ThaiPublica > คอลัมน์ > การบินป่วยหนักกว่าติดโควิด

การบินป่วยหนักกว่าติดโควิด

28 กรกฎาคม 2020


วรากรณ์ สามโกเศศ

ที่มาภาพ : การบินไทย

ภาพความแออัดของสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ทั้งในห้องผู้โดยสารและรันเวย์จะไม่ได้เห็นไปอีกนานเพราะการอาละวาดของโควิด-19 ใครที่คาดว่าทุกอย่างในเรื่องการบินจะกลับมาเหมือนก่อนหน้าโควิด-19 นั้น คงต้องทบทวนใหม่เพราะผู้คุ้นเคยธุรกิจนี้ในระดับโลกเชื่อว่าสถานการณ์ซบเซาของการบินจะอยู่ไปอีกหลายปี

ลองดูพฤติกรรมตัวเลขของผู้ผลิตเครื่องบินสองรายใหญ่ของโลกก็พอจะเห็นภาพว่าเขามองสถานการณ์หลังโควิด-19 กันอย่างไร ความเชื่อว่าดีมานด์ของการบินรวมทั้งโลกในอนาคตจะลดลงอย่างเปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้ Boeing ประกาศลดกำลังการผลิตลง 50% และยกเลิกแผนที่จะพัฒนาเครื่องบินใหม่สองแบบในทศวรรษหน้า ส่วน Airbus ซึ่งมีออเดอร์อยู่มากขนาดงานจะไม่ว่างเลยในทศวรรษหน้ายังตัดสินใจลดกำลังผลิตลง 30%

ก่อนหน้าโควิด-19 มีการพยากรณ์กันว่าดีมานด์ของการเดินทางทางอากาศของคนทั่วโลกจะเติบโตปีละ 4.3% ตลอด 20 ปีข้างหน้าจนต้องผลิตเครื่องบินใหม่ออกมาทั่วโลกประมาณ40,000 ลำ แต่บัดนี้ไม่เชื่อแล้วเพราะเห็นฤทธิ์ของโควิด-19 ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมาเครื่องบินทั่วโลกกว่า 5,000 ลำ ต้องจอดอยู่บนรันเวย์เพราะโรคระบาด

Warren Buffett พหูสูตรเรื่องการลงทุน ขายหุ้นสายการบินอเมริกันทิ้งจนขาดทุนไปหลายพันล้านดอลลาร์ แต่ก็ต้องทำเพราะคาดว่าหากถือไว้จะเจ็บตัวกว่านี้อีกมาก

เครื่องบินแบบที่กำลังถูกทอดทิ้งอย่างน่าสงสารก็คือ Boeing-747 ซึ่งมีขนาดยักษ์จุผู้โดยสารกว่า 300 คน บินได้ไกลนับเป็นพันไมล์ ในช่วงโควิด-19 ระบาดต้องจอดบนรันเวย์เกือบทั้งหมดเช่นเดียวกับ Air Bus รุ่น A-380 ขนาดยักษ์ก็จะจบชีวิตเช่นกัน สายการบินEmirates ซึ่งเคยมี 747 อยู่ 242 ลำ ขายไป 115 ลำ ในปี 2020

เหตุใดจึงมองธุรกิจการบินในแง่ร้ายขนาดนี้?

สาเหตุข้อแรก ก็คือเชื่อกันว่าการระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลกนั้นขณะนี้ยังอยู่ในขั้นแรก การระบาดรอบหนึ่งยังไม่จบในสหรัฐอเมริกา ยุโรปหลายประเทศ อเมริกาใต้ ตลอดจนอินเดีย และโดยเฉพาะทวีปอาฟริกาซึ่งมีประชากรรวม 1,200 ล้านคน ในประชากร 7,700 ล้านคนทั่วโลก

การระบาดรอบสองนั้นเกิดขึ้นในหลายประเทศแล้วจนแน่ใจว่าประมาณใกล้ปลายปี2020 ก็จะเกิดอีกในหลายประเทศของทั้งยุโรปและในสหรัฐอเมริกา วัคซีนป้องกันโควิด-19 นั้นอย่างเร็วที่สุดที่จะออกมาให้คนบางส่วนได้ใช้กันก็ไม่หนีต้นปี 2021 และต้องใช้เวลาเกือบทั้งปีจนถึง 2022 กว่าที่คนส่วนใหญ่ของโลกจะเข้าถึง

การที่คนจะโดยสารเครื่องบินข้ามประเทศได้นั้นหลายประเทศต้องมีความเห็นร่วมกันว่าปลอดภัยสำหรับประชาชนของตนและโอกาสที่หลายประเทศจะเห็นว่าปลอดภัยจากโควิด-19 ร่วมกันนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ไม่ง่าย ต้องใช้เวลาอีกหลายปี จนอาจถึงปี 2023 หรือหลังกว่านั้นจึงอาจกลับมาเหมือนเดิม

ความกลัวโรคโควิด-19 จะอยู่ในใจผู้คนจนไม่อยากบินระยะทางไกล หรือแม้แต่ใกล้เพราะอากาศในเครื่องถ่ายเทจำกัด และมีโอกาสติดโรคสูง ดีมานด์การบินจึงกลับมาได้ช้าโดยขึ้นอยู่กับความ สำเร็จในการควบคุมการระบาดของแต่ละประเทศ ซึ่งไม่มีผู้วิเศษคนใดสามารถไปควบคุมได้ทั้งหมด

สาเหตุที่สอง การเดินทางเพื่อธุรกิจภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งเดิมเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของสายการบินจะลดลงไปมาก เนื่องจากการประชุมออนไลน์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั่วโลกและจะอยู่ไปถาวร บริษัททั้งหลายจึงประหยัดค่าใช้จ่ายโดยให้พนักงานใช้การประชุมออนไลน์แทนการเดินทาง นอกจากนี้บริษัทยังกลัวถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายจากพนักงานที่ติดเชื้อโควิด-19 จากการเดินทาง นอกจากนั้นยังหาบริษัทประกันการเจ็บป่วยจากโควิด-19 ได้ยากอีกด้วย

ส่วนการเดินทางเพื่อท่องเที่ยวนั้น ถึงแม้อยากเดินทางระหว่างประเทศ แต่ความกลัว เชื้อโควิด-19 นั้นมีมากกว่าจนทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากมีทางโน้มที่จะเดินทางเพียงภายในประเทศ ซึ่งทำให้ดีมานด์การบินระหว่างประเทศลดลงไปมาก

“Travel-Bubbles” ซึ่งเป็นการเดินทางตามสัญญาที่ทำไว้ระหว่างสองประเทศหรือกลุ่มประเทศเพื่อให้เดินทางถึงกันได้โดยไม่มีการกักตัวอาจล้มในกรณีที่เกิดการระบาดครั้งที่สองหรือสามขึ้น

ประการที่สาม ไวรัสขนาดเพียง 0.1 ไมครอนสามารถทำให้สายการบินขนาดใหญ่มีสภาพวิกฤตไปตาม ๆ กัน IATA (International Air Transport Association) ซึ่งพยากรณ์ไว้อย่างใจดีว่าธุรกิจการบินจะฟื้นตัวกลับไปเท่าระดับก่อนโควิด-19 ก่อนหน้าปี 2023 และคาดว่ามีเพียง 30 สายการบินเท่านั้นใน 700 กว่าสายการบินทั่วโลกที่สามารถอยู่รอดได้หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ

สายการบินที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐจนอยู่ในสภาพวิกฤติได้แก่ Flybe (สายการบินภายในทวีปยุโรปที่ใหญ่ที่สุด)/Virgin Australia/LATAM (สายการบินใหญ่ที่สุดของอเมริกาใต้) และถึงแม้ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐแต่ก็อยู่ในสภาพย่ำแย่ได้แก่ Air France/KLM/Lufthansa/American Airlines เป็นต้น

ธุรกิจสายการบินมีธรรมชาติที่อ่อนไหวกับการขาดสภาพคล่อง (เงินสด) สูงกว่าธุรกิจอื่น เนื่องจากมีต้นทุนสูง เช่น ค่าเช่าเครื่องบิน ค่าชำระเงินกู้ซื้อเครื่องบิน ค่าน้ำมัน เงินเดือน ค่าจ้าง ฯลฯค่าใช้จ่ายเหล่านี้ต้องจ่ายให้กับหลายบริษัทในหลายประเทศ การคาดการณ์ที่ผิดเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน เส้นทางบิน ขนาดเครื่องบิน ฯลฯ อาจทำให้สายการบินมีปัญหาได้ไม่ยาก เมื่อเครื่องบินถูกห้ามบินเพราะโรคระบาดจึงขาดรายได้ (เงินสด) ในขณะที่รายจ่ายเกิดขึ้นตลอดเวลาโดยเฉพาะเงินชำระหนี้เงินกู้ก้อนใหญ่

ผลพวงที่สำคัญจากการระบาดของโควิด-19 ก็คือต้นทุนการบินต่อคนจะสูงขึ้นเนื่องจาก (ก) กฎหมายบังคับให้เว้นที่นั่ง (จำกัดรายได้) (ข) หนี้เก่าสะสมที่ค้างอยู่ทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น (ค) ต้องมีข้อตกลง Travel- Bubbles จึงทำให้ทำการบินได้จำกัด(ง) กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพื่อควบคุม climate change จำกัดการบิน (จ) การแข่งขันที่แต่เดิมเข้มข้นจะถูกขจัดลงด้วยการรวม หัวกันแสดงพลัง “อัตราผูกขาด” ของสายการบินที่อยู่รอด

ทั้งหมดนี้ไปในทางที่ทำให้ราคาตั๋วเครื่องบินสูงขึ้น ยุคสมัยรุ่งเรืองสุดของเครื่องบินราคาประหยัดได้หมดลงแล้ว

พยากรณ์ที่เลวร้ายของธุรกิจการบินดังกล่าวขึ้นอยู่กับสมมุติฐานว่าการระบาดรอบแรกยังไม่จบและรอบสองจะกลับมาอีก ถ้าวัคซีนมาเร็วกว่าที่คาดและทำให้ชาวโลกวางใจจนกล้าเดินทางทางอากาศกันอีกครั้งแล้ว ธุรกิจการบินก็คงมีโฉมหน้าใหม่ที่งดงามขึ้น

คนยังป่วยไข้ได้ แล้วทำไมธุรกิจการบินจะป่วยไข้บ้างไม่ได้ เรื่องนี้ผู้เขียนเห็นใจและเอาใจช่วยคนป่วย “การบินไทย” สายการบินของพวกเราทุกคนเสมอครับ

หมายเหตุ : คอลัมน์ “อาหารสมอง” น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 21 ก.ค. 2563