ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > ถอดพลังบวก โครงการ “ปันอิ่ม” พลังแบ่งปัน…พลังการให้ที่ไม่มีสิ้นสุด

ถอดพลังบวก โครงการ “ปันอิ่ม” พลังแบ่งปัน…พลังการให้ที่ไม่มีสิ้นสุด

21 สิงหาคม 2020


ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กปันอิ่ม https://www.facebook.com/pannimm/photos/

จากการล็อกดาวน์เพราะวิกฤติโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก หลายคนได้รับผลกระทบเป็นปัญหาปากท้อง ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มหาเช้ากินค่ำ คนตัวเล็กตัวน้อยในภาคธุรกิจต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กลุ่มพนักงานโรงแรม ร้านนวดสปา คนขายของตามแหล่งท่องเที่ยว ร้านเสริมสวย ร้านอาหาร และคนขับรถรับจ้าง มิหนำซ้ำ “กลุ่มเปราะบาง” ที่มีอยู่แล้ว ยังถูกเคราะห์ซ้ำกรรมซัดให้ใช้ชีวิตยากลำบากกว่าเดิม ทั้งกลุ่มคนมีรายได้น้อย กลุ่มคนเร่ร่อนและอื่นๆ

แต่ในชั่วโมงที่มืดมิด อย่างน้อยสุดยังมีแสงสว่างจากกลุ่มจิตอาสา โครงการ “ปันอิ่ม” ที่หยิบยื่นความช่วยเหลือแก่กลุ่มผู้เดือดร้อนต่างๆ

จากผู้ริเริ่มโครงการ 2-3 คน ได้ต่อยอดเชื่อมโยงทั้งผู้รับ ผู้ให้ และตัวกลางเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการ จนกระทั่งมียอดเงินบริจาคอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาทภายในเวลา 77 วัน และได้ปันความอิ่มมากกว่า 2 หมื่นมื้อ ทั้งหมดคือผลลัพธ์เชิงรูปธรรมที่ทำให้ร้านอาหารมียอดขายเพิ่มขึ้น หลายคนได้อิ่มท้อง และจุดประกายพลังการแบ่งปันที่ไม่มีสิ้นสุดในใจของผู้คนในสังคม หลายร้านยังดำเนินการ “ปันอิ่ม” ต่อไป แม้โครงการจะยุติไปแล้ว

กระบวนการของโครงการปันอิ่มเริ่มจากนำเงินทุนตั้งต้นหรือเงินบริจาคไปให้กับร้านอาหารในรูปแบบของการ “ซื้อมื้ออาหาร” โดยแทนหน่วยเป็น “อิ่ม” (1 อิ่ม = 1 มื้อ) แล้วร้านอาหารนำเงินที่ได้รับไปทำอาหารและแบ่งปันให้กลุ่มผู้เดือดร้อน ตัวอย่างเช่น ร้านอาหารแห่งหนึ่งขายอาหารจานละ 40 บาท ได้รับเงินสนับสนุนทั้งสิ้น 400 บาท เท่ากับ 10 อิ่ม ดังนั้นร้านอาหารจะมีโควตาอย่างน้อย 10 จานสำหรับผู้เดือดร้อน

Pann Imm

ปันอิ่ม Day 47คุณจะทำอย่างไร หากเพิ่งเรียนจบสาขาที่น่าจะเป็นที่ต้องการของตลาด แต่กลับหางานไม่ได้ เนื่องจากเศรษฐกิจซบเซาจากโรคระบาด มีน้องชายที่ยังเรียนไม่จบ กับภาระค่าใช้จ่ายของบ้านที่เดินต่อไปอย่างไม่รีรอ ร้านทำผมซึ่งเป็นแหล่งรายได้ของแม่ถูกสั่งปิดกิจการตามนโยบายของรัฐ ส่วนรายได้จากการเป็นตัวแทนขายรถของพ่อก็หดหายอย่างไม่คาดฝันคำตอบอาจจะมีหลากหลาย แต่คำตอบของ "น้องโอ๊ต" คือ สู้วันที่เราไปพูดคุยกับร้านของคุณแม่น้องโอ๊ต เราเห็นเด็กหนุ่มทำอาหารด้วยความตั้งใจ แม้ใบหน้าจะถูกบดบังด้วยหน้ากากผ้าไปกว่าครึ่ง แต่ยิ้มอาย ๆ ยังส่งออกมาทางสายตา เมื่อเห็นพวกเราแม่น้องโอ๊ตเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า น้องโอ๊ตหัดทำอาหารตามที่แม่สอน และช่วยทดลองขายอาหารทาง Grab ด้วย "วันก่อนขายได้ตั้ง 5 ครั้ง มีคนนึงสั่งจากแถวปทุมวันเลยนะ" น้ำเสียงของแม่น้องโอ๊ตแฝงความชื่นใจอย่างเต็มเปี่ยม เรารู้ดีว่า นั่นไม่ใช่ความยินดีจากการขายข้าวได้เท่านั้น แต่คือความปีติที่ลูกชายคนโตหาทางช่วยเหลือครอบครัวในยามที่เดือดร้อนนอกจากสู้เพื่อครอบครัวแล้ว น้องโอ๊ตยังมีน้ำใจใช้เวลาว่างจากการขายของทั้งวันทำการ์ตูนชิ้นนี้ขึ้นมาให้พวกเรา แรกเริ่มเดิมทีเราตั้งใจจะจ้างน้องทำ เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ แต่น้องยืนยันว่าขอตอบแทน "ปันอิ่ม" บ้างหากดูแล้วชอบ ให้กำลังใจน้องโอ๊ตด้วยการแชร์ได้นะคะ เผื่อผลงานของน้องโอ๊ตเข้าตาใครเข้า หรือเผื่อมีคนเห็นวีดีโอที่น้องโอ๊ตทำแล้วจะอยากปันอิ่มผ่านร้าน "หลิน"ของบ้านน้องโอ๊ตบ้างค่ะแอดปลาปันอิ่มสามารถอยู่ต่อได้อีกประมาณ "5" วันณ วันที่ 1 มิถุยายน 2563 เวลา 18.56 น. มียอดเงินสมทบคงเหลือ 61,450 บาทปันอิ่มไปแล้ว 660,590 บาท (17,495 อิ่ม) ยอดสมทบทุนอิ่มสะสมถึงวันนี้ 730,540 บาท****************************************หากเพื่อน ๆ สนใจปันอิ่ม สามารถช่วยได้ดังนี้ค่ะ1. ติดต่อร้านที่ร่วมโครงการตามรายชื่อในเพจเพื่อจ่ายค่าข้าวโดยโอนเงินให้ร้านโดยตรงเลยค่ะแผนที่: https://bit.ly/2y8LBN2รายชื่อ “ร้านที่ประสงค์ให้ช่วยปันอิ่ม” (ยังไม่มีใครช่วยเหลือ ต้องการความช่วยเหลือค่า)https://bit.ly/2LzJQvtรายชื่อ "ร้านที่ร่วมโครงการปันอิ่ม" (ปันอิ่มช่วยบ้างแล้ว แต่ยังต้องการความช่วยเหลือต่อค่ะ)https://bit.ly/2ZcH6w02. ให้ปันอิ่มเป็นตัวแทนรวบรวมและกระจายอิ่ม โดยโอนเงินเข้าบัญชี ธ. กรุงไทย 6782251035 ธราเทพ ลมชิดสามารถขอให้บันทึกข้อมูลการบริจาคเข้าสู่ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-donation) ของกรมสรรพากรเพื่อใช้หักลดหย่อนภาษีได้ที่https://forms.gle/xbPuL2QhN8XaPjqS73. มองหาร้านอาหารในชุมชนใกล้ ๆ บ้าน ช่วยอุดหนุนเค้าเพื่อให้เค้าอยู่ได้ ถ้ามีกำลังพอ ก็จ่ายค่าข้าวเผื่อคนที่ลำบากแถวนั้นไว้ด้วย จะนำป้าย “ปันอิ่ม” ไปใช้หรือไม่ก็แล้วแต่เลยค่ะ

Posted by ปันอิ่ม on Monday, June 1, 2020

หนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการปันอิ่มที่ไม่ประสงค์ออกนาม เล่าจุดเริ่มต้นโครงการว่า ปันอิ่มได้ต้นแบบโมเดลมาจากร้านสตาร์บัคส์ที่อเมริกา ซึ่งมีคนมาบริจาคเงินซื้อกาแฟเพื่อให้ผู้เดือดร้อนได้ดื่มกาแฟ ประกอบกับช่วงโควิด-19 ที่เห็นผลกระทบทำให้คนไทยลำบากมากขึ้นจึงนำโมเดลนี้มาใช้กับร้านอาหารในประเทศไทยที่ผู้เดือดร้อนเข้าถึงได้

เธอบอกว่าแนวคิดนี้ยังไม่เป็นที่คุ้นเคยในสังคมไทย อีกส่วนหนึ่งเป็นปัญหาภาพลักษณ์ของคนเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นผู้มีรายได้น้อยหรือคนเร่ร่อน ทำให้ทีมงานต้องลงพื้นที่และพูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้าให้เข้าใจว่าการ “ปันอิ่ม” นอกจากได้ช่วยผู้ที่เดือดร้อนแล้วยังช่วยผู้ประกอบการร้านอาหารด้วย

“ในช่วงแรกที่ไปคุยกับเจ้าของร้านเพื่อขายไอเดียนี้ ไม่ค่อยได้รับการตอบรับนัก พอเราเปลี่ยนวิธีพูด ถามว่า…ป้าเป็นไงบ้าง ช่วงนี้ขายดีไหม ยอดขายเป็นยังไง พอเขาบอกยอดขายไม่ดี เราเลยบอกขอซื้อไว้ 20 จานได้ไหม ถ้ามีคนผ่านไปผ่านมาแล้วป้าอยากให้เขา ก็เอาให้ไปเลย อย่างน้อยก็ช่วยยอดขายป้า เขาก็โอเค เราเริ่มจากสิ่งที่เขาได้” ผู้ไม่ประสงค์ออกนามกล่าว

ไทยพับลิก้าพูดคุยกับตัวแทนจากโครงการปันอิ่มอย่าง ดร.ณชา อนันต์โชติกุล หรือ ดร.โบว์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ หรือ ดร.เม่น ปัจจุบันดำรงตำแน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้า ทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เพื่อทำความเข้าใจพลังทางสังคมที่เกิดขึ้นจากโครงการปันอิ่ม

ดร.โบว์ (ใส่หมวก) ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กปันอิ่ม https://www.facebook.com/pannimm/photos/

โมเดลที่มากกว่ากลไกทางเศรษฐศาสตร์

ทีมงานเล่าว่าโมเดลปันอิ่มประกอบด้วย 3 ขาผสมผสานเข้าด้วยกันคือ คนให้ (ผู้บริจาค) ผู้ประกอบการร้านอาหาร และผู้รับ (คนที่เดือดร้อน) โดยทุกฝ่ายต่างได้ประโยชน์หรือวินวินด้วยกัน ไม่ว่าในเชิงรูปธรรมหรือนามธรรม เช่น

  • ผู้ให้-ผู้บริจาค เป็นคนที่พอมีทุนและต้องการแบ่งปัน เหมือนได้บริจาคเงิน-ทำบุญ และได้ช่วยเหลือร้านอาหาร
  • ร้านอาหารมีรายได้เพิ่มขึ้นช่วยหล่อเลี้ยงปากท้องและธุรกิจ ได้เป็นตัวกลางระหว่าง “คนบริจาค” ถึง “คนเดือดร้อน” และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมทั้งได้ช่วยเพิ่ม “ปันอิ่ม” ในส่วนของร้านค้าเองสมทบเข้าไปด้วย
  • ผู้รับ-ผู้เดือดร้อน นอกจากจะได้รับอาหารแล้ว ยังสามารถช่วยเหลือร้านอาหารได้ในรูปแบบการให้ที่แตกต่างกันไป

ในช่วงเริ่มต้นโครงการมีร้านอาหารเข้าร่วมประมาณ 50 ร้าน ซึ่งแต่ละร้านต่างคุ้นเคยกับลูกค้าของทางร้านเอง รู้ว่าใครประสบปัญหาความยากลำบากบ้าง เพราะมีความคุ้นหน้าค่าตากัน นั่นหมายถึง การปันอิ่ม ที่ถึงส่งถึงผู้ที่เดือดร้อนได้อิ่มท้องจริงๆ

“บางร้าน เจ้าของร้านอาหารก็เช็คเองเลย ถามคนมารับปันอิ่มตรงๆ เพราะบางคนแต่งตัวดี ดูมีรายได้ ซึ่งจริงๆเขาอาจเป็นพนักงานเงินเดือนที่เคยแต่งตัวดี เคยเข้าออฟฟิศ แล้วตกงาน หรือบางคนที่แต่งตัวซอมซ่อ ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้มีอะไรกิน เราไม่สามารถตัดสินคนจากข้างนอก เพราะถ้าเขามารับอาหารแสดงว่าอย่างน้อยเขาก็ต้องลำบาก” ดร.โบว์กล่าว

ทุกวันทีมงานต้องทำรายงาน เก็บข้อมูลเป็นรายวัน เช่น ข้อมูลเงินบริจาค ดูว่าวันนี้แจกให้ร้านไหนไปกี่บาท โอนเงินไปมากน้อยเท่าไร ยอดเงินบริจาคเข้ามาเป็นเท่าไหร่ ฯลฯ เนื่องจากต้องมีความโปร่งใสในการทำบัญชีโครงการ อีกทั้งร้านอาหารต้องรายงานการใช้ “ปันอิ่ม” แต่ละวัน บางครั้งต้องถ่ายรูปคนที่มารับอาหารและส่งให้ทีมงานเพื่อติดตามผลในแต่ละวัน และเผยแพร่ผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยทีมงานกำชับกับร้านค้าว่าจะต้องขอความยินยอมในการถ่ายรูปและเผยแพร่กับผู้ที่มารับอาหารทุกราย

“โครงการปันอิ่มทำให้เกิดการเชื่อมคนเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดความสัมพันธ์ เกิดความน่ารักในสังคมมากมาย พวกเราเป็นแค่จุดเชื่อมโยงให้เขาได้มาแบ่งปันกัน และเขาก็แบ่งปันกันเองได้ในท้ายที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะสังคมมันมีการเชื่อมโยงระหว่างคนที่ต้องการให้กับคนรับอยู่แล้ว”

การให้ที่ไม่มีสิ้นสุด

ผู้ริเริ่มโครงการทั้ง 3 คน ต่างร่วมกันเล่าเรื่องราวพลังบวกที่เกิดขึ้นว่า ร้านอาหารต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการปันอิ่มแล้วได้รับพลังแบ่งปันกลับคืนมาในรูปแบบการ “ส่งต่อการให้” จากการคนที่เคยได้รับการช่วยเหลือ เป็นการให้ในรูปแบบต่างๆ ที่ตัวเองเก่งหรือตัวเองมี ทั้งที่เป็นสิ่งของ รวมทั้งความใส่ใจ ความเอื้ออารีในรูปแบบอื่นๆ

ทีมงานเล่าว่าจากคำบอกเล่าของผู้เข้าร่วมโครงการ อย่าง…ร้านขายข้าวหอมมะลิไข่เจียวแห่งหนึ่งเป็นร้านริมทางบอกว่า …ตั้งแต่ผมเริ่มปันอิ่ม “ผมรู้สึกว่าคนส่งยิ้มให้ผมหมดเลย” ซึ่งแถวนั้นมีมอเตอร์ไซด์รับจ้างเยอะ พอเขารู้ว่าร้านนี้ทำ “ปันอิ่ม” แบ่งปันข้าวไข่เจียวให้ผู้ที่เดือดร้อนในพื้นที่ สิ่งที่ได้กลับมาคือ ‘รอยยิ้ม’ และ ‘น้ำใจ’ เช่น ไปซื้อยำ แล้วคนขายแถมยำให้เป็นพิเศษ หรือแผ่นโปสเตอร์ปันอิ่มที่ติดหน้าร้านทุกวันๆ ร้านอาหารต้องไปถ่ายเอกสารเอง เพราะพวกเราไม่ได้ไปทุกวัน ร้านถ่ายเอกสารพอรู้ว่าเขาคือร้านปันอิ่ม ก็ไม่คิดเงิน เขาบอกว่าเขารู้สึกได้ถึงพลังของปันอิ่มกำลังเกิดขึ้น เขาบอกว่าเขารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ เพราะก่อนหน้าที่รายได้ของเขาจะหายไปจากโควิด เขารู้สึกว่า ทำไมชีวิตเขามาเจอแบบนี้ ทำไมทุกข์ลำบากขนาดนี้ เขาก็บอกว่าปันอิ่มไปช่วยเขาให้เขาก้าวต่อไปได้

จากมือผู้ให้ที่ถูกส่งมาเป็นทอดๆ จนถึงมือผู้รับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งปันที่แท้จริง เพราะในมุมผู้บริจาคเงินให้ร้านอาหารก็ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการ ส่วนผู้ประกอบการก็ได้ช่วยเหลือกลุ่มคนผู้ที่เดือดร้อนจากผลกระทบโควิด-19 ขณะเดียวกันคนที่เคยได้รับการช่วยเหลือ เช่น ผู้ประกอบการร้านอาหาร ก็จะขอบคุณคนปันเงินให้ร้าน ส่วนคนที่เคยมารับข้าวจากร้านอาหารก็จะช่วยเหลือร้านอาหารในวิธีการที่แตกต่างกันไป คนที่เคยเป็นผู้รับยังสามารถเป็นผู้ให้ได้เช่นกัน

ดร.โบว์ยกตัวอย่างการให้ที่กลับมาในรูปแบบต่างๆ เช่น ลุงขี่ซาเล้งเก็บผักริมรั้วมาให้ที่ร้านอาหารเพื่อนำไปทำอาหาร หรือบางคนซื้อเจลล้างมือแอลกอฮอล์มาให้ร้านค้าเพื่อไว้บริการลูกค้า

“ที่ภูเก็ต มีพี่ที่รู้จักเพิ่งเปิดร้านใหม่ แล้วโควิดมาพอดีก็ทำให้ลำบากพอสมควร ร้านเขาเป็นร้านใหญ่ เขาก็แจก “ปันอิ่ม” อยู่แล้วเป็นร้อยคน และระดมทุนจากเพื่อนๆเขามาด้วย เลยมาเริ่มปันอิ่มกับเรา จนวันหนึ่งมีโทรศัพท์มาหาเขาแจ้งว่า …’ไปดูที่ร้านพี่หน่อยครับ ผมเห็นว่าเหมือนมีขโมยขึ้นร้านพี่’ ทางเจ้าของร้านก็ตกใจว่าน้องคนนี้ได้เบอร์เขามาได้อย่างไร รู้ได้ไงว่าเขาเป็นใคร คนที่โทรมาบอกว่า…’พี่ไม่รู้จักผมหรอก แต่ผมได้เบอร์โทรจากหน้าร้าน ‘ผมเคยเป็นคนมารับปันอิ่มที่ร้านพี่’ พอเราฟังเรื่องนี้ก็ขนลุก คนโทรศัพท์มาแจ้ง เขารู้สึกว่ามันเป็นการตอบแทนกันรูปแบบหนึ่ง” ดร.โบว์เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ปันอิ่มยังจุดประกายให้ผู้คนในชุมชนได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เห็นได้ชัดจากเหตุการณ์ที่เขาใหญ่ โดยลุงคนหนึ่งที่ตกงาน และเดินทางมาเจอร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการปันอิ่ม พ่อค้าแม่ค้าจึงสอบถามและพบว่าลุงไม่มีเงินและที่บ้านไม่ได้เลี้ยงดู ร้านอาหารจึงบอกให้ลุงมารับข้าวปันอิ่ม ในวันถัดมาลุงไม่ได้มารับข้าว ร้านก็ไปตามหาในละแวกใกล้เคียงและพบว่าลุงนอนหมดสติอยู่ข้างทาง สุดท้ายเรียกหน่วยกู้ภัยมาช่วย…มันเป็นการส่งต่อความช่วยเหลือ

หลายร้านอาหารรู้สึกว่าตนเองลำบาก พอมีคนมารับ”ปันอิ่ม” ก็รู้สึกว่ายังมีคนที่ลำบากกว่าเขาอีกเยอะ หรือบางร้านก็บอกว่า ร้านอาหารข้างๆเขาก็ขายไม่ดีนะ บอกให้เราไปช่วยร้านนั้นด้วย ทั้งๆที่น่าจะเป็นคู่แข่งกันมากกว่า มันเป็นความน่ารักที่เกิดขึ้นในสังคม

หรือคนกวาดถนน มารับปันอิ่ม วันหนึ่งเดินมาที่ร้าน เอาข้าวสารมาบริจาค เอาไข่ไก่มาให้ นี่เป็นอีกตัวอย่างที่พอคนทำความดี คนที่เห็นก็อยากจะลุกขึ้นมาทำความดีด้วย

ดร.โบว์เล่าต่อว่า “ช่วงล็อกดาวน์มีร้านเสริมสวยร้านหนึ่งติดต่อมา ตั้งโต๊ะขายอาหารตามสั่งอยู่หน้าบ้าน เขาบอกว่ามีลูกสองคน คนหนึ่งเพิ่งเรียนจบแอนิเมชัน แต่ยังหางานไม่ได้ อีกคนกำลังเรียนจุฬาฯ มีภาระค่อนข้างหนัก เลยมาขายข้าวคลุกกะปิ เราเลยคุยกับเขาและบอกว่าจะจ้างให้น้องทำแอนิเมชันให้โครงการปันอิ่ม ซึ่งเขาทำให้ แต่เขาบอกเขาไม่รับเงิน เพราะอยากช่วยปันด้วย แต่สุดท้ายเราก็ยืนยันให้ค่าจ้าง”

ดร.เม่นเล่าเรื่องหลานของเขาว่า “จากที่มาช่วยโครงการปันอิ่ม ครอบครัวพี่สาวซึ่งมีลูก ติดตามเฟซบุ๊กเพจปันอิ่ม เป็นแฟนเพจอย่างเหนียวแน่น และอยากสอนลูกให้รู้จักการให้ บอกลูกว่าจะช่วยปันอิ่มอย่างไรดี ด้วยหลานเป็นคนวาดรูปเก่ง ก็วาดรูปลงบนกระเป๋า เอาไปขาย ได้เงินมา 12,000 บาท ก็มาร่วมบริจาค แล้วเขาก็ตามมาดูการปันอิ่มในหลายพื้นที่ จนก่อนสองวันสุดท้ายที่เพจทีมงานจะประกาศว่ากำลังจะปิดโครงการ พอเขาเห็นปุ๊ปแล้วไปวาดรูปต่อเลย เขาบอกว่าเดี๋ยวจะทำเสื้ออีก อยากให้ปันอิ่มมีต่อ” ดร.เม่นกล่าว

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กปันอิ่ม https://www.facebook.com/pannimm/photos/

ดร.เม่นเล่าอีกตัวอย่างว่า มีร้านข้าวไข่เจียวที่เจ้าของชื่อ “เจ” เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเขาได้รับพลังบวกจากปันอิ่มและได้เปลี่ยนวิธีคิดไปอย่างสิ้นเชิง

“กรณีของเจ ผมไปหาเขาสามรอบ เขาชอบแต่งเพลง ร้องเพลงแรป ผมไปดูเพลงเขาตอนก่อนจะเจอเรา เขาจะแบบร้องแนวลบๆกับประเทศชาติตลอดเวลา แต่พอมาเจอเรา ร้องประเทศชาติแนวดีๆ (หัวเราะ) ถ้าเขาคิดว่าเขาอยู่ในโลกที่มันร้ายกับเขา เขาก็จะร้ายกับคนอื่น ขณะเดียวกันเราพิสูจน์ให้เห็นว่าเราเริ่มเป็นสะพานให้เขารู้จัก “การให้” เขาเปลี่ยนเลยนะ กลายเป็นว่าถ้าสังคมดี เขาให้ mindset มันเปลี่ยนได้นะ” ดร.เม่นเล่า

“เขาเป็นคริสต์ เขาบอกขอบคุณพระเจ้าที่ส่งเรามา แล้วเขาก็แรปเพลงปันอิ่มให้ด้วย” ดร.โบว์กล่าวเสริม

นอกจากนี้ ปันอิ่มทำให้ร้านอาหารช่วยเหลือในมิติ ‘สิ่งแวดล้อม’ เพราะข้อตกลงหนึ่งในการเข้าร่วมโครงการคือร้านจะต้องปรับตัวไปใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายง่าย ลดการใช้พลาสติกและโฟมให้ได้มากที่สุด แม้ว่าจะไม่ได้ลดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หลายๆ ร้านก็เริ่มปรับมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากชานอ้อยมากขึ้น

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กปันอิ่ม https://www.facebook.com/pannimm/photos/

ความเหลื่อมล้ำนอกตำราเศรษฐศาสตร์

ทีมงานเล่าต่อว่า เราอ่านข่าวที่ว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก โครงการปันอิ่มทำให้เราได้ไปเห็นจริงๆว่าคนไม่มีกินเขาไม่มีจริงๆ ได้เห็นเวลาที่เขาขอบคุณพวกเรา สำหรับข้าวหนึ่งจาน สะท้อนให้เห็นว่าเขาต้องลำบากขนาดไหน เขาถึงต้องขอบคุณกับข้าวหนึ่งจานกับเรา เขาอวยพรให้ทุกคนประสบความสำเร็จ โชคดีในชีวิต ทำให้เราได้เห็นชีวิตจริง ไม่ใช่ในรายงานข่าวว่าวันนี้มีคนตกงานเท่านั้นเท่านี้ แต่เราได้เห็นคนที่ตกงานจริงๆ ร้านที่เขาขายอาหารไม่ได้ มันทำให้เราได้เรียนรู้การแบ่งปัน “เรารู้สึกว่ามันเป็นการเติบโตของการแบ่งปัน”

ดร.โบว์กล่าวเสริมว่า หลังจากมาทำปันอิ่มยิ่งทำเห็นความเหลื่อมล้ำของผู้คนชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองกับเขตชุมชนใกล้เมืองจะมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งยังทำให้เห็นกลุ่มยากจนเรื้อรังที่มีความลำบากมาตั้งแต่ก่อนวิกฤติโควิด-19 ขณะเดียวกันโควิด-19 ยิ่งตอกย้ำให้เห็นความต้องการการช่วยเหลือของกลุ่มคนกลุ่มต่างๆ

“คนยากจนจริงๆมีมาตั้งแต่ก่อนโควิด มีคนหนึ่งเป็นคนพิการ ต้องข้ามสะพานลอยมาเพื่อมารับปันอิ่มทุกวัน เพราะเขารู้ว่ามีร้านปันอิ่มอยู่อีกฝั่ง สุดท้ายพวกเราต้องไปหาร้านปันอิ่มในฝั่งเดียวกับซอยเขาที่เขาอยู่”

เช่นเดียวกับ ดร.เม่นที่มองเห็นความแตกต่างในชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนระหว่างบริเวณ “เซ็นทรัลเวิลด์” และเมืองรอบนอกอย่าง “ปิ่นเกล้า” ว่ามีความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้ชัดจากการลงไปสัมผัสพื้นที่จริง ทั้งสภาพแวดล้อมและผู้คนที่ดูแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ยอดบริจาคทะลุ 1 ล้านบาทและเป็นเวลากว่า 2 เดือนนับตั้งแต่เปิดโครงการ ทีมงานได้ตัดสินใจยุติการดำเนินงานเนื่องจากสมาชิกทุกคนต่างมีภาระหน้าที่เป็นของตนเอง ด้วยโครงการนี้ไม่ใช่ให้เงินร้านอาหารแล้วจบ แต่มันคือความเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างคนให้-คนรับ และผู้ให้บริการ ต้องใช้แรงงานคนในการประสานงานกับกลุ่มร้านอาหารในแต่ละวันว่ามีคนมาใช้บริการเท่าไหร่ รวมทั้งการทำรายงานอื่นๆมากพอสมควร แต่ทว่า “โมเดล” ยังคงอยู่ ใครจะหยิบไปทำต่อก็สามารถสานต่อโครงการได้เลย

“พวกเราไม่ได้เป็นเจ้าของ “ปันอิ่ม” แต่เราเป็นแค่หลักคิดให้ และเราตกลงกันว่าจากนี้ไปใครจะเอาโมเดลนี้ไปทำก็ได้ เราแค่ทำให้ดูว่า กระดาษแผ่นนี้มีแค่ 10 ช่อง(คูปองปันอิ่ม) ใครจะซีร็อกไปทำเองก็ได้ มันเป็นเรื่องของความเชื่อถือ เชื่อมั่น ใครจะเอาชื่อปันอิ่มไปใช้แล้วไปโกงเงินคนอื่น แต่เราเชื่อว่า ใครทำไม่ดี ก็อยู่ไม่ได้ สังคมจะดูแลกันเอง ตรวจสอบกันเองและเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว คงไม่มีร้านอาหารทำแล้วเททิ้ง เพื่อเอาเงินที่คนบริจาค ก็ไม่น่าจะใช่ ที่ทำโครงการมา ไม่มีเลย มีแต่ทุกคนอยากจะให้ เราให้ 40 อิ่ม ทางร้านพ่วงให้อีก 40 อิ่ม”

ทีมงานบางคนก็ไม่ได้รู้จักกัน แต่เป็นคนที่มีจริตตรงกัน มาอยู่ด้วยกัน มาทำอะไรด้วยกัน มาช่วยกันสร้างพลังการแบ่งปันให้เติบโตไปด้วยกัน พลังการแบ่งปันที่ส่งต่อกันได้ เป็นพลังบวก คนที่เคยได้อิ่มมาแล้ว อยากจะปันอิ่มให้คนอื่น… give it forward

พร้อมย้ำว่าสังคมที่ดี ไม่ต้องรอให้คนอื่นสร้าง เพราะ “คนเรา” เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เรามีส่วนสร้างสังคมที่ดี ด้วยการแบ่งปัน เราไม่ต้องให้คนมาดีกับเราก่อน ถ้าเราแบ่งปัน เราทำเลย เดี๋ยวมันก็มาเอง

ดร.เม่นกล่าวเสริมว่า ปันอิ่ม เป็นมากกว่าที่คาดหวังไว้ อย่างน้อยกับหลานตัวเอง ได้ฝังความคิด “การให้” กับเขาไปแล้ว ไปอีกเจนเนอเรชั่นหนึ่งแล้ว ก็ถือว่าสำเร็จ และโครงการ “ปันอิ่ม” ที่พวกเราช่วยกันคิด สร้างให้คนอื่นคิดต่อ ทำต่อ ก็โอเคแล้ว

ทีมงานเล่าว่าหลังยุติโครงการไปแล้ว ได้กลับไปยังร้านอาหารหลายร้าน บางร้านเขายังทำอยู่ ยังมีใช้โปสเตอร์ปันอิ่มอยู่ อาจจะไม่ได้ปันเยอะเหมือนเดิม แต่ยังปันอยู่ และยังมีคนรู้จักร้านเขาจากโครงการปันอิ่ม อาทิ คนอยู่ที่เยอรมัน โอนเงินให้เขาทุกวันพระ เพื่อให้ปันอิ่มกับผู้ที่เดือดร้อน

“ปันอิ่ม” จึงเป็นอีกกลไกทางสังคมช่วยเหลือผู้เดือดร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิกฤติเร่งด่วน ยิ่งถูกจริตคนไทยเพราะพื้นฐานเป็นคนชอบทำบุญแบ่งปัน และที่สำคัญในการแบ่งปันไม่จำเป็นต้องเป็นการปันอาหารเสมอไป ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ อาจจะเป็นสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค หรือสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต ที่เหมาะกับแต่ละบริบทของสังคม

นี่เป็นอีกตัวอย่างที่ดีๆที่เกิดขึ้น เป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นทำ และทำให้คนอื่นๆรู้ว่า อ๋อ… มันทำแบบนี้ได้ด้วย

https://www.facebook.com/pannimm/videos/3003031903125513/