ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้ว่าธปท.แนะรัฐลดมาตรการช่วยแบบ “เหวี่ยงแห” หวั่นธุรกิจเป็น “ซอมบี้ เฟิร์ม”

ผู้ว่าธปท.แนะรัฐลดมาตรการช่วยแบบ “เหวี่ยงแห” หวั่นธุรกิจเป็น “ซอมบี้ เฟิร์ม”

28 กันยายน 2020


ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ผู้ว่าธปท.แนะรัฐลดมาตรการช่วยเหลือแบบ “เหวี่ยงแห” หวั่นธุรกิจเป็น “ซอมบี้ เฟิร์ม” อาศัยจังหวะโควิดฯ เร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ-ลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2563 หัวข้อเรื่อง “ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ทำอย่างไรให้เกิดได้จริง” (Restructuring The Thai Economy) ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานสัมมนาเป็นครั้งสุดท้ายก่อนอำลาตำแหน่งครบวาระ 5 ปีในวันที่ 30 กันยายน 2563 โดยมีเนื้อหารายละเอียดดังต่อไปนี้

ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่มีความท้าทายยิ่ง เพราะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติด้านสาธารณสุข ที่ส่งผลให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ไม่มีใครทราบว่าวิกฤติครั้งนี้จะจบลงเมื่อไหร่และจบลงอย่างไร การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะใช้เวลายาวแค่ไหน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายหลังวิกฤติโควิด จะเปลี่ยนไปอย่างไร

แต่ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า ชีวิตวิถีใหม่และธุรกิจวิถีใหม่ในโลกหลังโควิด หลายอย่างจะต่างไปจากเดิม การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ได้ทำให้เราเห็นปัญหาเศรษฐกิจไทยที่สะสมมายาวนาน “ชัดเจนขึ้น” และโควิด-19 ได้ส่งผลให้ปัญหาเหล่านี้รุนแรงยิ่งขึ้นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเสื่อมถอยของผลิตภาพ การขาดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำที่อยู่ในระดับสูง และการขาดภูมิคุ้มกันในอีกหลายระดับของสังคมไทย

ปัญหาเหล่านี้คือปัญหาเชิงโครงสร้าง การแก้ปัญหาเหล่านี้จึงต้องแก้ด้วยการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการพูดคุยกันการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง หลายเวที แต่ก็ยัง “ไม่เกิดผลจริง” หัวข้องานสัมมนาวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทยในปีนี้ จึงต้องการตอบโจทย์ “ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ทำอย่างไรให้เกิดได้จริง”

โดยคนไทยจะอยู่ดีกินดีได้อย่างยั่งยืนนั้น ระบบเศรษฐกิจไทยต้องมีรากฐานที่ดีอย่างน้อย 3 ด้าน

    ด้านที่ 1 คนไทยและธุรกิจไทยต้องมีผลิตภาพสูงและมีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้
    ด้านที่ 2 คนไทยและเศรษฐกิจไทยต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดี และสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ในโลกที่ผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือสูง
    และด้านที่ 3 การกระจายผลประโยชน์จากการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจะต้องทั่วถึง และไม่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยรุนแรงขึ้น

ชี้เศรษฐกิจไทยอ่อนแอลง ทั้งในระดับจุลภาค-มหภาค

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอทั้ง 3 ด้านนี้เพิ่มขึ้นทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค

ประการแรก ด้านผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขัน ในระดับจุลภาคธุรกิจไทยจำนวนมากทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรมีผลิตภาพต่ำ ซึ่งมีเหตุผลมาจากการขาดแรงจูงใจและแรงกดดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม ต้องเผชิญอุปสรรคในการพัฒนาทักษะและการเข้าถึงเทคโนโลยี นอกจากนี้ การโยกย้ายแรงงานและทุนจากภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพสูง ยังถูกจำกัดด้วยปัจจัยหลายประการ เช่น กฎเกณฑ์กติกาของภาครัฐที่ล้าสมัยและเอื้อต่อธุรกิจขนาดใหญ่ การผลิตและห่วงโซ่อุปทานในหลายอุตสาหกรรมถูกควบคุมด้วยผู้ผลิตรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ขาดการแข่งขันระหว่างธุรกิจอย่างจริงจัง ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่อาจมีนวัตกรรมหรือแนวคิดใหม่ๆ ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดเพื่อแข่งขันกับผู้ประกอบขนาดใหญ่ที่เป็นเจ้าตลาดอยู่เดิมได้ ในบางภาคเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการเอกชนยังต้องแข่งขันกับรัฐวิสาหกิจที่มีข้อได้เปรียบหลายด้านด้วย ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขาดพลวัตการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจ ขาดประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกของประเทศไทยถูกลดทอนลง

ในระดับมหภาค โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพิงการผลิตและบริการแบบดั้งเดิมอยู่มาก ในขณะที่การปรับตัวสู่เศรษฐกิจสำหรับโลกใหม่เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้บทบาทของผู้ผลิตไทยในห่วงโซ่อุปทานยังจำกัดอยู่ในกิจกรรมการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ในขณะที่กิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงโดยเฉพาะที่เน้นการวิจัยและพัฒนา และกิจกรรมที่อาศัยดิจิทัลและแพลตฟอร์มเป็นฐาน ยังไม่พัฒนาอย่างแพร่หลาย ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีพื้นฐานดีและได้เปรียบประเทศอื่นเป็นทุนเดิมในหลายอุตสาหกรรม

รากหญ้า – SMEs ขาดการเข้าถึงแหล่งเงิน เน้นพึ่งพิงส่งออก

ประการที่ 2 เศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันต่ำและขาดความสามารถในการรับมือกับภัยต่างๆ เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข เพราะโลกข้างหน้าต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงขึ้น ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความไม่แน่นอนในมิติใหม่ๆ ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจด้วย เช่น สภาวะโลกร้อนและอากาศแปรปรวน และการแพร่กระจายของโรคอุบัติใหม่ที่จะเพิ่มสูงขึ้น

ในระดับจุลภาค ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจไทยมีความเปราะบางทางการเงิน ครัวเรือนและธุรกิจจำนวนมากโดยเฉพาะเอสเอ็มอี มีข้อจำกัดในการเข้าถึงการออมและสินเชื่อ ทำให้ไม่มีแหล่งเงินสำรองไว้ใช้ในยามวิกฤติ รวมทั้งไม่สามารถกู้ยืมเงินเพิ่มจากสถาบันการเงินในระบบได้ในสถานการณ์ที่จำเป็นเร่งด่วน

นอกจากนี้ แรงงานและผู้ประกอบการจำนวนมากทั้งในและนอกระบบ ไม่มีกลไกภาครัฐที่จะดูแลได้ทั่วถึง แรงงานเหล่านี้ยังมีข้อจำกัดทั้งด้านทักษะและความสามารถในการปรับตัวเมื่ออาชีพที่ทำอยู่กำลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด

ในระดับมหภาค โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพิงเศรษฐกิจต่างประเทศมาก ปฏิเสธไม่ได้ว่า การส่งออกสินค้าและบริการเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่การพึ่งพิงดังกล่าวก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจไทย ทำให้เศรษฐกิจไทยเปราะบางและได้รับผลกระทบรุนแรงในยามที่เศรษฐกิจโลกทรุดลง ดังจะเห็นได้จากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ติดลบสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศจากวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้

เผยคนไทยเผชิญความเหลื่อมล้ำตั้งแต่เกิด

ประการที่ 3 ผลประโยชน์จากการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย “กระจุกตัวสูง” และมีความเหลื่อมล้ำในหลายๆ มิติ คนไทยต้องเผชิญความเหลื่อมล้ำทั้งโอกาสตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่มีความรู้น้อย มีทุนทรัพย์น้อย มักจะมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ตั้งแต่แรกเกิด เมื่อโตขึ้นมาก็มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาเข้าถึงบริการสุขภาพและทรัพยากรต่างๆ ที่แตกต่างกัน เด็กจากครอบครัวยากจนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาร้อยละ 5 ในขณะที่เด็กจากครอบครัวที่มีฐานะดีเกือบทั้งหมดมีโอกาสศึกษาต่อในระดับอุคมศึกษา ความเหลื่อมล้ำช่วงประถมวัยนี้ ได้ส่งผลต่อไปยังโอกาสในการทำงาน การประกอบกิจการและรายได้แตกต่างกัน ความได้เปรียบเสียเปรียบยัง “สะสมเพิ่มขึ้น” เรื่อยๆ ตลอดช่วงอายุและส่งผ่านต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลายอีกด้วย

ความเหลื่อมล้ำสูงในมิติต่างๆ สะท้อนให้เห็นจากตัวเลขการกระจุกตัวทางเศรษฐกิจ ในภาคครัวเรือน ประชากรที่มีรายได้สูงสุดร้อยละ 1 แรกของประเทศ มีรายได้รวมกันถึงร้อยละ 20 ของรายได้ทั้งหมดของประชากรทั้งประเทศ ส่วนในภาคการผลิต ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุดร้อยละ 5 ครองส่วนแบ่งรายได้ร้อยละ 85 ของการผลิตนอกภาคเกษตร ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้เป็นทั้งอาการและสาเหตุของปัญหาที่นำไปสู่ปัญหาทางสังคมอย่างมาก

นอกจากนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังกระจุกตัวในเชิงพื้นที่ ผลผลิตมวลรวมรายจังหวัดต่อหัวของจังหวัดที่สูงสุด “สูงกว่า” จังหวัดที่ต่ำสุด ถึง 18 เท่า

“สถานการณ์โควิด-19 ได้ซ้ำเติมปัญหาเหล่านี้ให้รุนแรงยิ่งขึ้น ครัวเรือน แรงงาน และผู้ประกอบการได้รับผลกระทบอย่างมาก มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดชั่วคราวและอุปสงค์ที่หดตัวรุนแรง แต่ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวนมากต้องปิดกิจการ ส่วนธุรกิจที่ยังเปิดดำเนินการอยู่ก็มียอดขายลดลง ธุรกิจจำนวนมากต้องเลิกการจ้างงานหรือลดชั่วโมงการจ้างลง ครัวเรือนและธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดนี้ ส่วนใหญ่มีข้อจำกัดในการปรับตัวและการรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ อยู่แต่เดิมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดการเข้าถึงทุน ข้อจำกัดในการพัฒนาทักษะ การใช้เทคโนโลยี วิกฤติครั้งนี้จึงซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำให้รุนแรงยิ่งขึ้นด้วย”

นอกจากนี้ โครงสร้างอุตสาหกรรมทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมาก วิกฤติโควิด-19 จะทำให้หลายอุตสาหกรรมทั่วโลกมีกำลังการผลิตส่วนเกิน “สูงต่อเนื่อง” ไปอีกหลายปี หากกำลังการผลิตส่วนเกินนี้ไม่ถูกจัดการโยกย้ายไปสู่ภาคการผลิตอื่น ผลิตภาพครัวเรือนของระบบเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะยิ่งลดต่ำลงไปอีก รวมทั้งผู้ประกอบการที่อยู่ในภาคการผลิตเหล่านี้ จะมีทุนลดลงเรื่อยๆ ขาดภูมิคุ้มกันที่จำเป็นสำหรับการเผชิญภัยและความท้าทายในอนาคต

“เราไม่มีทางเลือก นอกจากต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เกิดผลได้จริง ชีวิตวิถีใหม่และธุรกิจวิถีใหม่หลังโควิด-19 จะต่างไปจากเดิมมาก การแข่งขันจะสูงขึ้น เพราะทั้งโลกมีกำลังการผลิตส่วนเกินในระดับสูง เศรษฐกิจไทยต้องสามารถจัดสรรโยกย้ายทรัพยากรไปสู่ธุรกิจที่มีผลิตภาพสูงให้ได้ ต้องเน้นที่การสร้างมูลค่าเพิ่มทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทานอย่างจริงจัง”

ในขณะเดียวกัน ก็ต้องพยายามลดการพึ่งพิงภาคเศรษฐกิจใดภาคหนึ่งจนมากเกินไป รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการกระจายทรัพยากรและกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ทั่วถึง การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เศรษฐกิจไทยมีผลิตภาพสูงขึ้น มีภูมิคุ้มกันดีขึ้นและมีความเหลื่อมล้ำลดลง เป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนครับ เป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 และเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนให้แก่คนไทยในระยะยาว การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจให้สำเร็จนั้น ต้องทำงานร่วมกันทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค

โดยนโยบายมหภาค ต้องกำหนดทิศทางภาพใหญ่ให้ชัดเจน ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดและทราบถึงแรงจูงใจเพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจปรับตัวไปในทิศทางที่ควร ในขณะเดียวกัน มาตรการในระดับจุลภาค หลายหน่วยงานต้องประสานและบูรณาการกัน เพื่อลดอุปสรรคการปรับตัวของแรงงานและธุรกิจ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมได้โดยง่าย ลดความซ้ำซ้อน ลดการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ และลดการสร้างความบิดเบือน ความลักลั่น และความไม่เป็นธรรมในระบบ

บทบาทสำคัญของภาครัฐด้านหนึ่ง คือ การสร้างกลไกเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความล้มเหลวของตลาด ที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า market failure เช่น การส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม การสร้างแรงจูงใจในการเพิ่มผลิตภาพ การเปิดเสรีให้ผู้ประกอบการรายใหม่สามารถเข้าสู่ตลาดและสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ครองตลาดอยู่เดิมได้โดยง่าย การลดอุปสรรคและลดต้นทุนจากกฎเกณฑ์ภาครัฐที่ล้าสมัย ซ้ำซ้อนและไม่จำเป็น รวมถึงการลดความลักลั่นขัดแย้งของกฎเกณฑ์และนโยบายระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเอง

นอกจากนี้ ภาครัฐจะยังมีส่วนสำคัญในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มดิจิทัล การส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ เพื่อรองรับการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะอย่างเปิดกว้าง และการกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

“เราต้องตระหนักว่านโยบายมหภาค หรือ นโยบายภาพใหญ่เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้เกิดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจได้จริง ในระดับจุลภาค ครัวเรือน แรงงานและผู้ประกอบการ ต้องได้รับความช่วยเหลือให้ปรับตัวได้อย่างรวดเร็วด้วย แรงงานต้องสามารถพัฒนาทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของโลกใหม่ ผู้ประกอบการต้องสามารถปรับตัวรองรับการแข่งขันที่สูงขึ้น ใช้เทคโนโลยีทุกกระบวนการทำงานและลดการพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐในระยะยาว”

สำหรับบทบาทของภาครัฐที่สำคัญ คือ ต้องสร้างและสนับสนุนกลไกที่จะช่วยให้แรงงานและผู้ประกอบการจำนวนมากสามารถพัฒนาผลิตภาพและทักษะได้อย่างรวดเร็ว ต้องสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมให้คนปรับวิถีชีวิตและวิถีการทำธุรกิจ ต้องลดต้นทุนในการปรับตัวของแรงงานและผู้ประกอบการ รวมไปถึงการจัดหากลไกที่จะช่วยลดความเสี่ยงให้ครัวเรือนและผู้ประกอบการที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตอีกด้วย

“การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องจำเป็นและต้องเริ่มทำทันทีเพื่อให้เกิดผลทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว ผมคิดว่าการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ มีข้อคำนึงถึงอย่างน้อย 3 ประการ ”

ประการแรก การเยียวยาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะสั้น ต้องสอดคล้องกับทิศทางการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว เนื่องจากวิกฤติครั้งนี้มีความไม่แน่นอนสูง และยังไม่มีใครทราบว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ในขณะที่ทุนของครัวเรือนและธุรกิจลดลงเรื่อยๆ และทรัพยากรของภาครัฐก็มีจำกัด การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหลายเรื่องจะต้องใช้ทรัพยากร เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอนาคต การทำธุรกิจวิถีใหม่และการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับตัวไปในทิศทางที่สอดรับโลกวิถีใหม่ ก็ต้องใช้ทุน ดังนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสมให้เกิดสมดุล ทั้งการเยียวยาหรือประคับประคองในช่วงสั้น และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและวิถีการทำธุรกิจสำหรับระยะยาว

อย่างไรก็ตาม จากการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีในประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสที่จะเดินหน้าปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและวิถีการทำธุรกิจได้เร็วกว่าอีกหลายประเทศ จึงต้องปรับน้ำหนักจากการให้ความช่วยเหลือเพื่อเยียวยา มาให้น้ำหนักการปรับโครงสร้างเพื่อรองรับโลกใหม่หลังโควิดเพิ่มขึ้น การให้เงินเยียวยาของภาครัฐแก่ผู้ตกงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ยังจำเป็นแต่ต้องทำควบคู่ไปกับการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการพัฒนาทักษะแรงงานการเพิ่มผลิตภาพของผู้ประกอบการ และการปรับตัวไปสู่วิถีการทำธุรกิจที่มีศักยภาพสูงในโลกยุคหลังโควิดด้วย

แนะลดมาตรการช่วยแบบ “เหวี่ยงแห” หวั่นธุรกิจเป็น “ซอมบี้ เฟิร์ม”

นอกจากนี้ เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 เกิดผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ กลุ่มธุรกิจและกลุ่มคนแต่ละกลุ่มแตกต่างกันมาก ภาครัฐจึงควร “ลด” การออกมาตรการช่วยเหลือแบบ “เหวี่ยงแห” เป็นการทั่วไปสำหรับทุกคน แต่ต้องเน้นไปให้ตรงจุดกับกลุ่มธุรกิจและกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เพราะแรงงานและผู้ประกอบการแต่ละรายมีความสามารถในการฟื้นตัวและปรับตัวที่แตกต่างกัน การช่วยเหลือทุกคนด้วยมาตรการเป็นการทั่วไป จะทำให้ทรัพยากรที่มีจำกัดอยู่แล้ว ถูกใช้ไปในลักษณะเบี้ยหัวแตกขาดประสิทธิผลและไม่คุ้มค่า

“เราปฏิเสธไม่ได้นะครับว่า ภาครัฐขาดความรู้และความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจ และอาจจะไม่สามารถคัดสรรผู้ประกอบการที่สมควรได้รับความช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน หลายเรื่องภาครัฐจึงยังไม่จำเป็นต้องดำเนินการเอง แต่ต้องอาศัยกลไกตลาดเป็นตัวช่วยในการคัดกรองอีกทาง และสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยภาครัฐมีบทบาทในการสนับสนุนกลไกเหล่านี้ให้ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ปัญหาหนึ่งที่เราพบเห็นจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกหลายรอบที่ผ่านมา คือ การที่ภาครัฐหลายๆ ประเทศให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจที่มีผลิตภาพต่ำ ไม่สามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้ด้วยตนเอง หากความช่วยเหลือจากภาครัฐยุติลง หรือที่เรียกกันว่าซอมบี้เฟิร์ม”

การให้ความช่วยเหลือที่มากเกินควรแก่ธุรกิจเหล่านี้ (ซอมบี้เฟิร์ม) มีผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจหลายประการ เพราะนอกจากจะทำให้ธุรกิจเหล่านั้น ขาดแรงจูงใจในการปรับตัวและพัฒนาผลิตภาพแล้ว กลไกการแข่งขันจะถูกบิดเบือนด้วย เพราะธุรกิจที่ได้รับความช่วยเหลือเหล่านี้ จะทำให้กำลังการผลิตส่วนเกินคงอยู่ต่อเนื่อง คอยตัดราคา ทำให้ธุรกิจที่ปรับตัวเองมีศักยภาพสูง “อยู่รอด” ได้ยากขณะเดียวกัน ภาครัฐควรส่งเสริมทรัพยากรที่ควรนำไปใช้ส่งเสริมในผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ทำให้การจัดสรรทรัพยากรในประเทศขาดประสิทธิภาพ ผลิตภาพโดยรวมมีประสิทธิผลลดลง และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ “ถดถอยลง” ด้วย

ประการที่ 2 การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง ถ้าเราไม่สามารถย้ายทรัพยากรจากภาคเศรษฐกิจหนึ่งไปสู่อีกภาคเศรษฐกิจหนึ่งได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องลดอุปสรรคในการโยกย้ายทรัพยากรข้ามธุรกิจและข้ามภาคเศรษฐกิจ วิกฤติโควิดทำให้อุปสงค์ในหลายอุตสาหกรรมเปลี่ยนผ่านอย่างถาวร การโยกย้ายทรัพยากรจากภาคเศรษฐกิจที่มีกำลังการผลิตส่วนเกิน ไปยังภาคเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูงกว่าจึงเป็นสิ่งจำเป็น การทำให้เกิดกระบวนโยกย้ายทรัพยากรให้มีต้นทุนต่ำลงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป

ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าการโยกย้ายข้ามธุรกิจข้ามเศรษฐกิจ “ไม่ใช่เรื่องง่าย” มีต้นทุนสูงและใช้เวลานาน ซึ่งอุปสรรคที่สำคัญมากเรื่องหนึ่งเกิดจากกฑเกณฑ์ต่างๆ ของภาครัฐที่ไม่สอดคล้องกับโลกใหม่ รวมถึงการออกกฎเกณฑ์ในอดีตที่มักเอากรอบอำนาจทางกฎหมายของแต่ละหน่วยงานเป็นตัวตั้ง ส่งผลให้เรื่องของโลกใหม่ที่อาจครอบคลุมหลายหน่วยงานเกิดขึ้นได้ยาก นอกจากนี้ยังมีกฎระเบียบที่ซ้ำซ้อนไม่ยืดหยุ่นพอในโลกที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ผลของกฎระเบียบที่ยุ่งยาก ยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจและสังคมอีกด้วย เพราะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะมีต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยในการปฏิบัติตามกฎระเบียบเหล่านี้สูงกว่าบริษัทขนาดใหญ่มาก

ยกเลิกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ

สำหรับความพยายามหนึ่งที่จะลดกฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็นของไทยคือโครงการศึกษา วิเคราะห์ทบทวน กฎหมาย กฎระเบียบข้อบังคับและกระบวนงานที่เกี่ยวกับการอนุญาต เพื่อลดขั้นตอนกระบวนงานและการอนุญาตที่ไม่จำเป็น หรือเป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจ ที่รู้จักกันในชื่อสั้นๆ ว่า โครงการ Regulatory Guillotine จากการศึกษามากกว่า 1,000 กระบวนการของข้าราชการ พบว่ามี 424 กระบวนงานที่ไม่จำเป็น สามารถตัดออกไปได้ และอีก 472 กระบวนงาน ที่ควรได้รับการปรับปรุง หลังจากงานศึกษาชิ้นนี้ออกมา ก็เป็นที่น่ายินดีว่ามีหลายหน่วยงานเห็นความสำคัญและรับไปปรับปรุงกฎเกณฑ์อย่างรวดเร็ว แต่ก็มีกระบวนงานจำนวนมากที่ยังรอการแก้ไขอยู่ ภาครัฐต้องเร่งปรับแก้และยกเลิกกฎเกณฑ์กระบวนการทำงานเหล่านี้ ซึ่งมักต้องอาศัยการทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน

“ผมเชื่อมั่นว่าการเร่งปรับแก้และยกเลิกกฎเกณฑ์เหล่านี้ จะเป็นมาตรการที่ตอบโจทย์ทั้งการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆ และการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาวโดยไม่สร้างภาระให้แก่งบประมาณของรัฐบาล”

ยกระดับภาคเกษตร – วิสาหกิจชุมชน กระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น

ประการสุดท้าย ท้องถิ่นต่างจังหวัดจะต้องเป็นหนึ่งเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ในช่วงหลังทศวรรษที่ผ่านมา โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมชนบทต่างจังหวัดเปราะบางมากขึ้นเรื่อยๆ ประชากรวัยทำงานจำนวนมาก ต้องทิ้งภูมิลำเนาต่างจังหวัดเข้าไปทำงานในเมืองใหญ่กันจนเกิดปัญหาครอบครัวโหว่กลางเป็นการทั่วไป ทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ มากมาย ทั้งปัญหาแรงงานสูงอายุในภาคเกษตร ปัญหายาเสพติด ปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์ ตลอดจนคุณภาพการศึกษาในชนบทที่ตกต่ำ

แต่วิกฤติโควิดทำให้ได้เห็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 นั่นคือ การย้ายกลับภูมิลำเนาต่างจังหวัดของแรงงานมากกว่า 1 ล้านคน แรงงานวันนี้มีศักยภาพที่จะเป็นพลังในการพลิกฟื้นท้องถิ่นต่างจังหวัด สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมชนบท ยกระดับผลิตภาพในภาคเกษตรและวิสาหกิจชุมชน เป็นโอกาสในการเพิ่มอุปทานและกำลังซื้อในท้องถิ่น แต่ละท้องถิ่นจะสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นและเศรษฐกิจไทยโดยรวมจะสามารถลดการพึ่งพิงเศรษฐกิจส่วนกลางและเมืองหลักต่างๆ ลงได้

การส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในท้องถิ่นต่างจังหวัด จำเป็นต้องทำครบวงจรและต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นกลไกสำคัญ เทคโนโลยีดิจิทัลและแพลตฟอร์มต่างๆ จะช่วยตอบโจทย์ทั้งข้อมูล การตลาด ระบบโลจิสติกส์ การเข้าถึงสินเชื่อ การโอนเงิน การชำระเงิน ตลอดจนบริการด้านสาธารณสุข และการสร้างคุณภาพการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้คนในท้องถิ่นได้อีกมากด้วย

สำหรับด้านการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นต่างจังหวัด ที่อาจจะเรียกเป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่ มีความท้าทายในหลากหลายมิติ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เนื่องจากแต่ละพื้นที่ จะมีบริบทไม่เหมือนกัน จึงจำเป็นต้องเร่งกระจายอำนาจทั้งการตัดสินใจโครงการต่างๆ และงบประมาณสนับสนุน รวมทั้งเปิดกว้างให้ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดเป้าหมายและดำเนินการ แทนที่หน่วยงานภาครัฐจะเป็นผู้ดำเนินการเองเป็นส่วนใหญ่

“วิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ เป็นโอกาสท้าทายที่ใหญ่มากสำหรับพวกเราทุกคน โครงสร้างเศรษฐกิจของโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างมาก หลายประเทศได้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจังมาตั้งแต่ก่อนการเกิดโควิด-19 การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยจึงไม่ได้เป็นทางเลือก แต่เป็นทางรอดของประเทศไทยที่พวกเราทุกคนจะต้องช่วยกัน เรามีเวลาไม่มากนะครับ ทรัพยากรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนกำลังร่อยหรอลง เราได้ถกเถียงกันเรื่องแนวทางปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในหลายเวทีต่อเนื่องกันมาจนหลายแนวคิดตกผลึก คำถามที่สำคัญของเวลานี้ จึงไม่ใช่แนวคิดว่าเราจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปในทิศทางใด แต่จะต้องเน้นว่าเราจะทำอย่างไรการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยจึงจะเกิดได้จริง”

ท้ายที่สุด ดร.วิรไท ฝากความหวังว่างานสัมมนาวิชาการประจำปีครั้งนี้ จะจุดประกายความคิดให้พวกเราทุกคนได้เห็นแนวทางปฏิบัติ ที่จะสามารถนำไปขับเคลื่อนทำให้การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเกิดขึ้นได้จริง เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพมีภูมิคุ้มกันที่ดี ลดความเหลื่อมล้ำลงและคนไทยแต่ละคนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ บรรยากาศภายในงานสัมมนามีนักวิชาการจากหน่วยงานต่างๆ และอดีตผู้บริหาร ธปท. และคณะกรรมการนโยบายต่างๆ ของ ธปท. ได้เข้าร่วมงานกันอย่างหนาแน่น รวมไปถึงขาประจำ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ที่เข้าร่วมงานตามปกติ และกำลังจะนั่งตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. ที่จะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 1 ต.ค. 2563 ก็มาเข้าร่วมงานสัมมนาฯ นี้ด้วย ณ ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย