ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > S&P ชี้ “ESG” บทพิสูจน์ธุรกิจแกร่งจากวิกฤติโควิด New Normal ของการลงทุน

S&P ชี้ “ESG” บทพิสูจน์ธุรกิจแกร่งจากวิกฤติโควิด New Normal ของการลงทุน

15 กรกฎาคม 2020


ปัจจุบันนักลงทุนให้ความสำคัญมากขึ้นกับการลงทุนบนหลักการความยั่งยืน ที่ประกอบด้วยสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (environment social governance หรือ ESG) และต้องการเห็นผลลัพธ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นจากการลงทุน ESG เนื่องจากเข้าใจคุณค่าของการผนวกหลักการ ESG ไว้ในการตัดสินใจเพื่อการลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงและแสวงหาโอกาส

จากข้อมูลการศึกษาของ McKensey ที่เผยแพร่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 พบว่า 83% ของผู้บริหารระดับสูงที่เรียกว่า C-suite และนักลงทุนมืออาชีพ มองว่า ESG จะเพิ่มมูลค่าผู้ถือหุ้นมากขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่การขาดความต่อเนื่อง ความสม่ำเสมอ การมีส่วนร่วม และมุมมองระยะยาวของผู้ที่ให้ข้อมูล ESG ส่วนใหญ่ ทำให้เป็นการยากสำหรับนักลงทุนส่วนมากที่จะต้องการนำมุมมองเหล่านี้และปัจจัย ESG มาใช้เป็นข้อได้เปรียบในการลงทุน

ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยิ่งแสดงให้เห็นว่าหลักการ ESG เป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากขึ้นสำหรับธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทที่มุ่งมั่นและดำเนินการบนหลักการ ESG อย่างจริงจัง เพราะมีโอกาสดีกว่าที่จะรับมือกับการชะงักงันแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้น

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำระดับโลก S&P Global Ratings และ S&P Global Market Intelligence จึงได้จัดการเสวนาผ่านระบบออนไลน์ขึ้นในหัวข้อ “ESG And Its Role In The Post-Pandemic Recovery” ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2020 โดย Bertrand Jabouley, Director, Sustainable Finance, S&P Global Ratings Noemie de la Gorce, Associate Director, Sustainable Finance และ S&P Global Ratings Michael Salvatico, Head of APAC ESG Business Development, S&P Global Market Intelligence โดยมี Hsin-Ying Lee, Director, Market Outreach, S&P Global Ratings ดำเนินการเสวนา

ธุรกิจเจอบททดสอบด้าน ESG

แบร์ทร็องด์ จาบูเลย์ (Bertrand Jabouley) กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิดมีผลกระทบที่สะท้อนกลับมากกว่าวิกฤติครั้งไหนในโลก เมื่อมองย้อนไปที่วิกฤติการเงินเอเชียปี 1997 หรือวิกฤติการเงินสหรัฐฯ ปี 2008 เห็นได้จากเศรษฐกิจโลกในปีนี้ที่เสียหายอย่างมาก

สำหรับประเทศไทยคาดว่าปีนี้จีดีพีจะหดตัว 5.1% ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาบริษัท 1 ใน 3 มีภาระหนี้เพิ่มขึ้น

ในช่วงวิกฤติก่อนหน้านั้นแนวคิด ESG ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ขณะที่ G หรือ หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และ E การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดึงความสนใจได้มากกว่าด้าน S

“การระบาดของโควิด-19 แสดงให้เห็นว่า การดำเนินงานบนหลักการ ESG มีความสำคัญมากกว่าที่ผ่านมา อีกทั้งเป็นการทดสอบการดำเนินการด้าน ESG ของบริษัท และยังเป็นโอกาสให้บริษัทดำเนินการมากขึ้นในด้านสังคมที่เดิมถูกมองข้าม”

ปัจจุบันนักลงทุนที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนแบบ ESG มีมากกว่า 23,00 ราย และมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารราว 90 ล้านล้านดอลลาร์

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมของภาครัฐ ภาคธุรกิจ และผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป และได้เห็นบทบาทของรัฐบาลมากขึ้นจากเดิม โดยเฉพาะในการดำเนินมาตรการเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของไวรัส ทั้งมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขอนามัยของประชาชนจากการติดเชื้อ ทั้งการจำกัดความเคลื่อนไหว การห้ามเดินทาง มาตรการรักษาระยะห่าง ทำให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่าย เพราะรายได้ลดลง ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจถูกจำกัด เกิดการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน ภาคธุรกิจต้องหยุดดำเนินการ

ประเทศไทยเองได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ ทั้งการปิดน่านฟ้า ปิดพรมแดน ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตไม่มาก แต่การตัดสินใจใช้มาตรการของรัฐบาลมีผลต่อภาคธุรกิจ และมีการคาดการณ์ว่า 1 ใน 3 ของบริษัทในธุรกิจท่องเที่ยวจะหลุดออกนอกระบบภายในครึ่งหลังของปี จากปัญหาการขาดสภาพคล่อง

“สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ วิกฤติคราวนี้ การตัดสินใจของรัฐบาล แม้แต่รัฐบาลเสรีนิยม ก็มีผลต่อประชาชนรายตัวจากมาตรการรักษาระยะห่าง ขณะที่มาตรการปิดเมืองก็มีผลต่อธุรกิจ”

การระบาดของโควิด-19 มีผลกระทบต่อบริษัทในแต่ละภาคธุรกิจที่แตกต่างกัน โดยบททดสอบด้าน ESG มีผลมากต่อบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของคน โดยธุรกิจสายการบิน ธุรกิจรถยนต์ การท่องเที่ยวสันทนาการ ค้าปลีก และร้านอาหาร ได้รับผลกระทบหนักสุด ส่วนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบปานกลางก็เช่น โครงสร้างพื้นฐาน อสังหาริมทรัพย์ หรือกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับโลจิสติกส์ ขณะที่กลุ่มธุรกิจเฮลท์แคร์ กลุ่มสาธารณูปโภคพื้นฐาน ได้รับผลกระทบน้อย

“กลุ่มบริษัทเหล่านี้เจอการทดสอบด้าน ESG มากกว่าบริษัทที่มีความเสี่ยงด้าน ESG จากรูปแบบโครงสร้างธุรกิจ เช่น กลุ่มเหมืองแร่และโลหะเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงเชิงโครงสร้างด้าน E หรือสิ่งแวดล้อมและ S สังคมสูงกว่าธุรกิจประเภทอื่น จากการประเมินระดับความเสี่ยง ESG Score ของเรา อันเนื่องจากการใช้มาตรการเด็ดขาดของรัฐบาล

ยกตัวอย่าง บริษัทบ้านปูมินโค ธุรกิจเหมืองแร่ของบ้านปูในอินโดนีเซีย หรือบริษัท ปตท.สผ. ที่ขุดเจาะและสำรวจแหล่งบงกชนั้น ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสน้อยกว่ากลุ่มธนาคารหรือกลุ่มจัดการกองทุนที่เผชิญกับแรงกดดันด้านอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ใกล้จะอยู่ในระดับ 0% ดังนั้นจึงไม่ได้หมายความว่าบริษัทที่มีโครงสร้างธุรกิจซึ่งเสี่ยงกับ ESG จะได้รับผลกระทบจากการระบาดทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม เป็นโอกาสที่บริษัทที่มีความเข้มแข็งจะได้ใช้ความสามารถและคาดหวังว่าจะให้การช่วยเหลือบริษัทที่มีขนาดเล็กกว่าซึ่งอยู่ในห่วงโซ่ของตนเอง

แบร์ทรองด์กล่าวสรุปว่า ปัจจัยใหม่ด้าน ESG คือ ภาษี เนื่องจากรัฐบาลหลายประเทศได้ใช้เงินจำนวนมหาศาลเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโควิดและเพื่อพยุงเศรษฐกิจ จึงต้องหาเงินมาปิดงบ ดังนั้นต้องดูว่าบริษัทจะรับมือกับการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลอย่างไร

แต่ที่เห็นชัดคือ หน่วยงานกำกับดูแลและประเทศต่างๆ ให้คำมั่นผลักดันความยั่งยืนมากขึ้น

“การลงทุนแบบ ESG ในประเทศไทยและเอเชียโดยรวมจะขยายตัวมากขึ้นเพราะกองทุน ESG ในไตรมาสแรกของปีนี้มีผลการดำเนินงานที่ดี และยังขยายตัว 3 เท่าจากปี 2015″

Stakeholder beyond Shareholder

โนมี เด ลา กอร์ส (Noemie de la Gorce) กล่าวว่า S&P ได้เริ่มการประเมินอันดับความน่าเชื่อถือด้าน ESG มาราว 1.5 ปี โดยมีกรอบการประเมินความยั่งยืนจากพื้นฐานความสามารถในการดำเนินธุรกิจในอนาคต เป็นการมองไปข้างหน้า ความสามารถในการปรับตัวของธุรกิจ พัฒนากรอบวิธีการประเมินความน่าเชื่อด้าน ESG

ด้านแรก ESG profile ข้อมูล ESG โดยรวมทั้งด้านความเสี่ยง ความสามารถในการจัดการกับความเสี่ยงด้าน ESG และโอกาสที่จะเกิดขึ้น ด้านสอง ความพร้อม preparedness ความสามารถที่จะประเมินหรือคาดการณ์และปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงหลายด้านในระยะยาว ซึ่งทั้งสองด้านจะนำไปสู่ ESG evaluation การประเมินความสามารถในการประสบความสำเร็จจากการดำเนินงานบนพื้นฐานของ ESG ที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ทางการเงินที่ชัดเจน

สถานการณ์ด้านสาธารณสุข ทำให้สามารถวิเคราะห์วิธีปฏิบัติของ ESG และกลยุทธ์ของธุรกิจได้ 2 ด้าน ด้านแรกประเมินสถานการณ์ปัจจุบันและการดำเนินการที่กำลังขับเคลื่อน เพื่อวัดความสามารถในการจัดการกับปัจจัยเสี่ยง และประเมินว่าบริษัทมีเครื่องมือหรือนโยบายในการรับมือกับความเสี่ยงระยะสั้นที่มีต่อการดำเนินธุรกิจหรือไม่ รวมทั้งการตัดสินใจของบริษัทสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้าน ESG หรือไม่ ด้าน ESG ด้านที่สอง ความสามารถความพร้อมในการฝ่าฝันการเปลี่ยนแปลงในระยาว เพราะเห็นได้ชัดแล้วว่า การระบาดของโควิดในครั้งนี้เป็นการสะท้อนถึงความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน รวมไปถึงความพร้อมและความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

การประเมินประสิทธิภาพด้าน ESG ของบริษัทในระยะสั้น วัดจากแผนงาน (footprint) ด้าน ESG ที่มีผลผูกพันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งห่วงโซ่ ทั้งในด้านการปฏิบัติและยุทธศาสตร์ที่วางไว้

ปัจจัยด้าน ESG ปัจจุบัน ประกอบด้วยด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภาวะมลพิษ การใช้น้ำ และการใช้ที่ดิน ส่วนในด้าน สังคม ได้แก่การดูแลแรงงานและความหลากหลายของบุคลากร การจัดการด้านความปลอดภัย การสร้างความผูกพันกับลูกค้า และการดูแลชุมชน และในด้านการกับดูแลกิจการที่ดี ได้แก่ โครงสร้างและการควบคุม จริยธรรมและคุณค่าขององค์กร ความโปร่งใสและการรายงาน รวมทั้งการบริการความเสี่ยงทางการเงินและจากการดำเนินงาน

“การระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสได้สร้างแรงกดดันด้านสังคมให้กับธุรกิจ เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของพนักงาน คู่ค้า คู่สัญญา ชุมชน ลูกค้า นอกจากนี้ยังเป็นความท้าทายที่จะต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า รวมทั้งความท้าทายของการดูแลพนักงานจำนวนมากที่ต้องทำงานจากบ้านในช่วงที่มีการระบาด”

ในปี 2019 สภาเศรษฐกิจโลกหรือ World Economic Forum ประเมินไว้ว่าราว 7% ของแรงงานในสหรัฐฯ มีทางเลือกว่าจะทำงานจากบ้านประจำเลยหรือไม่ และมีความชัดเจนมากขึ้นว่า มีการเปลี่ยนครั้งใหญ่ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของบริษัทเพราะบริษัทจำนวนมากต้องให้พนักงานทำงานจากบ้าน และบริษัทอีกส่วนหนึ่งไม่มีระบบพื้นฐานรองรับการให้พนักงานทำงานจากบ้าน รวมไปถึงการที่ต้องปลดพนักงานออกส่วนหนึ่ง

“ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการตัดสินใจจากผู้นำองค์กรในวิถีใหม่ด้วย เพราะเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

นอกจากประเมินการตอบสนองระยะสั้นของบริษัทแล้ว ยังมีการประเมินว่า การระบาดครั้งนี้มีผลต่อความพร้อมของบริษัทในการรับมือกับการเปลี่ยนในอนาคตไว้อย่างไร

ปัจจุบันธุรกิจต่างดำเนินการภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้น ซึ่งผลสำรวจของ WEF ระบุว่า ปัจจัยหนึ่งที่เป็นความเสี่ยงที่ชัดเจนขึ้นคือการระบาดของโรค นอกเหนือจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือการเปลี่ยนผ่านของภาคพลังงาน และเชื่อว่าปัจจัยด้าน ESG ก็จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงหรือดิสรัปต์มากขึ้นในอนาคต รวมไปถึงปัจจัยด้านสังคม

ในการประเมิน ESG นั้น S&P ได้กำหนดกรอบการประเมินขึ้นใหม่ ประกอบด้วย Awareness, Assessment, Action Plan, Culture และ Decision-making เพื่อประเมินว่า บริษัทจะมีความสามารถในการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตหรือไม่

โดยAwareness หรือการตระหนักรู้ มีความสำคัญมาก เป็นการวัดว่า คณะกรรมการ คณะผู้บริหาร ตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้หรือไม่ รวมไปถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
Assessment เป็นการวัดว่า คณะกรรมการ คณะผู้บริหารระดับสูง ได้มีการประเมินถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่ จากการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว
Action Plan เป็นการวัดว่า บริษัทได้มีการจัดทำแผนรับมือไว้หรือไม่ เพื่อลดความเสี่ยงให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระยะยาว
Culture เป็นการวัดว่า ทั้งองค์กรมีความตระหนักและมีการปฏิบัติให้เกิดผลหรือไม่
Decision-making เป็นการประเมินการตัดสินของผู้นำองค์กร ผู้บริหาร ว่าสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ESG และเป้าหมายหรือไม่

โนมีกล่าวว่า ESG จะเป็น New normal หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าการสร้างข้อผูกพันร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียหรือ stakeholder engagement จะต่อเนื่องหรือไม่

การให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เริ่มขึ้นในเดือนมกราคม 2018 ที่ลาร์รี ฟิงก์ หัวหน้าผู้จัดการกองทุนแบล็กร็อก (Blackrock) กองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกส่งจดหมายถึงผู้นำ ผู้บริหารของบริษัทมหาชนที่สำคัญๆ ว่า ทุกบริษัทไม่ควรส่งมอบการดำเนินงานที่เป็นตัวเงินเท่านั้นแต่ควรมีส่วนร่วมในสังคม

จากนั้นการดำเนินการด้าน ESG ที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการออกกฎหมายในฝรั่งเศสเดือนพฤษภาคมปี 2019 PACTE (The Plan d’Action pour la Croissance et la Transformation des Entreprises) กำหนดให้บริษัทต้องคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันการเสวนาภาคธุรกิจในสหรัฐฯ ให้คำมั่นว่าจะใส่คำว่า “stakeholder” ลงในวัตถุประสงค์ของบริษัท และล่าสุด เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ประธาน WEF ระบุว่า ค่าตอบแทนผู้บริหารควรสะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่ม นอกเหนือจากผู้ถือหุ้น

“การระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้เห็นว่า บริษัทต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งระบบนิเวศของธุรกิจ”

การลงทุนยั่งยืนให้ผลตอบแทนดีกว่าในช่วงวิกฤติ


ไมเคิล ซัลวาติโก (Michael Salvatico) กล่าวว่า จากสถานการณ์ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ESG มีความสำคัญ และด้วยแนวทางการลงทุนที่ยั่งยืนเป็นโอกาสดีที่จะฟื้นตัวจากโควิดกลับมาได้ดีกว่าเดิม และส่งผลให้ประเทศ ประชาคมมีความสามารถในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงหรือเหตุการณ์ฉุกเฉินในอนาคต

นอกจากนี้การลงทุนแบบ ESG ยังมีผลการลงทุนที่ดีกว่าการลงทุนแบบอื่นในช่วงวิกฤติอีกด้วย โดยจากผลการศึกษาของแบล็กร็อกพบว่า ดัชนีการลงทุนที่ยั่งยืนมากกว่า 90% ได้ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนแบบอื่นโดยเปรียบเทียบ ทั้งจากบริษัทแม่เอง ในช่วงที่ตลาดมีความไม่แน่นอนสูงอันเนื่องมาจากวิกฤติ และยังเป็นการลงทุนที่คล่องตัวรับมือกับความไม่แน่นอนได้มาก

เมื่อพิจารณาผลตอบแทนการลงทุนที่ยั่งยืนจากดัชนี Dow Jones Sustainability World Index ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนแบบอื่นในอัตรากว่า 5% และนับตั้งต้นปีที่จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนการลงทุนในดัชนี Dow Jones Sustainability World Index ให้ผลตอบแทนแล้ว 2.65%

นักลงทุนก็ให้ความสนใจลงทุนแบบยั่งยืนมากขึ้น โดยในญี่ปุ่นการลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนที่ยั่งยืนมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (CAGR) สูงสุด ถึง 308% ในช่วงปี 2014-2018 ขณะที่ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เพิ่มขึ้น 50% แคนาดา 21% สหรัฐฯ 16% และยุโรป 6% ขณะที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ มีสัดส่วนสินทรัพย์ลงทุนยั่งยืนในพอร์ตสูงสุด 63.2%

>

ในช่วงโควิด มีเม็ดเงินลงทุนในสินทรัพย์ยั่งยืน 45 พันล้านดอลลาร์ หมายความว่ามีเงินไหลออกจากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ดังนั้น ESG จะมีความสำคัญต่อการลงทุนในระยะยาว

S&P มีการประเมินการลงทุนยั่งยืนหลากหลาย ด้วยชุดข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลกระทบจากมาตรการเพื่อความยั่งยืนต่างๆ ที่นำมาวิเคราะห์และจัดทำเป็น ESG Score

ประกอบกับนักลงทุนมีจุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันเกี่ยวกับความยั่งยืนรวมถึงความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ต้องการ จึงมีการนำการลงทุนแบบยั่งยืนมาใช้ในแนวทางที่ต่างกัน ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 แนวทาง คือ

Exclusions เลี่ยงการลงทุนในผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจที่มีแนวปฏิบัติที่สวนทางกับจริยธรรม
Integration ใช้ข้อมูลผลการดำเนินงานทางการเงินจากแนวทาง ESG มาปรับเปลี่ยนความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ต้องการ
Impact ลงทุนในสิ่งที่มีผลต่อสังคมเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับผลตอบแทนทางการเงิน
Active Ownership มีปฏิสัมพันธ์กับบริษัทเพื่อเสริมหลักการทางธุรกิจให้ดีขึ้น