ThaiPublica > เกาะกระแส > ดีแทค จับมือดีป้า เปิดตัวหลักสูตร “ห้องเรียนเด็กล้ำ-ห้องเรียนครูล้ำ” โครงการสู้ “ข่าวปลอม”

ดีแทค จับมือดีป้า เปิดตัวหลักสูตร “ห้องเรียนเด็กล้ำ-ห้องเรียนครูล้ำ” โครงการสู้ “ข่าวปลอม”

18 สิงหาคม 2020


17 สิงหาคม 2563 “ดีแทค” ผนึก “ดีป้า-กองทุนสื่อฯ-มูลนิธิอินเทอร์เน็ต” เปิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้ พัฒนาแพลตฟอร์มหลักสูตรออนไลน์ จุดเด่นเป็นสิ่งที่ไม่มีสอนในโรงเรียน ดึง “นักเรียน” ร่วมพัฒนาโปรเจคให้สอดรับทักษะดิจิทัลแห่งอนาคต

นายมาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC กล่าวว่า “ดีแทคมีความเชื่อมั่นว่า เยาวชนไทยไม่ใช่เหยื่อ แต่เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงและหยิบยื่นความช่วยเหลือให้เพื่อนในวัยเดียวกันได้ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์สังคมดิจิทัลอย่างมีความรับผิดชอบ ดังนั้นดีแทคจึงให้ความสำคัญกับการยกระดับทักษะทางดิจิทัล (digital upskilling) ให้เยาวชนฝึกสร้างกระบวนการทางความคิดและพัฒนาทักษะเพื่อรับกับการปรับใช้ดิจิทัลเพื่อโอกาสทางอาชีพ”

การผนึกความร่วมมือกับภาครัฐและประชาสังคมอย่าง “ห้องเรียนเด็กล้ำ-ห้องเรียนครูล้ำ” เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ความยั่งยืนของดีแทคผ่านการสร้างความร่วมมือและสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย (Policy drive) ควบคู่ไปกับการสร้างองค์ความรู้และสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักในวงกว้าง (Thought leadership) ตลอดจนการสร้างความรู้และทักษะที่จำเป็นแก่ครู พ่อแม่และผู้ปกครอง (Capacity building)

หลักสูตรห้องเรียนเด็กล้ำ ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด “หลักสูตรที่ไม่มีในห้องเรียน แต่มีในโลกชีวิตจริง” แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนคือ หลักสูตรการสร้างทักษะในการแยกแยะภัยในโลกออนไลน์ผ่านระบบการคิดเชิงวิพากษ์ และวิธีรับมืออย่างเป็นระบบ – แนวทางปฏิบัติตนที่เหมาะสมในโลกออนไลน์

เบื้องต้นห้องเรียนเด็กล้ำ แบ่งออกเป็น 8 วิชา ได้แก่

    (1) วิชา Online Privacy & Sexual abuse เรียนรู้เรื่องลักษณะของข้อมูลส่วนบุคคล ความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคล และการละเมิดและแสวงหาประโยชน์ทางเพศ
    (2) Diversity Respect to Stop Cyber Bullying เข้าใจถึงความหลากหลายในสังคม เพื่อหยุดการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์
    (3) Anatomy of Fake News เรียนรู้ความหมายและองค์ประกอบต่างๆ ของข่าวปลอม วิธีและเครื่องมือที่สามารถใช้ในการแยกแยะ ระบุข่าวปลอม และผลกระทบที่เกิดขึ้น
    (4) AI Fake Content เรียนรู้ AI ที่ถูกมาใช้สร้างข้อมูลเท็จ ภาพปลอม วิดีโอปลอม พร้อมทั้งเรียนรู้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่สามารถใช้ในการตรวจสอบข้อมูลเท็จที่ถูกสร้างขึ้น
    (5) Board Game Development เรียนรู้การใช้บอร์ดเกมส์ในการสร้างความตระหนักและความรู้แก่กลุ่มเป้าหมาย องค์ประกอบในการทำบอร์ดเกมส์ การวางรูปแบบเกมส์ให้น่าสนใจ การออกแบบกลไกของเกมส์ การทดสอบและการทำคู่มือสำหรับเกมส์ รวมถึงเรื่องการผลิต การจัดจำหน่าย และลิขสิทธิ์ทางปัญญา
    (6) Storytelling & Content Creator เรียนรู้พื้นฐานการสร้าง online content
    (7) Data Visualization + Storytelling for Kids เรียนรู้ความสำคัญของการใช้ข้อมูล ข้อดีของการสื่อสารในเชิงปริมาณ วิธีการเก็บข้อมูลและการจัดการข้อมูลให้เรียบร้อย รวมทั้งวิธีการเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นภาพ
    (8) Chatbot เรียนรู้วิธีการและเทคนิคการสร้าง AI Chatbot ด้วยโปรแกรม DialogFlow

ส่วนห้องเรียนครูล้ำ จุดประสงค์เพื่อยกบทบาทครูเป็นโค้ชช่วยสร้างทักษะชีวิตให้นักเรียน โดยในเบื้องต้นหลักสูตรจะประกอบด้วยเนื้อหา 4 วิชา ได้แก่ (1) วิชาบูรณาการสื่อออนไลน์เพื่อการสอนในศตวรรษที่ 21 (2) วิชาความหลากหลายทางเพศเพื่อหยุดการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ (3) วิชาการปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันทางออนไลน์ (Digital resilience for teacher ) และ (4)การใช้สื่อศึกษาอย่างสร้างสรรค์

นายมาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น(ขวา)ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์(ซ้าย)

ด้านดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA (ดีป้า) มองว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีส่วนกระตุ้นให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งมิติทางสังคม เศรษฐกิจ ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาสินค้าหรือบริการในอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นความท้าทายของดีป้าที่จะพัฒนาศักยภาพและทักษะของบุคลากร โดยเฉพาะนักเรียน-นักศึกษา เพื่อให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

ดร.ณัฐพลกล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยติด 5 อันดับแรกของโลกที่เด็กสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและอุปกรณ์ (device) แต่ในขณะเดียวกันสถิติก็ชี้ว่า เด็กไทยจำนวน 1 ใน 5 คน หรือประมาณ 20% ของเด็กทั้งหมดเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีไม่ถูกวิธี สะท้อนถึงความรู้ไม่เท่าทันเทคโนโลยีที่ปรับตัวรวดเร็ว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำให้เด็กมีความรู้เท่าทันและสร้างภูมิคุ้มกัน (literacy) ในโลกไซเบอร์

“โจทย์คือทำอย่างไรที่จะดึงศักยภาพความรู้ด้านการรู้เท่าทันสื่อออกมาเพื่อในเชิงบวก เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเยาวชนเอง หรือต่อยอดเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ” ดร.ณัฐพลกล่าว

ดร. ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในฐานะพันธมิตรหลักสูตรฯ กล่าวว่า การส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนให้มีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ รวมทั้งสามารถใช้สื่อในการพัฒนาตนเองชุมชนและสังคมจึงเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของกองทุนฯ ซึ่งห้องเรียนเด็กล้ำจะช่วยตอบโจทย์การเรียนรู้และเสริมทักษะใหม่ด้านดิจิทัลแก่เด็กและเยาวชน

ในงานเปิดเว็บไซต์หลักสูตรห้องเรียนเด็กล้ำ ยังได้มีการขับเคลื่อนประเด็นการเสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์และการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์โดยกลุ่ม “นักเรียน” ภายใต้โครงการ Young Safe Internet Leader’s Cyber Camp 2020 ควบคู่ไปกับการพัฒนาหลักสูตรห้องเรียนเด็กล้ำ และมีนักเรียนมาร่วมพูดคุยถึงผลงานและการขับเคลื่อนในประเด็นดังกล่าว

นางสาวประภาสิริ วรรณวงศ์ อายุ 16 ปี โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย ตัวแทนทีม Podcast Guide Life: XY Series กล่าวว่า ตนและทีมทำโครงการในรูปแบบพอดแคสต์ (podcast) เพื่อสื่อสารถึงวัยรุ่นและคนทำงานเกี่ยวกับความแตกต่างทางเพศ และการหยุดกลั่นแกล้งภายในโรงเรียน

นางสาวประภาสิริกล่าวอีกว่า ในวันที่ 17 ส.ค.63 ได้เผยแพร่พอดแคสต์ไปแล้ว 1 ตอนในเรื่อง LGBTQ+ และมีแผนจะทำตอนต่อไปในประเด็นที่คอรบคลุมเกี่ยวกับ LGBTQ+ ทุกมิติ เช่น มิติทางกฎหมาย Pride Month ความเป็นส่วนตัวเชิงเพศวิถี การกลั่นแกล้งทางเพศวิถี แนวทางการอยู่ร่วมกันในสังคม ฯลฯ โดยได้ทำแบบสอบถามทั้งก่อนและหลังนำเสนอพอดแคสต์ พบว่าหลังจากนำเสนอพอดแคสต์ไปแล้วมีคนเข้าใจประเด็นเรื่อง LGBTQ+ มากขึ้นเป็น 83.5% จากเดิม 45%

“หนูมีเพื่อนที่เป็น LGBT เขาโดนพูดจาไม่ดีใส่ แทนที่สังคมจะช่วยเขา แต่สังคมกลับหัวเราะเยาะใส่เขา แต่ก่อนญาติกับแม่พูดไม่ดีเกี่ยกวกับ LGBT แต่พอหนูลงอีพีแรกที่พูดเรื่องแอลจีบีที เพื่อนเริ่มสนใจและเข้ามาฟังกัน กดแชร์กัน คนใกล้ตัวก็เข้าใจประเด็นมากขึ้น…หนูคิดว่าสังคมควรทำสื่อที่ดีมากขึ้นเพื่อเปลี่ยนจากความคิดที่ไม่ดีเป็นดีได้” ตัวแทนทีมพอดแคสต์กล่าว

นายวีระภัทร แสงอรุณ (กลาง) นายธนกฤต งาเกาะ (ขวา)

นายวีระภัทร แสงอรุณ อายุ 16 ปี นักเรียนโรงเรียนทุ่งศุขลาพิทยา (กรุงไทยอนุเคราะห์) ตัวแทนทีม TP Make Sure On Tour กล่าวว่า ทีมของตนทำค่ายส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับข่าวปลอม เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางโลกไซเบอร์ให้ทุกคนกลายเป็นพลเมืองที่ดี โดยกิจกรรมในค่ายจะให้ความรู้เกี่ยวกับข่าวปลอม เช่น วิธีการตรวจสอบที่มาของแหล่งข่าว ผลกระทบจากข่าวปลอม การใช้ Google Image และตรวจสอบเจตนาของผู้สร้างข่าวปลอมผ่านกรณีศึกษาต่างๆ

“อยากให้ทุกคนใส่ใจว่าตัวหนังสือไม่กี่ตัวในโลกไซเบอร์ทำลายชีวิตเขาได้ ผมก็อยากให้สังคมปลอดภัยและน่าอยู่ พวกเราอยากแก้ปัญหาตรงนี้ เลยเลือกกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กวัยรุ่น ถ้าเราปลูกฝังตั้งแต่เริ่มจะเหมือนเป็นการฉีดวัคซีน เรารู้สึกว่าค่ายของเราสามารถทำให้น้องเข้าใจและสนใจข่าวปลอมมากขึ้น เขาเอาความรู้ไปบอกต่อพ่อแม่และเป็นแกนนำจัดค่ายรุ่นต่อไปได้” นายวีระภัทรกล่าว

นายธนกฤต งาเกาะ อายุ 17 ปี นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี ตัวแทนทีมเก๋าจริง ไม่ชัวร์ ไม่แชร์ กล่าวว่า ตนและทีมงานเลือกที่จะพัฒนาเป็นบอร์ดเกม (การ์ดเกม) เพื่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายหลักคือผู้สูงอายุ เพราะตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมที่มีการส่งต่อผ่านโซเชียลมีเดียได้ง่าย

“สมัยก่อนผมเคยเจอปัญหาข่าวปลอม ที่เสียใจมากคือมาจากคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ ถ้าเขาแชร์มาให้ แปลว่าเขาหวังดี แต่ในเมื่อเขาไม่สามารถกลั่นกรองได้ก็กลายเป็นสิ่งที่ทำร้ายผมแทน” นายธนกฤตกล่าว

นายธนกฤตกล่าวอีกว่า ตั้งแต่เริ่มทำโครงการบอร์ดเกมมา ได้ไปลงพื้นที่ทดสอบกับกลุ่มต่างๆ และพบว่าในระหว่างการเล่นการ์ดเกม ผู้เล่นได้มีการพูดคุยถกเถียงแลกเปลี่ยนในเรื่องข่าวปลอม เช่น คุยกันว่าข่าวนี้เกินจริงไหม สำนักข่าวนี้ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย ฯลฯ และเมื่อวัดคะแนนหลังเล่นเกมพบว่าผู้เล่นมีคะแนนความรู้เท่าทันข่าวปลอมที่สูงขึ้น