ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามเก็บเงินคนเดินทางเข้า ค่าใช้จ่ายกักกันโควิด 5 ดอลลาร์ต่อวัน

ASEAN Roundup เวียดนามเก็บเงินคนเดินทางเข้า ค่าใช้จ่ายกักกันโควิด 5 ดอลลาร์ต่อวัน

20 กันยายน 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 13-19 กันยายน 2563

  • เวียดนามพร้อมเปิดเที่ยวบินพาณิชย์กับไทย
  • เวียดนามกลับมาบินกัมพูชา 22 กันยายน
  • เวียดนามคิดค่าใช้จ่ายกักกันโควิด 5 ดอลลาร์ต่อวัน
  • มาเลเซียทำข้อตกลง Swap ฉบับ 2 กับญี่ปุ่น
  • อินโดนีเซียทำข้อตกลงการเงินหนุนโครงสร้างพื้นฐานกับสหรัฐฯ
  • เมียนมาวางแผนตั้ง Pre-listing Board ซื้อขายหุ้นบริษัทมหาชน
  • คลัง-ธนาคารกลางอาเซียน+3 ประชุมถกนโยบายรับโควิด
  • เวียดนามพร้อมเปิดเที่ยวบินพาณิชย์กับไทย

    นายกรัฐมนตรีเหงียน ซวน ฟุก ของเวีดยนาม ที่มาภาพ: https://vovworld.vn/en-US/news/pm-agrees-to-reopen-commercial-flight-to-thailand-903493.vov

    นายกรัฐมนตรีเหงียน ซวน ฟุก ของเวียดนามเห็นชอบ ให้เปิดเที่ยวบินพาณิชย์กับไทยอีกครั้งหนึ่ง ภายใต้มาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด

    ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กันยายน นายกรัฐมนตรีขอให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินเป็นพิเศษเพื่อความปลอดภัย โดยรายละเอียดของเที่ยวบินต้องนำเสนอให้รองนายกรัฐมนตรี ฝ่าม บิ่งห์ มิงห์ และรองนายกรัฐมนตรี วู ดุ๊ก ดั่ม พิจารณา

    นายกรัฐมนตรีเหงียน ซวน ฟุก ขอให้แต่ละเที่ยวบินมีแผนป้องกันโดยเฉพาะ รวมทั้งการจัดการผู้โดยสารที่สนามบินรวมทั้งสถานที่กักกันตัว โดยกล่าวว่า “กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งคณะกรรมการจังหวัด ต้องเตรียมสถานที่กักกันและจัดให้มีการจัดการที่ดีทั้งในพื้นที่ของทหารหรือของท้องถิ่นเอง พร้อมมีคำแนะนำเพื่อป้องกันการการแพร่ระบาดจากการติดเชื้อข้ามเขตและการติดเชื้อในชุมชน ส่วนฮานอยและโฮจิมินห์ซิตีต้องมีแผนในการเตรียมโรงแรมเพื่อใช้เป็นสถานที่กักกันออกห่างจากศูนย์กลาง และมีแนวป้องกันเพื่อควบคุมการระบาดได้โดยเร็วหากอุบัติขึ้น”

    นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า แม้เวียดนามยังมีเงื่อนไขที่ดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามา แต่กระทรวงคมนาคมต้องดำเนินการต่อเนื่องเพื่อเพิ่มเที่ยวบินรองรับผู้เชี่ยวชาญ นักลงทุน และพลเมือง กระทรวงต่างประเทศควรให้แนวทางกับสถานฑูตโดยตรง ให้รวบรวมรายชื่อแรงงานไร้ทักษะและแรงงานรับจ้างทำงานตามฤดูกาลที่ยังติดอยู่ในหลายประเทศ และเสนอแผนเพื่อนำพลเมืองกลับประเทศ

    เวียดนามกลับมาบินกัมพูชา 22 กันยายน

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/50764288/flights-between-vietnam-and-cambodia-to-resume-on-september-22/

    หลังจากที่กลับมาเปิดเส้นทางเที่ยวบินไปกวางโจว โซล โตเกียว ไทเป เมื่อวันที่ 15 กันยายน ให้กับพลเมืองเวียดนาม ชาวต่างชาติที่ถือหนังสือเดินทางทางการทูตและทางการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้จัดการธุรกิจ แรงงานทักษะสูง นักลงทุนและสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งนักเรียนที่ไปศึกษาในต่างประเทศ เวียดนามจะเปิดเที่ยวบินกับกัมพูชา และลาว ในวันที่ 22 กันยายนนี้

    อย่างไรก็ตามยังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยว

    สำหรับเที่ยวบินกัมพูชากำหนดไว้ 2 เที่ยวบินไปและกลับ และจำนวนเที่ยวบินจะปรับเปลี่ยนตามความต้องการ

    ผู้โดยสารจะต้องส่งใบรับรองที่แสดงว่าได้รับการทดสอบโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ที่เป็นลบภายในสามวันก่อนออกเดินทาง ผ่านการตรวจแบบ RT-PCR และเมื่อเดินทางมาถึงพวกเขาจะได้รับการทดสอบโควิด-19 แบบ RT-PCR จากส่วนกลาง ผู้โดยสารที่มีผลตรวจเป็นลบต้องถูกกักกันจากส่วนกลางตั้งแต่ 5-7 วัน หลังจากจะต้องอยู่กับบ้านหรือสถานที่ที่ทำงานต่อเพื่อให้ครบ 14 วันภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ส่วนที่มีตรวจพบว่าติดเชื้อจะต้องกักกันตัวในส่วนกลาง เช่นเดียวกันกับผู้ที่เดินทางเข้าเวียดนามผ่านการต่อเครื่องในประเทศที่นอกเหนือข้อตกลงการบินที่ต้องถูกกักตัว 14 วัน

    ผู้โดยสารที่เดินทางเข้าจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายการตรวจหาเชื้อและค่าใช้จ่ายกักกันตัวด้วยตัวเอง

    กระทรวงสาธารณสุขประกาศว่า ผู้ที่เดินเข้าเวียดนามไม่ถึง 14 วันจะไม่ต้องถูกกักกันตัวจากส่วนกลาง แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด รวมทั้งสวมหน้ากากและเลี่ยงการจับมือ และต้องผ่านกระบวนการการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และองค์กรที่เชิญไปต้องรับประกันว่าบริษัท หรือบริษัทประกันต่างชาติ จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการรักษาหรือค่าใช้จ่ายอื่นหากมีการติดเชื้อในเวียดนาม

    https://tuoitrenews.vn/news/society/20200919/5-a-day-vietnam-sets-price-for-arrivals-stays-at-covid19-quarantine-camps/56824.html

    เวียดนามคิดค่าใช้จ่ายกักกันโควิด 5 ดอลลาร์ต่อวัน

    ที่มาภาพ: https://tuoitrenews.vn/news/society/20200919/5-a-day-vietnam-sets-price-for-arrivals-stays-at-covid19-quarantine-camps/56824.html

    ผู้โดยสารเที่ยวบินระหว่างประเทศที่เดินทางเข้าเวียดนามและมีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวก จะต้องถูกกักกันตัวจากส่วนกลาง และต้องรับภาระค่าใช้จ่ายวันละอย่างต่ำ 120,000 ด่อง หรือ 5.10 ดอลลาร์ต่อวัน ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง

    สำหรับผู้ที่เลือกกักกันตัวในสถานที่ที่จัดการโดยกองทัพหรือหน่วยงานรัฐ จะมีค่าใช้จ่าย 80,000 ด่องหรือ 3.40 ดอลลาร์ สำหรับค่าอาหารและ 40,000 ด่องหรือ 1.70 ดอลลาร์ เป็นค่าธรรมเนียมการใช้บริการและใช้จ่ายแต่ละวัน

    แต่หากเลือกที่จะกักกันที่รีสอร์ตหรือโรงแรม ค่าใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับการกำหนดของแต่ละแห่ง

    เวียดนามกำหนดให้ผู้โดยสารเที่ยวบินระหว่างประเทศที่เดินทางเข้าเวียดนามต้องทำประกันสุขภาพระหว่างประเทศที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายการทดสอบและการรักษาระหว่างอยู่ในเวียดนาม

    ผู้ที่เดินทางเข้าเวียดนามทุกรายต้องรับการตรวจหาโควิด-19 และจ่ายเงินด้วยตัวเอง แต่การรักษาผู้ป่วยโรคโควิดรัฐยังคงรับภาระ ตามที่กำหนดในกฎหมายควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ

    นายกรัฐมนตรีเหงียน ซวน ฟุก ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมกันหาทางแก้ไขกฎหมายควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและปรับปรุงเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษา

    ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีเหงียน ซวน ฟุก ประกาศว่าผู้ที่เดินทางเข้าเวียดนามทุกคนต้องรับภาระค่าใช้จ่ายกักกันตัว 14 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน และก่อนหน้านี้การกักกันตัวในเวียดนามไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ผู้ที่เดินทางเข้าสามารถเลือกได้ว่าจะกักกันตัวที่โรงแรมและรับภาระค่าใช้จ่ายเอง

    มาเลเซียทำข้อตกลง Swap ฉบับ 2 กับญี่ปุ่น

    ที่มาภาพ: https://www.theedgemarkets.com/node/532177

    ธนาคารกลางมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia: BNM) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan) ในฐานะตัวแทนกระทรวงการคลังญี่ปุ่น ได้ลงนามใน สัญญาความตกลงทวิภาคีว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตรา หรือ Bilateral Swap Arrangement (BSA) ฉบับที่สอง โดยกำหนดวงเงินไว้ 3 พันล้านดอลลาร์เพื่อเตรียมสภาพคล่องทางการเงินให้กับทั้งสองประเทศไว้ล่วงหน้าในกรณีที่มีความจําเป็น

    ข้อตกลง BSA จะช่วยให้ธนาคารกลางทั้งสองแห่งสามารถแลกเปลี่ยนเงินตราของประเทศตัวเอง (ริงกิตมาเลเซียและเยนญี่ปุ่น) กับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ยังรักษาเสถียรภาพตลาดเงิน รวมทั้งแสดงถึงความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นมากขึ้นของทั้งสองประเทศ

    อินโดนีเซียทำข้อตกลงการเงินหนุนโครงสร้างพื้นฐานกับสหรัฐฯ

    ที่มาภาพ: https://www.thechronicleherald.ca/business/reuters/indonesia-us-agree-on-infrastructure-finance-agreement-499170/

    อินโดนีเซียได้ลงนามในข้อตกลงกับสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมการสนับสนุนทางการเงินให้กับโครงสร้างพื้นฐานผ่านการลงทุนของภาคเอกชน จากการเปิดเผยของกระทรวงการคลังอินโดนีเซียและกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 18 กันยายน

    แถลงการณ์ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่โพสต์ในเว็บไซต์ระบุว่า นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ร่วมลงนามกับศรีมูลยานี อินทราวตี รัฐมนตรีคลังอินโดนีเซีย ผ่านระบบออนไลน์

    ราฮายู พัสปาสารี โฆษกกระทรวงการคลังอินโดนีเซีย ระบุในแถลงการณ์อีกฉบับหนึ่งว่า ข้อตกลงนี้จะส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนและเครื่องทางการเงิน ที่เอื้อและลดข้อจำกัดให้กับการลงทุนภาคเอกชนในโครงสร้างพื้นฐาน

    พัสปาสารีกล่าวว่า ข้อตกลงนี้จะช่วยสนับสนุนการใช้สินทรัพย์เพื่อสร้างประโยชน์ได้หลายรอบ การประเมินผลกระทบทางการเงิน และส่งเสริมการให้สินเชื่อ

    ทางด้านกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า “ข้อตกลงนี้ส่งเสริมยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วยการเสริมการดำเนินการให้ต่อเนื่องภายใต้ Asia-Enhancing Development and Growth Through Energy (Asia EDGE) การเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานและเข้าถึงพลังงานได้ทั่วทั้งภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และความช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ (Infrastructure Transaction and Assistance Network: ITAN)

    เมียนมาวางแผนตั้ง Pre-listing Board ซื้อขายหุ้นบริษัทมหาชน

    เมียนมาวางแผนที่จะจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งที่สอง หรือกระดานซื้อขายก่อนเข้าจดทะเบียน (pre-listing board) เพื่อรองรับการซื้อหุ้นของบริษัทมหาชนที่ยังไม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้ง (Yangon Stock Exchange: YSX) จากการเปิดเผยของ อู หม่อง หม่อง วิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวางแผน การคลังและอุตสาหกรรม ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (Securities Exchange Commission of Myanmar: SECM) อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายละเอียดว่าจะจัดตั้งขึ้นเมื่อไร

    “กระดาน pre-listing board สำหรับนักลงทุนที่ต้องการซื้อและขายหุ้นของบริษัทมหาชนของเมียนมาที่ยังมีคุณสมบัติไม่ครบเกณฑ์การเข้าจดทะเบียนใน YSX” อู หม่อง หม่อง วินกล่าว และว่า ในประเทศอื่นๆ กระดานซื้อขายที่สองเป็นเรื่องปกติที่จะช่วยให้บริษัทที่ยังไม่เข้าเกณฑ์การจดทะเบียนในกระดานหลักสามารถระดมทุนผ่านการขายหุ้นได้

    pre-listing board จะมีประโยชน์อย่างมากกับบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs เพราะมีโอกาสระดมทุน

    ปัจจุบันมีบริษัทมหาชนจดทะเบียนภายใต้กฎหมายบริษัทของเมียนมาจำนวนกว่า 260 บริษัท แต่มีเพียง 6 บริษัทมหาชนเท่านั้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้ง

    “บริษัทมหาชนส่วนใหญ่ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้ง จึงจะจัดตั้งกระดาน pre-listing board ขึ้นเพื่อช่วยเปิดโอกาส การจัดตั้งตลาดใหม่นี้จะช่วยสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับบริษัทมหาชนที่ยังไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้สัมผัสและมีประสบการณ์กับความท้าทายและโอกาสมากขึ้นที่จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้งในอนาคต” อู ยิน ซอว์ เมียว กรรมการผู้จัดการของตลาด YSX ให้ความเห็น

    กระดานซื้อขายใหม่จะจัดตั้งขึนหลังได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงวางแผน การคลังและอุตสาหกรรม และจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ SECM

    แม้กระดานใหม่จะไม่เข้มงวดเท่ากับตลาดหลักทรัพย์ แต่บริษัทมหาชนก็จะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดก่อนที่จะนำหุ้นมาซื้อขายในกระดานใหม่นี้ได้

    การวางแผนที่จะจัดตั้งกระดานซื้อขายใหม่นี้เริ่มขึ้นในปีที่แล้ว และคาดว่าการจัดตั้งกระดาน pre-listing นี้จะสร้างแพลตฟอร์มทางการสำหรับการซื้อขายหุ้นบริษัทมหาชน ที่ปัจจุบันซื้อขายในตลาดโอทีซี (over the counter: OTC) ซึ่งมีการกำกับดูแลไม่เข้มงวด

    ในตลาดสากลทั่วไป บริษัทมหาชนต้องมีคุณสมบัติหลายด้าน เช่น รายงานผลกำไรติดต่อกันระยะหนึ่ง และมีข้อมูลที่แสดงถึงศักยภาพในการเติบโต รวมทั้งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ในเมียนมาสามารถจดสถานะเป็นบริษัทมหาชนได้ตั้งแต่ก่อตั้ง

    บริษัทมหาชนก่อตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ 2 ข้อ คือ หนึ่ง ระดมทุนจากประชาชนทั่วไปและเพื่อแข่งขันในการเปิดประมูลของภาครัฐ รวมทั้งต้องได้รับอนุญาตจาก SECM และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้คุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นได้

    คลัง-ธนาคารกลางอาเซียน+3 ประชุมถกนโยบายรับโควิด

    ที่มาภาพ:
    https://en.vietnamplus.vn/afmgm3-seeks-measures-to-promote-regional-economic-growth/185239.vnp
    เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 ได้มีการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance Ministers and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM+3) ครั้งที่ 23 ในรูปแบบการประชุมทางไกล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเป็นประธานร่วม ซึ่งที่ประชุมมีการหารือในหลายมาตรการเพื่อส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจภูมิภาค

    รัฐมนตรีคลังของประเทศสมาชิกอาเซียนและผู้ว่าการธนาคารกลาง รวมทั้งพันธมิตร จีน เกาหลี และญี่ปุ่น พร้อมด้วยผู้นำของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ได้มีการหารือเชิงนโยบายเกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาคระดับโลกและระดับภูมิภาค รวมถึงมาตรการในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19

    รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลาง ยังได้หารือถึงการดำเนินการตามข้อริเริ่มความร่วมมือภายใต้กระบวนการความร่วมมือทางการเงินของอาเซียน+3 และทิศทางเชิงกลยุทธ์และความคิดริเริ่มใหม่ๆ ของกระบวนการและรับรองแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุม

    ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงและความท้าทายที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจโลกและภูมิภาค ตลอดจนมาตรการและนโยบายที่ประเทศในภูมิภาคกำลังดำเนินการ เพื่อลดวิกฤติสุขภาพและฟื้นฟูการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงชุดมาตรการการเงิน การคลัง และแนวทางแก้ไขกฎระเบียบสำหรับระบบการเงิน

    ที่ประชุมยังเห็นว่า ในบริบทของเศรษฐกิจที่พึ่งพาซึ่งกันและกันมากขึ้น ผลกระทบของการระบาดในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกนั้นรุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้หน่วยงานที่บริหารการเงินและจัดการเงินต้องออกมาตรการและนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอย่างทันท่วงที และมีประสิทธิผลซึ่งจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน และการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน

    ที่ประชุมได้ย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือทางการเงินสำหรับประเทศต่างๆ ในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการตอบสนองต่อผลกระทบของการระบาด และสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

    นาย ดิ่นห์ เทียน ดัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเวียดนามกล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ไม่สามารถขัดขวางกิจกรรมความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคได้

    ตามรายงานที่นำเสนอ คณะทำงานยังคงใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการดำเนินการ ตามแนวทางที่กำหนดโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน และบรรลุเป้าหมายได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียนที่ 3 (AMRO) การลงนามในความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) ฉบับแก้ไข การดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชียหรือ (Asian Bond Markets Initiative: ABMI) และการหารือเกี่ยวกับข้อริเริ่มความร่วมมือใหม่ในอนาคต

    ที่ประชุมยังได้อนุมัติประเด็นทางเทคนิคที่สำคัญรวมถึงการแก้ไขข้อตกลง CMIM ซึ่งมีความสำคัญต่อการกระชับความร่วมมือและเพิ่มการสนับสนุนซึ่งกันและกันระหว่างประเทศ ในบริบทของเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ต้องเผชิญกับปัญหาและความไม่แน่นอนมากมาย

    ที่ประชุมยังชื่นชมความพยายามของ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจอาเซียน (AMRO) ในฐานะองค์กรระหว่างประเทศในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยดำเนินกิจกรรมการติดตามเศรษฐกิจมหภาคอย่างจริงจัง ให้การประเมินและวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 ในภูมิภาค และเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อให้แน่ใจว่าเศรษฐกิจมหภาคและสถานการณ์ทางการเงินมีเสถียรภาพในภูมิภาค

    ผู้เข้าร่วมประชุมยังรับทราบและให้ความสำคัญกับการดำเนินการและผลงานของคณะทำงานของ ABMI เกี่ยวกับการวิจัยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมเพื่อดึงดูดนักลงทุน การพัฒนาเครื่องมือการลงทุนใหม่ๆ การทำให้กรอบกฎหมายชัดเจนมากขึ้น และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับตลาดตราสารหนี้ ตลอดจนการดำเนินโครงการความช่วยเหลือทางเทคนิค เพื่อพัฒนาตลาดพันธบัตรในประเทศสมาชิก

    เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินในภูมิภาค ที่ประชุมยินดีที่จะดำเนินการตามความคิดริเริ่มใหม่ๆ ภายใต้กรอบของการวางแนวยุทธศาสตร์ของกระบวนการความร่วมมือทางการเงินของอาเซียน+3

    ประเทศสมาชิกของอาเซียน+3 ยังชื่นชมเวียดนามและญี่ปุ่นที่จัดการประชุมและเป็นประธานการประชุมในปี 2563 และหวังว่าการประชุมครั้งที่ 24 จะประสบความสำเร็จในทบิลิซี จอร์เจีย ภายใต้การเป็นประธานร่วมของบรูไนและสาธารณรัฐเกาหลีในปี 2564