ThaiPublica > คอลัมน์ > หลัง โควิด กำเนิด “เจ้าสัวยูนิคอร์น”

หลัง โควิด กำเนิด “เจ้าสัวยูนิคอร์น”

18 สิงหาคม 2020


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

แม้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในหลายภูมิภาคยังไม่คลี่คลาย แต่ประเด็น “ยุคหลังโควิด-19” ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันอย่างกว้างขวางในหลากหลายประเด็น ไม่ว่าระยะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะใช้เวลานานเท่าไหร่ 2 ปี หรือลากยาวไปถึง 5 ปี โฉมหน้าโครงสร้างเศรษฐกิจในช่วงต่อจากนี้ไปจะมีหน้าตาอย่างไร รวมทั้งบทบาทของกลุ่มทุนในแวดวงธุรกิจ จะพลิกโฉมเหมือนครั้งวิกฤติต้มยำกุ้งหรือไม่

เมื่อคลื่นวิกฤติซัดกระหน่ำเศรษฐกิจไทยในปี 2540 นั้น พิษวิกฤติต้มยำกุ้งทำอุตสาหกรรมแบงก์ได้รับความเสียหายอย่างหนัก และส่งผลต่อบทบาทนำในแวดวงธุรกิจของกลุ่มทุนแบงก์โดยตรง ทั้งนี้กลุ่มทุนแบงก์กุมการนำในแวดวงธุรกิจต่อเนื่องมายาวนานตั้งแต่ก่อนปี 2500 ก่อนบทบาทลดลง และถูกสองกลุ่มทุนใหญ่คือ กลุ่มซีพีของตระกูลเจียรวนนท์ และกลุ่มเบียร์ช้างของตระกูลสิริวัฒนภักดี ขยับขึ้นมาแทนที่

ชะตากรรมแบงก์ของกลุ่มทุนต่างๆ ในห้วงเวลานั้นมีอยู่ 2 ทาง คือ หนึ่ง หากอยู่ในขั้นไอซียูจะถูกจับควบรวมและขายออกให้ผู้สนใจทันที และสอง อาการห้าสิบ-ห้าสิบ กรณีนี้จะรักษาตามอาการไประยะหนึ่ง หากไปต่อไม่ไหว ทางการจะควบรวมขายให้กับผู้สนใจเช่นกัน

กรณีไอซียู เช่น แบงก์กรุงเทพฯ พาณิชย์การหรือ บีบีซี (ของตระกูลชาลีจันทร์) กับแบงก์มหานคร (ตระกูลสิริวัฒนภักดี) ถูกควบรวมเข้ากับแบงก์กรุงไทยในปี 2541

หรือแบงก์ไทยธนาคาร (เกิดจากการควบรวมแบงก์สหธนาคารของตระกูลชลวิจารณ์ กับ 12 ไฟแนนซ์ (2541) ก่อนกองทุนเพื่อการฟื้นฟูสถาบันการเงินขายกิจการต่อให้กลุ่มซีไอเอ็มบี เบอร์ฮาด แบงก์จากมาเลเชีย ในปี 2551

ส่วนกรณีที่ต้องรักษาตามอาการ เช่น แบงก์ศรีนคร (ของตระกูลเตชะไพบูลย์ ซึ่งเป็นตระกูลเจ้าสัวยุคแรกๆ นำโดยเจ้าสัวอุเทน หลังเจอพิษต้มยำกุ้งแบงก์ศรีนครพยายามประคับประคองสถานการณ์อยู่ระยะหนึ่ง แต่ในท้ายที่สุดก็ถูกควบรวมเข้ากับแบงก์นครหลวงไทย (ของตระกูลมหาดำรงค์กุล) ในปี 2545 จากนั้น แบงก์ธนชาตเข้าซื้อแบงก์นครหลวงไทยจากกองทุนฟื้นฟูฯ ในปี 2553

หรือทีเอ็มบี (ทหารไทยเดิม) ควบรวมกับแบงก์ดีบีเอส-ไทยทนุ (ตระกูลตู้จินดา) พ่วงบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศ หรือไอเอฟซีที ในปี 2547 ต่อมาในปี 2550 ทีเอ็มบีได้ไอเอ็นจีแบงก์จากอังกฤษเข้ามาร่วมทุน พอปี 2562 แบงก์ธนชาตตกลงควบกิจการกับทีเอ็มบีอีกรอบ

แบงก์นครธน ของตระกูลหวั่งหลี ซึ่งเป็นกลุ่มทุนเก่าแก่ที่มีรากฐานจากการค้าส่งออกข้าว ถูกแบงก์แสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด จากอังกฤษ เข้ามาซื้อหุ้นจากกองทุนฟื้นฟูฯ ในปี 2542

แบงก์เอเชีย ของตระกูลเอื้อชูเกียรติ เปิดทางให้ เอบีเอ็มแอมโรเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในปี 2541 เมื่อแบงก์สัญชาติดัตช์ถอนตัว กลุ่มยูโอบีแบงก์จากสิงคโปร์เข้ามาซื้อต่อในปี 2548 โดยควบรวมกับแบงก์ยูโอบีรัตนสิน (เกิดจากการควบรวมแบงก์รัตนสินกับแหลมทองที่ยูโอบีไปซื้อมาในปี 2542) กลายเป็นแบงก์ยูโอบีในปัจจุบัน

ส่วน 5 แบงก์ใหญ่ กรุงไทย กรุงเทพ กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ และกรุงศรีอยุธยา แม้ฝ่าคลื่นวิกฤติรอบนั้นสำเร็จ หากต้องเปิดทางให้สถาบันเข้ามาถือหุ้นเพิ่ม แต่ในท้ายที่สุดแบงก์กรุงศรีอยุธยา ของตระกูลรัตนรักษ์ ต้องเปิดทางให้จีอี แคปิตอล จากสหรัฐฯ เข้ามาถือหุ้นใหญ่ (2551) ก่อนเปลี่ยนมือขายหุ้นให้แบงก์เอ็มยูเอฟจี จากญี่ปุ่น ที่เข้ามาถือหุ้นใหญ่ 76.8% ในปี 2556

สรุปแล้วมี 3 แบงก์ (ไม่รวมกรุงไทยที่เป็นของรัฐ) ที่กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมยังสามารถรักษาสถานะเอาไว้ได้จนถึงวันนี้คือ กรุงเทพ กสิกรไทย และไทยพาณิชย์

ทั้งนี้ บทบาทนำของกลุ่มทุนแบงก์ที่จางลงหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง นอกจากความเสียหายที่ได้รับจากคลื่นวิกฤติในครั้งนั้นแล้ว สภาพการเมืองที่เปลี่ยนไป การปฏิรูปอุตสาหกรรมการเงินที่ตามมา และความต้องการใช้เงินทุนมากขึ้นเพื่อเสริมสร้างขนาดแบงก์ให้สามารถแข่งขันได้ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้กลุ่มทุนแบงก์จำนวนหนึ่งถูกคัดออกจากสนามแข่งขันตามกฎธรรมชาติ

ในขณะที่กลุ่มซีพีและเบียร์ช้างแม้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติต้มยำกุ้งไม่น้อย ตระกูลเจียรวนนท์ “เจ้าสัวธนินท์” ต้องขายธุรกิจที่ทำกำไรทั้งในจีนและไทยเพื่อนำทุนมารักษาธุรกิจหลักคือเกษตรอุตสาหกรรม และเยียวยาผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนกว่า 1.5 หมื่นล้านบาทของเทเลคอมเอเชีย (ทรูในปัจจุบัน) ส่วน “ตระกูลสิริวัฒนภักดี” สูญเสียแบงก์มหานครที่เจ้าสัวเจริญหมายมั่นให้เป็นที่มั่นทางทางการเงินหนุนธุรกิจน้ำเมา ถูกจับควบรวมกลายเป็นส่วนหนึ่งในแบงก์กรุงไทยดังที่กล่าวตอนต้น

แต่ทั้ง 2 กลุ่มยังรักษาธุรกิจหลักซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจของกลุ่มธุรกิจเอาไว้ได้ ของซีพีคือเกษตรอุตสาหกรรม ส่วนเบียร์ช้างคือธุรกิจน้ำเมา ทั้งกลุ่มซีพีและเบียร์ช้างใช้ “ธุรกิจหลัก” เป็นฐานที่มั่นในการขยายอาณาจักรธุรกิจในช่วงหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง โดยเฉพาะช่วงหลังปี 2550 กระทั่งขยับขึ้นมาเป็นกลุ่มทุนที่มีบทบาทนำในระนาบธุรกิจแถวหน้าของเมืองไทย แทนกลุ่มทุนแบงก์ในที่สุด

การที่เจ้าสัวธนินท์แห่งซีพี และเจ้าสัวเจริญจากเบียร์ช้าง สลับกันเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งและสองของเมืองไทย จากการจัดอับดับมหาเศรษฐีโลก (มีทรัพย์สินมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไป) ของนิตยสารชื่อดังต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

หรือล่าสุด บลูมเบิร์กจัดอันดับกลุ่มตระกูลผู้มั่งคั่งของโลกประจำปี 2563 ระบุว่าตระกูลเจียรวนนนท์เจ้าของเครือเจริญโภคภัณฑ์อยู่อันดับที่ 21 ผู้มั่งคั่งของโลก ครอบครองทรัพย์สิน 9.8 แสนล้านบาท โดยระบุว่าเป็นผลจากการนำธงไทยไปปักฐานลงทุนใน 22 ประเทศ

ข้อมูลข้างต้น คือประจักษ์พยานชิ้นหนึ่งที่ย้ำว่า ซีพีกับเบียร์ช้างก้าวขึ้นมาเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีบทบาทนำในแวดวงธุรกิจเมืองไทย แทนกลุ่มทุนแบงก์ที่ขยับถอยลงไป

ส่วนวิกฤติโควิด-19 ที่กำลังคุกคามโลกอยู่เวลานี้ พื้นฐานปัญหาต่างจากวิกฤติต้มยำกุ้ง แม้วิกฤติโควิดส่งผลกระทบในวงกว้าง หากโครงสร้างเศรษฐกิจและธุรกิจไม่เสียหายทันที เหมือนครั้งวิกฤติต้มยำกุ้ง ภาคธุรกิจ กลุ่มทุน จึงไม่ถูกทำลายอย่างเฉียบพลันเหมือนวิกฤติเมื่อครั้งนั้น ที่เพียงข้ามคืนยอดหนี้เพิ่มขึ้นทวีคูณจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนไปจนธุรกิจล้มทั้งยืนกันเป็นแถว

ผลเบื้องต้นที่เกิดขึ้นกับบรรดากลุ่มตระกูล กลุ่มทุนต่างๆ จากพิษโควิด-19 คือความมั่งคั่งที่ลดลงเท่านั้น ตำแหน่งกลุ่มธุรกิจที่มีบทบาทนำที่กลุ่มซีพีและเบียร์ช้างครองอยู่คงไม่เปลี่ยนแปลง และเป็นไปได้ว่าหลังจากนี้ บทบาทในแวดวงธุรกิจ กลุ่มทุนที่เข้าไปลงทุนในโครงการรถไฟฟ้ารถไฟความเร็วสูงจะเพิ่มมากขึ้น เช่น กลุ่ม ช.การช่าง ของ ปลิว และ ตระกูลตรีวิศวเวทย์ ยักษ์ใหญ่วงการก่อสร้างเจ้าของสัมปทานรถไฟฟ้าและทางด่วนหลายสาย และเป็นหนึ่งในพันธมิตรกลุ่มบริษัทธนโฮลดิ้ง เจ้าของสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (อู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง) ที่กลุ่มซีพีเป็นแกนนำ และกลุ่มบีทีเอสโฮลดิ้ง ของ คีรี กาญจนพาสน์ ที่รุกประมูลสัมปทานรถไฟฟ้าหลายสายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเป็นหนึ่งในแกนนำ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีทีเอสที่ชนะประมูลโครงการสนามบิน อู่ตะเภาเมืองการบินภาคตะวันออก ล้วนเป็นกลุ่มทุนที่มีโอกาสจะผงาดขึ้นมาเป็นกลุ่มทุนแถวหน้าหลังโควิด-19 เช่นกัน

และมุมที่ชวนติดตามถัดมาคือ การที่ผู้รู้หลายสำนักคาดการณ์ว่า ผลจากวิกฤติโควิดจะเร่งให้เศรษฐกิจโลกเคลื่อนตัวเข้าสู่การปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือการปฏิวัติ 4.0 ที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นหัวหอก ซึ่งกระแสนี้อุ่นเครื่องมาพักใหญ่แล้ว จะถูกเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านในอัตราเร่งที่เร็วยิ่งขึ้น ส่วนสภาพแวดล้อมใหม่จะทำให้เกิดปรากฎการณ์ ผู้ประกอบการสตาร์ตอัปก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าสัวยูนิคอร์น หรือสตาร์ตอัปหมื่นล้านได้หรือไม่นั้นต้องติดตาม