ThaiPublica > เกาะกระแส > Foxconn ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิต iPhone ประกาศ ยุคของจีนที่เป็น “โรงงานโลก” สิ้นสุดลงแล้ว

Foxconn ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิต iPhone ประกาศ ยุคของจีนที่เป็น “โรงงานโลก” สิ้นสุดลงแล้ว

24 สิงหาคม 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

นายTerry Gou ผู้นำของ Foxconn ที่มาภาพ : https://asia.nikkei.com/Politics/Foxconn-s-Terry-Gou-considers-a-run-for-Taiwan-president

เว็บไซต์ appleinsider.com รานงานว่า Foxconn บริษัทซัพพลายเออร์ของ Apple ประกาศว่า สงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีน ทำให้จีนไม่สามารถเป็น “โรงงานโลก” ได้อีกต่อไป Foxconn มีแผนงานที่จะย้ายโรงงานประกอบการผลิตออกจากจีนมากขึ้น นายยัง หลิว (Young Liu) ผู้บริหารคนหนึ่งของ Foxconn กล่าวว่า “ไม่เป็นปัญหาอะไร ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออเมริกา แต่ละแห่งก็จะมีระบบนิเวศการผลิตของตัวเอง”

ผู้นำโรงงานการผลิต High-End

Hon Hai Precision Industry Company บริษัทแม่ของ Foxconn ตั้งขึ้นมาเมื่อปี 1974 โดยนาย Terry Gou การตั้งชื่อการค้าว่า Foxconn เพราะต้องการสื่อความหมายของการประกอบการผลิต ที่รวดเร็วเหมือนสุนัขจิ้งจอก ภายในระยะเวลา 4 ทศวรรษ Foxconn พัฒนาจากโรงงานประกอบการผลิตรายเล็ก จนกลายมาเป็นผู้ประกอบการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ราคาแพงสุด (high-end) รายใหญ่สุดของโลก ที่มีโรงงานทั่วประเทศจีน มีบริษัทในเครือกว่า 200 แห่ง และสาขาอยู่ทั่วโลก

หนังสือชื่อ Dying for iPhone (2020) กล่าวว่า เป้าหมายและการขยายธุรกิจของ Foxconn จนกลายเป็นบริษัทที่ครองตลาดการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลกและมีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า ช่วยสนับสนุนเป้าหมายของจีน ที่จะก้าวมาเป็นประเทศมหาอำนาจของโลกทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี Foxconn เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยทั้งกลยุทธ์ธุรกิจ การซื้อกิจการ การค้นคว้าวิจัย และการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลจีน

Foxconn บอกว่า ตัวเองมีภารกิจมากกว่าเรื่องเทคโนโลยี โดยมีพันธกิจด้านการศึกษาอบรมอย่างต่อเนื่อง การลงทุนในแรงงาน และการเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจท้องถิ่น ภารกิจดังกล่าวทำให้ Foxconn มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของท้องถิ่นหลายประเทศ ทำให้ Foxconn เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่สุดของจีน และอันดับ 2 ของสาธารณรัฐเชค คนงานทั่วโลกมีเกือบ 1 ล้านคน Foxconn เป็นนายจ้างด้านอุตสาหกรรมรายใหญ่สุดของโลก

จีนถือเป็นหัวใจสำคัญของอาณาจักรการผลิต Foxconn รวมทั้งผลกำไร ในปี 2018 การนำเข้าและส่งออกของ Foxconn มีสัดส่วนถึง 4.1% ของจีนทั้งหมด โดยมีรายได้ 175 พันล้านดอลลาร์ Foxconn อวดอ้างสรรพคุณความสามารถของตัวเองค่อนข้างจะมากมาย โดยบอกว่า “Foxconn เป็นผู้ผลิตอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ในด้านคอมพิวเตอร์, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, Cloud Computing, Internet of Things, บิ๊กดาตา, ปะญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์”

Apple เป็นลูกค้ารายใหญ่สุดของ Foxconn แต่ก็มีลูกค้าบริษัทอื่นอย่างเช่น Google, Amazon, Cisco, Dell, IBM, Intel, Microsoft, Nintendo, และ Panasonic รวมทั้งบริษัทของจีนเอง เช่น Lenovo, Huawei, ZTE, และ Xiaomi โรงงาน Foxconn ประกอบสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น iPhone, iPad, iPod, Playstation, และ Kindle

“ทุกอย่างผลิตโดย Foxconn และทุกอย่างขายโดย Walmart”

ถ้าสตีฟ จอบส์ คือผู้นำด้านจิตวิญญาณของ Apple นาย Terry Gou ก็คือผู้นำของ Foxconn ปี 2018 Harvard Business Review เลือก Terry Gou เป็น CEO ที่มีผลงานดีเด่นที่สุดอันดับ 18 จาก 100 คน เป้าหมายของเขาต้องการให้ Foxconn ก้าวพ้นจากการเป็นโรงงานประกอบสินค้าให้กับพวกแบรนด์เนมดังๆ ของโลก ที่ได้ส่วนต่างกำไรต่ำ มาเป็นโรงงานที่ใช้หุ่นยนต์ ผลิตรถไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข

เมื่อปี 2010 นักธุรกิจคนหนึ่งเคยพูดว่า “ในอีก 20 ปีข้างหน้า ทุกอย่างจะผลิตโดย Foxconn และขายโดย Walmart” คำพูดนี้ช่วยสะท้อนการเติบโตแบบก้าวกระโดดของ Foxconn

ในปี 1973 Terry Gou ผู้ก่อตั้ง Foxconn เริ่มต้นการทำธุรกิจจากโรงงานผลิตพลาสติกในเขตอุตสาหกรรมของไต้หวัน จากนั้น เขาก็อาศัยโอกาสที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 ที่เศรษฐกิจจีนบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก ข้อตกลง Plaza Accord ปี 1985 ทำให้ค่าเงินไต้หวันเพิ่มสูงขึ้น 40% เมื่อเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นักลงทุนไต้หวันจึงขยายการลงทุนไปในจีน

การก้าวพุ่งขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ของ Foxconn เกิดขึ้นในบริบทที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านการผลิตอุตสาหกรรมของโลก บริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชียตะวันออก ย้ายฐานการผลิตออกไปต่างประเทศ ปี 1978 ที่จีนเริ่มเปิดประเทศ ค่าแรงคนงานจีนมีค่าเท่ากับ 3% ของค่าแรงคนงานในสหรัฐฯ และก็ยังต่ำกว่ามาก เมื่อเทียบค่าแรงในไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ เพราะแรงงานชนบทจีนพร้อมย้ายมาทำงานในเมือง ทำให้ค่าแรงที่ถูกของจีน ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องนานถึง 25 ปี

ที่มาภาพ : amazon.com

โรงงาน Foxconn แห่งแรกในจีน

หนังสือ Dying for Foxconn เขียนไว้ว่า ปี 1988 Foxconn ตั้งโรงงานแห่งแรกที่เมืองเสิ่นเจิ้น มีคนงานทั้งหมด 150 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานสตรี เวลาต่อมา Foxconn มีความได้เปรียบล้ำหน้าบริษัทคู่แข่ง ในการผลิตสินค้าให้บริษัทแบรนด์เนมชั้นนำของโลก เช่น การผลิตคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องเล่นวิดีโอเกม

ปี 1996 Foxconn จ้างงาน 9,000 คนทั่วโลก มีรายได้ 0.5 พันล้านดอลลาร์ ปี 2003 คนงานเพิ่มเป็น 100,000 คน รายได้เพิ่ม 10 พันล้านดอลลาร์ ปี 2008 มีคนงาน 700,000 คน รายได้ 61 พันล้านดอลลาร์ และปี 2012 คนงานพุ่งสูงสุด 1,300,000 คน รายได้ 130 พันล้านดอลลาร์ แต่ปี 2018 พนักงานลดลงมาอยู่ที่ 863,000 คน เพราะ Foxconn หันใช้แรงงานนอกบริษัท (outsource) มากขึ้น แต่มีรายได้ถึง 175 พันล้านดอลลาร์ ส่วนกำไรของ Foxconn ในปี 2018 เป็นเงิน 4.3 พันล้านดอลลาร์ โดย 90% มาจากโรงงานผลิตในจีน

Foxconn ถือเป็นธุรกิจเอกชนที่มีการจ้างงานรายใหญ่สุดในจีน มีโรงงานประกอบการผลิต 40 แห่ง อยู่ใน 19 มณฑลทั่วจีน เริ่มจากการลงทุนในเขตสามเหลี่ยมแม่น้ำเพิร์ล เขตสามเหลี่ยมแม่น้ำแยงซี โดย Foxconn ได้รับการอุดหนุนจากมณฑลต่างๆ ของจีนในรูปการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิทธิประโยชน์ Foxconn เองมีคำขวัญว่า “รากเหง้าอยู่ในจีน และรอยเท้าอยู่ทั่วโลก”

เมื่อ Apple มาพบ Foxconn

ปี 2007 Apple เปลี่ยนชื่อบริษัทจาก Apple Computer เป็น Apple Inc. และเปิดตัว iPhone ที่รวมผลิตภัณฑ์ 3 อย่างเข้าด้วยกัน คือ iPod โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์สื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต iPhone ทำให้ Apple สามารถพิชิตบริษัทที่เคยผู้นำตลาดโทรศัพท์มือถือมาก่อน เช่น Nokia และ Motorola

โจนี ไอฟ์ หัวหน้าผู้ออกแบบผลตภัณฑ์ของ Apple บอกถึงความรู้สึก เมื่อเปิดตัว iPhone ครั้งแรกในปี 2007 ว่า “เรารู้สึกตื่นเต้นมาก เรากังวลว่าคนเราจะเปลี่ยนผ่านอย่างไร จากการกดปุ่มที่มีเสียงเกิดขึ้น ไปสู่การสัมผัสกับกระจก” แต่ความกังวลนี้ก็หายไปทันทีหลังจากเปิดตัวสินค้าแล้ว นิวยอร์กไทมส์เขียนไว้ว่า Microsoft ต้องการเห็นคอมพิวเตอร์ตั้งอยู่บนทุกโต๊ะทำงาน แต่ Apple ต้องการให้มีคอมพิวเตอร์อยู่ในกระเป๋าเราทุกคน คอมพิวเตอร์ที่ออกแบบและทำงานแบบโทรศัพท์นี้ ก็คือ iPhone

ที่มาภาพ : abcnews.go.com

นับจากปี 2000 ที่ Foxconn เริ่มประกอบการผลิตคอมพิวเตอร์ iMacs ให้กับ Apple ปัจจุบัน Foxconn มีโรงงานในจีน 12 แห่ง โรงงานใหญ่สุดอยู่ที่เสิ่นเจิ้น เรียกว่า “เมือง Foxconn” มีคนงานกว่า 4 แสนคนที่ประกอบ iPhone การที่ตลาดโลกมีความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ ทำให้ Foxconn กลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่สุดของจีน Wikipedia บอกว่า Foxconn ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค มากถึง 40% ที่ขายทั่วโลก

ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาเศรษฐกิจจีนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศประสบกับภาวะที่เรียกว่า “การลดการพัฒนาอุตสาหกรรม ทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงเวลา” (premature deindustrialization) หรือที่แดนี รอดริก จากฮาวาร์ด เรียกว่า โมเดลการพัฒนาที่ก้าวข้ามการพัฒนาอุตสาหกรรม

โมเดลดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์ต่อการจ้างงาน อุตสาหกรรมสามารถดูดซับแรงงานไร้ฝีมือจากชนบท เมื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดชะงักงัน ทำให้แรงงานจากชนบท ต้องหันไปทำงานภาคบริการหรือธุรกิจนอกระบบที่ไม่เป็นทางการ ดังนั้น ฐานะ “โรงงานโลก” ของจีน ที่กำลังจะสูญหายไป จะช่วยเปิดโอกาสการพัฒนาอุตสาหกรรม ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาอีกครั้งหนึ่ง

เอกสารประกอบ

Dying for iPhone, Jenny Chan, Mark Selden and Pun Ngai, Haymarket, 2020.