ThaiPublica > คอลัมน์ > Where your Eyes Linger ซีรีส์วายล่าสุดจากประเทศชัง LGBT

Where your Eyes Linger ซีรีส์วายล่าสุดจากประเทศชัง LGBT

31 สิงหาคม 2020


บทความโดย 1721955

พฤษภาคมที่ผ่านมา ระหว่างที่เกาหลีใต้หวาดวิตกว่าโควิดระลอกใหม่จะระบาด หลังจากเพิ่งคลายล็อคดาวน์ไปไม่นาน ก็ปรากฎว่ามีชายวัย 29 ปี ชาวเมืองยงอินรายหนึ่ง ที่ถูกตั้งฉายาจากสื่อว่า “superspreader”(จอมแพร่เชื้อ) ป่วย โควิด-19 แล้วไปใช้บริการสถานบันเทิง 5 แห่งย่านอิแทวอน ได้แก่ King Club, Trunk, Queen, Soho และHIM ระหว่างคืนวันที่ 1 พฤษภาคมต่อเนื่องถึงรุ่งสางวันที่ 2 ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเวลานั้นเพิ่มอีก 119 คน โดยมี 69 คนไปย่านอิแทวอนในเวลาดังกล่าว จากนั้นไม่กี่วันสื่อเกาหลีก็ระบุเพิ่มอีกว่า ผับทั้ง 5 แห่งล้วนเป็นผับเกย์ชื่อดัง ทันใดนั้นหนังสือพิมพ์ กุกมิน อิลโบะ ที่ก่อตั้งโดยกลุ่มคริสตจักรก็แพร่สะพัดบทความว่าเกย์เป็นสาเหตุระบาดโควิดระลอกนี้ เกิดความหวาดกลัว รังเกียจไปทั่ว ทัวร์ลงถล่มเละทุกแหล่งสังคมเกย์

…ราวกับลืมไปแล้วว่า การระบาดหนักระลอกแรกเมื่อกุมภาพันธ์นั้น แพร่มาจากกิจกรรมทางศาสนาของโบสถ์ชินชอนจีแห่งพระเยซูคริสต์ และเมื่อ 1 สิงหาคมนี้เอง มันฮี ผู้ก่อตั้งโบสถ์นั้นก็เพิ่งจะถูกจับด้วยข้อหาปกปิดข้อมูลสำคัญในการติดตามสมาชิก/ ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อ 69 คนจากย่านอิแทวอนส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผับเกย์ทั้ง 5 แห่ง แต่พวกเขาไป Club MADE คลับชายหญิงยอดฮิต โดยพบภายหลังว่ามีผู้ติดเชื้อชายวัย 20 ปีอีกคนไปเที่ยวที่นั่น / แต่ก็สายเสียแล้วเมื่อนาย “superspreader” ถูกขุดคุ้ยลากไส้มาบูลลีแฉเชือดกลางสังคมโซเชียล ระบายความเดือดคลั่งอย่างไร้ปราณี แถมสื่อต่าง ๆ ยังเล่นข่าวตามกระแสด้วยการจวกประจานรายนามผู้ใช้บริการคลับเกย์ เผยอายุและสถานที่ทำงานของคนกลุ่มนี้ จนมีหลายรายคิดฆ่าตัวตาย

แต่ความจริงแล้วเกาหลีใต้เพิ่งประกาศเตือนว่ากำลังเข้าสู่การระบาดระลอก 2 เมื่อกลางสิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง หลังจากพบผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งทะยานไปหลายพันคน และมีมากกว่า 800 กรณี เชื่อมโยงกับโบสถ์ซารังเจอิล ของนายจุน กวาง-ฮุน พร้อมกับสมาชิกอีกมากมายถูกตรวจพบว่าเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อโควิด-19

LGBT เป็นบาปต้องตกนรก-ชาวคริสต์บอก

(แม้เดี๋ยวนี้สเปกตรัมทางเพศจะมีหลากหลายเหลือเกิน ไม่ว่าจะ LGBTQ หรือ LGBTQIAPK และ LGBTQQIP2SAA แต่เราขอเรียกสั้นๆว่า LGBT)

ในซีรีส์ Sweet Munchies (2020 / JTBC) เมื่อโปรดิวเซอร์สาวมือใหม่ ริอ่านจะจัดรายการเกย์นักปรุงอาหารเยียวยาจิตใจ ก็พบว่าสังคมคริสเตียนคือกลุ่มแรกที่ดาหน้ามาลงทัณฑ์เธอ ด้วยป้ายประท้วงถึงหน้าสถานีว่า “รักร่วมเพศเป็นบาป” “เราไม่ยอมรับพวกลักกะเพศ” หนึ่งในผู้ประท้วงจวกนางเอกด้วยว่า “ถ้าเด็กทำตามจะทำยังไง!” จากนั้นอีกหนึ่งก็ปาลูกบอลสีอัดใส่เธอพร้อมชูป้าย “96% ของคนเกาหลีต่อต้านพวกรักร่วมเพศ” แม้จะเป็นตัวเลขที่สูงเว่อร์ไม่รู้เอามาจากไหน แต่ก็ไม่ไกลความจริงเมื่อสำนักวิจัยพิว (Pew Research Center) ในสหรัฐ เคยสำรวจว่า “57% ของคนเกาหลีไม่สามารถยอมรับLGBT ได้ และมีเพียง 18% เท่านั้นที่รับได้”

พาสเตอร์ โยนาห์ อี

“ในไบเบิลโฮโมเซ็กชวลเป็นบาป และการเปิดเผยอัตตลักษณ์ส่วนตัวของคุณต่อสาธารณะเยี่ยงนั้นเป็นปัญหา” พาสเตอร์ โยนาห์ อี วัย 43 ปี แห่งคริสตจักรคาลวารีเชิร์ชในโซลให้ความเห็น เขาคือผู้ต่อต้านที่เรียกตนเองว่าเคยเป็นเกย์ แต่ได้รับการรักษาจากพระเจ้าจนหายได้แล้ว ในเกาหลีผู้ต่อต้านชาวคริสต์หลายกลุ่มแพร่วาทกรรมที่ว่า “เกย์เป็นตัวแพร่เชื้อเอดส์” และ “โฮโมเซ็กช่วลจะทำลายล้างมวลมนุษยชาติ”

วาทกรรมเป็นพิษเหล่านี้เคยส่งผลให้คริสตจักรบนเกาะเชจู (อันเป็นโลเคชันถ่ายทำซีรีส์ที่เรากำลังจะเอ่ยถึงต่อไปนี้) แท็กทีมกับกลุ่มสหภาพคุณแม่ ซื้อโฆษณาในหนังสือพิมพ์ โชซอน อิลโบะ ตีพิมพ์ว่า “ถ้าลูก ๆ ของพวกฉันกลายเป็นเกย์ และต้องมาตายด้วยเอดส์ จากการดูซีรีส์เรื่องนี้ ทางสถานีโทรทัศน์ต้องรับผิดชอบ เพราะซีรีส์เรื่องนี้สร้างภาพชวนให้หลงใหลต่อวัฒนธรรมเกย์ ที่ขัดแย้งต่อความเป็นจริง ขัดต่อหลักสุขภาพ และขัดต่อกาละเทศะสำหรับพลเมืองเกาหลี”

ซีรีส์ที่ว่าคือ Life is Beautiful (2010 / SBS) มีความยาวถึง 63 ตอน ที่บทเกย์แสดงโดย ซอง ชาง-อุย ขวัญใจคุณป้าแม่บ้านผู้ยึดหัวหาดบทหนุ่มในโอวาทมาตลอด และตัวซีรีส์ส่งเสริมความอบอุ่นในบ้านเรื่องนี้ ก็ปั้นตัวละครนี้ให้เป็นความภูมิใจของครอบครัว เป็นลูกชายคนโต เป็นเด็กดี เป็นหมอ ไม่เคยก่อปัญหาอย่างคนอื่น ๆ ในบ้านแสนสุขหลังนี้ ทีมงานกระตุกเส้นศีลธรรมอย่างต่อเนื่องด้วยการเผยสตอรี่ฝ่ายแฟนหนุ่ม (แสดงโดย อี ซาง-วู) ที่มาเพิ่มดีกรีความเดือดไปอีกเมื่อหนุ่มคนนี้เคยมีลูกเมีย และแม่เขาพยายามดึงให้กลับสู่วิถีนัมจา(ลูกผู้ชาย) แถมท้าทายสังคมด้วยฉากสกินชิปต่าง ๆ ทั้งโอบกอด เกือบจูบ และจุ๊บหน้าผาก แม้จะไม่มีฉากจูบปากดูดดื่มอย่างคู่รักชายหญิง แต่ติ่งแฟนก็จิ้นจิกหมอนขาดกระจุย พาเรตติ้งพุ่งกระฉูดอย่างน่าหนักใจในสายตาอาจุมม่าทั้งหลายที่มองประเด็นนี้เป็นบาปมหันต์ต้องตกนรก

แม้ในซีรีส์จะไม่มีฉากจูบปาก แต่ก็มีภาพนี้ที่ถูกอ้างว่าหลุดจากกองถ่าย แท้จริงคือภาพตัดต่อเติมจิ้นจากติ่งแฟน
แล้วพอ ep. ที่ 20 เมื่อบทของ ชาง-อุย เปิดตัวกับแม่เลี้ยงและพ่อ สิ่งที่ช็อคสังคมศีลธรรมสูงส่ง คือมันได้กลายเป็นซีรีส์เรื่องแรกในทันที ที่ตัวละครพ่อแม่ออกมาป้องปีกลูกจากคนในบ้านที่มีบางคนยอมรับเรื่องนี้ไม่ได้ว่า “เขาไม่ได้ทำอะไรผิด” ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าสิ่งนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นจริงในสังคมเกาหลี…

คำแรกที่เอ่ยจากปากบทพ่อที่เพิ่งรู้ความจริงว่าลูกเป็นเกย์คือ “แล้วเขาจะอยู่บนโลกแบบนี้ได้อย่างไร?”

บ่ายวันเดียวกับที่โชซอน อิลโบะลงโฆษณา ฮอง ซ็อก-ชอน ก็ทวิตโต้รัว ๆ ว่า “รับผิดชอบที่ทำให้ลูกของฉันเป็นเกย์เพราะดูซีรีส์!?…ถ้าตรรกะนี้จริง งั้นเด็ก ๆ ที่เคยร่วมรายการที่ฉันเคยเป็นพิธีกรเมื่อสิบปีก่อน ป่านนี้คงเป็นเกย์กันยกเมืองไปแล้ว…พวกคุณบ่อนทำลายสิทธิมนุษยชนของเกย์และของผู้ติดเชื้อ”

ฮอง ซ็อก-ชอน
[ฮอง ซ็อก-ชอน อดีตผู้ประกาศข่าว นักแสดงตลก พิธีกรวาไรตี้ และรายการเด็ก เหยื่อเกย์รายแรกที่ถูกเฉดหัวจากวงการ หลังคัมเอาท์เมื่อปี 2000 ทำให้เขาหันเข้าสู่วงการเมืองในฐานะสมาชิกพรรคแรงงานประชาธิปไตยสู้เพื่อสิทธิชาวLGBT ในปี2004 อันเป็นปีเดียวกับที่นิตยสารไทม์ยกให้เขาเป็นหนึ่งใน ‘ฮีโรชาวเอเชียนแห่งปี’ ปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของร้านอาหาร 9 แห่งในย่านอิแทวอน ล่าสุดเมื่อเมษายนที่ผ่านมา เขาเพิ่งเปิดใจกลางทีวีว่า “ตอนผมถูกถล่มยับถูกขู่ฆ่าเมื่อ 20 ปีก่อน พอพ่อแม่ผมรู้เรื่อง แม้ท่านจะรับได้ที่ผมเป็นเกย์ แต่ก็เสนอว่าเราควรกินยาฆ่าแมลงตายยกครัวพร้อมกัน เพราะผมคงไม่มีวันกลับเข้าสังคมได้อีกแล้ว”]

LGBT เป็นอันตรายต่อสังคม-ท่านรัฐมนตรีกล่าว

อดีตรัฐมนตรี คิม ฮยุน-วุง

อดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม คิม ฮยุน-วุง เคยประกาศกร้าวก่อนขึ้นดำรงตำแหน่งเมื่อปี2015 (ปัจจุบันลาออกแล้ว) ต่อกรณีเรียกร้องการสมรสเพศเดียวกันและพาเหรดเกย์ไพรด์ที่จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี2000ว่า “กิจกรรม LGBT ต่าง ๆ กลางกรุงโซล ให้ถือว่าเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยสาธารณะ และต่อบรรทัดฐานทางสังคม แม้เราต้องเคารพเสรีภาพในการแสดงออก แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าควรถูกจำกัด หากขัดต่อความมั่นคงสาธารณะ ไม่ชอบด้วยคุณค่าทางจารีต และบรรทัดฐานทางสังคมเกาหลี”

ในซีรีส์ยอดฮิตติดอันดับ 7 ในชาร์ทเรตติ้งสูงสุดตลอดกาล Itaewon Class (2020 / JTBC) ที่ดัดแปลงจากเว็บตูนชื่อดัง เกี่ยวกับชายผู้เปิดร้านอาหารเล็ก ๆ ต่อสู้กับกลุ่มธุรกิจด้านอาหารยักษ์ใหญ่ในย่านอิแทนวอน มีตัวละครหญิงข้ามเพศ มา ฮยอน-อี (อี จู-ยัง)ที่ตอนแต่งชายก็เหมือนทอมบอย พอแต่งหญิงก็สวยสะพรึง ตอนหนึ่งในซีรีส์เธอไปออกรายการแข่งทำอาหารทางทีวี และถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตีที่เธอเป็นกะเทย จากที่เธอได้รับความนิยมจากผู้ชม กลายเป็นกระแสตีกลับเหยียดที่เธอเป็นกะเทย จนเธอท้อแต่ก็กลับมาฮึดสู้ได้อีกครั้ง และยืดอกบอกกับผู้ชมผ่านกล้องออกอากาศว่า “ฉันเป็นทรานส์เจนเดอร์ค่ะ ฉันรอดชีวิต(ในสังคมแบบนี้)มาได้ และวันนี้ฉันจะชนะการแข่งขันนี้ให้ได้”

ฮอง ซ็อก-ชอน ใน Itaewon Class
[ฮอง ซ็อก-ชอน เกย์เจ้าของร้านอาหารชื่อดังย่านอิแทวอนตัวจริง ได้รับเชิญในบทเจ้าของบาร์ที่ตัวละครใน Itaewon Class ชอบไปแฮงเอาท์ด้วย]

แม้บท มา ฮยอน-อี จะได้ใจผู้ชมไปล้นหลามในฐานะพูดแทนใจชาวข้ามเพศทั้งหลาย แต่บางเสียงก็ติงว่า “ทำไมให้นักแสดงหญิงมารับบทนี้ ราวกับกะเทยไม่มีอยู่จริง” แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ใช้นักแสดงหญิงรับบทหญิงข้ามเพศ เพราะครั้งแรกเกิดขึ้นใน It’s Ok, This is Love (2014 / SBS) เมื่อตอนหนึ่งมีสาวข้ามเพศนางหนึ่ง (อี-เอล) มารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์เรื่องที่เธอไม่คุ้นกับร่างกายใหม่

ฮารีซู

อย่างไรก็ตามซีรีส์เกาหลีเคยมีนักแสดงข้ามเพศรับบทสาวข้ามเพศมาก่อน ใน My Beating Heart (2005 / MBC) ซีรีส์เล่าหลายชีวิตในครอบครัว หนึ่งในนั้นคือน้องชายที่จากบ้านไปนานกลับมาในสภาพแปลงเพศแล้ว และเธอต้องการให้แม่ยอมรับ บทหญิงข้ามเพศนี้แสดงโดย ฮารีซู (ชื่อเธอมาจากคำว่า Hot Issue-ประเด็นร้อน) หญิงแปลงเพศคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์เกาหลี เธอโดดเข้าวงการบังเทิงด้วยการเป็นนางแบบเครื่องสำอาง Dodo ในปี2001 https://youtu.be/93JRYf5f0aI ที่บอกใบ้ผู้ชมด้วยลูกกระเดือกโดดเด่นภายใต้ใบหน้างดงาม เธอกลายเป็นคนดังข้ามคืน สวยตะลึงจนสื่อต่างยกย่องว่า “งามกว่าหญิง” กลายเป็นนางเอกหนัง Yellow Hair 2 (2001) ได้เดบิวต์อัลบัมเพลง Temptation (2001) ช่องทีวีทำสารคดีเกี่ยวกับเธอ แล้วในปีถัดมาเธอก็ร้องขอต่อศาลจังหวัดอินชอนขอเปลี่ยนเพศในเอกสารราชการเป็น ‘หญิง’ ซึ่งศาลก็อนุญาต

อี ซี-ยอน

น่าสังเกตความย้อนแย้งในสังคมเกาหลี เพราะในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ฮอง ซ็อก-ชอน ตกต่ำ ฮารีซู กลับโด่งดังถึงขีดสุด แต่สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับหญิงข้ามเพศทุกคน เมื่อนายแบบหนุ่ม อี ซี-ยอน โดดเข้ามาแสดงหนัง Sex is Zero (2002) ในสถานะเพศชาย ก่อนจะแปลงเพศเป็นหญิง แล้วกลับมารับบทเดิม ในภาค 2 ปี2007 หนังที่เคยทำเงินก็กลับดิ่งร่วง พาลให้สถานะทางเพศใหม่ของเธอไม่รุ่งในวงการ

การถูกโจมตีอย่างรุนแรงยังเกิดขึ้นในซีรีส์เนื้อหาเลสเบี้ยนด้วย หลายสัปดาห์ก่อนที่ Daughter of Club Bilitis (2011 / KBS2) จะออนแอร์ทั้งที่ยังไม่มีใครได้ดูมัน แต่ชาวเนตต่างแห่ส่งข้อความถึงสถานี อาทิ “ช่องของคุณกำลังเผยแพร่อิทธิพลชั่วร้ายแก่เด็กและเยาวชน” ไปจนถึง “ซีรีส์เรื่องนี้เป็นภัยสังคม เป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษย์” มันเป็นหนึ่งในซีรีส์พิเศษประจำปีของช่องที่มี 23 ตอน ตอนละชั่วโมง และมีเนื้อหาแบบจบในตอน นั่นหมายความว่าประเด็นเลสเบี้ยนนี้จะมีแค่ ep. เดียว ที่ว่าด้วยหญิงรักหญิง 3 วัย มาแลกเปลี่ยนเรื่องราวกันในคลับเลสเบี้ยน หนึ่งคือเด็กมัธยมสาวที่รู้สึกหวั่นไหวแปลก ๆ กับเพื่อนหญิงร่วมชั้น อีกหนึ่งเป็นคู่รักเลสเบี้ยนวัยทำงานที่แฟนสาวพลาดท้องกับแฟนเก่า และคู่สุดท้ายคือเลสเบี้ยนรุ่นป้าที่หนึ่งในนั้นมีลูกสาวที่ไม่ได้เจอกันมานานกลับมาเยี่ยม

ซีรีส์เรื่องอื่นๆในชุดนี้ต่างถูกกลับมารีอัพโหลดทางเว็บไซต์ของช่อง ยกเว้นเรื่องนี้ อาจด้วยความกลัวจะเป็นประเด็นจวกอีก อย่างไรก็ตามหลายคอมเม้นต์ต่างชื่นชมว่า ‘มีคุณภาพ’ และ ‘กล้าหาญ’ หนึ่งในนั้นเม้นต์ด้วยว่า “ผมไม่เข้าใจว่าทำไมผู้คนถึงขยะแขยง LGBT แม้ผมจะไม่ใช่เกย์ แต่ก็ยังรู้สึกได้ว่า ซีรีส์นี้จับใจผมมาก ไม่เห็นจะน่าขยะแขยงตรงไหน ผู้คนควรมีสิทธิ์ที่จะรักกัน และมันกำลังเล่าความจริงในสังคม”

แต่นี่ไม่ใช่ซีรีส์เรื่องแรกที่มีประเด็นหญิงรักหญิง ใน The Painter of the Wind (2008 / SBS) ซีรีส์อิงประวัติศาสตร์ว่าด้วยช่างเขียนในราชสำนักชื่อดัง ทันวอน กับแฮวอน ที่ในประวัติศาสตร์สรุปว่าเป็นชายทว่าลีลาตวัดพู่กันกลับพลิ้วไหวอย่างอิสตรีแต่แฝงความอีโรติกสุดพลัง แต่ในซีรีส์นี้ปรับให้แฮวอนเป็นหญิงที่ปลอมเป็นชายมาสืบหาฆาตกรและร่ำเรียนจิตรกรรมในวังหลวง แฮวอนเป็นศิษย์ของทันวอน และทันวอนก็เอ็นดูแฮวอนไม่น้อย แต่แฮวอนมีนางในดวงใจเป็นนางโลมที่แฮวอนมักจะเรียกมาเป็นแบบวาดภาพหวิวอยู่บ่อย ๆ และดูเธอก็มีใจให้ไม่น้อยเพราะไม่รู้ว่าแฮวอนเป็นหญิง แม้ภายหลังนางโลมผู้นี้จะรู้ความจริงแล้ว แต่เธอก็ไม่อาจตัดใจจากแฮวอนได้

LGBT เป็นทหารได้…แต่เสี่ยงคุก

ใน Prison Playbook (2018 / tvN) ซีรีส์นักเบสบอลดาวรุ่ง (ปัก แฮ-ซู) ที่เผลอก่อคดีจนต้องติดคุก ทำให้เขาได้พบเจอผู้คนเฮี้ยน ๆ มากมายในคุก หนึ่งในนั้นเป็นทหาร (จุง แฮ-อิน) ที่ถูกกล่าวหาว่าซ้อมทรมานเพื่อนทหารด้วยกันจนตาย และสาเหตุที่เหยื่อถูกซ้อมเป็นประจำ เพราะเหยื่อเหยาะแหยะไม่แมน ไม่เข้มแข็งอย่างชายชาติทหาร แต่ตอนที่ทหารนายนี้ติดคุก เขาต้องมานอนข้างกันในห้องขังแคบ ๆ กับเกย์หนุ่มขี้ยาจอมโวยวาย (อี คยู-ฮยัง) ที่กลายเป็นไม้เบื่อไม้เมาตีกันประจำ

เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ยังบังคับให้ชายทุกคนต้องเกณฑ์ทหาร และแม้กองทัพเกาหลีใต้จะประกาศว่า เปิดกว้างให้เกย์สามารถเป็นทหารได้ แต่ก็สุ่มเสี่ยงต่อการต้องโทษ ภายใต้กฎหมายมาตรา 92-6 ของรหัสอาชญากรรมกองทัพ ที่ระบุว่า ‘บุคคลใดประกอบกิจกรรมทางเพศทางทวารหนัก หรือมีพฤติกรรมอนาจารอื่น ๆ ต่อทหาร จะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี’ โดยปัจจุบันนอกจากจะตีความกว้างขึ้น คือ ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นทหาร ทหารนายนั้นจะมีความผิด และไม่ว่าพฤติกรรมนั้นจะเกิดขึ้นในรั้วทหารหรือไม่ก็ตาม หรือแม้จะพ้นสภาพทหารแล้วแต่สืบย้อนหลังได้ว่าเคยก่อเหตุขณะยังเป็นทหารอยู่ รวมถึงมีการใช้แอปเกย์กว้านล่อสอดแนมทหารเกย์ ฯลฯ คนเหล่านี้จะต้องขึ้นศาลทหารโดยไม่มีข้อยกเว้น

กฎหมายนี้บัญญัติมาตั้งแต่ปี 1962 เคยถูกนำขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญอยู่หลายครั้ง เพื่อพิจารณาว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ทุกครั้งศาลยังคงยืนกรานว่าสาระของกฎหมายนี้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ อีกทั้งไม่มีเสียงจากประชาชนสนับสนุนให้ยกเลิกกฎหมายนี้ โดยประชาชนส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า “กฎหมายนี้ส่งเสริมระเบียบภายในกองทัพ และบรรทัดฐานทางสังคม”

แต่กฎหมายนี้เองที่เปิดโอกาสให้มีการถากถาง การคุกคาม โดยเฉพาะกับทหารที่ “ไม่แมนพอ” “ตุ้งติ้ง” “เสียงแหลม” จะถูกล้อเลียน ถูกจับอวัยวะเพศ ถูกระบุว่ามีอาการจิตเวช ไปจนถึงถูกรุมกระทืบ และบ่อยครั้งที่แสดงให้เห็นถึงความย้อนแย้งภายในกองทัพที่เข้มงวดกับการตรวจจับเกย์ แต่ไม่สามารถจับมือใครดมได้เมื่อมีทหารถูกซ้อมทรมาน ที่บ่อยครั้งรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต หรือยอมฆ่าตัวตาย

LGBT ไม่มีอยู่ในจักรวาลขงจื้อ

หากอยากรู้ว่า ชาติ กำหนดกรอบคิดแบบไหนให้พลเมืองในชาติ จงแหงนหน้าขึ้นมองธงชาติ เฉกเช่นธงไตรรงค์ของไทย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ คือ รากฐานฝังแน่นลึกที่ส่งผลต่อสรรพสิ่งในชาติ เช่นกัน หากมองธงแทกึกของเกาหลีใต้ ขีดอี้จิงทั้ง 4 มุม เรียบ ง่าย แต่ตีความตามวิถีจักรวาลได้หลายหลาก ได้แก่ ธาตุทั้ง 4, ฤดูกาลทั้ง 4, ทิศทั้ง 4, โลก สวรรค์ อาทิตย์ จันทร์, ยุติธรรม ปัญญา สามัคคี ความเจริญ และ พ่อ แม่ ลูกชาย ลูกสาว ส่วนวงแทกึกแดงน้ำเงินตรงกลาง คือหยินหยาง อ่อน-แข็ง บวก-ลบ ผู้นำ-ผู้ตาม สรรพสิ่งล้วนถูกสร้างมาคู่กัน นั่นคือ หญิง-ชาย = ความสมบูรณ์ / ความสมดุล = พลังจักรวาล และแน่นอนว่า LGBT อยู่ตรงไหนไม่ได้เลยบนฐานคิดจักรวาลแบบนี้

แม้แนวคิดนี้จะเป็นของเต๋า แต่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 ขงจื้อใหม่ได้หลอมพุทธกับเต๋าเข้ามารวมกันอย่างแนบสนิท อันมีเป้าหมายถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมโบราณแก่ชนรุ่นหลัง(อันหมายถึงสืบลูกสืบหลาน สอนลูกสอนหลาน สืบ ๆ ไป) อบรมให้เคารพกตัญญู อยู่ในโอวาท รู้กฎระเบียบ และค่านิยมในการดำเนินชีวิตในสังคม พวกเขาจึงเข้าใจได้ทันทีเมื่อกองทัพกล่าวว่า “LGBT ทำลายระเบียบวินัย”, เมื่อรัฐมนตรีกล่าวว่า “LGBT ไม่ชอบด้วยจารีต” และเมื่อชาวคริสต์กล่าวว่า “LGBT เป็นบาปต้องตกนรก”
ใน Love with Flaws (2020 / MBC) นางเอกอยู่ในครอบครัว 4 พี่น้องที่เกิดจากพ่อเลี้ยงเดี่ยว และแม่เลี้ยงเดี่ยว 2 ครอบครัวมาอยู่กินกัน ซึ่งการเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวตามวิถีขงจื้อถือว่าอาภัพ เพราะไม่สมบูรณ์ แต่ครอบครัวนี้ยิ่งอาภัพหนักไปใหญ่เมื่อต่อมาพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายตายในอุบัติเหตุ และนี่คือครอบครัวตัวอย่างที่ชาวขงจื้อถือว่าไม่ถูกหลักอนามัย ครอบครัวที่ขาดพ่อแม่คอยอบรม ใครเอาหน่อเนื้อเด็กอาภัพเหล่านี้ไปแต่งงานด้วยจะซวยไปชั่วลูกชั่วหลาน

พวกเขาต้องกระเสือกกระสนดูแลกันและกันจนเติบใหญ่มาในแบบที่คนภายนอกมองว่าแปลก มองว่าไม่สมบูรณ์ และมีหนึ่งในนั้นเป็นเกย์ (ชา อิน-ฮา, เพิ่งเสียชีวิตไปหลังจากซีรีส์ออนแอร์ไปเพียง 2 ตอน และครอบครัวไม่อนุญาตให้เปิดเผยสาเหตุการตาย) เป็นบาร์เทนเดอร์ทำงานกะกลางคืน และเขารักข้ามรุ่นกับเด็กหนุ่ม (จัง ยู-ซาง) ดั่งชื่อเรื่องที่สื่อว่าทุกตัวละครในเรื่องนี้แหว่งวิ่น แต่ตำหนิเหล่านี้ทำให้พวกเขาไม่มีความสุขและไม่สามารถมีความรักได้งั้นหรือ

(ซ้าย) จัง แช-วอน (ขวา) คิม จี-วู

มูลนิธิส่งเสริมสุขภาพเกาหลีระบุว่า อัตราการฆ่าตัวตายในเกาหลีมีสูงถึง 23.8 คน ต่อหนึ่งแสนคน ในบรรดานี้มี 4.77% ของวัยรุ่น LGBT ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ ในจำนวนนั้นรวมถึง จัง แช-วอน เซเล็บหญิงข้ามเพศ วัย 26 ที่แขวนคอตายคาห้องน้ำเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2008 ถัดไปอีกไม่กี่วัน วันที่ 7 ตุลาคม นายแบบและนักแสดง คิม จี-วู วัย 23 ก็ผูกคอตายในห้องนอน สาเหตุเกิดจากเมื่อเดือนเมษายนในปีนั้น เขาไปออกรายการเรียลิตี้ Coming Out (tvN) โดยเปิดเผยว่าตนเป็นเกย์ ส่งผลให้แบรนด์เสื้อผ้า รายการทีวีต่าง ๆ แคนเซิลงานทั้งหมด และเอเจนซี่ของเขาขอถอนสัญญา ทั้งสองถูกขู่ฆ่าโจมตีอย่างหนักบนโลกไซเบอร์ คิม จี-วู ทิ้งจดหมายลาตายไว้ว่า “ผมโดดเดี่ยวไม่ไหวแล้วกับสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ โปรดเผาศพผมด้วยครับ”

ในแบบสำรวจเดิมบอกอีกด้วยว่า มี LGBT มากถึง 54% เคยพยายามจะฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ ปัญหาเหล่านี้นำไปสู่การอยู่อย่างยากลำบาก หลบ ๆ ซ่อน ๆ บางคนต้องยอมแต่งงานตามใจพ่อแม่ หรือหลอกคนอื่นว่ามีคู่รักต่างเพศ สร้างโลกสองใบ เกย์บางคนมีลูกเมีย แต่ตกดึกก็เลือกจะมีความสัมพันธ์ไม่มั่นคงกับชายแปลกหน้า

กระแส Hallyu หรือ โคเรียนเวฟ หรือ เคป๊อป 2 ระลอกเพิ่งเกิดขึ้นในช่วง 20 กว่าปีนี้เอง ระลอกแรกจากหนัง Christmas in August (1998) ระลอกหลังจากซีรีส์ Autumn in My Heart (2000, KBS2) ที่ผนึกกำลังกับหนังอย่าง My Sassy Girl (2001) และกระแสนักร้องเคป๊อป อย่าง Se7en, Rain, TVXQ (2003) ก่อนหน้านั้นบ้านเราแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่ากายกรรมเปียงยางที่มาโชว์ทุกปีมาจากเกาหลีไหน เรารู้แต่จากข่าวทีวีว่าเกาหลีใต้มีนักศึกษาประท้วงฆ่าตัวตายต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหารอยู่บ่อย ๆ แต่เดี๋ยวนี้ทั่วโลกต่างรู้จัก แบล็คพิงค์, อ๊ปป้า, กังนัมสไตล์, กิมจิ, ซารังเฮโย, ต๊กป๊กกี, ศัลยกรรม, เครื่องสำอาง และวัฒนธรรมยิบย่อยที่พร่างพรูจากสื่อบันเทิงเกาหลี อันเป็นนโยบายชูธงแห่งชาติ ทั้งที่โลกก่อนเกาหลีจะมาถึง วงการบันเทิงต่างชาตินอกจากฮอลลีวูดแล้วคือหนัง ซีรีส์ และดาราจากฮ่องกง

วิถีขงจื้อไม่แค่มีอำนาจในการจัดการกับคนในชาติเท่านั้น ภายหลังการมาถึงของเทศกาลหนังปูซาน (ครั้งแรกคือปี1996) ที่โดดขึ้นแท่นเทศกาลอันดับหนึ่งฝั่งเอเชีย(ที่เคยเป็นของฮ่องกงมาก่อน) ครั้งหนึ่งเคยแบนหนังรางวัลคานส์จากฮ่องกง Happy Together (1997) สร้างความอับอายฉาวโฉ่กลางเทศกาลหนังปูซาน เมื่อผู้กำกับหว่อง กา-ไว และนักแสดงนำ เหลียงเฉาเหว่ย ประกาศกับแฟนเกาหลีว่าพวกเขาจะไปปรากฏตัวในงาน แต่คณะกรรมาธิการจริยธรรมในการแสดงต่อสาธารณะ (PPEC- Korean Public Performance Ethics Committee) แบนหนังเรื่องนี้และฉายอย่างจำกัดโดยไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไป หรือสื่อได้ดูในเทศกาล ยกเว้นแต่แขกเชิญและคณะตัดสินรางวัลของเทศกาลเท่านั้น และแม้โลกวันนี้เกาหลีจะก้าวไกลในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล แต่ค่ายสมาร์ทโฟนชื่อดังอย่าง ซัมซุง ก็ยังคงแบนแอปที่มีเนื้อหาเกย์

อย่างไรก็ตาม ไม่มีสิ่งใดคงอยู่ตลอดกาล ขณะที่คนหัวเก่าค่อย ๆ ตายจากไป วัยรุ่นหัวสมัยใหม่ที่เติบโตขึ้นก็ก้าวเข้ามาแทน ดังจะเห็นได้ใน Be Melodramatic (2019 / JTBC) ที่ว่าด้วยเพื่อนสาว 3 คน ตัดสินใจมาอยู่ร่วมบ้านกัน หนึ่งในนั้นมีน้องชายเป็นเกย์ (ยุน จี-ออน) ขณะที่เขาออกเดทกับแฟนหนุ่ม นั่งลงในร้านอาหาร ทันใดนั้นพนักงานก็ถูกเจ้าของร้านสั่งให้มาไล่คู่เกย์นี้ออกจากร้านว่า “ขอโทษนะคะ แต่คุณออกจากร้านไปก่อนได้ไหมคะ คือฉันไม่ได้ว่าอะไรหรอก แต่เจ้าของร้านอยากให้คุณออกไปค่ะ” ท่ามกลางสายตาลูกค้ารายอื่นที่ส่ายหน้ากับการกระทำของเจ้าของร้าน แต่ก็ไม่มีใครกล้าหืออือแต่อย่างใด

ซีรีส์วายเกาหลีล่าสุด

มาถึงบรรทัดนี้ผู้อ่านคงเข้าใจแล้วว่า LGBT ในเกาหลีต้องกระเสือกกระสนฝ่าอุปสรรคสาหัสอย่างไรบ้าง แน่นอนว่าเราต่างต้องเคยเห็นหนุ่ม ๆ บอยแบนด์เกาหลีเล่นเกมจิ้น ๆ อย่างกัดขนมแท่งจนปากเกือบจะจุ๊บกัน หรือมีหนังเนื้อหา LGBTมากมาย อาทิ

ประเด็นเกย์: Road Movie (2002), A Crimson Mask (2004), The King and the Clown (2005), No Regret (2006), Just Friend? (2009), White Night (2009), Stateless Things (2011), Suddenly Last Summer (2012), Going South (2012), Two Wedding and a Funeral (2012), Night Flight (2014), Futureless Things (2014), Queer Movie Butterfly: The Adult World (2015), One Summer Night (2016), Method (2017) ฯลฯ

ประเด็นเลสเบี้ยน: Memento Mori (1999), Life is Peachy (2010), In My End is My Beginning (2013), A Girl at My Door (2014), The Handmaiden (2016), Our Love Story (2016), Alice: Crack of Season (2016), Fantasy of the Girls (2018) ฯลฯ

ประเด็นทรานสเจนเดอร์: Yellow Hair 2 (2001), Rainbow Eyes (2007), Man on High Heels (2014), Half (2016), Lost of Shame (2017) ฯลฯ

แต่สำหรับช่องทีวีแล้ว ส่วนใหญ่ตัวละคร LGBT จะไม่ใช่ตัวดำเนินเรื่องหลัก แต่เป็นบทรอง ๆ ในซีรีส์ชายหญิง เช่น Secret Garden (2010 / SBS), Reply 1997 (2012 / tvN), Reply 1994 (2013 / tvN), The Lover (2015 / Mnet), Ho-Gu’s Love (2015 / tvN), Schoolgirl Detective (2015 / JTBC), At Eighteen (2019 / JTBC), Love Alarm (2019 / Netflix), Romance is a Bonus Book (2019 / tvN ), Hello Dracula (2020 / JTBC), XX (2020 / V Live, Naver TV Cast, MBC )

ซึ่งก็มีเหมือนกันที่ตัวละครหลักเป็นคู่ชาย-ชาย แต่เป็นในดีกรีโบรแมนซ์ คือคู่ชายจิ้นกัน แต่เป็นได้แค่เพื่อน หรือพี่น้อง เช่น We are Peaceful Brother (2017 / Naver TV Cast), The Boy Next Door (2017 / Naver TV Cast), Boy Dormitory (2017, ซีรีส์นักเรียนหนัง)

แต่สำหรับซีรีส์วายแท้ ๆ เท่าที่ค้นพบตอนนี้น่าจะมีแค่ 2 เรื่อง คือ

Long Time No See (2017 / Naver TV Cast)
ซีรีส์ 5 ตอนจบ มาในโทนดราม่า แอ็คชั่น เรื่องรักระหว่างชาย 2 คนที่ไม่เจอกันนาน ทั้งคู่มีความจริงที่ไม่อาจบอกต่อกันได้ กระทั่งเหตุการณ์พัดพาไปสู่อันตราย พวกเขายังสามารถจะคบหากันต่อไปได้อีกไหม เมื่อทางข้างหน้าแสนยากลำบาก จากมิตรอาจกลายเป็นศัตรู

Where Your Eyes Linger (2020 / W-STORY, Viki, Netflix)

ซีรีส์ 8 ตอนจบ ที่ยาวตอนละแค่ 10-15 นาที และกำลังจะมีฉบับไดเร็คเตอร์คัท ตัดรวมเป็นหนังยาวลงในเน็ตฟลิกซ์ เล่าความสัมพันธ์ยาวนาน 15 ปีระหว่าง ฮัน แท-จู (ฮัน กี-ชาน หนึ่งในผู้เข้าประกวดรายการบอยแบนด์ยอดนิยม Produce X 101) ลูกคุณหนู ปากดี ขี้เหงา เอาแต่ใจ กับ คัง-กุก (จัง อุย-ซู นายแบบและนักแสดงประกอบที่ขึ้นแท่นมาเป็นพระเอกเรื่องแรก) ทาสในเรือนเบี้ยผู้ได้รับคำสั่งให้คอยดูแลคุณหนูทุกฝีก้าว ไม่ว่าจะทำอาหาร เป็นคู่ซ้อมเทควันโด รวมไปถึงอาบน้ำ และนอนด้วยกัน แล้วความสัมพันธ์แบบนาย-บ่าว มาถึงคราวตั้งคำถามว่าจะดีลกันต่อไปในรูปแบบไหน เมื่อทั้งคู่มาถึงจุดที่ไม่แน่ใจว่าอีกฝ่ายจะรู้สึกแบบเดียวกันหรือไม่

หากมองในฐานะซีรีส์วาย นี่คือวายชนิดที่เรียกว่า 10 เต็ม 10 ไม่รู้จะหักตรงไหนเลยจริง ๆ เพราะมันทั้งจิ้น ทั้งฟิน จิกหมอนขาดแล้วเย็บกลับมาจิกใหม่ แสดงดี หน้าดี หุ่นดี ถ่ายภาพสวย กำกับดี บทดี เล่ากระชับไม่มีจุดไหนให้ยืดเยื้อ ยื้อยุดไปมาระหว่างความสัมพันธ์ที่มาถึงจุดเท่าเทียม เพราะต่างฝ่ายต่างผลัดกันรุก ผลัดกันรับ ยื้อยั่วง้องอนในแบบที่ไม่ต้องอาศัยฉากหวิว ติ่งวายก็เลือดกำเดากลบปากเช็ดแล้วเช็ดอีกแทบไม่ทัน

แต่หากมองจากสายตาคนนอก หรี่ตาประเมินด้วยคุณค่าทางเนื้อหา เพียงเผิน ๆ ก็อาจติงว่าเบาหวิวอยู่สักหน่อย ทว่ามองลึกลงในมุมการเมือง ในฐานะว่าการเมืองคือการดีลกันระหว่างคนสองฝ่ายขึ้นไป ให้ได้มาซึ่งข้อตกลงที่พึงพอใจกันทุกฝ่าย ตัวซีรีส์ก็พยายามมีภาพเปรียบเทียบโดยเฉพาะฉากเทควันโด หากวิถีขงจื้อคือหยินหยาง นี่คือภาพแทนที่ต่างผลัดกันเป็นผู้นำและผู้ตาม ผลัดกันแข็งข้อและอ่อนข้อให้แก่กัน ผลัดกันเป็นฝ่ายปกป้องและได้รับการปกป้อง ผลัดกันเป็นทั้งมิตรและศัตรู นายและบ่าว ที่ต่างฝ่ายต่างมีอำนาจบงการกันและกันอย่างเท่าเทียม

แถมหากถอยออกมามองมุมใหม่ นี่คือโลกคู่ขนานที่สร้างแฟนตาซีในแบบที่ไม่มีวันเกิดขึ้นจริงในสังคมเกาหลีทุกวันนี้ เมื่อชีวิตจริงทั้งสองฝ่ายต่างดิ้นรนภายใต้อำนาจพ่อผู้มีอำนาจเหนือคนทั้งคู่นี้

ถ้าสังเกตดี ๆ ซีรีส์จิ้น ๆ ตั้งแต่โบรแมนซ์ลงมาถึงวาย ไม่ใช่ซีรีส์ที่ออนแอร์ทางช่องทีวี แต่เป็นแบบแอปซีรีส์ คือสตรีมมิ่งตามแพล็ตฟอร์มออนไลน์ โชคดีที่เทคโนโลยียุคนี้ มีทางเลือกหลายช่องทางในการนำเสนอโดยไม่ขัดตาขัดใจพวกผู้ใหญ่บางกลุ่ม แถมยังขายได้กว้างกว่ากลุ่มผู้ชมในเกาหลีอีกด้วย

Mr.Heart

ความสำเร็จของซีรีส์นี้ยังเปิดทางให้ W-STORY ค่ายเดิม เดินเครื่องซีรีส์วายเรื่องล่าสุดที่เพิ่งประกาศสร้างเมื่อ 2 เดือนก่อน คือ Mr.Heart ที่ได้หนึ่งในสมาชิกบอยแบนด์วง MAN BLK ชอน ซึง-โฮ มาประกบ อี เจ-ซิน (Phantom the Secret Agent, Love Alarm, Luv Pub) ที่จะวางโครงเรื่องไว้ในจักรวาลเดียวกับ Where Your Eyes Linger คนหนึ่งเป็นนักวิ่งระยะสั้นที่ถูกเรียกตัวให้มาควบคุมจังหวะการวิ่งของอีกคนที่เป็นนักวิ่งมาราธอนดาวรุ่ง Mr.Heart วางโปรแกรมออนไลน์วันศุกร์ที่ 18 กันยายนที่จะถึงนี้

Where Your Eyes Linger ใช้มุมภาพค่อนข้างกว้างเป็นส่วนใหญ่ กระทั่งในตอนท้ายมีบางภาพจงใจโคลสอัพตัวละครอย่างมีความหมาย หนึ่งในนั้นคือประโยคที่ว่า

“ความฝันของฉันคือ…อยากจะใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความสุข” เป็นประโยคเรียบง่ายที่อาจไร้ความหมาย หรืออาจซ่อนนัยยะมากกว่านั้น