ThaiPublica > เกาะกระแส > TMB Analytics แนะ “ออมอย่างไรในยุคดอกเบี้ยต่ำ”

TMB Analytics แนะ “ออมอย่างไรในยุคดอกเบี้ยต่ำ”

31 กรกฎาคม 2020


พิษโควิดกดดอกเบี้ยต่ำ ทำผู้ออมรายย่อยรายได้หด เหตุกองเงินในออมทรัพย์ แนะโยกเงินไปบัญชีดอกเบี้ยพิเศษ หรือช่องทางออมอื่น เพื่อกระจายความเสี่ยงและได้อัตราผลตอบแทนสูงขึ้น

31 กรกฎาคม 2563 : ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics วิเคราะห์ “ออมอย่างไรในยุคดอกเบี้ยต่ำ” โดยระบุว่ายอดเงินฝากบุคคลธรรมดาธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นกว่า 6 แสนล้านบาทในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 เหตุผู้ออมรายย่อยกังวลสถานการณ์โควิด โดยเงินฝากบัญชีออมทรัพย์เพิ่มขึ้นถึง 16% ยอดอยู่ที่ 5.1 ล้านล้านบาท ขยับสัดส่วนออมทรัพย์สูงขึ้นเป็น 63% ทั้งที่อัตราดอกเบี้ยแค่ 0.25% และในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับลดลงได้อีกส่งผลกระทบต่อรายได้ผู้ออมมากขึ้น

ทั้งนี้ หากผู้ออมรายย่อยโยกเงินจากบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปไปบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยพิเศษ คาดว่าจะทำให้รายได้ของผู้ฝากเงินออมทรัพย์รายย่อยทั้งระบบจะเพิ่มขึ้นจาก 12.7 พันล้านบาท เป็น 66.2 พันล้านบาทภายในเวลา 1 ปี

วิกฤติโควิดยอดเงินฝากธพ.พุ่ง สวนทางดอกเบี้ยลดต่ำ

แม้ว่าในปัจจุบันการออมเงินมีให้เลือกหลายรูปแบบ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ยังคงมีบทบาทสูง โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยง ดังเช่นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กดดันเศรษฐกิจทั่วโลกให้เข้าสู่ภาวะถดถอยจนถึงขณะนี้ เงินฝากมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอัตราเร่ง โดยเฉพาะเงินฝากบุคคลธรรมดาเพิ่มจาก 7.5 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 เป็น 8.1 ล้านล้านบาท ณ พฤษภาคม 2563 หรือเพิ่มขึ้นถึง 8.5% เมื่อเทียบกับช่วงปี 2560-2562 ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4 % ต่อปี ซึ่งสวนทางกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ปรับลดลงทั้งนี้ เงินฝากออมทรัพย์เพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง 16% จากสิ้นปี 2562 ทำให้สัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์ขยับขึ้นจาก 59% เป็น 63% (อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย ณ มิถุนายน 0.25%) ขณะที่เงินฝากประจำมีสัดส่วนลดลงเหลือ 36% (อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย ณ มิถุนายน 0.44%)

แนวโน้มดอกเบี้ยออมทรัพย์เหลือ 0.25%

TMB Analytics คาดกนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ในช่วงที่เหลือของปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารขนาดใหญ่ลดลงเหลือ 0.25% โดยยังมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติมได้อีกในอนาคต หากมีปัจจัยกดดันให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าคาดไม่ว่าจะมีสาเหตุจากการระบาดของโควิดรอบสอง หรือเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าคาด

ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มปรับลดลงได้อีก แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวที่ 0.5% ก็ตาม จากแรงกดดันสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง (สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 108.64%) ตามการเพิ่มขึ้นของเงินฝากในอัตราเร่ง ขณะที่ปริมาณสินเชื่อชะลอลง

แนะสร้างรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 5 เท่า

หากผู้ออมให้น้ำหนักเรื่องสภาพคล่องและรับความเสี่ยงได้ในระดับต่ำหรือมีความรู้สึกอุ่นใจที่เก็บเงินสดไว้ รวมทั้งมีความมั่นใจจากการได้รับความคุ้มครองเงินฝากในวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาทจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ส่งผลให้การเลือกออมโดยฝากเงินกับธนาคารก็ยังตอบโจทย์ผู้ออมได้ดี

โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ณ มิถุนายน เฉลี่ยที่ 0.25% เงินฝากประจำ 1 ปี เฉลี่ยที่ 0.48% นอกจากนี้ บางธนาคารยังมีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษดอกเบี้ยสูง เช่น อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าออมทรัพย์ทั่วไปถึง 5 เท่า คืออยู่ระดับราว 1.3%

เงินฝากกลุ่มนี้มักมีเงื่อนไขเพิ่มเติมที่ผู้ฝากต้องนำมาพิจารณา เช่น ต้องมียอดเงินฝากคงค้างตามที่กำหนด หรือต้องมีผลิตภัณฑ์อื่นของธนาคารร่วมด้วย ทั้งนี้ จากฐานผู้ฝากเงินรายย่อยทั้งหมด 95.8 ล้านบัญชี เป็นบัญชีออมทรัพย์ 86.1 ล้านบัญชี หรือคิดเป็น 90% หากผู้ออมโยกเงินฝากจากบัญชีออมทรัพย์ที่รับดอกเบี้ยแค่ 0.25% ไปยังบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยพิเศษ ที่ให้อัตราดอกเบี้ยราว 1.3% พบว่ารายได้ดอกเบี้ยของผู้ฝากเงินออมทรัพย์ทั้งระบบจะเพิ่มขึ้นจาก 12.7 พันล้านบาท เป็น 66.2 พันล้านบาทภายใน 1 ปี

อย่างไรก็ดี ผู้ออมที่อยากจัดสรรเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ของภาครัฐที่มีความเสี่ยงต่ำ ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล ที่ให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกันเงินฝาก โดยพันธบัตรรัฐบาล 1 ปี อยู่ที่ 0.5% และพันธบัตรรัฐบาล 5 ปี อยู่ที่ 0.87% นับเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ผู้ออมที่เน้นสภาพคล่องสูงและระดับความเสี่ยงต่ำที่ใกล้เคียงกับกลุ่มเงินฝาก

กองทุนรวม ทางเลือกผู้มีเงินออม/ผู้ลงทุน ที่รับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

หากผู้ออมต้องการผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก และสามารถรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้ รวมทั้งเป็นนักลงทุนรายย่อยไม่สามารถลงทุนได้เองหรือขาดความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ ผู้ออมอาจเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนหลากหลายประเภท ซึ่งสัดส่วนการถือครองของนักลงทุนเมื่อพิจารณาจากมูลค่าทรัพย์สิน ณ มิถุนายน 2563 หลักๆ เป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ 39% กองทุนรวมตราสารทุนอยู่ที่ 29% และกองทุนรวมตลาดเงิน 20% เมื่อพิจารณาอัตราผลตอบแทนกองทุนรวมในระยะ 6 เดือนและ 1 ปีที่ผ่านมา พบว่ากองทุนรวมตลาดเงินให้อัตราผลตอบแทนที่ 0.31-0.94% เช่นเดียวกับกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นและระยะกลางมีอัตราผลตอบแทนย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ 0.5-0.74% ซึ่งต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์พิเศษที่ 1.3%

สำหรับกองทุนรวมที่ให้อัตราผลตอบแทนอยู่ในระดับสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ การพิจารณาลงทุนในสถานการณ์ที่ยังมีความเสี่ยงจากทิศทางการฟื้นตัวที่เปราะบางของทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ถือเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับผู้ลงทุนอย่างมาก รวมทั้ง การลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์อย่างทองคำ แม้ว่ามีแนวโน้มที่จะให้อัตราผลตอบแทนสูงต่อเนื่องในฐานะที่เป็นเครื่องมือการลงทุนที่มีความปลอดภัยสูง (Safe-Haven) ในสายตานักลงทุน แต่ก็มีความผันผวนสูง

ดังนั้น ในภาวะที่รายได้ผู้ออมรายย่อยถูกสั่นคลอนจากการทรุดตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบัน การพิจารณาฝากเงินโดยเลือกบัญชีที่อัตราดอกเบี้ยสูงภายใต้เงื่อนไขที่ผู้ออมยอมรับได้ รวมทั้งพิจารณาทางเลือกในการลงทุนอื่นๆ ที่อาจให้อัตราผลตอบแทนดีกว่าการฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เป็นแนวทางที่ช่วยพยุงรายได้ตอบโจทย์ของผู้ออมหรือผู้ลงทุนในช่วงที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างช้าๆ