ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท.ยกเครื่องรายงานข้อมูลสร้างBig Data ประมวลผลความเสี่ยงสถาบันการเงิน

ธปท.ยกเครื่องรายงานข้อมูลสร้างBig Data ประมวลผลความเสี่ยงสถาบันการเงิน

21 กันยายน 2020


นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฏ์(ขวา) นายวันประชา เชาวลิตวงศ์ (ซ้าย)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดตัว “โครงการปฏิรูปการรายงานข้อมูลของสถาบันการเงิน” เพื่อสนับสนุนการออกนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของ ธปท. ที่ตรงจุดและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจการเงินในยุคโลกการเงินดิจิทัล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและเศรษฐกิจไทย และลดภาระของสถาบันการเงินในการรายงานข้อมูล ทั้งนี้ ธปท. นับเป็นธนาคารกลางแรกในเอเชียที่ดำเนินการโครงการในลักษณะนี้

นายวันประชา เชาวลิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารข้อมูลและดาต้าอนาไลติกส์ ธปท. เปิดเผยว่า ในสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินที่มีความผันผวนและไม่แน่นอนสูง ธปท. เล็งเห็นถึงความจำเป็นของการพัฒนาระบบข้อมูลให้สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกในการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจกำหนดนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ธปท. ได้ตระหนักถึงภาระและค่าใช้จ่ายที่สถาบันการเงินต้องแบกรับในการรายงานข้อมูลด้วยเช่นกัน ธปท. จึงได้ริเริ่ม

1.การบูรณาการข้อมูลเพื่อการกำกับดูแล หรือ Regulatory Data Transformation โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับรูปแบบการรายงานข้อมูลแบบละเอียดในรูปแบบมาตรฐานกลางที่เป็นสากลและใกล้เคียงกับข้อมูลที่สถาบันการเงินเก็บโดยอ้างอิงจากแนวทางของธนาคารกลางต่างประเทศ ซึ่งจะลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการประมวลผลข้อมูลและเพิ่มประสิทธิภาพของการรายงานข้อมูลของสถาบันการเงิน พร้อมทั้งยกระดับการวิเคราะห์ข้อมูลของ ธปท. เพื่อใช้กำหนดนโยบายและมาตรการต่าง ๆ และสามารถเผยแพร่ข้อมูลที่ตรงจุดและชัดเจนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงสาธารณชนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป โดยในระยะแรกของโครงการ ธปท. จะปรับปรุงชุดข้อมูลด้านสินเชื่อ และจะขยายการดำเนินการไปยังชุดข้อมูลอื่น ๆ ต่อไป

“ดังนั้น ธปท.จึงทำการปรับรูปแบบการรายงานข้อมูลสินเชื่ออย่างละเอียดของสถาบันการเงิน ยกระดับให้เป็นมาตรฐานกลางที่เป็นสากล และเป็น Big Data ให้ธปท. ประมวลผลและช่วยดูแลด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงในระบบสถาบันการเงิน ทั้งนี้ แม้ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์มีการรายงานข้อมูลให้แก่ ธปท. ซึ่งใกล้เคียงกับข้อมูลที่ธนาคารพาณิชย์มีการจัดเก็บเอง แต่ยังมีบางข้อมูลที่ต้องการจัดเก็บให้ละเอียดเพิ่มขึ้น เช่น สินเชื่อรายย่อย การปรับโครงสร้างหนี้ สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล”

2.การลด ละ และยกเลิก การรายงานข้อมูล หรือ Data Guillotine เพื่อลดการรายงานข้อมูลที่มีความซ้ำซ้อน หมดความจำเป็นหรือไม่เท่าทันกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่ง ธปท.จะทยอยยกเลิกการรายงานข้อมูลดังกล่าวภายในปี 2563 อาทิ การรายงานข้อมูลในรูปแบบกระดาษ (Hard copy) และการรายงานข้อมูลเฉพาะกิจตามสถานการณ์ในอดีต

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า โครงการบูรณการข้อมูลดังกล่าว ธปท. จะมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันการเงิน เพื่อระดมความคิดเห็นและร่วมกันออกแบบรูปแบบการนำส่งและเก็บข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 นี้ และจะเริ่มมีผลบังคับใช้ราวปลายในปี 2564 หรือ ปี 2565 เป็นต้นไป

ส่วนการยกระดับการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าว จะช่วยลดการรายงานข้อมูลที่มีความซ้ำซ้อน หมดความจำเป็นหรือไม่เท่าทันกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งจะทยอยเลิกการรายงานข้อมูลดังกล่าวภายในปีนนี้ อาทิ การรายงานข้อมูลในรูปแบบกระดาษ การรายงานข้อมูลเฉพาะกิจตามสถานการณ์ในอดีต ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนราว 5% จากปัจจุบันมีต้นทุนดังกล่าวอยู่ที่ 45%ของต้นทุนดำเนินการรวม เป็น 40% ใน 2-3 ปีข้างหน้า

ในการนี้ ธปท.เชื่อมั่นว่า ด้วยความร่วมมือที่ดีจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จะทำให้การกำกับดูแลและรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงินมีความเท่าทัน และเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างยั่งยืน