ThaiPublica > คอลัมน์ > Atypical แอสเพอร์เกอร์ คำสาปหรือพรสวรรค์

Atypical แอสเพอร์เกอร์ คำสาปหรือพรสวรรค์

23 สิงหาคม 2020


โดย 1721955

ข่าวเด่นเมื่อเดือนที่ผ่านมาทำให้ผู้คนไปขุดหาคลิปเก่าๆ ของไลฟ์โคชคนดัง ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นคลิปปี 2018 ที่เขาเคยให้สัมภาษณ์กับพิธีกรชื่อดังที่ถามเขาว่า “มันมีโรคหนึ่งที่น่าสนใจมาก ที่คุณเป็น และคนไทยไม่ค่อยรู้ว่ามีโรคนี้ คือโรคที่ไม่สามารถรู้การแสดงออกทางสีหน้าของตัวเราเองและคนอื่นได้” แล้วไลฟ์โค้ชคนนั้นก็ตอบว่า “มันเรียกว่าแอสเพอร์เกอร์ (Asperger) มันจะคล้ายๆ ออทิสซึม แต่ไม่ขนาดนั้น”

เกรียตา ทุนแบร์ย

ต้นปี2019 โลกได้รู้จักเกรียตา ทุนแบร์ย ในฐานะบุคคลแห่งปีที่ได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ ที่พาดปกถึงเธอว่า ‘พลังของเยาวชน’ เธอเป็นเด็กหญิงชาวสวีเดนวัยเพียง 16 ปี นักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมฝีปากกล้า สู้ไม่ถอย ที่ออกมายอมรับอย่างภูมิใจว่าเป็นแอสเพอร์เกอร์

“มันทำให้ฉันแตกต่างไป ฉันว่าการไม่เหมือนใครคือของขวัญ มันทำให้ฉันเห็นสิ่งต่างๆ จากนอกกรอบ…ทำให้ฉันไม่เชื่อคำโกหกง่ายๆ และสามารถมองสิ่งต่างๆ ได้ทะลุปรุโปร่ง ถ้าฉันเป็นเหมือนคนอื่น ฉันคงไม่ออกมาทำกิจกรรมหยุดเรียนประท้วงแบบนี้…การเป็นคนแตกต่างเหมือนมีซูเปอร์พาวเวอร์”

ย้อนกลับไปเมื่อ 14 ธันวาคม 2012 ณ รัฐคอนเนตทิคัต สหรัฐฯ เมื่ออดัม แลนซา ชายหนุ่มอายุ 20 ปี ยิงสังหารแม่ตัวเองคาคฤหาสน์หรู ก่อนจะแบกปืนอีกสามกระบอกขับรถออกไปกราดยิงครูและนักเรียนในโรงเรียนประถมแซนดี ฮุก จนมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ทั้งหมด 27 ศพ (นักเรียน 20, ครู 6 และแม่เขาเอง) ก่อนเขาจะดับชีพตนเองด้วยปืน และต่อมาทางการก็ระบุว่า เขามีความผิดปกติแบบหนึ่งในสเปกตรัมออทิสติก (Autistic spectrum disorder) ที่เรียกว่า กลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ (Asperger’s syndrome) อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมเทคโนโลยีให้ข่าวเกี่ยวกับเขาว่า “เขาเป็นเด็กขี้กลัวและประหม่า แม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางคนที่ไว้ใจได้ เขาก็จะไม่พูดคุยปฏิสัมพันธ์กับใครทั้งสิ้น” เพื่อนบ้านรายหนึ่งเสริมว่า “เขาเป็นเด็กเก่ง เรียนรู้เร็ว แต่ความฉลาดทำให้เขาไม่อยากคุยกับใคร” เพื่อนร่วมชั้นให้ความเห็นว่า “เพราะพ่อแม่เขาหย่ากันเลยทำให้เขาแย่ลงไปอีก จากที่เป็นคนแปลกแยกอยู่แล้ว”

อดัม แลนซา

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านออทิสซึมให้ความเห็นว่า “ไม่ยุติธรรมที่จะบอกว่าเด็กแอสเพอร์เกอร์เป็นพวกอันตราย กลายเป็นฆาตกรสังหารหมู่ได้ ความอันตรายเกิดจากการไม่ได้รับการดูแลและรักษาอย่างถูกวิธีต่างหาก โดยเฉพาะเมื่ออยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ไม่อำนวย เช่น ถูกรังแก มีปัญหาครอบครัว หรือรู้สึกโดดเดี่ยว”

[ออทิสติกสเปกตรัม (ASD) แบ่งเป็น 5 ประเภท 1. ออทิสติก 2. แอสเพอร์เกอร์ 3. เร็ตต์ (Rett’s Disorder) 4. CDD (Childhood Disintegrative Disorder) 5. PDD-NOS (Pervasive Developmental Disorder, Not Otherwise Specified)]

แอสเพอร์เกอร์ โรคอัจฉริยะ

หลายเว็บระบุว่า แอสเพอร์เกอร์เป็นโรคอัจฉริยะ พร้อมยกขบวนรายชื่อคนดังต่างๆ ขึ้นมา เราพบว่า ฮีเทอร์ บารบอร์ ไวแอตต์ ครูและคอลัมน์นิสต์ ได้สรุปข้อมูลต่างๆ ไว้ใน เว็บ Ongig โดยแยกข้อเท็จจริงออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

(จากซ้าย) ไอแซก อาซิมอฟ, จอห์น เดนเวอร์, แอนโทนี ฮอปกินส์, ซาโตชิ ทาจิริ และซูซาน บอยล์

ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็น

ไอแซค อาซิมอฟ (นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์), จอห์น เดนเวอร์ (นักร้อง-นักแต่งเพลง), เซอร์ แอนโธนี ฮอปกินส์ (นักแสดงออสการ์), ซาโตชิ ทาจิริ (ผู้ออกแบบเกมโปเกมอน), ซูซาน บอยล์ (นักร้อง) ฯลฯ

ถูกสันนิษฐานว่าเป็น หรือไม่เคยตรวจมาก่อน หรืออาจไม่เป็นเลยก็ได้

นักร้อง-นักแสดง: ไมเคิล แจ็กสัน, ชาร์ลี แชปปลิน
ผู้กำกับหนัง: จอร์จ ลูคัส, วูดดี อัลเลน, ทิม เบอร์ตัน, อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก
ไอทีและนวัตกรรม: บิลล์ เกตส์, สตีฟ จ็อบส์, อีลอน มัสก์, นิโคลา เทสลา, มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก
ศิลปิน: แอนดี วอร์ฮอล ฯลฯ

วิเคราะห์จากชีวประวัติ ซึ่งอาจไม่เป็นก็ได้

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, เซอร์ ไอแซก นิวตัน (งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และออกซฟอร์ดยืนยันตรงกันว่าเป็น), โมซาร์ต, วินเซนต์ ฟาน ก๊อก, ไมเคิล แองเจโล, ชาลส์ ดาร์วิน, ทอมัส เอดิสัน, แอลัน ทัวริง, ฟรานซ์ คาฟคา, ชาลส์ ดิกสัน, เอช.พี. เลิฟคราฟต์, เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ฯลฯ

ตกลงแล้วแอสเพอร์เกอร์คืออะไร เป็นอัจฉริยะหรือเป็นฆาตกร เป็นพรสวรรค์ระดับซูเปอร์พาวเวอร์ หรือเป็นคำสาปที่กลายให้คนเป็นปีศาจ

กรุนญา ซูคาเรวา
[กลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ เป็นความบกพร่องทางพัฒนาการที่มีลักษณะเฉพาะตัว เช่น บกพร่องด้านทักษะทางสังคม บกพร่องด้านทักษะการใช้ภาษาหรือการสื่อสารและการแสดงออก ชอบทำอะไรซ้ำๆ มักหมกมุ่นกับสิ่งที่ชอบเป็นเวลานาน แต่ไม่ใช่กลุ่มบกพร่องทางสติปัญญา หลายรายจะฉลาดเป็นพิเศษในสิ่งที่ตนหมกมุ่น งานวิจัยในปี 2015 พบว่าทั่วโลกมีชาวแอสเพอร์เกอร์อยู่ราว 37.2 ล้านคน และเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง แอสเพอร์เกอร์มีมานานแล้ว แต่ด้วยความรู้สมัยก่อน ด้วยความซุกซนของเด็กกลุ่มนี้ จึงมักถูกวินิจฉัยเหมารวมไปกับกลุ่มไฮเปอร์แอกทีฟ หรือเด็กสมาธิสั้น และหมอมักให้ยากดประสาทเพื่อลดพฤติกรรมให้ช้าลง ซึ่งการแพทย์ปัจจุบันพบว่าเป็นแนวทางรักษาที่ผิดวิธี

กลุ่มอาการนี้ถูกค้นพบในปี 1926 โดย กรุนญา ซูคาเรวา นักประสาทวิทยาชาวรัสเซีย ได้เขียนบทวิจัยเกี่ยวกับ ‘บุคลิกภาพทางจิตเภทในวัยเด็ก’ ที่ศึกษาพฤติกรรมเด็ก 6 คน ซึ่งในเวลานั้นยังนิยามไม่ได้และถูกสันนิษฐานว่าเป็นจิตเภท ผลงานนี้ไม่แพร่หลายและไม่ถูกสานต่อ จนกระทั่งในปี 1944 ฮันส์ แอสเพอร์เกอร์ กุมารแพทย์ชาวออสเตรีย ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในเด็กกลุ่มหนึ่งที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กชายอายุ 6-11 ปี ทำให้พบว่าเด็กหลายคนมีความยุ่งยากในการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม มีลักษณะเฉพาะ แปลกต่างจากคนทั่วไป โดยเริ่มแรก ฮันส์เรียกอาการนี้ว่า ‘Autistic Psychopathy’ แต่บทความปี 1944 นี้เพิ่งได้รับความสนใจในปี 1981 หรือ 6 เดือนให้หลังจากฮันส์เสียชีวิตไปแล้ว เมื่อลอร์นา วิง จิตแพทย์หญิงชาวอังกฤษนำผลงานของเขากลับมาตีพิมพ์ซ้ำ และตั้งชื่อโรคนี้ตามชื่อของเขา

ฮันส์ แอสเพอร์เกอร์

ปัจจุบันผู้ป่วยหลายรายไม่สบายใจที่ถูกเรียกว่า “แอสเพอร์เกอร์” เนื่องจากพบข้อมูลล่าสุดในปี 2018 ว่าในยุคนาซี ฮันส์เคยส่งเด็กพิการอย่างน้อย 2 คนไปยัง อัม ชปีเกลกรุนด์ คลินิก (Am Spiegelgrund clinic) ในเวียนนา ที่รู้กันว่าเป็นห้องทดลองอันโหดเหี้ยมในโครงการกำจัดเด็กพิการ ที่มีเด็กถูกนำมาทดลองและสังหารโหด 789 ราย อันเป็นหนึ่งในโครงการสังหารหมู่การุณยฆาตที่เรียกว่า Aktion T4 เพื่อให้ได้ชาวนาซีสายพันธุ์สมบูรณ์แบบ โครงการนี้มีเหยื่อทั้งสิ้น 70,273 ราย ปัจจุบันชาวแอสเพอร์เกอร์ส่วนหนึ่งจึงยินดีจะถูกเรียกว่าเป็น “ออทิสซึม” หรือ “ออทิสติก” มากกว่าจะเป็น “แอสเพอร์เกอร์” อย่างไรก็ตามในบทความนี้เราขอใช้คำว่า “แอสเพอร์เกอร์” เพื่อกันความสับสนกับผู้ป่วยออทิสติกอื่น]

Atypical (2017-ปัจจุบัน)

ซีรีส์เล่าชีวิตของแซม (เคียร์ กิลคริสต์) เด็กแอสเพอร์เกอร์ไฮสคูล ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ อยากรู้อยากลอง ไม่ว่าจะเรื่องความรัก หรือเรื่องทางเพศ ฯลฯ เขาอยู่กับพ่อแม่น้องสาวและเต่าที่รัก (สิ่งมีชีวิตเดียวที่เขาอนุญาตให้อยู่ร่วมห้องได้) แซมต้องรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ทุกสัปดาห์ บางทีก็ปรึกษาเพื่อนซี้เพียงคนเดียวที่คอยสอนเรื่องทะลึ่งตึงตังแบบที่คนอื่นไม่เคยสอน นอกจากซีรีส์จะพาคนดูเข้าไปฟังเสียงในหัวแซมแล้ว ยังพาไปสังเกตพฤติกรรมน่าเอ็นดูและน่าละเหี่ยใจแบบเด็กแอสเพอร์เกอร์ของแซมด้วย พร้อมกับเล่าพฤติกรรมคนรอบข้างที่พร้อมบ้างไม่พร้อมบ้างต่อการรับมือกับแซม รวมถึงคนแปลกหน้าที่แวะเวียนผ่านเข้ามาที่มีทั้งเข้าใจและไม่เข้าใจแซม แล้วผู้คนเหล่านี้ส่งผลอย่างไรต่อเด็กแอสเพอร์เกอร์แบบแซม

ไวต่อเสียง ไวต่อแสง และไวต่อกลิ่น

แซม: “ผมอยู่ในที่ไม่คุ้นและเสียงดังไม่ได้ มันทำให้ผมคิดไม่ออก ฟังไม่รู้เรื่อง ผมจะนิ่งแหง่กไปเฉยๆ เลย”

งานวิจัยระบุว่าไม่ใช่เด็กแอสเพอร์เกอร์ทุกคนจะมีเซนส์แรงเกี่ยวกับแสง เสียง กลิ่น แต่เด็กแอสเพอร์เกอร์ส่วนใหญ่มักจะเป็นกัน แต่มีเหมือนกันที่ไม่ตอบสนองต่อเสียงใดใดเลย ในเรื่องนี้ปัญหาหลักในการเข้าสังคม หรือไปทำกิจกรรมนอกบ้านของแซมคือ เขาจะไวต่อเสียง แสง และกลิ่นเป็นอย่างมาก อุปกรณ์จำเป็นของเขาคือเฮดโฟนเพื่อซับเสียงอันดังเกินไปจากโลกภายนอก

เมินเฉย เชิดใส่ ไม่ชอบให้คนสัมผัสตัว โดยเฉพาะคนแปลกหน้า แต่ถ้าอยากกอดเขา คุณต้องกอดแน่นๆ

น้องสาว: (หลังจากตวาดใส่แซมไป แซมเริ่มยืนนิ่ง และจิกทึ้งผมตัวเองถี่ๆ) เฮ้ ไม่เป็นไรนะ (ก่อนที่เธอจะอ้อมไปกอดแซมจากด้านหลัง) ไม่เป็นไรนะ ไม่เห็นต้องรู้สึกแย่เลย โอเคนะ (แซมยังคงทึ้งผมตัวเองแต่ความถี่ต่ำลง) กอดแน่นกว่านี้หรือให้คลายลง
แซม: แน่นขึ้น
น้องสาว: (กอดแซมแน่นกว่าเดิม) โอเค (แซมถอนหายใจเฮือกใหญ่) ดีขึ้นไหม (แซมพยักหน้า)

พฤติกรรมกวนบาทาวอนเท้าลำดับต้นๆ ในสายตาคนอื่นคือ เด็กแอสเพอร์เกอร์ไม่สบตาคนอื่น ถ้าพูดด้วย เขาก็อาจจะมองเมิน เชิดใส่แล้วผละจากไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งซีรีส์นี้แสดงให้เห็นทุกครั้งจนกลายเป็นมุขตลกประจำตัวแซมไปแล้ว แรกๆ ผู้ชมอาจจะเหวอหรือหงุดหงิดแซม แต่เมื่อทำความเข้าใจได้แล้ว จะรู้ว่าเขาเกิดมาเป็นแบบนี้เอง หรือถ้าคุณอยากแสดงความเห็นอกเห็นใจเขาด้วยการกอด เขาก็อาจระเบิดความหงุดหงิดใส่คุณ แม้แต่คนในบ้าน แซมยังไม่ชอบให้โดนเนื้อตัวเลย นับประสาอะไรกับคนแปลกหน้า แต่ถ้าอยากจะกอดเขา จงคุยกับเขาว่าเขาต้องการหรือไม่และอย่างไร เพราะเด็กแอสเพอร์เกอร์ที่ถูกฝึกมาแล้ว จะเข้าใจความรู้สึกของการกอดที่แน่นมากพอ

เผลอใช้ความรุนแรงโดยไม่รู้ตัว

แซม: “จูเลีย (จิตแพทย์) บอกว่าผมต้องหัดซื้อของเองบ้างแล้ว ถ้าวันหนึ่งผมต้องออกไปอยู่คนเดียว”
แม่: “แต่ครั้งล่าสุดที่เราไปห้างกัน ทุกอย่างมันเละเทะไปหมด ทั้งเสียง ทั้งแสงพวกนั้นอีก ไหนจะน้ำพุแย่ๆ นั่น ไอ้ที่มันพุ่งหันไปหันมาได้น่ะ”
แซม: “ผมเกลียดน้ำพุนั่น”
แม่: “ใช่ไหมล่ะ แล้วลูกก็เดือดหัวฟัดหัวเหวี่ยง จำได้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้น”
แซม: (พยักหน้า) “ผมตบผู้ชายใจดีที่ร้านแพนด้าเอ็กซ์เพรสคนนั้น แล้วเราก็ถูกแบนห้ามเข้าที่นั่นตลอดกาล”

หลายคนมักประเมินชาวแอสเพอร์เกอร์ว่าเป็นพวกหัวรุนแรง ถ้าฉาบฉวยตัดสินจากการแสดงออกของพวกเขา ก็คงจะใช่ แต่ถ้ามองลึกลงไป ในซีรีส์แสดงให้เห็นในหลายๆ ตอนว่า ทุกครั้งของพฤติกรรมรุนแรงของแซมล้วนมีสาเหตุ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่คนทั่วไปไม่เข้าใจ เช่น ที่นั่นเปิดแสงวูบวาบวิบวับมากไป น้ำพุหันไปหันมาทำให้มึนงง เสียงพูดคุยเอะอะ คำบางคำที่กระทบจิตใจ หรือแม้แต่การสัมผัสจากคนแปลกหน้า แซมจะทำตัวไม่ถูกว่าควรตอบสนองอย่างไร ที่เขาตะโกน หงุดหงิด หัวฟัดหัวเหวี่ยง หรือปัดตบออกแรงๆ เพราะแซมแค่ควบคุมสถานการณ์หรือคนรอบข้างไม่ได้ เขาแค่ต้องการจะให้สิ่งนั้น หรือสถานการณ์นั้นหยุดลงชั่วครู่เท่านั้น ให้โอกาสเขาสักนิด ฟังเขาสักหน่อย แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจ บางเหตุการณ์ลามเลยไปถึงบูลลีใส่แซมแรงๆ ก็มี

หมกมุ่นในบางสิ่งอย่างจริงจัง

แซม: “ผมอยากไปขั้วโลกใต้ ที่นั่นเงียบดี ยกเว้นตรงที่เพนกวินผสมพันธุ์กันอ่ะนะ ตรงนั้นคงไม่เงียบแหงๆ… ขั้วโลกใต้เป็นทวีปที่ห่างไกลที่สุดในโลก แม้จะมีน้ำแข็ง 90% ของทั้งโลก แต่ถือว่าที่นั่นแห้งแล้ง เพราะปริมาณน้ำฝนประจำปีวัดได้แค่แปดนิ้ว แต่เวลาคุณเห็นภาพขั้วโลกใต้ คุณจะนึกไม่ถึงว่ามันแห้งแล้ง ผมถึงชอบมัน… มันไม่เหมือนอย่างรูปลักษณ์ที่เห็นภายนอก”

ทุกตอนสิ่งที่แซมจะพล่ามพูดใส่ทุกคนรอบข้าง คือเรื่องราวต่างๆ ในแอนตาร์กติกา เขาจะหมกมุ่น ใส่ใจ จดจำรายละเอียดยิบย่อยต่างๆ ได้อย่างถ่องแท้ มีมุมมองแปลกใหม่ ช่างคิดเกี่ยวกับขั้วโลกใต้ ที่ตัวซีรีส์นอกจากจะใช้แสดงให้เห็นพฤติกรรมประหลาดของแซมแล้ว บ่อยครั้งมันยังสื่อถึงโลกที่แซมใฝ่ฝัน เนื้อแท้ตัวตนของเขาที่อยากให้คนอื่นเข้าใจ รวมถึงบางครั้งก็เป็นที่คุ้มภัยกระโจนเข้าหลบลี้ในยามวิตกหรือหวาดกลัว เขาจะเพ้อพล่ามพูดซ้ำๆ เกี่ยวกับนกเพนกวิน ซึ่งน่าสนใจมากเมื่อซีรีส์ได้แสดงให้คนดูเห็นอีกด้านหนึ่งด้วยว่า การที่แซมหมกมุ่นในสิ่งที่คนอื่นไม่แยแส สุดท้ายแล้วความหมกมุ่นนี้ก็ส่งผลให้เขามีผลงานสอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปะ และผลงานของเขาคือสารพัดสิ่งเกี่ยวกับขั้วโลกใต้ที่เขารู้จักดี

เถรตรง และมักพูดความจริงที่ไม่สมควรพูด

แม่: วันนี้ไปคุยกับจิตแพทย์มาเป็นไงบ้าง
แซม: เธออยากให้ผมบริจาคสมอง แต่ไม่ต้องห่วง ตอนผมตายน่ะ
พ่อ: (พยายามหาวิธีคุยกับแซมแต่มักถูกเชิดใส่) เพื่อเอาไปวิจัยหรือ เจ๋งดีนี่
แม่: ไม่มีทาง (มองหน้าแซมแล้วพูดช้าๆ ชัดๆ) ไปบอกเธอว่าขอบคุณ แต่ไม่ล่ะ
แซม: โอเค ผมไม่สนหรอกว่าจะเกิดอะไรกับสมองที่ตายแล้วของผม ถ้าไม่ให้หมอไปก็ปล่อยให้หนอนแทะไป ใครจะไปสน ตอนนั้นผมม่องเท่งไปแล้ว
แม่: หยุดพูดเรื่องตายได้ไหม ลูกจะไม่จากไปที่ไหนทั้งนั้นแหละ
แซม: หมอเสนอว่าผมน่าจะมีแฟน และหาใครสักคนมาร่วมเพศด้วย เธอไม่ได้พูดเรื่องร่วมเพศหรอกนะ ผมเติมเอง

เพราะในหัวของแซมคิดตามลำดับอย่างซับซ้อนว่า ถ้ามีแฟนก็ต้องตามมาด้วยการร่วมเพศ แม้ว่าจิตแพทย์ของเขาจะไม่ได้คุยถึงเรื่องร่วมเพศ แต่ในสมองของแซม สองเรื่องนี้เกี่ยวโยงกัน และนี่เป็นตัวอย่างเบาะๆ ที่แซมมักจะเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้มาผูกโยงกัน บ่อยครั้งคนอื่นจึงตีความว่าแซมล้มเหลวในการตีความ แต่อย่างที่เราบอกไปว่าเพราะแซมหมกมุ่นกับขั้วโลกใต้ และเพนกวิน แฟนตาซีเรื่องความรักในหัวของแซม จึงเกี่ยวพันกับความจริงของเพนกวินที่แซมเข้าใจว่า รักคือทำรัก (อันหมายถึงการผสมพันธุ์) แต่การพูดความจริงเถรตรงเกินไป ไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนใหญ่พึงพอใจ และหลายครั้งแซมก็เจอปัญหาจากคำพูดตรงไปตรงมา

โรเบีย ราชิด
(How I Met Your Mother, 2005-2014)

โรเบีย ราชิด สาวลูกครึ่งอเมริกันปากีสถาน โชว์รันเนอร์ผู้ครีเอตโปรเจกต์ซีรีส์นี้ขึ้นมาด้วยไอเดียว่า “หลังจากทำงานให้ช่องทีวีมาหลายปี ฉันอยากทำอะไรแบบที่อยากทำจริงๆ สักที แล้วก็พบว่าเด็กวัยรุ่นยุคใหม่ถูกประเมินว่ามีความเนิร์ดเฮี้ยนมีอาการมากน้อยบนสเปกตรัมออทิสติกแตกต่างกันไป และพวกเขาอยากเป็นตัวของตัวเอง ไม่พึ่งพาใคร มันน่าจะเจ๋งดีที่จะเล่าเรื่องนัดเดตของเด็กยุคนี้ วัยรุ่นที่อยากปลดแอกจากพวกผู้ใหญ่ ไขว่คว้าความรัก แต่ไม่เคยมีเรื่องไหนที่มีมุมมองเฉพาะเจาะจงไปที่กลุ่มเด็กแอสเพอร์เกอร์แบบนี้เป็นแน่ แต่มันเป็นงานที่หนักมาก ฉันต้องทำรีเสิร์ชเยอะมาก จุดพลิกผันอยู่ตรงฉันอยากให้แซมเป็นคนเล่าเรื่องจากเสียงในหัวของเขาเอง แต่นอกจากจะทำให้เรื่องราบรื่นขึ้นแล้ว มันยังทำให้เรื่องเล่ายากขึ้นด้วย เพราะแซมไม่สามารถสื่อสารได้อย่างคนทั่วไป เนื่องจากพฤติกรรมของแซมไม่สามารถเล่าได้ด้วยคำพูดเท่านั้น คือคุณต้องเห็นภาพด้วยถึงจะเก็ต เหมือนฉันต้องโดดเข้าไปในสมองของแซม พูดในสิ่งที่แซมหมกมุ่นในแบบที่แซมเป็น กลายเป็นว่าตอนนี้ฉันเป็นพวกเนิร์ดเกี่ยวกับขั้วโลกใต้ไปแล้ว (หัวเราะ)”

“ฉันรีเสิร์ชคนกลุ่มออทิสติกหลายคน ใช่ แต่ฉันต้องการปกป้องความเป็นส่วนตัวของพวกเขาด้วย เพราะชาวออทิสติกหวงแหนพื้นที่ส่วนตัวอย่างมาก เรื่องของแซมแตกต่างจากชีวิตจริงของกลุ่มคนที่ฉันทำรีเสิร์ช ซึ่งช่วยฉันได้เยอะในการหยิบสิ่งที่พวกเขาคิดขึ้นมาเขียน เอามาคิดต่อไปถึงผลกระทบต่อตัวละครแวดล้อม ว่าพวกเขาจะตอบสนองอย่างไรกับคำพูดแบบนั้นหรือพฤติกรรมแบบนี้ของแซม ทุกเม็ดของการเขียนบท ฉันต้องตระหนักอยู่เสมอว่าจะไม่ไปทำร้ายจิตใจใครเข้า ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เรามีมุกตลกมากมายในเรื่อง แต่ต้องคิดถี่ถ้วนว่ามุกนั้นมันจะกระเทือนจิตใจคนกลุ่มนี้หรือใครไหม ซึ่งกลายเป็นว่าความระมัดระวังตรงนี้ส่งผลให้บทแหลมคมขึ้น สะเทือนใจมากขึ้นด้วย”

เคียร์ กิลคริสต์ (It’s Kind of a Funny Story-2010, It’s Follows-2014)

นักแสดงหนุ่มวัย 27 ที่ต้องมารับบทแซม เด็กแอสเพอร์เกอร์วัยมัธยม ที่มีวิธีสื่อสารเฉพาะตัว กิลคริสต์เล่าว่า “ผมขอยกความดีความชอบให้โรเบียเลยแล้วกัน เพราะเธอเขียนสคริปต์ เราคุยกันเยอะมากจากนั้นผมก็ทำรีเสิร์ช ดูหนังกับอ่านหนังสือหลายเรื่องมาก แล้วเราก็มีที่ปรึกษาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านออทิสติก คือถ้าตรงไหนไม่แน่ใจ ก็จะปรึกษาพวกเขาว่าควรจะแสดงออกมาอย่างไร แต่แซมไม่ใช่ตัวแทนถึงชาวแอสเพอร์เกอร์ทุกคน เขาเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในกลุ่มคนนี้ มีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก เป็นบทที่ต้องใช้พลังอย่างมาก เพราะวิธีคิดของแซมปรู๊ดปร๊าดมาก ตอนทำงานผมต้องคิดหาวิธีแสดงที่ขัดแย้งต่อสัญชาติญาณของตัวเอง เพราะชาวแอสเพอร์เกอร์มีรูปแบบการแสดงสีหน้าต่างจากคนทั่วไป ขณะเมาท์กันเรื่องหนุกๆ เขาอาจจะทำหน้านิ่งซึมๆ ไม่ใช่พวกเขาหัวเราะไม่เป็น แต่เขาจะหัวเราะให้กับเรื่องสนุกที่คนอื่นอาจไม่สนุกด้วย เช่นเดียวกัน เรื่องที่คนอื่นสนุกมันอาจไม่สนุกสำหรับเขา”

ตัวละครแอสเพอร์เกอร์อื่นๆ

ซีรี่ส์:The Victims’ Game (2020) https://youtu.be/EloxqgT-bws

ซีรีส์ไต้หวันที่มีฟางอี้เหริน (โจเซฟ จางเสี่ยวควน) เป็นตำรวจนิติเวชแอสเพอร์เกอร์ ทำให้เขาหมกมุ่นกับการสืบคดี เถรตรงขวานผ่านซากยอมหักไม่ยอมงอ ในอีกด้านเขาเป็นพ่อที่มีลูกสาว แต่หลังหย่าขาดจากภรรยาเขาก็ไม่เคยได้เจอหน้าลูกสาวของตัวเองอีกเลย กระทั่งเกิดคดีฆาตกรรมต่อเนื่องอันแปลกประหลาด ที่อาจพัวพันกับลูกสาวของเขา พฤติกรรมแอสเพอร์เกอร์ในเรื่องนี้เขียนขึ้นจากการตีความว่า หากพวกเขาเติบโตขึ้นมีลูก ความสัมพันธ์ของคนแอสเพอร์เกอร์จะส่งผลกระทบต่อลูกเมียอย่างไร เมื่อมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียกร้องความรัก แต่ฟางอี้เหรินไม่รู้จักวิธีแสดงออกทางอารมณ์เลย

ซีรีส์: Hannibal (2013-2015)https://youtu.be/Es3B24z8fdA

ย้อนไปเหตุการณ์สังหารหมู่แซนดี ฮุก เมื่อปี 2012 ทำให้ไบรอัน ฟุลเลอร์ ผู้สร้างซีรีส์ Hannibal ได้ไอเดียให้ตัวละครวิลล์ แกรห์ม (ฮิวจ์ แดนซี) เป็นแอสเพอร์เกอร์ ในเรื่องนี้ฟูฟุลเลอร์จงใจสร้างความสับสนให้คนดู เมื่อแกรห์มอยู่บนหนทางอันหมิ่นเหม่ อันพฤติกรรมแอสเพอร์เกอร์ของเขามีความใกล้เคียงกับฆาตกรโรคจิต (Sociopath/Psychopath) โครงเรื่องดัดแปลงจากนิยายชุดดังของทอมัส แฮร์ริส (Red Dragon, The Silence of the Lambs) โดยหยิบตัวละคร ดร.ฮันนิบัล เลกเตอร์ ฆาตกรต่อเนื่องรสนิยมวิไล มาตีความใหม่ และวิลล์ แกรห์ม เป็นดั่งศัตรู ลูกศิษย์ และคนรัก ที่ฮันนิบัลอยากจะส่งต่อเชื้อไขความชั่วร้ายอันงดงามให้ ดังตอนหนึ่งที่ฮันนิบัลตัดพ้อว่า “ผมปล่อยให้คุณรู้จักผม เห็นผม (เข้าใจผม) ผมมอบของขวัญ (พรสวรรค์) อันหาได้ยากยยิ่ง แต่คุณกลับไม่ต้องการมัน”

[Sociopath / Psychopath พวกต่อต้านสังคม อยู่ร่วมกับผู้อื่นยาก เลือดเย็น ไร้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี มีความสามารถพิเศษในการหาเหตุผลมารองรับพฤติกรรมโหดเหี้ยมของตนเอง สองคำนี้มักถูกหมายรวมเหมือนกัน แต่บ้างก็ว่า Psychopath แม้จะไม่เข้าสังคม แต่เขาสามารถปลอมตนอยู่ในสังคมได้อย่างแนบเนียน และจะมีการวางแผนฆาตกรรมล่วงหน้าเป็นขั้นตอน ขณะที่ Sociopath จะก่อความรุนแรงเมื่ออารมณ์ปะทุอย่างฉับพลันมากกว่าจะวางแผนไว้ล่วงหน้า อย่างไรก็ตามในชีวิตจริง ทั้งสองจำพวกนี้ไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยการฆ่าผู้อื่นเสมอไป และส่วนใหญ่ไม่มีพฤติกรรมรุนแรงด้วยซ้ำไป]
หนัง: The Night Clerk (2020) https://youtu.be/8j6wDoyiyd4

หนุ่มแอสเพอร์เกอร์ บาร์ท บรอมเลย์ (ไท เชอริแดน) พนักงานโรงแรมกะดึก ผู้หมกมุ่นกับการซ่อนกล้องไว้ตามห้องโรงแรมเพื่อใช้สำหรับการเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์ เพราะเขาไม่รู้วิธีแสดงออกในการสื่อสารอย่างคนทั่วไป แต่แล้วเขาก็เจอดีจนได้เมื่อเกิดเหตุฆาตกรรมในห้องที่เขาซ่อนกล้องไว้ จนเลยเถิดกลายเป็นว่าเขาเป็นผู้ต้องสงสัยหลักในคดีนี้

สารคดี: Asperger’s Are Us (2016) https://youtu.be/bnbjwmLMuJY

เรื่องอื่นๆ ที่กล่าวมาล้วนเป็นนักแสดงมาสวมบทแอสเพอร์เกอร์ทั้งสิ้น แต่นี่คือสารคดีเกี่ยวกับคณะตลกชาวแอสเพอร์เกอร์ตัวจริงเสียงจริง ที่ผู้ชมจะได้เห็นเสียทีว่าชาวแอสเพอร์เกอร์แท้ๆ เป็นอย่างไร และน่าสนใจมากว่าพวกเขาดูปกติมากกว่าตัวละครผิดปกติในเรื่องอื่นๆ เสียอีก ชื่อสารคดีเรื่องนี้เป็นชื่อเดียวกับคณะตลกของพวกเขา อันประกอบไปด้วย โนอาห์, อีทาน, แจ็ก และนิว ไมเคิล ซึ่งบันทึกช่วงการแสดงสุดท้ายก่อนจะปิดตัวแยกย้ายไปร่ำเรียนมหาวิทยาลัย หรือใช้ชีวิตแบบที่พวกเขาต้องการ

แอนเดอร์ส เบห์ริง ไบรวิค ตัวจริง ขณะทำสัญลักษณ์ชาตินิยมกลางศาล
หนังจากเรื่องจริง: 22 July (2018) https://youtu.be/ZVpUZGmHJB8

หนังอิงจากเหตุการณ์จริงในนอร์เวย์เมื่อปี2011 เมื่อแอนเดอร์ส เบห์ริง ไบรวิค (แอนเดอร์ส แดเนียลเซน ไล) คนขาวฝ่ายขวาชาวคริสต์ผู้อ้างตัวเป็นผู้นำเครือข่ายคริสเตียนรักชาติ คลั่งชาติแบกอาวุธหนักลุยเดี่ยวไปกราดยิงเยาวชนในค่ายฤดูร้อนของพรรคการเมืองฝั่งเสรีนิยม ยังผลให้มีเด็กวัยรุ่นเสียชีวิตทั้งหมด 77 คน ในสัปดาห์แรกเขาถูกประเมินว่าเป็นโรคจิต ในหนังอธิบายว่าวิตกจริต (Paranoid Schizophrenia — ในหนังสื่อถึงการเกลียดกลัวมุสลิม เหยียดเชื้อชาติ และต่อต้านเฟมินิสต์) แต่ในความเป็นจริงนอกจากอาการดังกล่าวแล้ว เขายังเป็นแอสเพอร์เกอร์ ที่มีอาการร่วมกับทูเรตต์ (Tourette Syndrome — ระบบประสาทผิดปกติ ส่งผลให้กล้ามเนื้อกระตุกบ่อย) และโรคหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder — ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ขาดความเห็นใจต่อผู้อื่น หมกมุ่นกับการโอ้อวดตน ต้องการเป็นจุดสนใจ) อีกด้วย

ซ้ำมีรายงานถึงประวัติวัยเด็กของเขาด้วยว่า หลังจากพ่อผู้เป็นเจ้าหน้าที่ทูตและแม่ผู้เป็นนางพยาบาลหย่าร้างกัน จิตแพทย์เคยบันทึกผลไว้ว่า ‘ความเครียดจากการหย่าสามี บวกอาการซุกซนไฮเปอร์แบบเด็กแอสเพอร์เกอร์ของลูก ส่งผลให้แม่คุ้มดีคุ้มร้าย ภาวะอารมณ์ไม่คงที่ (Borderline Personality Disorder) ทั้งรักทั้งเกลียดลูกชายทำให้นอกจากเธอจะทุบตีทำร้ายไล่ให้ไบรวิคไปตายอยู่บ่อยๆ แล้ว เธอยังมีความปรารถนาทางเพศกับเขาอีกด้วย’

[สอดคล้องกับงานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมรุนแรงหรืออาชญากรรม ในปี 2003 ของ ดร.แคเทอรีน ดี. ซาตซานิส โดยวิทยาลัยแพทย์ฮาร์เวิร์ดร่วมกับศูนย์การศึกษาเด็กแห่งเยล พบหลักฐานชี้ชัดว่า ‘ผู้มีอาการแอสเพอร์เกอร์เป็นเหยื่อมากกว่าผู้กระทำผิด’ และมีการทบทวนงานวิจัยนี้ในปี 2008 พบว่าอาชญากรรมรุนแรงที่ก่อโดยผู้เป็นแอสเพอร์เกอร์ ยังผลมาจากความผิดปกติทางจิตเวชอื่นๆ ร่วมด้วย]

จริงหรือไม่ เด็กแอสเพอร์เกอร์ทำงานนอกบ้านไม่ได้

แอสเพอร์เกอร์ทำงานหาเลี้ยงชีพได้ไหม เป็นคำถามที่พ่อแม่ทุกคนกังวล ในซีรีส์ Atypical แซมมีงานพาร์ทไทม์ในร้านขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเขาจำรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกรุ่นได้อย่างแม่นยำ คุณอาจคิดว่านี่เป็นแค่เรื่องแต่ง เราขอยกตัวอย่างเรื่องจริงจากในเพจ Thai Asperger Club ที่แอดมินเป็นสาวไทยมีสามีเป็นแอสเพอร์เกอร์ชาวออสเตรเลียเล่าว่า ‘คุณต้องทำความเข้าใจก่อนนะคะว่า แอสเพอร์เกอร์ คือ อาการที่พัฒนาได้ช้ากว่าคนทั่วไป และให้คิดเสมอว่า เขาไม่เหมือนคนอื่น ไม่ใช่ว่าเขาเป็นโรคจิต ให้คิดถึงสิ่งที่พิเศษก็คือว่า พวกเขามีความสามารถสุดยอด เก่งที่หาใครเทียบยากมาก ตัวอย่างเช่น ถ้าเขาสนใจคอมพิวเตอร์ เขาจะรู้จริงและรู้ลึกกว่าคนทั่วไป ถ้าคุณเอาคอมพิวเตอร์ที่ร้านไอทีไม่รับซ่อมไปให้เขา เขาจะไม่เลิกซ่อมจนกว่าเขาจะพบปัญหาและแก้ไขคอมพิวเตอร์ให้คุณจนได้… แอสเพอร์เกอร์มักสนใจในตัวเลข วงจรที่สลับซับซ้อน’

จริงๆ แล้วในต่างประเทศ หลายงานระบุเจาะจงด้วยซ้ำว่าต้องการคนเป็นแอสเพอร์เกอร์ โดยเฉพาะงานด้านไอทีเน็ตเวิร์ก แต่ชาวแอสเพอร์เกอร์มีสองจำพวก คือ พวกขาดจินตนาการ ที่จะอึดทนต่อการทำงานจับจดซ้ำซากได้เป็นอย่างดี กับพวกจินตนาการล้นเหลือ เหมาะกับงานไอเดียบรรเจิดต้องการความครีเอตสร้างสรรค์ มุมมองแปลกต่าง อย่างไรก็ตามแอดมินเพจนี้ก็เล่าด้วยว่า ‘สามีฉันมีเรื่องทะเลาะกับเจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงานบ่อยๆ ในหนึ่งปีเขาเปลี่ยนงานสามที่ สร้างความกลุ้มใจให้ฉันมากๆ’ แม้จะเป็นเช่นนั้น แต่ก็น่าสนใจว่าในต่างประเทศ หลายชาติยอมรับประสิทธิภาพในการทำงานของคนแอสเพอร์เกออร์ ขณะที่ในบ้านเรายังไม่มีความเข้าใจมากพอเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้

พรสวรรค์หรือคำสาป

แอดมินเพจเดิมเล่าว่า ‘หลังจากที่เราแต่งงานกันได้ 4 เดือน ฉันก็รู้ว่าแดเรน สามีของฉันเป็นแอสเพอร์เกอร์ เพราะแดเรนมีพฤติกรรมที่ไม่เหมือนคนอื่น พูดตรงเกินไป และมักพูดความจริงที่ไม่สมควรพูดเสมอๆ เช่น แดเรนบอกพี่สาวของฉันว่า ฉันไม่อยากคุยกับเธอเพราะเธอพูดไม่เพราะ (ซึ่งฉันพูดให้แดเรนฟังในลักษณะปรับทุกข์) และนั่นทำให้พี่สาวของฉันโกรธฉันมาก จนเราทะเลาะกัน

นอกจากนี้ แดเรนยังพูดหลายๆ เรื่องที่ทำให้ฉันต้องทะเลาะกับเพื่อนๆ และมันทำให้ฉันเครียดมากกับการอยู่ร่วมกับสามีที่ไม่เหมือนคนอื่น หนักๆ เข้าฉันแก้ปัญหาโดยการกินยาระงับประสาทตัวเองทั้งเช้าเย็น เพื่อจะได้นอนหลับและไม่คิดถึงอะไร แต่ว่าในที่สุดมันไม่ใช่การแก้ปัญหา ในที่สุดฉันตัดสินใจใช้เวลาศึกษาคนที่มีอาการแบบนี้อยู่เกือบสองปีก็พบว่า แท้จริงแล้วแอสเพอร์เกอร์สซินโดรมเป็นพรสวรรค์มากพอๆ กับเป็นคำสาป แต่เราต้องช่วยเขาและต้องอาศัยความอดทนแบบสุดยอดที่ต้องพาเขาผ่านสถานการณ์ให้ได้’

ศจ. ดร.สแตนเลย์ กรีนสแปน จิตแพทย์เด็ก มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน ได้เสนอแนวคิดการมองเด็กออทิสติกอย่างเข้าใจ โดยเปรียบเทียบกับต้นไม้ คือ ราก — ระบบประสาทของเด็กแต่ละคนที่แตกต่างกัน, ลำต้น — พัฒนาการพื้นฐานด้านอารมณ์ สังคม, คนดูแลต้นไม้ – สัมพันธภาพที่ดีระหว่างพ่อแม่กับเด็ก และ ใบไม้ — การฝึกพัฒนาการทักษะด้านอื่นๆ สิ่งที่ควรเน้นในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กออทิสติก คือ เน้นฝึกพื้นฐานระบบประสาท (ราก) และเน้นส่งเสริมพัฒนาการอารมณ์ สังคม (ลำต้น) พร้อมกับการดูแล ให้เวลา ให้ความรัก ความอบอุ่น (คนดูแลต้นไม้) ส่วนการฝึกทักษะต่างๆ (ใบไม้) เช่น ฝึกให้ช่วยเหลือตนเองได้ หรือทักษะทางวิชาการ เป็นสิ่งที่เด็กควรเลือกทำเอง โดยสอดแทรกผ่านการใช้ชีวิตประวัน หรือส่งเสริมด้านวิชาการเมื่อเด็กมีพัฒนาการหลักด้านอารมณ์ สังคมที่พร้อมในระดับหนึ่งแล้ว

เพราะบ่อยครั้งที่พ่อแม่หมกมุ่นกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเล็กๆ น้อยๆ (ใบไม้) เช่น พยายามฝึกให้ลูกเข้าห้องน้ำเอง ฝึกให้ขีดเขียน อ่านบัตรคำ ทำการบ้าน จนไม่เหลือเวลาส่งเสริมรากฐาน พัฒนาการหลักที่สำคัญ (รากและลำต้น) เมื่อเวลาผ่านไป เด็กมีอายุมากขึ้น แต่พัฒนาด้านอารมณ์ สังคม พื้นฐานระบบประสาท ไม่พัฒนาขึ้น ทำให้เด็กหลายคนจะพบว่ามีโรคจิตเวชแทรกซ้อนเมื่อโตขึ้น เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล การรักษาในช่วงโตขึ้นจึงยากและซับซ้อน

ชาวแอสเพอร์เกอร์จะเติบโตมาเป็นเทพหรือปีศาจ ถ้ายึดเอาคำพูดของเกรียตา ทุนแบร์ย ที่ว่า “แอสเพอร์เกอร์เหมือนซูเปอร์พาวเวอร์” ก็น่าจะคล้ายๆ กับพลังฟอร์ซในหนัง Star Wars (ของจอร์จ ลูคัส หนึ่งในผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นแอสเพอร์เกอร์) ที่คนมีพลังฟอร์ซจะเติบโตมาเป็นอัศวินเจได หรือดาร์กลอร์ดแห่งด้านมืด อยู่ที่พ่อแม่ผู้ดูแลเขาที่มีส่วนอย่างมากในการผลักดันเขาไปสู่หนทางข้างหน้า ที่เขาจะตัดสินใจเลือกด้วยตนเองว่าจะใช้พลังฟอร์ซในด้านมืดหรือด้านสว่าง

แต่การจะเติบโตมาเป็นแบบมืดหรือสว่าง ไม่ใช่จะเป็นกันเฉพาะในหมู่แอสเพอร์เกอร์เท่านั้น ที่ชอบมากๆ อย่างหนึ่งใน Atypical คือ นอกจากจะพาคนดูไปเห็นความผิดปกติของแซมแล้ว ซีรีส์ยังพาไปเห็นความผิดปกติของคนรอบข้างแซมด้วย ความเฮี้ยนต่างๆ ที่แซมเป็น เมินเฉย เชิดใส่ ใช้ความรุนแรง หมกมุ่น พูดความจริงที่ทำร้ายจิตใจอีกฝ่าย ไม่ใช่จะมีแต่แซมในเรื่องนี้เท่านั้นที่ทำ แต่ทุกคนทำ และคนดูอย่างเราๆ หรือใครๆ ก็ทำกัน คือถ้ามองในมุมนี้ แอสเพอร์เกอร์จะไม่ใช่ความผิดปกติอย่างชื่อซีรีส์เลย เพราะมนุษย์ทำเรื่องผิดปกติเป็นปกติกันอยู่แล้วในชีวิตจริง อย่างที่ตัวละครแฟนหนุ่มของน้องสาวแซมให้กำลังใจแซมตั้งแต่ตอนท้าย ep.1 ซีซั่นแรกแล้วด้วยซ้ำว่า

“ไม่มีใครปกติหรอก”