ThaiPublica > เกาะกระแส > ตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19 (ตอน 5): แรงงานกิ๊กนอกระบบจะปรับตัวอย่างไร

ตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19 (ตอน 5): แรงงานกิ๊กนอกระบบจะปรับตัวอย่างไร

10 สิงหาคม 2020


ตลอดเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานและศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU-ColLaR) ได้จัดกิจกรรมการสัมมนาระดมความคิดเห็นทางระบบออนไลน์ เรื่อง “ตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19: ผลกระทบ แนวโน้มและทางออก” เพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัย ความรู้ในเชิงนโยบาย ความร่วมมือเชิงวิชาการ การพัฒนาฐานข้อมูล และสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับแรงงานและทุกคนในสังคม โดยมีผู้แทนจากนายจ้าง ลูกจ้าง นักวิชาการ ภาครัฐ ภาคประชาชน มาร่วมหารือว่าจะร่วมกันจับมือก้าวข้ามวิกฤตินี้ไปได้อย่างไร

ต่อจากตอนที่4

ในตอนนี้จะกล่าวถึงกลุ่มแรงงานกิ๊ก (gig) หรือแรงงานอิสระที่รับทำงานเป็นชิ้นๆ ไปว่าจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างไร และจะหาทางรับมือได้อย่างไร

แรงงาน “กิ๊ก” หรือ แรงงานนอกระบบแบบไทยๆ

นายอรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ CU-ColLaR ซึ่งเป็นผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับประเด็นเรื่องของแรงงานบนแพลตฟอร์ม ได้กล่าวว่า คำว่า “gig” หรือ “กิ๊ก” แท้จริงแล้วในบริบทแบบไทยก็คือการจ้างงานนอกระบบทั้งหมดทุกประเภท แต่ว่าคำว่า gig worker ในบริบทที่มีศึกษากันในสากลค่อนข้างเฉพาะเจาะจงไปถึงแรงงานนอกระบบที่อยู่บนแพลตฟอร์มเป็นส่วนใหญ่ โดยมากจะเป็นการจ้างงานแบบที่จบเป็นครั้ง และโดยมากจะจับคู่กันผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นหลัก

นายอรรคณัฐได้เพิ่มเติมในเรื่องของรูปแบบงานในปัจจุบัน ว่าสามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภท คือ งานรูปแบบเก่า งานรูปแบบเก่าบนความสัมพันธ์การจ้างงานแบบใหม่ และงานรูปแบบใหม่ ซึ่งการที่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าสภาพความสัมพันธ์การจ้างงานเป็นอย่างไร จะส่งผลอย่างมากต่อการคุ้มครองตัวแรงงาน

  1. งานรูปแบบเก่า ก็คืองานที่ต่อให้มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีไปอย่างไร แต่ว่ารูปแบบเดิมก็ยังอยู่ ยกตัวอย่างเช่น วินมอเตอร์ไซค์ แม้ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามา มีแอปพลิเคชัน มีธุรกิจแบบใหม่ที่เป็น platform economy อย่าง Grab, Favstay, GET หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ยังมั่นใจว่างานแบบเดิมก็ยังคงอยู่
  2. งานรูปแบบเก่าบนความสัมพันธ์การจ้างงานแบบใหม่ จะเป็นความสัมพันธ์การจ้างงานที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การสั่งซื้ออาหารผ่านแพลตฟอร์มซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน อาจจะเป็น Food Panda หรือ Grab Food หรือว่า Line man เป็นต้น
  3. งานรูปแบบใหม่ งานรูปแบบนี้ก็มักจะมาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ยกตัวอย่างเช่น ในอดีตก่อนที่จะมีวิทยุ เราก็ไม่มีอาชีพดีเจ และก่อนที่จะมี YouTube ก็ไม่มีอาชีพ YouTuber ไม่มีอาชีพ Influencer หรือ micro influencer อย่างปัจจุบัน

ในอนาคตเป็นที่คาดการณ์กันว่าจะมีงานรูปแบบใหม่เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งความจริงแล้วยังทราบว่างานรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นอย่างไร ถ้าสามารถคาดเดาถูก ก็จะทราบว่าทักษะประเภทไหนที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคต และทักษะประเภทไหนที่แรงงานในปัจจุบันจะต้องพัฒนา เพื่อที่จะมีโอกาสในการทำงานต่อไปในอนาคต

งานกิ๊กก็ถูกจัดให้อยู่ในหมวดของงานนอกระบบ และเนื่องจากการที่เรานิยามแรงงาน 2 แบบ คือ แรงงานนอกระบบกับแรงงานในระบบ ก็จะมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของสวัสดิภาพ สวัสดิการการคุ้มครองแรงงาน เพราะว่ากฎหมายก็มีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายคุ้มครองแรงงานต่างก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการนิยามการจ้างงานแค่ 2 แบบ แต่ว่าสิ่งที่เราว่าเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันก็คือ สิ่งที่เรียกว่า งานรูปแบบเก่าบนความสัมพันธ์การจ้างงานในรูปแบบใหม่ กฎหมายก็ยังไม่ได้เข้าไปกำหนดคำนิยามของแรงงานกลุ่มนี้ ซึ่งแน่นอนว่าเยอะขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นก็เลยทำให้เกิดสุญญากาศของการกำกับดูแลแรงงาน

สิ่งที่เป็นความท้าทายก่อนที่จะไปถึงเรื่องหลักประกันทางสังคมของแรงงานกลุ่มนี้ในตอนนี้คือ เราจะนิยามแรงงานว่าเป็นแรงงานนอกระบบและเป็นแรงงานในระบบอีกต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะว่ามันมีการจ้างงานรูปแบบใหม่ขึ้นมาแล้ว ดังนั้นความท้าทายอันดับแรกก็ต้องมีการขยายนิยามของความสัมพันธ์การจ้างงานให้ครอบคลุม ก่อนจะไปถึงเรื่องของการสร้างหลักประกันทางสังคมให้กับแรงงานที่เป็นแรงงานกิ๊ก แรงงานนอกระบบได้อย่างครบถ้วนทุกกลุ่ม เพราะตอนนี้กฎหมายก็ให้ความสำคัญกับแรงงานนอกระบบเฉพาะกลุ่มที่เป็นคำจัดกัดความแบบเดิมๆ

แต่กลุ่มที่เป็นคำจำกัดความแบบใหม่ๆ ก็ถูกกันออกจากการคุ้มครอง พอไม่ครอบคลุมก็เกิดสุญญากาศของการกำกับดูแล เกิดสภาพที่ไม่สามารถที่จะดูแลสิทธิ์ของแรงงานที่ทำงานบนแพลตฟอร์มได้ โดยที่ตัวแรงงานเองก็ไม่รู้ตัวว่าตัวเองสมควรที่จะได้รับสิทธิ์ในการดูแลอย่างไรบ้าง

ยกตัวอย่างเช่น แรงงานที่ทำงานอยู่บนแพลตฟอร์ม เช่น ไรเดอร์ (rider — ผู้ทำหน้าที่ส่งอาหารหรือสิ่งต่างๆ ของแพลตฟอร์มที่ให้บริการ) ความสัมพันธ์การจ้างงานไม่ชัดเจน ไม่รู้ว่าใครเป็นนายจ้าง ตัวแพลตฟอร์มที่ไรเดอร์ทำงานให้ ก็ไม่ได้มองไรเดอร์เป็นลูกจ้าง ตัวไรเดอร์เองก็ไม่ได้มองตัวเองเป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์ม แต่ว่าการคุ้มครองการทำงาน กฎหมายคุ้มครองแรงงานของที่บังคับใช้อยู่ทุกวันนี้ ก็มีกฎหมายสำหรับแรงงานนอกระบบกับแรงงานในระบบเท่านั้น

ดังนั้นเขาจะมองคนกลุ่มนี้เป็นแรงงานนอกระบบ แต่ในความเป็นจริงสภาพการทำงานไม่ได้เป็นการทำงานนอกระบบแบบที่เราคุ้นเคย แต่เป็นการทำงานนอกระบบแบบที่ตัวแพลตฟอร์มมีสภาพควบคุมเหนือตัวคนทำงานด้วย จึงทำให้กฎหมายไม่ครอบคลุมคนที่ทำงานและมีความสัมพันธ์การจ้างงานในลักษณะนี้

ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมบันเทิงจากโควิด-19

นายนพพร เพริศแพร้ว ศิลปินและนักดนตรี ที่อยู่ในอุตสาหกรรมบันเทิงมาอย่างยาวนาน ได้บอกเล่าถึงลักษณะอาชีพของตนเองว่า ศิลปินอิสระต่างก็ทราบดีว่ามีสวัสดิการทางสังคมน้อยกว่าอาชีพอื่น อีกทั้งรายได้ก็ไม่ประจำ เป็นรายได้ที่ถ้าขยันมากก็ได้มีเงินมาก ถ้าขี้เกียจไม่พัฒนางานก็จะน้อยลงหรือว่าไม่มีคนมาจ้าง แต่พอมีสถานการณ์โควิด-19 และมีมาตรการณ์ล็อกดาวน์ รวมทั้งรัฐบาลได้มีคำสั่งให้หยุดกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากเข้าร่วมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งกิจกรรมบันเทิงทั้งหลายก็ถูกงดไปด้วยนั้น ทำให้บุคคลที่อยู่ในอุตสาหกรรมบันเทิง ไม่ว่าจะนักร้อง นักแสดง หรือผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้รับผลกระทบอย่างมาก

แนวโน้มและบทบาทการทำงานแบบกิ๊กในอนาคตต่อไป

นางสาวว่าน ฉันทวิลาสวงศ์  คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและหัวหน้า Foresight & Futures Lap สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) ได้อภิปรายต่อถึงการวิจัยที่ผ่านมาเกี่ยวกับการทำงานในอนาคต ในเรื่องของเศรษฐกิจแบบกิ๊กโดยเฉพาะนี้ว่ามี 3 ประเด็นที่ร้อยเรียงกันอยู่ หนึ่งก็คือเรื่องตลาดแรงงาน ซึ่งยังตอนนี้มีโควิด-19 เกิดขึ้น ตลาดแรงงานก็เปลี่ยน งานหลายอย่างก็ไม่มีอุปสงค์ มีแต่อุปทาน (มีแรงงาน แต่ไม่มีความต้องการแรงงาน) ด้านนึงก็คือเรื่องของคุณภาพชีวิต พอตลาดแรงงานเปลี่ยน คุณภาพชีวิตของเราก็เปลี่ยนตามไปด้วย ซึ่งถ้าเราไม่ได้อยู่ในส่วนหนึ่งที่มันตรงกับอุปสงค์ของตลาด คุณภาพชีวิตเราก็จะเปลี่ยนไป ซึ่งเหล่านี้ก็จะไปเชื่อมโยงกับเรื่องของความเป็นธรรม และก็เรื่องของการที่หน่วยงานรัฐจะเข้ามามีส่วนในการช่วยรักษาคุณภาพชีวิต ส่วนปัจจัยสุดท้ายก็คือเรื่องของพื้นที่ทำงานหรือกายภาพที่มาเป็นตัวรองรับ ทำให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นด้วย ทั้งระยะเวลาการทำงานและก็เวลาที่อยู่นอกเหนือการทำงานด้วย

แนวโน้มการทำงานในอนาคตจึงแบ่งออกเป็น 3 หมวดดังที่กล่าวมา ซึ่งถ้าหากลองดูปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะพบว่า มีเรื่องของเทคโนโลยีที่มี automation เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีหุ่นยนต์ มีเรื่องของการที่คอมพิวเตอร์ฉลาดขึ้น ช่วยเราทำได้หลายอย่าง มีเรื่องของ บล็อกเชน ถัดมาก็คือเรื่องของ Connectivity (ภาวะเชื่อมต่อ) ซึ่งจริงแล้วๆ เรามีภาวะเชื่อมต่อที่หลายรูปแบบ รูปแบบหนึ่งก็เป็นการเชื่อมต่อในเชิงกายภาพก็คือเดินทางได้ง่ายขึ้น อีกรูปแบบหนึ่งคือ virtual (เสมือนจริง) ออนไลน์แล้วก็เป็นการเชื่อมต่อกันในเชิงของผ่านหน้าจอแทน มีเรื่องของข้อมูล ที่มันมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ เพราะทุกอย่างเป็นออนไลน์ ทุกอย่างผ่านดิจิทัล

จริงๆ ทุกการกระทำของมนุษย์ล้วนเป็นข้อมูล หรือว่าทุกการสัมผัสของเรากับโลกออนไลน์จากคอมพิวเตอร์ จากมือถือ จากหลายๆ อย่าง เหล่านั้นเป็นข้อมูลทั้งสิ้น ถัดมาก็เป็นเรื่องเงินอิเล็กทรอนิกส์ สังคมไร้เงินสดมากขึ้น เรื่องของ อนาคต (unknown technology) ก็คือยังมีเทคโนโลยีอีกมากที่ยังไม่รู้ และก็สุดท้ายก็คือพฤติกรรมของมนุษย์ก็จะเปลี่ยนไปเป็นเศรษฐกิจแบบกิ๊กมากขึ้น

ในอนาคตอันใกล้ ในส่วนของตลาดแรงงานเองนั้น งานบางส่วนที่ถูกแทนด้วยหุ่นยนต์มากขึ้นแรงงานจะกระจัดกระจายมากขึ้น ถัดมาก็คือมีความหลากหลายเชื้อชาติ อายุ ทักษะ ก็เพิ่มมากขึ้น มีความเหลื่อมของทักษะต่างๆ ที่มันแตกต่างกัน ตลาดแรงงานก็เข้าแบบกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาดมากยิ่งขึ้นด้วย ในส่วนของคุณภาพชีวิตจะพบว่า มีการจ้างงานแบบไม่เต็มเวลาหรือระยะสั้น คนออกสู่นอกระบบสวัสดิการหรือว่านอกระบบของการจ้างงานแบบเป็นเวลา ซึ่งบางส่วนก็ใช้แพลตฟอร์มมาเป็นตัวพื้นที่ในการหางานเหล่านั้นไป ซึ่งมันก็เป็นโอกาสทั้งในเชิงธุรกิจในการหางาน แต่ว่าในอีกมุมหนึ่งก็เป็นคำถามกลับมาถึงความมั่นคงและก็ความเป็นธรรมของแรงงาน สุดท้าย พื้นที่ทำงานก็จะเปลี่ยนไปด้วย เพราะว่าเมื่อไม่ได้ประจำอยู่ในบริษัทใดบริษัทหนึ่งแล้วก็ต้องหาอาชีพทำงานใหม่ บางคนทำงานที่บ้านหรือว่านั่งทำงานตาม co-working space ต่างๆ และมากไปกว่านั้นคือการทำงานมันไร้พรมแดนมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในส่วนของบทบาทที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต เราจะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ค่อนข้างจะคงที่ เรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างเสถียร แต่การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเป็นแบบก้าวกระโดดซึ่งในอนาคตทิศทางของการทำงานแบบกิ๊กจะเป็นแบบ VUCA world ก็คือมี volatile (ความผันผวน), uncertain (ความไม่แน่นอน), complex (ความซับซ้อน) และ ambiguous (ความคลุมเครือ) เปลี่ยนแปลงแบบรุนแรงและไม่แน่นอนขึ้นเรื่อยๆ

ในอนาคตกลุ่มที่อยู่เหมือนที่จะยืดหยุ่นมากที่สุดหรือว่ามั่นคงมากที่สุดก็อาจจะเป็นกลุ่มคนที่รับรายได้จากหลายทางก็ได้  ซึ่งแต่ก่อนเรามองว่าจะมั่นคงได้ถ้าเราทำงานอยู่ในบริษัทใหญ่ ที่ดูเสถียร แต่ว่าในปัจจุบันที่อะไรก็คาดเดาไม่ได้ จริงๆ เศรษฐกิจแบบกิ๊กอีกมุมหนึ่งมันอาจจะเป็นตัวช่วยรองรับการทำงาน หรือว่าการหายไปของรายได้บางส่วน

ส่วนของความท้าทายในการทำงานกิ๊กต่อภาครัฐและสังคมนั้น อาจารย์ว่านได้เสนอว่าจะต้องสร้างโอกาสให้ทั้งแรงงานที่เป็น underserved หรือเป็น majorly community ต่างๆ และต้องพัฒนาสวัสดิการแรงงานเพื่อรองรับแรงงานอิสระมากขึ้น การพัฒนาเมืองเองก็ควรที่จะเริ่มเห็นพื้นที่ของชีวิตและก็โอกาส มันคือโอกาสในการทำงาน โอกาสในการหารายได้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่นั่งของวินมอเตอร์ไซค์ หรือว่าจะเป็นพื้นที่ของหาบเร่แผงลอย เหล่านี้จริงๆ ก็เป็นพื้นที่แห่งโอกาส และเราก็ควรที่จะเห็นว่าเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของแรงงานที่ขับเคลื่อนอยู่ สุดท้ายก็คือเรื่องเทคโนโลยีที่เราจะต้องหาสมดุลระหว่างหุ่นยนต์และก็แรงงานที่มันจะต้องพัฒนากันต่อไป

กิ๊กในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจะรับมืออย่างไร

นายอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Blognone หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของประเทศไทย อภิปรายในมุมของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเกี่ยวกับตัวแรงงานแพลตฟอร์มหรือแรงงานกิ๊กที่คนทั่วไปรู้จักกันดีก็คือการขนส่ง ซึ่งมีอยู่ 2 แบบ ก็คือขับรถให้คนนั่ง ที่เขาเรียกกันว่า  ride hailing อย่างเช่น Uber หรือ Grab และก็อีกอย่างหนึ่งก็คือขับรถส่งของ ซึ่งจะเป็นส่งอะไรก็ได้ซึ่งเป็นเดลิเวอรี ตัวเดลิเวอรีส่วนใหญ่มักจะเป็นอาหาร แต่ก็สามารถส่งอย่างอื่นได้อีก เช่น ส่งของสด ส่งยา ส่งเอกสาร ฯลฯ แต่ว่านอกจากอาชีพที่เป็นขับรถแล้ว มันก็ยังมีอาชีพอื่นๆ ที่อยู่บนเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ยกตัวอย่างแพลตฟอร์มของไทย ชื่อว่า BeNeat ก็เป็นจ้างแม่บ้านสำหรับคนที่ไม่อยากทำความสะอาดบ้านเอง แพลตฟอร์ม Seekster ก็คือจ้างแม่บ้านกับจ้างช่างแอร์ แต่ว่าช่วงนี้พอเป็นเรื่องของโควิดด้วย ก็จะเป็นการจ้างแบบ big cleaning ด้วย  และเศรษฐกิจแพลตฟอร์มอีกตัวที่อาจจะไม่ได้เป็นการทำตรงๆ แต่เป็นการใช้ประโยชน์จากการเข้าถึงอย่า Airbnb ที่เอาบ้าน เอาห้องพัก มาให้แขกเช่า ทั้งหมดนี้อาจจะเป็นตัวอย่างของเศรษฐกิจแบบกิ๊กที่พอเห็นภาพในภาคของเอกชนมีอะไรบ้าง

เศรษฐกิจแพลตฟอร์มหลายรูปแบบเหล่านี้ต่างตอบโจทย์แต่ละอย่างแตกต่างกันไป แต่ก็มีลักษณะคล้ายกันก็คือจะมีระบบของการรีวิวเป็นรูปของดาว เป็นการให้ผู้ใช้มีสิทธิ์การตัดสินใจล่วงหน้าว่าจะจ้างใครไม่จ้างใคร

เศรษฐกิจแบบกิ๊กทำให้คำว่างานในแบบดั้งเดิมเริ่มจะพร่าเลือนไป ขอบเขตงานไม่ได้ชัดเหมือสมัยก่อน ก็คือเศรษฐกิจแบบกิ๊กเปิดให้เราทำงานจากที่ไหนก็ได้ และก็เมื่อไรก็ได้ โดยที่ตัวแพลตฟอร์มกิ๊กเป็นคนหาอุปสงค์หรือหานายจ้างมาให้ ซึ่งการใช้แพลตฟอร์มเศรษฐกิจแบบกิ๊กพวกนี้แต่ละคนมีรูปแบบการใช้งานที่แตกต่างกันไป พอรูปแบบการทำงานแบบกิ๊กหลากหลายมากๆ การจะมีนโยบายหรือเรื่องของสวัสดิการคุ้มครองแบบเดียวเพื่อจัดคนทำงานทุกรูปแบบมันอาจจะเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ข้อดีของกิ๊กของตามแพลตฟอร์มที่ตัวเลขที่วิจัยออกมาของต่างประเทศ ก็ส่วนใหญ่คนทำงานกิ๊กก็จะค่อนข้างในความยืดหยุ่น ความอิสระในการทำงาน แต่ว่าแน่นอนข้อเสียก็คือเรื่องของการไร้สวัสดิการ การไร้ความมั่นคง

ปัญหาเรื่องของโควิด จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดแรงงานตอนนี้ ต่างก็ทราบดีว่าคนตกงานเยอะมาก คนก็หันมาทำงานอาชีพกิ๊กกันเยอะขึ้น บริการตัวแพลตฟอร์มที่เกี่ยวกับเรื่องส่งอาหารเกือบทุกแพลตฟอร์มก็จะมีปัญหาคล้ายๆ กันหมด ก็คือ เอาคนเข้าระบบไม่ทัน เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบและคัดกรอง อีกทั้งต้องมีการฝึกฝนก่อนปฏิบัติงานจริง แต่ว่าตอนนี้เป็นปัญหาอีกแบบก็คือคนขับรถล้นระบบ ตัวอุปสงค์กับอุปทานมันจะสวนข้างกัน ถ้าเรามองเศรษฐกิจในภาพรวมและคิดว่าคนตกงานแล้วก็หันมาทำแรงงานกิ๊กก็อาจจะเป็นทางออก ซึ่งไม่ได้จริงเสมอไป เมื่อคนขับมันเยอะกว่าความต้องการของระบบ

ส่วนข้อเสนอในเรื่องของระบบสวัสดิการของแรงงานที่เป็นเกี่ยวกับแรงงานทำงานบนแพลตฟอร์ม ก็มีหลายข้อเสนอ แต่มีแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจและก็ถูกผลักดันโดยฝั่งของผู้ประกอบการเองในต่างประเทศ อย่างเช่น Uber ก็คือ เสนอว่าก็ควรจะมีกองทุน (protraction fund) คือทุกคำสั่งสั่งข้าวให้เดลิเวอรีหรือว่าเรียกรถมารับ ควรจะมีเงินส่วนนึงที่หักเข้ารัฐไปด้วย แล้วนำเงินนี้ไปเข้าระบบประกันสังคมหรือเอาไปเข้ากองทุน และถ้าเกิดว่าคนที่เข้ามาขับในระบบนี้เกิดป่วยขึ้นมาหรือว่าต้องคลอดบุตร ก็เอาเงินพวกนี้กลับมารองรับเขาได้

ภาพรวมนโยบายควรทำอย่างไร

นางสาวภัทรพร เล้าวงค์ รักษาการณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนพัฒนาสังคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงนโยบายการช่วยเหลือของภาครัฐว่าได้นำแนวคิดเรื่อง power bank concept (แนวคิดพาวเวอร์แบงก์) มาประกอบกล่าวคือ การจะช่วยคนคนหนึ่งในสังคม ในการที่จะจัดการเปลี่ยนความแน่นอนในชีวิตของเขา มี 3 วัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อช่วยเหลือ คือการให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า เพื่อป้องกัน ก็คือให้คนแต่ละคนสบทบเงินบางส่วนเพื่อไว้ใช้ในกรณีที่มันเกิดเหตุร่วมกับภาครัฐช่วยสบทบ (ประกันสังคมรวมไปถึง national fund หรือกองทุนการออมแห่งชาติ) เพื่อส่งเสริม ก็คือจะทำยังไงให้ทุนมนุษย์มีความเข้มแข็งมากขึ้น ช่วยในเชิงของให้เบ็ดตกปลาแทนการให้ปลา

ทั้งนี้จะพบว่าสิ่งที่ภาครัฐให้การช่วยเหลือปัจจุบัน คือรูปแบบที่ 1 กับแบบที่ 2 อย่างในกรณีของโควิดซึ่งเห็นชัดมากก็คือ เราไม่ทิ้งกัน ก็คือให้เงินแก่ประชาชน อีกทั้งบางกลุ่มก็มีประกันสังคมเข้ารองรับ ซึ่งทั้ง 2 แบบนี้แก้ปัญหาได้ในระยะสั้นเท่านั้น ในส่วนของความท้าทายและการรับมือเชิงนโยบายที่ต่อความเปลี่ยนแปลงหลังโควิด-19 ที่มีต่อการทำงานแบบกิ๊กคุณภัทรพรได้แบ่งออกแบบ 4 แบบคือ

  1. ธรรมชาติของงาน งานแบบกิ๊กก็คือรายได้ไม่แน่นอน อีกทั้งปพลตฟอร์มแบแรงงานกิ๊กอาจจะเกิดขึ้นอีกมาก ยังไม่มีกฎหมายอะไรรองรับที่คุ้มครองแบบให้ทันสมัยมากพอ
  2. ปัจเจก ข้อจำกัดด้านอายุและทักษะ คนไทยไม่ได้มีทักษะมาก อีกทั้งเป็นสังคมที่เข้าสู่สังคมสูงอายุ ระบบระดับการศึกษาเองก็ยังไม่สูงมาก
  3. สังคม คุณลักษณะคนไทยกับการรวมกลุ่ม จะพบว่าต่างประเทศสนับสนุนและเลือกให้คนตั้งกลุ่มเป็นสหภาพเพื่อให้มีเสียง มีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น แต่ยังไม่ค่อยเห็นคนไทยรวมกลุ่มเพื่อออกสิทธิ์ออกเสียงกันมากนัก
  4. ภาครัฐ ภาระทางด้านการคลังและข้อจำกัดทางงบประมาณ ที่รัฐช่วยได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถช่วยได้ในระยะยาว อีกทั้งวิธีการทำงานของภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาก็เป็นความท้าทายอีกแบบหนึ่ง ถ้ายังมีวิธีการทำงานแบบเดิมก็จะยากต่อการแก้ปัญหา

ทางนางสาวภัทรพรได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสิ่งที่รัฐควรจัดการเกี่ยวกับทางเลือกของนโยบายไว้อย่างน่าสนใจโดยอิงจากความท้าทายจากทั้ง 4 รูปแบบข้างต้น ดังนี้

  1. ธรรมชาติการทำงานแบบกิ๊ก ระบบประกันสังคมต้องถูกเปลี่ยนใหม่ ถูกออกแบบใหม่ ให้เป็นระบบร่วมจ่ายที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้เข้ากับธรรมชาติของรายได้ เช่น อาจจะเป็นระบบสบทบที่มีมากก็จ่ายไปมาก
  2. ปัจเจก เรามีข้อจำกัดในด้านทักษะและก็อายุเองก็มาก จึงควรจะมีตลาดที่รองรับในกลุ่มใหญ่ที่ทักษะไม่สูงมากหรือผู้สูงอายุ อีกทั้งต้องฝึกหรือปรับไปสู่ทักษะระดับสูงที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งนี้นโยบายในด้าน upskill/reskill มันจำเป็นต้องมีทิศมีทางมากกว่านี้ เนื่องจากตอนนี้ค่อนข้างกระจัดกระจายจากระบบการบริหารจัดการของรัฐเอง เมื่อวิเคราะห์ได้แล้วว่าควรจะมีทักษะอะไร แล้วโอกาสงานอยู่ตรงไหน หลักสูตรเองก็ต้องตามมาด้วย เป็นหลักสูตรที่มีคุณภาพ สุดท้ายคือข้อมูลรายบุคคล ไว้สำหรับใช้ประเมินหลังจากการฝึกอบรมพัฒนาทักษะ
  3. ภาครัฐ เน้นช่วยแบบยั่งยืนและช่วยให้ได้จำนวนเยอะขึ้น โดยการปรับวิธีการทำงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นสร้างผู้เล่นรายใหม่เข้ามาเป็น operators หาคนมาบางคนเข้ามาเป็นผู้เล่นรายใหม่ให้ได้ การใช้ฐานข้อมูลเพื่อหาว่าความจริงแล้วแรงงานต้องการความช่วยเหลือด้านอะไรอีกบ้าง integrated budgeting ความจริงแล้วรัฐมีเงินมากเพียงแต่รัฐกระจายกันทำ ทำอย่างไรจึงจะเกิดแพกเกจการบูรณาการกันจริงๆ ไม่ใช่ทำซ้ำทำซ้อน และสุดท้ายสิ่งที่รัฐต้องทำคือปรับระบบแรงจูงใจ จากแต่เดิมที่จะจูงใจให้คนเข้าระบบสังคมว่ารัฐจะสบทบให้เพิ่ม แต่ไม่เคยจูงใจกลุ่มที่เขาออมเยอะ เช่น เขาออมเยอะเท่าไร รัฐก็จะยิ่งสบทบให้เพิ่ม

ปรับปรุงระบบประสังคมให้รองรับงานรูปแบบใหม่

ผศ. ดร.ธานี ชัยวัฒน์  คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงการจัดการความคุ้มครองทางสังคมของกลุ่มเศรษฐกิจแบบกิ๊กเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า แต่เดิมสวัสดิการสังคมของประเทศไทยจะอยู่บนพื้นฐาน 2 อย่าง คือ อาชีพ เช่น หมอ ทหาร อาจารย์ ฯลฯ และสอง คือ สังกัด เช่น ภาครัฐ กระทรวง บริษัทเอกชนใหญ่-เล็ก SME หรืออาชีพอิสระ กล่าวคืออาชีพและต้นสังกัดต่างกันก็จะมีสวัสดิการสังคมไม่เหมือนกัน

โจทย์ใหญ่ก็คือ ในอนาคตต่อไปนี้ หากอาชีพไม่ชัด สังกัดไม่มี อีกทั้งมีหลายอาชีพที่มันมีความหลากหลายมากขึ้น และก็ใช้ทักษะที่แตกต่างกัน ระบบการจัดกลุ่มการคุ้มครองทางสังคมหรือสวัสดิการทางสังคมที่เคยอิงจากอาชีพและสังกัด เหล่านี้ก็จะไม่ครอบคลุม เพราะฉะนั้นในอนาคตจึงน่าจะเป็นโจทย์เรื่องการเลือกสวัสดิการของตัวเองว่า แต่ละคนสามารถเลือกสวัสดิการของตัวเองได้

แต่ทว่าคงไม่ได้เลือกเสรีอะไรก็ได้ แต่หมายถึงมีทางให้เลือกเยอะขึ้น และถ้าเลือกบางอย่างก็อาจจะไม่ได้บางอย่าง ดังนั้นจะสร้างแพกเกจสวัสดิการอย่างไรให้เหมาะสมกับคนกลุ่มนี้ เช่น หากมีอาชีพขับ Grab ก็อาจจะอยากได้สวัสดิการคุ้มครองในเรื่องของอุบัติเหตุ ในเรื่องความมั่นคงบางอย่าง และหากอายุยังน้อยก็ไม่อยากได้สวัสดิการคุ้มครองในเรื่องของโรคบางโรค

สำหรับปัจจัยที่เป็นโจทย์สำคัญในการออกแบบการคุ้มครองทางสังคมในอนาคตที่จะต้องคำนึงถึง ผศ. ดร.ธานี กล่าวเอาไว้ว่ามีอยู่ 3 เรื่อง คือ การว่างงานในอนาคตจะมีบทบาทมากขึ้น และมาพร้อมกับงานกิ๊ก การทำงานเป็นชิ้นๆ หรือเปลี่ยนงานบ่อยๆ จะมีโอกาสที่จะเกิดการว่างงานชั่วคราวเยอะขึ้นมาก มีความไม่มั่นคงทางรายได้มากขึ้น มีความเสี่ยงใหม่ๆ ที่เป็นถาวรมากขึ้นแบบที่เราไม่เคยเจอ เช่น เรื่องไวรัส เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสาธารณสุขเข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งเรื่องของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้เราอายุยืนขึ้น โดยเฉพาะหากเป็นการทำงานแบบกิ๊กตอนอายุ 60, 70 ถ้าทำไหวก็ทำ ถ้าทำไม่ไหวก็จะไม่มีรายได้

ในประเทศไทยมีแรงงาน 3 กลุ่ม

  • แรงงานกลุ่มที่ 1 คือแรงงานที่อยู่ในโลกดิจิทัลได้อย่างเต็มตัว (gig platform — แพลตฟอร์มกิ๊ก) กลุ่มนี้คือ digital natives คือทำงานบนแพลตฟอร์มได้เลย work from home ได้ ใช้อินเทอร์เน็ตได้เก่ง หางาน หารายได้จากอินเทอร์เน็ตได้ กลุ่มนี้คือกิ๊กบนแพลตฟอร์มอย่างแท้จริง
  • กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มคนที่อยู่ในชนบท มีความรู้น้อย (physical gig — กิ๊กกายภาพ) กลุ่มนี้เป็น physical natives อาจจะเป็นคนที่มีอายุมาก คือเป็นกลุ่มที่อาจจะ digital แค่ไลน์ยกับเพื่อนบ้าน ไม่สามารถใช้งานดิจิทัลอย่างอื่นได้ แต่สามารถรอรับคำสั่งเอาต์ซอร์ซ เช่น ให้ไปเย็บผ้า ให้ไปขนของ ให้ไปทำความสะอาด เป็นต้น เพราะฉะนั้นกลุ่ม digital natives และ physical natives คือกิ๊กเหมือนกัน แต่กิ๊กในลักษณะของแรงงานนอกระบบที่รับงานจากแพลตฟอร์ม
  • และพวกที่ 3 คือพวก migrants (อพยพ) คือกลุ่มที่ย้ายไปๆ มาๆ ระหว่างกลุ่มที่ 1 และ 2 เพราะถ้า upskill/reskill ก็สามารถไปเป็น digital natives ได้ upskill/reskill ไม่ดีก็จะอยู่ใน physical natives

ถ้าหากต้องการให้ระบบคุ้มครองทางสังคมมีความยั่งยืน อย่างน้อยคนทั้ง 3 กลุ่ม คือ แพลตฟอร์มกิ๊ก กิ๊กกายภาพ และกลุ่มอพยพ 3 กลุ่มนี้ต้องการนโยบายไม่เหมือนกัน สำหรับนโยบายที่เหมาะสมกับกลุ่มแรกคือกลุ่ม digital natives ที่ไม่มีอาชีพที่ชัดเจน ไม่มีสังกัดที่ชัดเจน หรือเปลี่ยนอาชีพบ่อยๆ กลุ่มนี้จะต้องการสวัสดิการที่เหมาะกับตัวเองที่ชัดเจน สำหรับกลุ่มที่สอง physical natives กลุ่มนี้อาชีพเขาไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก เช่น หากเขารับจ้างทำความสะอาด รับจ้างยกของ รับจ้างขนส่ง เขาก็จะทำเหมือนเดิม คนกลุ่มนี้ต้องการฐานข้อมูลให้ดิจิทัลหาเจอ และก็ต้องการสัญญาราคาที่เป็นธรรม และกลุ่มสุดท้าย กลุ่มอพยพ คนกลุ่มนี้ต้องการ upskill กับ reskill ของความสามารถที่จะทำให้เขาไปเป็น digital natives หรือ physical natives เขาสามารถเลือกได้ เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้จึงต้องการระบบ upskill/reskill ที่มีประสิทธิภาพ