ThaiPublica > คอลัมน์ > การปฏิรูปประเทศที่เรากำลังจะได้สัมผัสจากรากจนถึงใบ : ตอนที่ 1

การปฏิรูปประเทศที่เรากำลังจะได้สัมผัสจากรากจนถึงใบ : ตอนที่ 1

9 สิงหาคม 2020


วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานกรรมาธิการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา

พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติของไทยแต่ดั้งเดิมมา ไม่เคยเชื่อแม้สักนิด ว่าคนอยู่กับป่าได้

การประกาศเขตอุทยานปกติก็ทำบนแผนที่กระดาษ ขีดคร่อมทับพื้นที่กว้างใหญ่ โดยไม่รู้ชัดหรอกครับว่าจะมีใครอยู่มาก่อนหรือไม่ ไม่มีการเดินป่าสำรวจก่อนขีด

กฎหมายบอกให้ราษฏรมาโต้แย้งรัฐในเวลาที่กำหนด

ดังนั้น ใครไม่ได้ทำหนังสือมาโต้แย้งคัดค้านแปลว่าไม่ได้รักษาสิทธิ ส่วนพวกเขาจะรู้หนังสือหรือรู้สิทธิของตัวเองหรือเปล่า รัฐคงไม่ได้คำนึง

รัฐนึกแค่จะรักษาป่าไม้ไว้ แต่แล้วรัฐก็ไม่ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่รักษาอุทยานมามากพอจะดูแลทั่วถึงตามเขตที่ประกาศ

คนที่เคยอยู่ที่นั่นมาก่อนก็อาจไม่รู้เรื่องกฏกติกาเหล่านี้

คนที่ย้ายมาใหม่ก็มีทั้งที่รู้ว่าตรงไหนเขตป่าและที่ไม่รู้

เพราะรัฐก็ไม่เคยทำเขตป่าตามที่อ้างไว้ในแผนที่แนบท้ายประกาศเขตอุทยาน เขตห้ามล่าหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อาศัยคำตามสอง พ.ร.บ. คือ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า

คนเมืองยังแทบไม่เคยอ่านกฎหมายสองฉบับ นับประสาอะไรกับคนที่อาศัยใกล้ป่า การกระทบกระทั่งระหว่างคนเฝ้าป่ากับคนอยู่ติดป่า หรืออยู่ในป่าจึงดำเนินเรื่อยมา

ในช่วงปี พ.ศ. 2522-2530 ชาวบ้านบางกลุ่มถูกทางการพาย้ายออกจากพื้นที่สู้รบกับคอมมิวนิสต์แล้วเอามาแหมะไว้ในที่ดินที่ต่อมาภายหลังถูกประกาศเป็นเขตป่า หรือประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ประกาศเป็นอุทยานก็มี ชาวบ้านไม่หือไม่อืออะไร เพราะถือเสียว่า ทางการพาให้ฉันมา ยังไงฉันก็ไม่ใช่คนรุกป่า

แต่ก็มีเหมือนกันที่ชาวบ้านรุกป่าเพราะไม่เห็นมีใครมาว่าหรือห้ามปรามอะไร และก็มีทั้งที่ถูกห้ามแต่ก็แอบเข้าไปรุกดื้อๆ เพราะไม่มีหลักหมุดหรืออะไรให้เชื่อที่มีคนบอกว่าผ่านมะพร้าวต้นนี้ไป เป็นเขตห้ามล่า ห้ามจับจองทำกินใดๆ

พวกนายทุนที่เคยรุกป่าแต่ต่อมาไม่อยากถูกจับก็หันไปใช้วิธีรับซื้อผลผลิตพืชไร่พืชเศรษฐกิจที่อยากได้ อันเป็นผลให้ชาวบ้านเลือกจะรุกป่าเองเพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก จะได้เอาผลผลิตไปขายนายทุน

เผลอแผลบเดียว ป่าก็ถูกรุกรานจนเสียหายเยอะแยะ หนักเข้าก็มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน นำไปสู่ปัญหาการเลือกปฏิบัติ การจ่ายค่าคุ้มครอง จ่ายค่าปิดตากัน

บางพื้นที่หากความแตกก็เกิดเรื่องอื้อฉาว มีทั้งฝ่ายกฎหมายรัฐมาจับกุมดำเนินคดี มีบางกรณีที่เจอคนใจร้อนจัด ใช้กฎหมายป่าชำระแค้นกันเองก็มีเป็นข่าว

แม้มีผู้พยายามหาวิธีวางกติกาคนกับป่าหลายครั้ง

แต่ถ้ายกเว้นที่เคยมีการเสนอร่างแนวคิดกฎหมายป่าชุมชนที่นับถึงวันนี้ใช้เวลาไปเกิน 20 ปีแล้ว ก็ยังคลอดไม่ได้ ร่างกฎหมายป่าชุมชนไม่เคยเดินทางถึงรัฐสภา

กฎหมายอื่นที่จะรองรับสิทธิและวางบทบาทคนกับป่าแบบยอมรับข้อจำกัดของกันและกัน ไม่มีคลอดออกมาได้เลยสักหน

การทวงคืนผืนป่าแบบไม่แยกแยะ จึงกลับทำให้สัมพันธภาพระหว่างชาวบ้านกับรัฐร้าวและห่างถ่างจากกันไปเรื่อยๆ

ไม่มีใครถูกหมดหรือผิดหมดหรอกครับ

แต่ทำให้การปลูกป่าในใจคน กลายเป็นได้แค่โปสเตอร์ชโลมใจให้คนเมืองดู

แต่คนในป่าและคนใกล้ป่าจำนวนมากกลับชอกช้ำ เพราะปลูกไปก็ถูกจับขับไล่ ถูกคดี มีคุกเป็นที่หมาย

แม้จะแบบบำรุงรักษาป่าก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะกฎหมายไม่อนุญาตเด็ดขาด โดยเฉพาะกฎหมายอุทยาน ส่วนเขตห้ามล่าสัตว์ป่าและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ยิ่งแล้วใหญ่

ชะโงกหน้าข้ามเข้าเขตไปก็ถือว่าผิด

เมื่อราว 5 ปีที่แล้ว ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ นักวิชาการหนุ่ม ในฐานะผู้บริหารจากมูลนิธิสถาบันธรรมรัฐเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อตั้งโดยท่านผู้หญิง ดร.สุธาวัลย์ เสถียรไทย โทรศัพท์ หาศาสตราจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ในโอกาสแรกที่ ดร.บัณฑูรได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในกรรมการ ป.ย.ป. (ย่อมาจากวางแผนปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและทำความปรองดองแห่งชาติ อะไรยังงี้แหละ) ว่า ดร.บัณฑูรอยากให้ อ.สุรเกียรติ์ช่วยทาบทามผมไปร่วมเป็นอนุกรรมการ ปยป. หน่อย เพราะอยากมีนักกฎหมายเข้ามาร่วมคิดร่วมออกแบบสิ่งที่จะ ปยป. กัน

ดร.สุรเกียรติ์ทาบทามผม ผมก็รับคำชวนเพราะทั้งเคยเรียนจบกฎหมายสิ่งแวดล้อมสมัยเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด และอาศัยว่าเคยมีประสบการณ์บริหารและออกแบบนโยบายสาธารณะมาก่อน

หนึ่งในหัวข้อที่ตกลงว่าน่าจะทำก็มีเรื่องการปฏิรูประบบบริหารราชการ กับอีกเรื่องคือการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้

และนี่เอง ที่ทำให้ผมได้เข้ามาร่วมในกิจกรรมเบื้องแรกของการหาวิธีแก้ พ.ร.บ.เป็นชุดเกี่ยวกับ “ป่าไม้ของไทย” ซึ่งรวมถึงอุทยานด้วย

โดยคิดอ่านจะทำประมวลกฎหมายป่าไม้ขึ้นมา

ดร.บัณฑูรจึงนำพวกเราไปเข้าประชุมนำเสนอไอเดียนี้กับพลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ในเวลาต่อมาที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ย่อว่า ทส.)

ที่นั่น ท่านรัฐมนตรีว่าการ ทส. พร้อมปลัดกระทรวง ดร.วิจารย์ สิมาฉายา และอธิบดีทุกกรมนั่งร่วมประชุมกับพวกเราตั้งแต่บ่ายสี่จนถึงทุ่มเศษ

แม้ไม่ได้รับปากว่าจะทำอย่างที่พวกเราคิด แต่การรับฟังโดยกำหนดให้ปลัดและอธิบดีอยู่ร่วมจนเลิกประชุมนั้น น่าจะเป็นสัญญานที่ดี

เรากลับกันลงมาที่บันไดหน้ากระทรวงด้วยความรู้สึกดี เพราะอย่างน้อยผู้ใหญ่ของกระทรวงก็อุตส่าห์รับฟัง แต่ไม่ถึงขนาดที่จะรู้ว่าในที่สุดอีก 5 ปี ถัดมา

คำว่า คนอยู่กับป่าได้…เมื่อเข้าใจกันและกัน

จะมีที่ยืนในกฎหมายขึ้นมา

ติดตามอ่านต่อตอนที่ 2