ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup กัมพูชาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม 2 ดอลลาร์ต่อเดือนปี’64

ASEAN Roundup กัมพูชาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม 2 ดอลลาร์ต่อเดือนปี’64

13 กันยายน 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 6-12 กันยายน 2563

  • กัมพูชาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม 2 ดอลลาร์ต่อเดือนปี’64
  • กัมพูชา-สหรัฐฯหารือการค้า การลงทุนทวิภาคี
  • ฟิลิปปินส์เผยแพร่คู่มือลงทุน LNG สำหรับนักลงทุนต่างชาติ
  • เวียดนามกักกันชาวต่างชาติจากส่วนกลาง 7 วันรับเริ่มเปิดเที่ยวบิน
  • ประชุมกระทรวงต่างประเทศอาเซียนกับพันธมิตร
  • กัมพูชาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม 2 ดอลลาร์ต่อเดือนปี’64

    ที่มาภาพ : https://english.cambodiadaily.com/business/cambodia-raises-2021s-minimum-wage-for-garment-industry-despite-covid-19-impact-169213/

    นายกรัฐมนตรีฮุนเซนได้ตัดสินใจที่จะปรับ เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำสำหรับคนงานในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มอีก 2 ดอลลาร์ต่อเดือนสำหรับปีหน้า

    การตัดสินใจของสมเด็จฮุนเซนมีขึ้นหลังจากที่คณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำแห่งชาติ(National Council for Minimum Wage) ตกลงที่จะคงค่าจ้างไว้ที่ 190 ดอลลาร์ต่อเดือนและนำเสนอต่อนายอิท สัม เฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและฝึกอาชีพเพื่อให้ความเห็นชอบ

    นาย สัม เฮง กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการประชุมเมื่อวันที่ 10 กันยายน ที่ผ่านมาว่า การตัดสินใจดังกล่าวเกิดจากความยากลำบากและผลกระทบที่เกิดจากโควิด -19 ต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตทั่วโลกและการนำเข้าของสถานประกอบการและโรงงาน

    “ผมได้รายงานเรื่องนี้ไปยังสมเด็จฮุนเซน ท่านจึงตัดสินใจปรับเพิ่มเงินค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำแห่งชาติกำหนดขึ้น 2 ดอลลาร์ ดังนั้นค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับคนงานในปี 2564 คือ 192 ดอลลาร์ต่อเดือน แม้ว่าเราจะมีปัญหา แต่ผลก็ออกมาดี” เขากล่าว

    นายสัม เฮงกล่าวว่า นายจ้างและสหภาพแรงงาน ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 17 ราย แต่ละคนดูเหมือนจะไม่พอใจกับการเพิ่มขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่
    ก็มองในแง่ดีว่าค่าจ้างขั้นต่ำใหม่จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของคนงานและเอื้อต่อการเพิ่มผลผลิต

    “หวังว่าโรงงานและสถานประกอบการต่างๆ จะมีการแข่งขันกับประเทศที่ส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดต่างประเทศมากขึ้น การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำนี้ยังเป็นการสท่อสารออกไปที่จะดึงดูดการลงทุนและโรงงานใหม่ในกัมพูชามากขึ้น” เขากล่าว

    นาย สัม เฮงย้ำว่า การถอนสิทธิพิเศษบางด้านของโครงการ Everything But Arms (EBA) ของสหภาพยุโรปเมื่อเร็ว ๆ นี้ไม่ใช่ปัญหาหลักเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 มีผลกระทบต่อทุกภาคส่วน

    จนถึงขณะนี้โรงงานราว 100-150 แห่งได้ระงับการผลิตท่ามกลางการแพร่ระบาดทำให้คนงานราว 40,000 ถึง 50,000 คนตกงาน

    นายแนง โสธิ ตัวแทนนายจ้างกล่าวว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก 2 ดอลลาร์ยังคงเป็นความท้าทายสำหรับนายจ้าง

    “การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำอาจทำให้ยากที่จะดึงดูดนักลงทุนมาที่ประเทศของเรา แต่ผมคิดว่าตัวเลขนี้ไม่ใช่ปัญหาสำคัญ เนื่องจากนายจ้างสามารถยอมรับได้ นายจ้างในต่างประเทศที่ต้องการการลงทุนใหม่ ๆ ไม่ได้ให้น้ำหนักเรื่องนี้มากนัก”

    นาย อัธ ทอน ประธานสมาพันธ์แรงงานกัมพูชา กล่าวว่า การเจรจาเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำในปีนี้ยากกว่าปีก่อน ๆ เนื่องจากโควิด -19 รวมทั้งการถอนสิทธิพิเศษ EBA ออกไปร้อยละ 20 และการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ลดลง

    ในระหว่างการเจรจา สหภาพแรงงานขอขึ้นเงินค่าจ้าง 12 ดอลลาร์ ขณะที่ตัวแทนนายจ้างต้องการลดค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบัน 190 ดอลลาร์ลง 17 ดอลลาร์ ทั้งสองฝ่ายจึงตกลงที่จะปล่อยให้รัฐบาลตัดสินใจ

    “เราไม่พอใจกับตัวเลขนี้เพราะน้อยเกินไป แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันเป็นเรื่องยากที่จะเรียกร้องมากขึ้น ถ้าเราต้องการมากขึ้นจะใช้เวลานานขึ้น”

    โรธ นิตา คนงานอายุ 25 ปีในจังหวัดกันดาลกล่าวว่า พอใจกับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นแม้ว่าจะน้อยเกินไป แต่ก็ดีกว่าการลดค่าจ้าง เธอกล่าวว่า โรงงานของเธอได้ระงับการผลิตมานานกว่าหนึ่งเดือนแล้ว และเธอได้รับเงินจากโครงการแจกเงินสดของรัฐบาล

    คนงานยังได้รับผลประโยชน์อื่น ๆ ในข้อตกลง เช่น ค่าเดินทาง ค่าที่พักรายเดือน 7 ดอลลาร์ ค่าตอบแทนรายเดือน 10 ดอลลาร์ สำหรับการเข้างานตามปกติ ค่าอาหาร 2,000 เรียล หรือ 0.50 ดอลลาร์ต่อวันสำหรับการทำงานล่วงเวลา และค่าตอบแทนรายเดือน 2 – 10 สำหรับแรงงานที่มีอายุงานนานโดยจะจ่ายให้กับคนงานที่ทำงานตั้งแต่ปีที่สองถึงปีที่ 11 ต่อเนื่อง

    โดยรวม คนงานแต่ละรายจะได้รับค่าจ้างอย่างน้อย 209-220 ดอลลาร์ต่อเดือน

    กัมพูชา-สหรัฐฯหารือการค้า การลงทุนทวิภาคี

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/50762222/cambodia-u-s-discuss-bilateral-trade-and-investment/
    กัมพูชาและสหรัฐฯได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนทวิภาคีรวมถึงอีคอมเมิร์ซ
    ความเคลื่อนไหวล่าสุดเกิดขึ้นจากการประชุมระหว่างนายพัน สรศักดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และนายแพทริก เมอร์ฟี่ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำ ในพนมเปญ

    ทั้งสองฝ่ายได้มองหาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการลงทุนอีคอมเมิร์ซจากสหรัฐอเมริกาไปยังกัมพูชา เนื่องจากประเทศกำลังมุ่งมั่นอย่างหนักเพื่อจัดตั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมภาคธุรกิจนี้ รวมทั้งยังได้หารือถึงกรอบความตกลงการค้าและการลงทุนร่วมกัน (TIFA) ของทั้งสองประเทศและบรรยากาศการลงทุนที่ดีขึ้นในกัมพูชาด้วยการปฏิรูปเชิงลึกโดยรัฐบาล

    นอกจากนี้มีการวางแผนการประชุมการค้าและการลงทุนกัมพูชา – สหรัฐฯครั้งที่ 6 ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในเร็วๆนี้

    จากตัวเลขของกระทรวง การค้าทวิภาคีกัมพูชา – สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 3.3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2561 เป็น 4.7 พันล้านดอลลาร์หรือราว 42 เปอร์เซ็นต์ในปี 2562

    ฟิลิปปินส์เผยแพร่คู่มือลงทุน LNG สำหรับนักลงทุนต่างชาติ

    ที่มาภาพ: https://www.bworldonline.com/energy-dept-releases-lng-investment-guide/

    รัฐบาลฟิลิปปินส์โดย กระทรวงพลังงานได้เผยแพร่ คู่มือลงทุนในโครงการก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) สำหรับนักลงทุนต่างชาติที่สนใจ ซึ่งคู่มือนี้จัดทำขึ้นพัฒนาโดยความช่วยเหลือของสหรัฐฯ

    กระทรวงพลังงาน (DoE) ได้นำเสนอคู่มือซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Asia-Enhancing Development and Growth Through Energy ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ในการสัมมนาผ่านระบบออนไลน์ที่จัดโดยหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ (USAID) และ สมาคมพลังงานแห่งสหรัฐอเมริกา

    กระทรวงพลังงานหวังที่จะดึงดูดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาก๊าซธรรมชาติในฟิลิปปินส์ เพื่อให้ประเทศเป็นศูนย์กลางสำหรับ LNG ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    “ผมมั่นใจว่าตอนนี้คู่มือพร้อมใช้งานแล้ว นักลงทุนจำนวนมากขึ้นจะให้ความสนใจในอุตสาหกรรม LNG ขั้นปลายของเรา กระทรวงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาฟิลิปปินส์ให้เป็นศูนย์กลาง LNG ซึ่งไม่เพียง แต่สามารถตอบสนองความต้องการด้านพลังงานของเรา แต่ยังรวมถึงภูมิภาคด้วย” รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน อัลฟอนโซ คูซิ ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 9 กันยายน

    ฟิลิปปินส์คาดว่าจะใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) หมดจากแหล่งกำเนิดแห่งเดียวในอีก 7 ปีข้างหน้า ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน เลียวนิโด เจ. พูลิโด ที่สาม กล่าวในการเสวนา

    เมื่อถึงเวลานั้นประเทศจะไม่มีก๊าซธรรมชาติเพียงพอที่จะรองรับภาคอุตสาหกรรม การค้า ที่อยู่อาศัย และการขนส่ง

    ณ เดือนสิงหาคม ฟิลิปปินส์คาดว่าจะสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้ 73,388 ล้านลูกบาศก์ฟุต (mmscf) ในปีนี้ ตามเป้าหมาย โดยมีปริมาณการใช้ 69,856 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีตามข้อมูลของกระทรวงพลังงาน

    ฟิลิปปินส์ได้รับ LNG จากโครงการโรงไฟฟ้ามาลัมปายาที่ใช้ก๊าซในการผลิต ซึ่งตั้งอยู่นอกจังหวัดปาลาวัน ดำเนินการโดยเชลล์ ฟิลิปปินส์ เอ็กว์พลอเรชั่น บี.วี.

    นายพูลิโดกล่าวว่าแหล่งก๊าซดังกล่าวมีโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าได้ 3,200 เมกะวัตต์หรือ 21.1% ของพลังงานขั้นต้นในปี 2562

    นอกเหนือจากการสำรวจและพัฒนาก๊าซธรรมชาติในประเทศแล้ว ฟิลิปปินส์ยังพิจารณาการนำเข้า LNG อีกด้วย

    รัฐบาลสหรัฐฯกำลังขยายตลาดพลังงานทั่วทั้งภูมิภาคผ่าน USAID หนึ่งในโครงการคือ US-Asia Gas Partnership มุ่งเน้นไปที่ก๊าซธรรมชาติ

    กระทรวงพลังงานได้รับคำขอจากนักลงทุน 4 รายสำหรับโครงการสถานีรับส่ง LNG ที่ส่งมาโดย 1)กลุ่มลูซิโอ ตัน กับ เจนเอ็กซ์ เอ็นเนอร์จี้ ในเครือของแบลคสโตนกรุ๊ป 2) เฟิร์ส เน คอร์ป กับโตเกียวก๊าซ ลิมิเต็ด 3) เอ็กเซเลอเรต เอ็นเนอร์จี้ ในสหรัฐอเมริกาและ 4)เอ็นเนอร์จี้ เวิล์ด ก๊าซ โอเปอเรชัน ฟิลิปปินส์ อิ้งค

    เวียดนามกักกันชาวต่างชาติจากส่วนกลาง 7 วันรับเริ่มเปิดเที่ยวบิน

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/news/vietnam-requires-seven-day-centralized-quarantine-for-foreigners-as-it-resumes-flights-4160463.html

    ชาวต่างชาติบางรายที่เดินทางเข้ามาในเวียดนามด้วยเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ที่กลับมาทำการบินในเดือนนี้จะต้องถูกกักกันจากส่วนกลางตั้งแต่ 5-7 วัน

    เวียดนามคาดว่าจะเปิดให้บริการเที่ยวบินเชิงพาณิชย์จากฮานอยและโฮจิมินห์ซิตี้ ไปกวางโจว ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน และไปยัง ลาว และกัมพูชาเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน

    ในแต่ละเดือนมีผู้โดยสารประมาณ 20,000 คนเดินทางเข้าประเทศ นาย มัย เทียน ดุง หัวหน้าสำนักงานรัฐบาลกล่าวในการประชุมเมื่อวันที่ 11 กันยายน

    ผู้โดยสารกลุ่มนี้รวมทั้งชาวเวียดนาม ชาวต่างชาติที่ถือหนังสือเดินทางทางการทูตและทางการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้จัดการ แรงงานทักษะสูง นักลงทุนและสมาชิกในครอบครัว แต่ยังไม่เปิดให้บริการเที่ยวบินแก่นักท่องเที่ยว

    ภายใต้ข้อเสนอของกระทรวงคมนาคม จะมีการเดินทางไปกลับสัปดาห์ละ 2 ครั้งในเส้นทางโฮจิมินห์ ซิตี้-กวางโจว เปืด 2 เที่ยวต่อสัปดาห์ในเส้นทางฮานอย – โตเกียว และโฮจิมินห์ ซิตี้ – โตเกียว รวมทั้งการเดินทาง 4 เที่ยวจากฮานอยและโฮจิมินห์ ไปยังโซล และการเดินทางสัปดาห์ละ 4 เที่ยวไปยัง ไทเป

    นาย มัย เทียน ดุง กล่าวว่า ผู้โดยสารจะต้องส่งใบรับรองที่แสดงว่า ได้รับการทดสอบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่มีผลเป็นผลภายใน 5 วันก่อนขึ้นเครื่อง และเมื่อเครื่องลงจอดในเวียดนาม พวกเขาจะต้องถูกกักกันจากส่วนกลางตั้งแต่ 5-7 วัน และจะได้รับการทดสอบโควิด-19 สองครั้งโดยใช้การตรวจแบบ RT-PCR

    ผู้ที่มีผลการทดสอบเป็นลบจะยังคงอยู่ที่บ้านหรือสถานที่ทำงาน จนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลากักกัน 14 วันตามระเบียบการของกระทรวงสาธารณสุขภายใต้การดูแลของหน่วยงานท้องถิ่น ผู้ที่แสดงอาการติดเชื้อจะต้องถูกกักกันส่วนกลางต่อไป

    ผู้โดยสารต่างชาติ รวมถึงชาวเวียดนามที่เดินทางกลับจากต่างประเทศจะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในการกักกันและทดสอบทั้งหมด ค่าใช้จ่ายสำหรับการทดสอบ PCR ในเวียดนามเสนอไว้ที่ 1.2 ล้านด่อง หรือ 52 ดอลลาร์ ต่อคน

    ในระหว่างการพำนักในเวียดนาม ผู้โดยสารจะต้องติดตั้ง Bluezone ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ใช้บลูทูธ ซึ่งจะช่วยตรวจสอบว่าบุคคลใดได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 หรือไม่

    ในการประชุม นายกรัฐมนตรีเหงียน ซวน ฟุก กล่าวว่า เวียดนามสามารถควบคุมการระบาดครั้งที่สองของไวรัสโควิด -19 ไว้ได้ เนื่องจากประเทศไม่มีการติดเชื้อในประเทศติดต่อกัน 8 วันแล้้ว

    “ต้องมั่นใจว่าการเข้ามาของชาวต่างชาติจะไม่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดใหม่” นายกรัฐมนตรีเหงียน ซวน ฟุก กล่าว

    เวียดนามระงับเที่ยวบินระหว่างประเทศทั้งหมดในวันที่ 25 มีนาคม ชาวต่างชาติจำนวนมากที่ถูกห้ามออกนอกประเทศเนื่องจากข้อจำกัด ในการเดินทางได้ขอร้องให้รัฐบาลเปิดพรมแดนอีกครั้งและเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศ เพื่อให้กลับมารวมตัวกับครอบครัวได้

    ประชุมกระทรวงต่างประเทศอาเซียน

    ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อาเซียนได้จัดให้มีการประชุมกระทรวงต่างประเทศอาเซียนกับพันธมิตรหลายกลุ่ม โดยมีประเด็นการหารือร่วมกันหลายประเด็น ซึ่ง นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุม

  • อาเซียน-จีน:จีนประเดิมกองทุนโควิด 1 ล้านดอลล์
  • ที่มาภาพ :https://www.mfa.go.th/

    เมื่อวันที่ 9 กันยายน นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน เข้าร่วมด้วย

    ที่ประชุมฯ หารือถึงการส่งเสริมความร่วมมือในกรอบอาเซียน-จีนในมิติต่าง ๆ รวมถึงประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยอาเซียนสนับสนุนบทบาทของจีนในการส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียนและกลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้หารือถึงแนวทางความร่วมมือต่อสถานการณ์โควิด-19 ในระดับภูมิภาค โดยจีนได้ประกาศจัดสรรเงินทุนจำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 (COVID-19 ASEAN Response Fund) และเงินจำนวน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนโครงการความร่วมมืออาเซียน-จีนด้านสาธารณสุขอีกด้วย

    ในที่ประชุมดังกล่าว ไทยผลักดันให้ใช้ประโยชน์จากกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 ในการจัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาด้านยาและวัคซีน เพื่อพัฒนาให้เป็นสินค้าสาธารณะของโลกที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ในราคาที่สมเหตุสมผล อีกทั้งเน้นย้ำการรักษาห่วงโซ่อุปทาน และการใช้ประโยชน์จากการที่อาเซียนและจีนประกาศให้ปี 2563 เป็นปีแห่งความร่วมมือเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน-จีน ในการส่งเสริมความเชื่อมโยงทางดิจิทัล และการพัฒนาผู้ประกอบการ MSMEs และสตาร์ทอัพท้องถิ่น นอกจากนี้ ไทยสนับสนุนข้อเสนอของจีนในการประกาศให้ปี 2564 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และผลักดันให้อาเซียนและจีนจัดทำความร่วมมือกับศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่จัดตั้งในไทยอีกด้วย

    ที่ประชุมฯ ร่วมรับทราบต่อเอกสารของไทย เรื่อง “แนวปฏิบัติอันเป็นเลิศและแนวทางที่ไม่มีข้อผูกมัดสำหรับการดำเนินกิจกรรมร่วมกันในการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเลในทะเลจีนใต้ (Best Practices and Non-Binding Guidelines for Cooperative Actions in Marine Environmental Protection in the South China Sea)” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของไทยในการส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายโดยเฉพาะด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเลมาโดยตลอด

  • อาเซียน-ญี่ปุ่น:ญี่ปุ่นมอบ 1 ล้านดอลล์เข้ากองทุนโควิด
  • ที่มาภาพ :https://www.mfa.go.th/th/

    ในวันเดียวกัน นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-ญี่ปุ่น ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนายโทชิมิทสึ โมเทกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น และมีรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน รวมถึงเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมด้วย

    ที่ประชุมฯ หารือถึงความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน-ญี่ปุ่นในสาขาต่าง ๆ และประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยเน้นย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19ทั้งนี้ อาเซียนแสดงความชื่นชมต่อการที่ญี่ปุ่นประกาศจัดสรรเงินทุนจำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 และขอบคุณญี่ปุ่นที่สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ของการจัดตั้งศูนย์ฯ

    ในที่ประชุมดังกล่าว ไทยในฐานะว่าที่ประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น กล่าวสนับสนุนข้อเสนอของญี่ปุ่นในการสอดประสานความร่วมมือระหว่างเอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) กับแนวคิดอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง (Free and Open Indo-Pacific: FOIP) ของญี่ปุ่น

    นอกจากนี้ ไทยได้เสนอให้ปรับมุมมองต่อสาขาความร่วมมือภายใต้เอกสาร AOIP โดยหันมาให้ความสำคัญกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเด็นเทคโนโลยีดิจิทัลและความเชื่อมโยงระหว่างกัน และความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะประเด็นสาธารณสุข ทั้งนี้ ไทยผลักดันให้อาเซียนและญี่ปุ่นดำเนินโครงการที่เป็นรูปธรรมร่วมกับศูนย์อาเซียนต่าง ๆ อาทิ ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงอายุที่มีศักยภาพและนวัตกรรม ที่จัดตั้งขึ้นในไทยด้วย

  • อาเซียน-อาเซียนบวกสาม:ย้ำความร่วมมือ
  • ต่อมา นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 21 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนาย ฝ่าม บิ่งห์ มิงห์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียน เป็นประธานการประชุม และมีรัฐมนตรีต่างประประเทศบวกสาม ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี รวมถึงเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมด้วย

    ที่ประชุมฯ ย้ำถึงความสำคัญของกลไกอาเซียนบวกสามในการส่งเสริมความร่วมมือในเอเชียตะวันออกและได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันของภูมิภาคในการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคต นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ยินดีที่ประเทศบวกสามได้สนับสนุนกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 และได้ย้ำถึงบทบาทของความร่วมมืออาเซียนบวกสามในการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความจำเป็นในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูในภูมิภาค ในการนี้ ไทยได้เสนอแนวทางขยายความร่วมมือภายหลังวิกฤตโควิด-19 ในสองด้านควบคู่กันไป ได้แก่ ความมั่นคงทางสาธารณสุข และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยใช้ประโยชน์จากกลไก ความร่วมมือของอาเซียนและอาเซียนบวกสามอย่างเต็มประสิทธิภาพ ไทยได้เสนอจัดการประชุมปฏิบัติการ ในระดับภูมิภาคภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้าเพื่อแสวงหาแนวทางในการดำเนินการตามข้อริเริ่ม “การเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยง” ซึ่งผู้นำอาเซียนบวกสามได้ให้การรับรองในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนเมื่อปีที่แล้ว

  • อาเซียน-สหรัฐฯ:ขับเคลื่อนหุ้นส่วนยุทธศาสตร์

  • ที่มาภาพ :https://www.mfa.go.th/th/

    เมื่อวันที่ 10 กันยายน นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนายสะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สปป. ลาว (ในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ) และนายไมเคิล ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เป็นประธานร่วม

    รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างบรรยากาศของความร่วมมือและความไว้เนื้อเชื่อใจในภูมิภาค การส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์และภัยคุกคามในทุกรูปแบบ รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และได้เน้นย้ำความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ได้แก่ (1) การส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข ซึ่งสหรัฐฯ มีบทบาทที่แข็งขันและยาวนานในภูมิภาค (2) การส่งเสริมการเข้าถึงยาและวัคซีนที่ทั่วถึงและครอบคลุม (3) การส่งเสริมความเชื่อมโยงทางดิจิทัลในภูมิภาค และ (4) การส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อให้สามารถรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต

    ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับทิศทางการขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะในบริบทของการรับมือกับโควิด-19 ได้แก่ ความร่วมมือด้านสาธารณสุข ซึ่งสหรัฐฯ ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือในด้านนี้ผ่านข้อริเริ่ม ASEAN-U.S. Health Futures การกระจายวัคซีนโควิด-19 การส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาค การพัฒนาทุนมนุษย์และการศึกษาโดยสหรัฐฯ ได้ประกาศจัดตั้ง Young Southeast Asian Leaders Initiative (YSEALI) Academy นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับประเด็นระหว่างประเทศ รวมถึงรับรองแผนปฏิบัติการการดำเนินการความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-สหรัฐฯ ปี ค.ศ. 2021 – 2025 อีกด้วย

    ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน–สหรัฐฯ เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2520 และได้รับการยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์เมื่อปี 2558 ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐฯ เป็นการประชุมสำคัญที่จัดขึ้นทุกปี เพื่อเป็นเวทีส่งเสริมความร่วมมือและสร้างพลวัตความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ ในด้านต่าง ๆ ครอบคลุมทั้งสามเสาของประชาคมอาเซียน

  • หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ:ส่งเสริม MSMEs ปรับตัว

  • ที่มาภาพ: https://www.mfa.go.th/th/

    เมื่อวันที่ 11 กันยายน นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ครั้งที่1 (1st Mekong-U.S. Partnership Ministerial Meeting) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนายฝ่าม บิ่งห์ มิงห์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม และนาย Stephen Biegun รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เป็นประธานร่วม ที่ประชุมได้ร่วมยินดีต่อการยกระดับความร่วมมือจากกรอบความร่วมมือข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative – LMI) เป็นหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง – สหรัฐฯ (Mekong-U.S. Partnership – MUSP) รวมทั้งทบทวนความคืบหน้าและกำหนดทิศทางในอนาคตของความร่วมมือ

    ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำความต่อเนื่องของความร่วมมือภายใต้ MUSP และเสนอทิศทางความร่วมมือเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานผ่านการส่งเสริมความเชื่อมโยงทุกมิติ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัล พลังงาน และกฎระเบียบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาที่จะช่วยให้ประชาชนรวมทั้งภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มไมโครวิสาหกิจขนาดกลางและวิสาหกิจย่อม (MSME: Micro, Small and Medium-sized Enterprises) สามารถปรับตัวกับความปกติรูปแบบใหม่ (New Normal) อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล การเรียนทางไกล ซึ่งล้วนเป็นสาขาที่สหรัฐฯ มีความเชี่ยวชาญและสามารถให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศลุ่มน้ำโขงได้ ส่วนด้านความมั่นคงทางสาธารณสุข ไทยแสดงความพร้อมที่จะร่วมมือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การวิจัยและพัฒนาวัคซีน และให้ความสำคัญแก่การเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมกันในฐานะสินค้าสาธารณะของโลก

    ไทยยังแสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับประเทศสมาชิกด้านการบริหารจัดการน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมทั้งการส่งเสริมการทำงานร่วมกันกับกรอบความร่วมมืออื่น ๆ ในอนุภูมิภาคและภูมิภาค โดยเฉพาะ ACMECS ซึ่งสหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของ ACMECS ตั้งแต่ปี 2562

    ที่ประชุมได้รับรองร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง – สหรัฐฯ ซึ่งเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของประเทศลุ่มน้ำโขงและสหรัฐฯ ในการส่งเสริมความร่วมมือหลากหลายสาขาเพื่อให้เกิดสันติภาพ ความมั่นคง ความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

    อนึ่ง MUSP เป็นกรอบความร่วมมือที่ยกระดับจาก LMI ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของสหรัฐฯ และจัดตั้งเมื่อปี 2552 มีสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ไทย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาและเวียดนาม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่เท่าเทียม ยั่งยืน และครอบคลุม

    เรื่องและภาพ: https://www.mfa.go.th/