ThaiPublica > เกาะกระแส > สังคมที่ติด “กับดักคอร์รัปชัน” หลุดพ้นได้ ด้วยการก้าวสู่กระบวนทัศน์ “จริยธรรมสากล”

สังคมที่ติด “กับดักคอร์รัปชัน” หลุดพ้นได้ ด้วยการก้าวสู่กระบวนทัศน์ “จริยธรรมสากล”

13 สิงหาคม 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

เมื่อปี 2019 องค์การ UN Economic Commission for Africa แถลงว่า บอตสวานา (Botswana) เป็นประเทศที่เป็นแบบอย่างของความหวังในการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันในแอฟริกา องค์การระหว่างประเทศหลายแห่งก็กล่าวว่า บอตสวานาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีคอร์รัปชันน้อยที่สุด ในการจัดอันดับดัชนีคอร์รัปชันระหว่างประเทศขององค์กร Transparency International บอตสวานาอยู่อันดับที่ 34 จาก 179 ประเทศ ที่มีคอร์รัปชันน้อยที่สุด

ความหมายของ “คอร์รัปชัน”

คำว่าคอร์รัปชัน โดยทั่วไปหมายถึงการกระทำที่เปลี่ยนสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ให้กลายเป็นผลประโยชน์ส่วนตัว ส่วนคำจำกัดความที่เป็นทางการของคำว่า “คอร์รัปชัน” ที่ได้ยอมรับกันทั่วไป หมายถึงการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐในทางที่ผิดวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ส่วนตัว

แต่ Transparency International ได้เพิ่มเติมความหมายของคำว่า “การใช้อำนาจในทางที่ผิด” (abuse) โดยให้รวมถึงการนำ “ความเชื่อมั่นของสาธารณะ” (public trust) ไปใช้ในทางที่ผิดด้วย เช่น เมื่อสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ FIFA บิดเบือนกระบวนการคัดเลือกประเทศที่เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก สิ่งนี้คือการบิดเบือนความเชื่อมั่นของสาธารณะ แม้ FIFA จะไม่ใช่หน่วยงานรัฐหรือองค์กรระหว่างรัฐ

คำจำกัดความของคอร์รัปชันดังกล่าว เป็นที่ยอมรับจากวงการต่างๆ ส่วนประเทศต่างๆ ก็มีกฎหมายที่เอาผิดเรื่องการคอร์รัปชัน สำหรับตัวอย่างพฤติกรรมการใช้อำนาจในทางที่ผิดเพื่อประโยชน์ส่วนตัว คือ การเรียกและรับสินบน การจ่ายเงินที่ผิดกฎหมาย การเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง

พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนขาดความโปร่งใสและความรับผิด คอร์รัปชันช่วยสะท้อนให้เห็นปัญหาที่ว่า องค์กรรัฐหรือองค์กรธุรกิจเอกชน ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ตามหลักการที่เรียกว่า “ธรรมาภิบาล” โดยเฉพาะบทบาทองค์กรรัฐที่ไม่ได้ทำหน้าที่จัดสรรและกระจายความยุติธรรม ที่คนทุกคนจะมีส่วนแบ่ง ซึ่งเรียกว่า distributive justice

ตัวอย่างประเทศที่ทำสำเร็จ

หนังสือชื่อ Anticorruption (2020) โดย Robert I. Rotberg เขียนไว้ว่า คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่สามารถถูกขจัดหรือทำให้ลดน้อยลงได้ในระดับทั่วประเทศ เพราะมีตัวอย่างจากบางประเทศ แม้จะเป็นประเทศเล็ก แต่ก็ทำได้สำเร็จในการแก้ปัญหานี้ จากยุคสมัยที่คอร์รัปชันเคยเป็นปัญหาส่งผลกระทบแก่คนจำนวนมาก มาสู่ยุคสมัยของการยึดถือค่านิยมจริยธรรมสากล เช่น ตัวอย่างประเทศสมัยใหม่อย่างบอตสวานา หรือสิงคโปร์

ประเทศที่ในภาวะปัจจุบันมีคอร์รัปชันน้อยนั้น ครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยปัญหาคอร์รัปชัน ปัจจัยที่มีส่วนแก้ปัญหานี้ ได้แก่ การมีผู้นำที่เอาจริงเอาจัง อิทธิพลของค่านิยมด้านจริยธรรม การแพร่หลายด้านการศึกษา และการพัฒนาระบบราชการ ที่ยึดหลักคุณธรรมความสามารถ ทำให้ประเทศเหล่านี้พัฒนาจากการมีคอร์รัปชันที่แพร่ระบาดอย่างกว้างขวาง มาสู่ระดับที่คอร์รัปชันเกิดขึ้นน้อยลง

ประเทศมีเขตปกครองเล็กๆ อย่างฮ่องกงและสิงคโปร์ สามารถดำเนินการขจัดปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 ขณะที่ประเทศในยุโรปอย่างเช่น เดนมาร์ก สแกนดิเนเวีย เนเธอร์แลนด์ ต่อมาคือนิวซีแลนด์ อังกฤษ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ใช้เวลาหลายทศวรรษ ก่อนที่ปัญหาคอร์รัปชันจะลดน้อยลงไป

หนังสือ Anticorruption กล่าวว่า ตัวอย่างคอร์ปชันที่ลดน้อยลงในหลายประเทศดังกล่าว เพราะเกิดจากทัศนคติของสังคมเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่เพราะคนในประเทศเหล่านี้มีจริยธรรมมากขึ้น หรือมีการลงโทษมากขึ้นกับคนที่กระทำผิด แต่เพราะผู้นำประเทศมีบทบาทสำคัญที่ทำให้สังคมโดยรวม ปฏิเสธเรื่องคอร์รัปชัน โดยเน้นให้สังคมมองเห็นความหมายสำคัญต่อสังคมในระยะยาว ที่ภาครัฐและเอกชนจะหันยึดถือความซื่อสัตย์ และหลักการ “ความเที่ยงธรรม” แทนที่วิธีการทำธุรกิจแบบฉ้อฉล

เปลี่ยนพฤติกรรมรวมหมู่

หนังสือ Anticorruption กล่าวว่า วิธีการดีที่สุดในการสร้างสังคมที่จะปลอดคอร์รัปชัน คือการนำเอาพฤติกรรมใหม่มาแทนที่พฤติกรรมเก่า โดยทำให้ประชาชนรู้สึกว่าการมีส่วนร่วมในคอร์รัปชันเป็นเรื่องน่าละอาย มาตรการลงโทษทางกฎหมายก็อาจมีส่วนช่วยแก้ปัญหานี้ แต่กุญแจสำคัญที่จะทำให้คอร์รัปชันลดลงไปอย่างมาก คือการเปลี่ยนพฤติกรรมรวมหมู่ (collective behavior)

ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา เริ่มใช้วิธีการแบบนี้ในศตวรรษที่ 19 และมาดำเนินการได้สมบูรณ์ขึ้นในศตวรรษที่ 20 รวมทั้งประเทศที่ดำเนินการได้ประสบความสำเร็จในการขจัดปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างรวดเร็ว เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ เอสโตเนีย และโครเอเทีย ก็ใช้วิธีการเปลี่ยนพฤติกรรมรวมหมู่

ผู้นำที่มีบทบาททำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลี กวนยู นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เข้าใจปัญหาในจุดนี้เป็นอย่างดีว่า ปัญหาคอร์รัปชันสามารถแก้ได้ นอกจากอาศัยวิธีการเอาผิดลงโทษการกระทำดังกล่าวแล้ว แต่ที่สำคัญคือการทำให้เกิดการชะงักงัน (disruption) ต่อพฤติกรรมคอร์รัปชันแบบรวมหมู่ ทำให้เกิดการชะงักงันต่อพฤติกรรมคอร์รัปชันที่ฝังตัวอยู่ในสังคม

ทุกวันนี้ โลกเราได้เรียนรู้บทเรียนที่สำคัญว่า ปัญหาคอร์รัปชันจะยังคงดำรงอยู่ จนกว่าสังคมในวงกว้างจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่ทิศทางใหม่ ที่ริเริ่มโดยผู้นำที่มีความมุ่งมั่น

จริยธรรมสากล

หนังสือ Anticorruption กล่าวว่า การที่สังคมเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หรือมีการพัฒนาเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ก็ไม่ช่วยทำให้ปัญหาคอร์รัปชันลดลงน้อยลง บทบาทผู้นำจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขจัดพฤติกรรมคอร์รัปชันแบบรวมหมู่ และนำพาสังคมออกจาก “กับดักคอร์รัปชัน” โดยการทำให้ประชาชนมองเห็นว่า ผลประโยชน์ส่วนรวมคือสาธารณประโยชน์ สังคมไม่สามารถยอมรับคอร์รัปชันที่เป็นพฤติกรรมรวมหมู่อีกต่อไป และนำพาประชาชนไปสู่พฤติกรรมใหม่ ที่ยึดหลัก “จริยธรรมสากล” (ethical universalism)

จริยธรรมสากลมีความหมายว่า ประชาชนทุกคนในสังคมจะได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรม อย่างเท่าเทียมกัน และอย่างอดกลั้น คนกลุ่มน้อยจะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับคนกลุ่มใหญ่ คนที่ต่างศาสนาและต่างเผ่าพันธุ์ จะได้รับสิทธิเช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม สิ่งที่ตรงกันข้ามกับหหลักจริยธรรมสากล คือหลักปฏิบัติที่เอื้อเฉพาะแก่คนบางคนและคนบางกลุ่ม

หลักจริยธรรมสากลจะดำรงอยู่ในฐานะสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ หลายประเทศในยุโรปใช้เวลาหลายศตวรรษในการสร้างหลักจริยธรรมสากลนี้ขึ้นมา รวมทั้งการที่สังคมหันมายอมรับความสำคัญของความซื่อสัตย์ ทั้งของหน่วยงานรัฐและเอกชน การยึดหลักนิติธรรม ความเป็นอิสระของกระบวนการยุติธรรม และการที่ประชาชนเรียกร้องการปฏิบัติหน้าที่ที่ดีขึ้นของหน่วยงานรัฐ

ในยุคสมัยใหม่ ฮ่องกงและสิงคโปร์เป็นตัวอย่างของประเทศที่เปลี่ยนมายึดหลักการจริยธรรมสากลได้อย่างรวดเร็ว คนทำผิดยังต้องถูกดำเนินคดี แต่ผู้นำของสองประเทศเน้นให้ประชาชนเห็นว่า ปัญหาคอร์รัปชันเป็นตัวถ่วงการพัฒนาและการสร้างความมั่งคั่งของประเทศ โดยเฉพาะการจะยกระดับจากประเทศของโลกที่ 3 ที่ยากจนมาเป็นประเทศโลกที่ 1 ที่มั่งคั่ง ดังนั้น ภายในไม่กี่สิบปี หลักจริยธรรมสากลจึงกลายเป็น “สถาบัน” หรือ “วัฒนธรรม” อย่างหนึ่งของฮ่องกงและสิงคโปร์

การยึดหลักจริยธรรมสากล และการนำไปใช้ปฏิบัติ ทำให้ฮ่องกงและสิงคโปร์มีสภาพคล้ายกับประเทศในสแกนดิเนเวีย คือกลายเป็นรัฐที่ประชาชนยอมรับว่ามีความชอบธรรมที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ เป็นรัฐที่ได้รับความไว้วางใจจากสังคม มีความโปร่งใส และหน่วยงานรัฐทำงานเพื่อประโยชน์สังคม

เมื่อคนส่วนใหญ่ของสังคมยอมรับแนวคิดจริยธรรมสากลแล้ว แนวคิดนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่อุดมการณ์ หรือความคิดลอยๆ แต่กลายเป็น “สถาบัน” หรือ “วัฒนธรรม” ของสังคม

หนังสือ Anticorruption สรุปว่า เป้าหมายสุดท้ายของการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชัน คือกระบวนการที่ทำให้ “จริยธรรมสากล” กลายเป็นการประพฤติปฏิบัติของสังคมอย่างกว้างขวาง บทบาทความมุ่งมั่นของผู้นำ ในการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของสังคม เป็นปัจจัยสำคัญ เช่นเดียวกับการสร้างค่านิยมใหม่ในการบริการสาธารณะของหน่วยงานรัฐ ในที่สุดแล้ว วิธีการทำธุรกิจแบบเก่าก็จะถูกกำจัดออกไป

เอกสารประกอบ
Anticorruption, Robert I. Rotberg, The MIT Press, 2020.