ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กางมติบอร์ด AOT ต่อสัญญาสร้าง “SAT-1” ย้อนแย้งข้ออ้างเลื่อนสัมปทานดิวตี้ฟรี

กางมติบอร์ด AOT ต่อสัญญาสร้าง “SAT-1” ย้อนแย้งข้ออ้างเลื่อนสัมปทานดิวตี้ฟรี

31 สิงหาคม 2020


อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1)
ที่มาภาพ : ocms.airportthai.co.th/

กางมติบอร์ด AOT ต่อสัญญาผู้รับเหมาสร้าง “SAT-1” แค่ 111 วัน ย้อนแย้งเหตุผลเลื่อนสัมปทานดิวตี้ สนามบินสุวรรณภูมิ-ภูมิภาค 1 ปี 6 เดือน พร้อมปรับสูตรเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำตามจริง

“ทัวร์ลง AOT” ไม่หยุด ต่อกรณีที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 70% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ทยอยออกมาตรการมาเยียวยาผู้ประกอบการในสนามบินที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯ อย่างต่อเนื่องถึง 3 ครั้ง

เยียวยาครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ประชุมบอร์ด ทอท. ครั้งที่ 3/2563 มีมติยกเว้นการจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ (minimum guarantee : MG) จากผู้ประกอบการในสนามบิน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 ระหว่างนี้ให้เก็บเป็นเปอร์เซ็นต์ของรายได้จากยอดขายจริงแทน

เยียวยาครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 ที่ประชุมบอร์ด ทอท. ครั้งที่ 5/2563 มีมติจัดมาตรการเยียวยาต่อ ภายหลังมาตรการชุดแรกสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2565 ให้ ทอท. เก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ โดยใช้อัตราของปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนวิกฤติโควิดฯ เป็นฐานในการคำนวณหาค่า MG และให้ปรับขึ้นตามสัญญาเมื่อจำนวนผู้โดยสารเริ่มปรับตัวมากกว่าช่วงก่อนวิกฤติ

  • AOT เยียวยาโควิดฯรอบ 2 อุ้มสายการบิน-ผู้รับสัมปทาน
  • “ทัวร์ลง AOT” บอร์ดฯ ปรับลดรายได้ขั้นต่–เลื่อนนับอายุสัมปทานดิวตี้ฟรี
  • บทเรียน “ทัวร์ลง AOT” ให้ข้อมูลนักวิเคราะห์ถูกต้อง–ครบถ้วนหรือไม่
  • เยียวยาครั้งที่ 3 ที่ประชุมบอร์ด ทอท. ครั้งที่ 7 และ ครั้งที่ 8/2563 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ได้มีมติอนุมัติขยายเวลาให้กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ซึ่งต้องเข้าปรับปรุงตบแต่งพื้นที่ตามสัญญาสัมปทานฯ ออกไป 1 ปี และมีมติเลื่อนระยะเวลาการเริ่มต้น และสิ้นสุดของสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี 4 สนามบินและสัญญาสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิออกไป เริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2575 จากเดิมเริ่มวันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2574

    AOT อ้างเหตุเปิด SAT-1 ไม่ทัน เลื่อนนับอายุสัมปทาน 4 สนามบิน ปี’65

    โดยให้เหตุผลตามที่ปรากฏในเอกสารแถลงข่าวของ ทอท. ฉบับที่ 34/2563 ว่า “ให้สอดคล้องกับการเปิดใช้งานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) … เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ ทอท. ไม่สามารถเปิดดำเนินการในอาคาร SAT-1 ได้ตามเป้าหมายที่ปรากฏในสัญญาฯ โดยคาดว่าจะเลื่อนการเปิดให้บริการจากเดิม 1 เมษายน 2564 เป็นวันที่ 1 เมษายน 2565 บอร์ด ทอท. จึงจำเป็นต้องมีมติให้มีการขยายระยะเวลาเตรียมการจาก 6 เดือน ออกไปอีก 1 ปี เป็น 1 ปี 6 เดือน อันเป็นผลให้มีการปรับอายุสัญญา เพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดใช้งานอาคาร SAT-1”

    แหล่งข่าวที่ติดตามเรื่องนี้กล่าวกับ “ไทยพับลิก้า” ว่ากรณี บอร์ด ทอท. อ้างสถานการณ์โควิดฯ ระบาด ไม่สามารถเปิดให้บริการอาคาร SAT-1 ที่สนามบินสุวรรณภูมิได้ทัน ตามที่ระบุในสัญญาสัมปทานฯ จึงเป็นเหตุให้ต้องเลื่อนเวลาเข้าปรับปรุงพื้นที่ให้กับกลุ่มคิงเพาเวอร์ฯ และแก้ไขอายุสัญญาสัมปทานฯสนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งสนามบินภูมิภาคอีก 3 แห่ง ไปเริ่มต้นนับสัญญากันใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2565 อาจไม่สอดคล้องกับวันสิ้นสุดสัญญางานก่อสร้างอาคาร SAT-1 ที่ ทอท. และกลุ่ม PCS ผู้รับจ้าง ทำบันทึกข้อตกลงกันไว้เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2562 ซึ่งมีการแก้ไขวันครบกำหนดของ Milestone และ Key Date เพิ่ม 145 วัน ส่งผลให้วันครบกำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาเปลี่ยนแปลงเป็นวันที่ 21 เมษายน 2563 ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2562 เจ้าหน้าที่ ทอท. ตรวจพบน้ำท่วมขังในอุโมงค์ utility tunnel ฝั่งตะวันตก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการออกแบบโครงสร้างฐานรากแตกต่างกัน ระหว่าง utility tunnel ของอาคาร SAT-1 ที่ออกแบบโดยใช้ฐานรากแบบมีเสาเข็ม ขณะที่ utility tunnel ฝั่งตะวันตกใช้โครงสร้างฐานรากแบบไม่มีเสาเข็ม จึงทำให้มีปัญหาการทรุดตัวลงไม่เท่ากัน และมีการรั่วซึมบริเวณรอยต่อ

    ต่อสัญญา SAT-1 แค่ 111 วัน ทำไมเลื่อนเปิดอาคาร 365 วัน

    แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ทอท. ตรวจพบปัญหาการทรุดตัวของอุโมงค์ฝั่งตะวันตกมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2562 ใช้เวลาหาแนวทางแก้ไขปัญหาเกือบ 1 ปี วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ฝ่ายบริหาร ทอท. ก็ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาการทรุดตัวของอุโมงค์ต่อที่ประชุมบอร์ด ทอท. ครั้งที่ 3/2563 โดยที่ประชุมบอร์ด ทอท. วันนั้นได้มีมติอนุมัติงานก่อสร้างเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขการทรุดตัวของอุโมงค์ utility tunnel (ฝั่งตะวันตก) ของอาคาร SAT-1 รวมทั้งมีมติอนุมัติขยายระยะเวลางานก่อสร้างตัวอาคาร SAT-1 ให้แล้วเสร็จออกไปแค่ 111 วัน ซึ่งรวมงานเปลี่ยนแปลงฝ้า โคมไฟ และเครื่องเอกซเรย์ ตามที่คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นำเสนอ จากเดิมกำหนดวันแล้วเสร็จตามสัญญาเป็นวันที่ 21 เมษายน 2563 ถูกเลื่อนออกไป 111 วัน เข้าใจว่างานจะแล้วเสร็จในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2563

    คำถาม คือ ทอท. ตรวจทดสอบระบบงานก่อสร้างอาคาร SAT-1 กันอย่างไร ทำไมใช้เวลานานกว่า 1 ปี ทำให้ต้องเลื่อนเวลาเปิดให้บริการอาคาร SAT-1 ออกไปเป็นวันที่ 1 เมษายน 2565

    นอกจากเลื่อนนับอายุสัญญาสัมปทานแล้ว ในมาตรการเยียวยาครั้งที่ 3 บอร์ด ทอท. ได้มีมติปรับปรุงวิธีจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่จากกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ใหม่ โดยนำค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำปีแรก (ปี 2564) ตอนที่กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ยื่นข้อเสนอประมูลงานมาเป็นตัวตั้ง หารด้วยประมาณการจำนวนผู้โดยสาร เพื่อหาค่าเฉลี่ยต่อหัว หรือ “sharing per head” จากนั้นนำไปคูณกับจำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริงในปีนั้นๆ ผลลัพธ์ที่ได้คือค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่กลุ่มคิงเพาเวอร์ฯ ต้องจ่ายให้ ทอท. ในปีนั้นๆ

    ส่วนปีถัดไปก็ให้ใช้สูตรคำนวณเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ โดยพิจารณาจากอัตราการเติบโตของผู้โดยสารและอัตราเงินเฟ้อของปีก่อน ทั้งนี้ ทอท. จะเริ่มเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำสูตรใหม่นี้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ไปจนกว่าจะถึงปีที่มีจำนวนผู้โดยสารกลับมาเท่ากับหรือมากกว่าจำนวนผู้โดยสารที่กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ปริมาณการเอาไว้ (ปี 2564) ตามที่ได้ยื่นข้อเสนอเอาไว้ ทอท. ถึงจะกลับไปเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ตามสูตรที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทาน

    หลังบอร์ด ทอท. มีมติออกมาตรการเยียวยาชุดใหญ่ออกไป ก็เกิดเหตุการณ์ “ทัวร์ลง AOT” มีโบรกเกอร์และนักวิเคราะห์หลายสำนักไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว โดยเฉพาะ บล.กสิกรไทย ประเมินว่า การปรับสูตรหรือวิธีจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของ ทอท. ประมาณ 133,000 ล้านบาท แต่ถ้าจำนวนผู้โดยสารฟื้นตัวกลับมาเร็ว กระทบรายได้ ทอท. แค่ 79,000 ล้านบาท

    คำถามคือ เมื่อไหร่จำนวนผู้โดยสารจะกลับมาเท่ากับประมาณการจำนวนผู้โดยสารตามที่กลุ่มคิงเพาเวอร์ฯ เคยเสนอเอาไว้ ค่าผลประโยชน์ตอนแทน รวม 3 สัญญา 23,500 ล้านบาท ทอท. จะได้เงินรับเมื่อไหร่ ทำไมต้องรีบ ไม่รอผลวัคซีนต้านโควิดฯ หรือก่อนมาตรการยกเว้นเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2565 ค่อยมาพิจารณาเยียวยากันใหม่ ก็ยังมีเวลาเหลือ 1 ปี ทำไมต้องรีบ… ทำไมๆ

    นี่คือคำถามที่ AOT ต้องตอบ

    ที่มาโครงการก่อสร้างอาคาร SAT-1

    ความเป็นมาของงานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554-2560) ของ ทอท. โดยมีกลุ่มบริษัท MAA 103 Group เป็นที่ปรึกษางานออกแบบ และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา SCS Consortium ควบคุมงานก่อสร้าง

    สำหรับตัวอาคาร SAT-1 มีผู้รับเหมางานก่อสร้างอยู่ 2 ราย รายแรก คือ บริษัท อิตาเลียนไทยดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) รับผิดชอบงานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (ชั้น B2 ชั้น B1 และชั้น G) ลานจอดอากาศยานประชิดอาคาร SAT-1 และส่วนเชื่อมต่ออุโมงค์ด้านใต้ (งานโครงสร้างและงานระบบหลัก) (CC1/1) ขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว (100%)

    รายที่ 2 คือ กลุ่ม PSC Joint Venture ซึ่งประกอบด้วยบริษัท เพาเวอร์ไลน์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่าสเตท คอรสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รับผิดชอบงานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (ชั้น 2-4) และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ (งานระบบย่อย) (CC1/2) วงเงิน 14,325 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 660 วัน เริ่มลงนามในสัญญาว่าจ้างฯเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2560 เข้าเริ่มงานเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 ครบกำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562

    ต่อมาเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2562 ทอท. และ PSC ได้ทำบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมท้ายสัญญาจ้าง โดยขยายระยะเวลากำหนดวันแล้วเสร็จตามสัญญาฯ รวมถึงแก้ไขวันครบกำหนดของ Milestone และ Key Date เพิ่มขึ้น 145 วัน คือวันที่ 21 เมษายน 2563

    วันที่ 15 มีนาคม 2562 ทอท. พบปัญหาน้ำท่วมขังภายในอุโมงค์ utility tunnel ฝั่งตะวันตก และตรวจพบการรั่วซึมบริเวณรอยต่อของ utility tunnel SAT-1 กับ utility tunnel ตะวันตก ซึ่งทรุดตัวไม่เท่ากัน โดยมีสาเหตุมาจากการออกแบบ utility tunnel ตะวันตก ใช้โครงสร้างฐานรากแบบไม่มีเสาเข็ม ซึ่งแตกจากโครงสร้างของ utility tunnel SAT-1 ที่ออกแบบโดยใช้ฐานรากแบบมีเสาเข็ม

    ช่วงเดือนมิถุนายน 2562 ได้จัดประชุมหารือร่วมกับกลุ่มบริษัท MAA103 และกลุ่มบริษัท SCS เพื่อหาทางแก้ไขการทรุดตัวของ utility tunnel โดยบริษัท MAA 103 เสนอแนวทางแก้ไข 4 วิธี คือ 1. Jet Grouting 2. Side Support 3. Beams Under Tunnel และ 4. Piles Under Tunnel จึงส่งให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุโครงการพัฒนา ทสภ.ครั้งที่ 22/2562 พิจารณา และมีมติเลือกวิธีที่ 2 โดยให้กลุ่มบริษัท SCS ที่ควบคุมงานก่อสร้างดูแลรายละเอียดต่อไป

    วันที่ 9 กันยายน 2562 กลุ่มบริษัท SCS ทำหนังสือแจ้ง ทอท. โดยเห็นควรให้จ้างกลุ่ม PSC ทำงานเพิ่มเติม เนื่องจากมีความจำเป็นต้องทำการเสริมโครงสร้างของ utility tunnel ฝั่งตะวันตก เพื่อให้เกิดความแข็งแรงและปลอดภัยสอดคล้องกับวัตถประสงค์การใช้งาน จึงเริ่มกระบวนการเจรจาเรื่องราคาและระยะเวลาในการก่อสร้างอาคาร SAT -1 อีกครั้ง จนได้ข้อสรุปและนำเสนอที่ประชุมบอร์ด ทอท. ครั้งที่ 3 มีมติอนุมัติงานก่อสร้างเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขการทรุดตัวของ utility tunnel ฝั่งตะวันตก ของอาคาร SAT-1 พร้อมกับอนุมัติงานเปลี่ยนแปลง 3 เรื่อง คือ เพิ่มฝ้า เปลี่ยนโคมไฟ และงานเปลี่ยนเครื่องเอกซเรย์ โดยเพิ่มวงเงินค่าจ้างให้ กลุ่ม PSC ทั้งสิ้น 142.91 ล้านบาท โดยงานเปี่ยนแปลงทั้ง 3 เรื่อง ใช้เวลาดำเนินงาน 111 วัน เนื่องจากไม่อยู่ในสายงานวิกฤติ ผู้รับจ้างสามารถดำเนินการได้ ไม่จำเป็นต้องขยายเวลาให้ เนื่องจากผู้รับจ้างสามารถดำเนินการไปได้พร้อมกับงานแก้ปัญหาการทรุดตัวของ utility tunnel