ThaiPublica > คอลัมน์ > การเมือง เศรษฐกิจ สังคมแบบไหนที่รับมือกับสภาวะโลกร้อนได้

การเมือง เศรษฐกิจ สังคมแบบไหนที่รับมือกับสภาวะโลกร้อนได้

12 สิงหาคม 2020


กฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

คำรณรงค์เรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกที่รัฐ ภาคธุรกิจ ใช้อย่างแพร่หลาย เช่น “บริโภคให้พอดี ลดขยะ อยู่กับธรรมชาติให้มากที่สุด…” พร้อมกับพัฒนาโมเดล เทคนิควิธี และชุดภาษาใหม่ๆ กระแสรณรงค์ดังกล่าวชวนจินตนาการถึงอนาคตอันสดใส ได้แก่ ธุรกิจ low carbon เมือง low carbon การทำผลิตภัณฑ์ low carbon และได้สร้างความ “สมเหตุสมผล” ด้วยมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ในการคำนวณ ชั่งตวงวัด และแลกเปลี่ยนการปล่อย carbon เช่น carbon neutral (หักลบการกิจกรรมการปล่อยก๊าซ ด้วยการส่งเสริมกิจกรรมที่ดูดซับก๊าซแล้วมาหักลบกันให้สมดุล) carbon offset (การซื้อสิทธิการปล่อยคาร์บอนมาชดเชยกับปริมาณการปล่อยก๊าซ)

แนวทางดังกล่าวเน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคส่วนบุคคลหรือองค์กร โดยหวังว่าหากประชาชนตื่นตัวมาก เร่งปรับพฤติกรรมส่วนบุคคล หรือหากไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ก็ให้ไปลงทุนกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกหรือซื้อสิทธิ์ปล่อยก๊าซมาหักลบกัน โดยดูผลลัพธ์ที่เป็นปริมาณคาร์บอนสุทธิ ก็เชื่อได้ว่า เรามีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซที่เป็นปัญหาโลกร้อนได้แล้ว

เป็นที่น่าคิดอย่างมากว่า หากการลดก๊าซเรือนกระจกมันง่ายเพียงนั้น ทำไมองค์กรวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ไปจนถึงนักรณรงค์โลกร้อนชื่อดังอย่างสาวน้อยเกรียตา ทุนแบร์ย ถึงแทบจะหมดหวังว่าโลกจะกอบกู้วิกฤติได้ทันก่อนโลกจะก้าวสู่วิกฤติจนหายนะมากที่สุด

“คาร์บอน” กับการสลายความเป็นการเมือง

เริ่มจากวิธีการให้ความหมายต่อต้นเหตุของสภาวะโลกร้อน ปัญหาความปั่นป่วนของโลกจากความร้อนที่สูงเป็นประวัติการณ์ของโลก ตามมาด้วยความผันผวนของฤดูกาล การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต การพังทลายของระบบนิเวศ ภัยพิบัติ ความไม่มั่นคงอาหาร การแพร่โรคระบาด ความแห้งแล้ง การแย่งชิงทรัพยากร ความยากจน การอพยพ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาการพัฒนาของระบบทุนนิยมโลกที่สร้างความมั่งคั่งให้กับชนชั้นนำทางธุรกิจและการเมือง แต่ผลักภาระ ผลกระทบที่เกิดไปสู่ประเทศ ประชาชนชายขอบ

ปัญหาโครงสร้างที่สะท้อนความล้มเหลวของระบบเศรษฐกิจและระบบการเมืองที่ไม่สามารถสร้างหลักประกันคุ้มครองนิเวศและฐานทรัพยากรให้ยั่งยืน ไม่สามารถป้องกันการแย่งชิงทรัพยากรจนกลายเป็นความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมได้ ไม่สามารถกำหนดนโยบายสาธารณะที่เป็นอิสระจากกลุ่มทุนพลังงานฟอสซิล กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรพาณิชย์ได้ และไม่สามารถสร้างเจตจำนงร่วมของพลเมืองที่ต้องปรับวิถีการผลิต การบริโภคไม่ให้เลยขีดจำกัดของธรรมชาติได้ ทั้งหมดนี้ถูกแทนที่ด้วยสัญลักษณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ว่างเปล่า “คาร์บอนไดออกไซด์” (CO2)

จริงอยู่ที่ก๊าซคาร์บอนอันมหาศาลคือสาเหตุสำคัญของสภาวะโลกร้อน แต่สัญลักษณ์คาร์บอนที่นำเสนอโดยปราศจากที่มาและบริบท ได้สลายมิติทางการเมืองของกลุ่มอำนาจต่างๆ ที่แสวงความมั่งคั่งจากทรัพยากรธรรมชาติด้วยการผูกขาด แย่งชิง สร้างผลกระทบอย่างไม่เป็นธรรมออกไปสิ้น และแทนที่ด้วยภาพความเข้าใจปัญหาว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นไปเองอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของประชาชนทั่วไปอย่างไม่เจาะจง ราวกับว่าประชาชนทั้งโลกมีส่วนทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นชนพื้นเมืองไปจนถึงนักธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำมัน

คาร์บอนถูกนิยามว่าเป็นสสารที่มีปัญหาโดยตัวมันเอง ไม่เชื่อมโยงไปถึงผลประโยชน์ของประเทศมหาอำนาจ กลุ่มทุนข้ามชาติ นโยบายการพัฒนาของรัฐ วิธีจัดการมันจึงถูกเบี่ยงเบนจากที่ต้องปรับรื้อโครงสร้างเหล่านี้ไปเป็นการสร้างระบบวัดคาร์บอนให้เป็นหน่วยที่สามารถวัดได้ และเป็นทรัพย์สินที่ซื้อขายถ่ายโอนได้ตามหลักการสมดุลทางบัญชี ด้วยเหตุนี้ carbon neutral จึงไม่ใช่เพียงแค่การหักลบระหว่างกิจกรรมการปล่อยก๊าซกับลดก๊าซ แต่ยังเป็นการสร้างสภาวะคาร์บอนที่ปลอดความเป็นการเมืองไปอย่างสิ้นเชิง

นวัตกรรมสร้างสภาวะโลกร้อนให้ปลอดความเป็นการเมือง ได้กลายเป็นช่องทางธุรกิจใหม่เชิงนิเวศมากมาย ยอดขายรถไฟฟ้า โซล่ารูฟทอป ฯลฯ เติบโตอย่างก้าวกระโดด มูลค่าของบริษัทเทสลา จากบริษัทเล็กได้เติบโตแซงบริษัทฟอร์ดที่ใหญ่เป็นอันดับสองของสหรัฐอเมริกาไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ธุรกิจให้ปรึกษาออกแบบโครงสร้างอาคาร ระบบขนส่ง เมือง ภายใต้แนวคิด “low carbon economy” ก็เติบโต แนวโน้มธุรกิจคาร์บอนต่ำเหล่านี้มีความสำคัญต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนให้ใส่ใจต่อลดก๊าซเรือนกระจก ยิ่งโดยเฉพาะในบริบททางเทคโนโลยีที่ก้าวไปสู่การตรวจวัดทุกสรรพสิ่ง (sensorization of things) ที่สามารถวัดรอยเท้าคาร์บอน (carbon footprint) หรือบัญชีการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ทุกย่างก้าว ยิ่งทำให้ธุรกิจคาร์บอนต่ำเติบโตอย่างมาก

แม้ทิศทางเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่กระบวนการสร้างความหมายที่ลืมเลือนปัญหาเชิงโครงสร้าง กำลังนำไปสู่ภาวะผลสะท้อนกลับ (rebound effect) คือ เมื่อประชาชนเห็นว่าพฤติกรรมการผลิต บริโภคต่างๆ ถูกรับประกันว่าปล่อยคาร์บอนต่ำแล้ว แทนที่ประชาชนจะใช้อย่างประหยัดทรัพยากรให้มากที่สุด กลับสบายใจที่จะบริโภคมากยิ่งขึ้น ผลรวมของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกิดสภาวะย้อนแย้ง กลายเป็นว่าธุรกิจคาร์บอนต่ำที่เติบโตจะกลายเป็นสาเหตุใหม่ของการปล่อยคาร์บอน

เราได้เห็นการรณรงค์ให้ลดการใช้ขยะพลาสติก ใช้พลังงานอย่างประหยัด ปลูกต้นไม้ ฯลฯ โดยไม่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมพลังงานปิโตรเลียมที่ยังเติบโตและครอบงำนโยบายพลังงานของชาติ การรณรงค์เชิงพฤติกรรมไปไม่ถึงการร่วมกันหยุดยั้งการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรม เขตเศรษฐกิจพิเศษในภาคตะวันออกและภาคใต้ที่จะเป็นสาเหตุปล่อยก๊าซคาร์บอนมหาศาล และไม่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเกษตรเคมี ปศุสัตว์ ที่เป็นสาเหตุการปล่อยก๊าซ หรือกระทั่งการปลูกป่าที่ไม่ได้คำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพ

การรณรงค์ลดก๊าซคาร์บอนได้แยกส่วนกับต้นตอปัญหาการล้างผลาญทรัพยากร และละเมิดสิทธิประชาชนที่จะเข้าถึง ดำรงชีพในระบบนิเวศและฐานทรัพยากรอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม อันเป็นสาเหตุความยากจน เหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม และความล่มสลายของนิเวศและสังคม จึงไม่เป็นที่แปลกใจเมื่อธุรกิจที่มีกระบวนการผลิตทำลายและแย่งชิงทรัพยากรจากสาธารณะและชุมชน อาจจะสามารถสร้างชื่อเสียงจากการทำกิจกรรมความรับผิดชอบทางสังคม (CSR) ในเรื่องคาร์บอนต่ำได้

กลับสู่ความเป็นการเมืองของปัญหาสภาวะโลกร้อน

สาวน้อยเกรียตา ทุนแบร์ย ได้ตั้งคำถามไม่เพียงต่อนักการเมือง ผู้กำหนดนโยบาย แต่ยังสื่อถึงนักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ ด้วยว่า โลกปัจจุบันยังไม่มีระบบการเมืองและระบบเศรฐกิจที่สามารถจัดการกับปัญหาโลกร้อนได้เพราะปัญหาของระบบการเมืองไม่ว่าจะเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย สังคมนิยม เผด็จการ ฯลฯ คือ ถูกขับเคลื่อนด้วยทุนอุตสาหกรรมนิยม ไม่ว่าจะเป็นโดยภาครัฐ (จีน) ภาคทุน (สหรัฐฯ+ยุโรป) หรือรัฐและทุน โดยเฉพาะทุนอุตสาหกรรมที่ยึดโยงกับพลังงานฟอสซิล ระบบเกษตรพาณิชย์เคมี ทุนอุตสาหกรรมเหล่านี้เข้าครอบครองทรัพยากรสาธารณะ โดยระบบผูกขาดที่รัฐเอื้อ และโดยกลไกตลาด เปลี่ยนให้เป็นความมั่งคั่งของกลุ่มทุน และปันผลประโยชน์ให้กับรัฐและสาธารณะ ทำให้ประเทศตกอยู่ในพันธนาการของทุนอุตสาหกรรมอย่างไร้อิสระ

การแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนที่เร่งด่วนที่สุด คือ ยุติการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล การเมืองที่จะแก้ปัญหาโลกร้อนได้ต้องสามารถปลดแอกตนเองจากทุนอุตสาหกรรมฟอสซิล แต่การปลดแอกดังกล่าวก็มีราคาที่ต้องจ่ายไม่น้อย เช่น ความผันผวนปั่นป่วนของเศรษฐกิจในช่วงแรก จนอาจกลายเป็นความตกต่ำทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง ความต้องการเม็ดเงินลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนระบบพลังงานและระบบเกษตรกรรม ทำให้ปัญหาปากท้องของคนจนและกำลังจะจนจากผลกระทบของการปรับเปลี่ยนเป็นปัญหาสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบายยุติโลกร้อนอย่างจริงจัง

มีหลายประเทศในยุโรป เช่น เยอรมัน สวีเดน นิวซีแลนด์ ที่มีแผนการชัดเจนที่จะยุติพลังงานฟอสซิล แต่ประเทศเหล่านี้มีฐานเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง พลเมืองตื่นตัวเรื่องโลกร้อนมานาน จนกลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่ใช้หาเสียงและผลักดันนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่กระนั้นก็ยังถูกวิจารณ์ว่า ยังไม่เพียงพอที่จะรับมือปัญหา และยังไม่เห็นการเมือง เศรษฐกิจ แบบไหนที่จะจัดการโลกร้อนได้

หากเอากลุ่มประเทศยุโรปที่ก้าวหน้าเรื่องการจัดการโลกร้อนโดยเฉพาะพลังงานเป็นตัวตั้ง การเมืองที่จะจัดการโลกร้อนได้ต้องไปไกลกว่าระบอบการปกครองเดิม เช่น เสรีนิยมประชาธิปไตย ที่แม้จะมีพลเมืองตื่นตัว กระจายอำนาจ ใช้ความรู้ และสร้างดุลยภาพระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและสาธารณะได้ดีระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะควบคุมระบบทุนนิยมที่ขับเคลื่อนด้วยความโลภแบบเสรีได้

การเมืองแห่งอนาคตที่จะจัดการโลกร้อนได้ ต้องเป็นระบบการเมืองที่กำกับทุนนิยมได้ กำกับการถือครองถ่ายโอนทรัพย์สินส่วนตนกับสาธารณะอย่างสมดุล ปกป้องทรัพยากร/ประโยชน์สาธารณะได้ กระจายอำนาจ และมีกระบวนการปัญญา ไม่ตกอยู่ในพันธนาการของความต้องการเศรษฐกิจเฉพาะหน้า เชื่อมต่อภาคีได้หลากหลาย นำโดยคนรุ่นใหม่ที่ต้องการอนาคตโลกที่ยืนยาว

การเมืองดังกล่าวต้องมุ่งสู่ความเป็นประชาธิปไตยทางตรงมากขึ้น มีกลไกการปกครองขนาดเล็กที่ประชาชนหรือชุมชนมีส่วนร่วมทางตรงได้มาก และมีระบบหรือกลไกทางการเมืองประสานความเชื่อมโยงระบบการเมืองท้องถิ่นทั้งหลาย ให้เกิดกระบวนการจัดการร่วมกันในบริบทที่ปัญหาสิ่งแวดล้อม โลกร้อนเป็นเรื่องที่ก้าวข้ามเส้นแบ่งการปกครอง

ในเรื่องเศรษฐกิจ ต้องมีระบบเศรษฐกิจที่พัฒนาอย่างยั่งยืน เปลี่ยนเป้าหมายการพัฒนาจากการเติบโตมาเป็นการอยู่ดีมีสุข เพราะแม้จะมีมาตรการทำให้เศรษฐกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจสีเขียว อย่างไรก็แล้วแต่ แต่หากยังเน้นไปที่การเติบโต ก็หลีกไม่พ้นที่จะต้องสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งการผลิตและบริโภคที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนในอัตราที่สูงขึ้น เศรษฐกิจที่ยั่งยืนก้าวต่อไปต้องให้ความสำคัญกับความอยู่ดีมีสุข ความเป็นธรรม และนำเอาหลักข้อจำกัดของการเติบโต (limit to growth) ของ Club of Rome กลุ่มภาคีสิ่งแวดล้อมที่บุกเบิกแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนตั้งแต่ทศวรรษ 1970 กลับมาใช้อย่างจริงจัง

เศรษฐกิจที่จะไม่ถูกครอบงำโดยทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่ต้องเป็นระบบเศรษฐกิจที่เน้นการพึ่งตนเอง กระจายตัวจากฐานล่างแต่เชื่อมโยง ไม่รวมศูนย์ผูกขาด เน้นการสร้างระบบทรัพยากรสาธารณะเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลที่เปิดช่องให้เกิดการผูกขาดสร้างความไม่เป็นธรรมแบบกลไกตลาดคาร์บอนแบบทุกวันนี้ เป็นเศรษฐกิจที่เน้นการพัฒนาฐานทรัพยากรชีวภาพแทนที่จะเป็นอุตสาหกรรมหนัก และที่สำคัญต้องเป็นเศรษฐกิจที่ไม่แยกขาดจากสังคม คือ มีเป้าหมายเพื่อความอยู่ดีมีสุขของสังคมโดยรวม ไม่ใช่กำไรสูงสุด

ดังนั้นระบบการสร้างแรงจูงใจ และกำกับพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของบุคคล กลุ่มสังคมจะต้องใช้เป้าหมายทางสังคมควบคู่กับความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจประกอบไปด้วยกัน แทนที่จะเน้นเพียงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่อาจจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเรื่องโลกร้อนกลายเป็นกระบวนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ห่างไกลจากเป้าหมายการลดโลกร้อน

กลไกเศรษฐกิจที่ควรจะเป็นจึงไม่ใช่เศรษฐกิจตลาดเสรี แต่ก็ไม่ใช่เศรษฐกิจผูกขาดไม่ว่ารัฐหรือเอกชน แต่เป็นเศรษฐกิจส่วนรวมและแบ่งปันที่สร้างจากเศรษฐกิจฐานล่าง

เศรษฐกิจแบบนี้ต้องการระบบรัฐแบบใหม่ เป็นรัฐประชาธิปไตยสีเขียวที่ก้าวไปอีกขั้น กลไกรัฐต้องก้าวพ้นระบบราชการไปสู่ระบบการบริหารจัดการร่วมสาธารณะที่มีทั้งกระจายอำนาจสู่สังคม และเชื่อมโยง ตรวจสอบถ่วงดุล เกิดเป็นกลไกรัฐร่วมสังคมที่ก้าวข้ามเส้นแบ่งอธิปไตยรัฐ ขอบเขตการปกครองแบบเดิม โดยมีฐานพลเมืองสีเขียวของโลกหรือภูมิภาคร่วมกันขับเคลื่อน

อย่างไรก็ตาม บทเรียนสำคัญของการต่อสู้เชิงโครงสร้าง คือ ต้องเชื่อมโยงสู่วิถีของประชาชนเพื่อให้ประชาชนมีความหวังว่า เราก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้แม้ในระดับชีวิตของตนเอง การรณรงค์เพื่อขับเคลื่อนสภาวะโลกร้อนอาจเริ่มต้นด้วยแนวทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและบริโภคของปัจเจก แต่ควรเชื่อมโยงไปสู่การทำความเข้าใจความเป็นการเมืองหรือปัญหาโครงสร้างทางนิเวศ เศรษฐกิจ สังคมของสภาวะโลกร้อน แล้วสร้างขบวนการทางสังคมที่มีเป้าหมายออกแบบและขับเคลื่อนระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคมแบบใหม่ ไม่เช่นนั้น เราอาจตกอยู่ในกับดักของมายาคติว่าด้วย “คาร์บอน” ของทุนนิยมเสรีที่เป็นต้นเหตุและจุดจบของโลกในไม่ช้า