ThaiPublica > Native Ad > ซีพีเอฟ สร้าง know-how โรงเรือนไก่ไข่ แก้ปัญหา “ทุพโภชนาการ” ในโรงเรียนถิ่นทุรกันดาร

ซีพีเอฟ สร้าง know-how โรงเรือนไก่ไข่ แก้ปัญหา “ทุพโภชนาการ” ในโรงเรียนถิ่นทุรกันดาร

26 สิงหาคม 2020


โรงเรียนบ้านโคกไพลเป็นหนึ่งโรงเรียนถิ่นทุรกันดารที่นักเรียนประสบปัญหา “ทุพโภชนาการ” จากปัญหาความห่างไกลของทรัพยากรในพื้นที่ชนบทและงบประมาณที่จัดสรรมาถึงโรงเรียนอย่างไม่ทั่วถึง ส่งผลกระทบให้นักเรียนอย่างน้อยกว่า 300 คนได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน ซึ่งเห็นได้ชัดในระดับชั้นประถมศึกษา

โรงเรียนบ้านโคกไพลตั้งอยู่เลขที่ 444 หมู่ 7 ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษาสระแก้ว เขต 2 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 2 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียนทั้งหมด 323 คน มีข้าราชการครูและบุคลากรทางกรศึกษาจำนวน 20 คนจำนวนนักเรียนทั้งหมด 328 คน โดยเกินกว่าครึ่งเป็นนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาถึง 185 คน

ปัญหาทุพโภชนาการเป็นปัญหาเรื้อรังมานานหลายปี จากเดิมที่โรงเรียนบ้านโคกไพลเลี้ยงไก่ไข่ 100 ตัว ออกไข่กว่า 90 ฟองต่อวัน ทำให้โรงเรียนต้อง ‘สะสม’ ไข่ไก่เป็นเวลา 4-5 วัน เพื่อรองรับนักเรียนมากกว่า 300 คนให้ได้รับประทานอาหารกลางวันที่มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบหลัก ดังนั้นนักเรียนจะได้รับประทานมื้ออาหารที่มี ‘ไข่’ เป็นส่วนประกอบเพียง 1 วันต่อสัปดาห์

จนกระทั่งโรงเรียนบ้านโคกไพลเข้าร่วม “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” ทำให้มีโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ สำหรับเป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้ให้แก่เด็กนักเรียน เนื่องจากโครงการฯ ได้เข้ามาสนับสนุนไก่ไข่อีก 100 ตัว ทำให้โรงเรียนมีไก่ไข่ทั้งหมด 200 ตัว ช่วยลดระยะเวลาสะสมไก่ไข่เหลือเพียง 2 วัน ทำให้มีวัตถุดิบประกอบอาหารกลางวันได้เร็วขึ้น

โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนดำเนินการมาแล้ว 30 ปี นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2532 เป็นความร่วมมือของ “ซีพีเอฟ” มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน

การทำ CSR ของซีพีเอฟและพันธมิตร มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารและพื้นที่ห่างไกลได้บริโภคไข่ไก่ ซึ่งถือเป็นอาหารโปรตีนที่สามารถแก้ปัญหาทุพโภชนาการ โดยซีพีเอฟจะสนับสนุนการก่อสร้างโรงเรือนที่และอุปกรณ์ พันธุ์ไก่ อาหารไก่ให้แก่ทุกโรงเรียนในปีแรกโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย รวมทั้งส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงไก่ไข่และสัตวบาลให้ความรู้ คำแนะนำ และติดตามการเลี้ยงไก่ไข่แก่คุณครูและนักเรียน ส่วนในการจัดหาครั้งถัดไปโรงเรียนจะซื้อวัตถุดิบอุปกรณ์ รวมถึงแม่พันธุ์ไก่ไข่จากซีพีเอฟ

นายสมคิด วรรณลุกขี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจไก่ไข่ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ใช้ความเชี่ยวชาญเรื่องการเลี้ยงไก่ไข่ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่คุณครู เด็กนักเรียน และยังขยายผลไปถึงชุมชน เพื่อให้นำไปประยุกต์ใช้เป็นอาชีพสร้างรายได้ และเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ซีพีเอฟได้นำระบบ Chat Bot มาใช้รายงานข้อมูลผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ (Line) เพื่อให้สามารถติดตามข้อมูลการเลี้ยงได้ทุกวัน อาทิ จำนวนไก่และอาหาร จำนวนไก่ตายคัดทิ้ง ผลผลิตไข่ไก่ ไก่ปลด รายงานการเลี้ยง ต้นทุนและรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตไข่ไก่ เป็นต้น โดยคุณครูและนักเรียนมีหน้าที่บันทึกข้อมูลและรายงานผ่านระบบไลน์ จากนั้นซีพีเอฟจะได้ส่งผู้เชี่ยวชาญหรือสัตวบาลให้คำแนะนำ

“กว่า 30 ปีของการดำเนินโครงการ มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ 855 แห่ง เด็กและเยาวชนเข้าถึงอาหารโปรตีนคุณภาพมากกว่า 150,000 คน สนับสนุนโรงเรียนเป็นแหล่งอาหารที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาทางร่างกายและสติปัญญา และเป็นแหล่งเรียนรู้อาชีพของคนในชุมชนต่อไป” นายสมคิดกล่าว

กลุ่มนักเรียนผู้รับผิดชอบโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน

หนึ่งในพันธมิตรของโครงการดังกล่าวคือ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) นำโดยนางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร ได้อ้างอิงข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ พบว่ามีเด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาที่มีภาวะทุพโภชนาการถึง 16.5% เป็นเหตุผลที่แม็คโครฯ สนับสนุนโครงการฯ และยังได้สานต่อโครงการไปที่โรงเรียนตชด.ในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ

โครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ได้สร้างแนวคิดความยั่งยืนให้โรงเรียนบ้านโคกไพล โดยกระบวนการคือ ‘นักเรียน’ เป็นผู้เลี้ยงไก่ตามภาระหน้าที่ เมื่อเก็บไข่ไก่แล้วจะส่งต่อให้ ‘สหกรณ์โรงเรียน’ จากนั้นส่งต่อให้ “โครงการอาหารกลางวัน” แล้วเจ้าหน้าที่จะนำไข่ไก่ไปประกอบอาหาร แต่ในช่วงล็อกดาวน์จากโควิด-19 ซึ่งไม่มีการประกอบอาหารในโรงเรียน ทางโรงเรียนจึงนำไข่ไก่ไปขายในตลาดในราคาทุน รวมถึงนำไข่ไก่บางส่วนแจกให้กับนักเรียนด้วย

นายชาญณรงค์ โยธาพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกไพล กล่าวว่า โครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ทำให้นักเรียนมีแหล่งอาหารโปรตีนไว้รับประทานในโครงการอาหารกลางวันนักเรียน อีกทั้งเด็กๆ ได้ฝึกความรับผิดชอบ รู้จักทำงานร่วมกัน รวมทั้งมีแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงไก่ไข่ในโรงเรียน เป็นการยกระดับความรู้ใหม่ๆจากประสบการณ์ที่เจ้าหน้าที่ซีพีเอฟถ่ายทอดให้แก่คุณครูและนักเรียน

“ภาวะโภชนาการของเด็กที่นี่อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ เคยมีการประชุมที่โรงเรียนและขอให้สาธารณสุขชุมชนมาดูแลเรื่องโภชนาการ หลังจากมีโครงการนี้นักเรียนหลายคนก็จะมีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น เพราะเราต้องส่งข้อมูลน้ำหนัก-ส่วนสูงไปทุกปี” นายชาญณรงค์กล่าว

นอกจากนี้ ผอ.โรงเรียนบ้านโคกไพลกล่าวอีกว่า นักเรียนยังได้เรียนรู้ทักษะการจัดการด้านธุรกิจ อาทิ รู้จักคำนวณต้นทุนไก่ อาหารไก่ หรือผลผลิตไข่ไก่ที่ส่งเข้าสหกรณ์เพื่อขายต่อไปยังโครงการอาหารกลางวันนักเรียน ทำให้เด็กนักเรียนรู้จักคำนวณเรื่องต้นทุน กำไร เป็นการวางแผนธุรกิจที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน

นายวิสุทธิ์ กุลศิริ ครุชำนาญการพิเศษ และผู้รับผิดชอบโครงการฯ โรงเรียนบ้านโคกไพล กล่าวว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะต้องรับผิดชอบการเลี้ยงไก่ไข่ผ่านกลุ่มสาระวิชาการงานอาชีพ และนอกจากเด็กจะได้ประโยชน์คือมีไข่ไก่รับประทานแล้วยังได้ฝึกอาชีพเลี้ยงสัตว์ ทำให้รักในอาชีพเกษตรกรรม

“นักเรียนต้องมีคุณธรรมจริยธรรมและความรับผิดชอบ คือเลี้ยงไก่ต้องเลี้ยงทุกวัน เสาร์อาทิตย์ก็ต้องเลี้ยง อีกเรื่องคือความซื่อสัตย์ เถ้าเด็กไม่มีความซื่อสัตย์ก็จะขโมยไข่หรือเอาไข่ไปรับประทานโดยไม่บอกคุณครู ทำให้เกิดความเสียหาย แต่ที่ผ่านมาเด็กไม่เคยทำ” ครูผู้รับผิดชอบโรงเรือนไก่ไข่อธิบาย

เด็กชายประดิษฐ์ แสไพศาล อายุ 14 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านโคกไพล

เด็กชายประดิษฐ์ แสไพศาล อายุ 14 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านโคกไพล เล่าว่า นักเรียนมีหน้าที่เลี้ยงไก่ 3 เวลาคือ เช้า กลางวัน และเย็น เริ่มจากตอนเช้าเวลา 8 โมงที่ต้องมาให้อาหารไก่และเช็คท่อน้ำ ถัดมาช่วงบ่ายมาดูปริมาณอาหารจากช่วงเช้า จนมาช่วงเย็นเป็นช่วงเก็บไข่ไก่ และในแต่ละสัปดาห์นักเรียนต้องมาประเมินว่าเก็บไข่ไก่ได้เท่าไรผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์

เด็กชายคณิน ชันเชื่อม อายุ 14 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านโคกไพล บอกว่า โรงเรียนสอนให้นักเรียนเรียนรู้ด้านเกษตรกรรม เพราะการเลี้ยงไก่ไข่เป็นหน้าที่ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ขณะที่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ต้องไปเลี้ยงไก่เนื้อ และมัธยมศึกษาปีที่ 1 เลี้ยงปลา ซึ่งนักเรียนทุกระดับชั้นจะมีภาระหน้าที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่นักเรียนได้รับเหมือนกันคือวิชาความรู้ที่จะเอาไปต่อยอดได้ในอนาคต