ThaiPublica > คอลัมน์ > สังคมฉุกคิด เพื่อสังคมไทยที่ดีกว่า

สังคมฉุกคิด เพื่อสังคมไทยที่ดีกว่า

3 สิงหาคม 2020


ดอม ขุนพินิจ

ทำไมต้อง ‘สังคมฉุกคิด’?

สังคมที่เราอยู่เป็นสิ่งที่กำหนดชีวิตของเรา แม้ว่าประเด็นทางสังคมและข่าวการเมืองต่างๆ อาจจะฟังดูเป็นเรื่องไกลตัวและตึงเครียดสำหรับบางคน และลำพังการใช้ชีวิตให้รอดไปในแต่ละวันก็มีเรื่องน่าปวดหัวมากพออยู่แล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในฐานะส่วนหนึ่งของสังคม ชีวิตของเราทุกคนย่อมได้รับผลกระทบจากความเป็นไปและทิศทางของสังคม ไม่ว่าจะในทางตรงหรือทางอ้อม

ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงอยากริเริ่มคอลัมน์ ‘สังคมฉุกคิด’ เพื่อชวนให้คนไทยหันมามองความเป็นไปต่างๆ ในสังคมรอบตัว หากสิ่งใดเป็นปัญหา ก็ควรจะร่วมกันคิดวิเคราะห์เพื่อช่วยเสนอแนวทางแก้ไข แม้บางคนอาจคิดว่าเราเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้หรอก จะไปคิดให้เหนื่อยทำไม แต่การไม่พูดถึงปัญหาไม่ได้ทำให้ปัญหาหายไปไหน มีแต่จะทำให้เราต้องทนกับความผิดเพี้ยนของระบบต่างๆ ในสังคมต่อไป ซึ่งล้วนส่งผลในเชิงลบต่อชีวิตของเราได้อย่างไม่จบไม่สิ้น

ผู้เขียนจึงอยากใช้คอลัมน์นี้ชวนให้ ‘สังคมฉุกคิด’ ไปด้วยกัน โดยจะหยิบยกประเด็นหรือปรากฏการณ์ทางสังคมที่เห็นว่าสะท้อนแง่มุมบางอย่างที่น่านำมาขบคิดมาเล่าสู่กันฟัง และเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ผู้เขียนขอใช้บทความแรกนี้เพื่ออธิบายทรรศนะเบื้องต้นของตนเองว่า ‘สังคมฉุกคิด’ น่าจะนำไปสู่อะไรได้บ้าง

‘สังคมฉุกคิด’ แล้วได้อะไร?

ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว เนื่องจากเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม สังคมเป็นอย่างไรก็ย่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเรา เพราะฉะนั้นเราจึงควรให้ความสนใจหากสังคมที่เราอยู่มีปัญหาในแง่มุมต่างๆ และเรียกร้องให้เกิดการแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการบริหารความเป็นไปในประเทศโดยรัฐบาล เพราะเป็นตัวแปรที่มากำหนดคุณภาพชีวิตของเราโดยตรง หากจะให้ก่อผลดีสูงสุดต่อสมาชิกในประเทศอย่างประชาชน รัฐบาลก็ควรมาจากประชาชนและมุ่งทำงานเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน และถ้าไม่เป็นเช่นนั้น คนที่เป็นสมาชิกของประเทศนั้นๆ ก็ควรตระหนักว่าเป็นปัญหาและมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ดีกว่าเดิม

เรื่องหนึ่งที่เป็นตัวอย่างได้ชัดเจนคือ ‘รัฐสวัสดิการ’ (welfare state) ซึ่งเป็นที่พูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย หมายถึงรูปแบบการบริหารประเทศที่มุ่งเน้นให้รัฐบาลทำหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นรัฐบาลต้องมุ่งสร้างประเทศที่ประชาชนมีชีวิตมั่นคงอย่างถ้วนหน้าและมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีรองรับอย่างทั่วถึง ซึ่งจะได้มาด้วยการบริหารงบประมาณภาษีและทรัพยากรในประเทศที่ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ตัวอย่างประเทศรัฐสวัสดิการที่ขึ้นชื่อ ได้แก่ สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก และไอซ์แลนด์ หรือที่เรียกว่ากลุ่มประเทศนอร์ดิก ซึ่งมักได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ประชาชนมีความสุขเป็นอันดับต้นๆ ของโลกมาเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน1 (ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการได้ที่นี่2)

ถ้าประเทศไทยมีรัฐบาลที่มุ่งทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยยึดหลักรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ซึ่งมีสวัสดิการเป็นสิทธิที่ประชาชนทุกคนพึงได้รับ ไม่ใช่ “บุญคุณ” ที่ต้องพิสูจน์ความอนาถาให้ได้มา

คนไทยทุกระดับฐานะจะสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ (ซึ่งถือเป็นการสร้างประชากรที่มีคุณภาพให้แก่ประเทศด้วย) ได้มีโครงสร้างพื้นฐานอย่างถนนหนทางและระบบขนส่งมวลชนดีๆ ใช้กันทั่วประเทศ ความเจริญก็จะกระจายสู่ต่างจังหวัด ไม่ใช่กระจุกกันอยู่ในเมืองหลวงที่เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาแทบทุกอย่างจนทำให้คนต่างจังหวัดจำนวนมากต้องดั้นด้นพลัดพรากจากบ้านเกิดเข้ามาทำงาน

นอกจากนี้คนไทยยังจะมีความมั่นคงในทุกจังหวะของชีวิตได้ไม่ว่าจะเกิดมารวยหรือจน ด้วยสวัสดิการต่างๆ อย่างเช่น เงินบำนาญวัยเกษียณ สิทธิการลาคลอด สิทธิการรักษาพยาบาล หรืออาจถึงขั้นเงินเดือนถ้วนหน้าสำหรับประชาชนทุกคน! (ซึ่งผู้เขียนเองเห็นว่าน่าสนใจและหากจะทำก็จำเป็นต้องผ่านการศึกษาวิจัยเป็นอย่างดีเพื่อหาจุดที่เหมาะสมที่สุด ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่3) และอีกปัจจัยที่ขาดไม่ได้คือนโยบายการบริหารประเทศที่มุ่งต่อต้านการกดขี่และการเอารัดเอาเปรียบ ด้วยกลไกอย่างเช่น กฎหมายสิทธิแรงงาน และการป้องกันการผูกขาดซึ่งไม่เอื้อให้เกิดการกระจายรายได้และการแข่งขันในตลาดอันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค (ซึ่งก็คือประชาชนในประเทศนั่นเอง)

ทั้งหมดนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและความมั่นคงในชีวิตเท่านั้น แต่ยังจะทำให้คนในชาติมีโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่มีคุณภาพได้โดยไม่มีระดับฐานะเป็นอุปสรรคอย่างในทุกวันนี้ จึงถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาส เมื่อประชาชนได้รับการส่งเสริมให้มีโอกาสในการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพของตนเอง ประเทศก็จะได้มีทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพมาพัฒนาและสร้างความมั่งคั่งให้ประเทศต่อไป ซึ่งรวมถึงเงินภาษีที่จะเป็นงบประมาณเพื่อทำทั้งหมดที่ว่ามานี้และส่งเสริมคนในประเทศได้สืบไป นี่จึงเป็นความมั่นคงของชาติที่แท้จริง

และถ้าเป็นได้เช่นนี้ เมื่อเกิดวิกฤติที่สั่นคลอนความมั่นคงในชีวิตของคนดังที่เราประสบการระบาดของโควิด-19 ตลอดช่วงที่ผ่านมานี้ รัฐบาลของประเทศที่มีทิศทางการบริหารที่ให้ความสำคัญกับประชาชนก็จะคุ้มครองสวัสดิภาพและความมั่นคงของคนในชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง ทำให้ประชาชนอยู่รอดไปได้แม้ยามเกิดวิกฤติ ตัวอย่างเช่น สหราชอาณาจักรที่รัฐบาลมีนโยบายช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงานให้ธุรกิจ 80 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน4 และชดเชยรายได้ให้แก่ผู้ที่ไม่มีนายจ้าง 80 เปอร์เซ็นต์ของรายได้5

นอกจากระบบรัฐสวัสดิการและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แล้ว ประเทศที่เอื้อต่อความมั่นคงในแง่ของความสงบสุขของคนในชาติยังต้องมุ่งเน้นเรื่องความยุติธรรม สิทธิเสรีภาพ และการปลูกฝังค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความเสมอภาคและมนุษยธรรม เพราะจะทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพต่อกัน ไม่มีใครละเมิดสิทธิหรือเอาเปรียบใครได้ง่ายๆ

ทั้งหมดนี้ควรเป็นเป้าหมายของสังคมมนุษย์ทุกหนแห่ง เพราะสุดท้ายแล้ว คงไม่มีใครอยากอยู่ในสังคมที่มีคนรอดจากคดีร้ายแรงได้ด้วยอำนาจเงิน6 หรือที่มีคนหายสาบสูญไปได้เฉยๆ เพียงเพราะวิพากษ์วิจารณ์ผู้กุมอำนาจในรัฐ7 ซึ่งล้วนเป็นสิ่งเกิดขึ้นได้ง่ายในประเทศที่คนกลุ่มใดกลุ่มนึงมีอภิสิทธิ์ในการเข้ามาบริหารประเทศอย่างไม่เป็นธรรมและไม่ยึดโยงกับประชาชน8 ตลอดจนไร้ระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ (checks and balances) ที่โปร่งใส

เพราะฉะนั้น ผู้เขียนจึงอยากชวนให้คนไทยมา ‘ฉุกคิด’ ไปด้วยกัน โดยเริ่มจากการตระหนักรู้ว่าทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือทิศทางการพัฒนาของสังคมมนุษย์ที่ควรจะเป็น จากนั้นจึงตั้งเป้าว่าหากตรงไหนยังเป็นปัญหาก็ควรได้รับการแก้ไข รวมทั้งสิ่งที่เป็นอุปสรรคของการพัฒนาสู่เป้าหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชนในชาติด้วย

หากเป็นได้ดังทั้งหมดที่ว่ามานี้ ก็น่าจะทำให้ประเทศไทยของเรากลายเป็นบ้านที่ดีกว่านี้สำหรับประชาชนคนไทย คนไทยไม่ควรต้องทนกับสภาพบ้านเมืองที่ย่ำแย่อีกต่อไป และไม่ควรมีใครต้องถูกบีบบังคับให้ทนกับความยากจนข้นแค้นไปตลอดชีวิตด้วยการอ้างค่านิยมงมงายอย่างเรื่อง “เวรกรรม” ที่มีไว้เพื่อกล่อมเกลาไม่ให้คนในสังคมลุกขึ้นมาเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

หมดเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะเป็นดินแดนของความเหลื่อมล้ำและความด้อยพัฒนาจากการบริหารงบประมาณที่ไร้ประสิทธิภาพ ประเทศไทยของเรามีศักยภาพที่จะพัฒนาให้ดีสำหรับคนในประเทศได้มากกว่านี้ ทั้งหมดนี้คือปัญหาที่พวกเราควร ‘ฉุกคิด’ ว่าต้องเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขอย่างจริงจังโดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก นี่คือสิ่งที่เราทำได้ในฐานะประชาชนของประเทศ ซึ่งก็เพื่อชีวิตที่มั่นคงและมีคุณภาพมากกว่านี้ของคนไทยอย่างเราๆ ทุกคนและลูกหลานของเราในอนาคตนี่เอง

จาก ‘ฉุกคิด’ สู่ ‘ต่อยอดความคิด’ ผ่านวัฒนธรรมการถกเถียงแลกเปลี่ยน

นอกจากการ ‘ฉุกคิด’ ของแต่ละคนเพื่อมุ่งสู่สังคมไทยที่ดีขึ้น อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการช่วยกันสร้างความตระหนักรู้ในสังคมโดยใช้วัฒนธรรม ‘ต่อยอดความคิด’ ซึ่งทำได้ด้วยการถกเถียงแลกเปลี่ยนโดยมีจุดประสงค์ร่วมกันคือเพื่อสังคมที่ดีขึ้นสำหรับมนุษย์ทุกคน

ในกรณีของประเทศไทย แม้ว่าที่ผ่านมาจะไม่ให้ความสำคัญกับการปลูกฝังวัฒนธรรมการคิดวิเคราะห์และการถกเถียงบนพื้นฐานของเหตุผลอย่างเคารพต่อความเห็นต่างและต่อจุดยืนของตนเอง จนเกิดเป็นปัญหาความขัดแย้งทางความคิดอย่างที่เราเห็นในสังคมไทยปัจจุบัน แต่ผู้เขียนเชื่อว่าเราสามารถช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรมดังกล่าวในสังคมนี้ได้ ซึ่งจะนำไปสู่ฉันทามติในการพัฒนาประเทศไทยอย่างเสมอภาค เป็นธรรม และให้ความสำคัญกับทุกกลุ่มคน (inclusive) ได้มากที่สุด

ดังนั้น เราจึงต้องช่วยกันสร้างความตระหนักรู้ให้แก่คนรอบข้างในสังคม ด้วยการแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดและถกเถียงกันด้วยเหตุผล ไม่เพียงกับผู้ที่มีจุดยืนตรงกัน แต่รวมถึงผู้ที่มีจุดยืนต่างกัน เพื่อทำความเข้าใจเหตุผลของอีกฝ่ายและนำมาเช็คให้แน่ใจว่าจุดยืนของเรานั้นผ่านการมองอย่างรอบด้านแล้ว ถือเป็นการต่อยอดความคิดของเราให้กว้างขึ้นด้วย

แต่แน่นอนว่าหากเจอใครที่ไม่สามารถถกเถียงกับเราได้อย่างมีอารยะเพราะเขาไม่อาจเข้าใจวัฒนธรรมการถกเถียงที่ว่านี้ เราก็ไม่จำเป็นต้องไปคาดหวังอะไร หากจะสนทนาด้วย ก็ควรตั้งใจอธิบายด้วยเหตุผล ไม่ใช่เพราะต้องเปลี่ยนความคิดของใคร แต่อย่างน้อยก็เพื่อช่วยให้คนที่อาจจะได้ผ่านมารับฟังทุกคนได้มุมมองที่กว้างขึ้น หรือถ้าไม่อยากทำ ก็อาจไม่จำเป็นต้องไปด่าทอให้เสียอารมณ์ซึ่งมีแต่จะยิ่งทำให้เกิดความแตกแยกหรือการกีดกันเปล่าๆ โดยไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรเลย

เพราะไม่ว่าอย่างไร สุดท้ายแล้วสังคมที่ดีในประเทศที่ดีสำหรับคนทุกกลุ่มก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ด้วยคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่จำเป็นต้องออกแบบร่วมกันโดยประชาชนของประเทศ คำว่า ‘ประชาธิปไตย’ จึงไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การกาบัตรเลือกตั้ง แต่ต้องเริ่มจากการที่ประชาชนในประเทศตระหนักว่าตนเองมีสิทธิ์เต็มที่ที่จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีจากการบริหารงานของรัฐบาลที่ต้องมุ่งทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนซึ่งมีแต่จะสร้างความมั่งคั่งให้แก่ประเทศ ตลอดจนต้องทำให้เกิดความเสมอภาคและการเคารพกันระหว่างประชาชนที่อยู่ร่วมกันในสังคม

ทั้งหมดนี้คือจุดยืนหลักของคอลัมน์ ‘สังคมฉุกคิด’ ที่อยากชวนให้ติดตาม และเตรียมพบกับประเด็น เรื่องราว และปรากฏการณ์ทางสังคมต่างๆ ที่ผู้เขียนจะหยิบยกมาให้ร่วมกันขบคิดต่อไป

หมายเหตุ:

1. It’s a Three-Peat, Finland Keeps Top Spot as Happiest Country in World

2.The Nordic Exceptionalism: What Explains Why the Nordic Countries Are Constantly Among the Happiest in the World

รัฐสวัสดิการ เป็นทางออกของประเทศไทย โดยผาสุก พงษ์ไพจิตร,ตลาดวิชาอนาคตใหม่ เรื่อง รัฐสวัสดิการ 101 โดยษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี (คลิป),รัฐสวัสดิการ 101 กับ ภาคภูมิ แสงกนกกุล : การจัดวางความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างรัฐ-สังคม , กว่าจะมาถึงแนวคิด ‘รัฐสวัสดิการ’ โดยภาคภูมิ แสงกนกกุล

3.UBI สวัสดิการพื้นฐานที่ไม่ใช่แค่แจกเงิน โดยษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี (คลิป) , หนังสือ Utopia for Realists ของ Rutger Bregman

4. Coronavirus: Government to pay up to 80% of workers’ wages https://www.bbc.com/news/business-51982005

5.Coronavirus: Government to pay up to 80% of workers’ wages

6.Coronavirus: UK government unveils aid for self-employed ,All charges dropped against Red Bull heir accused in death of police officer, Thai Police say

7. วันเฉลิม : ย้อนรอยผู้ลี้ภัย ใครถูก “อุ้มหาย” บ้างหลังรัฐประหาร 2557

8. FAQ เลือกตั้ง 62: ส.ว. 250 คน ทำไมมีสิทธิโหวตนายกรัฐมนตรี?