ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สรุปสถานการณ์โควิดอาเซียนรอบสอง “กลับมาใช้มาตรการเข้มงวด ระงับเที่ยวบิน”

ASEAN Roundup สรุปสถานการณ์โควิดอาเซียนรอบสอง “กลับมาใช้มาตรการเข้มงวด ระงับเที่ยวบิน”

2 สิงหาคม 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 24 กรกฎาคม-1 สิงหาคม 2563

  • เวียดนามปิดการท่องเที่ยวในดานัง
  • ฟิลิปปินส์ขยายระยะล็อกดาวน์ถึงกลางสิงหาคม
  • กัมพูชายกเลิกเที่ยวบินมาเลเซีย-อินโดนีเซีย
  • ลาวระงับเที่ยวบินเช่าเหมาลำ
  • สิงคโปร์-มาเลเซียฟื้นโครงการระบบขนส่งมวลชน
  • อาเซียน-ญี่ปุ่น คลอดแผนปฏิบัติการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19
  • เอชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดีกว่าภูมิภาคอื่นๆของโลก กลับมาประสบกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตอีกครั้งหนึ่ง แม้กระทั่งเวียดนามที่ได้รับการชื่นชมว่าสกัดการแพร่ระบาดได้ดีมากและไม่มีผู้เสียชีวิตแม้แต่รายเดียว ก็กลับมามีผู้เสียชีวิตรายแรกหลังเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม

    การระบาดรอบสองทำให้หลายประเทศในอาเซียนกลับมาหันใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งมีการระงับเที่ยวบินจากบางประเทศ และสั่งปิดสถานที่ท่องเที่ยว

    เวียดนามปิดการท่องเที่ยวในดานัง

    ที่มาภาพ: https://accesswdun.com/article/2020/7/924624

    เวียดนาม มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นรายแรก เป็นชายอายุ 70 ปีจากเมืองฮอยอัน ในวันที่ 31 กรกฎาคม และต่อมาในวันเดียวกันมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย เป็นชายอายุ 61 ปี หลังจากที่ไม่มีการติดเชื้อในประเทศมากว่า 3 เดือน ก่อนที่จะอุบัติใหม่ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคมในเมืองตากอากาศดานัง

    อย่างไรก็ตามผู้เสียชีวิตทั้งสองรายมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว

    กระทรวงสาธารณสุขเวียดนามรายงานว่า ณ วันที่ 31 กรกฎาคม มีผู้ติดเชื้อจำนวนทั้งหมด 509 ราย รักษาหายแล้ว 369 ราย ส่วน 45 รายใหม่เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลที่ดานัง

    เวียดนามต่างจากประเทศอื่น โดยดำเนินการทันทีก่อนที่มีการติดเชื้อยืนยัน มีการสั่งปิดพรมแดนห้ามนักท่องเที่ยวเข้า ยกเว้นพลเมืองที่เดินทางกลับประเทศ และผู้ที่เดินทางเข้าประเทศต้องกักตัวในสถานที่รัฐจัดให้เป็นเวลา 14 วัน ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพ เพราะไม่มีการรายงานการติดเชื้อรายใหม่ในประเทศตั้งแต่กลางเดือนเมษายน

    แต่สัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคมกลับพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในเมืองดานัง หลังจากที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางทั่วประเทศเพราะเชื่อว่าการระบาดของไวรัสได้ผ่านพ้นไปแล้ว

    การติดเชื้อในประเทศของเวียดนามอุบัติใหม่ในดานังหลังจากที่ไม่มีการติดเชื้อมา 99 วัน เริ่มจากผู้ป่วยรายหนึ่งที่มีผลตรวจไวรัสโควิดเป็นบวกในวันที่ 25 กรกฎาคม โดยไม่มีประวัติการเดินทางมาก่อน จึงยังไม่รู้ถึงสาเหตุที่ชัดเจนของการติดเชื้อ

    เจ้าหน้าที่ทางการในดานังสั่งระงับการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มซึ่งครอบคลุมการซื้อกลับบ้านและการจำหน่ายออนไลน์ ตั้งแต่เวลา 13.00 น.ของวันที่ 30 กรกฎาคม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด รวมทั้งใช้มาตรการรักษาระยะห่าง 15 วันนับตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม และสั่งให้ประชาชนในเขตไฮเจา, แถงห์ เคว, เซิ่น จา, หงูหั่ญเซิน , กัมเล และ เลียว เจียว อยู่กับบ้านยกเว้นการออกไปซื้ออาหารและของใช้จำเป็นและกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งสั่งถนนหลายสาย

    นอกจากนี้ยังได้ระงับทุกเที่ยวบิน รถโดยสาร รถแท็กซี่ รถไฟ ที่ออกจากดานัง และยังได้ล็อกดาวน์โรงพยาบาล 3 แห่งที่ผู้ป่วยติดเชิ้อได้ไปใช้บริการก่อนที่จะตรวจสอบเชื้อโควิด

    ดานังยังประกาศไม่รับนัดท่องเที่ยวเข้าเป็นเวลา 14 วันเริ่มจากวันที่ 26 กรกฎาคม และปิดบริการสถานที่ที่ไม่จำเป็น เช่น สวนสนุก บาร์ ร้านเสริมสวย ดิสโก้ คาราโอเกะ ร้านนวด และโรงเรียนจนกว่าจะมีคำสั่งเปบี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม โรงแรม ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และร้านขายล็อตเตอร์รี ยังเปิดดำเนินการได้แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านการป้องกันที่กำหนด

    ดานังยังได้ระงับเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ขนประชาชนกลับประเทศชั่วเคราว

    หลังพบการติดเชื้อในดานัง นายกรัฐมนตรี เหงียน ซวน ฟุก เตือนทุกจังหวัดและเมืองในประเทศให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนและเข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาด

    เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในจังหวัดกว๋างนาม และจังหวัดฟู้เอียน สั่งปิดสถานที่ท่องเที่ยวชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม และใช้มาตรการรักษาระยะห่างทางกายภาพในฮอยอัน และดั๊กลัก

    นอกจากนี้ยังได้มีการสั่งปิดบาร์และไนท์คลับในฮานอยและโฮ จิมินห์ซิตี้ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคมและ 31 กรกฎาคมตามลำดับ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง และสั่งห้ามการรวมตัวของประชาชนในจำนวน 30 คนขึ้นไป

    ฟิลิปปินส์ขยายระยะล็อกดาวน์ถึงกลางสิงหาคม

    ที่มาภาพ: https://www.aljazeera.com/news/2020/05/school-coronavirus-vaccine-duterte-200526084102106.html

    ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต้ของฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ได้ขยายระยะเวลาการใช้มาตรการเข้มงวดในมะนิลาไปจนถึงกลางเดือนสิงหาคม เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังเพิ่มสูงขึ้น

    ในเดือนกรกฎาคมฟิลิปปินส์เป็นประเทศในอาเซียนที่จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสรายใหม่ยืนยันรายวันเพิ่มสูงสุดป็นประวัติการณ์ และยังมีผู้เสียชีวิตสูงสุดอีกด้วย

    กรุงมะนิลาและพื้นที่รอบนอกอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์มานานหลายเดือน

    “สิ่งที่ผมจะขอ คือขอให้ทุกคนอดทนไปอีกระยะหนึ่ง เพราะยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก”ประธานาธิบดีดูเตอร์เต้กล่าวในการแถลงผ่านสถานีโทรทัศน์

    นายแฮร์รี่ โรเก โฆษกประธานาธิบดี กล่าวว่า รัฐบาลกำลังหาวิธีใหม่ในการตอบสนองการระบาดและอาจจะพิจารณาใช้มาตรการเข้มงวด ล็อกดาวน์พื้นที่ ในเขตรอบๆที่มีการติดเชื้อหนาแน่น

    ประธานาธิบดีดูเตอร์เต้กล่าวว่า รัฐบาลจะร่วมกับกองทัพฉีดวัคซีนให้ประชาชนฟรี หากมีวัคซีนออกจำหน่ายในตลาด โดยจะฉีดให้ประชาชนที่ยากจนก่อน โดยฟิลิปปินส์ได้รับความสำคัญจากจีนในการแจกจ่ายวัคซีน

    รัฐบาลมีแผนจะซื้อวัคซีน 40 ล้านโดสในมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์เพื่อประชาชน 20 ล้านคน หรือ ราว 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศที่มี 107 ล้านคน นายคาร์ลอส โดมิงเกซ รับมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าว

    ฟิลิปปินส์เป็นประเทศอาเซียนที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับสอบรองจากอินโดนีเซีย โดยจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 5 เท่าเป็น 89,374 รายและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเป็น 1,983 รายนับตั้งแต่มีการผ่อนคลายล็อกดาวน์ในกลางเดือนมิถุนายน

    กัมพูชายกเลิกเที่ยวบินมาเลเซีย-อินโดนีเซีย

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/50750082/cambodia-to-monitor-all-inbound-flights-after-ban-on-malaysian-and-indonesian-flights/

    กัมพูชาจะติดตามเที่ยวบินขาเข้าประเทศอย่างใกล้ชิดหลังจากประกาศ ยกเลิกเที่ยวบินขาเข้าจากมาเลเซียและอินโดนีเซียตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้

    นางออร์ วันดิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศที่เพิ่มขึ้น มาจากชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ที่บินเข้าประเทศจากสหรัฐฯ ฝรั่งเศส ซาอุดิอาระเบีย รัสเซีย อียิปต์และมาลี ซึ่งต้องเปลี่ยนเครื่องที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย

    การที่ต้องยกเลิกเที่ยวบินเพื่อจำกัดความเสี่ยงที่ไวรัสจะแพร่กระจายไปทั่วประเทศและเกิดการติดเชื้อระหว่างชุมชน

    นายมาว หาวันนาล ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการคณะกรรมการการบินพลเรือนกล่าวว่า จำนวนเที่ยวบินที่บินเข้ากัมพูชาเพิ่มขึ้นหลังจากที่ประเทศสมาชิกอาเซียนยกเลิกการห้ามการเดินเข้าออกของประชาชนใน 6 ประเทศในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

    ก่อนการระบาดของไวรัสโควิด กรุงพนมเปญมีนักเดินทางเข้าวันละ 10,000 รายจากการเดินทางด้วยเครื่องบินและ 15,000 รายในช่วงเดือนหลังๆของปี 2019 นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนมีเที่ยวบินเข้าวันละ 15-20 เที่ยวบิน

    เดือนสิงหาคมนี้เป็นช่วงที่ประชาชนจะเดินทางท่องเที่ยวจำนวนมาก ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดการติดเชื้อระหว่างชุมชน

    ข้อมูลจากกระทรวงฯ ณ วันที่ 29 กรกฎาคม ผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมมีจำนวน 233 ราย และรักษาหายแล้ว 147 ราย ซึ่งผู้ติดเชิ้อรายใหม่ 7 รายล่าสุดนั้นเป็นชาวกัมพูชา 4 รายซึ่งเดินทางกลับจากการปฏิบัติหน้าที่ในมาลี ส่วนอีก 3 รายเดินทางกลับจากอินโดนีเซีย

    ลาวระงับเที่ยวบินเช่าเหมาลำ

    ที่มาภาพ: http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_COVID147.php

    รัฐบาลได้สั่งระงับเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากบางประเทศและ ยังใช้มาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิดที่ได้บังคับใช้มาตั้งแต่สิ้นเดือนมิถุนายนต่อไปหลังจากที่ประเมินสถานการณ์เพื่อป้องกันการระบาดไวรัสโควิด ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดการระบาดของโรคขึ้นใหม่ จากการเปิดเผยของคณะกรรมการเฉพาะกิจ

    รศ.ดร.บุนคง สิหะวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการป้องกันและควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 เปิดเผยเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมว่า การระงับเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำและการบังคับใช้มาตรการเพื่อควบคุมการบาดของไวรัสจะยังคงมีผลตั้งแต่วันที่ 1-31 สิงหาคมนี้ และจะมีการทบทวนมาตรการหลังจากนั้น

    ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์หลายด้านจากที่ได้นำมาใช้ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี หลังไม่มีการติดเชื้อหลายเดือน แต่ได้ตัดสินใจที่จะระงับเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำรวมทั้งคงมาตรการป้องกันที่ได้ใช้มาตั้งแต่สิ้นเดือนมิถุนายน หลังจากที่ประเมินว่ามีโอกาสที่จะเกิดอุบัติใหม่ของโรค

    ดร.บุนคง กล่าวว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกเป็นความท้าทาย นอกจากนี้ยังพบผู้ติดเชื้อรายที่ 20 ในลาวซึ่งเป็นชาวเกาหลีใต้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศ ดังนั้นจึงประมาทไม่ได้

    สำหรับมาตรการที่ยังคงบังคับใช้ช่วงวันที่ 1-31 สิงหาคมได้แก่

  • ปิดสถานบันเทิง คาราโอเกะ และร้านเกม
  • ปิดจุดตรวจชายแดนและจุดตรวจในท้องที่ซึ่งเป็นจุดตรวจแบบเก่า ยกเว้นผู้ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลเพื่อการขนส่งสินค้า ส่วนจุดตรวจระหว่างประเทศยังคงปิดสำหรับนักเดินทางทั่วไป ยกเว้นการเดินทางที่จำเป็นสำหรับชาวลาวและชาวต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการเฉพาะกิจ การขนส่งสินค้าผ่านจุดตรวจระหว่างประเทศยังได้ดำเนินการไปตามปกติ
  • ระงับการออกวีซ่าท่องเที่ยวและวีซ่าเพื่อการเยี่ยมคารวะ ให้แก่ผู้ที่เดินทางจากหรือเปลี่ยนเครื่องจาประเทศที่มีการอุบัติใหม่ของไวรัสโควิด-19 นักการฑูตต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญ นักลงทุน นักธุรกิจ ช่างเทคนิก และแรงงานที่จำเป็นต่อภาระกิจในสปป.ลาวสามารถเดินทางเข้าประเทศได้ โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเฉพาะกิจ ซึ่งคณะกรรมการฯจะออกประกาศแนวทางการยื่นขออนุญาตต่อไป

     

    สำหรับการระงับเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ รัฐบาลได้ขอให้คณะกรรมการเฉพาะกิจประสานกับสายการบินลาวในการวางมาตรการเพื่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป และได้สั่งให้สายการบินลาวชี้แจงเรื่องนี้ต่อพันธมิตรต่างประเทศ

    มาตรการนี้เป็นมาตรการชั่วคราว และหากมีการรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ จะมีการทบทวนมาตรการที่เข้มงวดและจะบังคับใช้กับจังหวัดหรือพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค และหากมีการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อนใน 2 จังหวัดขึ้นไป จะนำมาตรการล็อกดาวน์ตามคำสั่งนากยรัฐมนตรีมาใช้อีกครั้ง

    สิงคโปร์-มาเลเซียฟื้นโครงการระบบขนส่งมวลชน

    https://www.channelnewsasia.com/news/singapore/singapore-malaysia-hold-ceremony-causeway-resumption-rts-link-12973304#cxrecs_s
    Singapore, Malaysia hold ceremony at Causeway to mark resumption of RTS Link project
    Passenger services are slated to start end-2026.
    เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมสิงคโปร์และมาเลเซียได้ร่วมทำพิธีเพื่อเปิดโครงการร่วมระบบขนส่งมวลชน เพื่อเปิดโครงการร่วมระบบขนส่งมวลชน Rapid Transit System (RTS) อย่างเป็นทางการ โดยมีนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลี เซียนลุง และนายกรัฐมนตรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน ของมาเลเซียร่วมเป็นสักขีพยาน และเป็นครั้งแรกที่ผู้นำของทั้งประเทศพบปะกันนับตั้งแต่นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน เข้ารับตำแหน่งในเดือนมีนาคม

    ในงาน นาย อ่อง เย กุง รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมสิงคโปร์และ นายวี กา เซียง รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมมาเลเซียทำหน้าที่เป็นตัวแทนของแต่ละประเทศ

    ในแถลงการณ์ร่วมระบุว่า ทั้งสองประเทศได้มีข้อสรุปสำคัญ 3 ข้อเพื่อการกลับมาดำเนินโครงการอีกครั้ง จากเดิมที่คาดว่าจะเสร็จสิ้นในปี 2024 เนื่องจากมีการระงับโครงการ โดยข้อสรุปครอบคลุมไปถึงการตกลงที่จะแก้ไขข้อตกลงทวิภาคีโครงการเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนหรือ RTS Link ระหว่างรัฐบาลสิงคโปร์กับรัฐบาลมาเลเซีย

    ทั้งสองประเทศได้เร่งหารือร่วมกันในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเพื่อให้ได้ข้อสรุปก่อนเส้นตายวันที่ 31 กรกฎาคม หลังจากที่มาเลเซียขยายระยะเวลาการระงับโครงการถึง 3 ครั้ง

    นอกจากนี้ ข้อตกลงร่วมทุนระหว่าง SMRT RTS Pte Ltd ของสิงคโปร์ และ Prasarana RTS Operations Sdn Bhd ของมาเลเซียที่จะจัดตั้ง RTS Operations Pte Ltd และข้อตกลงที่จะแต่งตั้งให้ RTS Operations Pte Ltd เป็นผู้บริหารโครงการในช่วง 30 ปีแรกของสัญญาสัมปทานก็ได้ข้อสรุป

    RTS Operations ซึ่งจดทะเบียนในสิงคโปร์จะ ออกแบบ สร้างและสนับสนุนการเงินต่อสินทรัพย์ที่ใช้ในการดำเนินงาน ทั้งรถไฟ ราง และระบบ และบริษัทจะบริหาร ซ่อมบำรุงราง

    แถลงการณ์ระบุอีกว่า RTS Link ยังเป็นจุดปฎิบัติงานร่วมด้านศุลกากร การตรวจคนเข้าเมืองและการกักกัน เพื่อให้ผู้โดยสารผ่านระบบการตรวจคนออกเมือง และตรวจเช็คสัมภาระจากศุลกากรแล้ว พร้อมเดินทาง หรือ CIQ (Custom Immigration Quarantine)เพียงครั้งเดียว ณ จุดออกเดินทาง

    นอกจากนี้สถานี RTS Link จะเชื่อมโยงกับเครือข่ายระบบขนส่งในประเทศของแต่ละประเทศ ส่วนราคาค่าโดยสารจะกำหนดเมื่อเริ่มให้บริการ

    RTS Link จะเริ่มให้บริการขนส่งผู้โดยสารในปลายปี 2026 จากเดิมที่กำหนดไว้เป็นสิ้นปี 2024 อีกทั้งจะเป็นรถไฟระบบรางเบา Light Rail Transit (LRT) แยกออกไปต่างหากแทนที่จะต่อยอดจากระบบรางของรถไฟใต้ดิน Thomson-East Coast Line MRT และปรับสถานีต้นทางเป็น วาดี ฮานะ ในยะโฮร์บารู แทน

    การก่อสร้างจะเริ่มดำเนินการทันทีเมื่อได้รับอนุญาตในเดือนมกราคม 2021 โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ 2021 ถึงสิ้นปี 2024 ส่วนการทดสอบระบบจะเริ่มจากปี 2025 ไปถึงสิ้นปี 2026 ซึ่ง RTS Link จะเชื่อม บูกิตชาการ์ใน ยะโฮร์ บารูของมาเลเซียและ วู้ดแลนด์ นอร์ท ในสิงคโปร์ รองรับผู้โดยสารได้ 10,000 คนต่อชั่วโมงทั้งไปและกลับ

    อาเซียน-ญี่ปุ่น คลอดแผนปฏิบัติการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19


    ‘จุรินทร์’ มอบผู้ช่วย รมต.พาณิชย์ ร่วมประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ผ่านระบบทางไกล ร่วมรับรองแผนปฏิบัติการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 หวังสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ และบรรเทาผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมเดินหน้าสู่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ฉบับใหม่ที่จะมีผล 1 สิงหาคม นี้ สองฝ่ายย้ำ! ลงนามอาร์เซ็ปปลายปีนี้

    ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจํากระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรองนายก รัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ว่าด้วยการตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

    โดยที่ประชุมได้หารือและแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมถึงการเป็นห่วงโซ่การผลิตที่สําคัญของภูมิภาคและของโลก ที่ประชุมจึงร่วมกันรับรองแผนปฏิบัติการด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเป็นรูปธรรม โดยแผนดังกล่าวมุ่งเน้นเป้าหมายสําคัญ 3 ประการ คือ รักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างกัน บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ ผ่านกิจกรรมต่างๆ กว่า 50 โครงการ เช่น มุ่งให้มีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ภายในปีนี้ เร่งส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และเคมีภัณฑ์ ยกระดับทักษะฝีมือแรงงานในภาคอุตสาหกรรมให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี พัฒนาการค้าดิจิทัลระดับภูมิภาค ผลักดันการใช้เทคโนโลยีในการเสริมสร้างประสิทธิภาพและศักยภาพของธุรกิจ MSMEs เป็นต้น

    นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายร่วมแสดงความยินดีที่พิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2563 เพราะจะเป็นการยกระดับความตกลง AJCEP ให้ครอบคลุมครบทั้งการค้าสินค้าและบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุน อันจะเสริมสร้างความเชื่อมั่น แก่นักธุรกิจและนักลงทุนญี่ปุ่นในภูมิภาคอาเซียน

    “มั่นใจว่า การดําเนินการตามแผนปฏิบัติการดังกล่าว ที่ผ่านการรับรองของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย และจะช่วยบรรเทาผลกระทบและฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งยกระดับความเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างแน่นอน” ดร.สรรเสริญ เสริม

    ทั้งนี้ ในปี 2562 ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของอาเซียน มีมูลค่าการค้ารวม 225,915 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยอาเซียนส่งออกไปญี่ปุ่นมูลค่า 109,835 ล้านเหรียญสหรัฐ และนําเข้าจากญี่ปุ่นมูลค่า 116,080 ล้านเหรียญสหรัฐ และญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนอันดับ 2 ของอาเซียน มีการลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นไปอาเซียน มูลค่า 20,356 ล้านเหรียญสหรัฐ