ThaiPublica > คอลัมน์ > โดนครูด่าหยาบคาย ใส่ร้าย ลวนลาม คุกคาม ดูถูก เอาผิดอย่างไร? รวมข้อกฎหมายป้องกันครูละเมิดสิทธินักเรียน

โดนครูด่าหยาบคาย ใส่ร้าย ลวนลาม คุกคาม ดูถูก เอาผิดอย่างไร? รวมข้อกฎหมายป้องกันครูละเมิดสิทธินักเรียน

27 สิงหาคม 2020


เรียบเรียงโดย เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

ไม่คิดว่าจะได้เห็นก็ได้เห็น…หลายเดือนมานี้ ทั้งทวิตเตอร์ สื่อออนไลน์ หน้าหนังสือพิมพ์ จวบจนคลื่นวิทยุ ข่าวนักเรียนลุกขึ้นปกป้องสิทธิเนื้อตัวร่างกายตัวเอง ปรากฏให้เห็นเป็น new normal ทางวัฒนธรรมของสังคมไทย เป็นการเปลี่ยนแปลงชนิดที่ไม่มีวันหวนกลับไปเหมือนเดิม

ย้อนไปไม่นาน ราว พ.ศ. 2558–2560 ไทยกลายเป็นประเทศที่ใช้ Facebook สูงสุดในโลก ท่ามกลางกระแสต่อต้านบังคับเกณฑ์ทหาร ล้มล้างโซตัส หากจำได้ เกิดกรณีนักเรียนโรงเรียนเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ประท้วง ผอ. โกงค่า SMS จนถูกครูตบ ไม่กี่ปีต่อมา “กล้าตบหนูหรอคะ” กลายเป็นประโยคปกป้องนักเรียนที่ลุกขึ้นแสดงสิทธิเสรีภาพจาก รอง ผอ. ผู้หนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ผมมักคุยกับเพื่อนว่า ประเทศไทยเคยมีการเมืองประชาธิปไตย เศรษฐกิจประชาธิปไตย แต่ไม่เคยมีวัฒนธรรมประชาธิปไตย ซึ่งคงเป็นเหตุให้เราเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบเสมอมา

นักเรียนไทยอยู่ภายใต้วัฒนธรรมการลงโทษ เรารู้ว่า หากมาสายหรือทำผิดจะโดนอะไร แต่ไม่อยู่ในวัฒนธรรมการปกป้องสิทธิ ไม่ถูกสนับสนุนให้รู้ว่า หากมีคนทำผิดกับเรา เราจะทำอย่างไรได้บ้าง ยิ่งถ้าคนผู้นั้น มีอำนาจหรือได้รับการเคารพนับถือ เช่น ครู พระ หมอ พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ฯลฯ นักเรียนจำนวนมากถูก bully โดยเพื่อน และนักเรียนแทบทุกคนถูก bully โดยครู

เพื่อทำลายวัฒนธรรมเผด็จการอำนาจนิยมในโรงเรียนให้หมดไป หนึ่งในสิ่งที่ผมอยากให้เกิดขึ้น คือ ศูนย์ข้อมูลกฎหมายสิทธิวัยรุ่น ซึ่งมีหน้าที่ติดตามความรุนแรงที่นักเรียนถูกครูหรือผู้บริหารกระทำ, รื้อคดีละเมิดสิทธินักเรียนทั้งหมดมาทบทวนใหม่ ให้สามารถเอาผิดผู้กระทำได้, แก้ไขโครงสร้างความรุนแรงที่กดขี่นักเรียน การทำโทษละเมิดสิทธิ หรือกิจกรรมบังคับเข้าร่วม, สร้างวัฒนธรรมการปกป้องสิทธิ, ส่งเสริมสิทธิในการปฏิเสธ สิทธิในการตรวจสอบ, สนับสนุนกิจกรรมที่สมัครใจ ไม่ละเมิด และส่งเสริมวัฒนธรรมประชาธิปไตย, มีระบบเยียวยานักเรียนที่ถูกกระทำ กระบวนการคุ้มครองพยาน กลไกเอาผิดผู้กระทำที่ชัดเจน, มีการเก็บข้อมูลเป็นระบบ ประสานงานหน่วยงานด้านกฎหมาย ด้านสังคม และผลักดันนโยบาย กฎหมาย กลไกรัฐให้คุ้มครองสิทธิวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษาอย่างทั่วถึง

บทความนี้ ผมและนิวกราวได้รวบรวมเหตุละเมิดสิทธิยอดฮิตที่นักเรียนไทยมักต้องเจอ พร้อมข้อมูลกฎหมาย ตั้งแต่การปกป้องสิทธิตนเองจากครูที่ลงโทษนอกระเบียบ ครูลวนลาม บังคับให้บีบนวด ถือของ โดดสอน มาสาย ใส่ร้าย ดูถูก จนถึงกระบวนการแจ้งความดำเนินคดี มีด้วยกันทั้งสิ้น 14 ข้อ

1. ถาม: โดนครูด่าหยาบคาย (เช่น ไอ้โง่ อีควาย ไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์ ตอแหล อีดอก ฯลฯ) เอาผิดครูอย่างไรดี?

ตอบ:

1. โทษฐานกระทำผิดต่อ พระราชบัญญัติระเบียบราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551) ในมาตรา 88 ระบุว่า คนเป็นครูจะต้องมีความสุภาพเรียบร้อย แต่หากกระทำการกลั่นแกล้ง ดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือข่มเหงลูกศิษย์ (หรือบุคคลทั่วไป) ถือว่า มีความผิดวินัย “ขั้นร้ายแรง” ซึ่งจะต้องได้รับโทษทางวินัยขั้นร้ายแรง คือการถูกปลดออก (ให้ออกจากครูแต่อาจโยกไปทำงานอย่างอื่น) หรือไล่ออกไปเลย ตามแต่การตัดสินของคณะกรรมการสอบสวนจะพิจารณา

2. โทษฐานกระทำผิดต่อกฎหมายอาญาข้อหา “ดูหมิ่นซึ่งหน้า” ซึ่งระบุโทษจำคุก 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(มาตรา 393 ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ [อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2558])

หากครูเข้าไปด่าใน social media ด้วยถ้อยคำหยาบคาย นั่นก็ผิดกฎหมายมาตรานี้ เพราะถือได้ว่าเป็นการ “ดูหมิ่นด้วยการโฆษณา”

3. โทษฐานกระทำผิดต่อ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 (เด็กคือบุคคลที่อายุไม่ถึง 18 ปี) โดยผิดต่อมาตรา 26 นั่นคือ การกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จะดำเนินการอย่างไร?

นักเรียนนักศึกษาจะไปแจ้งความตำรวจเองหรือจะไปพร้อมพ่อแม่ผู้ปกครองก็ได้ โดยไปที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ (เช่น ถูกครูด่าหยาบคายในโรงเรียนที่อยู่เขตใดก็ให้ไปแจ้งความยังโรงพักในเขตนั้น)

2. ถาม: ครูโดดสอน มาสอนไม่ตรงเวลา มาสาย หรือเบี้ยวสอน พฤติกรรมเช่นนี้มีความผิดตามกฎหมายหรือไม่?

ตอบ: การสอนเป็นหน้าที่ของคนเป็นครู ยกเว้นการลาที่จำเป็น เช่น ลาป่วย ลาคลอด การเบี้ยวงานถือเป็นการกระทำผิดต่อวินัย โดยผิดตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ว่าด้วยเรื่องของวินัยและการรักษาวินัย

มาตรา 87 ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องตรงต่อเวลา อุทิศเวลาของตนให้แก่ ทางราชการและผู้เรียน จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรมิได้

การละทิ้งหน้าที่หรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือการละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือโดยมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยบทลงโทษของการผิดวินัยขั้นร้ายแรงคือ การปลดออก หรือไล่ออก

3. ถาม: ครูยึดโทรศัพท์มือถือของนักเรียน ทวงแล้วก็ไม่ยอมคืน จะเอาผิดครูตามกฎหมายได้หรือไม่?

ตอบ: ได้ ครูคนนั้นทำผิดกฎหมายอาญาโทษฐาน “ยักยอกทรัพย์” ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาถึงเจตนาทุจริต (เช่น ทวงถามแล้ว ขอคืนแล้วก็ทำเฉย หรือ อ้างโน่นนี่ว่าทำหายบ้าง มีคนขอยืมต่อบ้าง ฯลฯ) แต่หากเพียงยึดไว้ชั่วคราวอย่างสุจริตมีเหตุผลพึงฟังได้ เช่น เก็บไว้ชั่วคราวเพราะเป็นเวลาเรียน เวลาสอบ และจะเอาคืนได้ในวันนั้น เช่น หลังสอบเสร็จ หลังเลิกเรียน ฯลฯ ดังนี้ไม่ถือว่าเจตนายักยอกทรัพย์

4. ถาม: ครูใช้ให้มาช่วยบีบนวด ครูมีความผิดหรือไม่?

ตอบ: ผิดระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 (ซึ่งครอบคลุมทั้งครู อาจารย์ ทั้งภาครัฐและเอกชน) ในหมวด 6 ที่ว่าด้วยวินัยและการรักษาวินัย มาตรา 84 ระบุว่า อาศัยอำนาจและหน้าที่ราชการของตน ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมเพื่อหาประโยชน์ให้แก่ตนเอง ถือเป็นความผิดวินัยร้ายแรงอันมีโทษปลดออกหรือไล่ออก

นอกจากบีบนวดแล้ว ยังรวมถึงการใช้ให้มาตัดเล็บ ถอนผมหงอก ให้ไปทำงานบ้านของตนหรือของญาติตน ให้มาอาบน้ำหมา ฯลฯ ด้วย

5. ถาม: ครูด่าหรือพูดจาให้ร้ายใส่ความอันอาจทำให้เราเสียชื่อ ทำให้ผู้อื่นดูถูก เหยียดหยาม เกลียดชัง เข้าใจเราผิด (เช่น “อย่านึกว่าตัวเองเก่งนักเลย ที่ได้เข้ามาเรียนที่นี่เพราะเส้นใหญ่ เพราะยัดเงิน ครูรู้นะ” “เป็นแค่นักศึกษาแต่แต่งตัวอวดรวยซะขนาดนี้ ไปขายตัวมาใช่ไหม” เอาผิดครูอย่างไรดี?

ตอบ:

1. โทษฐานกระทำผิดต่อกฎหมายอาญา มาตรา 326 ข้อหา “หมิ่นประมาท” มีโทษติดคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับเงินไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเงิน

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือ ถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

2. ถ้าครูไปโพสต์ว่าร้ายใส่ความเราในเฟซบุ๊ก ยิ่งโดนโทษหนัก ถึงขั้นอาจติดคุกสองปี และโดนปรับอีก 2 แสนบาท

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 “ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียงบันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท”

3. ถ้าอยากจะเรียกร้องค่าเสียหายก็สามารถทำได้เลย โดยฟ้องตามคดีแพ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423

“ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้ ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่”

4. นอกจากนั้นยังฟ้องโทษฐานกระทำผิดวินัยขั้นร้ายแรงต่อ พระราชบัญญัติระเบียบราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และการกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 โทษฐานกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก

จะดำเนินการอย่างไร?

นักเรียนนักศึกษาจะไปแจ้งความตำรวจเองหรือจะไปพร้อมพ่อแม่ผู้ปกครองก็ได้ โดยไปที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ (เช่น ถูกครูด่าหยาบๆ คายๆ ในโรงเรียนที่อยู่เขตใด ก็ให้ไปแจ้งความยังโรงพักในเขตนั้นๆ) ส่วนการฟ้องคดีแพ่งนั้นสามารถแต่งตั้งทนายความเพื่อดำเนินการยังศาลแพ่ง หรือติดต่อสภาทนายความซึ่งจะดำเนินการและว่าความให้ฟรีเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม (สภาทนายความฯ สายด่วน 1167)

6. ถาม: ครูลงโทษสั่งสอนนักเรียนด้วยการเฆี่ยนตี ครูทำผิดหรือไม่? ถ้าครูทำผิดต้องจัดการอย่างไร?

ตอบ: ผิดเต็มๆ เพราะผิดระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ. 2550

โดยกฎหมายนี้บังคับใช้กับทุกโรงเรียน ทั้งรัฐบาลและเอกชน ซึ่งกำหนดให้การลงโทษเด็กทำได้แค่ 5 สถาน เท่านั้น

    1. ว่ากล่าวตักเตือน
    2. ทำทัณฑ์บน
    3. ตัดคะแนนความประพฤติ
    4. จัดกิจกรรมที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
    5. พักการเรียน

(หมายเหตุ การลงโทษนักเรียนตามระเบียบกระทรวงดังกล่าว ครูที่มีสิทธิลงโทษจะต้องได้รับมอบหมายจากผู้บริหาร หรือ ผู้อำนวยการโรงเรียนแล้วเท่านั้น ดังนั้นหากไม่ได้รับมอบหมายมาแม้จะเป็นการลงโทษตามระเบียบก็ไม่มีสิทธิ)

ดังนั้นหากครูลงโทษนักเรียนเกินเลยไปกว่านี้ (เช่น ตี เฆี่ยน หวด หรือกระทำการรุนแรงอื่นๆ) ถือว่า ไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าว มีความผิดทั้งทางวินัยข้าราชการ ผิดจรรยาบรรณในวิชาชีพครู และยังเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญาในข้อหาทำร้ายร่างกายและจิตใจผู้อื่น

ตัวนักเรียนเอง หรือผู้ปกครองของนักเรียน มีอำนาจแจ้งความดำเนินคดีฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น เป็นคดีอาญาได้ ส่วนบทลงโทษจะหนักเบาเพียงใด ขึ้นกับพฤติกรรมการทำร้ายว่าทารุณมากน้อยเพียงใด โดยให้พิจารณาจาก บาดแผล ผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของผู้เสียหาย นอกจากนี้ผู้ปกครองของผู้เรียนในฐานะผู้เสียหายยังมีสิทธิ์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากครูและโรงเรียนที่เป็นนายจ้างของครูได้อีกด้วย

1. ฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา

“มาตรา 391 ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิด อันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ถ้าผู้เรียนอายุยังไม่ถึง 15 ปี ก็สามารถฟ้องตามมาตรา 398 ได้
“มาตรา 398 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทารุณ ต่อเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี คนป่วยเจ็บหรือคนชรา ซึ่งต้องพึ่งผู้นั้นในการดำรงชีพหรือการอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

หากเห็นว่า เราเองเป็นเด็กนักเรียน โดนครูลงโทษโดยใช้อำนาจบาตรใหญ่ แต่บทลงโทษผู้ทำผิดตามกฎหมายข้างต้นช่างน้อยนิด ก็สามารถฟ้องตาม พระราชบัญญัติ คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 “กระทำการอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก” ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากว่า ครูลงโทษหนักเกินไป (มีบาดแผล บวมช้ำ หรือเจ็บมากจนต้องไปพบแพทย์ หรือน่าจะเข้าข่ายทารุณกรรม ก็สามารถฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 ซึ่งมีโทษจำคุกและปรับหนักขึ้น

มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย หรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ยิ่งหากก่อให้เกิดการอันตรายขั้นสาหัสก็สามารถแจ้งความตามมาตรา 297
มาตรา 297 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือน ถึงสิบปี

อันตรายสาหัสนั้น คือ

    (1) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท
    (2) เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์
    (3) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด
    (4) หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว
    (5) แท้งลูก
    (6) จิตพิการอย่างติดตัว
    (7) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต
    (8) ทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า ยี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน

นอกจากนั้น ยังสามารถเรียกร้องให้ชดเชย “ค่าทำขวัญ” ได้อีก โดยฟ้องในคดีแพ่ง

ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 อันว่าด้วยการเรียกร้องค่าเสียหายต่อร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ซึ่งให้เรากำหนดจำนวนเงินไป แต่ต้องมีการแจกแจงอย่างมีเหตุผลรองรับ เช่น การบาดเจ็บครั้งนี้เป็นอุปสรรคแก่การหารายได้อย่างไร ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตอย่างไร กี่วัน ฯลฯ

จะดำเนินการอย่างไร?

นอกจากจะเข้าแจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุแล้ว ยังสามารถโทรไปปรึกษาศูนย์ประชาบดีที่สายด่วน 1300 หรือกระทรวงศึกษาธิการ สายด่วนร้องทุกข์ 1579

7. ถาม: ครูลวนลามนักเรียน โดยเรียกให้ไปพบในห้องพักครูแล้ว ลูบหัว ลูบหลัง ยังลามไปจับหน้าอก และจับอวัยวะเพศด้วย ครูมีความผิดข้อหาอะไรบ้าง?

ตอบ: ครูที่ทำผิดขั้น “ลวนลาม” นอกจากผิดวินัยครูอย่างร้ายแรงตามมาตรา 94 ที่ระบุว่า การกระทำล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เรียนไม่ว่าจะอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของตนหรือไม่ ถือเป็นความผิดวินัยขั้นร้ายแรงอันมีโทษปลดออกหรือไล่ออก

ยังต้องโทษอาญาอันอาจติดคุกเฉียด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 ผู้ใดกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และหากว่า นอกจากกระทำลวนลามยังมีการข่มขู่ ขู่เข็ญ เช่น ขู่ว่าถ้าไม่ยอมจะโดนทำร้าย หรือถ้าเอาเรื่องไปฟ้องใคร จะโดนฆ่า ฯลฯ หรือหากมีการทำร้ายร่างกาย เช่น ทุบ ต่อย ตบ เตะ ฯลฯ นั่นยิ่งทำให้มีโอกาสติดคุกยาวนานขึ้น

ดังระบุไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 (วรรคสอง) “ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก ผู้กระทำได้กระทำโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยเด็กนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้เด็กนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบห้าปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

สำหรับนักเรียนนักศึกษาที่มีอายุเกิน 15 ปี หากถูกกระทำลวนลามอนาจาร กฎหมายอาญาได้ระบุดังนี้

“มาตรา 278 ผู้ใดกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดย ขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดว่า ตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกิน สองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

แต่ที่สำคัญคือ หากการกระทำอนาจารดังกล่าว ถึงกับทำให้เหยื่อ (ผู้ถูกกระทำ) ต้องบาดเจ็บสาหัส หรือกระทั่งถึงแก่ความตาย ผู้กระทำมีสิทธิติดคุกถึง 20 ปี หรือถูกประหารชีวิต

มาตรา 280 ถ้าการกระทำความผิดตาม มาตรา 278 หรือ มาตรา 279 เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำ
(1) รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปี ถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
(2) ถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต

นอกจากนั้นผู้ถูกกระทำยังสามารถเรียกให้ชดเชยค่าเสียหายจากผู้กระทำได้อีกด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้

8. ถาม: ครูสั่งให้นักเรียนตัดผมเกรียน หรือ ติ่งหู ครูทำผิดกฎระเบียบหรือไม่?

ตอบ: ครูทำตามกฎกระทรวงฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2515) โดยอ้างอิงประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 132 ที่ตราว่า “ให้นักเรียนชายไว้ผมยาวทั้งข้างหน้าและด้านกลางศีรษะยาวไม่เกิน 5 เซนติเมตร และรอบศีรษะตัดเกรียนชิดผิวหนัง” ซึ่งกฎระเบียบนี้ได้ยกเลิกไปนานแล้ว

1. ปัจจุบัน ครูจะต้องทำตามกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติ การแต่งกาย และแบบทรงผมของนักเรียนนักศึกษา พ.ศ. 2556 ที่ระบุให้ “นักเรียนชายให้ไว้ผมด้านข้างและด้านหลังยาวไม่เลยตีนผมหรือผมรองทรงก็ได้” ซึ่งนั่นหมายถึง ไม่ต้องตัดทรงหัวเกรียน ให้ไว้ผมยาวได้ แต่ไม่ยาวเลยตีนผม หรือไว้ “รองทรง” ได้นั่นเอง “ส่วนนักเรียนหญิงให้ไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ “กรณีไว้ยาวก็ให้รวบให้เรียบร้อย”

2. หากนักเรียนถูกครูสั่งให้ไปตัดผมเกรียน หรือติ่งหู นักเรียนหรือผู้ปกครองสามารถแจ้งความครูผู้นั้นและฟ้องเรียกค่าชดเชยได้ โดยฟ้องฐานละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่อนามัยก็ดีหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน” เหตุเพราะนักเรียนต้องตัดผมเกรียน หรือ ติ่งหู เพราะครูสั่งหรือบังคับทั้งที่อาจเลินเล่อเพราะไม่รู้กฎกระทรวงฉบับล่าสุด หรือทั้งๆ ที่รู้แต่ต้องการให้ได้อย่างใจตนเอง หรือจงใจลงโทษ แต่ถือว่ากระทำผิดที่เป็นเหตุให้ผู้ปกครองนักเรียนฟ้องเป็นคดีแพ่งได้”

3. หากครูกล้อนผม ยังถือว่าผิดระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ. 2550

โดยกฎหมายนี้บังคับใช้กับทุกโรงเรียน ทั้งรัฐบาลและเอกชน ซึ่งกำหนดให้การลงโทษเด็กทำได้แค่ 5 สถาน เท่านั้น

    1. ว่ากล่าวตักเตือน
    2. ทำทัณฑ์บน
    3. ตัดคะแนนความประพฤติ
    4. จัดกิจกรรมที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
    5. พักการเรียน

9. ถาม: ครูลงโทษนักเรียนโดยกล้อนผมนักเรียนจนแหว่งวิ่น แถมมีรอยถลอก แล้วยังถ่ายคลิปลงเฟซบุ๊กส์ ครูคนนี้ควรรับโทษตามกฎหมายใด?

ตอบ: ครูที่กระทำการดังกล่าว มีโอกาสได้รับโทษหลายกระทง นั่นคือ

1. ทำให้นักเรียนผู้ถูกกระทำอับอายขายหน้า เสื่อมเสียชื่อเสียง และยังเป็นการทำร้ายจิตใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากได้เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ซึ่งแพร่กระจายในวงกว้าง (ทั่วประเทศ ทั่วโลก) มีความผิดตามพระราชบัญญัติ คุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖

มาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือ เพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ โดยผู้กระทำผิดมาตราข้างต้น มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. หากนักเรียนอายุมากกว่า 15 ปี สามารถแจ้งความครูที่ทำให้อับอายได้ โดยอาศัย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2560 มาตรา 16 ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

3. แม้ครูจะไม่ได้โพสต์ลงเพจ ไม่ได้เผยแพร่สู่สื่อใดๆ แต่ต้องพึงสำนึกไว้เสมอว่า ทางโรงเรียน (ไม่ใช่ครูคนใดคนหนึ่งด้วยซ้ำ) มีสิทธิลงโทษนักเรียนตามที่ระบุไว้ในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2550 ได้ 5 อย่างเท่านั้น

    1. ว่ากล่าวตักเตือน
    2. ทำทัณฑ์บน
    3. ตัดคะแนนความประพฤติ
    4. จัดกิจกรรมที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
    5. พักการเรียน

ไม่มีข้อใดเลยที่ระบุว่ามีสิทธิกร้อนผมนักเรียน หากครูคนนั้นมีพฤติกรรมส่อว่า ทำไปด้วยความอาฆาต พยาบาท เคียดแค้น หรือสะใจ (เช่น พูด หรือโพสต์ ในเฟซบุ๊กว่า อยากลองของนักใช่มั้ย..สะใจเหลือเกิน..ให้รู้ซะมั่งเอ็งเล่นกับใครอยู่ ฯลฯ…) อาจเข้าข่ายความผิดวินัยขั้นร้ายแรง สามารถโดนไล่ออกได้

(หมายเหตุ การลงโทษนักเรียนตามระเบียบกระทรวงดังกล่าว ครูที่มีสิทธิลงโทษจะต้องได้รับมอบหมายจากผู้บริหาร หรือผู้อำนวยการโรงเรียนแล้วเท่านั้น ดังนั้นหากไม่ได้รับมอบหมายมาแม้จะเป็นการลงโทษตามระเบียบก็ไม่มีสิทธิ)

3. ครูที่ทำพฤติกรรมเยี่ยงนี้ยังมีโอกาสรับโทษฐานกระทำผิดต่อ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 (เด็กคือบุคคลที่อายุไม่ถึง 18 ปี) โดยผิดต่อมาตรา 26 นั่นคือการกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำคุกทั้งปรับ

10. ถาม: นักเรียนลืมเอาสมุดการบ้านมาส่งครู ครูข่มขู่เด็กว่า ถ้าลืมเอามาอีกจะโดนจับหัวโขกโต๊ะ 10 ที ครูทำผิดกฎหมายหรือไม่?

ตอบ: ครูผิดกฎหมายฐานขู่เข็ญให้ผู้อื่นเกิดความกลัว ความตกใจ การข่มขู่เช่นนี้ทำให้นักเรียนตกเป็นเหยื่อแห่งการขู่เข็ญข่มขู่ เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิต เกิดความกังวลกลัวกระทบกระเทือนต่อจิตใจและการดำเนินชีวิตตามปกติ

ครูคนนี้จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 392 ผู้ใดทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 1 พัน หรือทั้งจำทั้งปรับ

นักเรียนและผู้ปกครองมีสิทธิเข้าแจ้งความต่อสถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ (เช่น ขู่เช่นนี้ที่โรงเรียนก็ให้ไปแจ้งความสถานีตำรวจในเขตของโรงเรียน) ทางตำรวจจะดำเนินการตามกฎหมาย ด้วยการเชิญครูคนนี้มาให้ปากคำเพื่อสอบสวนและดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป

11. ถาม: ได้เวลาเลิกเรียนแล้ว ครูเห็นว่านักเรียนยังคุยกันในห้อง ครูจึงสั่งให้ทุกคนเงียบ แต่ไม่เงียบสนิทเพราะมีบางคนคุยกันอยู่ ครูจึงลงโทษด้วยการยังไม่ยอมให้นักเรียนทุกคนกลับบ้าน โดยขังทุกคนให้อยู่แต่ในห้องนั้น ครูคนนี้ทำผิดกฎหมายหรือไม่?

ตอบ:

1. ครูมีสิทธิลงโทษนักเรียน (หมายถึงครูที่ฝ่ายบริหารโรงเรียนมอบสิทธิให้เท่านั้น) ด้วย 4 วิธีตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2550 คือ ว่ากล่าวตักเตือน / ทำทัณฑ์บน / ตัดคะแนนความประพฤติ / กิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม / พักการเรียน จึงไม่มีข้อใดเลยที่ระบุว่า ครูมีสิทธิหน่วงเหนี่ยวกักขังนักเรียน ยิ่งมีเจตนาส่อว่า ทำไปด้วยความอาฆาต พยาบาท โกรธแค้น หรือสะใจ ครูคนนี้มีโอกาสโดนปลดออกหรือไล่ออกโทษฐานผิดวินัยอย่างร้ายแรง

2. ครูมีความผิดข้อหาหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 310 “ผู้ใดหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

เมื่อว่ากันถึงมาตราดังกล่าวนี้ ทำให้นึกไปถึงครูบางคนที่ชอบเหลือเกินที่มักจะลงโทษด้วยการบังคับนักเรียนยืนนิ่งๆ คาบไม้บรรทัด เอาแปรงลบกระดานวางไว้บนหัว แถมให้ยืนกระต่ายขาเดียวเป็นเวลานานๆ ก็ต้องพึงระวังไว้ด้วยว่า อาจโดนเด็กฟ้องอาญาข้อหาเจตนาหน่วงเหนี่ยวกักขังได้ โดยมีโทษจำคุกถึงสามปี

12. ถาม: เด็กมีสิทธิเข้าแจ้งความร้องทุกข์ด้วยตนเองหรือไม่?

ตอบ: เด็ก (บุคคลที่มีอายุไม่ถึง 18 ปี) มีสิทธิเข้าแจ้งความร้องทุกข์ได้ (รวมทั้งร้องเรียนแก่หน่วยงานหรือสายด่วนต่างๆ ได้) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 128/1 และตามกฎหมาย พ่อแม่ก็ไม่มีสิทธิมาขอให้เจ้าหน้าที่ถอนคำร้องทุกข์ของเด็กด้วย

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1982/2494 ผู้เยาว์อายุ 18 ปี ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน โดยไม่ต้องให้ผู้แทนโดยชอบธรรมลงลายมือชื่อในการร้องทุกข์ด้วยก็ใช้ได้ และหากผู้เยาว์ร้องทุกข์ไว้แล้วผู้แทนโดยชอบธรรมจะถอนคำร้องทุกข์ให้ขัดกับความประสงค์ของผู้เยาว์ไม่ได้)

แต่หากถึงขั้นฟ้องร้องคดีแล้วจะต้องกระทำโดยผู้แทนโดยชอบธรรม

13. ถาม: การร้องเรียนร้องทุกข์ทางสายด่วนต่างๆ ต้องบอก ชื่อจริงนามสกุลจริงเท่านั้น?

ตอบ: โดยทั่วไปผู้ร้องเรียนจะถูกขอให้แจ้งชื่อและนามสกุลจริงเพื่อยืนยันตัวตนและแสดงความบริสุทธิ์ใจ ทั้งยังเป็นการป้องกันคนที่มักจะโทรเบอร์สายด่วนเพื่อก่อกวน หรือจงใจให้ข้อมูลเท็จเพื่อกลั่นแกล้งใส่ร้ายผู้อื่น

แต่หากผู้แจ้งไม่พึงประสงค์จะบอกชื่อนามสกุล ด้วยเกรงว่า จะเกิดอันตรายต่อตนเอง ก็สามารถทำได้โดยบอกเหตุผลแก่ผู้รับแจ้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้รับแจ้งจะประเมินจากข้อมูลเรื่องราวที่ผู้แจ้งร้องเรียนมา และหากทางหน่วยรับแจ้งนั้นมีการลงพื้นที่เพื่อดำเนินการก็อาจติดต่อกับทางผู้แจ้งทางเบอร์โทรศัพท์ที่ปรากฏขณะที่ผู้แจ้งโทรมาร้องเรียน

14. ถาม: เตรียมตัวอย่างไรเมื่อต้องไปติดต่อหน่วยงานต่างๆ ที่รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์?
ตอบ:

1) กรณีแจ้งความที่สถานีตำรวจ จะต้องเดินทางไปด้วยตนเอง นักเรียนนักศึกษาที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะก็สามารถเข้าแจ้งความได้ แต่หากจะฟ้องคดีจำเป็นต้องมีผู้ปกครอง (พ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ที่พ่อแม่เซ็นยินยอม) โดยไปแจ้งความยังสถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ ก่อนจะเข้าแจ้งความต้องเตรียมตัวและเตรียมเอกสารดังนี้

1.1) เตรียมเรียบเรียงเรื่องราวที่จะร้องเรียนร้องทุกข์ไว้ ให้ตำรวจผู้รับแจ้งฟังรู้เรื่อง และต้องมีความชัดเจนว่า จำเลยหรือผู้กระทำ ได้กระทำให้เราเสียหายอย่างไร มากน้อยเพียงใด ฯลฯ

1.2) เตรียมเอกสารดังนี้

    1.2.1) บัตรประจำตัวประชาชน หรือ ใบแทนฯ หรือบัตรนักเรียน
    1.2.2) บัตรประจำตัวประชาชน (หรือ ใบแทนฯ หรือบัตรข้าราชการ) ของพ่อแม่ผู้ปกครอง (กรณีพ่อแม่ผู้ปกครองไปด้วย) ถ้าเป็นบุคคลต่างชาติก็ต้องเตรียมใบสำคัญประจำตัว หรือหนังสือเดินทาง สำหรับคนต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาภายในประเทศ
    1.2.3) สำเนาทะเบียนบ้าน
    1.2.4) ในกรณีที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ ให้พ่อแม่ผู้ปกครองนำหลักฐานซึ่งแสดงว่า เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองมาด้วย (เช่น สูติบัตร, ใบทะเบียนบ้าน ฯลฯ) มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ
    1.2.5) หลักฐานต่างๆ ที่มี เช่น กรณีถูกทำร้ายควรมีใบตรวจร่างกายจากแพทย์ หรือมิฉะนั้นทางตำรวจจะให้ผู้แจ้งความไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลเพื่อขอใบตรวจจากแพทย์ก่อน ส่วนหลักฐานอื่นๆ ที่มีทั้งพยานบุคคล (ซึ่งตำรวจอาจเรียกมาสอบปากคำ) และพยานวัตถุ เช่น ภาพถ่าย คลิป บาดแผล เอกสารอันเป็นลายลักษณ์อักษร (เช่น หนังสือลายมือครูผู้เป็นจำเลย ข้อความในข้อความในไลน์ ข้อความในเพจในเฟสบุคส์อันเกี่ยวข้องกับเรื่องราวแห่งการร้องทุกข์แจ้งความ ฯลฯ)

2) กรณีร้องเรียนทางโทรศัพท์อันได้แก่ บรรดาสายด่วน (call center) ของหน่วยงานรับร้องเรียนต่างๆ

    2.1) เตรียมเรียบเรียบเรื่องราวให้กระชับตรงประเด็นเข้าใจง่าย เช่นเดียวกับการไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ
    2.2) สอบถามชื่อนามสกุลผู้ที่รับสายรับเรื่องจากเราด้วย เผื่อโทรกลับมาติดตามถามความคืบหน้า หรือจะได้แจ้งได้ว่า ใครเป็นผู้ที่รับเรื่องร้องเรียนของเรา
    2.3) สอบถามผู้รับเรื่องถึงขั้นตอนดำเนินการในเรื่องร้องเรียนของเรา
    2.4) แจ้งชื่อนามสกุลจริงของเรา หากทางผู้รับเรื่องสอบถาม (มักจะเป็นข้อปฎิบัติของแทบทุกหน่วยงานรับแจ้งเนื่องจากอาจมีบุคคลโทรมาเพื่อก่อกวน) แต่หากผู้แจ้งไม่พึงประสงค์จะบอกชื่อนามสกุล ด้วยเกรงว่าจะเกิดอันตรายต่อตนเอง ก็สามารถทำได้โดยบอกเหตุผลแก่ผู้รับแจ้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้รับแจ้งก็จะประเมินจากข้อมูลเรื่องราวที่ผู้แจ้งร้องเรียนมา และหากทางหน่วยรับแจ้งนั้นมีการลงพื้นที่เพื่อดำเนินการก็อาจติดต่อกับทางผู้แจ้งทางเบอร์โทรศัพท์ที่ปรากฏขณะที่ผู้แจ้งโทรมาร้องเรียน