ThaiPublica > สู่อาเซียน > สิงคโปร์ประกาศ “จะไม่กลับไปสู่ยุคก่อนโควิด วางเส้นทางเดินใหม่”

สิงคโปร์ประกาศ “จะไม่กลับไปสู่ยุคก่อนโควิด วางเส้นทางเดินใหม่”

11 สิงหาคม 2020


นายชาน ชุน ซิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ ที่มาภาพ: https://www.channelnewsasia.com/news/singapore/covid-19-singapore-new-path-chan-chun-sing-13009506

สิงคโปร์ประกาศจะไม่กลับไปสู่โลกก่อนโควิด แต่ต้องวางเส้นทางเดินใหม่

นายชาน ชุน ซิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ประกาศว่า สิงคโปร์จะไม่กลับไปสู่โลกก่อนโควิด และต้องวางเส้นทางเดินใหม่ด้วยการสร้างเศรษฐกิจใหม่เสียตั้งแต่ตอนนี้

ในการแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งหดตัว 6.7% ในช่วงครั้งแรกของปีนี้ และคาดว่าทั้งปีจะติดลบ 5-7% นายชาน กล่าวว่า ความจริงที่เจ็บปวดก็คือประเทศจะไม่กลับไปเหมือนเดิมก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19

นายชานกล่าวว่า การที่ยังมีผู้ติดเชื้อระลอกใหม่และมีการชะงักงันหมายความว่า การฟื้นตัวต้องใช้เวลา “การฟื้นตัวจะไม่เท่ากันในทุกภาค บางภาคจะฟื้นตัวไปได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ภาคอื่นๆอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร”

นายชานยังเตือนว่า วิกฤติในขณะนี้ต่างจากวิกฤติเศรษฐกิจการเงินเอเชียในปี 1998 หรือวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2009 ซึ่งหากตั้งหลักเตรียมรับ ทกุอย่างก็จะดีขึ้นในอีก 2-3 เดือน

“หากเรามัวแต่คอย เราก็จะแย่กว่าจากที่เป็นอยู่” นายชานกล่าวและว่า “สิงคโปร์ต้องเริ่มสร้างเศรษฐกิจใหม่เสียตั้งแต่ตอนนี้ และสร้างโอกาสการทำงานที่ดีขึ้นและมากกว่าเดิมให้กับคนของเรา เราจะคอยให้โควิดหมดไม่ได้”

โลกเปลี่ยนไปแล้ว

นายชานกล่าวว่า โลกเปลี่ยนไปแล้วอย่างถาวรใน 4 ด้าน

ด้านแรก สภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งทำให้สิงคโปร์เจริญรุ่งเรืองในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาได้เปลี่ยนไป

การแข่งขันและความตึงเครียดระหว่างประเทศมหาอำนาจ กำลังแทรกซึมไม่เพียงแต่การเมืองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการค้า เทคโนโลยี และความมั่นคงอีกด้วย นายชานกล่าว

นายชานยกตัวอย่างแพล็ตฟอร์มการส่งข้อความ โดยกล่าวว่า เมื่อชาวสิงคโปร์ทำธุรกิจในจีน ต้องสื่อสารกับคู่ค้าผ่านวีแชท(WeChat) และไม่สามารถใช้บริการวอทสแอป(WhatsApp)ได้ แต่ในสหรัฐฯกลับตรงข้ามกัน

“ความขัดแย้งเช่นนี้จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในโลกที่ซับซ้อนมากขึ้น”นายชานกล่าวและว่า “เราต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้ตกอยู่ในความขัดแย้งของมหาอำนาจหรือติดอยู่ในโลกของความสัมพันธ์ทางการค้าและมาตรฐานเทคโนโลยีที่แยกออกเป็นส่วนๆ”

ด้านที่สอง บริษัทระดับโลกปรับเปลี่ยนการผลิตและห่วงโซ่การผลิต รวมทั้งทบทวนความจำเป็นของการมีสำนักงานภูมิภาค และสถานที่ตั้งโรงงาน หลายบริษัทได้ผละจากการผลิตที่เน้นประสิทธิภาพ ไปมุ่งเน้นการผลิตที่ส่งมอบสินค้าตามเวลาและปริมาณที่ต้องการ หรือ Just in time เพื่อให้มีความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวได้ หรือเน้นไปที่การจัดเก็บและกักตุนสินค้าเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า Just in case

“บริษัทเหล่านี้ต้องการกระจายความเสี่ยง เพื่อที่ไม่ต้องพึ่งพาแหล่งผลิตใดเพียงที่เดียว” นายชานกล่าวและว่า สำหรับผู้ผลิตบางรายแล้ว หมายถึง กลยุทธ์ จีนบวก 1 โดยมุ่งความสนใจมากที่อาเซียน

นั้นหมายความว่าขณะที่มีการลงทุนส่วนหนึ่งมาที่สิงคโปร์ แต่รายที่อยู่ในสิงคโปร์อยู่แล้ว อาจจะกระจายการลงทุนไปยังประเทศอื่น

“หากเราปรับตัวไม่เร็ว เราจะถูกข้ามไปเลย” นายชานเตือนและชี้ให้เห็นว่า สิงคโปร์ต้องตอกย้ำข้อได้เปรียบที่สำคัญ เช่น การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและความแน่นอนชัดเจนด้านกฎหมาย

การเปลี่ยนแปลงด้านการจัดเก็บภาษี เช่น การเก็บภาษีดิจิทัล ซึ่งกดดันให้บริษัททำธุรกิจในประเทศตัวเองมากขึ้น ก็อาจมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของบริษัทที่จะลงทุนในสิงคโปร์ นายชานกล่าว

ด้านที่สาม รูปแบบงานได้เปลี่ยนไป และการทำงานทางไกลหรือทำงานจากบ้าน หมายถึงคนในประเทศอื่นๆสามารถทำงานที่ชาวสิงคโปร์ทำ ได้จากบ้านของตัวเอง ซึ่งจะกระทบต่อคนที่ทำงานด้านวิชาชีพ(professionals) ผู้จัดการ(managers) ผู้บริหาร(executives)และช่างเทคนิค(technicians)หรือ PMETs จำนวนมาก เพราะเป็นงานที่สามารถทำได้ทั้งผ่านระบบทางไกลหรือผ่านระบบอัตโนมัติและ AI

ด้านที่สี่ ขนาดเศรษฐกิจที่หดตัวลงจะสร้างความแตกแยกทางสังคม ระหว่างคนที่มีมากและคนที่มีน้อย และระหว่างต่างชาติกับคนในประเทศ หรือแม้แต่พลเมืองกับผู้ที่อยู่อาศัยถาวร

แม้มีการเรียกร้องให้มีการปกป้องคุ้มครองและการจัดสรรปันส่วนใหม่ นายชานเตือนให้ชาวสิงคโปร์อย่าแยกตัวเองออกจากโลก

“หากไม่มีโลกซึ่งเป็นพื้นที่ด้านในและตลาดของเรา เราก็จะลดพื้นที่กลยุทธทางเศรษฐกิจ และกลายเป็นข้อจำกัดมากกว่าที่จะขยายโอกาสสำหรับคนของเรา”

ในทางตรงข้าม คนที่ได้รับผลกระทบจากการตกงานและความสูญเสียทางธุรกิจควรได้รับการดูแลที่ดีกว่าเดิมในแนวทางที่ยั่งยืน ซึ่งจะไม่แตกแยก แต่ตอกย้ำเกียรติภูมิของงานและสร้างเสริมสังคม

“เราต้องกำหนดทิศทางใหม่ตั้งแต่ตอนนี้ เพื่ออนาคตที่ไม่เหมือนเดิมและไม่แน่นอน”

สามหลักการสำหรับสิงคโปร์

นายชานกล่าวว่า ชาวสิงคโปร์จะต้องยึด 3 หลักการในการสร้างเส้นทางเดินใหม่
ข้อหนึ่ง เปิดกว้างสำหรับธุรกิจในแนวทางที่ปลอดภัยและยั่งยืน

สิงคโปร์จะแยกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบออกมาโดยเร็วและรวบรัด รวมทั้งเรียนจากประสบการณ์ของที่อื่น

ขอบเขตของกิจกรรมจะต้องบริหารให้เหมาะสมตามสัดส่วนและมีมาตรการเข้มงวดสำหรับกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง

“เหนือสิ่งอื่นใด หากเราแต่ละคนมีความรับผิดชอบต่อสังคม เราก็จะผ่อนคลายกิจกรรมได้มากขึ้นโดยที่มีความเสี่ยงต่ำ” นายชานกล่าว

ข้อสอง รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือธุรกิจและแรงงานที่เหมาะและปรับเข้ากับโลกใหม่

บริษัทที่มีโอกาสดีในด้านนี้ เช่น ยาชีวภาพ ห่วงโซ่อุปทานและการทำงานด้านการควบคุมระบบการผลิตที่ต้องการความแม่นยำสูงหรือ Precision Engineering จะได้รับการสนับสนุน นอกจากนี้จะมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อและน่าดึงดูดสำหรับธุรกิจใหม่ ในการเริ่มต้นและลงทุนที่สิงคโปร์ในระยะยาว นายชานกล่าว

นอกเหนือจากการเพิ่มมูลค่าแล้ว ความพยายามดังกล่าวยังเกี่ยวกับการสร้างระบบที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนสำหรับอนาคต นายชานกล่าว

บริษัทที่ได้รับผลกระทบจากความต้องการที่ลดลงก็จะฟื้นตัว และจะได้รับความช่วยเหลือให้รักษาขีดความสามารถหลักเพื่อกลับมาอย่างแข็งแกร่ง

มาตรการช่วยเหลือขณนี้ครอบคลุมโครงการ Jobs Support Scheme จ่ายเงินชดเชยค่าจ้างแรงงานและค่าเช่า แต่การช่วยเหลือจะปรับเปลี่ยนไปช่วยให้สร้างรายได้มากขึ้นและบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างถาวร เช่น การท่องเที่ยวและบันเทิง จะได้รับการช่วยเหลือให้สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ และปักหมุดในตลาดและผลิตภัณฑ์ใหม่ นายชานกล่าวและว่า “เรารู้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก แต่ยิ่งปรับตัวได้เร็วและเปลี่ยนเร็ว ก็จะฟื้นตัวได้เร็ว”

ข้อสามรัฐบาลจะสร้างเงื่อนไขด้านมหภาคที่เหมาะสม รวมทั้งเสริมเสริมความเชื่อมโยงที่แข็งแกร่งของสิงคโปร์กับตลาดโลกเพื่อการจัดหาอุปทาน เทคโนโลยีและคนที่มีความสามารถ

อีกทั้งสถานะความเป็นศูนย์กลางการบินและท่าเรือของสิงคโปร์ก็ไม่ได้คงอยู่ตลอดไป และสถานการณ์จะชัดเจนมากขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์

นายชานกล่าวอีกว่า ข้อตกลงการค้าเสรีดิจิทัลที่สิงคโปร์ทำไว้จะเปิดตลาดมากขึ้นสำหรับธุรกิจ ขณะเดียวกันยังรักษาช่องทางที่มีอยู่ในการเข้าถึงตลาดแบบดั้งเดิม

รัฐบาลจะฝึกอบรมชาวสิงคโปร์ในการทำงานรูปแบบอนาคตและส่งเสริมการหางานที่เหมาะสม

นายชานยังให้ความเชื่อมั่นว่า แม้ในยุคนี้ประสบกับวิกฤติ แต่สิงคโปร์ก็เริ่มต้นจากสถานที่แข็งแกร่งมากกว่ายุคบุกเบิกและยุคได้รับอิสรภาพ อันเป็นผลจากชื่อเสียงใน 3 ด้านที่ยึดโยงเข้าด้วยอย่างแข็งแกร่ง คือ หลักนิติธรรม แรงงานที่มีการศึกษาและมีทักษะสูง และความเชื่อมโยง

นายชานให้สัญญาว่า แม้มีความท้าทาย ความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่มีต่อชาวสิงคโปร์ทุกคนยังเหมือนเดิม

“เราจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อเตรียมคนของเราให้พร้อมสำหรับความท้าทายข้างหน้า ไม่เพียงเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น แต่ต้องเติบโตในสภาพแวดล้อมใหม่” นายชานกล่าว

“เราจะไม่คอยให้โควิดหมดไป แต่จะเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ เริ่มต้นเศรษฐกิจใหม่และสร้างโอกาสใหม่ๆทั้งหมด เพื่อคนของเราและคนรุ่นต่อๆไป”

ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2020 เป็นติดลบ 5-7%

กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์เผยแพร่ รายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาสสองและแนวโน้มปี 2020 เช้าวันนี้ (11 สิงหาคม 2020) โดยปรับคาดการณ์การเติบโตของเศรษบกิจปี 2020 จาก -7.0% ถึง -4.0% เป็น -7.0 ถึง 5.0%

รายงานระบุว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์อ่อนตัวลงจากเดือนพฤษภาคม เนื่องจากข้อแรก สภาะเศรษฐกิจภายนอกจะยังคงถ่วงภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์นอกประเทศหลายธุรกิจ เช่น การขนส่งและคลังสินค้า การค้าส่ง ข้อสองสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ทำให้คาดว่าการเปิดพรมแดนระหว่างประเทศจะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะมีผลต่อภาคธุรกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยว และข้อสามการกลับมาเปิดให้บริการของธุรกิจที่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติล่าช้ากว่าที่คาด เพราะต้องใช้เวลาในการตรวจหาเชื้อในกลุ่มแรงงานรวมทั้งการเตรียมสถานที่ทำงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานสุขอนามัย

การชะลอตัวของภาคก่อสร้างและงานวิศวกรรมทางทะเลและนอกชายฝั่งที่แย่กว่าที่คาด ซึ่งมีผลสสะเทือนถึงอุตสาหกรรมสนับสนุน เช่น บริษัทที่ให้บริการวิชาชีพที่บริการด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมให้กับโครงการก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายภาคธุรกิจที่ยังแข็งแกร่งในระบบเศรษฐกิจของสิงคโปร์ โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และ precision engineering จากความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ที่สูงกว่าคาดในไตรมาสที่สองและคาดว่าจะทรงตัวไปตลอดครึ่งหลังของปี การผลิตในธุรกิจยาชีวภาพก็คาดว่าจะยังขยายตัว เช่นเดียวกับ ภาคบริการทางการเงินและประกันภัยที่ความต้องการบริการการชำระเงินดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น กับภาคสารสนเทศและการสื่อสารที่ได้รับผลบวกจากไอทีและโซลูชันดิจิทัล

สำหรับ เศรษฐกิจในไตรมาสสองหดตัว 13.2% จากระยะเดียวกันของปีก่อนและเลวร้ายกว่าที่ติดลบ 0.3% ในไตรมาสที่แล้ว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการ Circuit Breaker (CB) ในวันที่ 7 เมษายน ถึง 1 มิถุนายน เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมทั้งเป็นผลจากความต้องการภายนอกที่อ่อนแอลงท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อันเนื่องจากผลกระทบของการระบาดของไวรัสโควิด-19

เศรษฐกิจในไตรมาสสองหลังหักปัจจัยฤดูกาลติดลบ 13.1% จากไตรมาสแรกและยังหดตัวมากขึ้นจากไตรมาสแรกที่ติดลบ 0.8%