ThaiPublica > Sustainability > Contributor > กฏหมายกับป่าชุมชน

กฏหมายกับป่าชุมชน

18 สิงหาคม 2020


วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา

แม้แต่ผู้ที่รอคอยกฎหมายป่าชุมชนมาตลอดชีวิต ก็ได้แค่รับรู้ว่ามีกฎหมายนี้ออกมาตอนกลางปี 2562

แต่ความเร้าใจก็ยังไม่ค่อยพลุ่งพล่าน เพราะกฎหมายกำหนดว่าหมวด 4, 5, 6, 7, 8 และอีก 7 มาตรา จะมีผลก็ต่อเมื่อประกาศราชกิจนุเบกษาไปแล้ว 6 เดือน

มีอีกกลุ่มที่ยังไม่ถูกใจเพราะกฎหมายป่าชุมชนที่ออกมายังไม่ยอมให้มีป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์

ซึ่งพอจะเข้าใจได้

วันที่ครบ 6 เดือนของกฎหมายป่าชุมชนที่ทุกหมวดทุกมาตราตื่นขึ้นมามีผลพร้อมกันคือ 25 พฤศจิกายน 2562 แต่ช่วงนั้นสังคมกำลังพุ่งความสนใจว่าฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีคนใดบ้าง

เลยไม่มีข่าวการเป่าปรี๊ด เริ่มต้นบังคับกฎหมายป่าชุมชนเสียอีก

กฎหมายป่าชุมชนเป็น 1 ใน 13 พระราชบัญญัติในชุดกฎหมายปฏิรูปที่อุ้มท้องเดินทางยาวนานที่สุดฉบับหนึ่ง

ผมบังเอิญรู้เห็นเคยจับเรื่องนี้มากับมือตั้งแต่ยุคต้นของการออกเดิน

ขอพาย้อนไปสมัยพลเอก ชาติชายกับบ้านพิษณุโลก ในปี 2531 แนวคิด “ป่าชุมชน” ถูกจุดขึ้นมาในทำเนียบด้วยการทำงานระหว่าง อ.โต้ง ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ และนักกฎหมายในบ้านพิษณุโลกคือ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย และพี่ไพสิฐ พาณิชย์กุล ประจำคณะที่ปรึกษานโยบายนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ร่วมกับ NGO และนักวิชาการที่ขับเคลื่อนความคิดทางประชาสังคมอีกหลายๆ สาย

สมัยนั้นผมเป็นสตาฟบ้านพิษณุโลก จึงยังทันได้ต้อนรับคุณจำนงค์ โพธิสาโร อธิบดีกรมป่าไม้ที่ภายหลังมาเป็น ส.ส. ของพรรคชาติไทย, ดร.ยุกติ สาริกะภูติ, คุณไพโรจน์ สุวรรณกร ฯลฯ

พอถึงเดือนพฤษจิกายน 2531 มีพายุพัดเข้านครศรีธรรมราช เกิดเหตุโคลนถล่มและซุงจำนวนมากมายทะลักไหลลงจากภูเข้าพุ่งทำลายหมู่บ้านที่ กระทูน ตำบลพิปูน ทับชาวบ้านเสียชีวิตถึง 700 คน!!

นายกฯ ชาติชายและทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกบินด่วนลงดูพื้นที่ด้วยความสลดใจ เมื่อทราบว่าไม้ซุงเหล่านี้คือไม้ที่ถูกนายทุนลักลอบตัดไว้บนภูเขา แต่ถูกน้ำพัดไหลลงเขามา นายกฯ ชาติชายจึงประกาศยกเลิกสัมปทานป่าไม้ทั่วประเทศทั้ง 301 แปลง ซึ่งส่งผลให้ประทานบัตรเหมืองแร่ในเขตป่าทั้งหลายในพื้นที่สัมปทานไม้ก็มีอันต้องล้มพับไปตามกัน…ด้วยเหตุครั้งนั้น

การปิดป่าลั่นดาลเพื่อสกัดนายทุนตัดไม้ข้ามเขตจึงเกิดขึ้น…

จากปี 2531 ถึง 2538 ประเทศไทยเปลี่ยนรัฐบาลไปอีกหลายชุด มาสู่ยุคนายกฯ บรรหาร ศิลปอาชา มี ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็นทั้งรัฐมนตรีคลังและที่ปรึกษา มี ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นอีกหนึ่งในคณะที่ปรึกษา

สองที่ปรึกษานายกฯ ได้ร่วมกันรับเรื่อง “ป่าชุมชน” จากเครือข่ายนักวิชาการที่เคยรู้จักมาตั้งหลักการ แล้วผมในฐานะรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการนายกรัฐมนตรีสรุปนำเอกสารของ อ.บวรศักดิ์เซ็นเสนอต่อท่านบรรหารให้พิจารณาส่งเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา ครม.นายกฯ บรรหารจึงเป็น ครม. แรกที่มีมติเห็นชอบหลักการแห่งป่าชุมชน

ตอนนั้นคุณผ่อง เล่งอี้ เป็นอธิบดีกรมป่าไม้

ที่จริงมีร่างกฎหมายป่าชุมชนฉบับกรมป่าไม้อยู่เหมือนกัน แต่ยังไม่ได้รับฉันทามติจากเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนและวงนักวิชาการ กระทรวงเกษตรฯ ในเวลานั้นจึงไม่ได้เสนอร่างกฎหมายเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

เอกสารหลักการของ อ.บวรศักดิ์จึงเน้นเอาเฉพาะเรื่องหลักการคนอยู่กับป่า และป่าชุมชนด้วยสิทธิชุมชน เข้าให้คณะรัฐมนตรีรับหลักการไว้ก่อน

รัฐบาลนายกฯ บรรหารเผชิญสารพัดความวุ่นวายทางการเมืองจนต้องยุบสภาไปในเวลาปีเศษๆ

แต่ก็นับเป็นรัฐบาลแรกที่ธงแห่งหลักการป่าชุมชน ปักลงกลางทำเนียบรัฐบาลได้สำเร็จเป็นหนแรก แต่ยังไม่มีสถานะเป็นร่างกฎหมายอะไร

จนเมื่อมีรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มาจากการปฏิรูปการเมือง ทำให้เกิดหลักการประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ด้วยจำนวนห้าหมื่นชื่อได้เป็นหนแรก

ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนจึงถูกประชาชนเสนอเข้าสภาผู้แทนฯ ได้ แต่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรก็ยืดเยื้อไปจนมีการเลือกตั้งใหม่ในปี 2544

คณะรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งของคุณทักษิณ ชินวัตร โหวตส่งร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนฉบับประชาชนเข้าสู่สภาผู้แทนฯ จนผ่าน แต่พอร่างผ่านมาถึงสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งชุดแรก กลับปรากฏว่าไม่ยักผ่านเสียงข้างมากของวุฒิสภาในเวลานั้น

ต่อมาบ้านเมืองก็เกิดความวุ่นวายทางการเมืองอีก จากเหตุอื่นๆ เกิดการเผชิญหน้า แล้วเกิดรัฐประหาร 2549

รัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ หยิบกฎหมายป่าชุมชนฉบับนี้ขึ้นมาปัดฝุ่นเสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติในปลายปี 2550 อีก

คราวนี้ผ่านครับ

แต่ข่าวดี มีได้ไม่นานอีก

มีผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญว่า สภาขณะลงมติกฎหมายป่าชุมชนนั้น

มีไม่ครบจำนวนเป็นองค์ประชุม!!

ร่างกฎหมายนี้จึงมีอันต้องแท้งหลังคลอด…

นี่แหละ ที่ผมถึงต้องเอาเรื่องนี้มาเล่า…

ท้องก็ยาก
อุ้มท้องนาน
แท้งก็ง่าย

จากนั้นเป็นต้นมา กฎหมายป่าชุมชนก็สาปสูญไปจากยุทธจักร

เพราะจอมยุทธในวงการเมืองมัวแต่พะบู๊กันในนามกีฬาสีอีกเกือบ 7 ปี

จนมาถึงคราวรัฐประหาร 2557 สภาปฏิรูปแห่งชาติจึงรับร่างกฎหมายป่าชุมชนมาพิจารณาอีก จากนั้น ครม. พลเอก ประยุทธ์ก็มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายป่าชุมชนในเดือนพฤษภาคม 2561 เป็นการเสนอเรื่องเข้าโดยพลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติฯ เวลานั้น

ผมเป็นสมาชิกร่วมประชุมในฐานะรัฐมนตรีท่องเที่ยวและกีฬาแล้วพอดี

จากนั้นร่างกฎหมายป่าชุมชนก็ไปสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แล้วผ่านออกมาเป็นกฎหมาย (โดยมีองค์ประชุมถูกต้องเรียบร้อย)

นี่คือการเดินทางยาว 28 ปี ของกระบวนการป่าชุมชน ของไทย

เพียงแต่ยังเชื่อว่าการเดินทางนี้อาจจะยังไม่จบลง

เพราะนิยามป่าชุมชนตามกฎหมายนี้จะคุ้มครองเฉพาะป่าชุมชนที่ไม่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ไม่อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ไม่อยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่านะครับ

มีป่าชุมชนได้ในเขตป่าสงวน ในเขตที่ดินหลวง ที่ดินรัฐ ที่ดินราชพัสดุ ที่ดินรัฐวิสาหกิจทั้งหลาย ซึ่งก็คงมีมากพอควรอยู่

การออกเดินต่อเรื่องหลักการป่าชุมชนจะสามารถมีในเขตป่าอนุรักษ์ได้หรือไม่คงมีการถกกันต่อไป

ตอนนี้ เรามาช่วยกันสนับสนุนป่าชุมชนในเขตต่างๆ ตามกฎหมายให้สามารถบรรลุเป้าหมาย สร้างความไว้วางใจในหลักคนอยู่กับป่ากันต่อให้ได้อย่างมั่นคงกันครับ