ThaiPublica > เกาะกระแส > ตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19 (ตอน จบ): แรงงานนอกระบบ

ตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19 (ตอน จบ): แรงงานนอกระบบ

13 สิงหาคม 2020


ตลอดเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานและศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU-ColLaR) ได้จัดกิจกรรมการสัมมนาระดมความคิดเห็นทางระบบออนไลน์ เรื่อง “ตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19: ผลกระทบ แนวโน้มและทางออก” เพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัย ความรู้ในเชิงนโยบาย ความร่วมมือเชิงวิชาการ การพัฒนาฐานข้อมูล และสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับแรงงานและทุกคนในสังคม โดยมีผู้แทนจากนายจ้าง ลูกจ้าง นักวิชาการ ภาครัฐ ภาคประชาชน มาร่วมหารือว่าจะร่วมกันจับมือก้าวข้ามวิกฤตินี้ไปได้อย่างไร

ต่อจากตอนที่ 6

ในตอนนี้จะกล่าวถึงแรงงานนอกระบบที่มีระดับการศึกษาไม่สูง หรือแทบไม่มีวุฒิการศึกษาเลย ส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนเมือง ได้รับค่าตอบแทนต่ำและมีรายได้ที่ไม่ต่อเนื่อง ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีวันหยุด ไม่มีวันลาและเข้าไม่ถึงความคุ้มครองของหลักประกันสังคม

ชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานนอกระบบในเมือง: ผลกระทบและทางออก

นายวิชยา โกมินทร์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอภาพรวมเกี่ยวกับสถานการณ์ของแรงงานนอกระบบในเมืองจาก “โครงการวิจัยเรื่องผลกระทบ การปรับตัว และการเปลี่ยนแปลงของแรงงานนอกระบบในพื้นที่เมือง” ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายนถึงปลายเดือนพฤษภาคม 2563 โดยวิเคราะห์ข้อมูลจาก 337 ตัวอย่าง ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ผู้ที่ทำงานการผลิตในบ้าน ลูกจ้างทำงานบ้าน ผู้ขับรถจักรยานยนต์ รถแท็กซี่ ช่างตัดผม ช่างเสริมสวย หมอนวด คนเก็บของเก่า นักร้อง นักดนตรี ผู้รับจ้างทั่วไป ที่อาศัยอยู่ทั่วประเทศ

จากการศึกษาพบว่าแรงงานนอกระบบในเมืองส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอาชีพเป็นลูกจ้างทำงานบ้าน มีประสบการณ์การทำงานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป อายุเฉลี่ยเกือบ 60 ปี จบระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา หรือไม่มีวุฒิการศึกษาเลย อาศัยอยู่กับครอบครัว ค่าใช้จ่ายที่บุคคลคนกลุ่มนี้ต้องรับผิดชอบคือ ค่าเช่าบ้าน และต้องเลี้ยงดูคนอีก 4 คนขึ้นไป ยกเว้น กลุ่มช่างตัดผม ช่างเสริมสวย หมอนวด ที่จะอาศัยอยู่คนเดียว เป็นโสดหรือเป็นม่าย กลุ่มนี้ได้รับเพียงสวัสดิการและความช่วยเหลือตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสิทธิประกันสังคม

ในช่วงแรก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่แน่ชัด และการย้ายกลับภูมิลำเนาทำได้ลำบาก จึงไม่ได้ย้ายกลับภูมิลำเนาทันที เกิดปัญหาในการประกอบอาชีพซึ่งต้องพบปะผู้คน รวมถึงมีปัญหาเรื่องการอยู่อาศัย เพราะส่วนใหญ่เช่าบ้านพักในพื้นที่ชุมชนซึ่งเสี่ยงต่อการติดโรค ข้อกังวลคือรายได้ที่ลดลงถึง 80-90% ซึ่งมีสาเหตุมาจากความกังวลเรื่องโรคระบาด ทั้งจากฝ่ายครอบครัว นายจ้าง และลูกค้า ทำให้ต้องหยุดงานหรือลดเวลางาน รายได้ที่ลดลงนี้ส่งผลกระทบต่อเรื่องปากท้อง ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ใช้ประกอบอาชีพ ค่าเลี้ยงดูรับผิดชอบครอบครัว หากแต่ปรับตัวโดยขอเงินเยียวยา ใช้เงินเก็บ กู้เงินนอกระบบ จำนำและปรับเปลี่ยนอาชีพ ทั้งนี้ ในอนาคตคาดการณ์ว่าต้องเตรียมพร้อมรับมือแรงงานนอกระบบสองกลุ่ม คือ กลุ่มเดิมและกลุ่มใหม่ซึ่งเป็นแรงงานในระบบที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดทำให้ต้องเปลี่ยนงาน

นายวิชยาเสนอแนะแนวทางว่า ในระยะสั้นต้องดูแลแรงงานนอกระบบกลุ่มเดิมให้ดำรงชีพต่อไปได้หลังเหตุการณ์โรคระบาด ในระยะยาวต้องหามาตรการผ่อนคลายเรื่องการประกอบอาชีพของแรงงานกลุ่มนี้ นอกจากนี้ยังได้ขอรัฐบาลให้นำแรงงานนอกระบบและการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบในเมืองผ่านองค์กรที่แรงงานกลุ่มนี้รวมกลุ่มจัดตั้งกันเอง ไปพิจารณาในแผนการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมด้วย

“แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ ที่อยู่ในเมือง อยู่ในบ้านเช่า ไม่มีสิทธิ์ ไม่มีชุมชน และไร้สิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือจากชุมชนตามรูปแบบเดิมที่ในนิยามของชุมชนแบบเดิม แต่ว่าพวกเขามีการรวมกลุ่มกัน และมีการจัดตั้งเป็นองค์กรเหมือนกัน เพราะฉะนั้น มีความเป็นไปได้ไหมที่องค์กรเหล่านี้จะเป็นผู้ที่ช่วยเหลือในการที่จะรวมตัวกัน แล้วก็ได้รับสิทธิ์ในการที่จะฟื้นฟู เป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังโควิด-19 แล้วก็ในการพัฒนาประเทศในอนาคต”

บทบาทของกระทรวงแรงงาน: แนวทางการช่วยเหลือและรับมือ

นางสาวดาธชา ต้นเจริญผล นักวิชาการแรงงานชำนาญการ กระทรวงแรงงาน เริ่มต้นจากการระบุถึงคำนิยามแรงงานนอกระบบของกระทรวงฯ ว่า หมายถึง ผู้ที่มีงานทำแต่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานหรือกฎหมายประกันสังคมมาตรา 33 โดยประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบถึง 20.4 ล้านคน จากประชากรผู้มีงานทำ 37.5 ล้านคน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตรประมาณ 10.9 ล้านคน ซึ่งมีอายุเฉลี่ยประมาณ 45 ปีขึ้นไป โดยอยู่ที่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุดประมาณ 7 ล้านคน รองลงมาคือภาคกลาง และน้อยที่สุดประมาณ 1.3 ล้านคน ในกรุงเทพมหานคร

ในสถานการณ์ปกติพบว่า แรงงานนอกระบบมีค่าตอบแทนที่ต่ำและรายได้ที่ไม่ต่อเนื่อง ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีวันหยุด ไม่มีวันลาและเข้าไม่ถึงความคุ้มครองของหลักประกันสังคม แม้จะมีมาตรการรัฐช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการขยายความคุ้มครองมาตรา 40 การให้บริการสุขภาพตามสิทธิ์หลักประกันสังคม การสนับสนุนการออมในกองทุนการออมแห่งชาติของกระทรวงการคลัง รวมถึงสวัสดิการอื่นๆ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน หากแต่ยังครอบคลุมไม่ทั่วถึงและเพียงพอ

กระทรวงแรงงานได้จัดทำแผนพัฒนาการจัดการบริหารแรงงานนอกระบบปี 2560-2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แรงงานนอกระบบมีความมั่นคงทางรายได้ ได้รับการคุ้มครองอย่างทั่วถึง อันจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 ประเด็น คือ (1) เสริมสร้างหลักประกันทางสังคมและขยายความคุ้มครองให้ทั่วถึง (2) เสริมสร้างสมรรถนะแรงงานนอกระบบเพื่อการทำงาน และ (3) สมรรถนะในการจัดการแรงงานนอกระบบ

สถานการณ์โรคระบาดส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างแรงงานจำนวนมาก หลายกลุ่มปรับตัวโดยเดินทางกลับภูมิลำเนา เปลี่ยนอาชีพกลายเป็นแรงงานนอกระบบ บางกลุ่มหางานใหม่ในเมือง หากแต่มีอำนาจต่อรองกับนายจ้างน้อยลง กลุ่มที่เปลี่ยนอาชีพใหม่นี้ยังไม่มีหลักประกันความมั่นคงและอาจกลับไปว่างงานอีก และอาจกลายเป็นแรงงานนอกระบบถาวรในที่สุด เนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้เป็นแรงงานไร้ฝีมือ การ reskill หรือ upskill จึงทำได้ยาก ส่วนกลุ่มที่ไม่ถูกเลิกจ้างก็อาจถูกลดชั่วโมงงาน ส่งผลให้ต้องทำงานเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มช่องทางและระดับของรายได้ หากแต่กลับมีหลักประกันความมั่นคงที่ลดลง

กระทรวงแรงงานได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อเยียวยาแรงงานนอกระบบ เช่น

  • โครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ เพื่อช่วยเหลือแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบให้มีรายได้ โดยทำกิจกรรมจ้างงานเร่งด่วน จ้างงานคนละ 10 วัน วันละ 300 บาท มีเป้าหมายที่ 7,000 คน
  • โครงการฝึกอาชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ปลูกผักไฮโดรโปนิก ตัดเย็บเสื้อผ้า การขายสินค้าออนไลน์
  • โครงการจัดตั้งศูนย์บริการจัดหางานพาร์ตไทม์ ซึ่งรวบรวมตำแหน่งงานว่างจากนายจ้างและสถานประกอบการที่ต้องการคนทำงานให้บริการ ณ ศูนย์บริการจัดหางานทั่วประเทศ
  • การจ้างบัณฑิตที่ว่างงานให้เป็นผู้ประสานงานโครงการของกระทรวงแรงงานในระดับพื้นที่
  • การตั้งกองทุนผู้รับงานไปทำที่บ้าน โดยรายบุคคลจะปล่อยกู้วงเงินไม่เกินคนละ 50,000 บาท รายกลุ่มไม่เกินกลุ่มละ 300,000 บาท ให้กับผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งได้จดทะเบียนไว้ที่กรมการจัดหางาน
  • การลดหย่อนอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 มาจากเดิมร้อยละ 9 เป็นเงิน 432 บาทต่อเดือน เหลือร้อยละ 1.8 ซึ่งเป็นเงิน 86 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2563
  • ในอนาคตคาดการณ์ว่ารูปแบบการจ้างงานจะเปลี่ยนไป จากการเพิ่มขึ้นของการใช้เทคโนโลยี การทำงานจากบ้าน (work from home) และการจ้างงานแบบชั่วคราว (พาร์ตไทม์) เป็นผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของอาชีพอิสระและเกิดอาชีพประเภทใหม่หลังสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงแรงงานตั้งเป้าจะใช้เทคโนโลยีจัดทำฐานข้อมูลแรงงานนอกระบบที่แม่นยำและสามารถสะท้อนสภาพการณ์ปัจจุบัน โดยมุ่งหวังให้เป็นฐานข้อมูลเพื่อวางแผนช่วยเหลือแรงงานได้ทั่วถึงในอนาคต หากเกิดสถานการณ์ลักษณะนี้อีก

    อีกทั้งยังมุ่งยกระดับส่งเสริมพัฒนาฝีมือแรงงานนอกระบบให้สูงขึ้น เพื่อสร้างทักษะใหม่ที่สอดคล้องกับงานในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ เพราะแรงงานข้ามชาติอาจเข้ามาแทนแรงงานกลุ่มนี้ได้ พร้อมทั้งปรับระบบการคุ้มครองแรงงานนอกระบบให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสมและออกแบบระบบประกันสังคมเพื่อรองรับแรงงานกลุ่มนี้ กล่าวคือจะคุ้มครองแรงงานแบบอิสระ (ฟรีแลนซ์) และการจ้างงานชั่วคราวมากขึ้น

    “ในขณะนี้ กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างการยกร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ ซึ่งในร่างพระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดให้มีการสำรวจข้อมูลแรงงานนอกระบบ และกำหนดให้แรงงานนอกระบบมีสิทธิ์ยื่นขอขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงาน เพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามกฎหมาย รวมทั้งสามารถรวมกลุ่มกันจัดตั้งอาชีพและองค์กรแรงงานนอกระบบได้”

    สงขลากับมาตรการการรับมือโควิด-19: พลิกวิกฤติเป็นโอกาส

    นายไพโรจน์ สุวรรณจินดา รองนายกเทศมนตรีนครสงขลา ได้กล่าวถึงนโยบายพัฒนาเมืองของเทศบาลนครสงขลาช่วงสถานการณ์โรคระบาด โดยนโยบายส่วนใหญ่ที่ยกมาเป็นการเตรียมพร้อมฟื้นฟูหลังสถานการณ์คลี่คลาย เช่น เทศบาลนครสงขลาถือโอกาสช่วงนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคมจัดระเบียบผู้ค้าแผงลอย ให้การอบรมผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบทำให้ว่างงาน เช่น ช่างเสริมสวย ช่างตัดผม หมอนวด โดยเทศบาลนครสงขลาได้ร่วมกับ สพร. 12 ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานภาค 12 ของกระทรวงแรงงาน และ อบจ. ส่งคนที่ว่างงานเข้ารับการอบรมด้านวิชาชีพประมาณ 20 วัน มีค่าเบี้ยเลี้ยงให้ วันละ 150 บาท

    ระหว่างที่การท่องเที่ยวยังซบเซา เทศบาลนครสงขลาก็นำงบประมาณที่ไม่ได้ใช้เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดมาใช้เพื่อปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยว ทำทัศนียภาพสวยงาม สะอาด มีระเบียบ เพื่อให้พร้อมรับนักท่องเที่ยวเมื่อสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อลดรายจ่าย เช่น การปลูกผักที่บ้าน ให้ความรู้ประชาชนผ่านวิทยุชุมชนและเสียงตามสายเรื่องการประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 ในอนาคตเทศบาลนครสงขลามุ่งเป้าปรับปรุงด้านการศึกษา คือ จะเปลี่ยนบางโรงเรียนของเทศบาลนครสงขลาจากสายสามัญเป็นสายอาชีพ และขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยในเขตให้เปิดเรียนการสอนแบบ non-degree เพื่อรองรับความต้องการแรงงานในอนาคต เช่น หลักสูตรการอภิบาลผู้สูงอายุ การฝึกอบรมด้านการค้าขายออนไลน์ และการอบรมเรื่องภาษาให้ผู้ประกอบการเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน

    “ถือโอกาสที่เป็นวิกฤตินี้ ขึ้นมาจัดระเบียบกลุ่มแรงงานประเภทแผงลอยใหม่ ดูให้เป็นระเบียบ จัดระยะห่างทางสังคมอย่างสมควร ให้ใช้พื้นที่ที่เหมาะสม พยายามปรับปรุงพื้นที่ สถานที่ท่องเที่ยวให้ดีขึ้น เราพยายามสร้างมาตรฐานของผู้ประกอบการแรงงานนอกระบบให้สูงขึ้น”

    บทบาทของ สสว. ในสถานการณ์โควิด- 19 : ธุรกิจและแรงงานในกลุ่ม MSME

    นายวรพจน์ ประสานพานิช รองผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและแผนสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้อธิบายสภาพของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และ Micro SME (MSME) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่เป็นธุรกิจขนาดจิ๋ว หรือธุรกิจประเภทธุรกิจฐานรากไว้ว่า สถานการณ์โรคระบาดได้ทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของกลุ่มผู้ประกอบการ SME ของไทยและ MSME ของไทยที่แย่อยู่แล้วนั้นแย่ลงกว่าเดิม ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือผู้ที่อยู่ในภาคตะวันออก เพราะประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นหลัก สสว. ได้เสนอมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนให้รัฐบาล คือ การอุดหนุนการจ้างงานของธุรกิจ

    สถานการณ์ครั้งนี้อาจเป็นโอกาสให้ธุรกิจในประเทศไทยเร่งพัฒนา เป็นโอกาสให้หลายคนได้มาทำงานในสายการผลิตด้วย ทั้งนี้คนไทยมีจุดแข็งเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์เพื่อเตรียมรับ new normal ที่จะเกิดขึ้นหากสถานการณ์โรคระบาดยังไม่เรียบร้อยดี ในส่วนของแรงงานควรจะต้องมี future skill ได้แก่ ทักษะด้านเทคโนโลยี ด้านภาษา ทัศนคติที่ยืดหยุ่น และทักษะการเป็นผู้ประกอบการ รวมถึง semi-skill หรือการมีทักษะและความรู้หลากหลายด้าน เพื่อจะได้สร้างธุรกิจของตัวเองได้หากถึงคราวตกงาน และสามารถสร้างรายได้ด้วยการเปิดธุรกิจของตัวเอง

    ท้ายการเสวนา นายวรพจน์ได้เสริมว่า รัฐบาลควรมีนโยบายสร้างแหล่งเรียนรู้ให้แก่แรงงานและผู้ประกอบการโดยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และเห็นว่าแพลตฟอร์มจับคู่แรงงานและผู้ประกอบการออนไลน์จะช่วยให้ผู้ประกอบการและแรงงานเข้าถึงกันมากขึ้น

    “ผลกระทบจากวิกฤติคราวนี้มีปัญหาหนักมาก สิ่งที่จะโดนอันดับแรกก็คือว่าธุรกิจอาจจะล้ม เพราะถ้าล้มขึ้นมาปุ๊บ จะเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่างๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรต้องรีบทำไว้ก่อนก็คือ พยายามชะลอให้ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมต่างๆ ให้อยู่รอดได้ เราจำเป็นที่ต้องให้เขาอยู่รอดให้ได้ก่อน เพื่อที่จะรักษาการจ้างงานไว้”

    แรงงานกลุ่มเปราะบางเจ็บตัวมากที่สุดจากพิษโควิด-19

    นางสาวเสาวลักษณ์ ทองก๊วย นายกสมาคมส่งเสริมศักยภาพภาพสตรีพิการ ได้กล่าวถึงผลกระทบสถานการณ์โรคระบาดต่อแรงงานนอกระบบที่เป็นกลุ่มผู้พิการไว้ว่า มาตรการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบได้ละเลยแรงงานนอกระบบที่เป็นผู้พิการ ทั้งผู้ที่พิการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และผู้ที่มิได้พิการแต่กำเนิด ผู้ที่พิการแอบแฝง เช่น ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ไม่ยอมไปแจ้งเพื่อรักษาสิทธิบางประการ นอกจากนี้สถิติแรงงานนอกระบบของกระทรวงแรงงานนั้นยังเชื่อถือไม่ได้ กล่าวคือ ผู้พิการที่จดทะเบียนนั้นมีเพียง 3% จากผู้พิการทั้งหมด 15% ต่อจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ (ตามฐานข้อมูลสถิติการคำนวณสถิติจากรายงานขององค์การอนามัยโลก)

    ดังนั้น จำนวนคนพิการที่อยู่ในวัยทำงานและจดทะเบียนทำงานเป็นแรงงานนอกระบบ ประมาณ 60% จากผู้พิการที่อยู่ในวัยทำงานทั้งหมด 800,000 จึงมิใช่ตัวเลขที่แท้จริง สถานภาพของแรงงานเหล่านี้ในสถานการณ์ปกติก็ไม่ดีอยู่แล้ว กล่าวคือมีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างสูง ถูกผู้อื่นแสวงหาผลประโยชน์ กฎหมายแรงงานยังไม่คำนึงถึงผู้พิการ และข้อกำหนดเงินจ่ายเข้ากองทุนแทนการจ้างงานตามมาตรา 35 นั้น ทำให้แรงงานผู้พิการกลายเป็นแรงงานนอกระบบโดยปริยาย

    อีกทั้งกฎหมายผู้พิการก็ยังขาดมิติเชิงสังคม สถานการณ์โรคระบาดยิ่งทำให้สถานภาพของแรงงานผู้พิการยิ่งแย่ไปอีก โดยสภาอุตสาหกรรมเริ่มเคลื่อนไหวไปยื่นข้อเสนอต่อกระทรวงแรงงานให้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงนโยบายการจ้างงานตามมาตรา 34, 35, 36 เพื่อลดการจ้างงานเนื่องจากธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัวตามสถานการณ์เพื่อลดต้นทุน ซึ่งอาจส่งผลให้แรงงานกลุ่มนี้ถูกเลิกจ้างและเสี่ยงตกงานถาวรได้ต่อไปแม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัว แรงงานกลุ่มนี้เป็นแรงงานที่ใช้ทักษะไม่ซับซ้อน จึงนำเทคโนโลยีมาแทนได้ อีกทั้งอาจถูกทดแทนด้วยแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาด้วย

    ข้อควรคำนึงในส่วนของมาตรการสำหรับช่วยเหลือแรงงานผู้พิการหลังสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย มี 3 ประเด็นสำคัญคือ (1) การ reskill/upskill ให้แรงงานผู้พิการใช้เวลานานเนื่องจากพื้นฐานการศึกษาไม่สูงมาก (2) การปล่อยให้แรงงานกลุ่มนี้ว่างงานจะทำให้ถูกตัดขาดจากตลาดแรงงานในที่สุด เช่น การกลับภูมิลำเนาเพื่อทำงานภาคการเกษตรซึ่งไม่มั่นคง การค้าขาย อาชีพอิสระ ซึ่งโอกาสแข่งขันกับแรงงานทั่วไปมีน้อยมาก รวมถึงอุปสรรคทางกายภาพ เช่น การเดินทางโดยสาร การไม่ทราบเรื่องที่รัฐบาลประกาศ กฎระเบียบที่ไม่เอื้อให้ผู้พิการ และทัศนคติแง่ลบเรื่องทักษะการทำงานของผู้พิการ อีกทั้งยังขาดอำนาจต่อรอง (3) เนื้อหากฎหมายแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ หลักประกันสังคม และกฎหมายอื่นๆ ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย และการดิสรัปชันซึ่งทำให้ไม่สามารถคุ้มครองแรงงานนอกระบบได้ เพราะไม่ครอบคลุมอาชีพที่มีหลากหลายมากขึ้น

    นางสาวเสาวลักษณ์ได้ขอให้การแก้ปัญหาช่วยเหลือแรงงานนั้นเป็นไปโดยมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน และมีหลักการทางจริยธรรม อีกทั้งได้ย้ำให้คำนึงถึงทุนมนุษย์ ซึ่งหมายรวมถึงแรงงานนอกระบบที่เป็นผู้พิการด้วย ในฐานะสมาชิกในสังคม มีส่วนในการพัฒนาประเทศ และเสริมว่าความเปราะบางของแรงงานนอกระบบที่เป็นผู้พิการไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่แต่เดิมในตัวแรงงาน

    “เมื่อเวลามีการตัดสินใจทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และสังคมนี้ ไม่ได้เป็นการตัดสินใจจากฝ่ายใดฝ่ายเดียว แต่เป็นการตัดสินใจจากสหวิชาชีพ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญที่มาจากด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ หรือแม้แต่กฎหมาย และที่สำคัญที่สุดก็คือการเสริมทุนมนุษย์ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าเราเริ่มวางแผนกันทำตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เป็นไปได้ เพราะมนุษย์ทุกคนเป็นคนที่เรียนรู้ได้ แล้วก็ไม่มีข้อกำจัดในการเรียนรู้”

    นายมานพ แก้วผกา นายกสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ของผู้รับงานไปทำที่บ้าน รวมถึงภาพรวมสถานการณ์ช่วงโรคระบาดของเครือข่ายแรงงานนอกระบบว่า เมื่อเกิดสถานการณ์โรคระบาด แรงงานต่างลดราคางานและแย่งงานกันทำ ส่วนหนึ่งไปแย่งงานกลุ่มที่มีอาชีพอยู่แล้ว รายได้ที่ลดลงไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต นอกจากนี้ยังทำให้ไม่มีเงินส่งประกันสังคมตามมาตรา 39 มาตรา 40 ทำให้ขาดสิทธิ์ช่วยเหลือในสถานการณ์เช่นนี้ยิ่งขึ้นไปอีก ในเบื้องต้นสมาคมได้ช่วยให้สมาชิกให้เข้าถึงเงินเยียวยาจากรัฐบาล 5,000 บาท เช่น การเข้าถึงเทคโนโลยีและสอนวิธีขอรับเงินเยียวยา

    จากนั้นสมาคมได้สำรวจความต้องการเบื้องต้นของสมาชิกพบว่าต้องการปัจจัยเพื่อยังชีพ สมาคมก็ได้ร่วมมือกับสหพันธ์แรงงานนอกระบบมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน จัดหาถุงยังชีพให้และส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานที่สนใจจะเข้ามาช่วยเหลือ

    นอกจากนี้ ยังได้หางานให้สมาชิกโดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตที่บ้าน เช่น กลุ่มเย็บเสื้อผ้า ขณะเดียวกันสมาคมก็ได้เก็บข้อมูลอาชีพต่างๆ มาศึกษาว่าในอนาคตอาชีพเหล่านี้จะมีทิศทางอย่างไร ในอาชีพที่ยังฟื้นฟูได้ไม่เต็มที่หลังสถานการณ์โรคระบาดจะมีอาชีพใดมาเสริมได้ หรืออาชีพที่จะหายไปจะมีอาชีพใดมาแทน ซึ่งต้องขอให้รัฐบาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น มหาวิทยาลัย แนะแนวเกี่ยวกับอาชีพของแรงงานนอกระบบ

    นายมานพเน้นย้ำว่า รัฐบาลควรคำนึงถึงแรงงานเปราะบางกลุ่มนี้ในแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงด้วย เพราะแรงงานกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิ์เข้าถึงการฟื้นฟูจากชุมชนหรือจากท้องถิ่น โดยเฉพาะการหาแหล่งเงินทุนฟื้นฟู แรงงานกลุ่มนี้ไม่มีเงินออมเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก และไม่มีหลักประกันด้านอาชีพ ถึงแม้ว่าจะมีเงินทุนของธนาคารออมสิน 10,000 บาทช่วย แต่ก็ยังเข้าถึงยากอยู่ และในการนี้ได้ขอให้ตัวแทนของแรงงานนอกระบบเข้าไปมีส่วนออกเสียงมาตรการฟื้นฟูของรัฐบาลด้วย

    “รัฐเองมีเงินสำหรับฟื้นฟูแผนเศรษฐกิจต่างๆ มีถึง 400,000 ล้านบาท แต่ว่าภายใน 4 กลุ่มนั้น ส่วนมากแรงงานมากกว่าครึ่งนึงที่ไม่ใช่เกษตรกรที่ต้องการได้รับสิทธิ์การฟื้นฟู อย่างเช่นกลุ่มที่รับงานไปทำที่บ้าน ผู้ผลิตที่บ้านที่อยู่ห้องเช่าต่างๆ ใน กทม. เอง ซึ่งก็ไม่สิทธิ์ในชุมชน ไม่สิทธิ์ในท้องถิ่น ก็ไม่มีสิทธิ์ที่เข้าถึงการฟื้นฟูเหล่านั้น ดังนั้น เราจะบอกว่าแรงงานเปราะบางเหล่านี้อยากให้หน่วยงานรัฐเห็นความสำคัญและก็เข้ามาฟื้นฟูกลุ่มของแรงงานนอกระบบเหมือนกัน แล้วก็อยากให้ฟื้นฟูภายใต้ความสอดคล้องของกลุ่มอาชีพ แล้วก็ศักยภาพของแต่ละคน”

    หลากเสียงรับมือช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ

    จากนั้นนางสาวพูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธ์ จากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ เสนอแนะว่ารัฐควรนึกถึงแรงงานนอกระบบนอกภาคการเกษตรในแผนฟื้นฟูด้วย โดยใช้หลักการเกื้อกูลกัน เช่น ทำให้ผู้ที่สถานะทางการเงินและอาชีพมั่นคงตระหนักว่าจะช่วยแรงงานนอกระบบอย่างไร รวมถึงมองปัญหาอย่างรอบด้าน ให้เด็กรุ่นใหม่ช่วยสอนนวัตกรรมให้แรงงานนอกระบบที่เป็นผู้สูงอายุ และคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายด้วย การมีข้อมูลในระบบจะช่วยให้หาทางช่วยเหลือแรงงานนอกระบบได้ นอกจากนี้การช่วยเหลือแรงงานนอกระบบคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก และจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของชาติได้เร็วขึ้น แรงงานในระบบก็ช่วยได้ด้วยการบริโภคและสนับสนุนการบริการของจากแรงงานนอกระบบ

    “ทำอย่างไรแรงงานนอกระบบถึงจะมีส่วนร่วม คือแรงงานนอกระบบจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการคิดตรงนี้ด้วย เพราะคิดว่าเป็นคนที่ไม่เคยทำงาน ไม่เคยเป็นแรงงานนอกระบบ ไม่เคยที่จะอยู่ในสถานการณ์แบบเรา แล้วจะมาคิดโครงการให้เรา บางทีมันก็จะลำบาก ทำอย่างไรจึงจะเน้นเรื่องการมีส่วนร่วม”

    ในส่วนของ ดร.โชคชัย สุทธาเวศ ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงาน จากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาลัยมหิดล เสนอว่า ควรเรียกแรงงานนอกระบบว่าผู้ประกอบอาชีพอิสระเพื่อให้ครอบคลุมผู้ที่เป็นทั้งเจ้าของกิจการและเป็นตัวผู้ใช้แรงงานเอง และชี้ 3 ประเด็นสำคัญของแรงงานนอกระบบในสถานการณ์โรคระบาด ในประเด็นแรก แนวทางการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ เมื่อสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย หากธุรกิจดำเนินไปในลักษณะเดิมคือ ธุรกิจอยู่รอดมาได้ ระบบการผลิตและการจ้างงานกลับสู่แบบเดิม แรงงานนอกระบบก็จะรอดตัวไป หากธุรกิจปรับตัวใหม่แรงงานนอกระบบจะต้องเผชิญปัญหา ในเบื้องต้น แรงงานนอกระบบอาจต้องช่วยกันเองโดยการรวมกลุ่มและเพิ่มพูนข้อมูลข่าวสาร ส่วนรัฐบาลควรจะสร้างหลักประกันสังคมให้กับแรงงานนอกระบบ นอกเหนือไปจากในปัจจุบันที่มีเงินเยียวยาให้ 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหาในระยะยาว

    สำหรับหลักประกันสังคม ผู้ประกันตนมาตรา 40 หรือมาตรา 39 ยังมีจำนวนน้อย เพราะผู้ประกอบอาชีพอิสระไปสมัครกันน้อย และปัจจุบันกองทุนประกันสังคมไม่มีเงินช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ดังนั้นกองทุนอาจช่วยให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระกู้ยืมเงิน แล้วผ่อนระยะยาวโดยไม่มีดอกเบี้ย ประเด็นที่สองคือ การปรับปรุงประกันสังคม เพราะจะช่วยให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระได้ประโยชน์มากขึ้น จึงควรทำให้บุคคลกลุ่มนี้สมัครเข้าประกันสังคม ในปัจจุบันผู้สมัครตามมาตรา 40 ได้สิทธิประโยชน์แค่ในบริบทเสริมรายได้ค่าเจ็บป่วยเท่านั้น ส่วนกองทุนการออมแห่งชาติ จะให้สิทธิประโยชน์ก็ตอนเกษียณอายุเท่านั้น ดังนั้นกองทุนการออมควรปรับนโยบายให้มีการเบิกใช้เงินเมื่อจำเป็นภายใต้ข้อกำหนดบางอย่าง อนึ่ง ประกันสังคมและกองทุนแห่งชาติยังทำงานแยกกันอยู่แทนการเสริมกัน

    ประเด็นสุดท้ายคือหนทางความเป็นไปได้ของผู้ประกอบอาชีพอิสระในการสร้างความมั่นคงให้ตนเอง โดยเสนอว่าเพื่อให้เกิดความมั่นคง ผู้ประกอบอาชีพอิสระควรรวมตัวกันในรูปแบบอื่น เช่น การรวมตัวเพื่อความมั่นคงทางอาชีพนั้น โดยอาจเข้าร่วมหรือไปจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน สร้างสหกรณ์ credit union การรวมตัวอย่างมีระบบจะกระตุ้นให้สมาชิกสะสมเงิน และได้ฝากกระทรวงแรงงานให้พิจารณาเรื่องการนำผู้ประกอบอาชีพอิสระเข้าสู่ระบบ สุดท้ายนี้ สิ่งที่รัฐบาลอาจทำได้นอกจากให้เงินเยียวยา คือ โครงการเพื่อให้เกิดการจ้างงาน เช่น สร้างตำแหน่งงานในหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ องค์กรตลาดเพื่อการเกษตรควรช่วยเหลือรับซื้อสินค้าเกษตรจากชาวบ้านที่เดือดร้อน ส่วนชุมชนและภาคสาธารณะก็อาจช่วยสร้างงานในชุมชนด้วยเช่นกัน

    “การรวมตัวของผู้ประกอบอาชีพอิสระต้องมองในเชิงความมั่นคงทางธุรกิจร่วมกันในอนาคต และรูปแบบหน่วยธุรกิจแบบใดที่เราจะสามารถเสริมให้เข้มแข็ง และในที่สุดจะกลับมาช่วยเรา กลับมาช่วยสวัสดิการ จัดสวัสดิการกันเองได้ แล้วก็ทำให้เรามีระบบประกันสังคมที่แข็งแรงขึ้น มีอำนาจการต่อรองสูงขึ้น มีผู้แทนไปนั่งอยู่ในบอร์ดประกันสังคม”