ThaiPublica > คอลัมน์ > น้ำลง เรือผุด เรื่องเศร้าชาวประมงริมน้ำท่าจีน : เรือประมง “ทรัพย์สิน” หรือ “หนี้สิน”

น้ำลง เรือผุด เรื่องเศร้าชาวประมงริมน้ำท่าจีน : เรือประมง “ทรัพย์สิน” หรือ “หนี้สิน”

18 กรกฎาคม 2020


วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Wicharn Sirichai-Ekawat

เรือประมงลำนี้ ผมเห็นมาประมาณเกือบปี ที่ผูกทิ้งไว้ที่สุสานเรือในบริเวณปากแม่น้ำท่าจีน นั่นย่อมหมายถึง เจ้าของเรือ “ทิ้งเรือลำนี้” แล้ว

ผมไม่รู้ว่าคนที่เห็นคิดอะไรกันอยู่ แต่สำหรับผม ได้แต่หดหู่ใจและเห็นใจเจ้าของเรือ ที่ต้อง “ตัดใจ” ทิ้งเรือได้ถึงขนาดนี้ครับ

เรือลำนี้ มองด้วยตาเปล่าในระยะไกล เข้าใจว่ามีขนาดอยู่ระหว่าง 60-70 ตันกรอส เข้าใจว่ามีอายุเรือประมาณ 10+/- ปี

ถ้าในสมัยที่ยังทำการประมง เรือลำนี้น่าจะมีมูลค่าประมาณ 10+/- ล้านบาท
เรือลำนี้ ผมเข้าใจว่าเคยเป็นทรัพย์สินที่ถูกต้องตามกฎหมายของเจ้าของเรือ

เรือลำนี้ ผมเข้าใจว่าเคยเป็นเครื่องมือทำมาหากินของเจ้าของเรือ และมีรายได้มาจุนเจือและเลี้ยงครอบครัวของเจ้าของเรือ

เรือลำนี้ ผมเข้าใจว่าเคยหาปลามาป้อนประชาชนคนไทยปีละประมาณ 1,200-1,500 ตัน หรือ 1,200,000-1,500,000 กิโลกรัม (ปลาทู) ถ้าคนไทยกินปลาโดยเฉลี่ยนคนละ 40 กิโลกรัม/คน/ปี จะเท่ากับเรือลำนี้ เคยหาปลามาให้คนไทยได้กินถึงปีละ 30,000-37,500

…ไม่น้อยเลยครับ

เรือลำนี้ ผมเข้าใจว่าเคยหารายได้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อประเทศปีละ 36-45 ล้านบาท ถ้าปลาเหล่านั้นมีราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 30 บาท และทำให้ประเทศไทยไม่ต้องนำเข้าปลาทูจากต่างประเทศมากินกันอย่างทุกวันนี้ ซึ่งหมายถึงการสงวนเงินตราต่างประเทศอีกด้วย

ฯลฯ

แต่วันนี้ สิ่งที่ว่ามาข้างต้น “ไม่มีแล้ว” เรือลำนี้กลับกลายเป็นสิ่งที่ “ไร้มูลค่า” “ไร้คุณค่า” และเข้าใจว่า เป็น “ภาระ” ทางกฎหมายที่เจ้าของต้องตัดใจทิ้งไว้อย่างที่เห็น

เศร้าไหมครับ

เรือประมงลำนี้ ผมเข้าใจว่า ไม่น่าจะมีปัญหาในเรื่องใบอนุญาตทำการประมงตามกฎหมายประมงใหม่ (พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558/2560) เหมือนกับเรือประมงอีกหลายๆ ลำที่ต้องจอดเรือ

น้ำลง เรือผุด เรื่องเศร้าริมริมน้ำท่าจีน ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Wicharn Sirichai-Ekawat

เหตุผล คือ เรือลำนี้ มีเลขใบอนุญาตทำการประมง “TL2400B” เขียนอยู่ข้างกราบเรือ ซึ่งมีความหมาย ดังนี้

อักษร “T” หมายถึง แหล่งประมงที่เรือลำนี้ทำการประมงอยู่ ซึ่งก็คือ “อ่าวไทย”

อักษร “L” หมายถึง ขนาดของเรือที่ระบุว่าเรือลำนี้มีระวางอยู่ระหว่าง 60-150 ตันกรอส

เลขชุด “2400” หมายถึง หมายเลขชุดใบอณุญาตของเรือกลุ่มนี้

อักษร “B” หมายถึง เครื่องมือที่ลำนี้ใช้ทำการประมง คือ “อวนล้อมจับ”

แปลความหมายโดยรวม คือ เรือประมงลำนี้ “เป็นเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ (60-150 ตันกรอส) ที่ได้รับอนุญาตจากกรมประมงอย่างถูกต้องตามกฎหมายให้ทำการประมงได้ในเขตอ่าวไทย ด้วยเครื่องมือประเภทอวนล้อม”

ผมเข้าใจว่า เจ้าของอาจ “สละใบอนุญาต” ที่มีอยู่ด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นการขายให้กับเรือลำอื่น “ที่ไม่มีใบอนุญาต” เอาไปใช้ประโยชน์แทน อาจจะขายไปเพื่อการ “ควบรวม” หรือ “ทิ้งไปเฉยๆ” เพราะอาจไม่มีทุนทำต่อ ไม่มีลูกเรือทำต่อ อาจไม่มีปลาทูให้จับแล้ว หรือเหตุผลอื่น ผมไม่ทราบ เพราะไม่ได้คุยกับเจ้าของเรือ

แต่ ผมเห็นว่า ถึงอย่างไร เรือลำนี้ก็ยังมี “มูลค่า” และ “ประโยชน์” ที่เจ้าของเรือ “พึงใช้ประโยชน์ได้” และที่เจ้าของเรือต้อง “ตัดใจ” ทิ้งเรือลำนี้ก็เพราะ “กฎหมาย” ที่สร้างปัญหาและภาระให้กับเจ้าของเรือ จนไม่อยากจะทนอยู่ในสภาพนั้นได้อีก

ที่ผมบอกว่า “กฎหมาย” เป็นตัวสร้างปัญหาและภาระให้กับเจ้าของเรือ จนไม่อยากจะทนอยู่ในสภาพของความเป็นเจ้าของเรือได้อีกนั้น มันเป็นประเด็นเรื่องการไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง “เรือ” ของ “อธิบดี” ที่กำกับดูแลมีพื้นความรู้มาจาก “การประมงน้ำจืด” (หรือแม้แต่ประมงทะเลบางคนก็ตาม) และอีก “อธิบดี” ที่มีพื้นความรู้มาจาก “วิศวกรรมโยธา” โดยไม่ต้องมองไปไกลถึงปลัดกระทรวง รัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีที่มาจากทหารด้วย

ที่พูดเช่นนั้น เพราะนอกจากจะไม่มีพื้นความรู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว หน่วยงานต่างๆ ยังมีกรอบความรู้แคบๆ อยู่ในเฉพาะกรมของตน โดยไม่สนใจหรือรู้ไปถึงกิจกรรมอื่นด้วย

ผมอยากชี้ประเด็นอย่างนี้ครับ

คำว่า “เรือ” เป็นคำกลาง ที่หมายถึงวัตถุที่ลอยน้ำได้ ซึ่งตามกฎหมายพาณิชย์นาวีที่ใช้กันระหว่างประเทศ ผมเคยอ่านเจอพบว่า “เรือ” มีสถานะของตนเองหลายอย่าง เช่น

“เรือ” เป็น “นิติบุคคล” ในตัวของมันเอง แยกจากเจ้าของเรือ เป็นผู้กระทำความผิดได้ (โดยมีนายเรือเป็น “ผู้รับผิดชอบร่วม” ไม่ใช่เจ้าของเรือ) ซึ่งจะเห็นได้จากกรณีในต่างประเทศ เวลาเกิดปัญหา เขาจะดำเนินคดีกับ “เรือ” และ “นายเรือ” (กัปตันหรือไต้ก๋งเรือ) โดยไม่สนใจว่าเจ้าของจะเป็นใคร เมื่อจะลงโทษ เขาก็ลงโทษที่เรือ เช่น การกักเรือ การจ่ายค่าปรับ (สมัยที่เรือของบริษัทลำหนึ่งถูกจับที่ประเทศ “เอริเทรีย” ในทะเลแดง เมื่อเขาดำเนินคดีกับเรือ “ผมต้องร้องขอต่อศาลเข้าไปเป็น “โจทก์ร่วม” กับเรือด้วย มิฉะนั้นจะไม่สามารถดำเนินการหรือแก้ต่างอะไรได้)

น้ำลง เรือผุด เรื่องเศร้าชาวประมงริมน้ำท่าจีน ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Wicharn Sirichai-Ekawat

“เรือ” เป็น “สมบัติของชาติ” นอกจากจะเป็นสมบัติของ “เจ้าของเรือ” และเมื่อถึงคราวจำเป็น รัฐสามารถ “เกณฑ์เรือ” เช่นเดียวกับการ “เกณฑ์ทหาร” ได้ ซึ่งจะเห็นได้จากกรณีสงครามฟอล์กแลนด์ ระหว่างอังกฤษกับอาร์เจนตินา ที่รัฐบาลอังกฤษได้ “เกณฑ์เรือสำราญ” สัญชาติอังกฤษที่ชื่อ “Queen Elizabeth II” ให้มาขนทหารจากอังกฤษไปส่งที่เกาะฟอล์กแลนด์ เพื่อรบกับอาร์เจนตินา เมื่อ พ.ศ. 2525 (เข้าใจว่า ในสมัยก่อน กองทัพเรือของไทยก็เคยใช้หลักการนี้ โดยมี “กองควบคุมเรือพาณิชย์” เป็นผู้รับผิดชอบขึ้นทะเบียนเรือประมงและเรือสินค้าที่มีสัญชาติไทยไว้ด้วย)​

“เรือ” ที่ไม่มี “ลูกเรือ” หรือ “ผู้ครอบครอง” ในทะเล ถ้ามีใครพบ สามารถยึดเป็นเจ้าของได้

ฯลฯ

ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ยากนักที่คนบนบก หรือคนที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือคนที่ไม่เคยอ่านกฎหมายระหว่างประเทศหรือกฎหมายทะเล จะเข้าใจได้ครับ

ผมเองแม้จะไม่ใช่นักกฎหมาย แต่เป็นเพราะต้องดูแลเรือประมงและเรืออื่นๆ อีกกว่า 20 ลำในน่านน้ำต่างประเทศและทะเลหลวง ก็ต้องหาความรู้ไว้ครับ เพราะ “รัฐอันธพาลริมทะเล” มีอยู่มากมายครับ ถ้าไม่รู้ก็จะถูกเขาใช้การกระทำในลักษณะ “โจรสลัดในเครื่องแบบ” รังแกเอาได้ครับ

คำว่า “เรือ” เป็นคำกลาง ที่หมายถึงวัตถุที่ลอยน้ำได้

ถ้าเราเอา “ปืน” ใส่เข้าไป ก็จะเป็น “เรือรบ”

ถ้าเราเอา “เก้าอี้” ใส่เข้าไป ก็จะเป็น “เรือท่องเที่ยว”

ถ้าเราเอา “สินค้า” ใส่เข้าไป ก็จะเป็น “เรือสินค้า”

ถ้าเราเอา “เครื่องมือจับปลาใส่เข้าไป ก็จะเป็น “เรือประมง”

ฯลฯ

ดังนั้น เรือทั้งหลายจึงอยู่ในความควบคุมของกรมเจ้าท่า (ยกเว้นเรือรบ) เพราะสามารถเปลี่ยนสถาะได้ดังที่กล่าวมาข้างต้น

“เรือประมง” นั้น เป็นคำกลางระหว่าง 2 กรม ที่เกี่ยวข้องครับ (กรมประมงและกรมเจ้าท่า)

“เรือประมง” ตามกฎหมายเจ้าท่า (พระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481) มีคำจำกัดความตามมาตรา 5 อยู่ 2 ส่วน คือ 3. “เรือ” หมายความถึง ยานพาหนะทางน้ำทุกชนิด และ 8. “การประมง” หมายความถึง การจับสัตว์น้ำทุกชนิดรวมทั้งที่ใช้เรือไปทำการจับสัตว์น้ำหรือเป็นพาหนะไปทำการจับสัตว์น้ำด้วย ดังนั้น เมื่อนำมารวมกันเป็น “เรือประมง” ก็น่าจะหมายรวมถึง “ยานพาหนะทางน้ำทุกชนิด ที่ใช้จับสัตว์น้ำทุกชนิดหรือเป็นพาหนะไปทำการจับสัตว์น้ำด้วย”

ส่วน “เรือประมง” ตามกฎหมายประมง (พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490) มีคำจำกัดความตามมาตรา 4 อยู่ 2 ส่วนเช่นเดียวกัน คือ (2) “ทําการประมง” หมายความว่า จับ ดัก ล่อ ทําอันตราย ฆ่าหรือเก็บสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือทําการประมงหรือด้วยวิธีใดๆ และ (4) “เรือ” หมายความว่า ยานพาหนะทางน้ำทุกชนิด ดังนั้น เมื่อนำมารวมกันเป็น “เรือประมง” ก็น่าจะหมายรวมถึง “ยานพาหนะทางน้ำทุกชนิด ที่ใช้จับ ดัก ล่อ ทําอันตราย ฆ่าหรือเก็บสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือทําการประมงหรือด้วยวิธีใดๆ”

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Wicharn Sirichai-Ekawat

นอกจากนี้ เมื่อจะนำเรือประมงออกไปใช้งาน ยังมี “พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456” ใช้บังคับให้ต้องมีการตรวจสภาพเรือ และออก “ใบอนุญาตใช้เรือ” เพื่อให้การรับรองว่าเรือลำนั้นมีสภาพมั่นคงแข็งแรงและพร้อมใช้งานในทะเลได้อีกด้วย

เมื่อพิจารณาถึงข้อกฎหมายที่ใช้บังคับก่อนปี 2558 ทั้งพระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481 และพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 จะเห็นได้ว่า “เรือประมง” มีความหมายในทางบทบัญญัติไม่ได้ต่างกัน แต่ในทางหลักการและหลักปฏิบัติ คำว่า “เรือประมง” จะมีความหมายที่แตกต่างกันมาก กล่าวคือ

ตามพระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481 คำว่า “เรือประมง” จะมีหนังสือรับรองที่เกี่ยวข้อง 1 ฉบับ คือ “ใบทะเบียนเรือ” และพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 จะมีหนังสือรับรองที่เกี่ยวข้องอีก 1 ฉบับ คือ “ใบอนุญาตใช้เรือ” ซึ่งรับรองว่าเรือประมงลำนั้นมีการจดทะเบียนเป็นเรือไทย (ที่มีรูปลักษณ์เป็นเรือที่ใช้เพื่อทำการประมง) อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีความมั่นคงแข็งแรงที่สามารถใช้เดินเรือในทะเลได้ โดยได้ผ่านการตรวจสภาพแล้ว (มีสภาพเป็นเรือประมงที่สามารถใช้เพื่อทำการประมงได้ แต่ยังไม่สามารถออกทำการประมงได้)

ส่วน “เรือประมง” ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 จะต้องมีหนังสือรับรอง 3 ฉบับ คือ นอกจากจะมี “ใบทะเบียนเรือ” และ “ใบอนุญาตใช้เรือ” แล้ว ยังต้องมี “อาชญาบัตร” หรือ “ใบอนุญาตทำการประมง” ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 อีกด้วย จึงจะออกไปทำการประมงได้

ดังนั้น “เรือประมง” ถ้าได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481 แล้ว จึงเป็น “เรือประมง” (เรือที่มีสภาพเป็นเรือประมง) ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นทรัพย์สินของเจ้าของเรือ และเมื่อได้ผ่านการตรวจสภาพเรือตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 โดยได้รับ “ใบอนุญาตใช้เรือ” แล้ว ก็จะสามารถใช้เดินเรือได้ แต่ยังไม่สามารถใช้เพื่อทำการประมงได้ (เป็นเรือที่ถูกกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481 และพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456)

แต่หากเมื่อต้องการนำเรือนั้นไปใช้เพื่อทำการประมง จะต้องไปขอ “อาชญาบัตร” หรือ “ใบอนุญาตทำการประมง” ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 จึงจะสามารถใช้เพื่อทำการประมงได้

แต่หากมีการนำเรือประมงที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องแล้วไปทำการประมง โดยไม่มี “อาชญาบัตร” หรือ “ใบอนุญาตทำการประมง” ก็จะเป็น “เรือประมงที่ทำการประมงโดยผิดกฎหมาย” มิใช่ “เรือประมงที่ผิดกฎหมาย”

“เรือประมง” ตามพระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 และพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 นั้น ถ้าจะแยกความถูกหรือผิดกฎหมาย คงอธิบายได้เป็นลักษณะดังนี้

(1) “เรือประมง” (ที่มีสภาพหรือรูปลักษณ์เป็นเรือที่ใช้เพื่อทำการประมง) ที่มิได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481 ซึ่งไม่สามารถขอ “ใบอนุญาตใช้เรือ” ได้ ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 และไม่สามารถขอ “อาชญาบัตร” หรือ “ใบอนุญาตทำการประมง” ได้ ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 จึงเป็น “เรือที่ผิดกฎหมาย”

แต่อย่างไรก็ตาม โดยสภาพ “เรือประมง” ลำดังกล่าว ยังมีสภาพเป็น “เรือ (วัตถุที่มีสภาพเป็นเรือ)” เป็นทรัพย์สินของเจ้าของ “วัตถุที่มีสภาพเป็นเรือ” นั้น โดยถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่สามารถโอนหรือเปลี่ยนเจ้าของโดยทางทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ ได้ ทำได้เพียงการส่งมอบ “วัตถุ” นั้น เท่านั้น ถ้าใช้เรือนี้ (วัตถุที่มีสภาพเป็นเรือ) ทำการประมง จะเป็น “เรือ (ที่มีสภาพเป็นเรือ) ประมงที่ผิดกฎหมาย และทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีใบอนุญาตใช้เรือ” (ผิดกฎหมาย 3 ฉบับ)

(2) “เรือประมง” (ที่มีสภาพหรือรูปลักษณ์เป็นเรือที่ใช้เพื่อทำการประมง) ที่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481 ซึ่งมิได้ขอ “ใบอนุญาตใช้เรือ” ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 ทำให้ไม่สามารถขอ “อาชญาบัตร” หรือ “ใบอนุญาตทำการประมง” ได้ ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 เป็น “เรือประมงที่ถูกต้องตามกฎหมาย” และเป็นทรัพย์สินของเจ้าของ (มีทะเบียน) แต่ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ใดๆ ได้ตามกฎหมาย ถ้าใช้เรือนี้ทำการประมง จะเป็น “เรือประมง (ที่ถูกกฎหมาย) ที่ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีใบอนุญาตใช้เรือ แต่ไม่ใช่ “เรือประมงที่ผิดกฎหมาย”

(3) “เรือประมง” (ที่มีสภาพหรือรูปลักษณ์เป็นเรือที่ใช้เพื่อทำการประมง) ที่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481 และมี “ใบอนุญาตใช้เรือ” ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 แต่มิได้ขอ “อาชญาบัตร” หรือ “ใบอนุญาตทำการประมง” ได้ ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 เป็น “เรือประมงที่ถูกต้องตามกฎหมาย” และเป็นทรัพย์สินของเจ้าของ (มีทะเบียน) ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ใดๆ จากเรือนั้นได้ตามกฎหมาย แต่ถ้าใช้เรือนี้ทำการประมง จะเป็น “เรือประมง (ที่ถูกกฎหมายและมีใบอนุญาตใช้เรือ) ที่ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” แต่ไม่ใช่ “เรือประมงที่ผิดกฎหมาย”

(4) “เรือประมง” (ที่มีสภาพหรือรูปลักษณ์เป็นเรือที่ใช้เพื่อทำการประมง) ที่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481 โดยมี “ใบอนุญาตใช้เรือ” ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 และได้รับ “อาชญาบัตร” หรือ “ใบอนุญาตทำการประมง” ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 เป็น “เรือประมงที่ถูกต้องตามกฎหมาย” และเป็นทรัพย์สินของเจ้าของ (มีทะเบียน) ซึ่งสามารถใช้ทำการประมงได้ตามกฎหมาย และเป็นทรัพย์สินของเจ้าของ (มีทะเบียน) ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีเรือประมงอีกกลุ่มหนึ่ง ที่อยู่ในกลุ่ม (4) ข้างต้น กล่าวคือ เป็นเรือที่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481 โดยมี “ใบอนุญาตใช้เรือ” ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 และได้รับ “อาชญาบัตร” หรือ “ใบอนุญาตทำการประมง” ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ซึ่งถือว่าเป็น “เรือประมงที่ถูกต้องตามกฎหมาย” แต่ใช้เครื่องมือผิดประเภท (ผิดไปจากเครื่องมือที่ได้รับอนุญาต)”

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Wicharn Sirichai-Ekawat

ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากความไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิดของรัฐ (ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี และกฤษฎีกา (รวมทั้งผู้บัญชาการทหารเรือ ที่ทำหน้าที่ ผบ.ศปมผ.) ที่ไม่มีความรู้และความเข้าใจในเรื่องนี้ เพราะเอา “อธิบดี ” ที่มีพื้นความรู้มาจาก “การประมงน้ำจืด” (หรือแม้แต่ทะเลบางคนก็ตาม) รวมทั้ง “อธิบดี” ที่มีพื้นความรู้มาจาก “วิศวกรรมโยธา”ที่กำกับดูแล ทำให้เข้าใจว่า เรือในกลุ่มที่ (2) และ (3) รวมทั้ง “เรือประมงที่ถูกต้องตามกฎหมาย” แต่ใช้เครื่องมือผิดประเภท (ผิดไปจากเครื่องมือที่ได้รับอนุญาต)” เป็น “เรือประมงที่ผิดกฎหมาย” เหมือนกับกลุ่มที่ (1)

และเข้าใจว่า “illegal fishing (การทำการประมงที่ผิดกฎหมาย)” กับ “illegal fishing boat (เรือประมงที่ผิดกฎหมาย” มีความหมายเหมือนกัน จึงทำให้มีการ “ยกเลิกทะเบียนเรือ” ของเรือในกลุ่มที่ (2) และ (3) และ “ไม่ต่อ “อาชญาบัตร” หรือ “ใบอนุญาตทำการประมง” ให้กับ “เรือประมงที่ถูกต้องตามกฎหมาย” แต่ใช้เครื่องมือผิดประเภท (ผิดไปจากเครื่องมือที่ได้รับอนุญาต)” จนในท้ายที่สุด นำไปสู่การ “ยกเลิกทะเบียนเรือ” ของเรือในกลุ่มนี้ด้วย ซึ่งรวมกันกว่า 3,000 ลำ เท่ากับเป็นการ “ยกเลิกทะเบียนทรัพย์สิน และสิทธิในทรัพย์สินของประชาชน” โดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญอีกด้วย

อันที่จริง เมื่อเรือเหล่านั้น ไม่สามารถใช้ทำการประมงได้ แต่ก็ยังสามารถใช้เรือเพื่อประโยชน์อย่างอื่น เช่น เรือลากจูง เรือท่องเที่ยว เรือบรรทุกสินค้าชายฝั่ง ฯลฯ ด้วยการจดทะเบียนเป็นประเภทอื่น ไม่ใช่ต้องทำลาย ทุบทิ้งโชว์อียู หรือปล่อยให้จมอย่างที่เห็นกัน

นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขทั้งกฎหมายประมง และกฎหมายเจ้าท่าให้รองรับความคิดและความเข้าใจข้างต้นของรัฐ และสุดท้าย เราจึงเห็น “เรือประมง” ทั้งหลายที่จอดอยู่กลับกลายจาก “ทรัพย์สิน” เป็นสิ่งที่ “ไร้มูลค่า” “ไร้คุณค่า” และเข้าใจว่า เป็น “ภาระ” ทางกฎหมายที่เจ้าของต้องตัดใจทิ้งไว้จนจมอยู่ริมแม่น้ำหรือริมทะเลอย่างที่เห็นกันมามายนั่นเอง จนเกิดความ “Ship-หาย” ไปทั่วทุกหัวเมืองชายทะเลมาจนทุกวันนี้

…เศร้าครับ

มีหลายคนถามว่า ทำไมไม่อธิบายเรื่องนี้ให้กับ “ผู้กุมอำนาจรัฐ” ให้รับทราบ

คำถามของผมก็คือ “คนเหล่านั้น” เคยฟังใครบ้าง

มีหลายคนถามว่า ทำไมไม่เอาเรื่องกฎหมายต่างๆ ที่ขัดหลักกฎหมายทั่วไป ขัดรัฐธรรมนูญ ขัดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ หรืออนุสัญญาฯ ต่างๆ ไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลอื่น

คำตอบของผมก็คือ ผมไม่เชื่อในการใช้ดุลยพินิจ และความเชื่อมั่นว่าจะได้รับความเป็นธรรมจาก “องค์กรอิสระต่างๆ” ภายใต้สภาวะ “การยึดอำนาจ” และ “มาตรา 44” ครับ เพราะรู้อยู่ว่า “ใครตั้ง” และ “ใครมีอำนาจ”

แม้วันนี้ สภาวะ “การยึดอำนาจ” และ “มาตรา 44” จะไม่มีอยู่แล้วก็ตาม แต่ “คนในองค์กรอิสระต่างๆ” ก็ยังเป็นชุดเดิมเป็นส่วนใหญ่ หรือได้รับการ “สรรหา” หรือ “แต่งตั้ง” มาจากคนกลุ่มเดิม กลุ่มเดียวกัน ซึ่ง “ผลลัพท์” ก็คงจะไม่ต่างกันครับ

วันนี้ คงต้องฝากชาวประมง ถ้าอยากได้ “ความเป็นธรรมในการประกอบอาชีพ” หรือ “สิทธิและความเสมอภาพทางกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญ” หรืออยากได้สิทธิใน “ทรัพย์สิน (เรือ)” คืน คงต้องรวมตัวกันลุกขึ้นสู้ครับ ไม่มีทางเลือกอื่น

หรือ 5-6 ปี ที่ผ่านมา เรายัง “Ship-หาย” กันไม่พอ

ก็คิดดูกันเองครับ

สำหรับ “เรือประมง” ที่ผมเห็นผูกทิ้งไว้ที่สุสานเรือในบริเวณปากแม่น้ำท่าจีนลำนี้ ใครรู้จักเจ้าของ ฝากไปบอกสักนิด ถ้าจะทิ้งจริงๆ เอาไปจมทำ “ปะการัง” ในทะเลดีกว่าไหมครับ จะได้เป็นประโยชน์กับสัตว์น้ำในการเป็นที่อยู่อาศัยหรือหลบภัยก่อนที่จะโตเต็มวัยให้เราจับกัน

ถ้าไม่มีสตางค์ที่จะนำไปจม ผมว่าสมาคมประมงก็น่าจะช่วยได้ครับ ฝากพิจารณาด้วย

ในเรื่อง “ปะการัง” เราเคยคิดว่าจะซื้อเรือประมงบางส่วนออกจากระบบ เมื่อสิบกว่าปีก่อน เอาไปวางและจัดรูปแบบให้เป็นอุทยานใต้น้ำ โดยในสมัยที่ผมเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ผมเคยเสนอขอให้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำ “โครงการวิจัยเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดสร้างอุทยานประมงใต้ทะเลไทย” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 โดยมีเหตุผล ดังนี้

“ด้วยการประมงทะเลของไทยได้มีการพัฒนาและใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดมาเป็นระยะเวลานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงพาณิชย์ ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 ที่มีการนำเครื่องมืออวนลากแผ่นตะเข้เข้ามาใช้ในการทำการประมงในน่านน้ำไทย และหลังจากนั้น มีการใช้เรือที่มีขาดใหญ่ขึ้น มีการนำเครื่องมืออื่นๆ เช่น อวนล้อมจับ มีการนำเครื่องยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ มีการนำเครื่องมือและอุปกรณ์การหาฝูงปลาและการเดินเรือที่ทันสมัยมาใช้ประกอบในการทำการประมงอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากเรือ เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่ทันสมัยเหล่านี้ ถูกใช้ในการทำการประมงอย่างไม่จำกัดจำนวนหรือมีการควบคุมการใช้เครื่องมือ ทำให้ในเวลาไม่นาน ทรัพยากรประมงทะเลของไทยก็ได้ถูกใช้ประโยชน์จนเกินศักยภาพในการผลิตทดแทน สิ่งแวดล้อมใต้ทะเลตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม และเมื่อน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการประกอบกิจการของภาคเอกชนมี ราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสัตว์น้ำที่จับได้น้อยลง ทำให้เกิดการขาดทุนมาโดยตลอด เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการที่มีทุนน้อยจำเป็นต้องจอดเรือและหยุดกิจการในที่สุด”

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Wicharn Sirichai-Ekawat

จากผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งต่อทรัพยากรที่ลดลง สภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม และต่อชาวประมงที่ประสบภาวะขาดทุน เป็นเหตุให้คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา เห็นควรที่จะมีการศึกษาหาทางออกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้สมบูรณ์ และเพื่อลดจำนวนเรือประมงลงให้เหมาะสมกับการผลิตทดแทนของทรัพยากร อันจะก่อให้เกิดความสมดุลในการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรอย่างยั่งยืน และผู้ประกอบการสามารถอยู่รอดได้ โดยการศึกษาความเป็นไปได้ในการซื้อเรือประมงต่างๆ ที่มีอยู่จำนวนมากและหยุดประกอบกิจการแล้ว มาทำให้จมลงใต้น้ำในบริเวณที่กำหนดเพื่อเป็นปะการังเทียม และประกอบกันเป็นอุทยานประมงใต้น้ำ

ขณะเดียวกันก็จะอนุญาตให้มีการใช้อุทยานใต้น้ำนี้เป็นแหล่งจับสัตว์น้ำ ด้วยเครื่องมืออนุรักษ์ เช่น การดักด้วยลอบ การตกด้วยเบ็ด การเลี้ยวปลาทะเลในกระชัง และการประกอบกิจการท่องเที่ยวทางทะเลด้วย ซึ่งหากการศึกษาดังกล่าวมีผลการศึกษาที่มีความเป็นไปได้ จะสามารถนำเสนอให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาอนุมัติให้มีการดำเนินการในพื้นที่ทางทะเลที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาทรัพยากรสัตว์น้ำที่ลดลง สิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม และการประกอบการของชาวประมงที่ขาดทุนและเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ให้ลดลงอย่างเป็นรูปธรรมได้ในอนาคต

วัตถุประสงค์การวิจัย คือ (1) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดสร้างอุทยานการประมงใต้น้ำ และ (2) เพื่อเป็นทางออกและทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการประมงทะเลในน่านน้ำไทยอย่างยั่งยืน โดยคาดว่าจะเกิดประโยชน์ คือ (1) ทราบข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสร้างอุทยานใต้น้ำ (2) ได้ผลการศึกษาที่สามารถนำไปสู่การตัดสินใจในการแก้ปัญหาการประมงทะเลของไทย (3) ได้แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำต่างๆ (4) สามารถลดจำนวนเรือประมงที่มีอยู่จำนวนมากในอ่าวไทยลงเป็นจำนวนแหล่งละ 1,000 ลำ (5) สามารถยังคงอาชีพให้ชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการขายเรือ และสร้างอาชีพและกิจกรรมใหม่ที่ยั่งยืนให้กับชาวประมง เช่น การเพาะเลี้ยงในทะเล (6) เป็นการสร้างแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลแห่งใหม่ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ ฯลฯ

น่าเสียดายครับ “กรมประมง” ไม่เคยสนใจแนวความคิดนี้เลย (อธิบดีหลายคนอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีงานวิจัยนี้)

ถ้าเอาไปทำตั้งแต่สมัยนั้น เราก็คงไม่เจอปัญหา IUU Fishing หรอกครับ

หรือแม้แต่เมื่อเจอใบเหลืองจากพ่อ EU แล้ว ถ้าหยิบไปเสนอรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา เราคงไม่ได้เห็นเรือจมเกะกะสายตาตามริมแม่น้ำอย่างทุกวันนี้ครับ

ใครรู้จักรัฐบาล ลองเอาไปนำเสนอดูครับ

ยังไม่สายที่จะทำครับ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Wicharn Sirichai-Ekawat วันที่ 13 กรกฎาคม 2563