ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ (archive) > ป.ป.ช.ประเมินคุณธรรม-ความโปร่งใสหน่วยงานรัฐ ทั้งประเทศได้แค่ “C”

ป.ป.ช.ประเมินคุณธรรม-ความโปร่งใสหน่วยงานรัฐ ทั้งประเทศได้แค่ “C”

28 กันยายน 2020


ข่าวประชาสัมพันธ์

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช.

ป.ป.ช.ประเมินคุณธรรม-ความโปร่งใสหน่วยงานรัฐทั่วประเทศ 8,303 แห่ง ได้แค่ “C” เผยธอส.ได้คะแนนสูงสุด-ต่ำสุด อบต.สะอาด จ.ร้อยเอ็ด

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดเวทีสนทนาและประกาศผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปีงบประมาณ 2563 ในหัวข้อ “Open to Transparency : เปิดประตูสู่ความโปร่งใส” โดยมี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวบรรยาย ณ ห้องนนทบุรี 2 (Auditorium) อาคาร 4 ชั้น 3 สำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดนนทบุรี

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ในปีนี้ ITA National Survey ได้สำรวจความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานและประชาชนทั่วประเทศประมาณ 1,301,665 คน โดยผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปีงบประมาณ 2563 พบว่าภาพรวมของประเทศมีคะแนนรวมเฉลี่ยที่ 67.90 คะแนน เพิ่มจากปีก่อน 1.16 คะแนน จัดอยู่ในระดับ C โดยมีหน่วยงานของรัฐที่ผ่านเกณฑ์การประเมินผล หรือ ได้คะแนนเกิน 85 คะแนนขึ้นไปจำนวน 1,095 หน่วยงาน คิดเป็นสัดส่วน 13.19% ของหน่วยงานทั้งหมดที่เข้าร่วมประเมิน 8,303 หน่วยงาน สำหรับหน่วยงานที่ได้คะแนนสูงสุด คือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้ 99.60 คะแนน และส่วนหน่วยงานที่คะแนนต่ำสุด คือ องค์การบริหารส่วนตำบลสะอาด จังหวัดร้อยเอ็ดได้ 28.16 คะแนน

หัวใจหลักสำคัญที่การประเมิน ITA ส่งเสริมให้เกิดขึ้นกับหน่วยงานภาครัฐ และจะนำไปสู่การยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ โดยประกอบด้วยการ “เปิด” 3 อย่าง ดังนี้

  • เปิดเผยข้อมูลภาครัฐ หมายถึง หน่วยงานภาครัฐจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการให้ประชาชนและสาธารณชนได้รับทราบ ซึ่งถือเป็นหลักการพื้นฐานของการให้บริการภาครัฐให้เกิดความโปร่งใส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดเผยข้อมูลในเว็บไซต์ของหน่วยงานซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีเลกทรอนิกส์ออนไลน์ที่ผู้รับบริการและประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและสะดวกมากที่สุด
  • เปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วม หมายถึง หน่วยงานภาครัฐจะต้องมีการเปิดโอกาสให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินภารกิจของหน่วยงาน ทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคลากรภายในหน่วยงาน และประชาชนผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภารกิจของหน่วยงาน ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาการให้บริการภาครัฐได้
  • เปิดใจรับการเปลี่ยนแปลง หมายถึง หน่วยงานภาครัฐ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้องเปิดใจว่าการเปลี่ยนแปลงของโลก สภาพสังคม กฎหมาย และเทคโนโลยีนั้นส่งผลต่อการบริหารจัดการและการให้บริการภาครัฐ ที่จะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้การดำเนินงานภาครัฐมีประสิทธิภาพและเกิดความโปร่งใสมากที่สุด
  • นอกจากนี้ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีบุคคลผู้สร้างสรรค์ผลงานและผู้ที่ผลักดันด้านส่งเสริมความโปร่งใสให้แก่ภาครัฐที่มีความสำคัญและโดดเด่น ซึ่งเป็นการส่งเสริมจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ดังนั้น จึงได้เรียนเชิญมาร่วมถ่ายทอดและส่งต่อแรงบันดาลใจของแต่ละท่าน เพื่อให้สาธารณชนทั้งในประเทศและในระดับนานาชาติได้รับทราบว่า ประเทศไทยมีพัฒนาการและความเคลื่อนไหวในการส่งเสริมด้านความโปร่งใส โดยมีผู้ร่วมนำเสนอ ประกอบด้วย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ , ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) , นายพริษฐ์ วัชรสินธุ จากบริษัท เอ็ดดูเคชั่น เทคโนโลยี จำกัด และMr.Renaud Meyer ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย

    ในวันเดียวกันนั้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แถลงข่าวว่า ผลการประเมินในปีนี้ กลต. ได้ 91.79 คะแนน เพิ่มกว่าปีก่อน ซึ่งได้คะแนน 89.99 คะแนน ซึ่งเป็นผลมาจากการยกระดับการทำงาน 2 ด้าน คือ ด้านการใช้ทรัพย์สินของราชการที่ได้ 92.15 คะแนน เทียบกับปีก่อนได้ 79.20 คะแนน และด้านการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่ได้ 95.24 คะแนน เพิ่มจากปีก่อนได้ 88.70 คะแนน โดยนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสของก.ล.ต.ในปีนี้ได้คะแนน 91.79 คะแนน ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มองค์กรที่มีคุณธรรมและความโปร่งใสระดับ A ซึ่งเป็นผลมาจากความตั้งใจในการปรับปรุงแก้ไขจุดอ่อนต่าง ๆ ของปีที่แล้ว

    “ในการนี้ ต้องขอขอบคุณความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียภายนอกที่ได้ร่วมประเมินและแสดงความเห็น สำนักงาน ก.ล.ต. มีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และจะพัฒนาการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป” นางสาวรื่นวดีกล่าว