ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > “” หนุน 3 ชุมชน พลิกวิกฤติ “ภัยแล้ง-น้ำท่วม” สู่การจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

“” หนุน 3 ชุมชน พลิกวิกฤติ “ภัยแล้ง-น้ำท่วม” สู่การจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

7 สิงหาคม 2020


ฝายของชุมชนบ้านไผ่งาม

“เอสซีจี” ลงพื้นที่โครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง” ดูการบริหารจัดการน้ำและคุณภาพชีวิตชาวบ้าน 3 ชุมชน 2 จังหวัด

“แล้งทีขาดทุนหมด ไม่ได้สักเม็ด ฝนตกแค่สองห่า ปลูก (ข้าว) ได้ แต่ผลผลิตไม่ได้ เพราะฝนบ่มี”

เสียงสะท้อนจากนายสงกรานต์ เป็นพวก ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแกนนำจัดการน้ำ ชุมชนบ้านสาแพะเหนือ หมู่ 7 ตำบลบ้านสา อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติภัยแล้ง ทำให้ขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค และเกษตรกรรม

ในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติภัยแล้งรุนแรงสูงสุดในรอบ 30 ปี มี 57 จังหวัดได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง โดยมีสาเหตุหลักมาจาก “ฝนแล้ง” ทำให้ไม่มีน้ำเพียงพอต่อการใช้งานจริง แม้ว่าในความเป็นจริงหลายชุมชนจะมีแหล่งน้ำภายในพื้นที่ เช่น ป่าต้นน้ำ อ่างเก็บน้ำ หนองน้ำ ฯลฯ แต่ชุมชนก็ยังคงประสบปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากไม่สามารถนำน้ำมาใช้งานได้จริง

ปัญหา “ภัยแล้ง” และ “น้ำท่วม” นับเป็นภัยพิบัติหลักที่ชนบทมักประสบพบเจอในทุกปี ขณะที่ในบางเดือนชุมชนไม่มีน้ำสำหรับใช้งาน แต่ในอีกไม่กี่เดือนถัดมาชุมชนกับประสบปัญหาน้ำท่วม ดังนั้นการแก้ไขและบรรเทาปัญหาอย่างยั่งยืนของทั้งสองภัยพิบัติจะต้องมองถึงองค์รวมด้านการจัดการภัยพิบัติและการบริหารจัดการน้ำ และสร้างสมดุลในพื้นที่

  • 30 ปี “ภัยแล้ง-น้ำท่วม” ประชาชนเดือดร้อนร่วม 10 ล้านคนทุกปี (ตอน 1)
  • แผนที่ชุมชน ชุมชนบ้านสาแพะเหนือ

    นายสงกรานต์เล่าว่า ชุมชนบ้านสาแพะเหนือเป็นชุมชนเกษตรกรรม 100% มีการทำเกษตรตลอดทั้งปี พืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ ผักกาดเขียวปลี ถั่วพุ่ม ข้าวโพด และพืชผักสวนครัวอื่นๆ โดยอาศัยแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ได้แก่ น้ำฝน, น้ำจากอ่างห้วยแก้ว และวังเก็บน้ำขนาดเล็กกลางลำห้วยแก้วที่ชาวบ้านจ้างรถมาขุดเอง และด้วยวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกให้กว้างออกไปเรื่อยๆ ยิ่งทำให้ไม่เหลือพื้นที่ป่าที่จะดูดซับน้ำ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2558 ที่เห็นผลกระทบชัดเจนจากภัยแล้ง ทำให้ไม่มีน้ำเพียงพอต่อการเกษตร โดยต้นข้าวยืนต้นแห้งตายคานาเกือบทั้งหมู่บ้าน ยิ่งกว่านั้นน้ำในอ่างห้วยแก้วก็แห้งขอด ไม่มีน้ำที่จะทำการเกษตร

    ก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. 2559 ภาคเอกชนอย่าง “เอสซีจี” เข้ามาทำซีเอสอาร์ (CSR) ผ่านโครงการ “SCG รักษ์น้ำ” และถอดบทเรียนร่วมกันว่าปัญหาของชุมชนบ้านสาแพะเหนือคือไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อดึงน้ำมาใช้อย่างยั่งยืน เอสซีจีจึงให้คำแนะนำด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ โดยให้งบประมาณสนับสนุนในระยะเริ่มต้น 2.3 ล้านบาท

    ทั้งนี้ในบางพื้นที่มีเงื่อนไขเรื่องการใช้วัสดุอุปกรณ์ “คอนกรีต” ของเอสซีจี เพื่อมาสร้างฝายตามข้อกำหนดของโครงการ

    ต่อมาปี พ.ศ. 2560 ชุมชนได้เก็บข้อมูลเพื่อนำมาวางแผนการแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยเริ่มตั้งแต่การสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ป่าต้นน้ำ สำรวจพื้นที่แหล่งน้ำตามเส้นทางน้ำจากอ่างห้วยแก้ว สร้างแหล่งเก็บน้ำเพิ่ม ปรับปรุงแหล่งเก็บน้ำเดิม ป้องกันตะกอนไหลลงแหล่งเก็บน้ำ เพื่อเอาน้ำมาเก็บไว้ใช้ทำเกษตรในฤดูแล้ง เครื่องมือที่นำมาใช้แก้ไขปัญหา

    บ่อพวงคอนกรีต ชุมชนบ้านสาแพะเหนือ
    บ่อพวงคอนกรีต ชุมชนบ้านสาแพะเหนือ

    จนปี พ.ศ. 2563 ชุมชนได้สร้างฝายไปแล้วกว่า 900 ฝาย ที่เห็นผลได้อย่างชัดเจนคือช่วงฤดูแล้ง (ช่วงปลายเดือน ก.พ.-พ.ค.) ในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งฝนตกน้อยกว่าปีก่อนถึง 40% ทำให้คาดการณ์ว่าจะเกิดภัยแล้ง แต่เพราะผลจากฝายที่ทำให้เกิด “โครงการห้วยแก้วโมเดล” ทำให้ชุมชนมีฝายใต้ทราย ซึ่งสามารถสูบน้ำใช้ทำการเกษตรได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ยังเห็นได้ชัดจาก “ห้วยป่าไร่” ซึ่งในอดีตเป็นพื้นที่แห้งแล้งไม่มีน้ำ แต่หลังจากทำฝายชะลอน้ำทำให้มีน้ำขังอยู่เป็นแอ่งนานหลายวัน

    บทเรียนของชุมชนบ้านสาแพะเหนือคือ การรักษาแหล่งน้ำควบคู่กับการดูแลรักษาป่า โดยใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชน และไม่ตัดไม้ทำลายป่าให้เปิดโล่ง ไม่เผาทำลายป่า

    ด้านนางวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการ Enterprise Brand Management Office เอสซีจี กล่าวว่า การจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่มีประเด็นเฉพาะเพราะความสำเร็จจากพื้นที่หนึ่งอาจไม่สามารถแก้ปัญหาในอีกพื้นที่หนึ่งได้ โดยปัจจัยสำคัญคือ “สภาพแวดล้อมในพื้นที่” ประกอบกับ “การบริหารจัดการน้ำ” รวมถึงยังมีประเด็นอย่าง “งบประมาณ” และ “ความร่วมมือ-สามัคคีของคนในชุมชน” จึงจะนำไปสู่การแก้ปัญหาและบริหารจัดการน้ำได้อย่างยั่งยืน

    เอสซีจีได้ลงพื้นที่ทำกิจกรรมซีเอสอาร์ในประเด็น “การจัดการน้ำ” ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ

    • พ.ศ. 2550 กับโครงการรักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที โดยร่วมกับชุมชนบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ มีผลงานที่สำคัญคือ สร้างฝายชะลอน้ำทั้งสิ้น 91,405 ฝาย สร้างสระพวงเชิงเขาต่อยอดนำน้ำจากฝายชะลอน้ำมาใช้ทำการเกษตร 9 สระ และพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำด้วยระบบแก้มลิง 5 พื้นที่ รวมถึงสร้างบ้านปลาเพื่อคืนระบบนิเวศที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก 2,060 หลัง และชายฝั่งทะเลภาคใต้ 670 หลัง
    • พ.ศ. 2558 เอสซีจีร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ดำเนินการสร้างชุมชนตัวอย่างความสำเร็จด้านการแก้ปัญหาน้ำในพื้นที่ และขยายผลสู่ชุมชนเครือข่ายที่ประสบปัญหาแบบเดียวกันอย่างต่อเนื่อง
    • พ.ศ. 2563 กับโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง” เพื่อสนับสนุน 108 ชุมชน แก้ภัยแล้งด้วยตนเองโดยมีความรู้และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยจัดทำข้อมูลแผนที่ ผังน้ำ ระดับพื้นที่ เพื่อกำหนดเป้าหมาย และวางแผนปฏิบัติพัฒนาแหล่งน้ำของชุมชน โดยดำเนินการทั้งหมด 56 ชุมชน ใน 25 จังหวัด แบ่งเป็นภาคเหนือ 9 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 ชุมชน ภาคกลาง 1 จังหวัด ภาคตะวันตก 1 จังหวัด และภาคตะวันออก 3 จังหวัด โดยเป็นพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 9,269 ไร่ มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 10 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นน้ำเพื่อการเกษตร 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำบริโภค 0.3 ล้านลูกบาศก์เมตร และอุปโภค 8.5 ล้านลูกบาศก์เมตร มีผู้รับประโยชน์ 9,300 ครัวเรือน หรือ 30,399 ราย

    นางวีนัสกล่าวว่า ตลอด 13 ปี ที่เอสซีจีได้เริ่มโครงการบริหารจัดการน้ำชุมชน ทำให้ชุมชนสามารถเอาชนะภัยเเล้งนำไปสู่การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนได้รวม 70 ชุมชน 16,200 ครัวเรือน ใน 28 จังหวัด มีปริมาณกักเก็บน้ำรวมถึง 26.4 ล้าน ลบ.ม. และมีพื้นที่เกษตรที่ได้รับประโยชน์รวม 45,300 ไร่

    การบริหารจัดการน้ำไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่ แต่มีหลักการร่วมกันคือ (1) หาแหล่งน้ำ (2) ประเมินต้นทุนทรัพยากรภายในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการนำมาใช้ประโยชน์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด (3) ประเมินระดับแหล่งน้ำกับพื้นที่เกษตรว่าอยู่สูง ต่ำ หรือระดับเดียวกับพื้นที่การเกษตร เพราะแต่ละระดับมีวิธีการจัดการที่แตกต่างกัน และ (4) หาเครื่องมือกระจายน้ำเข้าสู่ชุมชนด้วยเครื่องมือต่างๆ เช่น ท่อลอดใต้ดิน รางน้ำคอนกรีต ร่องน้ำ ฯลฯ

    พื้นที่เกษตร ชุมชนบ้านไผ่งาม

    ถัดมาที่ชุมชนบ้านไผ่งาม ตำบลเมืองมาย อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม

    นายปทุม เกิดผล ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านไผ่งาม ให้ข้อมูลว่าชุมชนบ้านไผ่งามมีพื้นที่รวมกว่า 175 ตารางกิโลเมตร มีประชากรจำนวน 514 ครัวเรือน 165 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ ปลูกถั่วลิสง ปลูกข้าวโพด เนื่องจากชุมชนส่วนใหญ่ทำการเกษตรตลอดทั้งปี และพื้นที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง

    แหล่งน้ำสายหลักที่เป็นที่พึ่งพิงของพื้นที่คือ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ต๋า ชุมชนจึงได้เอาน้ำจากลำห้วยมาใช้สูบขึ้นมาใช้ประปาของหมู่บ้าน อย่างไรก็ตามชุมชนก็เผชิญกับปัญหา “ภัยแล้ง” ทำให้ในทุกๆ ปี ทำให้ชุมชนไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค รวมถึงเกษตรกรรม

    จนในปี พ.ศ. 2553 ผู้นำชุมชนและชาวบ้านลุกขึ้นมาจัดการปัญหาด้วยตนเองด้วยการเอากระสอบทรายมากั้นน้ำตรงจุดลำห้วยที่ใกล้บ้านเรือนเพื่อเพิ่มระดับน้ำและกั้นไว้เอาใช้ตอนฤดูแล้ง แต่เมื่อถึงฤดูแล้งก็ยังคงไม่มีน้ำเพียงพอในการดำรงชีวิต และในปีเดียวกันชุมชนได้รับงบประมาณจึงสร้าง “แทงก์ประปาหมู่บ้าน” และเอาน้ำขึ้นไปไว้ตรงแทงก์ประปาของหมู่บ้าน โดยใช้เครื่องสูบน้ำเป็นระยะทางประมาณ 200 เมตรจากลำห้วยแม่ต๋าขึ้นไปไว้บนแทงก์

    แต่ชุมชนไม่ได้เจอแค่ปัญหาภัยแล้งเท่านั้น เพราะเมื่อภัยแล้งผ่านไปเกิดก็เกิดปัญหา “น้ำหลาก” ในช่วงฤดูฝน ทำให้กระสอบทรายที่กั้นไว้พังทลาย ซึ่งแต่ละปีทางชุมชนใช้งบประมาณกับการเสียค่าไฟฟ้าจากเครื่องสูบน้ำและต้องซื้อวัสดุอุปกรณ์เพื่อมาซ่อมฝายกระสอบทรายทุกๆ ปี

    เมื่อปี พ.ศ. 2561 ชุมชนบ้านไผ่งามเข้าร่วมโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง” ชาวบ้านและภาคเอกชนจึงได้แก้ไขปัญหาร่วมกัน และได้ข้อสรุปว่าสภาพแวดล้อมของพื้นที่ชุมชนบ้านไผ่งามจะต้องสร้างฝ้ายชะลอน้ำ เพื่อประโยชน์ทั้งการกักเก็บน้ำ และชะลอน้ำเมื่อยามน้ำท่วม

    น้ำในฝาย ชุมชนบ้านไผ่งาม

    ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านไผ่งามเล่าอีกว่า ในช่วงแรกชาวบ้านขัดแย้งกันเรื่องวิธีการบริหารจัดการน้ำ เพราะต่างคนต่างมีความต้องการของตนเอง และเชื่อในวิธีจัดการของตนเอง ทำให้การสร้างฝายช่วงแรกไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาชุมชนเผชิญกับปัญหาภัยแล้งหนักขึ้นจึงต้องสามัคคีกัน ทำให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งยังช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายงบประมาณของหมู่บ้านได้

    ชุมชนบ้านปางเคาะ หมู่ที่ 11 ตำบลไทรย้อย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวได้เข้าร่วมโครงการของเอสซีจีฯ และได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาคเอกชนจนทำให้ชุมชนมีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคและบริโภค

    นายพัสกร เขื่อนพันธ์ ผู้ใหญ่บ้านปางเคาะ หมู่ 11 ตำบลไทรย้อย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เล่าสภาพปัญหาว่า ชุมชนมีแหล่งน้ำที่ลำห้วยแม่แขมที่อยู่ใกล้หมู่บ้าน ซึ่งปริมาณน้ำเพียงพอต่อการนำมาใช้อุปโภคและบริโภคในหมู่บ้าน แต่ชุมชนยังคงประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเนื่องจากไม่มีที่กักเก็บน้ำ ทำให้ไม่สามารถดึงน้ำจากแหล่งน้ำขึ้นมาใช้งานได้โดยตรง

    ตาน้ำจากภูเขา ชุมชนบ้านปางเคาะ

    มิหนำซ้ำ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนตำบลไทรย้อย (รพ.สต.) ที่ดูแลประชาชน 6 หมู่บ้าน ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการใช้หมุนเวียนภายในโรงพยาบาล ซึ่งถือเป็นวิกฤติของระบบการจัดการในชนบท

    เมื่อไม่มีน้ำสำหรับการใช้ชีวิต ชาวบ้านเลยทิ้งอาชีพเกษตรกร ปล่อยพื้นที่รกร้าง หันไปประกอบอาชีพรับจ้างและเข้าเมืองเพื่อหารายได้ในทางอื่น ทำให้พื้นที่ชุมชนบ้านปางเคาะแทบจะไม่มีการเกษตรทั้งที่เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ นอกจากนี้ชุมชนยังประสบปัญหาไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคและบริโภค ทำให้ผู้ใหญ่บ้านต้องขอรถน้ำจาก อบต. เพื่อมาจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อการใช้งานในทุกครัวเรือน

    ด้านนายช่วย ก๊กไม้ คณะกรรมการจัดการน้ำชุมชน ชุมชนบ้านปางเคาะ กล่าวว่า ลำห้วยหลักที่เป็นแหล่งน้ำในการผลิตประปาภูเขาของชุมชนแห้งขอด ซึ่งระบบประปาชุมชนนี้ครอบคลุมการใช้งานทั้งคนในหมู่บ้าน โรงเรียน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนตำบลไทรย้อย ที่ให้บริการแก่ประชาชน หมู่ที่ 2, 3, 5, 6, 11 และ 12

    บ่อพักน้ำ ชุมชนบ้านปางเคาะ

    เมื่อเอสซีจีลงพื้นที่สำรวจจึงได้สนับสนุนงบประมาณสร้างถังเก็บน้ำคอนกรีต และสร้างระบบกรองน้ำ เพื่อกรองน้ำที่มาจากลำห้วยแม่แขม ก่อนส่งเข้าระบบประปาชุมชน ตลอดจนพัฒนาระบบประปาในพื้นที่ด้วยการวางท่อคอนกรีตขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร จำนวน 12 ท่อ เชื่อมจากลำห้วยแม่แขม นำน้ำมาผ่านระบบกรองน้ำที่สร้างขึ้นใหม่ และวางท่อ PVC และท่อเหล็ก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 นิ้ว ระยะทาง 4,000 เมตร จากระบบกรองน้ำไปเข้าถังเก็บน้ำดื่มคอนกรีต และต่อจากถังเก็บน้ำดื่มคอนกรีตเข้าระบบประปาชุมชน

    นายช่วยบอกว่าในปี พ.ศ. 2563 ชุมชนมีปริมาณน้ำใช้ในระบบประปาชุมชนเพิ่มอีก 36,000 ลูกบาศก์เมตร/รอบ มีผู้ได้รับประโยชน์ 188 ครัวเรือน จำนวน 1,300 คน รวมถึงทำให้สถานการณ์ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนตำบลไทรย้อยพลิกจากหลังมือเป็นหน้ามือเพราะมีน้ำไว้ใช้ดูแลผู้ป่วยและไม่ขาดแคลนน้ำสำหรับล้างมือในสถานการณ์โควิด-19

    นอกจากนี้ยังทำให้เกษตรกร “กลุ่มผักยิ้ม” สามารถขยายพื้นที่ปลูกผักเพิ่มได้อีก 1 ไร่ รองรับคนว่างงานที่กลับมาอยู่บ้านจากสถานการณ์โควิด-19 ให้มีงานทำ มีรายได้เลี้ยงดูตัวเอง โดยรายได้ของกลุ่มเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูแล้งอีกเดือนละประมาณ 10,000 บาท

    อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปี พ.ศ. 2563 ชุมชนบ้านปางเคาะจะมีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคและบริโภคทุกหลังคาเรือน แต่ชุมชนยังคงประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอสำหรับทำการเกษตร เนื่องจากถัง-บ่อพักน้ำและระบบกรองน้ำยังไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำที่เพียงพอสำหรับทำการเกษตรได้ โดยปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขเพราะชุมชนไม่มีงบประมาณในการก่อสร้างแหล่งพักน้ำ

    อย่างไรก็ตามวิกฤติภัยแล้งส่งผลกระทบในวงกว้างถึงประชาชนร่วม 10 ล้านคน นับเป็นปัญหาเรื้อรังของชนบทจำนวนมาก แม้จะมีการคิดค้นระบบการจัดการทรัพยากรน้ำอย่าง “ฝาย” “บ่อพวง” “ธนาคารน้ำใต้ดิน” หรือวิธีการอื่นๆ มาใช่้เพื่อบรรเทาวิกฤติภัยแล้งในชุมชน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในบางชุมชนยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำได้ครบทั้งวงจร เพราะด้วยข้อจำกัดต่างๆ โดยเฉพาะด้านงบประมาณและความร่วมมือของคนในชุมชน

    อย่างไรก็ตาม การจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนเป็นความท้าทายของทั้งชุมชนและภาครัฐว่าจะหาจุดที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละชุมชนได้อย่างไร