ThaiPublica > เกาะกระแส > กทม. พัฒนา “โคกหนองนา” ในเมือง ช่วยชาวนา “หนองจอก” ทำสัมปทานบึงใหญ่ “ฟิชชิ่งปาร์ค” 30 ปี

กทม. พัฒนา “โคกหนองนา” ในเมือง ช่วยชาวนา “หนองจอก” ทำสัมปทานบึงใหญ่ “ฟิชชิ่งปาร์ค” 30 ปี

23 สิงหาคม 2020


นาข้าวเขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร

‘หนองจอก’ เป็นเขตหนึ่งในกรุงเทพมหานครที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดกว่า 280 ตารางกิโลเมตร (กรุงเทพมหานครมี 50 เขต มีพื้นที่ 1,575 ตารางกิโลเมตร) และเป็นอีกเขตหนึ่งของกรุงเทพมหานครที่ยังมีการทำนา เพราะกว่า 80% ของประชากรหนองจอกทั้งหมด มี 1.7 แสนราย ยังทำอาชีพชาวนา และในปี 2562 หนองจอกมีพื้นที่ทำนาที่ขึ้นทะเบียนไว้ 58,125 ไร่ นับว่าเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร

ในทุกปีบริบทของแต่ละเขตในกรุงเทพมหานครจะมีการบริหารจัดการน้ำที่แตกต่างกัน ในตัวเมืองต้องการแก้ไขปัญหาน้ำรอระบาย แก้ปัญหาน้ำท่วม แต่พื้นที่หนองจอกมักจะได้ยินข่าวอยู่เสมอว่าถนนทรุด ถนนพัง เพราะปัญหาของหนองจอกคือน้ำแล้งที่มีผลต่อชาวนาที่ทำเกษตรกรรม

  • “อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี” ที่ปรึกษาผู้ว่ากทม. ชวนแกะรอยปัญหา “น้ำท่วมกรุงเทพฯ” จาก “ท่อระบายน้ำ” ถึง “แม่น้ำเจ้าพระยา”
  • ขายไอเดีย “บริหารจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้ง” ด้วย “Water Grid” ในภาวะน้ำต้นทุนที่มีแต่จะลดลง
  • สำรวจคลองลาดพร้าว…สภาพจริงเมื่อคลองไม่ใช่ทางระบายน้ำ แล้วน้ำ(ท่วม)กทม.จะไหลไปไหน
  • หนอกจอกมีคลองสำคัญคือคลองแสนแสบ ที่เริ่มจากหนองจอกไปถึงปิ่นเกล้า โดยมีประตูบล็อกน้ำที่มีนบุรี เพื่อควบคุมระดับน้ำในคลองแสนแสบ ไม่ให้ระดับน้ำในคลองแสนแสบช่วงระหว่างหนองจอก-มีนบุรี เข้าไปในตัวเมือง เพื่อบริหารจัดการน้ำสำหรับการเดินเรือในคลองแสนแสบให้สามารถบริการประชาชนได้

    สำหรับหนอกจอก น้ำของกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออกมาจากกรมชลประทาน โดยมาจากคลองระพีพัฒน์ คลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลอง1-14 นี่คือคลองของกรมชลประทานที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่ด้วยปัญหาการบริหารจัดการน้ำ ปัญหาคลองขนาดเล็กรองรับน้ำได้ไม่มาก ปัญหาการไม่เชื่อมต่อคลองสายหลักกับคลองขนาดเล็กๆในพื้นเกษตรกรรม จึงทำให้พื้นที่หนองจอกขาดแคลนน้ำ

    ที่ผ่านมาพื้นที่หนองจอกต้องการน้ำเพื่อเกษตรกรรมเกือบ 6 หมื่นไร่ แต่ไม่มีน้ำทำนา ถนนก็ทรุด ทางกรุงเทพมหานครเจรจากับเจ้าของบึงใหญ่ในพื้นที่หนองจอกมานานแล้วแต่ไม่สามารถตกลงกันได้

    บึงน้ำฟิชชิ่งปาร์ค
    แพริมบึงน้ำฟิชชิ่งปาร์ค

    พื้นที่หนองจอก เดิมทีมี ‘บึง’ ขนาดใหญ่แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เป็นบึงที่ใช้เพื่อแหล่งท่องเที่ยวชื่อ “เรือนแพ ฟิชชิ่งปาร์ค” โดยมีเอกชนเป็นเจ้าของพื้นที่ 450 ไร่ ความลึกของบึงประมาณ 25 เมตร ความจุน้ำโดยรวม 3.6 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ตรงนี้เดิมเจ้าของพื้นที่ขุดดินขาย จึงกลายเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ ปัจจุบันได้เปิดพื้นที่เป็นแพสำหรับร้านอาหาร และเป็นแหล่งตกปลา นอกจากบึงดังกล่าวนี้ เจ้าของที่ดินยังมีบึงอีก 2 แห่ง พื้นที่ 100 ไร่ และ 70 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกัน

    ด้วยกทม.มีปัญหาเรื่อง “น้ำ” ทำให้ กทม. ต้องการใช้งานพื้นที่บึงของเอกชนเพื่อใช้เป็นทั้งแก้มลิงที่รองรับปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง จึงเจรจาเพื่อขอเช่าพื้นที่ “บึง” ทั้ง 3 บึง ขณะนี้สามารถตกลงทำสัมปทานเป็นเวลา 30 ปี เพื่อบริหารจัดการ “น้ำในบึง” โดยเจ้าของพื้นที่ยังคงมีสิทธิในที่ดิน รวมถึงยังคงทำธุรกิจ/กิจกรรมทางน้ำได้ตามปกติ ส่วนกทม. จะเข้ามาบริหารจัดการน้ำตามข้อตกลงและเป็นผู้ดูแลทำให้เมืองดีขึ้น

    นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษา ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร

    นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษา ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลว่าในพื้นที่หนองจอกเป็นพื้นที่ทำนา จึงเล็งเห็นว่าถ้ามีน้ำเพียงพอและต่อเนื่องทั้งปี เกษตรกรสามารถปลูกข้าวได้ทั้งปี รัฐบาลจึงจัดสรรงบประมาณแก่กรุงเทพมหานครมาขุดลอกคลอง เพื่อเชื่อมต่อน้ำจากบึง ให้น้ำจากบึงไปสู่เกษตรกรรม เหมือนกับการทำชลประทาน เราทำตามแนวคิดของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่ว่าจะเป็นโคกหนองนา หรือแก้มลิง มีความหมายเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเอามาใช้ในบริบทเมืองแบบไหน พื้นที่แบบไหน บึงอันนี้เป็นแก้มลิงด้วย ซึ่งพอเป็นแก้มลิงเรามักจะมองเรื่องน้ำท่วมเป็นหลัก

    “บึงอันนี้เรา เรามองเรื่องน้ำท่วมด้วย แต่ก็สามารถช่วยการทำนาด้วย ตามทฤษฎีของในหลวงรัชกาลที่9 พระองค์ท่านบอกว่าการทำ “โคกหนองนาโมเดล” สิ่งที่จะได้คือป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง และในพื้นที่หนอกจอกเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมมาก ตามบริบทของเมืองที่มีอ่างน้ำขนาดใหญ่ ได้นำเรียนผู้ว่ากรุงเทพมหานครว่า กทม.ต้องพัฒนาต่อ จึงได้เสนอของบประมาณจากภาครัฐ ได้งบมาขุดลอกคลองที่มีทั้งหมดเพื่อเชื่อมเข้าหากัน ซึ่งคลองในหนอกจอกมี 104 คลอง มีคลองสายหลัก 10 คลอง เป็นเสมือนกระเพาะ และมีคลองเล็กๆหรือที่เรียกว่า “คลองไส้ไก่” 94 คลองที่วนมาเชื่อม เพื่อเอาน้ำลงไปในพื้นที่เกษตรกรรม”

    ตามภาพในแผนที่ น้ำจะไหลเข้าจากคลอง 11 จากคลองชลประทาน เรามาทำสถานีสูบน้ำมาพักน้ำในบึง และทำสถานีสูบน้ำออกจากบึงไปสู่คลองต่างๆ จะเป็นทิศทางการไหลของน้ำ ด้วยบึงนี้อยู่ทางตอนเหนือ จะสูงกว่าพื้นที่เกษตรกรรม น้ำจะวนไปตามทิศทางลูกศร (ลูกศรที่สวนมาคือสูบเข้าบึง)คลองแสนแสนอยู่ตอนล่าง

    แก้มลิงบึงฟิชชิ่งปาร์ค
    การไหลของน้ำและการเชื่อมต่อกับคลองต่างๆ

    ดังนั้นการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็มองว่าหนองจอกเป็นแหล่งเกษตรกรรม เป็นครัวของโลก จำเป็นต้องมีแหล่งน้ำทำเกษตรกรรม และที่หนองจอกมีศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจทฤษฎีใหม่ ทาง กทม. มีแนวคิดจะใช้พื้นที่บึงของเรือนแพฟิชชิ่งปาร์คให้เป็น “โคกหนองนาโมเดล” ตามศาสตร์ในหลวงรัชกาลที่ 9

    “กรุงเทพไม่มีบึงใหญ่ขนาดนี้ เทียบเท่ากับบึงหนองบอน(สวนหลวงร.9) ซึ่งเป็นของกทม. เอาไว้แก้ปัญหาน้ำท่วม แต่บึงนี้คือโคกหนองนาจริงๆของเมือง เป็นพื้นที่ในเมือง พื้นที่หนอกจอก”

    โคกหนองนาโมเดล

    โคกหนองนาโมเดลตามแนวคิดในพระราชดำริรัชกาลที่9 จะมี 3 องค์ประกอบ ได้แก่ (1) โคก-พื้นที่สูง เช่น ที่อยู่อาศัย พื้นที่เลี้ยงสัตว์ หรือดินสำหรับขุดทำหนองน้ำ (2) หนองน้ำหรือแหล่งน้ำ โดยสิ่งที่รองรับน้ำคือ “คลองไส้ไก่” หรือคลองระบายน้ำรอบพื้นที่ และ (3) พื้นที่นา-ที่การเกษตร

    โคกหนองนาโมเดลเป็นหนึ่งในแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ เพราะมีการจัดแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนชัดเจน มีการคำนวณปริมาณน้ำกักเก็บให้เพียงพอต่อการเพาะปลูก และมีการวางแผนให้การเกษตรในที่ดินขนาดเล็กได้ใช้ประโยชน์สูงสุด

    ขณะที่บริบทของพื้นที่หนองจอกมีคลองทั้งหมด 104 สาย แบ่งเป็นคลองสายเล็ก 94 สาย (คลองไส้ไก่) และคลองสายหลัก 10 สาย (กระเพาะ) โดยคลองสายหลักถือเป็นหัวใจของเขตหนองจอก ทั้งในด้านการเกษตรและการคมนาคม โดยคลองสายหลักมีดังนี้

      1) คลองแสนแสบ รับผิดชอบ โดยสำนักระบายน้ำ
      2) คลองเก้า รับผิดชอบ โดยสำนักงานเขตคลองสามวา
      3) คลองสิบ รับผิดชอบ โดยกรมชลประทาน
      4) คลองสิบเอ็ด รับผิดชอบ โดยกรมชลประทาน
      5) คลองสิบสอง รับผิดชอบ โดยกรมชลประทาน
      6) คลองสิบสาม รับผิดชอบโดยกรมชลประทาน
      7) คลองสิบสี่ รับผิดชอบโดยกรมชลประทาน
      8) คลองลำปลาทิว รับผิดชอบโดยสำนักงานเขตหนองจอก
      9) คลองหลวงแพ่ง รับผิดชอบโดยกรมชลประทาน
      10) คลองนครเนื่องเขต รับผิดชอบโดยสำนักงานเขตหนองจอก
    นาข้าว เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร
    นาข้าวพื้นที่เขตหนองจอก

    ปริมาณน้ำจุ 6 สนามราชมังคลา

    “เรากำลังพูดว่าบึงแห่งนี้เป็นโคกหนองนาของเมืองที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ ไม่มีบึงใหญ่ขนาดนี้แล้ว ความจุ 3.6 ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าเปรียบเทียบกับสนามราชมังคลาฯเป็นเหมือนอ่าง เทน้ำให้เข้าไปเต็มอ่าง 1 สนามเท่ากับ 6 แสนลูกบาศก์เมตร ดังนั้นบึงนี้จะเท่ากับสนามราชมังคลาฯ 6 สนาม”

    นายอรรถเศรษฐ์กล่าวว่าหากเป็นไปตามแผน ที่กทม. วางแผนไว้ที่จะจุน้ำได้ 3.6 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่ากับว่าในหนึ่งปีเกษตรกรจะสามารถทำนาได้ 2 รอบต่อปี รวมถึงมีน้ำเพียงพอสำหรับทำการเกษตรอื่นๆ

    แต่หนองจอกไม่ได้เผชิญแค่ปัญหาน้ำแล้งเท่านั้น เพราะเกษตรกรบางพื้นที่ต้องเจอกับปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณคลองสิบสี่ เพราะเป็นพื้นที่ที่รับน้ำจากกรมชลประทานที่ระบายน้ำออก

    นอกจากนี้หนองจอกยังมีศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ฯ ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2559 มีพื้นที่มากกว่า 2 ไร่ จัดตั้งเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และดำเนินกิจกรรมให้เด็กนักเรียนได้มาเข้าค่ายศึกษาการเกษตร

    เมื่อ กทม. นำ “โคกหนองนาโมเดล” มาใช้กับบริบทพื้นที่ในเมืองอย่างเขตหนองจอก ซึ่งมีทั้งปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วม ผ่านความร่วมมือกับการทำสัมปทาน 30 ปีกับเอกชน “เรือนแพ ฟิชชิ่งปาร์ค” อาจเป็นทางออกหนึ่งในการบรรเทาและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในเขตหนองจอกที่ปัจจุบันยังคงเป็นพื้นที่สีเขียวอยู่

    นี่เป็นอีกบริบทเมืองกรุงเทพ