ThaiPublica > เกาะกระแส > กสศ. เปิดตัวนวัตกรรม “iSEE” เวอร์ชัน 2.0 เจาะลึกต้นตอความเหลื่อมล้ำการศึกษาทุกมิติ

กสศ. เปิดตัวนวัตกรรม “iSEE” เวอร์ชัน 2.0 เจาะลึกต้นตอความเหลื่อมล้ำการศึกษาทุกมิติ

4 สิงหาคม 2020


กสศ. เปิดตัวเครื่องมือ “iSEE” เวอร์ชัน 2 ใช้กลไกข้อมูลขับเคลื่อนสังคม ลงลึกข้อมูล “เด็กกลุ่มเปราะบาง” ทั่วประเทศ สู่การผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย พร้อมจัดเวทีเสวนา “EdTech และการขับเคลื่อนสังคมด้วยข้อมูล (Data Activism) กรณีศึกษาระบบ iSEE กับการระดมความร่วมมือเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา”

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ปัญหาหลักของประเด็นการศึกษาในประเทศไทยคือระบบคุ้มครองทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงของสถาบันครอบครัว ความพร้อม-ปลอดภัยของสถานศึกษาและครู ความพร้อมของการเดินทาง ตลอดจนความพร้อมของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งก่อให้เกิด ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ในระบบการศึกษา และยิ่งตอกย้ำให้ “เด็กด้อยโอกาส” ยิ่งด้อยโอกาสมากยิ่งขึ้นจากระบบที่เกิดขึ้น

กสศ. จึงใช้แนวคิด data activism เพื่อเพิ่มโอกาสการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาด้วยการใช้ ‘ข้อมูล’ เป็นเครื่องมือสำคัญในการประเมินว่าสถานการณ์ปัญหาของระบบการศึกษาทั้งประเทศและรายพื้นที่ เป็นที่มาของระบบสารสนเทศ “iSEE” (Information System for Equitable Education: iSEE) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) รายบุคคล ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสมากกว่า 4 ล้านคน โดยเชื่อมโยงข้อมูลเด็กและครอบครัวกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของ 6 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงงาน และกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงข้อมูลจากระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS)

ดร.ไกรยสกล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ กสศ. ได้มีระบบ iSEE เวอร์ชันแรก แต่ข้อมูลยังไม่อัปเดตและเน้นบอก “จำนวน” ซึ่งไม่นับเป็นข้อมูลเชิงลึก ทำให้ กสศ. ต่อยอดเวอร์ชัน iSEE 2.0 เพื่อให้มีข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น โดยจะสำรวจตั้งแต่ระดับประเทศ ภูมิภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล โรงเรียน จนถึงรายบุคคล ทำให้ติดตามสถานการณ์การศึกษา อัตราการมาเรียน รายได้เฉลี่ยของครัวเรือน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กในอนาคต ฯลฯ เพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือได้เข้าถึงตัวเด็กทันที

เมื่อถามว่า iSEE เวอร์ชันก่อนหน้านี้ที่มีการเปิดเผยข้อมูล ได้มีผู้จัดทำนโยบายหยิบข้อมูลจาก iSEE ไปใช้และนำไปสู่การผลักดันเชิงนโยบายบ้างหรือไม่ โดย ดร.ไกรยศให้คำตอบว่า ข้อมูลได้นำไปสู่ข้อสรุปในหลายๆ ประเด็น เช่น ดีเบตเรื่องการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก หรือแม้แต่ข้อมูลการช่วยเหลือเด็กที่ด้อยโอกาสมากกว่า 1,000 แห่ง ตลอดจนมีหลายภาคส่วนที่ติดต่อเข้ามาแสดงความช่วยเหลือเด็ก โดยมีโครงการที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ “ตลาดใจ” โดย “พี่ตูน” (อาทิวราห์ คงมาลัย วงบอดี้แสลม) และทีมงานได้เข้าไปบริจาคสิ่งของอุปโภคและบริโภคให้เด็กๆ โดยอาศัยข้อมูลพื้นที่ขาดแคลนของ กสศ.

“เราไม่ได้อยากทำให้ iSEE เข้าถึงคนกลุ่มเป็น Mass สิ่งที่เราอยากเน้นคืออิมแพกต์ เหมือนเราอยากเป็น B2B (business to business) มากกว่า B2C (business to customer) แต่สุดท้ายเราก็หวังว่ามันจะมีความเปลี่ยนแปลงจากข้อมูลของ iSEE” ดร.ไกรยศกล่าว

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ทั้งนี้ ข้อมูลที่เผยแพร่ใน iSEE 2.0 แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) สถานการณ์การศึกษาไทย ซึ่งมีข้อมูลตั้งแต่สถิตินักเรียน-นักเรียนด้อยโอกาส/พิการ ครูและบุคลากร แผนที่โรงเรียนในประเทศไทย พื้นที่ที่ไม่มีโรงเรียน ทรัพยากรโรงเรียน (2) ข้อมูลนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความลำบากกว่านักเรียนกลุ่มอื่นๆ ทำให้มีข้อมูลเชิงลึกมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง ข้อมูลครัวเรือน ความเป็นอยู่ และ (3) กลุ่มเด็กนอกระบบการศึกษา มีข้อมูลแผนที่เด็กนอกระบบการศึกษา สถิติ สถานการณ์ภายในครัวเรือน และสภาพปัญหาและความต้องการ

“จุดเด่นของระบบ iSEE คือ การแสดงข้อมูลสุขภาวะและทุพโภชนาการของเด็กและเยาวชน ข้อมูลสถานะครัวเรือนและสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชน ข้อมูลการเดินทางระหว่างไปโรงเรียน ข้อมูลสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของโรงเรียน และจากการประมวลผลข้อมูลพบปี 2562 มีนักเรียนในระบบการศึกษาหายไปครึ่งหนึ่งหลังจบ ม.3 ยังพบว่า 3 จังหวัด ได้แก่ ตาก กรุงเทพฯ แม่ฮ่องสอน มีเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษามากที่สุด” ดร.ไกรยศกล่าว

เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายหลักคือ “ผู้จัดทำนโยบาย” ดังนั้นข้อมูลทั้งหมดจึงต้องนำเสนอให้ง่ายและสอดคล้องกับการใช้งานจริง เพื่อให้ผู้จัดทำนโยบาย “มองเห็น” (iSEE) สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำได้ชัดเจนทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ตลอดจนเป็นเครื่องมือให้กับหน่วยงาน ภาคีต่างๆ เช่น สื่อมวลชน สถานศึกษา ฯลฯ

แนวคิดด้านการออกแบบข้อมูลคือ user- centered data visualization tools ซึ่งจะนำผู้รับสารเป็นศูนย์กลางและย่อยข้อมูลตามความต้องการของการนำข้อมูลไปใช้ได้จริง ผ่าน 5 เป้าหมายหลัก ได้แก่

1) มีระบบสารสนเทศที่เชื่อมโยงฐานข้อมูลในหลายกระทรวง

2) Virtual Live ข้อมูล ให้เป็น user-centered design มีการทำกราฟ/ตารางที่ง่ายต่อการใช้งาน เพื่อนำไปแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างง่าย

3) ปฏิรูปกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เช่น การระดมทุน หรือการจัดค่ายอาสาพัฒนาชนบท ที่สามารถมองเห็นเด็กหรือโรงเรียนได้ชัดมากที่สุด

4) ขับเคลื่อนทรัพยากรและเครือข่ายในสังคมเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

5) สนับสนุนผู้ที่ต้องการเป็นนักวิจัย สตาร์ทอัป ผู้ประกอบการทางสังคม และสื่อมวลชน ให้มีพลังในการขับเคลื่อนวาระทางสังคมมากขึ้น ด้วยข้อมูลที่ทันสมัย เพื่อช่วยกันลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ทุกที่ ทุกเวลา

นอกจากนี้ระบบ iSEE ยังมีระบบการตอบกลับที่เป็นวงจร สามารถนำข้อมูลกลับมารายงานได้ว่ามีจำนวนเด็กที่ได้รับการช่วยเหลือ เด็กที่จบการศึกษา รวมถึงเด็กที่ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้วกี่คน

“ทุกคนคิดว่าเวลาออกแบบหรือเก็บข้อมูล เด็กทุกคนจะมีช่องให้ติ๊กเท่ากัน แต่จริงๆ ไม่เป็นแบบนั้น เพราะเด็กด้อยโอกาสควรมีช่องให้ติ๊กมากกว่าเด็กทั่วไป เช่น ถ้าเด็กตอบว่าเขากำพร้า เขาต้องถามต่อว่าแล้วเขาอยู่กับใคร บ้านเป็นอย่างไร คนดูแลพร้อมหรือเปล่า ยิ่งเป็นเด็กด้อยโอกาสมากเท่าไรข้อมูลต้องเก็บมากขึ้นเท่านั้น หรือ ‘เด็กยากจนพิเศษ’ ต้องดูเรื่องอัตราการมาเรียน แล้วติดตามเป็นรายเทอม”

ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า หัวหน้าทีมวิจัยผู้พัฒนาระบบ iSEE และอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า หัวหน้าทีมวิจัยผู้พัฒนาระบบ iSEE และอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า การเก็บข้อมูลมาจาก 2 ช่องทาง คือ คุณครูและบุคลากรการศึกษากว่า 500,000 คนที่เก็บข้อมูลในพื้นที่ และข้อมูลช่องทางภาคีเครือข่ายจากกระทรวงต่างๆ จากนั้น กสศ. จะนำข้อมูลที่ได้มาบูรณาการและทำข้อมูลในรูปแบบที่เข้าใจง่าย (visualization)

“ภาครัฐจัดเก็บข้อมูลกระจายกระจัด เหมือนอยู่เป็นแท่งๆ แท่งใครแท่งมัน ถ้าเราต้องเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ต่อ มันจะขาดบางมิติ แล้วข้อมูลบางส่วนอาจเป็นความลับ เราอาจจะดึงข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้ไม่มากนัก” ดร.วรลักษณ์กล่าว

iSEE ทำให้สถานศึกษาและผู้จัดทำนโยบายมองเห็นจุดอ่อนของสถานศึกษา และบ่งบอกถึงสถานที่ที่ขาดแคลนอย่างแท้จริง และยังประเมินความต้องการความช่วยเหลือของสถานศึกษานั้นๆ เพื่อให้คนไปบริจาคสิ่งของให้โรงเรียนที่ขาดแคลนได้

  • 2 ปี กสศ. เจาะข้อมูลเชิงลึก “iSEE” ความจริงการศึกษาไทยที่ต้องอ่าน
  • อย่างไรก็ตาม กสศ. ยังได้เปิดเวทีเสวนา “EdTech และการขับเคลื่อนสังคมด้วยข้อมูล (Data Activism) กรณีศึกษาระบบ iSEE กับการระดมความร่วมมือเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” เพื่อแชร์ประสบการณ์การนำข้อมูลไปใช้ต่อยอดโดย 3 ภาคส่วน ได้แก่ กลุ่มสตาร์ตอัปและการลงทุน กลุ่มสตาร์ตอัปด้านการศึกษา และสื่อมวลชน

    เริ่มที่มุมมองจากฝั่งสตาร์ทอัปและการลงทุน โดยนายเรืองโรจน์ พูนผล หรือ “กระทิง” ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) บอกว่า จากการที่ตัวเองทำงานด้านสตาร์ทอัปมาหลายปี ทำให้รู้ว่าฐานข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการแจ้งเกิดสตาร์ทอัปอย่างมาก และระบบ iSEE 2.0 ของ กสศ. ทำให้เห็นข้อมูลที่นำไปใช้และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด

    นายเรืองโรจน์กล่าวอีกว่า “สตาร์ทอัปหลายภาคส่วนถามหาข้อมูลอยู่ไหน ซึ่งการที่ กสศ. สร้างระบบ iSEE ขึ้นมาเหมือนมอบพลังอำนาจแห่งเทคโนโลยีมาให้ ในเมื่อเราจะเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยพลังอำนาจของข้อมูล วันนี้ชวนทุกคน เข้ามาเปลี่ยนแปลงเรื่องการศึกษา เพราะการศึกษาเปลี่ยนแปลงชีวิตได้ โดยร่วมกันเปลี่ยนแปลงเด็ก 4 ล้านกว่าคน เพื่อให้ประเทศไทยไปอยู่ข้างหน้าได้โดยเข้าไปในระบบ iSEE”

    “สมมติคุณช่วยเหลือเด็ก แค่เปลี่ยนตัวเลข (เด็กที่ต้องการการช่วยเหลือใน iSEE) จาก 1 เป็น 0 วันนั้นสิ่งที่คุณทำมันยิ่งใหญ่กว่าอะไรทั้งหมด เหมือนที่ว่า Edtech are Business of Changing Life เพราะวันนี้คุณรู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหนแล้ว” นายเรืองโรจน์กล่าว

    (จากซ้ายไปขวา)นายเรืองโรจน์ พูนผล, นายพริษฐ์ วัชรสินธุ และนางสาวฐปณีย์ เอียดศรีไชย

    นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ “ไอติม” ผู้ก่อตั้ง StartDee เน็ตฟลิกซ์แห่งวงการการศึกษาไทย กล่าวว่า StartDee ต้องขอบคุณ กสศ. เพราะการตัดสินใจของบริษัทมาจากฐานพื้นฐานข้อมูลของ กสศ. โดยทั้ง StartDee และ กสศ. มีเป้าหมายต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเช่นเดียวกัน

    “ปัจจุบันเด็กไทยเจอความเหลื่อมล้ำสองตลบ ตลบที่หนึ่งเป็นคุณภาพการเรียนการสอนในแต่ละโรงเรียนไม่เท่ากันระหว่างหัวเมืองกับชนบท และตลบที่สองคือ ช่องทางการเรียนนอกห้องเรียนก็ถูกปิดกั้นด้วยวัฒนธรรมการเรียนพิเศษที่ราคาค่อนข้างสูง สิ่งที่เล็งเห็นคือสัดส่วนเด็กไทยที่เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพจึงไม่สูงมาก”

    นายพริษฐ์กล่าวอีกว่า “เราต้องการตรวจสอบตัวเอง และอยากรู้ว่าเด็กที่เข้าถึงแอปพลิเคชันของ StartDee เป็นเด็กยากจนมากน้อยแค่ไหน เราจึงเอาข้อมูลโรงเรียนของนักเรียนที่มาใช้แอปพลิเคชันไปจับคู่กับข้อมูลใน iSEE ดูว่าโรงเรียนนี้มีสัดส่วนเด็กยากจนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งพบว่ามีโรงเรียนที่มีสัดส่วนเด็กยากจน 80-100% ซึ่งเมื่อรู้กลุ่มเป้าหมายของเราแล้วก็ทำให้เราสามารถออกแบบการเรียนรู้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายเพราะเรารู้ว่าเรากำลังช่วยเหลือใครอยู่ ทำให้สามารถต่อยอดได้เพราะมีเอกชนหลายแห่งพร้อมสนับสนุน เรื่องการศึกษา เรานำข้อมูล กสศ. มาเทียบว่าเด็กคนไหนมีกำลังจ่าย มากน้อยแค่ไหน ถ้ามีฐานะดีอยู่แล้ว ทุนการศึกษาจะให้คนอื่น ซึ่งเรานำทุกโรงเรียนที่อยู่ในระบบเรามากางและเทียบสัดส่วนเด็กยากจนจากมากไปน้อย”

    ด้านนางสาวฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว 3 มิติ และผู้ก่อตั้ง The Reporters กล่าวว่า “จากประสบการณ์ทำงานข่าวที่ผ่านมาได้เจอปัญหาของเด็กและโรงเรียนที่ยากจน จึงนำเสนอเรื่องราวให้สังคมรับรู้ แต่พอมีคนมาถามว่าจะไปบริจาคให้เด็กยากจนที่ไหนได้บ้าง เราก็บอกได้ไม่หมด บอกได้แค่ที่ไปเจอ”

    “สมัยก่อนเราเสนอข่าวจนเด็กได้รับทุนการศึกษา เรารู้ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กหรือโรงเรียนที่ยากไร้ผ่านรายการโรงเรียนของหนู บทบาทของสื่อคือการขับเคลื่อนสังคม แต่วันนี้เรามี iSEE ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับเด็กที่ไปปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ และคนเหล่านั้นต้องการให้ภาครัฐหรือหน่วยงานต่างๆ เข้าไปให้การช่วยเหลือ” นางสาวฐปณีย์กล่าว