่าจะสร้างบัณฑิตเหล่านี้ให้เป็นผู้นำชุมชนที่ดีในอนาคต” ดร.คณิศกล่าว

ดร. เกษมสันต์ จิณณวาโส ที่ปรึกษาพิเศษด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และดร. คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ.

ดร.เกษมสันต์ จิณณวาโส ที่ปรึกษาพิเศษด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สพกอ.) กล่าวว่า โครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบ เดิมกำหนดระยะเวลาในการจ้างเอาไว้ 85 วัน วันละ 500 บาท แต่หลังจากเปิดรับสมัครไปแล้ว ปรากฎว่ามีนักศึกษามารายงานตัวแค่ 31 คน จึงนำงบประมาณส่วนที่เหลือมาเกลี่ย สามารถขยายระยะเวลาในการจ้างต่อได้อีก 170 วัน รวมแล้วเมื่อหักวันหยุดสามารถจ้างบัณฑิตอาสาได้เกือบ 1 ปี ในหลักการที่ตกลงกันไว้หลังจากนักศึกษาผ่านการอบรมจากมหาวิทยาลัยบูรพาในเบื้องต้นแล้ว เราก็ส่งบัณฑิตอาสาลงไปทำงานในพื้นที่โดยมีเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาชุมชนเป็นพี่เลี้ยง สำรวจข้อมูลปัญหาต่างๆ และความต้องการชาวบ้าน โดยเราจะสอนให้บัณฑิตอาสาเหล่านี้เขียนข้อเสนองานวิจัยส่ง สกพอ. ด้วย เพื่อนำมารวมไว้เป็นนโยบายของ EEC ในการแก้ไขปัญหาของท้องถิ่น หากข้อเสนองานวิจัยชิ้นไหนเป็นโครงการที่ดีสามารถนำไปขยายผลต่อยอดได้ เราก็จะส่งข้อเสนองานวิจัยดังกล่าวไป ขอทุนสนับสนุนจากกองทุน EEC มาให้บัณฑิตอาสาเหล่านี้ใช้ในการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

ด้าน ดร.ณยศ คุรุกิจโกศล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ในส่วนของมหาวิทยาลัยบูรพาได้จัดเตรียมความพร้อมให้กับบัณฑิตอาสาเหล่านี้ก่อนที่จะออกไปทำงานร่วมกับกรมพัฒนาชุมขน โดยในเบื้องต้นนักศึกษาจะได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูลพื้นฐานของชาวบ้านในพื้นที่ EEC และรวบรวมปัญหาพื้นฐานต่างๆ จากนั้นก็จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลตามหลักวิชาการ โดยนำงานวิจัยของมหาวิทยาลัยบูรพา มาประยุกต์จัดทำเป็นโครงการพัฒนาชุมขนในแต่ละพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบ เพื่อส่งให้ สกพอ. นำไปใช้ในการพัฒนาต่อยอดต่อไป ส่วนบัณฑิตอาสาที่สนใจจะศึกษาปริญญาโทต่อ สามารถนำประสบการณ์จากการทำงานเป็นบัณฑิตอาสามาเทียบโอนเป็นหน่วยกิตได้ หรือ พูดง่ายๆ คือจะทำให้ระยะเวลาในการเรียนปริญญาโทสั้นลง โดยนักศึกษาสามารถเรียนปริญญาโทควบคู่ไปพร้อมกับการทำงานเป็นบัณฑิตอาสาได้ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยคาดหวังว่าจะสามารถผลิตมหาบัณฑิตที่มีความรู้ความเข้าใจในปัญหาของชุมชนในแต่ละพื้นที่ และนำความรู้ประสบการณ์ที่ได้จากโครงการนี้ไปใช้ในการทำงานต่อไป

“ในเบื้องต้นคงต้องให้นักศึกษาเหล่านี้ออกไปสำรวจปัญหาพื้นฐานของแต่ละชุมชนมาทำการวิเคราะห์พร้อมข้อเสนอแนะเป็นเฟสแรก จากนั้นในเฟสที่ 2 เราก็จะนำข้อมูลมาสังเคราะห์ออกมาเป็นโครงการพัฒนาชุมชนในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำมาใช้ในการขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และ ตรงกับความต้องการของชาวบ้านอย่างแท้จริงตามหลัก demand driven” ดร.ณยศกล่าว