ThaiPublica > เกาะกระแส > UNDP ชี้นโยบาย “Basic Income” (ชั่วคราว) อาจช่วยหยุดยั้งการระบาดโควิด-19

UNDP ชี้นโยบาย “Basic Income” (ชั่วคราว) อาจช่วยหยุดยั้งการระบาดโควิด-19

24 กรกฎาคม 2020


ที่มาภาพ : กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

หากยังจำกันได้ในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ ทั่วโลก รวมถึงไทย ได้พูดถึงนโยบายรายได้ขั้นพื้นฐานถ้วนหน้า หรือ Universal Basic Income ในฐานะสวัสดิการสังคมพื้นฐานที่จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่และการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคต่อไปได้ โดยฝากฝ่ายหนึ่งมองว่านโยบายดังกล่าวจะชวยลดความเหลื่อมล้ำและส่งเสริมการเข้าถึงโอกาสของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย ขณะที่อีกฝ่ายกลับมองว่าเป็นภาระทางการคลัง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 โครงการการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme – UNDP) ได้ออกรายงาน “Temporary Basic Income: Protecting Poor and Vulnerable People in Developing Countries” สนับสนุนนโยบายกลุ่มดังกล่าวในฐานะตัวช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่พุ่งขึ้นไม่หยุดได้

รายงานระบุว่านโยบายรายได้ขั้นพื้นฐานชั่วคราว (Temporary Basic Income) สำหรับประชากรที่ยากจนที่สุดของโลกกว่า 3,000 ล้านคน ให้หยุดอยู่บ้านเป็นสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนสำหรับการหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในวันนี้ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานในโลกกำลังพัฒนาที่กว่า 7 ใน 10 คนทำงานอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการและไม่สามารถมีรายได้ใดๆเลยหากต้องอยู่บ้าน

จำนวนประชากรกลุ่มเสี่ยงในแต่ละภูมิภาค

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์รายได้ขั้นฐานจะมีต้นทุนประมาณเดือนละ 199,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6.6 ล้านล้านบาท) สำหรับประชากร 2,700 ล้านคนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนใน 132 ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวเลขที่เป็นไปได้และเป็นเรื่องเร่งด่วนอย่างมากในขณะที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึงอาทิตย์ละ 1.5 ล้านคน

“ผู้คนจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมที่เป็นทางการส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มคนที่เป็นแรงงานนอกระบบ รายได้ต่ำ ผู้หญิง หรือเด็ก เป็นผู้ลี้ภัยหรือผู้อพยพ และผู้พิการ และเป็นกลุ่มคนี่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากวิกฤติครั้งนี้ UNDP ได้ออกไปศึกษาผลกระทบเหล่านี้ในมากกว่า 60 ประเทศในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ และหลักฐานชี้ให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้ที่ไม่มีหลักประกันทางสังคมใดๆจะไม่สามารถอยู่บ้านได้ถ้าไม่มีรายได้”

ดังนั้น รายได้ขั้นพื้นฐานชั่วคราวจะเป็นตัวช่วยให้พวกเขาซื้ออาหาร จ่ายค่ารักษาพยาบาล และรายจ่ายด้านการศึกษาได้ และในทางการเงินมันก็เป็นไปได้ด้วย ตัวอย่างเช่น มาตรการรายได้ขั้นพื้นฐาน 6 เดือนจะใช้เงินเพียง 12% ของมาตรการทางการเงินที่ใช้รับมือกับโควิด-19 ในปัจจุบัน หรือเท่ากับ 1 ใน 3 ของหนี้ต่างประเทศที่ประเทศกำลังพัฒนาจ่ายในปี 2563

“เหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเรียกร้องนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่เคยมีมาก่อนเช่นกัน การนำเสนอมาตรการรายได้ขั้นพื้นฐานถือเป็นหนึ่งมาตรการที่เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นมาตรการที่ดูจะเป็นไปไม่ได้ หากย้อนกลับไปไม่กี่เดือนที่แล้ว นโยบายช่วยเหลือและฟื้นฟูไม่สามารถมุ่งไปที่ตลาดขนาดใหญ่หรือธุรกิจขนาดใหญ่ รายได้ขั้นพื้นฐานนี้จะช่วยให้ประชาชนสามารถหยุดอยู่บ้านโดยมีเสื้อชูชีพทางการเงิน การอัดฉัดเงินกลับไปยังเศรษฐกิจท้องถิ่นและช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถลอยตัวต่อไปได้และลดการระบาดของโรค” Achim Steiner ผู้จัดการของ UNDP กล่าว

ต้นทุนต่อเดือนสำหรับเงินช่วยเหลือรายได้ขั้นต่ำในแต่ละกรณี
ต้นทุนต่อเดือนสำหรับเงินช่วยเหลือรายได้ขั้นต่ำในแต่ละกรณีตามภูมิภาค

แม้ว่ารายได้ขั้นพื้นฐานอาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่การระบาดครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตาม การปกป้องงานและขยายการช่วยเหลือไปยังธุรกิจเอสเอ็มอี และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยเข้าถึงผู้คนที่ถูกกันออกไปจะเป็นมาตรการที่ทุกประเทศควรดำเนินการ

ทางหนึ่งที่ประเทศสามารถจ่ายรายได้ขั้นต่ำได้คือปรับเป้าประสงค์ของแหล่งเงินทุนต่างๆ เริ่มจากการเลื่อนการชำระหนี้ออกไปก่อน โดยในปีนี้ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่จะต้องจ่ายคืนหนี้กว่า 3.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ การพักชำระหนี้สำหรับทุกประเทศ ซึ่งเรียกร้องโดยเลขาธิการสหประชาชาติ จะช่วยให้ประเทศเหล่านี้มีแหล่งเงินทุนสำหรับมาตรการรายได้ขั้นพื้นฐานและมาตรการฉุกเฉินอื่นๆ

หลายประเทศได้เริ่มมาตรการนี้แล้ว ตัวอย่างเช่น ประเทศโตโกในแอฟริกาตะวันตก ที่กระจายเงินกว่า 19.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปยังมากกว่า 12% ของประชากรผ่านการโอนเงินโดยตรง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้หญิงที่ทำงานอยู่นอกระบบ, สเปน เพิ่งอนุมัติงบประมาณ 250 ล้านยูโรต่อเดือนเพื่อเติมเข้าไปยังรายได้ของกลุ่มเสี่ยงกว่า 850,000 ครอบครัว หรือ 2.3 ล้านคน

“การระบาดของโควิด-19 เร่งความเหลื่อมล้ำของทั้งระดับโลกและระดับประเทศ และสร้างความไม่เท่าเทียมใหม่ๆที่ไปกระทบกับกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้มากที่สุด คนอีกเกือบ 100 ล้านคนจะถูกผลักลงไปอยู่ในกลุ่มยากจนสุดขั้นในปีนี้ เด็กกว่า 1,400 ล้านคนถูกกระทบจากการปิดโรงเรียน และยอดคนตกงานและการสูญเสียคุณภาพชีวิตที่มีที่สูงเป็นประวัติการณ์ และ UNDP คาดว่าการพัฒนาทุนมนุษย์จะอยู่ในขาลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่แนวคิดนี้ถูกเสนอขึ้นมา” รายงานระบุ

  • กสศ. ทุ่มกว่า 2 พันล้านเร่งช่วยเด็กยากจนพิเศษกว่า 7.5 แสนคน ชี้ปากท้องสำคัญสุด
  • งานวิจัยกสศ.ชี้โควิด-19 วิกฤติลึก ครอบครัวยากจนพิเศษ “ไม่มีอาหารกิน”