ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ไม่ขัดฝ่ายค้าน เสนอแก้ รธน.-มติ ครม. สั่ง บสย. ค้ำหนี้เอสเอ็มอี 57,000 ล้าน หนุนกู้ “ซอฟต์โลน”

นายกฯ ไม่ขัดฝ่ายค้าน เสนอแก้ รธน.-มติ ครม. สั่ง บสย. ค้ำหนี้เอสเอ็มอี 57,000 ล้าน หนุนกู้ “ซอฟต์โลน”

18 สิงหาคม 2020


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

นายกฯ ไม่ขัดฝ่ายค้าน เสนอแก้ รธน. ทั้งอำนาจ–ที่มา ส.ว.สรรหา ห่วงนักศึกษาไม่ชู 3 นิ้ว ถูก “บูลลี” – มติ ครม. ปรับแผนบริหารหนี้ กู้เพิ่ม 2 แสนล้าน รับมือเก็บรายได้หลุดเป้า–สั่ง บสย. ค้ำหนี้เอสเอ็มอี 57,000 ล้าน หนุนกู้ “ซอฟต์โลน”

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ครั้งแรก โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

ยันไม่ขัด ฝ่ายค้านเสนอแก้ รธน.

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีพรรคการเมืองฝ่ายค้านบางพรรค เสนอให้แก้ไขอำนาจและที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ก่อนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมไม่ได้มีข้อขัดแย้งอะไรกับใครทั้งสิ้น แต่พรรคการเมืองแต่ละพรรคก็ควรจะเข้ามาแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลเองก็ต้องเตรียมการเรื่องเหล่านี้ว่าจะแก้ไขกันอย่างไร จากนั้นก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องกับที่พรรคฝ่ายค้านเสนอเข้ามาด้วย รวมทั้งในส่วนที่พรรคร่วมรัฐบาลและภาคประชาชนนำเสนอ ทั้งหมดนี้ก็ต้องรอความชัดเจน เมื่อทุกอย่างได้ข้อสรุปแล้วก็ต้องเข้าสู่กระบวนการตามขั้นตอนที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

ห่วงนักศึกษาไม่ชู 3 นิ้ว ถูก “บูลลี”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงปรากฏการณ์ที่นักเรียนชู 3 นิ้วขณะเคารพธงชาติว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาและโรงเรียน ก็หลายอย่างที่เกิดขึ้นมา ผมก็ไม่อยากให้เป็นประเด็นต่อไป ผมเห็นถึงความบริสุทธิ์ใจของเด็กๆ เหล่านี้ แต่สิ่งที่ผมทราบ จากการรับฟังความคิดเห็นของเด็กๆ หลายคน คือ ในสถาบันการศึกษาของตัวเองไม่ว่าจะระดับไหน มันมีการ “บูลลี” (bully) ใครมารวม หรือใครไม่มารวม ถูกกีดกัน ไม่ให้เข้าชมรม ไม่ให้เข้ากลุ่ม ผมคิดว่าอันนี้คืออันตรายนะครับ ผมก็เพียงแต่ยกตัวอย่างให้ฟังเฉยๆ เท่าที่ฟังจากนักศึกษามานะครับ บางคนก็ไม่อยากมีส่วนร่วมอะไรเท่าไหร่ แต่ถูกบูลลี ถูกกีดกันอะไรต่างๆ หลายอย่าง ก็ขอให้ทุกคนหารือด้วยความเป็นเหตุเป็นผลก็แล้วกัน

สั่งแรงงานจัดเอ็กซ์โป รับสมัครงานกว่าแสนตำแหน่ง

ส่วนความคืบหน้าในการเวิร์กชอปรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อระดมมันสมองแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่นั้น พล.อ. ประยุทธ์ ตอบว่า ในส่วนของเวิร์กชอปเพื่อรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ อันนี้กำลังดำเนินการกันอยู่ โดยในวันที่ 19 สิงหาคม 2563 ก็จะมีการประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งหลายคนก็ถามว่าคณะกรรมการชุดนี้จะตั้งอยู่ที่ไหน คณะกรรมการแต่ละคนก็จะตั้งอยู่ในที่ที่เขาทำงานอยู่ โดยจะทำงานในรูปแบบของคณะอนุกรรมการฯ ทำการศึกษาและเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณา ส่งต่อให้ผม ซึ่งเป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณา เหมือนกับ ครม. เศรษฐกิจเดิม แต่จะทำงานได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยมีคณะอนุกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ ที่ครอบคลุมไปถึงสมาคมที่ทำกิจกรรมต่างๆ จากหลายเซกเตอร์ข้างล่างเสนอขึ้นมา ผ่านการหารือร่วมกัน และเสนอเข้าคณะกรรมการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยพรุ่งนี้จะมีการประชุมนัดแรก ก็ได้มีการเตรียมการไว้มากพอสมควรแล้ว พรุ่งนี้จะแถลงให้ทราบถึงความก้าวหน้ามีอะไรบ้าง

“สิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุด คือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เรื่องปากท้อง ความเร่งด่วนเฉพาะหน้าในเรื่องของการบริโภค การจ้างงาน วันนี้ขอให้กระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพ เหมือนจัดเอ็กซ์โป การจ้างงานทั้งในส่วนของรัฐบาลและเอกชนหลายแสนตำแหน่ง เพื่อให้เกิดการรับรู้ มีอิมแพกต์ ถ้าต่างคนต่างแยกกันทำก็จะไม่เห็นปริมาณที่เราจะจ้างแรงงานคนเท่าไหร่ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และต่างชาติ ร่วมกันแก้ปัญหารายกลุ่ม คือ การทำงานมีลักษณะเป็นศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจ” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคนใหม่

เปิดตัว “อนุชา บูรพชัยศรี” โฆษกฯคนใหม่

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ก็มีการตั้งข้าราชการเมืองและข้าราชการประจำในบางกระทรวง แต่ในวันนี้ผมขอแนะนำโฆษกรัฐบาลคนใหม่ คือนายอนุชา บูรพชัยศรี ซึ่งจะมาทำงานในรูปแบบของ new normal เช่นเดียวกันกับในเรื่องของรวมไทยสร้างชาติ มีการปรับองค์กรภายในให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ทั้งในการพบปะกับสื่อมวลชน การสื่อสารทางออนไลน์ ก็จะปรับให้สอดคล้องกับปัจจุบัน ใช้ภาษาง่ายๆ ให้ประชาชนได้เข้าใจ รวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่รัฐบาลดำเนินการไปแล้วให้ทุกคนทราบว่ารัฐบาลได้อะไรไปแล้วบ้าง และเราจะได้อะไรต่อไป นั่นคือการวางรากฐานปัจจุบันไปถึงในอนาคต

ย้ำโควิดฯยังระบาด เปิดประเทศได้แค่ “ท่องเที่ยว-รักษาผู้ป่วยต่างชาติ”

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการแพร่ระบาดของควิด-19 หลายประเทศยังมีการแพร่ระบาดอยู่ และหลายประเทศใช้วิธีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจรวดเร็วไป โดยเฉพาะการเปิดประเทศ ของเราผมไม่อยากให้ใช้คำว่า “เปิดประเทศ” แต่เราจะใช้วิธีการเปิดเฉพาะบางกิจกรรมที่เปิดแล้วส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของเราในระดับฐานราก ในเรื่องของการท่องเที่ยวบางแห่ง หรือในเรื่องของการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ตามที่เราพยายามผลักดันให้เป็นศูนย์กลาง medical hub อะไรเหล่านี้ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ อย่างไร ค่อยๆ ปลดล็อกไป แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ ถ้าเราไม่เข้าใจกันและขัดขวาง แบบนี้มันก็ไปด้วยกันไม่ได้อะไร วันนี้ต้องเข้าใจมันเป็นสถานการณ์วิกฤติ ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็ต้องทำแบบนี้

เดินหน้าปฏิรูปการศึกษา

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่าเรื่องการศึกษา เมื่อวานผมอยากให้เอาข้อมูลเรื่องปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ วันนี้เราต้องเร่งรัดในเรื่องการศึกษาเป็นไปอย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เราต้องเร่งพัฒนาเด็ก ครู และยกระดับมาตรฐานการศึกษาการประเมินผลต่างๆ ต้องทันสมัย เป็นไปตามโลกยุคปัจจุบัน เปิดปัญหาอุปสรรคออกมาแล้วหาวิธีการปลดล็อกต่างๆ ถ้าใครมาตรฐานดีอยู่แล้วก็สามารถปรับวิธีการเรียนการสอนได้ เพื่อให้เด็กได้มีเวลาว่าง ได้มีเวลาไปพบปะเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่รอบโรงเรียน รอบสถาบันการศึกษาต่างๆ เหล่านี้ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี เขาได้เห็นว่ามันมีความยากง่ายอย่างไรในการดำรงชีวิตต่อไปอย่างไร ในวันข้างหน้าของเขา

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องของสื่อปลอดภัยสังสรรค์ วันนี้ก็มีการเสนอเข้ามาที่ ครม. ก็จะมีการสร้างกลไกจัดทำยุทธศาสตร์เหล่านี้ เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างสื่อกับภาครัฐ ซึ่งจะมีกลไกหลายอย่าง ขอให้ติดตามรายละเอียดในช่วงต่อไป

เร่งเบิกจ่ายงบฯ–เงินกู้ เยียวยาโควิดฯ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงเรื่องการประกันราคาผลผลิตทางการเกษตรว่า วันนี้ ครม. ก็มีมติเห็นชอบในหลายรายการด้วยกัน สิ่งที่เป็นประเด็นปัญหาและหลายๆ อย่าง เราก็พยายามจะปลดล็อกให้ได้ โดยพยายามจะเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้ถึงมือกลุ่มผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ แต่ทั้งนี้ก็ต้องคำนึงถึงงบประมาณที่มีอยู่ด้วย แต่อย่าลืมว่างบประมาณที่ใช้มีเงินกู้รวมอยู่ด้วย การกู้เงินก็ต้องคำนึงถึงขีดความสามารถในการใช้จ่ายเงินกู้เหล่านั้นด้วย รัฐบาลจำเป็นต้องดูแลอย่างทั่วถึง

แจง “อดีตอธิบดีอัยการ” บีบแตรไล่ แค่ท้องเสีย-ไม่เกี่ยวการเมือง

ส่วนกรณีอดีตอธิบดีอัยการบีบแตรไล่รถขบวนนายกรัฐมนตรีขณะเดินทางมาทำเนียบในช่วงเช้าของวันนี้ นายกรัฐมนตรีตอบว่าเรื่องนี้ผมไม่ได้ตื่นตระหนกตกใจอะไร และก็ได้รับคำชี้แจงมาแล้ว ไม่มีความเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น อย่าเอาไปโยงกัน ซึ่งตนได้รับการชี้แจงจากผู้ขับขี่แล้วว่าปวดท้อง อยากเข้าห้องน้ำ จึงต้องรีบไป อัยการพูด ผมก็ต้องเชื่อเขา ยืนยันว่าผมมี รปภ. เยอะแยะ ไม่ต้องกลัว และไม่ต้องห่วงผม

สั่งมหาดไทยเร่งจัดเลือกตั้งท้องถิ่นภายในปีนี้

ส่วนเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นมีความคืบหน้าอย่างไร ประเด็นนี้นายกรัฐมนตรีตอบว่า ตอนนี้ก็มีอยู่ 3–4 ลักษณะ เท่าที่ได้สอบถามกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้เตรียมการจัดตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งท้องถิ่น คือบางทีก็สื่อสารไม่ตรงกัน ซึ่งผมได้ให้นโยบายไปให้เดินหน้าเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ให้แล้วเสร็จภายในปี 2563 จะเห็นได้ว่ามันมีหลายอย่างที่ต้องทำรออยู่ในช่วงเวลานี้

มติ ครม. มีดังนี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคนใหม่ (กลาง), ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย) และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ขวา)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

โฆษกฯ คนใหม่ เน้นสื่อสาร 2 ทาง

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าได้กล่าวแนะนำตัวภายหลังจากได้รับแต่งตั้งจาก ครม. ในวันนี้ว่า สำหรับแนวทางการทำงานจะเน้นการสื่อสารข้อมูลให้เข้าใจตรงกันและครบถ้วน ทั้งแนวคิดตามดำริของนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมครม มติ ครม. ประเด็นที่พูดคุยใน ครม. แนวทางขับเคลื่อนการทำงานต่างๆ ส่วนสถานการการณ์เมืองในปัจจุบัน จะสื่อสารความคิดเห็นของรัฐบาลให้ภาคประชาชนรับทราบ ซึ่งจะเป็นการสื่อสาร 2 ทาง ไม่ใช่ความเห็นของรัฐบาลฝ่ายเดียว โดยจะรับฟังความเห็นของประชาชน เพื่อนำไปสู่ผู้ที่กำหนดนโยบายของรัฐ

“นอกจากนั้นเรื่องเศรษฐกิจ และด้านต่างประเทศ จะทำความเข้าใจสร้างการรับรู้ และสื่อสารไปยังทูตต่างประเทศ สื่อต่างประเทศให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดความคลาดเคลื่อนว่าเรื่องใดเป็นจริง ขณะที่ข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือเฟกนิวส์ ก็ต้องชี้แจงเพื่อให้เกิดความกระจ่างและต้องปรับข้อมูลการให้ข่าวต่อประชาชนให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว”

ชงของบฯ 64 เพิ่ม 1.56 แสนล้าน

นายอนุชากล่าวว่า ครม. รับทราบการขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 และมีมติดังนี้

1) รับทราบการเสนอของเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ ของหน่วยงานรัฐสภา ศาล และหน่วยงานขององค์กรอิสระและอัยการ เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ โดยเสนอขอเพิ่มงบประมาณอีกเป็นวงเงิน 379.4398 ล้านบาท

2) ให้ความเห็นชอบการเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ ของหน่วยงานงบประมาณที่ไม่ได้เป็นหน่วยงานของรัฐสภา ศาล และหน่วยงานขององค์กรอิสระและอัยการ โดยเสนอขอเพิ่มงบประมาณอีกเป็นวงเงิน 156,225.4988 ล้านบาท

3) เห็นชอบการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของงบประมาณขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย โดยเห็นสมควรให้เปลี่ยนแปลงชื่อหน่วยงานรับงบประมาณจากองค์การส่วนสัตว์เป็นองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย

นายกฯ หนุนปฏิรูปการศึกษา เน้นวิเคราะห์มากกว่าท่องจำ

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯ ได้พูดเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ภายหลังจากเป็นประธานเปิดงาน “ยกกำลังสองการศึกษาไทย สู่ความเป็นเลิศ” โดยยอมรับว่ายังมีประเด็นที่ติดขัดอยู่และต้องแก้ไขต่อไป แต่ที่สำคัญความร่วมมือของเอกชนทำให้ได้พัฒนาศูนย์การศึกษา 158 ศูนย์ และอยากให้มีการพัฒนาต่อยอดลักษณะนี้ต่อไป

สำหรับส่วนหลักสูตรในวันนี้ต้องเรียนเยอะมากและข้อสอบยาก ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน นายกจึงเสนอให้ลดเวลาเรียนในห้องเรียนและเปิดโอกาสให้ศึกษาหาความรู้และประสบการณ์จริง นำเรื่องราวที่ไปพบมาพูดคุยกันในห้องเรียนมากขึ้น รวมไปถึงการคัดเลือกการเข้าศึกษาอยากให้เน้นคิดวิเคราะห์มากกว่าท่องจำและเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นได้

สุดท้ายเป็นเรื่องของการเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และคิดว่าจะไม่มีการส่งร่างการแก้ไขฉบับของ ครม. แต่จะเปิดโอกาสให้พรรคร่วมรัฐบาลเป็นฝ่ายเสนอร่างรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขแทน แต่ทุกอย่างให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและการศึกษาของกรรมาธิการ รวมไปถึงความเห็นของทุกพรรคการเมืองและประชาชน ส่วนรัฐบาลจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาบ้านเมืองและให้เกิดความสงบสุขและขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่หลังจาโควิดต

ต่ออายุประกันราคามันสำปะหลัง 9,789 ล้าน

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. อนุมัติโครงการและมาตรการเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในช่วงที่ราคาตกต่ำ ครอบคลุมเกษตรกจำนวนกว่า 5.3 แสนครัวเรือนทั่วประเทศ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปี 2563/64 วงเงินรวม 9,789.98 ล้านบาท  ซึ่งเป็นการดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับโครงการประกันรายได้ปี 2562/63 เป็นการประกันรายได้หัวมันสำปะหลังสด เชื้อแป้ง 25% ราคากิโลกรัมละ 2.50 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 100 ตัน ในพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศและไม่ซ้ำแปลง ซึ่งต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนปลูกมันสำปะหลังปี 2563/64 กับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 – 31 มีนาคม 2564 สำหรับการจ่ายเงินงวดแรก รัฐบาลจะเริ่มจ่ายในวันที่ 1 ธันวาคม 2563 และจะจ่ายต่อไปในทุกวันที่ 1 ของเดือน  โดยใช้แหล่งเงินทุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และรัฐบาลจะชำระคืนตามที่จ่ายจริงภายใน 2 ปี ทั้งนี้ ระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 – 31 พฤษภาคม 2565

สำหรับผลการดำเนินโครงการประกันรายได้ ปี 2562/63 ข้อมูล ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2563  ธ.ก.ส. ได้มีการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างแก่เกษตรกรไปแล้วรวม 8 ครั้ง จำนวน 535,759 ครัวเรือน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,836.97 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 69.13 ของวงเงินชดเชยทั้งหมด คงเหลืองบประมาณอีก 3,053.97 ล้านบาท ซึ่งจะสิ้นสุดการจ่ายเงินชดเชยงวดสุดท้ายเดือนพฤศจิกายน 2563

2. มาตรการคู่ขนานเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสําปะหลัง ปี 2563/64 ซึ่งเป็นมาตรการเสริมที่ดำเนินการควบคู่กันไประหว่างโครงการประกันรายได้ และการบริหารปริมาณสินค้าเกษตรให้ตรงกับความต้องการของตลาด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก เป็นการดึงอุปทานออกจากตลาดและเพิ่มช่องทางเลือก เสริมสร้างความเข้มแข็ง และเพิ่มอำนาจต่อรองในการจำหน่ายมันสำปะหลังของเกษตรกร ประกอบด้วยมาตรการที่ใช้เงินงบประมาณและไม่ใช้เงินงบประมาณ ดังนี้

มาตรการที่ใช้เงินงบประมาณ วงเงินรวม 114 ล้านบาท จำนวน 2 โครงการ คือ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง วงเงิน 69 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. เป็นผู้ออกสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนในการพัฒนาการผลิตของเกษตรกรด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม วงเงินสินเชื่อรวม 1,150 ล้านบาท ให้เกษตรกู้รายละไม่เกิน 230,000 บาท จำนวน 5,000 ราย ชำระคืนไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันกู้ คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6.50 ต่อปี โดยเกษตรกรผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 3.50 ต่อปี ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 3 ต่อปี รัฐจะเป็นผู้ชดเชยให้ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 24 เดือน (ไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2566) คิดเป็นวงเงินอัตราดอกเบี้ยที่รัฐชดเชยรวม 69 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 31 ตุลาคม 2566

และ (2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงิน 45 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. จะเป็นผู้ออกสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรที่มีการประกอบธุรกิจมันสำปะหลังเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อหัวมันสำปะหลังสด มันสำปะหลังเส้น วงเงินสินเชื่อรวม 1,500 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 3 ต่อปี รัฐบาลจะเป็นผู้ชดเชยให้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน (ไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม 2565) คิดเป็นวงเงินอัตราดอกเบี้ยที่รัฐชดเชยรวม 45 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 30 มิถุนายน 2565

ส่วนอีก 2 มาตรการที่ไม่ใช้เงินงบประมาณเพิ่มเติม คือ (1) โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกมันสำปะหลัง เพื่อสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการแปรรูปมันสำปะหลัง (ลานมัน/โรงแป้ง) ที่เข้าร่วมโครงการฯ เก็บสต็อก เพื่อดูดซับผลผลิตในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก โดยตั้งเป้าหมายวงเงินสินเชื่อรวม 15,000 ล้านบาท รัฐบาลจะเป็นผู้ชดเชยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ตามระยะเวลาที่เก็บสต๊อกไว้ตั้งแต่ 60–180 วัน คิดเป็นวงเงินอัตราดอกเบี้ยที่รัฐชดเชยรวม 225 ล้านบาท โดยใช้เงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และ (2) มาตรการบริหารจัดการการนำเข้าและส่งออก โดยให้กรมการค้าต่างประเทศกำกับดูแลการส่งออกและนำเข้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์อย่างจริงจัง ด้วยการตรวจสอบคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานและลงโทษผู้กระทำผิดตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

มากไปกว่านั้น ครม. ได้อนุมัติแนวทางแก้ไขปัญหาโครงการป้องกันและการกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง โดยปรับเปลี่ยนเงื่อนไขโครงการที่ ครม. ได้อนุมัติไปแล้ว เมื่อ 24 กันยายน 2562 ใน 2 ประเด็น คือ 1) ให้ขยายพื้นที่ดำเนินโครงการฯ จากเดิมที่กำหนดไว้ 11 จังหวัด ปรับเป็น ให้ดำเนินการโครงการฯ ในทุกจังหวัดที่มีพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งมีอยู่ 50 จังหวัดทั่วประเทศ และ 2) การจ่ายเงินชดเชย จากเดิมที่จ่ายให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร เฉพาะพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์เท่านั้น ปรับเป็นจ่ายให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรทุกพื้นที่ที่มีการทำลายแปลงมันสำปะหลัง ทั้งพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์และไม่มีเอกสารสิทธิ์ โดยใช้งบประมาณเดิม จำนวน 234.26 ล้านบาท ตามที่ได้รับอนุมัติไปแล้ว

อนุมัติประกันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1,913 ล้าน

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2563/64 วงเงินรวม 1,913.11 ล้านบาท และอนุมัติมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2563/64 รวม 5 มาตรการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 4.5 แสนราย ให้มีรายได้ที่แน่นอน ครอบคลุมต้นทุนและค่าขนส่งในช่วงที่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตกต่ำ และใช้กลไกตลาดในการสร้างเสถียรภาพราคาในระยะยาวอย่างยั่งยืน รายละเอียดของการอนุมัติ มีดังนี้

1. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2563/64 วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,913.11 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับโครงการปี 2562/63 โดยประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ความชื้นร้อยละ 14.5 ราคากิโลกรัมละ 8.50 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ ในพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศและไม่ซ้ำแปลง กำหนดช่วงเวลาการเพาะปลูกระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2563 – 31 พฤษภาคม 2564 แต่มีข้อยกเว้น คือ หากเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่แจ้งขึ้นทะเบียนเพาะปลูกเพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ จะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ สำหรับการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างงวดแรก รัฐบาลจะเริ่มจ่ายในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 และจะจ่ายต่อไปในทุกวันที่ 20 ของเดือน จนถึงวันสิ้นสุดการจ่ายเงินชดเชยงวดสุดท้ายเดือนตุลาคม 2564 โดยให้ใช้แหล่งเงินทุนจาก ธ.ก.ส. และรัฐบาลจะชำระคืนตามที่จ่ายจริงภายใน 1 ปี ทั้งนี้ ระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2563 ถึง 30 เมษายน 2565

สำหรับผลการดำเนินโครงการประกันรายได้ปี 2562/63 ข้อมูล ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ธ.ก.ส. ได้จ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้เกษตรกรแล้ว 7 ครั้ง จำนวน 207,796 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 45.97 ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งหมด 452,000 ราย รวมเป็นเงิน 606.30 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.05 ของวงเงินจ่ายขาดทั้งหมด (จำนวน 1,552.78 ล้านบาท) คงเหลืองบประมาณจ่ายขาด 946.48 ล้านบาท

2. มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2563/64 รวม 5 มาตรการ คือ

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2563/64 วงเงิน 45 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนสินเชื่อแก่สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการรวบรวมรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกร ซึ่งจะช่วยดูดซับปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงที่ผลผลิตออกมามาก วงเงินสินเชื่อ 1,500 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนจาก ธ.ก.ส. คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี คิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ร้อยละ 1 ต่อปี และรัฐบาลจะเป็นผู้ชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเวลาไม่เกิน 12 เดือน คิดเป็นงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยรวม 45 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 – 30 มิถุนายน 2565

(2) โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีการผลิต 2563/64 ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันกับปีที่ผ่าน วงเงินสินเชื่อ 1,500 ล้านบาท รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ตามระยะเวลาที่เก็บสต๊อกไว้ 60–120 วัน คิดเป็นงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยรวม 15 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณจาก คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.)

(3) การบริหารจัดการการนำเข้า โดยกำหนดช่วงเวลาการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สำหรับผู้นำเข้าทั่วไป การควบคุมการขนย้ายในพื้นที่ติดชายแดนเพื่อนบ้าน การกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1:3 และการตรวจสอบการรับรอบนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน

(4) การดูแลความเป็นธรรมในการซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยกำหนดให้ผู้รับซื้อแสดงราคา ณ จุดรับซื้อที่ความชื้นร้อยละ 14.5 และร้อยละ 30 พร้อมแสดงตารางการเพิ่ม–ลด ราคาตามร้อยละความชื้น  และกำหนดให้ใช้เครื่องชั่งน้ำหนัก เครื่องวัดความชื้น ที่มีมาตรฐาน

(5) การดูแลความสมดุล โดยแจ้งปริมาณการครอบครอง การนำเข้า สถานที่เก็บและการตรวจสอบสต๊อก

นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประสิทธิภาพและผู้เข้าร่วมโครงการได้รับประโยชน์สูงสุด ที่ประชุม ครม. ได้มอบหมายให้ กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการเพิ่มเติม คือ 1) กำหนดให้เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2563/64 จะต้องเป็นเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน หรือหนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ในที่ดิน หรือมีหนังสือสัญญาเช่าที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ และ 2) กำหนดหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อของโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2563/64 ให้สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรับซื้อหรือรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉพาะรายที่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน หรือหนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ในที่ดิน หรือหนังสือสัญญาเช่าที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ

เพิ่มวงเงินประกันราคายาง 2,347 ล้าน

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้ความต้องการการใช้ยางพารางในตลาดโลกลดลงอย่างมาก ซึ่งกระทบโดยตรงต่อราคายางพาราในประเทศไทย ดังนั้น รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่ม เพื่อจ่ายค่าชดเชยส่วนต่าง (ระหว่างราคาประกัน–ราคาอ้างอิง) ที่เพิ่มขึ้น ครม. จึงอนุมัติวงเงินงบประมาณเพิ่มเติมโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 จำนวน 2,347.90 ล้านบาท จากเดิมที่ ครม. เคยอนุมัติไปแล้ว เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562  วงเงิน 24,000 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนจาก ธ.ก.ส. สำรองจ่ายไปก่อน และขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป

นางสาวรัชดากล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนเรื่องสถานการณ์ราคายางพารานั้น นายกรัฐมนตรีได้ติดตามราคาในตลาดโลกและราคาในประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคายางในประเทศมีแนวโน้มขยับตัวเพิ่มขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาวะความต้องการในตลาดโลกที่ลดลงเนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 รัฐบาลได้มุ่งมั่นส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ โดยเน้นที่ส่วนราชการเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ และออกมาตรการจูงใจให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นทดแทน เพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางและลดปริมาณการผลิตยางพาราออกสู่ตลาด

ขยายเวลาจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร

ผศ. ดร.รัชดากล่าวว่า ครม. อนุมัติขยายระยะเวลาติดตามเกษตรกรที่เข้าเกณฑ์เยียวยาแต่ยังไม่ได้รับเงินจากสาเหตุต่างๆ โดยมี 4 กลุ่มดังนี้

1. กลุ่มที่ยังไม่แจ้งเลขบัญชีรับโอนเงินจำนวน 115,892 ราย โดยจะเปิดรับจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ผ่านเกณฑ์ได้รับเงินเยียวยาแล้วแต่ยังไม่แจ้งขอให้แจ้งเข้ามาหากหมดเวลาดังกล่าวแล้วจะยุติการโอน โดยจะโอนเงินให้ทีเดียว 15,000 บาท

2. เกษตรกรที่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้อย่างสมบูรณ์ทันวันที่ 15 พ.ค. 63 โดยจะจ่ายให้ไม่เกิน 38,737 ราย จ่ายงวดเดียวเช่นเดียวกันภายใน 15 กันยายน

3. กลุ่มเกษตรกรที่ไม่ได้รับเงินเยียวยาเกษตร เนื่องจากเกิดความซ้ำซ้อนจากมาตรการเราไม่ทิ้งกัน แต่พิสูจน์ในภายหลังว่ายังไม่ได้รับเงินอีก จำนวน 759 ราย จ่ายรวดเดียวเช่นเดียวกันภายในวันที่ 15 กันยายน

4. กลุ่มเกษตรกรที่มาอุทธรณ์ ที่ผ่านการพิจารณาแล้ว แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังจ่ายไม่ทันให้ขยายไปจ่ายทีเดียวภายใน 15 กันยายน จำนวน 259 ราย

สั่ง บสย. ค้ำหนี้เอสเอ็มอี 57,000 ล้าน หนุนกู้ “ซอฟท์โลน”

ผศ. ดร.รัชดากล่าวว่า ครม. เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสอ็มอี (เอสเอ็มอี) เพิ่มเติมตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขยายตัวเป็นวงกว้าง แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการดูแลและเยียวยาเพื่อบรรเทาผลกระทบออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและประชาชนอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและเพียงพอ

กระทรวงการคลังจึงเสนอการทบทวนมติ ครม. และมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเพิ่มเติม เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ บรรเทาความเดือดร้อนและเสริมสภาพคล่องให้เอสเอ็มอีดำเนินธุรกิจต่อไปได้ รวมทั้งเป็นการป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจและประชาชนที่เกี่ยวข้อง

การให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีครั้งนี้ประกอบด้วย 5 มาตรการ คือ

1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษซอฟต์โลนพลัส มีกลุ่มเป้าหมายคือ เอสเอ็มอีที่มีคุณสมบัติตาม พ.ร.ก.ซอฟต์โลน แต่ยังไม่ได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ระยะเวลาดำเนินงาน 1 ปี นับตั้งแต่ ครม. เห็นชอบ หรือระยะเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้สถาบันการเงินกู้ยืมตาม พ.ร.ก.ซอฟต์โลน

โดย บสย. จะค้ำประกันสินเชื่อวงเงินโครงการรวม 57,000 ล้านบาท ระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 8 ปี การค้ำประกันจะเริ่มต้นในปีที่ 3 นับจากวันที่เอสเอ็มอีแต่ละรายได้รับสินเชื่อ และบสย.จะเริ่มคิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน 1.75% ต่อปี โดยบสย.จ่ายค่าประกันชดเชยตลอดโครงการไม่เกินร้อยละ 30 ส่วนงบประมาณที่ใช้ดำเนินโครงการ ทางบสย.ต้องขอรับการชดเชยความเสียหายจำนวน 9,120 ล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณควรจัดสรรงบประมาณชดเชยตามความรับผิดชอบ

2. การปรับปรุงการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมติ ครม. เดิมเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2563 ได้เห็นชอบโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 20,000 ล้านบาท มีธนาคารออมสินเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อให้รายละไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งจนถึงวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้วจำนวน 1,012 ล้านบาท จึงยังมีวงเงินเหลืออยู่อีกจำนวน 18,988 ล้านบาท

กระทรวงการคลังจึงขอปรับปรุงแนวทางให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ครอบคลุมประชาชนผู้ประกอบอาชีพทุกกลุ่ม แยกเป็นดังนี้ ส่วนแรกจัดสรรเงิน 10,000 ล้านบาท ให้ธนาคารออมสินดำเนินโครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้มีรายได้ประจำ รวมถึงบุคคลในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ภัยทางเศรษฐกิจและภัยทางธรรมชาติ ส่วนเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ยังเป็นไปตามเดิม เช่น ให้กู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท แต่เพิ่มเติมระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน

ส่วนที่ 2 จัดสรรวงเงินจำนวน 5,000 ล้านบาท ให้ธนาคารออมสินดำเนินโครงการ ซอฟต์โลน ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย ปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอีรายย่อยที่เป็นบุคคลธรรมดาในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและซัพพลายเชน เช่น ร้านอาหาร ธุรกิจสปา นวดแผนไทย รถรับจ้างนำเที่ยว เกสต์เฮาส์ โฮสเทล วงเงินต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี

3. การปรับปรุงแนวทางการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างทั่วถึง มติ ครม. เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2563 เห็นชอบให้จัดสรรวงเงินจำนวน 80,000 ล้านบาท ให้ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือน็อนแบงก์ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ณ วันที่ 10 ส.ค. 2563 ธนาคารออมสินอนุมัติสินเชื่อไปแล้วจำนวน 59,857 ล้านบาท

ทั้งนี้กระทวงการคลังได้ขอปรับปรุงแนวทางการให้ความช่วยเหลือดังนี้คือ จัดสรรวงเงินจำนวน 10,000 ล้านบาทให้สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง พร้อมทั้งขยายขอบเขตคุณสมบัติของเอสเอ็มอีให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วไป และแบ่งวงเงินจำนวน 3,000 ล้านบาทให้ธนาคารออมสินเพื่อปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีโดยตรง และปรับวงเงินค้ำประกันต่อรายจากเดิมไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน เป็นไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน เพื่อให้รองรับลูกค้าได้มากขึ้น

4. ขยายกลุ่มเป้าหมายโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เดิมมติ ครม. วันที่ 24 มี.ค. 2563 เห็นชอบโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 10,000 ล้านบาท

โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจทัวร์ สปา ขนส่งที่เกี่ยวเนื่อง บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร รายละไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี ณ วันที่ 10 ส.ค. 2563 ธพว. อนุมัติสินเชื่อไปแล้วจำนวน 417 ล้านบาท คงเหลืออีก 9,583 ล้านบาท จึงให้ขยายครอบคลุมกลุ่มธุรกิจอื่นที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากโควิด-19 โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดย่อมทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

5. การปรับปรุงหลักเกณฑ์และขยายเวลาโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 3 โดย ครม. วันที่ 24 ก.ค.2561 เห็นชอบ โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาท ให้ บสย. ค้ำประกันสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายย่อยวงเงินค้ำประกันไม่เกิน 200,000 ล้านบาท ต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน ซึ่งสิ้นสุดคำขอ ณ วันที่ 23 ก.ค. 2563 มีวงเงินค้ำประกันโครงการเหลืออยู่ 2,513 ล้านบาท จึงให้ขยายเวลารับคำขอค้ำประกันออกไปถึงวันที่ 30 ธ.ค. 2563

ปรับแผนบริหารหนี้กู้เพิ่ม 2 แสนล้าน รับมือรายได้หลุดเป้า

ผศ. ดร.รัชดากล่าวว่า ครม. ได้มีมติอนุมัติและรับทราบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 2 ตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 โดยมีการปรับแผนที่สำคัญ คือการปรับเพิ่มวงเงินกู้ของรัฐบาลในกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ (revenue shortfall) ในปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 214,093.92 ล้านบาท

การปรับเพิ่มวงเงินกู้ดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2563 โดยการกู้เงินกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ดังกล่าวเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบวงเงินตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และสอดคล้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้รัฐบาลต้องรักษาระดับเงินคงคลังไว้ในระดับที่จําเป็นเพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอสําหรับการเบิกจ่ายเพื่อการดําเนินงานของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งการกู้เงินเพิ่มเติมดังกล่าวจะส่งผลให้รัฐบาลมีระดับเงินคงคลังเพียงพอรองรับการเบิกจ่ายของหน่วยงาน

ขณะเดียวกันยังเห็นชอบให้นํารายการหนี้ของบริษัท การบินไทยจํากัด (มหาชน) (THAI) ออกจากแผนฯ เนื่องจาก การบินไทยด้พ้นสถานภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ส่งผลให้หนี้เงินกู้ของการบินไทยไม่รับเป็นหนี้สาธารณะตามกฎหมาย

นอกจากนี้ยังมีการปรับกรอบและวงเงินของการบริหารหนี้สาธารณะให้สอดคล้องกับความต้องการของรัฐวิสาหกิจ 4 แห่ง ได้แก่ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุน FIDF)

การปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธาณะดังกล่าวส่งผลให้แผนการก่อหนี้ใหม่ปรับเพิ่มสุทธิ 158,521.85 ล้านบาท จากเดิม 1,497,498.55 ล้านบาท เป็น 1,656,020.40 ล้านบาท แผนการบริหารหนี้เดิม ปรับลด 67,267.64 ล้านบาท จากเดิม 1,035,777.74 ล้านบาท เป็น 968,510.10 ล้านบาท และแผนการชําระหนี้ ปรับลด 22,329.31 ล้านบาท จากเดิม 389,373.21 ล้านบาท เป็น 367,043.90 ล้าบาท

การปรับปรุงแผนฯ ข้างต้นส่งผลให้ประมาณการยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 มีจำนวน 8.21 ล้านล้านบาท โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ระดับร้อยละ 51.64 ซึ่งไม่เกินร้อยละ 60 ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด

ตั้ง “กฤษฎา จีนะวิจารณะ” นั่งปลัดคลัง

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติแต่งตั้งนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขณะที่ข้าราชการประจำมีการแต่งตั้งดังนี้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร เป็นปลัดกระทรวงการคลัง, นายธานี ทองภักดี รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นปลัดกระทรวงต่างประเทศ และนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เป็นปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

จัดงบกลางซื้อรถสูบน้ำ 315 ล้าน

นางสาวไตรศุลี กล่าว ครม. อนุมัติงบฯ กลาง 315 ล้านบาท เพื่อจัดหารถสูบส่งน้ำไม่น้อยกว่า 35,000 ลิตรต่อนาที และส่งน้ำระยะไกลไม่น้อยกว่า 10 กิโลเมตร พร้อมอุปกรณ์จำนวน 7 คัน คันละ 45 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ได้อย่างทันท่วงที และยังเป็นการช่วยเหลืออุทกภัย เนื่องจากรถดังกล่าวจะสามารถระบายน้ำไปยังพื้นที่กักเก็บน้ำในระยะไกลได้ ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ในการใช้วิธีให้จูงน้ำ ไปหาที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง

อนุมัติงบ 127 ล้าน เดินหน้า “ซีมีโอ”

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. อนุมัติงบวงเงินอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณจำนวน  127.6 ล้านบาท ตามแผนการดำเนินงานระยะ 5 ปี (2564-2568) ของศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือซีมีโอ ซึ่งซีมีโอ เป็นองค์การระหว่างประเทศส่วนภูมิภาค มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและร่วมมือกับประเทศสมาชิกในโครงการที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์  วัฒนธรรม และพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิก

สำหรับการจัดตั้งซีมีโอขึ้นนั้นเป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2560 ที่เห็นชอบในหลักการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมติ ครม. วันที่ 25 ธ.ค. 2561 ยังอนุมัติการดำเนินการภายใต้กรอบบันทึกความตกลงในการจัดตั้งซีมีโอ ครม. ในครั้งล่าสุดนี้จึงได้อนุมัติงบประมาณสำหรับแผนดำเนินการระยะเวลา 5 ปี

เพิ่มงบฯ สถ. เช่ารถยนต์ตรวจการณ์ 36 คัน

นางสาวไตรศุลีกล่าว ครม. อนุมัติเพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันโครงการจัดเช่ารถยนต์ตรวจการณ์จำนวน 36 คันสำหรับนำมาใช้ในราชการของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.)  เป็นรายการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณ 5 ปี จากปี 2563–2567 โดยให้เพิ่มวงเงินจาก  39.5 ล้านบาท เป็น 49.61  ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งเหตุผลที่ต้องขอเพิ่มวงเงินในครั้งนี้ทางกระทรวงมหาดไทยรายงานว่า หลังจากที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้รับจัดสรรงบประมาณวงเงิน 39.50 ล้านบาท เพื่อเช่ารถยนต์ตรวจการณ์ชนิด 5 ประตู ขับเคลื่อน 4 ล้อ เครื่องยนต์ดีเซล 4 สูบ 4 จังหวะ ขนาดกระบอกสูบไม่น้อยกว่า 3,000 ซีซี จำนวน 36 คัน  ทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์หรืออี-บิดดิ้ง มาแล้ว 2 ครั้ง ปรากฏว่าไม่มีผู้มายื่นข้อเสนอ

ทั้งนี้ทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้สืบราคาจากบริษัทผู้ให้เช่ารถในท้องตลาดพบว่า งบประมาณที่ตั้งไว้สำหรับเช่ารถ 21,100 บาท/คัน/เดือน ต่ำกว่าราคาค่าเช่าในท้องตลาดที่ปัจจุบันมีราคาประมาณ 26,500–28,800 บาท/คัน/เดือน จึงมีความจำเป็นต้องขอเพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าจากที่ ครม. อนุมัติไว้เดิม  โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นรายงานด้วยว่า ได้ดำเนินการประกวดราคาโครงการเช่ารถยนต์ตรวจการณ์ในครั้งที่ 3  เรียบร้อยแล้ว ในอัตราค่าเช่า 26,500 บาท/คัน/เดือน รวมเป็นเงิน 49.61 ล้านบาท โดยมีผู้ยื่นข้อเสนอถูกต้องตามเงื่อนไขที่กำหนด ดังนั้นคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์จึงมีมติให้เช่ารถยนต์ตรวจการณ์ดังกล่าว รวมระยะเวลาเช่า 52 เดือน ที่อัตราค่าเช่าคันละ 25,800 บาท/คัน/เดือน รวมเป็นเงิน 48.30 ล้านบาท

ป.ป.ช. รายงานปัญหาจัดหลักสูตรต้านทุจริต

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. รับทราบรายงานผลการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ประจำปีงบประมาณ 2562 ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ซึ่งมีทั้งหมด 5 หลักสูตรดังนี้ หลักสูตรแรก หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีหน่วยงานนำไปใช้ 52,040 แห่งจาก 56,283 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 92.46 หลักสูตรที่สอง หลักสูตรอุดมศึกษา มีหน่วยงานนำไปใช้ 39แห่งจาก 157 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 24.84 หลักสูตรที่สาม หลักสูตรกลุ่มทหารและตำรวจ มี 2 หน่วยงานนำไปใช้คือกระทรวงกลาโหมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คิดเป็นร้อยละ 100 หลักสูตรที่สี่ หลักสูตรวิทยากร ป.ป.ช. และบุคลากรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ มีหน่วยงานนำไปใช้ 44 แห่ง จาก 76 แห่งคิดเป็นร้อยละ 57.89 และหลักสูตรสุดท้าย หลักสูตรโค้ช มีหน่วยงานนำไปใช้ 77 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 100

อย่างไรก็ตามได้พบปัญหาและอุปสรรคดังนี้คือ มีบางหลักสูตรที่หน่วยงานเป้าหมายไม่สามารถนำไปใช้ได้ เนื่องจากเนื้อหาของหลักสูตรมีรายละเอียดน้อย ผู้สอนไม่มีความรู้ในเชิงลึกเกี่ยวกับหลักสูตร ซึ่ง ป.ป.ช. ได้เสนอแนวทางแก้ไขโดยให้ศึกษาความรู้เพิ่มเติมจากคู่มือหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาและกรณีตัวอย่างคดีเพิ่มเติมจากสำนักงาน ป.ป.ช. และควรมีสื่อการสอนที่เข้าใจง่าย มีการติดตามและประเมินผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งกำหนดกลไกในการบริหารจัดการ ติดตามและรายงานผลการนำหลักสูตรไปปรับใช้เป็นการเฉพาะ

นอกจากนี้ ป.ป.ช. ยังรายงานด้วยว่า มีอุปสรรคเรื่องที่ไม่สามารถประเมินผลสัมฤทธิ์เฉพาะหลักสูตรได้ เนื่องจากแนวทางการนำหลักสูตรไปปรับใช้เดิมมีรูปแบบที่หลากหลาย จึงเสนอให้จัดให้มีเพียง 1 แนวทางการปรับใช้สำหรับแต่ละหลักสูตร โดย ครม. วันนี้ยังได้มีมติให้หน่วยงานต่างๆพิจารณานำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปปรับใช้ดังนี้คือ ในกลุ่มของ สถานศึกษาของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สถานศึกษาในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เปิดรายวิชาเพิ่มเติมสำหรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่วนกลุ่มหน่วยงานกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้จัดทำเป็น 1 รายวิชา 3 หน่วยกิต  และกลุ่มสุดท้ายคือ ทุกกระทรวงที่เสนอของบประมาณตามแผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ จัดฝึกอบรมสัมมนาให้แก่ข้าราชการและบุคลากรของหน่วยงาน

ครม. สัญจรระยอง 24–25 ส.ค.นี้

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะเตรียมเดินทางไปตรวจราชการจังหวัดระยองและจังหวัดจันทบุรี พร้อมประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2563 ณ จังหวัดระยอง ระหว่าง 24–25 สิงหาคม 2563  เพื่อเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ ฟื้นฟูการท่องเที่ยว ส่งเสริมการลงทุนระยะยาว และการพัฒนาเกษตรปลอดภัย ซึ่งจังหวัดระยองและจังหวัดจันทบุรีเป็นพื้นที่สำคัญที่มีศักยภาพทั้งด้านเกษตรและท่องเที่ยว มีกำหนดการสำคัญ ดังนี้

วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม 2563 นายกรัฐมนตรีและคณะจะเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และตรวจเยี่ยมจุดคัดกรองผู้โดยสาร ณ อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา และเป็นประธานเปิดให้บริการทางหลวงระหว่างเมืองหมายเลข 7 ช่วงพัทยา–มาบตาพุด จากนั้น จะพบปะตัวแทนผู้ประกอบการการท่องเที่ยวจังหวัดระยอง ชมนิทรรศการบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีระยอง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และเยี่ยมชมตลาดสินค้าครบวงจร เทศบาลบ้านเพ (ตลาด 100 เสา)  และเยี่ยมชมวิถีกลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้านสวนสน–แกลง 1 ณ หาดสวนสน เพื่อส่งเสริมอาชีพประมง การแปรรูปอาหารทะเล รวมทั้งติดตามการฟื้นฟูทรัพยากร สัตว์ทะเลและโครงการธนาคารปู รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลและลมมรสุม โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะนั่งรถยนต์ตรวจถนนเลียบหาดแสงจันทร์–สุชาดา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาออกแบบถนนเฉลิมบูรพาชลทิต ระยะที่ 2 ด้วย

วันอังคารที่ 25 สิงหาคม 2563 นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) และการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2563 ณ โรงแรมสตาร์ คอนเวนชั่น พร้อมเป็นสักขีพยานในโอกาสรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม ในการมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่เป้าหมายการจัดที่ดินทำ กินให้ชุมชนให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราและผู้ว่าราชการจังหวัดระยองด้วย ทั้งนี้ หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีและคณะ จะตรวจเยี่ยมพื้นที่โครงการนำร่องการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัย ทางถนน ณ ทางหลวงหมายเลข 3249  และชมการสาธิตการติดตั้งกำแพงคอนกรีตหุ้มแผ่นยางพารา (rubber fender barrier: RFB) ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพมหานครในช่วงเย็นวันเดียวกัน

“ทั้งนี้ การประชุม ครม. สัญจร ในครั้งนี้ใช้พื้นที่โรงแรมเป็นสถานที่จัดการประชุม ซึ่งเป็นการสนับสนุนธุรกิจภาคเอกชนด้านการบริการสร้างความคึกคักให้กับภาคธุรกิจในจังหวัดระยองอีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะโรงแรมที่พัก ขณะนี้หลายภาคส่วนราชการได้สำรองที่พักกันแล้ว”

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 18 สิงหาคม 2563 เพิ่มเติม